Skip to main content
sharethis

 


ชำนาญ จันทร์เรือง


 


 


อนุสนธิคำพิพากษาของศาลจังหวัดทุ่งสงให้จำคุก พญ.สุทธิพร ไกรมาก เป็นเวลา 3 ปี โดยไม่รอลงอาญา ทำให้เกิดการถกแถลงกันอย่างมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากทางฝ่ายแพทย์บางรายถึงขนาดกล่าวว่าหากมีการจำคุกแพทย์จากการปฏิบัติหน้าที่แล้วประเทศชาติอาจถึงคราวล่มจมได้ โดยให้เหตุผลว่าต่อไปนี้แพทย์ก็จะไม่กล้ารักษา โดยจะส่งต่อโรงพยาบาลขนาดใหญ่กันหมด นั้น


 


ก่อนอื่นเราควรมาทำความเข้าใจกันก่อนว่าแพทยสภา สภาการพยาบาล สภาเภสัชกรรม ทันตแพทยสภา คณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะ เคยได้ร่วมกันออกประกาศรับรองสิทธิของผู้ป่วย เพื่อให้ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพกับผู้ป่วยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจอันดีและเป็นที่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน ดังต่อไปนี้


 


1. ผู้ป่วยทุกคนมีสิทธิพื้นฐานที่จะได้รับบริการด้านสุขภาพตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ


2. ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะได้รับบริการจากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ เนื่องจากความแตกต่างด้านฐานะ เชื้อชาติ สัญชาติ ศาสนา สังคม ลัทธิการเมือง เพศ อายุ และลักษณะของความเจ็บป่วย


3. ผู้ป่วยที่จะขอรับบริการด้านสุขภาพมีสิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลอย่างเพียงพอและเข้าใจชัดเจนจากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเลือกตัดสินใจในการยินยอมหรือไม่ยินยอมให้ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพปฏิบัติต่อตน เว้นแต่เป็นการช่วยเหลือรีบด่วนหรือจำเป็น


4. ผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะเสี่ยงอันตรายต่อชีวิต มีสิทธิที่จะได้รับการช่วยเหลือรีบด่วนจากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ โดยทันที ตามความจำเป็นแก่กรณี โดยไม่คำนึงว่าผู้ป่วยจะร้องขอความช่วยเหลือหรือไม่


5. ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะได้รับทราบ ชื่อ สกุล และประเภทของผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพที่เป็นผู้ให้บริการต่อตน


6. ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะขอความเห็นจากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพอื่น ที่มิได้เป็นผู้ให้บริการแห่งตน และมีสิทธิในการขอเปลี่ยนผู้ให้บริการ และสถานบริการได้


7. ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะได้รับการปกป้องข้อมูลเกี่ยวกับตนเอง จากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพโดยเคร่งครัด เว้นแต่จะได้รับความยินยอมจากผู้ป่วย หรือการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย


8. ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลอย่างครบถ้วนในการตัดสินใจในการเข้าร่วม หรือถอนตัวจากการเป็นผู้ถูกทดลองในการทำวิจัยของผู้ประกอบการวิชาชีพด้านสุขภาพ


9. ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลเฉพาะของตนที่ปรากฎในเวชระเบียน เมื่อร้องขอ ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าวต้องไม่เป็นการละเมิดสิทธิส่วนตัวของบุคคลอื่น


10. บิดา มารดา หรือผู้แทนโดยชอบธรรมอาจใช้สิทธิแทนผู้ป่วยที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปีบริบูรณ์ ผู้บกพร่องทางกายหรือจิต ซึ่งไม่สามารถใช้สิทธิด้วยตนเองได้


 


 


 


เมื่อเรานำมาพิจารณาประกอบกับข้อมูลของเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ที่ออกมาแถลงถึงความเป็นมาของเรื่องนี้ พอที่จะสรุปได้ว่า


 


เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2545 นางสมควร แก้วคงจันทร์ มารดาของ น..ศิริมาศ แก้วคงจันทร์ ได้เสียชีวิตลงหลังการผ่าตัดไส้ติ่ง ไม่มีใครอธิบายว่าคุณแม่ของเธอตายเพราะอะไร แพทย์ ผู้อยู่ในเหตุการณ์บอกว่าหัวใจล้มเหลว เมื่อถาม รพ.มหาราชก็ได้รับคำตอบว่าเป็นเพราะสมองบวม เธอนำศพคุณแม่เข้ากรุงเทพผ่าพิสูจน์ที่สถาบันนิติเวช ผลที่ออกมาเธอก็ยังไม่เข้าใจ


 


สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช(สสจ.)สอบสวนแล้วบอกว่าหมอไม่ผิด  แต่จะจ่ายเงินให้ โดยหมอไม่รับว่าเป็นความผิดพลาด คุณศิริมาศบอกว่าถ้าจะให้รับเงินต้องอธิบายก่อนว่าคุณแม่เธอตายเพราะอะไร ถ้าหมอไม่ผิดเธอก็เหมือนไปขู่กรรโชกทรัพย์มันไม่ถูกต้อง เจ้าหน้าที่ สสจ.บอกว่าถ้าเป็นอย่างนั้นก็ให้ไปฟ้องเอาเอง


