Skip to main content
sharethis


ประชาไท - คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ร่วมกับมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย และมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท จัดการสัมมนา เรื่อง สถานการณ์แรงงานนอกระบบและแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย ที่โรงแรมเซ็นจูรี่ ปาร์ค เมื่อวันที่ 7 พ.ย.50


 


ภายในงาน มีการฉายสารคดี เรื่อง "สถานการณ์แรงงานนอกระบบในประเทศไทย" และ "สถานการณ์แรงงานข้ามชาติในประเทศไทย" จัดทำโดยมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย และมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ที่เล่าถึงสถานการณ์แรงงานนอกระบบและแรงงานข้ามชาติ ซึ่งแม้จะมีความสำคัญต่อประเทศอย่างยิ่ง แต่พวกเขายังคงมีสภาพการทำงานที่ย่ำแย่ สิทธิในฐานะเป็นผู้ใช้แรงงานยังไม่ได้รับการคุ้มครองดูแล สวัสดิการสำหรับพวกเขายังมีอย่างจำกัดมาก และแม้ว่าแรงงานทั้งสองกลุ่มนี้จะมีจำนวนมากมายมหาศาลแต่สาธารณชน กระทั่งสหภาพแรงงานซึ่งดำเนินกิจกรรมด้านแรงงานโดยตรงยังรู้จักเรื่องราวของพวกเขาน้อยมาก ปัญหาของแรงงานทั้งสองกลุ่มยังคงถูกมองข้ามไปหมด


 


 



ประเทศไทยมีประชากร 65 ล้านคนโดยประมาณ จำนวนนี้ 35.5 ล้านคนคือกำลังแรงงานที่เป็นพลังสำคัญของการพัฒนาประเทศ มีเพียง 12-13 ล้านคนเท่านั้นที่เป็นแรงงานในระบบที่ได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมาย ขณะที่ผู้ใช้แรงงานอีกราว 22.5 ล้านคนหรือประมาณ 65% ของแรงงานทั้งหมด กับยังมีแรงงานข้ามชาติอีกมากกว่าสองล้านคนซึ่งส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในภาคเศรษฐกิจนอกระบบ คนเหล่านี้ยังไม่ได้รับการคุ้มครอง ทั้ง ๆ ที่คนเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบเศรษฐกิจไทย แรงงานนอกระบบ 22.5 ล้านคน คือผู้ที่สร้างรายได้ให้กับประเทศไม่ต่ำกว่าปีละ 2 ล้าน ล้านบาท หรือราวร้อยละ 43 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ


 


ข้อมูลจาก: สารคดีเรื่อง "สถานการณ์แรงงานนอกระบบในประเทศไทย"


 


 


ต่อมา มีการเสวนาเรื่อง "แรงงานนอกระบบ: ปัญหาของ 22.5 ล้านคนที่ถูกมองข้าม" นำการเสวนาโดย จิตติมา ศรีสุขนาม องค์การแรงงานระหว่างประเทศ และวิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย


 


ยอมรับร่างกฎหมายนานไป ช่วยแรงงานได้ไม่ทันเวลา


ดร. ชัยยุทธ ชวลิตนิธิกุล จากที่ปรึกษาวิชาการแรงงาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กฎหมายแรงงานทุกฉบับต้องแก้ไขให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ 50 เพื่อให้คนงานทุกภาคส่วนได้รับสิทธิเท่าเทียมหรือใกล้เคียงกัน อย่างไรก็ตาม การออกกฎหมายของภาคราชการมักต้องใช้เวลานาน เช่น พ.ร.บ.คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ.2541 ใช้เวลา 20 กว่าปีจึงจะได้ใช้ ส่วน พ.ร.บ. คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน ซึ่งคาดว่าคงพิจารณาไม่ทันในรัฐบาลชุดนี้ ก็ใช้เวลาเกือบ 10 ปี ดังนั้น จึงควรใช้เวลาร่างกฎหมายที่สั้นกว่านี้เพื่อให้คุ้มครองแรงงานได้ทันเวลา


