Skip to main content
sharethis

ประชาไทขอนำเสนอผังทีวีสาธารณะ ที่ถูกร่างขึ้นเพื่อเป็น "ตุ๊กตา" เผื่อให้นำไปใช้ในช่วงเปลี่ยนผ่านในเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2551 ร่างหนึ่งนำเสนอโดย สมชัย สุวรรณบรรณ อดีตบรรณาธิการบริหาร เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บีบีซี ลอนดอน ขณะที่อีกร่างหนึ่ง นำเสนอโดย ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ นักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ผู้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันกฎหมายทีวีสาธารณะ


 


 



 


ผังรายการสถานีโทรทัศน์สาธารณะแห่งประเทศไทย (สทท.) ประจำเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2551 โดย สมชัย สุวรรณบรรณ


 


 


 


 



 



 


 


ตัวอย่างผังรายการสถานีโทรทัศน์สาธารณะในฝัน โดย ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์


 


 


 


 


ทั้งนี้ หลังจากที่ได้มีการเผยแพร่ผังของนายสมชัย สุวรรณบรรณ อดีตบรรณาธิการบริหาร เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บีบีซี ลอนดอน ออกมาแล้วมีการวิพากษ์วิจารณ์ผังดังกล่าวออกอากาศในสถายีโทรทัศน์ทีไอทีวี นายสมชัยก็ได้เขียนบทความชิ้นหนึ่งเผยแพร่ในเว็บไซต์ทีพีบีเอสว่า ได้อ่านข่าวเกี่ยวกับเรื่องผังรายการของทีวีสาธารณะ TPBS และการให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อน ของสถานีโทรทัศน์ TITV ในหลายประเด็น โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับผังรายการตัวอย่างที่เขาร่างขึ้นเพื่อเสนอแนะตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา


 


นายสมชัยชี้แจงว่า ประการที่หนึ่ง เขาใช้เวลาเพียงไม่กี่วันในการจัดทำผังรายการตัวอย่างในช่วงที่เดินทางกลับมาที่ ประเทศไทย ผังรายการที่จัดทำขึ้นเป็นความคิดของเขาเพียงคนเดียวโดยมิได้ปรึกษาผู้ใด แต่ใช้ประสบการณ์ส่วนตัวในการทำงานที่บีบีซี ลอนดอนเป็นเวลาหลายปี ผังรายการที่ผมแนะนำเสนอเป็นผัง รายการตัวอย่าง เพื่อให้คณะทำงานนำไปถกเถียงพิจารณาต่อไป มิใช่เป็นข้อยุติ


 


ประการที่สอง ข้อวิจารณ์เกี่ยวกับรายการ "มองต่างมุม" เป็นความเข้าใจผิดของพนักงาน TITV เนื่องจากที่จริงแล้วผมเสนอรายการชื่อ Question Time ซึ่งเป็นรายการสนทนาอภิปรายทางการเมือง รายสัปดาห์ของบีบีซีทีวี ที่อาจเป็นต้นแบบของรายการ "มองต่างมุม" ของมูลนิธิสื่อสร้างสรรค์ แต่ไม่มีความตั้งใจใดๆ ที่จะระบุให้ ดร. เจิมศักดิ์ ปิ่นทองเป็นผู้ผลิตรายการ


 


ประการที่สาม ข้อวิจารณ์ของพนักงาน TITV ที่ว่าผังรายการที่จัดทำขึ้นได้ลดเวลานำเสนอรายการข่าวของ TITV จาก 8 ชั่วโมงลงไปเหลือ 4 ชั่วโมงต่อวัน เป็นการบิดเบือนความจริง ในทางตรงกันข้าม เขาพยายามจัดทำผังรายการให้มีช่วงเวลานำเสนอรายการข่าวถึง 6.30 ชั่วโมงต่อวันหรือ เจ็ดชั่วโมงต่อวันหากรวมข่าวราชสำนักด้วย (ผมมิได้นำข่าวต้นชั่วโมงที่เสนอเจ็ดครั้งต่อวันมารวมในการคำนวน) ในขณะที่รายการข่าวของ TITV ระหว่างเวลา 05.30-24.00 . มีเพียง 4.30-5.0 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้น ผังรายการจึงมีช่วงเวลาการนำเสนอรายการข่าวรวมกันมากกว่าผังรายการของไอทีวีในปัจจุบัน (โดยใช้ผังรายการของ TITV ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมาในการเปรียบเทียบ)


 