 


คุณศิริมาศจึงไปแจ้งความ เมื่อไปแจ้งความเธอจึงรู้ว่ามีการใช้อิทธิพลท้องถิ่น ทำให้ตำรวจไม่รับแจ้งความ ไม่ยอมทำสำนวนส่งอัยการ


 


เธอร้องเรียนต่อแพทยสภาซึ่งก็ได้รับคำตอบสั้น ๆ ว่า "คดีไม่มีมูล" ร้องเรียนต่อ รมว.สาธารณสุข ก็ไม่ได้รับคำอธิบายว่าคุณแม่เป็นอะไรตาย เธอจึงร้องเรียนไปยังหน่วยงานอื่นอีก 16 หน่วยงาน พบว่าตำรวจมีความผิดจนถูกย้าย และอัยการสูงสุดมีคำสั่งให้ฟ้องคดีนี้


 


ปลายปี 2545 คุณศิริมาศเข้ารวมตัวกับเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์  ซึ่งช่วยเธอยื่นฟ้องสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดของ รพ.ร่อนพิบูลย์ เป็นคดีแพ่ง ตาม พรบ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ ปี 2539 จนกระทั่งปลายปี 2548 ศาลชั้นต้นตัดสินให้คุณศิริมาศชนะคดีแพ่ง โดยศาลพิพากษาว่า รพ.ประมาทเลินเล่อ สธ.ต้องชดใช้ค่าเสียหาย 6 แสนบาท ระหว่างนั้นทางอัยการจังหวัดทุ่งสงได้ยื่นฟ้องในคดีอาญา


 


คุณศิริมาศเหนื่อยมาหลายปี หนังสือก็ไม่ได้เรียนทั้งที่เธอเอ็นทร็านซ์ติดคณะชีวเคมี เธออยากเรียนหนังสือ จึงขอร้องสำนักงานปลัดกระทรวงฯ ว่าอย่าอุทธรณ์เลย เธอพอใจแล้ว และเงินจำนวน 6 แสนบาทนั้นแม้จะไม่มากหากเทียบกับชีวิตแม่ แต่ก็คงพอทำให้เธอกับน้องๆ ได้เรียนหนังสือ เพราะหลังจากแม่ตายก็บ้านแตก พี่น้อง 5 คนแตกแยกกันไปคนละทิศละทาง เธอกับน้องๆ ไม่มีใครส่งเสียให้ได้เรียน ความเป็นอยู่ลำบาก


 


แต่สำนักงานปลัดกระทรวงฯ กับแพทยสภากลับร่วมกันตั้งทีมทนายเข้าต่อสู้คดี  และยื่นอุทธรณ์คดีแพ่งในประเด็นอายุความ จนทำให้คุณศิริมาศต้องได้รับความพ่ายแพ้เนื่องจากคดีหมดอายุความเมื่อ 12 กรกฎาคม 2550 คดีจึงเข้าสู่การพิจารณาของศาลฎีกาซึ่งก็ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าผลจะออกมาเป็นเช่นไร


 


ในคดีอาญา ชมรมแพทย์ชนบทได้ประสานกับเครือข่ายฯ ว่าจะหาทางออกกันอย่างไรโดยเครือข่ายฯ อาสาเจรจากับคุณศิริมาศ ซึ่งคุณศิริมาศบอกว่ามาพูดตอนนี้มันสายไปแล้ว อัยการสั่งฟ้องไปแล้ว และคดีนี้เป็นคดีอาญาที่ยอมความกันไม่ได้ แต่ก็มีทางออก โดยให้แพทย์ขอโทษอย่างเป็นทางการ และทำบุญให้แม่เธอ แล้วเธอจะไปแถลงต่อศาลเองว่าไม่ติดใจเอาความ และให้หมอไปรับสารภาพกับศาลท่านพร้อมๆ กัน โทษหนักจะได้เป็นเบา อย่างมากศาลก็รอลงอาญา


 


ครั้งแรกทาง รพ.ตอบตกลง แต่แพทยสภาและสำนักงานปลัดกระทรวงฯ ไม่ให้คุณหมอขอโทษและให้สู้คดี โดยบอกคุณหมอว่ามีทางชนะ โดยจัดทีมนักกฎหมายและทีมแพทย์ที่จบกฎหมายมาให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่


 


จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่าต้นเหตุของความยุ่งยากทั้งหมดเกิดมาจากคำว่า "ศักดิ์ศรี"ของวิชาชีพหรือขององค์กรนั่นเอง


 


ถ้าหากวงการวิชาชีพต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรแพทย์หรือองค์กรใดก็ตาม ลดการรักษาภาพลักษณ์หรือศักดิ์ศรี ตลอดจนการปกป้ององค์กรของตนเอง แล้วหันมาสนใจสิทธิของผู้รับบริการหรือผู้เสียหายในฐานะเพื่อนมนุษย์ด้วยกันแล้ว เรื่องราวคงไม่ลุกลามใหญ่โตจนเป็นคดีความขึ้นโรงขึ้นศาลกันอย่างมากมายดังเช่นปัจจุบันนี้


 


 


 


 


 


-----------------------


หมายเหตุ  เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 19 ธันวาคม 2550


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net