Skip to main content
sharethis

องอาจ เดชา


 


"ผู้ลี้ภัยไม่ได้ต้องการให้คนมาสงสาร เพียงแค่ไม่มีอคติ ให้กำลังใจ เข้าใจความรู้สึกของเขาว่าเขาก็เป็นมนุษย์ เป็นเพื่อน เท่านี้ก็พอแล้ว ไม่มีใครในโลกนี้อยากถูกดูถูกหรอก"


นั่นเป็นคำพูดของ "ซอ" นักดนตรีชาวกะเหรี่ยงพลัดถิ่น ไร้บัตรประชาชน ที่พยายามหาทางบอกเล่าเรื่องราวของผู้คนที่มีศักดิ์ศรี ทว่าถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพทั้งปวงนี้ให้โลกได้รับรู้


ซอแต่งเพลง "บินข้ามลวดหนาม" ขึ้นในเช้าวันหนึ่ง ขณะนั่งจ้องมองนกตัวหนึ่งบินข้ามรั้วลวดหนามค่ายผู้ลี้ภัยแห่งหนึ่งในเขตรอยตะเข็บชายแดน พร้อมกับพึมพำออกมาเบาๆ "สัตว์ยังไปไหนมาไหนได้ แต่คนไปไม่ได้…"


เขานำเพลงนี้ไปให้เพื่อนนักดนตรีพลัดถิ่นในหมู่บ้านชายแดนฟัง ด้วยประสบการณ์ชีวิตที่อยู่ในรั้วที่มองไม่เห็น ไม่สามารถเดินทางแม้แต่จะไปห้องบันทึกเสียงต่างอำเภอได้ ซึ่งเพื่อนทั้งสองก็ตกลงใจร่วมกันบันทึกเสียงด้วยเครื่องอัดเสียงดิจิตอลขนาดจิ๋วในโบสถ์เล็กๆ ที่นั่น


ในขณะที่อีกฟากฝั่งหนึ่งของไทย "เพื่อนไร้พรมแดน" กำลังดำเนินการจัดกิจกรรมเพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวเนื่องกับประชาชนพม่าพลัดถิ่นในประเทศไทย เรื่องสิทธิมนุษยชนให้แก่สังคมผ่านรูปแบบกิจกรรม ผ่านทางสื่อต่างๆ รวมถึงงานรณรงค์เพื่อความตระหนักและเคารพในสิทธิมนุษยชนของเพื่อนต่างเชื้อชาติและสัญชาติ


และ "โครงการบทเพลงไร้พรมแดน" ก็เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่จัดขึ้นมาเพื่อเปิดโอกาสให้คนทำเพลงทั่วประเทศส่งผลงานเข้าประกวด และได้นำมาเผยแพร่ให้สังคมรับรู้เรื่องราวในวงกว้าง


ซอ เป็นคนหนึ่ง ที่ตัดสินใจส่งผลงานเพลงเข้าประกวด โดยเขาไม่มีโอกาสเดินทางไปบันทึกเสียงแบบมีคุณภาพมาตรฐานได้ เขาทำได้เพียงแค่อัดเพลงใส่เครื่องอัดเสียงดิจิตอลส่งเข้ามาประกวด แต่กรรมการก็ติดใจในน้ำเสียงอันแสนซื่อและจริงใจ จน "รังสรรค์ ราศีดิบ" แห่งดื่มดนตรีสตูดิโอ ใจป้ำให้สปอนเซอร์บันทึกเสียงร้องนำของเพลงนี้ จนกล่าวได้ว่า เป็นเสียงเดียวที่เดินทางได้อย่างถูกกฎหมาย


หลังจากเพลงได้รับการคัดเลือก และทราบว่าจะมีคนช่วยลงไปบันทึกเสียงในพื้นที่ด้วยเครื่องมือแบบพกพา ซอก็ไปชวนครูพลัดถิ่นซึ่งเขาชื่นชมฝีมือดนตรีมานานแล้วมาร่วมวงด้วย การบันทึกเสียงต้องแยกทำสองเขตอำเภอ เพราะเหล่านักดนตรีพลัดถิ่นไม่สามารถเดินทางไปมาหาสู่กันได้


