Skip to main content
sharethis

เมื่อเวลา 09.30 น. วานนี้ (15 ต.ค.) ศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้นัดไต่สวนเจ้าหน้าที่ทหารที่ควบคุมตัวประชาชนจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เข้าร่วมโครงการฝึกอบรมอาชีพระยะเวลา 4 เดือน ที่ค่ายวิภาวดีรังสิต จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งคัดค้านคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งปล่อยตัวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 ของญาติผู้ถูกควบคุมตัวดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าเป็นการควบคุมตัวโดยมิชอบด้วยกฎหมาย


 


โดยพนักงานอัยการจังหวัดสุราษฎร์ธานีได้เบิกตัวพยาน พ.อ.พรศักดิ์ พูนสวัสดิ์ รองผู้บังคับการจังหวัดทหารบกสุราษฎร์ธานี ซึ่งเบิกความสรุปว่า ผู้ถูกควบคุมตัวที่เข้าร่วมโครงการฝึกอบรมอาชีพดังกล่าว ได้ยินยอมเข้าร่วมโครงการด้วยความสมัครใจ เนื่องจากมีนายพงศ์จรัส รวยร่ำ อนุกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน 1 ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเป็นผู้ชี้แจง โดยการฝึกอบรมมีระยะเวลา 4 เดือน นอกจากนี้ ยังมีคำสั่งของแม่ทัพภาคที่ 4 ลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2550 ที่สั่งห้ามบุคคลดังกล่าวเข้าพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งบางส่วนของจังหวัดสงขลาเป็นระยะเวลา 6 เดือน เพื่อการยุทธและการปราบปรามการก่อความไม่สงบ โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 มาตรา 8


 


จากนั้น พ.อ.พรศักดิ์ ได้ยื่นเอกสารโครงการและคำสั่งห้ามบุคคลเข้าพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ดังกล่าว พร้อมรายชื่อแนบท้ายคำสั่งให้ศาล โดยในเอกสารโครงการฝึกอบรมระบุว่า ดำเนินการโดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4


 


พ.อ.พรศักดิ์ เบิกความต่อว่า โครงการฝึกอบรมดังกล่าวเป็นโครงการของคณะอนุกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน 1 ทั้งนี้เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในเชิงสมานฉันท์ ประกอบกับคณะอนุกรรมการชุดดังกล่าวเสนอโครงการนี้ขึ้นมา ทางทหารจึงรับไปดำเนินการ โดยใช้งบประมาณของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (กอ.รมน.ภาค 4) และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)


 


ทั้งนี้ ผู้ที่เข้าร่วมโครงการ ทั้งหมดเป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบ โดยบางคนมีหลักฐานชัดเจน เช่น พบตะปูเรือใบ ชุดลายพรางทหารภายในบ้านพัก หรือ ตรวจพบสารตั้งต้นในการผลิตระเบิดตามตัวหรือเครื่องแต่งกาย นองจากนี้บางคนถูกซัดทอดว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับกับการก่อความไม่สงบ หรือมีสายข่าวรายงานว่ามีส่วนเกี่ยวข้อง


 


พ.อ.พรศักดิ์ เบิกความด้วยว่า การเข้าร่วมโครงการนี้ เปรียบเสมือนการการเรียนในโรงเรียนประจำ เพราะต้องมีการควบคุมและมีระเบียบที่เคร่งครัด โดยมีทหารเป็นผู้ควบคุมดูแล ซึ่งหากปล่อยให้ออกไปนอกค่ายอาจถูกทำร้ายได้


 