"อนึ่ง ผมไม่ถือว่า รายการประเภท "คุยข่าว" หรือการอ่านหนังสือพิมพ์แถมความคิดเห็นส่วนตัว ของผู้จัดรายการ ให้ผู้ชมฟังนั้นเป็น "รายการข่าว" หรือ Serious Journalism แต่ถือว่ารายการประเภท นี้เป็น "รายการบันเทิง" นอกจากนี้ ผมยังไม่นับรวมรายการข่าว Hot News ที่ออกอากาศซ้ำอีกครั้งใน ช่วงเวลาหลังเที่ยงคืน เพราะเอาของเก่ามาฉายซ้ำ" นายสมชัยระบุ


 


ประการที่สี่ เขาเสนอให้เปลี่ยนการออกรายการข่าวหลัก (Main Evening Bulletin) ช่วงค่ำที่ เริ่มตั้งแต่เวลา 18.00 มาเป็นการเริ่มต้นตั้งแต่เวลา 21.00 เป็นต้นไป ด้วยเหตุผลดังนี้


 


หนึ่ง สถานีโทรทัศน์ไทยขณะนี้แทบทุกช่องได้เสนอรายการข่าวช่วงเย็นระหว่างเวลา 18.00 - 20.00 . อยู่แล้ว ซึ่ง TPBS ไม่จำเป็นต้องนำเสนอรายการข่าวเพื่อแข่งขันกับสถานีอื่นในช่วงเวลา เดียวกันนี้ เพราะไม่ได้ทำให้ผู้ชมทางบ้านได้สาระอะไรเพิ่มมากขึ้นไปกว่าที่เสนอกันอยู่ และ


 


สอง เนื้อข่าวส่วนใหญ่ที่ปรากฏในช่วงเวลา 18.00-20.00 . ในสถานีต่างๆ เป็น "ข่าวปิงปอง" ที่ เน้นการโต้กันไปมา โดยหวังเพิ่มเรตติ้ง (rating) สิ่งที่ขาดหายไปก็คือ การนำเสนอข่าวเชิงวิเคราะห์ เจาะลึกอย่างครบถ้วนและรอบด้าน และเขาเสนอให้ TPBS มีรายการข่าว (Main Evening Bulletin) ในช่วงเวลา 21.00 น เป็นช่วงหลักของรายการข่าว เพื่อที่จะให้นักข่าวของ TPBS มีเวลาทำงานอย่างพิถิพิถันให้ดีขึ้น (proper journalistic treatment) สามารถเก็บมุมมองข่าวอย่างรอบด้าน นำเสนอข้อโต้แย้งจากฝ่ายต่างๆ รวมถึง นำเสนอภูมิหลังของข่าว บริบทของเรื่องราวที่นำเสนออย่างครบถ้วนในข่าวชิ้นเดียว (TV news package) ก่อนที่จะออกอากาศ จะให้ประโยชน์ต่อผู้ชมมากกว่า และในช่วงเวลาดังกล่าว เขามีความ คาดหวังว่า ผู้รับสารน่าจะพร้อมรับชมรายการข่าวอย่างจริงจัง เนื่องจากเดินทางกลับมาถึงบ้านหลังเลิก งานแล้ว ดังนั้นการนำเสนอข่าวในช่วงเวลานี้จะเป็นประโยชน์มากกว่า ในประเทศอังกฤษ โทรทัศน์ BBC และ ITV มีช่วงเวลาหลักของรายการข่าวในเวลา 22.00 . มี Channel 4 เพียง ช่องเดียวมี ช่วงเวลาหลักของรายการข่าวในเวลา 19.00 .


 


ประการที่ห้า ผังรายการที่ผมเสนอในช่วงเวลา 16.00-20.00 . ต้องการตอบสนองต่อเด็กและ ครอบครัวเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ผมได้แทรกช่วงเวลาของรายการข่าว 30 นาทีเพื่อเป็นรายการข่าว สำหรับเด็ก ซึ่งคล้ายกับ Newsround ของ BBC ทั้งนี้เนื้อหาของข่าวและลักษณะของการนำเสนอข่าว ในช่วงนี้จะแตกต่างออกไปจากรายการข่าวปกติ นอกจากนี้ ในเวลา 17.00 และ 19.00 . ผมคิดว่า น่าจะนำเสนอข่าวสั้นต้นชั่วโมงเฉพาะหัวข้อข่าวช่วงละ 3 นาทีจำนวน 2 ช่วง เพื่อที่จะคอยเตือนผู้ชมที่ รับชมรายการอยู่ในช่วงเวลาของรายการเด็กและครอบครัว (เวลา 16.00-20.00 .)


