Skip to main content
sharethis

"ถ้ารัฐบาลจะมาบังคับให้ประชาชนภาคใต้เลือกสัญชาติเพียงสัญชาติใดสัญชาติหนึ่งนั้น  ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ  เพราะถ้าดำเนินการเช่นนั้นจริง  รัฐบาลจะต้องปฏิบัติต่อบุคคลอื่นๆ ที่มี 2 สัญชาติซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศ ไม่ว่า จะเป็นพวกดารา นักร้อง  นางงามที่เป็นลูกครึ่งทั้งหลายโดยไม่มีการยกเว้น  ไม่ใช่จะเลือกปฏิบัติเฉพาะประชาชนในชายแดนภาคใต้เพียงกลุ่มเดียว" นายสมชาย ปรีชาศิลปกุล  อาจารย์ประจำภาควิชานิติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัย เชียงใหม่  กล่าว 


 


นายสมชายเห็นว่า หากรัฐบาลหยิบยกเรื่องกรณีบุคคลที่มีสองสัญชาติ โดยให้เลือกเอาเพียงสัญชาติใดสัญชาติหนึ่งในพื้นที่เฉพาะชายแดนภาคใต้นั้น  อาจถือว่าละเมิดรัฐธรรมนูญได้  อีกทั้งในกฎหมายระหว่างประเทศก็บอกชัดเจนว่า รัฐจะไม่ถอนสัญชาติของบุคคลที่เกิดโดยหลักสืบสายโลหิต หรือเกิดในผืนแผ่นดินนั้น  ตอนนี้ไม่รู้ว่ารัฐเอาอำนาจอะไรมาใช้ปฏิบัติ 


 


นายสมชาย กล่าวอีกว่า  หากรัฐบาลต้องการให้บุคคลมีสัญชาติเดียวนั่นหมายถึงว่า จะต้องมีการรื้อปรับแก้ไขกฎหมายกันใหม่และจะต้องมีการปฏิบัติต่อคนที่มี 2 สัญชาติกันทุกกลุ่มทั่วประเทศ  ซึ่งดูแล้วเป็นไปได้ยาก 


 


ห่วงเกิดปัญหาคนไร้รัฐ


 


รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร อาจารย์ประจำภาควิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงความเห็นในบทความเรื่อง "ถือหลายสัญชาติ : เป็นภัยต่อรัฐจริงหรือ ? ผิดกฎหมายจริงหรือ ?" ในเวบไซต์ www.archanwell.org  โดยระบุชัดว่า เมื่อศึกษากฎหมายระหว่างประเทศ จะพบว่า สิ่งที่กฎหมายระหว่างประเทศต่อต้านก็คือ การที่รัฐนั้นใช้อำนาจตามอำเภอใจที่จะถอนสัญชาติของมนุษย์ เพราะเหตุว่า การกระทำเช่นนั้นอาจนำไปสู่สถานการณ์ที่ทำให้เกิด "ความไร้รัฐ" (Stateless ness) หรือ "ความไร้สัญชาติ" (Nationalitylessness) แก่มนุษย์


 


โดยพิจารณาทางปฏิบัติของนานารัฐบนโลกในปัจจุบันนี้  ซึ่งได้รับการยอมรับในฐานะกฎหมายระหว่างประเทศ  ประเภทจารีตประเพณีระหว่างประเทศ จึงพบว่า รัฐจะไม่ถอนสัญชาติของคนชาติโดยหลักสืบ สายโลหิต แม้บุคคลนั้นจะเลวทรามต่ำช้าประการใด การประหารชีวิตให้สิ้นสุดลงอาจเกิดได้ต่อคนชาติในหลายประเทศ


 


แต่การถอนสัญชาติให้คนชาติโดยหลักสืบสายโลหิตให้ตกเป็นคนไร้รัฐทั้งโดยข้อเท็จจริงหรือโดยข้อกฎหมาย เป็นสิ่งที่อารยประเทศผู้เคารพในศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ไม่กระทำ เนื่องจากการตกเป็น "คนไร้รัฐ" ย่อมทำให้มนุษย์ไม่อาจได้บริโภค "สิทธิมนุษยชน" อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์


 


