Skip to main content
sharethis

ชนิดา จรรยาเพศ แบมฟอร์ด
โครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา (โฟกัส)
13 ตุลาคม  2550


 


            ในการทำงานต่อต้านโลกาภิวัตน์แนวเสรีนิยมใหม่ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ฝ่ายประชาสังคม ขบวนการเกษตรกร และขบวนการแรงงาน พบว่าความร่วมมือระดับภูมิภาคน่าจะเป็นพื้นที่ที่จะสามารถเป็นจุดเริ่มต้นของการผนึกกำลังสร้างโลกใหม่ที่เท่าเทียมได้ดี ในภูมิภาคละตินอเมริกา มีการสร้างแนวร่วมของขบวนการประชาชนข้ามประเทศเพื่อต่อต้านการแผ่ขยายอำนาจของสหรัฐอเมริกาผ่านการเจรจาเขตการค้าเสรีทวีปอเมริกา (FTAA) และแนวร่วมนี้ก็สามารถหยุดยั้งการเจรจาได้ เป็นตัวอย่างสร้างแรงดลใจให้แก่ขบวนการประชาชนในภูมิภาคอื่นๆ ได้ในปัจจุบัน


            ที่ผ่านมาองค์กร สมาคมหรือโครงการระหว่างรัฐในระดับภูมิภาค เช่น ประชาคมพัฒนาอาฟริกาภาคใต้ (SFDC) สมาคมเอเชียใต้เพื่อความร่วมมือระดับภูมิภาค (SAARC) มักจะมีแนวทางที่จะสนับสนุนส่งเสริมแนวทางการพัฒนาแบบตลาดเสรี ซึ่งเอื้อประโยชน์แก่บริษัทธุรกิจในการขยายการลงทุนและขยายตลาดเป็นสำคัญ  สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน (ASEAN) ของเรานั้นก็เช่นเดียวกัน  แม้ว่าอาเซียนจะมีการประชุมกันถึง 700 ครั้งต่อปี แต่จะหาประชาชนคนเดินถนนที่รู้จักอาเซียนได้ยากเต็มที แสดงว่าขณะที่รัฐบาลใช้จ่ายเงินภาษีเพื่อการนี้ไปมหาศาล ประชาชนไม่ได้รับผลสะเทือนแต่อย่างไร  ถึงแม้จะมีการจัดสมัชชาประชาชนอาเซียน (APA-อาปา) เป็นบางปี แต่ผู้เข้าร่วมก็จะจำกัดอยู่ในระดับนักวิชาการ หรือผู้ที่มีเงินเดินทางและจ่ายค่าลงทะเบียน  มิใช่ตัวแทนฝ่ายประชาชนที่แท้จริง 


ในโอกาสที่สมาคมอาเซียนริเริ่มที่จะจัดทำกฎบัตรหรือธรรมนูญที่จะเป็นกฎเกณฑ์ร่วมของสมาชิกประเทศในลักษณะเป็นสนธิสัญญาที่มีผลผูกพันในระยะยาว  ประชาสังคมหลายกลุ่มจึงคิดว่าจะเป็นโอกาสที่ภาคประชาชน ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง จะได้เข้าไปยึดพื้นที่เพื่อผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศในลักษณะใหม่ ที่จะเอื้อประโยชน์อย่างแท้จริงแก่ประชาชน


แนวคิดเรื่องภูมิภาคนิยมทางเลือก (Alternative Regionalism)ที่คิดกันไว้ มีดังนี้


-          ความร่วมมือระดับภูมิภาค ควรเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนรวมเป็นหลัก โดยเน้นการแลกเปลี่ยนที่เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน ไม่ใช่การชิงดีชิงเด่นกัน


-          ความร่วมมือระดับภูมิภาค ควรมีขอบเขตมากกว่าการผสมผสานทางเศรษฐกิจ และรวมถึงความสมานฉันท์ที่แท้จริงระหว่างชุมชน / ขบวนการประชาชน และระหว่างรัฐ


-          ความร่วมมือระดับภูมิภาค ควรเป็นการผนึกกำลังเพื่อรับมือกับระบบเศรษฐกิจโลก โดยการสร้างภูมิต้านทาน และสร้างทางเลือกด้านนโยบายที่สนองประโยชน์แก่ประชาชนอย่างแท้จริง


ข้อเสนอสำหรับกฎบัตร ที่คณะทำงานอาเซียนของเครือข่ายสมานฉันท์เพื่อการรณรงค์ของประชาชนเอเชีย (SAPA-ซาปา) ได้นำเสนอต่อคณะผู้ทรงคุณวุฒิ (EPG-อีพีจี) ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำการศึกษาทบทวนการทำงานที่ผ่านมาของอาเวียน และเสนอแนะหลักการพื้นฐานสำหรับการยกร่างกฎบัตรอาเซียน โดยสรุปมีดังต่อไปนี้


ด้านเศรษฐกิจ           


-          เน้นการผลิตและการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการที่อยู่บนพื้นฐานของสิทธิของพลเมืองและการสร้างเสริมกระบวนการประชาธิปไตย และเป็นไปเพื่อความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและความอยู่ดีมีสุข  โดยเสนอให้หลักการร่วมกันดังนี้


