Skip to main content
sharethis



ชื่อเดิม : นักสังเกตการณ์ (The Observers) : "เพราะคนทุกคนมีเสรีภาพจากการถูกควบคุม/ขังโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย" (ตอนที่ 3)


 


8 ตุลาคม 2550


 


 


-1-


สามทุ่มตรง แบ มารับตามเวลานัด


 


ออฟฟิศ แบ อยู่ห่างตัวเมืองยะลาไปนิดเดียว ที่นั่น-เราเจอ นักปกป้องสิทธิมนุษยนชน แล้วก็ น้องๆ (ไม่ได้เจอเด็กใหม่ไฟแรงแบบนี้มานานแล้ว) ..ด้วยสถานการณ์ที่เดินหน้าไปเรื่อยๆ และญาติของผู้ถูกควบคุมยืนยันว่าต้องการให้ลูกชายและสามีของพวกเธอกลับบ้าน แบ จึงตกเป็นผู้ถูกรับมอบหมายให้ยกร่างคำร้อง (แต่ แบ เต็มใจและเต็มที่กับงานจริงๆ) , นิปาดี มีประเด็นและข้อกฎหมายติดมือมาเพียบจากอีกวงคุยกรุงเทพฯ, นักปกป้องสิทธิมนุษยชน เอ่ยถึงหลักการของสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ, นักสังเกตการณ์ ยกประเด็น "เพราะคนทุกคนมีเสรีภาพที่จะไม่ถูกคุมขังตามอำเภอใจ (Freedom from Arbitration Detention)" ที่ติดมือมาจากกรุงเทพฯ เหมือนกัน ...


 


พวกเราย้อนความข้อเท็จจริงเพื่อไล่ลำดับเหตุการณ์ กฎหมายไทยและกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องถูกลิสต์ขึ้นมา นอกจาก แบ ที่ลงมือเขียน ยังมีใครบางคนทำหน้าที่พิมพ์ตามคำบอกและโค้ทคำจากหนังสือกฎหมาย คืนนั้น-ความผิดพลาดบางอย่างไม่ถูกสังเกตเห็น-ร่างคำร้องถูกส่งออกไปเพื่อขอความเห็นจาก นักกฎหมายและคนอื่นๆ


 


คืนที่สองเราเริ่มงานเวลาเดิม-อีกครั้ง มันเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมและทบทวนตัวร่างคำร้อง กิจกรรมเสริมของคืนนี้จึงออกแนวให้กำลังใจและงานธุระ-จัดการ เราแยกย้ายกันตอนตีหนึ่งเศษๆ ..เอ่ยลาให้-โชคดีระหว่างการเดินทาง แล้วเจอกันที่ศาล-


 


-2-


พวกเราจำเป็นต้องแวะ มัสยิดกลาง แทนที่จะตรงไปจังหวัดสุราษฎร์ธานี นักปกป้องสิทธิมนุษยชน เจอความผิดพลาดบางอย่างและส่งข่าวถึงพวกเราตอนบ่ายจัด พวกเราร้อนใจ ขณะที่ แบ แสนจะใจเย็น แล้วทุกอย่างก็ลุล่วงไปได้ด้วยดี (ทีหลังอย่าไว้ใจ คนพิมพ์งานตอนง่วง!!! นักสังเกตการณ์ เตือนตัวเอง)


 


-3-


หญิงสาวกลุ่มหนึ่งนั่งอยู่ หลายคนอุ้มลูกอยู่แนบอก ขณะที่เด็กโตขึ้นมาอีกนิดและเด็กตัวโตหลายคนวิ่งเล่นอยู่ข้างๆ ..อดไม่ได้จริงๆ จึงมีคำถามถึงปลายทาง คำตอบนั้น มีทั้งเหมือนและแตกต่าง แต่เมื่อถามถึงวัตถุประสงค์ หลายคนกลับตอบตรงกันว่า "จะไปรับแฟนกลับบ้าน" มีเพียงเสียงเดียวที่แตกต่างออกไป "จะไปหา "ต๊ะเก็ง" ขอให้ "ต๊ะเก็ง" ปล่อยแฟนหนูกลับบ้าน" หลังประโยคนี้ เรื่องเล่าของแต่ละครอบครัวก็ต่อเนื่องพรั่งพรู


 


เรื่องราวก็เหมือนกับที่เคยรับรู้มา การจับกุมที่ปราศจากหมายค้น หมายจับ การควบคุมตัวอย่างต่อเนื่อง-หลังการควบคุม/ขัง 37 วันตามกฎอัยการศึกและ พรก.สถานการณ์ฉุกเฉิน-ภายใต้โครงการฝึกอาชีพ 4 เดือน ที่ปราศจากกฎหมายรองรับ และยังบังคับให้คนสมัครใจเข้าร่วม อยากจะกลับบ้าน-ก็กลับไม่ได้ หากไม่เรียกว่า "ใช้อำนาจตามอำเภอใจ" แล้วจะเรียกว่าอะไร ?