"ผมไม่มีประสบการณ์ นี่เป็นครั้งแรกที่ทำเพลงและเข้าห้องอัด นักดนตรีก็ไม่มีบัตร ไปไหนไม่ได้ มาซ้อมด้วยกันก็ไม่ได้ แต่ผมคิดว่าต้องทำเพลงนี้ให้สำเร็จ ผมได้ฟังเพลงอื่น ๆ ที่เขาส่งมาแล้วก็ดีใจที่มีคนเข้าใจเรา ผมคิดว่าถ้านกตัวนั้นบินข้ามลวดหนามออกมาได้ มันคงไม่ได้ไปไหน นอกจากจะไปหาคนรู้จัก คนที่รัก คนที่เป็นเพื่อนเท่านั้น" ซอ บอกเล่าให้ฟัง


ในขณะที่ "เอ้ นิติ"กุล" หรือ นิติธร ทองธีรกุล นักพัฒนาซึ่งเริ่มเขียนเพลงของตัวเองด้วยกำลังใจและแรงบันดาลใจจากกวี-นักเขียนอย่างลาว คำหอม, ชาติ กอบจิตติ, กนกพงศ์ สงสมพันธุ์, ไพวรินทร์ ขาวงาม เอ้เผยแพร่บทเพลงที่พูดถึงแง่มุมหลากหลายในสังคมด้วยการเปิดหมวกเล่นตามที่ต่าง ๆ รวมไปจนถึงในวงพูดคุยชาวบ้านหรืองานสัมมนา ในปี 2548 เขาได้ผลิตอัลบั้มแรก "ผูกพัน" ซึ่งเป็นงานใต้ดินจากทุนส่วนตัวและการสนับสนุนจากมูลนิธิชุมชนไท ล่าสุด เอ้รวมตัวกับเพื่อนในชื่อกลุ่ม "สื่อสร้างสรรค์ชุมชน"


เขาบอกว่า เพลง "เขาก็คือคน" ที่ส่งเข้าประกวดในโครงการนี้ ได้ถือกำเนิดขึ้นเมื่อ18 มิ.ย.50 จากความรู้สึกเมื่อครั้งได้ไปสัมผัสวิถีชีวิตของแรงงานอพยพจากประเทศพม่าในมหาชัย โดยมีโฮป แฟมมิลี่ ซึ่งเคยร่วมงานกันในอัลบั้มต่อต้านการค้ามนุษย์มาร่วมสร้างสรรค์สีสันให้


"ยิ่งได้ฟังเสียงบอกเล่าของแรงงาน ก็ยิ่งเห็นใจว่าทำไมพวกเขาจึงถูกกระทำเหมือนไม่ใช่คน ทั้ง ๆที่พวกเขาก็คือคน ผมเชื่อมั่นในพลังของบทเพลง เพลงมีความไพเราะ มีสุนทรียะในตัวเอง มันทำให้เนื้อหาที่ดูเคร่งเครียดไปถึงกลุ่มผู้ฟังได้อย่างนุ่มนวล เพลงสร้างกระแสก้าวหน้าได้ หากได้รับการวางไว้ในโอกาสกาละที่เหมาะสม"


"ผมเคยไปนอนที่ค่ายผู้ลี้ภัยครั้งหนึ่ง มันเป็นคนละความรู้สึกกันเลย ที่ผมไปมันไม่ได้ไกลจากกรุงเทพฯมากนะ แค่ 2-3 ชั่วโมง แต่ชีวิตเราแตกต่างกันมาก" ปิติพงษ์ ผาสุขยืด นักร้องนำวง Over Me บอกเล่าให้ฟัง


โอม ชื่อใหม่ไทยๆ ของวง Over Me ที่ตั้งให้ตอบรับกับบรรยากาศ "เพลงไร้พรมแดน" ประกอบไปด้วยสี่นิสิตจุฬาฯ จากคณะนิเทศศาสตร์ นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ ที่มารู้จักกันในชมรมดนตรีสากลของมหาวิทยาลัย