 


ในส่วนของร่างของดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์นั้น ได้นำออกเผยแพร่สู่สาธารณะ ในเวทีประชาพิจารณ์ทีวีสาธารณะเมื่อวันที่ 11 ม.ค. ที่ผ่านมา โดยหลังจากมีการเปิด "ผังรายการในฝัน" ก็เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ โดยหนังสือพิมพ์มติชนได้รายงานเมื่อวันที่ 13 ม.ค. ที่ผ่านมา ในหัวข่าว "สมเกียรติปัดล้ำเส้น ผังรายการทีไอทีวี" ความว่า ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ได้กล่าวถึงกรณีพนักงานสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีออกแถลงการณ์คัดค้านผังรายการโทรทัศน์สาธารณะว่า ผังรายการดังกล่าวเป็นผังรายการที่ทำส่วนตัวตามคำขอของเครือข่ายเพื่อนทีวีสาธารณะ เพื่อเป็นตุ๊กตารับฟังความเห็น และได้พูดชัดว่า ไม่ใช่ผังรายการของคณะกรรมการเตรียมการหรือผังรายการของรัฐบาล ซึ่งได้เน้นย้ำไปแล้วหลายครั้ง เพราะในคณะกรรมการเตรียมการยังไม่เคยมีการทำผังรายการใดๆ ออกมา จึงยืนยันว่า คณะกรรมการเตรียมความพร้อมไม่ได้ล้ำเส้นหรือละเมิดอำนาจคณะกรรมการชั่วคราวที่จะมีการแต่งตั้งขึ้นอย่างที่ทีไอทีวีตั้งข้อสังเกต


 



โดย ดร.สมเกียรติกล่าวว่า ผังรายการที่ทีไอทีวีนำมาเผยแพร่ทางโทรทัศน์เป็นผังรายการที่อดีตพนักงานบีบีซีคนหนึ่งจัดทำขึ้นเป็นตัวอย่าง โดยนำผังของบีบีซีมาประยุกต์กับบริบทของไทย และเคยเผยแพร่มานานแล้ว จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ และไม่มีฐานะเป็นทางการใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากนี้ หัวใจของเวทีประชาพิจารณ์คือ การให้ประชาชนมีส่วนร่วมเสนอแนะรายการที่อยากเห็น ซึ่งทุกคนมีสิทธิเสนอตามความต้องการได้ ส่วนผังรายการจริงจะขึ้นอยู่กับผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์สาธารณะและต้องถูกรับรองโดยคณะกรรมการบริหาร


 


"ดังนั้น หากจะมีการอภิปรายถึงผังรายการ ก็ควรถกกันว่ารายการลักษณะใดให้คุณค่าต่อประชาชนและสาธารณะอย่างไร มากกว่าการนำไปบิดเบือนและกล่าวหาว่ามีผู้ได้รับผลประโยชน์ จึงอยากให้ในอนาคตทีไอทีวี ควรตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ครบถ้วนก่อนนำเสนอข่าว" นายสมเกียรติกล่าว


 



นายอนุพงษ์ ไชยฤทธิ์ อดีตผู้ผลิตรายการวิทยุบีบีซีภาคภาษาไทย ในฐานะตัวแทนเครือข่ายเพื่อนทีวีสาธารณะ กล่าวว่า เวทีประชาพิจารณ์ที่เครือข่ายเพื่อนทีวีสาธารณะตั้งขึ้นมาก็เพื่อกระตุ้นให้สังคมมีส่วนร่วมในกระบวนการจัดตั้งโทรทัศน์สาธารณะ และขับเคลื่อนให้โทรทัศน์สาธารณะแห่งแรกของไทยเป็นสถานีที่ปลอดจากการแทรกแซงของรัฐและเอกชน การจัดเวทีประชาพิจารณ์จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้คนมาช่วยกันคิดและมีส่วนร่วมในกระบวนการจัดทำผังรายการ โดยจะมีเวทีในลักษณะเดียวกันนี้อย่างต่อเนื่อง



 


 


อ่านประกอบ:
สัมภาษณ์ จอม เพชรประดับ: ทีวีสาธารณะ VS จริยธรรมสื่อ "ผลประโยชน์ของประชาชนต้องมาก่อน"
รายงาน : ทีวีสาธารณะ ช่อง "ประชาธิปไตย" หรือ ช่อง "คุณธรรม"


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net