Skip to main content
sharethis

11 ธ.ค.50 ณ ห้องประชุม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จัดการเสวนาเรื่อง"เลือกตั้งอย่างไรให้ปฏิรูปการเมือง" มีนักศึกษา อาจารย์ ที่สนใจเข้าร่วมประมาณ 300 คน ผู้เข้าร่วมเสวนาประกอบด้วย ผศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ดร.สมชัย ภัทรธนานันท์ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และนายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยแห่งรัฐฮาวายอิ


 


000


 


"ทำอย่างไรให้การเลือกตั้งเป็นกระบวนการที่เราทุกคนมีส่วนในการกำหนดนโยบายบางอย่างทางสังคมให้เกิดขึ้น และหลังการเลือกตั้ง ทำอย่างไรจะทำให้การเมืองเปิดกว้างเท่าที่จะเป็นไปได้ ทำอย่างไรจะทำให้เกิดกติกาในสังคมการเมืองที่เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางกว่านี้"


 


อ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล กล่าวว่า หลังการเลือกตั้งเราจะเจอรัฐบาล 3 แบบ คือ 1) รัฐบาลคนบาป คือ พรรคพลังประชาชนจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งในทัศนะของคนชั้นกลางไม่ต้องการ แต่มีแนวโน้มว่าเป็นไปได้ 2) รัฐบาลเทวดา คือ พรรคประชาธิปัตย์จัดตั้งรัฐบาล คนชั้นกลาง/คนชั้นนำต้องการ แต่โอกาสมีน้อย นอกจากพรรคอื่นๆ จะถูกกดดันไม่ให้ร่วมกับพลังประชาชน และ 3) รัฐบาลสมานฉันท์แห่งชาติ ซึ่งโดยเงื่อนไขปัจจุบันเป็นไปได้ยาก ต้องอาศัยอำนาจพิเศษบางอย่างที่มีแรงกดดันมากพอ


 


อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลแบบไหนก็จะต้องเผชิญกับปัญหาสำคัญคือ 1) การเมืองที่มีความเครียดสูง เนื่องจากมีความแตกต่างทางความคิดสูงมาก ซึ่งควรถูกจัดการด้วยกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตยอย่างสันติ 2) การขยายตัวของระบบราชการโดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคง ซึ่งจะทำให้การชุมนุมหรือการแสดงความคิดเห็นเป็นไปได้ยากมากขึ้น ถือเป็นปัญหาต่อประชาธิปไตยในศตวรรษที่ 21 ซึ่งน่าจะหมายถึง การทำให้คนตัวเล็กๆ เข้าถึงอำนาจ และกำหนดชะตากรรมตัวเองได้มากขึ้น


 


สิ่งที่ อ.สมชาย ชวนให้หาคำตอบก็คือ ทำอย่างไรให้การเลือกตั้งเป็นกระบวนการที่เราทุกคนมีส่วนในการกำหนดนโยบายบางอย่างทางสังคมให้เกิดขึ้น และหลังการเลือกตั้ง ทำอย่างไรจะทำให้การเมืองเปิดกว้างเท่าที่จะเป็นไปได้ คือต้องกลับไปพูดเรื่องรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งเป็นความพยายามที่จะกำกับการเมืองโดยกองทัพ, องคมนตรี, ศาล และเหนี่ยวรั้งการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดจากการเติบโตของท้องถิ่นและการเคลื่อนไหวของคนในสังคม อีกทั้งยืนอยู่บนฐานการยอมรับที่ง่อนแง่น "ทำอย่างไรจะทำให้เกิดกติกาในสังคมการเมืองที่เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางกว่านี้" คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวสรุปทิ้งท้ายเป็นประเด็นให้ขบคิดต่อไป


 


000


 


"การไปออกเสียงเลือกตั้งในครั้งนี้จึงเป็นการออกเสียงในเชิงยุทธศาสตร์ คือ เลือกอย่างไรจึงจะเป็นพลังในการคัดค้านระบอบเผด็จการที่จะแฝงมาหลังการเลือกตั้ง เลือกอย่างไรทำให้มีการคัดค้าน พรบ.ความมั่นคงฯ มากที่สุด"


 