 


นอกจากนี้ แรงงานนอกระบบต้องรวมตัวกันให้ได้ เพื่อผนึกกำลังกันต่อสู้เรียกร้อง เพื่อให้ปัญหาได้รับการแก้ไขเร็วขึ้น


 


แรงงานในระบบรวมกับนอกระบบได้จริงไหม


พูลทรัพย์ ตุลาพันธุ์ จากเครือข่ายแรงงานนอกระบบ กล่าวว่า หลังจากได้ดูสารคดีแล้ว เกิดคำถามว่า แรงงานนอกระบบเป็นแรงงานหรือไม่ เพราะบางคนแม้แต่ในกระทรวงแรงงานยังมองว่าไม่ใช่ หรือแรงงานนอกระบบเองก็ยังไม่รู้ เมื่อถามว่าทำงานอะไร บางคนก็ตอบว่า ไม่ได้ทำงาน อยู่บ้านเย็บผ้า บ้างก็บอกว่า เก็บขยะ นั่นเพราะเขาถูกทำให้เชื่อว่า แรงงานต้องเป็นคนที่ทำงานในโรงงาน หรือบริษัทเท่านั้น ทั้งที่จริงแล้ว เขาคือแรงงานเพราะสิ่งที่เขาทำก็คืองาน


 


สอง พูลทรัพย์ พูดถึงสถานการณ์ของแรงงานนอกระบบว่า ที่ผ่านมาต้องอาศัยการรวมตัวกันของแรงงานเกษตรพันธสัญญา ภาคบริการ และแรงงานตามบ้าน ซึ่งไม่ง่าย โดยขณะที่มีแรงงานนอกระบบ 22-23 ล้านคน แต่กลับรวมตัวได้เพียงแสนสองแสนคนเท่านั้น นอกจากนี้ แม้ขณะนี้จะผลักดัน พ.ร.บ.ผู้รับงานไปทำที่บ้านได้ แต่ก็ยังมีแรงงานเกษตรพันธะสัญญา ภาคบริการ ภัตตาคาร ที่ยังไม่ได้รับการคุ้มครอง รวมถึงการขยายประกันสังคมไปยังแรงงานนอกระบบก็ไปไม่ถึงไหน แม้แต่แรงงานในระบบเองก็ยังมีปัญหากับประกันสังคม


 


สุดท้าย พูลทรัพย์ ทิ้งท้ายว่า จะทำอย่างไรให้แรงงานในและนอกระบบรวมตัวกันได้ และจะเป็นไปได้หรือไม่


 


การรวมตัวเรียกร้องสิทธิ ทำลายความมั่นคงในอาชีพ


ชฤทธิ์ มีสิทธิ นักกฎหมายผู้เชี่ยวชาญประเด็นแรงงานนอกระบบ กล่าวว่า แรงงานนอกระบบและในระบบเชื่อมโยงกัน ไม่ได้ต่างคนต่างอยู่ โดยรูปแบบการจ้างงาน เปลี่ยนไปพร้อมกระแสโลกาภิวัตน์ ทำให้เกิดการแบ่งแยกมีการปฏิบัติที่เหลื่อมล้ำ เกิดการจ้างงานระยะสั้น พนักงานธนาคารของเรายังอยู่ใต้สัญญาที่ต้องต่อสัญญาปีต่อปี จะมีความมั่นคงอย่างไร


 


"จำได้ว่า เคยมีความพยายามจะเอาบริษัทที่เรียกว่า out source เข้ามาทำงานบริการเคาน์เตอร์ แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยยับยั้ง เพราะการให้บริษัทรับเหมาค่าแรง หรือซับคอนแทรกเข้ามาจะกระทบความเชื่อมั่นของผู้ใช้บริการ นี่เราให้ค่าของงานแตกต่างกันหรือเปล่า? แต่ถ้างานในกระบวนการผลิตไม่เป็นไรใช่ไหม?"