พ.อ.พรศักดิ์ เบิกความอีกว่า การควบคุมผู้เข้าร่วมโครงการเป็นหน้าที่ของทหารที่ได้รับคำสั่งมาเช่นนั้น ยังไม่สามารถที่จะปล่อยได้จนกว่าจะสิ้นสุดโครงการ อีกทั้งหากปล่อยกลับไปก่อนจะสิ้นสุดโครงการพวกเขาเหล่านั้นก็ยังไม่สามารถกลับเข้าพื้นที่ได้ เนื่องจากยังไม่ครบกำหนดคำสั่งห้ามของแม่ทัพภาคที่ 4 หรือถ้าปล่อยกลับก็ก็ไม่สามารถรับรองได้ว่าพวกเขาจะปลอดภัย


 


จากนั้นพนักงานอัยการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้เบิกตัวนายพงศ์จรัส ซึ่งเบิกความสรุปว่า เหตุที่ตนเสนอโครงการนี้ขึ้นมาเนื่องจาก ก่อนหน้านี้ตนได้รับการร้องเรียนว่ามีการกวาดต้อนชาวบ้านในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวนมาก ตนจึงได้ลงไปตรวจสอบในพื้นที่โดยได้พบกับพล.ต.สำเร็จ ศรีหร่าย ผู้บัญชาการกองบัญชาการผสมพลเรีอน ตำรวจ ทหาร (พตท.) จึงทราบว่า ผู้ทีถูกควบคุมตัวบางส่วนจะถูกสั่งห้ามเข้าพื้นที่หรืออาจถูกดำเนินคดี แต่ พล.ต.สำเร็จ เห็นว่าควรหาวิธีจัดการที่มีความสมานฉันท์ ตนจึงเสนอโครงการฝึกอาชีพนี้ขึ้นมา


 


นายพงศ์จรัส เบิกความด้วยว่า ยอมรับว่าตนเป็นผู้ชี้แจงกับผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการเอง โดยอธิบายง่ายๆ ว่า มีรถอยู่สามคัน คันแรกจะเดินทางไปอำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา แต่ยังไม่ทราบว่ารถคันดังกล่าวจะมาเมื่อไหร่ คันที่สอง เดินทางไปที่เรือนจำ หมายถึงถูกดำเนินคดี คันที่สามไปฝึกอบรมอาชีพ ซึ่งรออยู่แล้วและกำลังจะออกเดินทางเวลา 6 โมงเย็น


 


นอกจากนี้ทนายฝ่ายญาติซึ่งเป็นผู้ร้องให้มีการไต่สวน ถามว่า เห็นพยานหลักฐานที่ทหารระบุว่าบุคคลเหล่านั้น เป็นผู้กระทำผิดหรือไม่ นายพงศ์จรัสตอบว่าไม่เห็น


 


ทนายถามอีกว่า ได้สัญญากับผู้เข้าร่วมโครงการหรือไม่ว่าจะให้ได้กลับบ้านในช่วง วันฮารีรายอ หรือวันฉลองสิ้นสุดเทศกาลถือศีลอดของชาวมุสลิม หรือไม่ นายพงศ์จรัส ตอบว่าไม่ได้สัญญา


 


การไต่สวนสิ้นสุดเวลาประมาณ 17.00 น. โดยพนักงานอัยการจังหวัดสุราษฎร์ธานี แถลงว่า ผู้คัดค้านการยื่นคำร้องขอให้มีการไต่สวน คือ ฝ่ายทหาร ไม่ติดใจที่จะนำพยานที่เหลืออีก 3 ปากมาเบิกความอีกแล้ว ศาลจึงนัดฟังคำสั่งในเวลา 10.00 น. วันที่ 30 ตุลาคม 2550 ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ศาลจังหวัดชุมพรนัดฟังคำสั่งในกรณีเดียวกัน ตามที่ได้มีการไต่สวนไปแล้วเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2550 ที่ผ่านมา


 


สวนศาลจังหวัดระนอง ซึ่งญาติผู้ถูกควบคุมตัวไปยื่นคำร้องด้วยนั้น ก่อนหน้านี้ศาลได้นัดไต่สวนอีกครั้งในวันที่ 18 ตุลาคม 2550

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net