ดร.สมชัย ภัทรธนานันท์ ให้ความเห็นว่า การเลือกตั้งครั้งนี้มีความเป็นประชาธิปไตยน้อยมาก เนื่องจากภูมิหลังและที่มา ที่เกิดขึ้นภายหลังรัฐประหาร และเกิดขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญที่มีจุดมุ่งหมายให้ระบบราชการเข้าควบคุมระบบการเมืองได้มากขึ้น อีกประการหนึ่งคือ มีความพยายามของคณะรัฐประหารที่จะออก พรบ.ความมั่นคงฯ ซึ่งหมายความว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต้องบริหารงานควบคู่กับกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นอย่างมาก การเลือกตั้งครั้งนี้จึงมีการวางแผนล่วงหน้าเพื่อจะให้ระบอบเผด็จการควบคุมการเมืองไทยได้มากขึ้น


 


ดังนั้น ในทัศนะของนักวิชาการอีสาน การไปออกเสียงเลือกตั้งในครั้งนี้จึงเป็นการออกเสียงในเชิงยุทธศาสตร์ คือ เลือกอย่างไรจึงจะเป็นพลังในการคัดค้านระบอบเผด็จการที่จะแฝงมาหลังการเลือกตั้ง เลือกอย่างไรทำให้มีการคัดค้าน พรบ.ความมั่นคงฯ มากที่สุด


 


ประเด็นสำคัญที่ อ.สมชัย ทิ้งท้ายไว้คือ การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่มีอะไรใหม่ในแง่ของการปฏิรูปการเมือง มันไม่ได้แตะปัญหารากเหง้า ถ้าจะให้การเมืองดีขึ้นต้องปฏิรูปเศรษฐกิจ/สังคม ให้ประชาชนเข้าถึงงบประมาณมากขึ้น มีฐานะดีขึ้น ซึ่งจะทำให้การซื้อสิทธิขายเสียงน้อยลงในที่สุด


 


000


 


"เส้นแบ่งที่สำคัญที่เป็นตัวแปรในการพิจารณา คือ ทัศนคติหรือจุดยืนของแต่ละพรรคต่อการสร้างสถาบันทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย เช่น จะเอายังไงกับ พรบ.ความมั่นคงฯ"


 


นายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ ชี้ให้เห็นถึงที่มาของปัญหาว่า การรัฐประหาร 19 กันยาก็เกิดขึ้นจากทหารบางกลุ่มไปออกรับและร่วมมือกับชนชั้นนำบางกลุ่มที่อยู่เหนือระบบราชการที่พยายามขึ้นมามีบทบาททางการเมือง ดังนั้นการเมืองหลังการเลือกตั้งจึงตกอยู่ใต้อิทธิพลของพลังที่อยู่เหนือระบบราชการ และสิ่งที่เป็นปัญหามากๆ ต่อการเมืองหลังการเลือกตั้ง คือ พรบ.ความมั่นคงฯ และกฎหมายที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนหลายๆ ฉบับ ที่ทำให้ชนชั้นนำกลุ่มใหม่เข้ามามีบทบาททางการเมืองมากขึ้น


 


การเลือกตั้งครั้งนี้อยู่บนความพยายามให้สถาบันนิติบัญญัติและรัฐบาลอ่อนแอ ดังนั้น เราจึงต้องคิดถึงการเลือกตั้งในแง่ที่เป็นการบอกต่อผู้ที่ต้องการเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองในอนาคต ให้คำนึงคน 10 ล้านคนที่ไม่รับรัฐธรรมนูญ อีกประการหนึ่ง การพิจารณาแต่นโยบายไม่ใช่ตัวแปรสำคัญ เพราะทุกพรรคมีนโยบายไม่ต่างกัน คือ ประชานิยม เส้นแบ่งที่สำคัญที่เป็นตัวแปรในการพิจารณา คือ ทัศนคติหรือจุดยืนของแต่ละพรรคต่อการสร้างสถาบันทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย เช่น จะเอายังไงกับ พรบ.ความมั่นคงฯ, กฎหมายคอมพิวเตอร์, กฎหมายปฏิรูปองค์กรสื่อสารมวลชน ฯลฯ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net