 


ชฤทธิ์ กล่าวว่า การรวมตัวของแรงงานกลับนำไปสู่การทำลายความมั่นคงในอาชีพ โดยลูกจ้างในระบบเหมาค่าแรง แม้รู้ว่าสิทธิมีอะไรบ้าง แต่ไม่กล้าเรียกร้องสิทธิ เพราะรู้ว่าความมั่นคงในอาชีพจะดับดิ้นทันที ภายใต้สัญญาจ้างงานระยะสั้น


 


 


 



แรงงานข้ามชาติคือผู้มีส่วนร่วมสร้างจีดีพี 2% คิดเป็นเงินประมาณหมื่นล้านบาทขึ้นไป นี่ยังไม่รวมรายได้ของแรงงานข้ามชาติที่ใช้ในประเทศไทย โดยคิดเป็น 75% ของรายได้ของแรงงานข้ามชาติใช้ในประเทศไทย พวกเขาส่งเงินกลับน้อยเพราะช่องทางส่งกลับน้อย


 


ข้อมูลจาก: สารคดีเรื่อง "สถานการณ์แรงงานข้ามชาติในประเทศไทย"


 


 


ต่อมา ในช่วงบ่าย มีการเสวนา เรื่อง "แรงงานข้ามชาติ ไม่ใช่มนุษย์ต่างดาว ปัญหาของเขาคือปัญหาของเรา" นำการเสวนาโดย สุนี ไชยรส รักษาการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและ สาวิทย์ แก้วหวาน เลขานุการคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย


 


สมพงษ์ สระแก้ว ผู้อำนวยการเครือข่ายส่งเสริมสิทธิแรงงาน (LPN) กล่าวว่า ณ วันนี้บอกได้เลยว่าแรงงานข้ามชาติจากสามประเทศ กัมพูชา ลาว พม่า รวมถึงจีนและเวียดนาม ไม่ใช่ตัวปัญหา แต่วิธีคิดหรือนโยบายรัฐเองที่เป็นปัญหา ไม่ว่ามีงานศึกษาวิจัยจำนวนมาก ที่สามารถบอกได้ว่า ปัญหามีอะไรบ้าง แต่รัฐไม่เรียนรู้ปัญหา หรือมีวิธีจัดการที่ดีเลย


 


ประเด็นที่เป็นห่วง คือ เรื่องเด็กและผู้ติดตาม เมื่อ 22 พ.ค. 2550 มติ ครม. ออกมาว่า จะเอาเด็กและผู้ติดตามที่มาเมื่อปี 47 หลังจากนี้ คนที่มาใหม่จะไม่เอา โดยเขาเห็นว่า ขาดความเข้าใจเรื่องประเทศต้นทาง โดยเฉพาะพม่า อาจรู้แต่ปิดตาข้างเดียว แต่ไม่อยากให้มาตั้งถิ่นฐาน ครอบครัวให้เป็นปัญหา ถ้าไม่มีความชัดเจนจะมีปัญหาในอนาคตกับเรื่องเด็กและผู้ติดตาม ภารกิจของรัฐ แต่ละปีมีการออกมติ ครม. ออกนโยบายให้ใช้ เช่น กระทรวงสาธารณสุขต้องจดทะเบียนจากกรมจัดหางาน มีเงินจากแรงงานข้ามชาติไปบริหารจัดการ แต่ก็ไม่รู้เงินไปไหนบ้าง เห็นแต่กระทรวงสาธารณสุข ที่เอาไปใช้ควบคุมป้องกันโรค ให้เด็กและผู้ติดตามเข้าเรียนได้ก็อาศัยเงินจากกองคลัง ก็มีการวิพากษ์ว่าจะตรวจสอบทุกส่วนได้หรือไม่


 