1)     การผสมผสานทางเศรษฐกิจ   2) เสถียรภาพด้านการเงิน   3) ความผสมกลมกลืนและการหนุนเสริมกันในภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และภาคบริการ   4) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์   5) สิทธิแรงงาน   6) การปรับมาตรฐานและกลไกการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ และการลงทุนข้ามพรมแดน ให้เป็นไปในแนวเดียวกัน   7) การสนับสนุนและเสริมศักยภาพของผู้ผลิตรายย่อย   8) การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนและการพัฒนา   9) กลไกการตีความเฝ้าระวัง   10) การเสวนาด้านสังคม


ด้านสังคมวัฒนธรรม


-          เน้นการยอมรับและพิทักษ์สิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชน สร้างความยอมรับและเคารพในความหลากหลายทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นเอกลักษณ์และมรดกตกทอดมาร่วมกันของประชาคมอาเซียน  หลักการที่เสนอมีดังต่อไปนี้


1)     การยึดถือมาตรฐานระหว่างประเทศ  2) ความผสมกลมกลืนและความหลากหลายทางวัฒนธรรม   3) สิทธิพื้นฐานและเสรีภาพ   4) ความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม   5) สิทธิในทรัพยากรที่ใช้ร่วมกัน   6) การยอมรับและคุ้มครองแรงงานอพยพ   7) สิทธิทางด้านสังคมวัฒนธรรมของผู้หญิง   8) การคุ้มครองสิทธิและศักยภาพของเด็กและเยาวชน   9) บทบาทของสื่อมวลชนที่มีเสรีภาพเป็นอิสระและหลากหลาย   10) การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เหมาะสมและมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง


ด้านความมั่นคง


-          เน้นการส่งเสริมและพิทักษ์สิทธิและศักดิ์ศรีของมนุษยชน


1) การขยายความหมายของความมั่นคงให้รวมถึงความมั่นคงของมนุษย์ด้วย   2) การสร้างสภาพแวดล้อมทางการเมืองที่เอื้อต่อสันติภาพ ความมั่นคง และเสถียรภาพ   3) ความจำเป็นด้านความมั่นคงของมนุษย์   4) การทำให้กลไกของอาเซียนเป็นมาตรฐานเดียวกับมาตรฐานสากล   5) นิยามผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักของอาเซียน


            นอกจากนี้ SAPA ยังมีข้อเสนอในด้านกลไกของสถาบันที่จะก่อให้เกิดปฏิบัติการที่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน ได้แก่


-          กลไกในด้านติดตามและกำกับดูแลในระดับชาติและระดับภูมิภาคให้มีการปฏิบัติตามหลักการ


-          คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนระดับภูมิภาค


-          กลไกที่เป็นทางการสำหรับการเสวนาและหารือกับฝ่ายประชาสังคม ได้แก่ การประชุมประชาสังคมอาเซียน (Asian Civil Society Conference - ACSC) และการมีผู้สังเกตการณ์จากฝ่ายประชาสังคมเข้าร่วมการประชุมระหว่างรัฐ


-          ข้อตกลงระดับภูมิภาคใดๆต้องได้รับการยืนยันเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรของแต่ละประเทศ


-          กลไกสำหรับการเผยแพร่ข้อมูลและการหารือเกี่ยวกับร่างข้อตกลงต่างๆ


-          การทบทวนกฎบัตรเป็นระยะๆ อย่างสม่ำเสมอ


การยกร่างกฎบัตรของคณะผู้ยกร่าง (HLTF - 10 คน จาก 10 ประเทศ) ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา นอกจากมีการรับฟังความเห็นของภาคประชาสังคมประมาณ 1 ชั่วโมง เมื่อเดือนมีนาคม 2550 แล้ว ไม่มีการเปิดเผยร่าง หรือการหารืออื่นใดอีก มีแต่การประกาศว่าจะมีการลงนามในกฎบัตรนี้ในเดือนพฤศจิกายน 2550 และแต่ละประเทศจะมีกระบวนการให้สัตยาบันของตนเอง  เห็นได้ชัดว่ารัฐบาลอาเซียนโดยรวมไม่ให้ความสำคัญแก่การหารืออย่างโปร่งใสกับประชาสังคม  ทั้งที่ประชาชนส่วนใหญ่ย่อมเห็นพ้องกันว่า การเข้าร่วมในกระบวนการยกร่างน่าจะเป็นสิทธิและหน้าที่ของประชาชนทุกคน ซึ่งเป็นผู้ที่จะได้รับผลได้ผลเสียจากกฎบัตรครั้งนี้ในที่สุด