ปิติพงษ์ ซึ่งเป็นมือเขียนคำร้อง ถนัดที่จะบอกเล่าเรื่องราวที่เป็นวิถีชีวิตประจำวันและทัศนคติในการมองโลก เพลง "ลุกขึ้นยิ้ม" เกิดขึ้นมาจากอารมณ์ที่เห็นคนยุคนี้แก้ปัญหาความขัดแย้งเล็ก ๆน้อย ๆด้วยการทะเลาะเบาะแว้งอย่างรุนแรง และ "อยากจะให้เขาเลิกเสียที" ทางวงเคยเอาทำนองเพลงนี้มาใส่เนื้อร้องเป็นเพลงรักเพื่อรวมไว้ในอัลบั้มซึ่งไม่ค่อยมีเพลงรักมากนัก แต่แล้วเมื่อได้ไปเห็นประกาศโครงการเพลงไร้พรมแดน สมาชิกก็ตื่นเต้นที่จะหยิบเพลง "ลุกขึ้นยิ้ม" ฉบับดั้งเดิมขึ้นมาปัดฝุ่น และเริ่มบันทึกเสียงกันเองในชมรมดนตรี ด้วยเครื่องไม้เครื่องมือสามัญที่สุด


ปิติพงษ์ยินดีอย่างยิ่งที่ผลงานได้รับการคัดเลือก เขาเชื่อว่า "เพลงเข้าถึงง่ายกว่าปาฐกถา ดนตรีสากลกว่าภาษาพูด แต่มันก็เป็นแค่หนทางหนึ่ง เรามีใจ แต่คนทุกฝ่ายต้องช่วยกัน"


นอกจากนั้น ในอัลบั้ม เรายังแถมเพลงพิเศษ "คำถามของเด็กมอมแมม" ซึ่งเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์ที่กลุ่มเพื่อนชาวกะเหรี่ยงได้ร่วมมือร่วมใจกันสร้างขึ้นเมื่อปีกว่า ๆที่แล้ว และได้ออกฉายอย่างเกริกเกียรติในเทศกาลภาพยนตร์ต่าง ๆ หลายครั้งหลายครา อีกทั้งยังได้รับเสียงตอบรับอย่างดีเยี่ยมในการตระเวนฉายตามหมู่บ้านชายแดน"


ด้าน "โครงการกระดูก" เป็นอีกนามแฝงของ "ศุภโมกข์ ศิลารักษ์" คนทำหนัง ดนตรี กราฟฟิกดีไซน์ และเขียนหนังสือ ซึ่งเป็นการรวบรวมศิลปินหลากหลายมาร่วมงานในแต่ละเพลง ศุกโมกข์เป็นคนชนบทภาคใต้ที่มีเพื่อนทั้งคริสต์ พุทธและมุสลิม และย้ายมาอยู่ภาคเหนือจนมีเพื่อนเป็นชนเผ่าต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงที่เขาได้ใกล้ชิดเมื่อครั้งที่ได้ร่วมมือกันทำภาพยนตร์เรื่องหนึ่งเมื่อปี 2549 "กระสุนนัดสุดท้าย" มีที่มาจากหลายเช้าที่ถูกรุมล้อมด้วยข่าวความรุนแรงแถบชายแดนภาคใต้ โดยเริ่มจากประโยคที่วนเวียนอยู่ในหัว "ไม่มี..ที่ว่างเหลือแล้วสำหรับหลุมศพ"


และบทเพลง "สีของหัวใจ" ก็มีแรงบันดาลใจจากมิตรภาพความผูกพันกับเพื่อน ๆชายแดนไทย-พม่า จนต้องตั้งคำถามให้คนหันมามองสีของหัวใจตน เพื่อจะได้เหลียวมองถึงสีของหัวใจคนอื่นบ้าง


หลังการปราบปรามการชุมนุมของพระสงฆ์และฆราวาสในกรุงย่างกุ้ง เมื่อเดือนกันยายน 2550 เพลง "เจ้าของลมหายใจ" ก็ถือกำเนิดขึ้นอีกเพลง ในอารมณ์หดหู่ที่ได้เห็นความเหี้ยมโหดกลางเมืองหลวงประเทศพม่า เขาต้องการยืนยันว่า มนุษย์เราทุกคนเป็นเจ้าของลมหายใจของตน ที่ใครจะมาบีบบังคับหรือพรากจากไปมิได้


นี่เป็นบางมุมมองความคิด ความรู้สึกของคนทำดนตรี ที่พยายามสื่อออกมาให้เห็น รับรู้สัมผัสถึงคุณค่าของความเป็นมนุษย์ ว่าสิทธิ เสรีภาพ ภราดรภาพ และสันติภาพเท่านั้น คือสิ่งที่โลกกำลังต้องการ