ประเด็นที่สอง คือ ตัวแปรในการตรวจกิจการที่ล้มเหลว คือกระบวนการนายหน้าที่มีอยู่ทุกขั้นตอนเอกสารของรัฐ เช่น กระทรวงสาธารณสุข นายหน้ารับเงินจากแรงงาน  แต่เมื่อไม่สบาย แรงงานกลับได้แค่ตรวจสุขภาพ ไม่มีระบบทะเบียนในโรงพยาบาล หรือตัวเลขค่า 3800 ต่อปี แพงไป แรงงานในประเทศบอกว่า เสียเท่าไหร่ก็ยอม แต่ต้องคุ้มครองอย่าให้ตำรวจจับ


 


สุดท้าย ประเด็นที่มีการพูดกันเยอะ คือ หนังสือโดยผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เมื่อ 26 ตุลาคม โดยเนื้อความบอกว่า แรงงานเข้ามาจำนวนมาก กลัวว่าจะเกิดปัญหาอาชญากรรม เด็กและโรคติดต่อ เกรงว่าจะมีปัญหา ทางจังหวัดจึงมีหนังสือเวียนไปสำนักงานจังหวัดสมุทรสาครและสถานประกอบการทุกแห่ง ให้สถานประกอบการทุกแห่งควบคุมดูแลคนต่างด้าวอย่างเคร่งครัด และไม่สนับสนุนให้มีการเผยแพร่วัฒนธรรมประเพณีของคนต่างด้าว 


 


เขาแสดงความเห็นว่า ถ้าคิดเหมือน 5 จังหวัดที่แล้วซึ่งมีการออกประกาศจังหวัด หน่วยงานรัฐบางส่วนจะเอาตรงนี้ไปใช้แสวงหาประโยชน์จากแรงงาน ประเพณีจากฝั่งพม่าเองมีหลายแบบ ทั้งงานแต่งงาน งานรื่นเริง การที่ห้ามเช่นนี้เหมือนทำลายวัฒนธรรมไทยไปในตัว เพราะวัฒนธรรมในภูมิภาคนี้ไม่ต่างกัน


 


เมื่อถามแรงงานคนหนึ่งเรื่องหนังสือดังกล่าว สมพงษ์ เล่าว่า เขาบอกว่า  "รู้สึกเสียใจมากที่ทำอย่างนี้ การที่พวกตนเป็นคนมอญและชอบที่จะทำบุญกันมันผิดตรงไหน การทำบุญแต่ละครั้งพวกเราก็เรี่ยไรเงินกัน เงินทุกบาททุกสตางค์ก็เข้าวัดหมด และไม่ใช่เงินจำนวนน้อยๆ แล้ววัดก็เจริญ วัดก็พัฒนา ก็เพราะไม่ใช่คนมอญนี้หรอกหรือ ทำไมต้องมากีดกัน ไม่ให้เรารวมกลุ่มทำกิจกรรมของที่เกี่ยวกับประเพณีวัฒนธรรมของตนเอง ... ผมเป็นคนมอญก็จริง ตอนนี้ผมมาอยู่ประเทศไทย ผมก็รักประเทศไทย พวกเราทำงานประเทศไทยก็เจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ พวกเราทำบุญที่วัด วัดไทยก็เจริญและพัฒนา ในประวัติศาสตร์เมื่อครั้งอดีต มอญไทยก็พี่น้องกัน อย่าลืมนะว่าสมัยไทยเสียเมืองให้พม่า ไม่ใช่เพราะมอญหรอกหรือ ไทยถึงได้ชาติคืนมา ผมก็ศึกษาประวัติศาสตร์เหมือนกันนะ"


 


เขาเห็นว่า ในสมุทรสาคร ใน 17 ตำบลมีชุมชนไทยรามัญ อยู่ที่นั่นมิติศานาเข้มแข็งน่าจะสนับสนุนด้วยซ้ำไป


 



 


ด่วนที่สุด


ที่ สค 0017.2/ว 3634                                                            ศาลากลางจังหวัดสมุทรสาคร