แค่เป็นคนสองสัญชาติไม่น่าจะเป็นเหตุแห่งการถอนสัญชาติไทย ในยุคที่การข้ามชาติเป็นเรื่องทำได้ง่ายและไม่นานนัก การไปมีความสัมพันธ์กับรัฐต่างประเทศ อาทิ การมีบุพการีฝ่ายหนึ่งเป็นคนต่างด้าวหรือคู่สมรสเป็นคนต่างด้าวหรือการไปตั้งรกรากในต่างประเทศ จึงไม่อาจหมายความโดยอัตโนมัติว่า บุคคลจะสิ้นความผูกพันกับประเทศไทยเสมอไป หรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นประสงค์ร้ายต่อสังคมไทยโดยทันที  


 


ในขณะเดียวกัน ความเป็นภัยต่อรัฐไทยอาจเกิดขึ้นได้แม้บุคคลนั้นมีสัญชาติไทยแต่เพียงสัญชาติเดียว เพราะไม่มีความสัมพันธ์กับรัฐต่างประเทศเลย กล่าวคือ มีบุพการีเป็นคนไทยหรือคู่สมรสก็เป็นคนไทยหรือบ้านเรือนตั้งรกรากในประเทศไทย โดยสรุป การมีหลายสัญชาติและความเป็นภัยต่อรัฐเป็นคนละเรื่องกัน ไม่ได้เป็นเหตุเป็นผลต่อกัน  การเอาเหตุที่มีหลายสัญชาติมาเป็นเหตุให้ถูกถอนสัญชาติไทยจึงเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะมีเหตุผล


 


นอกจากข้อท้วงติงทางกฎหมาย ก็ยังจะท้วงติงทางจิตวิทยาด้วยว่า ควรที่รัฐบาลจะคำนึงถึงจิตใจของคนสองสัญชาติ โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ยกตัวอย่างบุคคลสองสัญชาติอย่าง  "กาเซ็ม" ซึ่งเกิดในประเทศมาเลเซียจากบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่มีมารดาซึ่งมีสัญชาติไทย ซึ่งอาจจะสะเทือนใจในข่าวที่ออกมาจากรัฐบาลที่ดูรังเกียจเดียดฉันท์พวกเขาเสียเหลือเกิน


 


"มันผิดด้วยหรือที่กาเซ็มจะรักทั้งแผ่นดินมาเลเซียของบิดาและแผ่นดินไทยของมารดา ? การคงไว้ซึ่งสัญชาติไทยและมาเลเซียในชีวิตของกาเซ็มเป็นไปไม่ได้หรือ ?  หากจะมีคนหลายสัญชาติสักคนที่เป็นภัยต่อรัฐ ก็ควรที่จะจัดการปราบปรามลงโทษคนหลายสัญชาติคนนั้นในลักษณะเดียวกับคนที่มีสัญชาติไทยแต่สัญชาติเดียว"


 


รศ.ดร.พันธุทิพย์  ยังแสดงความเห็นในเวบไซต์ www.archanwell.org อีกว่า  ปัญหาจริงๆ ก็คือ ความไม่มั่นคงของชายแดนไทย-มาเลเซีย  เกิดจากระบบการควบคุมการเคลื่อนไหวของผู้ก่อการร้ายยังไม่มีประสิทธิภาพนักมิใช่หรือ ? ความไม่สงบของภาคใต้เกิดจากระบบข่าวกรองการก่อการร้ายยังไม่มีประสิทธิภาพนักมิใช่หรือ ? ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองในภาคใต้เกิดจากขบวนการก่อการร้ายที่เคลื่อนไหวในภาคใต้มิใช่หรือ ?


 


ดังนั้น การแก้ปัญหาก็น่าจะมุ่งไปที่สาเหตุของปัญหาอันได้แก่ การเสริมประสิทธิภาพในระบบควบคุมการผ่านแดนไทย-มาเลเซียของบุคคลทุกคน   การตรวจระบบข่าวกรองให้มีศักยภาพมากขึ้น และ การติดตามบุคคลที่การข่าวระบุว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการก่อการร้าย หรือแม้จับกุมคนที่มีการกระทำที่เป็นภัยโดยชัดแจ้ง หรือแม้ถอนสัญชาติไทยของคนที่เป็นผู้ก่อการร้ายตัวจริง  หากสัญชาติที่จะถอนนั้นมิใช่สัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตและไม่ทำให้บุคคลนั้นตกเป็นคนไร้สัญชาติ


 


(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม  ในบทความประกอบ เรื่อง ถือหลายสัญชาติ : เป็นภัยต่อรัฐจริงหรือ ? ผิดกฎหมายจริงหรือ ? โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร)


 


http://www.archanwell.org/autopage/show_page.php?t=1&s_id=120&d_id=120&page=1

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net