"พรสุข เกิดสว่าง" บรรณาธิการนิตยสาร "เพื่อนไร้พรมแดน" เปิดเผยว่า ในวันเสาร์ที่ 29 มีนาคมนี้ ที่สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จะมีการจัดงานคอนเสิร์ต"บินข้ามลวดหนาม" ขึ้นโดยจะมีศิลปินจาก "โครงการบทเพลงไร้พรมแดน" ที่เปิดโอกาสให้คนทำเพลงทั่วประเทศส่งผลงานเข้าประกวด มาร่วมแสดงในครั้งนี้ด้วย


"นอกจากจะมีศิลปินที่เข้าร่วมโครงการบินข้ามลวดหนามแล้ว ยังมีแขกรับเชิญมากมายหลายหลากสไตล์ อาทิ สุวิชานนท์ รัตนภิมล, ชัย บลูส์, วงคันทรี่บลูแกรสแบบเมืองๆ อย่าง ซึงหลวง ห้าหนุ่มจากบ้านไร่ยามเย็น, ชิ สุวิชาน ศิลปินปกาเกอะญ, อั๊กลี่บั๊ก วงเร็กเก้ที่ใครหลายคนติดใจในลูกบ้าสนุกสนานจากราสต้าอาร์ตบาร์แถว ๆ คูเมือง และ เยนี ศิลปินโฟล์คจากพม่า ซึ่งจะมาพร้อมอัลบั้มแรกอีกด้วย"


ทั้งนี้ ภายในงาน "บินข้ามลวดหนาม" ยังมีการจัดนิทรรศการภาพถ่ายและภาพวาดเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยและแรงงานอพยพจากพม่า กาดขายสินค้าผลิตภัณฑ์ชนเผ่า ของที่ระลึก หนังสือ ซีดีจากกลุ่มดนตรีอิสระหลากหลาย รวมทั้ง อัลบั้ม "ไร้พรมแดน" รวมทั้งการฉายภาพยนตร์เกี่ยวกับชนเผ่าพื้นเมืองชาวกะเหรี่ยงและผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงในประเทศไทย เปิดให้เข้าชมฟรีโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น


 







บินข้ามลวดหนาม
วันที่โลกไร้พรมแดน



            ก่อนอื่นต้องเท้าความถึงโครงการ บทเพลงไร้พรมแดน อันเริ่มต้นขึ้นเมื่อกลางปีที่แล้ว โครงการนี้จัดโดยเพื่อนไร้พรมแดน องค์กรเอกชนที่ทำงานส่งเสริมสิทธิมนุษยชน สันติภาพ และความสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชนไทยที่หลากหลาย โดยเฉพาะกับผู้ลี้ภัย คนพลัดถิ่น แรงงานอพยพจากประเทศพม่าและกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมเพลงที่มีเนื้อหาส่งเสริม มิตรภาพ ความรัก และความเข้าใจระหว่างมนุษย์ หลากหลายวัฒนธรรมและศาสนา เพื่อเผยแพร่เสียงสันติภาพไปสู่สังคม


            โครงการเปิดให้คนทำเพลงทั่วประเทศส่งงานของตนเข้าร่วมคัดเลือก โดยไม่ได้มีข้อแม้ว่าต้องเป็นเพลงแนวหนึ่งแนวใด จะร็อค ป็อบ บลูส์ แจ๊ส โฟล์ค คันทรี่ มาได้หมด ซึ่งเราได้เชิญคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิห้าท่านมาตัดสินคัดเลือกผลงาน คือ


            คุณบอย โกสิยพงษ์ นักประพันธ์เพลงชื่อดัง จาก Love-Is


            คุณยุทธนา บุญอ้อม ป๋าเต้ดแห่ง Fat Radio และค่ายเพลงสนามหลวง


            คุณสุวิชานนท์ รัตนภิมล กวี นักเขียน นักดนตรีโฟล์ค


            คุณรังสรรค์ ไชยา พี่โจ้ ศิลปิน โปรดิวเซอร์ เจ้าของสองรางวัลสีสันอวอร์ด และดื่มดนตรี สตูดิโอ