                                                                                    ถนนเศรษฐกิจ 1 สค 74000


26 ตุลาคม 2550


เรื่อง การควบคุมดูแลแรงงานต่างด้าว


เรียน จัดหางานจังหวัดสมุทรสาคร/ผู้ประกอบการโรงงานทุกแห่ง


 


ด้วยปรากฎว่า ในปัจจุบันได้มีแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาวและกัมพูชา เข้ามาทำงานในสถานประกอบการโรงงานในเขตจังหวัดสมุครสาครเป็นจำนวนมาก ทั้งที่เข้ามาโดยถูกกฎหมายและผิดกฎหมายก่อให้เกิดปัญหาและผลกระทบจากการจ้างแรงงานต่างด้าวในเรื่องของชุมชนต่างด้าว โดยเฉพาะพวกสัญชาติพม่า ซึ่งพักอาศัยรวมกันเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดปัญหาในด้านต่างๆ ได้แก่ ปัญหาด้านสาธารณสุขผู้ติดตามและเด็กไร้สัญชาติ ปัญหาอาชกรรมและการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ประกอบกับในปัจจุบันได้มีการเผยแพร่วัฒนธรรมประเพณีของต่างด้าวในเทศกาล และงานต่างๆ ที่จัดขึ้น ซึ่งเป็นการไม่เหมาะสม และไม่ควรให้การสนับสนุนเพราะจะทำให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นเจ้าของชุมชน อาจเกิดปัญหาในด้านความมั่นคงและเป็นการผิดวัตถุประสงค์ของทางรัฐบาลที่ต้องการผ่อนผันเพื่อให้แรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานเป็นการชั่วคราวเท่านั้น


 


ฉะนั้น จึงขอให้สถานประกอบการโรงงานทุกแห่ง ควบคุมดูแลแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในความรับผิดชอบให้ประพฤติปฏิบัติตนตามระเบียบกฎหมายอย่างเคร่งครัด หากฝ่าฝืนจะถูกจับดำเนินคดีโดยเฉียบขาด และไม่สนับสนุนให้มีการเผยแพร่วัฒนธรรมประเพณีของคนต่างด้าวในเทศกาลงานต่างๆ ทั้งสิ้น


 


จึงเรียนมาเพื่อทราบและดำเนินการต่อไป


 


ขอแสดงความนับถือ


 


(นายวีระยุทธ เอี่ยมอำภา)


ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร


 


 


อดิศร เกิดมงคล International Rescue Committee (IRC) กล่าวว่า จริงๆ แล้วกลไกรัฐไม่เคยมีกลไกจัดการเรื่องการย้ายถิ่น มีแต่เรื่องหาแรงงานมาทดแทน ชี้ให้เห็นว่าเราไม่มีมิติการย้ายถิ่นมาจัดการ


 


แรงงานข้ามชาติเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจไทยค่อนข้างมาก แต่ก็มีนโยบายกีดกันเขา โดยรัฐไทยมองเรื่องนโยบายนี้สองแง่ แง่หนึ่งมองว่าเป็นปัญหาเรื่องคนหลบหนีเข้าเมือง ไม่ให้ออกนอกเขต หรือเปลี่ยนนายจ้าง มองว่าไม่ใช่แรงงานทั่วไปอย่างที่เข้าใจกัน ต้องอยู่ในการกักกัน แต่ให้ทำงานได้ชั่วคราว เพื่อรอการส่งกลับ สอง อยากได้แรงงานราคาถูก พอเศรษฐกิจไทยพยายามเป็นประเทศอุตสาหกรรม ก็มีการดึงเอาแรงงานภาคเกษตรไปเยอะมาก ทำให้ความต้องการแรงงานข้ามชาติเพิ่มขึ้น สองแนวคิดดังกล่าวไปด้วยกันได้ จึงมีการใช้แรงงานราคาถูก ภายใต้การควบคุม โดยอ้างความมั่นคง จะเห็นว่านโยบายที่เกิดขึ้นไม่ได้พูดถึงการคุ้มครองแรงงานเลย


 