ลักษณะของกฎบัตร
            เท่าที่ได้รับข้อมูลมา กฎบัตรนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะยืนยันว่าสมาคมอาเซียนเป็นองค์กรระหว่างรัฐบาล จะระบุถึงกรอบทางกฎหมายและทางสถาบันขององค์กร เช่น สมาชิกคือใคร มีการจัดองค์กรอย่างไร แต่ละส่วนมีบทบาทอะไร เช่น อาจจะมีสภาอาเซียนที่มีผู้แทนถาวรจากแต่ละประเทศมาประจำอยู่  มีการจัดปรับบทบาทของสำนักเลขาธิการให้เพิ่มมากกว่าการเป็นแค่เลขาฯ ให้แก่คณะผู้นำประเทศ  มีการจัดตั้งกลไกระงับข้อพิพาท และระบุว่ามีองค์กรใดอีกเป็นหุ้นส่วนที่จะหารือด้วย   การจัดตั้งขึ้นเป็นองค์กรระหว่างรัฐ ไม่ใช่องค์กรเหนือรัฐ  หมายความว่าคงจะไม่มีการออกนโยบายร่วมของภูมิภาค ทั้งนี้คงเนื่องมาจากความต้องการที่จะหลีกเลี่ยงการแทรกแซงอำนาจอธิปไตยของแต่ละประเทศ และยึดหลักการว่าด้วยการไม่แทรกแซงกิจการภายในซึ่งกันและกัน ที่สมาชิกอาเซียนยึดถือมาตั้งแต่ต้น


            โดยเหตุนี้ กฎบัตรนี้จะระบุหลักการโดยทั่วไปกว้างๆ เช่น การผสมผสานทางเศรษฐกิจ ความร่วมมือ และความเป็นชุมชนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพื่อความเจริญรุ่งเรือง ฯลฯ  โดยไม่ระบุรายละเอียดเป็นรายภาค เช่น เกษตรกรรม อุตสาหกรรม ชนกลุ่มเสี่ยงใดๆ


            ประเด็นที่ประชาชนควรจับตามอง เพราะเกี่ยวข้องกับตัวเรามากที่สุด คือเรื่องกลไกด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งแม้จะไม่ใช่ในรูปของคณะกรรมาธิการแบบที่เรามีในเมืองไทย หรือไม่ใช่รูปของศาลสถิตยุติธรรม  แต่น่าที่จะต้องเป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพพอควร   อีกเรื่องหนึ่งคือ เรื่องของสิทธิแรงงานอพยพที่ไม่มีทักษะวิชาชีพ ที่จะสามารถเคลื่อนย้ายถิ่นได้และได้รับการคุ้มครองสิทธิอย่างเสมอภาคกัน  แต่ 2 เรื่องนี้จะเป็นเรื่องของการจัดทำรายละเอียดประกอบกฎบัตร ไม่ได้ระบุไว้ในตัวกฎบัตร


            มองเลยไปข้างหน้า
            เมื่อมีกฎบัตรออกมาแล้ว ซึ่งคงจะออกมาแน่ตามที่ประกาศ คำถามที่เราอาจจะตั้งกับตัวเองก็คือ กฎบัตรนี้จะช่วยให้สถานภาพประชาชนดีขึ้นหรือเลวลงในภาพรวม  เรามีจุดยืนพื้นฐานร่วมกันหรือไม่ ว่าต้องการอะไรจากองค์กรระหว่างรัฐนี้ แล้วถ้ากฎบัตรนี้ตอบสนองไม่ได้ เราจะทำอะไรหรือไม่ เพราะเราจะยังมีโอกาสที่จะได้แสดงความคิดเห็นในกระบวนการให้สัตยาบันในระดับประเทศ หลังจากการลงนามแล้ว ซึ่งอาจจะเป็นโอกาสที่จะสร้างความตระหนักรู้ร่วมกันในหมู่สาธารณชนไทย


            ประเด็นที่น่าจะคิดต่อในหมู่ประชาชนภูมิภาคอาเซียนคือ เรามีอุดมการณ์ภูมิภาคนิยมทางเลือกที่ก้าวพ้นจากการมีกฎบัตรเป็นทางการที่ผูกพันระหว่างรัฐบาลอาเซียนด้วยกันหรือไม่  ประชาชนอาเซียนควรจะทำความเข้าใจกัน และร่วมมือกันสร้างความสมานฉันท์ หนุนเสริมกันเพื่ออนาคตของการอยู่ร่วมภูมิภาคเดียวกัน ที่ดีกว่านี้หรือไม่   ถ้าเช่นนั้น เราควรจะต้องทำอะไรต่อ  เราจะใช้กฎบัตรนี้เป็นเครื่องมือไปสู่อนาคตที่เราต้องการได้อย่างไร


            ปีหน้านี้รัฐบาลไทยถึงวาระที่จะเป็นประธานของอาเซียน จะมีการจัดประชุมสุดยอดอาเซียนในเมืองไทย คงจะเป็นโอกาสอันดีที่ประชาสังคมไทย จะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันถึงลักษณะความเป็นภูมิภาคที่เราปรารถนา และเริ่มเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นกับประชาสังคมของประเทศอาเซียนอื่นๆ เพื่อสร้างปฏิบัติการร่วมในอันที่จะผลักดันให้ความร่วมมือในภมิภาคเป็นไปในทางที่เราต้องการในอนาคต

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net