            คุณสมศักดิ์ แก้วทิตย์ มือกลองดอนผีบิน ตำนานเมทัลเมืองไทย เดย์วันสตูดิโอ


            และในที่สุด หลังจากการเฝ้ารออย่างใจจดใจจ่อ ท่ามกลางความยากลำบากของกรรมการ ที่บ้างก็ต้องอดตาหลับขับตานอน (บ้างก็เปิดเพลงฟังไปในรถทุกวันเพราะกลัวส่งผลไม่ทันเวลา) ผลการตัดสินจากคณะกรรมการทุกท่านก็ได้ส่งถึงมือเพื่อนไร้พรมแดนเมื่อต้นปีที่ผ่านมา กรรมการได้เลือกเพลงที่ตนชอบที่สุด 5 เพลงและลำดับรองลงมาที่เห็นว่าสมควรรวมไว้ในอัลบั้มโดยไม่จำกัดจำนวน ทุกท่านไม่ทราบชื่อและเครดิตเพลงใด ๆ เพื่อความตื่นเต้นของกรรมการเอง และเพื่อความสบายใจในความเป็นกลางให้มากที่สุด


คอมเมนท์เล็กๆ ของพี่นนท์ สุวิชานนท์ ต่องานเพลงทั้งหมดก็คือ "อร่อยมาก" ในขณะที่คุณบอย โกสิยพงษ์ ส่งเสียงมาทางโทรศัพท์ว่า "น่ารักดี" (แม้บางเพลงออกในแนวห้าว คุณบอยคงมองว่าน่ารัก) และพี่ศักดิ์ แห่งเดย์วันสตูดิโอพึมพำว่า "มันน่ารวมทั้งหมดทุกเพลง"


            เมื่อรวบรวมพวกลบคูณหารคะแนนแล้ว เราได้เพลงมาทั้งหมด 11 เพลงจาก 7 ศิลปิน (ทีแรกเราจะเอาแค่สิบเพลง แต่สองอันดับสุดท้ายคะแนนเบียดเท่ากัน เลยต้องแบ่งรางวัลกันคนละครึ่ง) รายชื่อเพลงออกมาดังนี้


1.       เพื่อนไร้พรมแดน โดย ริน


2.       กระสุนนัดสุดท้าย โดย โครงการกระดูก


3.       ลุกขึ้นยิ้ม โดย โอม


4.       เสียงตามสาย โดย ช่วย ลืมชาติ


5.       สีของหัวใจ โดย โครงการกระดูก


6.       ฝนตกที่แม่สลอง โดย ริน


7.       เขาก็คือคน โดย เอ้ นิติ"กุล


8.       ฝุ่น โดย นายไปรษณีย์


9.       บินข้ามลวดหนาม โดย ซอ


10.   คนพลัดถิ่น โดย ริน


11.   เจ้าของลมหายใจ โดย โครงการกระดูก


            ใน 11 เพลงนี้ มีเพลง "บินข้ามลวดหนาม" ที่บินมาจากชายแดน โดยนักดนตรีชาวกะเหรี่ยงพลัดถิ่น ไร้บัตรประชาชน และไม่มีโอกาสเดินทางไปบันทึกเสียงแบบมีคุณภาพมาตรฐานได้ ไม่น่าเชื่อว่าเจ้าของงานจะอัดเพลงใส่แฮนดี้ไดรฟ์ส่งมา แต่กรรมการก็ติดใจในน้ำเสียงอันแสนซื่อและจริงใจ จน พี่โจ้ รังสรรค์ แห่งดื่มดนตรีสตูดิโอ ใจป้ำให้สปอนเซอร์บันทึกเสียงร้องนำของเพลงนี้ (เป็นเสียงเดียวที่เดินทางได้อย่างถูกกฎหมาย) และอีกเพลงหนึ่งซึ่งเป็นเพลงโฟล์คดิบๆ ของ ช่วย ลืมชาติ (นักร้องนำวง Sonnets & Alcohols) ซึ่งขอแก้ไขงานใหม่


            ในอัลบั้ม เรายังแถมเพลงพิเศษ "คำถามของเด็กมอมแมม" ซึ่งเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์ที่กลุ่มเพื่อนชาวกะเหรี่ยงได้ร่วมมือร่วมใจกันสร้างขึ้นเมื่อปีกว่าๆ ที่แล้ว และได้ออกฉายอย่างเกริกเกียรติในเทศกาลภาพยนตร์ต่างๆ หลายครั้งหลายครา อีกทั้งยังได้รับเสียงตอบรับอย่างดีเยี่ยมในการตระเวนฉายตามหมู่บ้านชายแดน ถึงขนาดบางหมู่บ้านที่ยังไม่ได้ชมก็ยังถามไถ่เรียกร้องถึง