อดิศร กล่าวว่า สิ่งที่รัฐสร้างขึ้นเรื่องความมั่นคงเป็นการสร้างพรมแดนในตัวคน เราถูกทำให้เชื่อว่าแรงงานข้ามชาติไม่ใช่พวกเรา หรือเหมือนไม่ใช่มนุษย์ เหมือนเครื่องจักรที่พังแล้วโยนทิ้ง เห็นได้ชัดในกรณีประกาศสมุทรสาคร เพราะสิ่งที่ทำให้ความเป็นมนุษย์เกิดขึ้นคือ วัฒนธรรม การมีตัวตนของตัวเองในการดำรงชีวิต หรือเช่นกรณีที่บอกว่า ไม่รับแรงงานหญิงที่ตั้งครรภ์แล้ว


 


ทั้งนี้ ประกาศแบบนี้มีความเป็นไปได้สูงมากที่จะเกิดในจังหวัดอื่น ขึ้นกับการเมืองด้วย สมัยทักษิณ ที่เน้นเศรษฐกิจเป็นหลัก มีการเปิดให้แรงงานข้ามชาติเข้ามาเยอะมาก มีการจ้างงานค่อนข้างเยอะ แต่มีนโยบายความมั่นคงอยู่ พอ คมช. ขึ้นมา มีประกาศออกมา 5 ฉบับ แรงงานข้ามชาติกลายเป็นหนึ่งในปัญหาเรื่องความมั่นคง


 


เขาแสดงความเห็นว่า เคยคิดว่าเรื่องความมั่นคงจะซาไป แต่รัฐกลับใช้แนวคิดแบบนี้ส่งผ่านสื่อ ย้ำว่าแรงงานข้ามชาติเป็นปัญหานำโรคติดต่อเข้ามาก่ออาชญากรรม สร้างมายาคติขึ้น ทั้งนี้มีงานวิจัยเพื่อพิสูจน์ข้อกล่าวหา ในช่วงปี 45-46 เปรียบเทียบการก่ออาชญากรรม พบว่า คนไทยในพื้นที่ก่ออาชญากรรมมากกว่าแรงงานข้ามชาติ เกือบ 60% และคดีส่วนใหญ่ของแรงงานข้ามชาติ คือ หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย


 


สำหรับข้อเสนอในการแก้ปัญหา อดิศร เสนอว่า ในแง่นโยบาย รัฐต้องมิติการย้ายถิ่นเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะที่ผ่านมาไม่มีเลย ที่สำคัญคือต้องหาความสมดุลของสิทธิ ความมั่นคงและเศรษฐกิจให้สมดุลกัน และที่เสนอมานานก็คือ นิยามคำว่าความมั่นคง องค์กรที่จัดการเรื่องนี้กระจายเกินไป เพราะเรื่องคุ้มครองแรงงานควรคุ้มครองแรงงานทุกคน แต่แรงงานข้ามชาติไปติดที่ ตม. ยังไม่มีการสร้างกลไกให้ทำงานร่วมกัน อาจเป็นกรรมการระดับชาติอิสระเพื่อจัดการบริหารได้เป็นระบบ และเข้าใจปัญหาแรงงานข้ามชาติอย่างแท้จริง เช่น การเตรียมล่าม


 


สอง ปรับความเข้าใจ การศึกษาของเรากับแรงงานข้ามชาติให้เข้าใจกันมากขึ้น เพราะทุกวันนี้ นโยบายหลายอย่างกันคนออกจากกัน ไม่มีใครรู้ว่าแต่ละคนเป็นอย่างไร หรือต้องการอะไรกันแน่ เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญคือ การสร้างพื้นที่สนทนา ทำงานร่วมกัน ซึ่งกลไกสำคัญคือสหภาพแรงงาน เพราะมีผู้ใช้แรงงานเป็นตัวหลัก จะเห็นปัญหาร่วมกันคล้ายกัน และถ้าสร้างได้จะขยายไปสู่กระบวนการอื่นในสังคมไทยได้


 


  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net