            อัลบั้ม "ไร้พรมแดน" มีกำหนดจะวางแผงทั่วประเทศในวันสากลแห่งการขจัดการเลือกปฏิบัติทางสีผิวเผ่าพันธุ์ 21 มีนาคม นี้ (แต่อาจแอบขายจำนวนเฉพาะ ในวันสตรีสากล 8 มีนาคม ที่ Fat Festival ณ เชียงใหม่)


            และ ไม่ต้องให้รั้งรอกันนาน เพียง 8 วันนับจากวันวางแผง ในวันเสาร์ที่ 29 มีนาคม 2551 ที่สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ม.ช. เราจะจัดงาน "บินข้ามลวดหนาม" ตั้งแต่บ่ายสองโมงตรง พบกับ นิทรรศการภาพถ่ายและภาพวาดเกี่ยวกับ (และโดย) ผู้ลี้ภัยและแรงงานอพยพจากพม่า อาหารและของว่างฝีมือชนเผ่า กาดขายสินค้าผลิตภัณฑ์ชนเผ่า ของที่ระลึก หนังสือ ซีดีจากกลุ่มดนตรีอิสระหลากหลาย และ แน่นอน อัลบั้ม "ไร้พรมแดน"


            บ่ายสามโมง เป็นฤกษ์งามยามดีสำหรับภาพยนตร์เกี่ยวกับชนเผ่าพื้นเมืองชาวกะเหรี่ยงและผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงในประเทศไทย (พูดภาษากะเหรี่ยง มีคำบรรยายไทยและอังกฤษ หาดูที่อื่นไม่ได้นะจ๊ะ)


            สี่โมงครึ่ง ร่วมกันบินข้ามลวดหนาม กับ การแสดงดนตรี ไร้พรมแดน โดยศิลปินที่เข้าร่วมโครงการ พร้อมทั้งแขกรับเชิญมากมายหลายหลากสไตล์ อาทิ คุณสุวิชานนท์ นักดนตรีหัวใจกวีผู้มากับอัลบั้มใหม่หมาด "นางฟ้าสีขาวกับรอยเท้าพระจันทร์" , ชัย บลูส์ นักดนตรีบลูส์ฝีมือขั้นเทพที่กำลังจะเปิดร้านอาหารกึ่งแกลลอรี่แถวซอยวัดอุโมงค์, วงคันทรี่บลูแกรสแบบเมืองๆ อย่าง ซึงหลวง ห้าหนุ่มจากบ้านไร่ยามเย็น วงนี้มีสมาชิกบางคนมาจาก"แบนโจแมน"ที่เคยสร้างชื่อลือลั่นมาแล้ว, ชิ สุวิชาน เดินทางพาเพลงพื้นบ้านปกาเกอะญอจากอัลบั้มที่สองของเขามาฝากพร้อมกับ "คือวา" ภรรยา, อั๊กลี่บั๊ก วงเร็กเก้ที่ใครหลายคนติดใจในลูกบ้าสนุกสนานจากราสต้าอาร์ตบาร์แถวๆ คูเมือง ซึ่งหนนี้เราคงจะได้เห็นอีกแง่มุมของเขา และ เยนี ศิลปินโฟล์คจากพม่า ซึ่งจะมาพร้อมอัลบั้มแรกเช่นเดียวกัน,


            ไม่น่าเชื่อว่าทั้งหมดนี้ เปิดให้เข้าชมฟรีโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น


            ...ทำไมคนบางกลุ่มถึงต้องถูกจำกัดให้อยู่แต่ในรั้วลวดหนาม ทำไมมนุษย์จึงบินเหมือนนกตัวน้อย ที่โผปีกข้ามลวดหนามไปอย่างเสรีไม่ได้ มาร่วมกัน บินข้ามลวดหนาม และประกาศพื้นที่ของผู้ที่เชื่อมั่นในมิตรภาพและศักดิ์ศรีแห่งมนุษย์ ในวันเสาร์ที่ 29 มีนาคม ณ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มช. แยกกาดพยอม บ่ายสองโมงถึงสามทุ่มครึ่ง


ติดตามความคืบหน้าและดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.friends-without-borders.org  


ข้อมูลประกอบ เพื่อนไร้พรมแดน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net