 


-4-


วันที่ 5 ตุลาคม 2550 ที่ ศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี


ชาวบ้านยังเป็นคนกลุ่มแรกที่ไปถึงศาลก่อนเสมอ ..คำร้องของญาติผู้ถูกควบคุมตัวที่ จ.สุราษฎร์ธานี จำนวน 27 คำร้อง ถูกรวบรวมและทำให้เรียบร้อยขึ้นด้วยฝีมือ น้องๆ (ราวกับผู้ช่วยทนายมืออาชีพ) ทนายความลงลายมือชื่อรับมอบอำนาจจากญาติเพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนการไต่สวนคำร้องในศาล ..ขั้นตอนเดียวกันนี้เกิดขึ้นเหมือน ในเวลาใกล้เคียงกันกับที่ศาลจังหวัดชุมพร และระนอง


 


คำร้องถูกส่งถึงมือเจ้าหน้าที่ของศาล เจ้าหน้าที่ถามว่า นอกจากศาลจังหวัดสุราษฎร์แล้ว มีการไปยื่นคำร้องที่ศาลไหนอีกบ้าง นิปาดี ให้ข้อมูลคร่าวๆ ถึงการยื่นคำร้องเรื่องเดียวกันต่อศาลจังหวัดชุมพร และระนอง เจ้าหน้าที่รับฟังพร้อมจดตามโดยละเอียด และบอกหลังจากนั้นว่า หลังการตรวจเอกสารแล้ว จะนำเสนอต่อผู้พิพากษา ซึ่งคำตอบที่ว่าศาลจะรับคำร้องหรือไม่ คงจะรู้หลังจากพักเที่ยงไปแล้ว


 


ในช่วงเวลาเดียวกัน ..น้องๆ ที่ไป ศาลจังหวัดชุมพร ส่งข่าวมาว่า ศาลรับคำร้องแล้ว และนัดไต่สวนคำร้องตอนบ่ายโมง ขณะที่ ศาลจังหวัดระนอง มีคำสั่งรับคำร้องแล้วเหมือนกัน แต่นัดไต่สวนในวันจันทร์ที่ 8 ตุลาคม ..ทุกคนเห็นไม่ต่างกันว่าควรร้องขอความเป็นธรรมจากศาลเพื่อให้ศาลดำเนินการไต่สวนในวันเดียวกันนี้เลย เพราะญาติผู้เสียหายและเป็นผู้ยื่นคำร้องก็เดินทางไกลมาถึงศาลแล้ว


 


..บ่ายสองโมงกว่า ศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี ระหว่างที่ทนายความนั่งคุยกับญาติผู้ถูกควบคุมตัว เสียงเรียกทนายผ่านไมโครโฟนว่าให้ไปรอที่ "ห้องพิจารณาคดี 1"  เมื่อไปถึงห้อง เสมียนศาลแจ้งว่า ผู้พิพากษาจะขึ้นบัลลังก์ไต่สวนคำร้อง ให้เตรียมตัวให้พร้อม


 


เกือบ 15.00 น. การไต่สวนคำร้องฯ ก็เริ่มต้นขึ้น


 


-5-


"ศาลไต่สวนผู้ร้องทั้ง 27 ฝ่ายเดียวแล้ว เห็นว่า คำร้องของผู้ร้องมีมูล จึงมีคำสั่งให้ผู้บังคับการจังหวัดทหารบกสุราษฎร์ธานี ค่ายวิภาวดีรังสิต อ.เมืองสุราษฎร์ธานี จ.สุราษฎร์ธานี ผู้คุมขัง นำตัวผู้ถูกคุมขังตามที่ระบุในคำร้อง รช.1/2550 ถึง รช.27/2550 รวม 27 คน มาศาลในวันที่ 11 ตุลาคม 2550 เวลา 9 น. เพื่อให้ผู้คุมขังแสดงให้เป็นที่พอใจของศาลว่าการคุมขังเป็นการชอบด้วยกฎหมายต่อไป"


            คำสั่งศาลหลังไต่สวนคำร้องฯ ศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี, 5 ตุลาคม 2550


 


ตัวแทนของญาติผู้ถูกควบคุมตัวภายใต้โครงการฝึกอาชีพ 4 เดือน จาก 4 พื้นที่คือ นราธิวาส, ปัตตานี, ยะลา และอ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ขึ้นเบิกความต่อศาล เล่าถึงการเริ่มต้นของการควบคุมตัวไป จากบ้าน-ค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี-บางคนถูกส่งตัวไปที่ค่ายทหารที่ ต.คลองหอยโข่ง-ก่อนที่จะถูกส่งตัวมาที่ค่ายวิภาวดีรังสิต จ.สุราษฎร์ธานี


 


16.00 น. เศษ การไต่สวนคำร้องฯ ก็เสร็จสิ้นลง ศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีความเห็นว่าคำร้องของผู้ร้อง "มีมูล"


 


ก่อนลงวันนัดครั้งต่อไป ผู้พิพากษาถาม นิปาดี ถึงผลการยื่นคำร้องที่ศาลจังหวัดชุมพรและระนอง ซึ่งปรากฎว่า ศาลจังหวัดชุมพรนัดไต่สวนผู้ควบคุมตัว และผู้ถูกควบคุมตัวในวันที่ 11 ตุลาคม ศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานีจึงนัดหมายวันเดียวกัน ..ขณะที่การไต่สวนที่ศาลจังหวัดระนอง ยังไม่เสร็จ


 


-6-


ระหว่างทางกลับจากสุราษฎร์ธานีไปทางทิศใต้ นอกจากรับโทรศัพท์และโทรออกเพื่อแจ้งข่าวแล้ว เราพูดคุยกันน้อยมาก.. ทนายความทีมศาลระนองติดต่อกลับมาแบบ (สัญญาณ) ขาดๆ หายๆ ว่า ศาลจังหวัดระนอง มีคำสั่งนัดไต่สวนผู้ควบคุมตัวและผู้ถูกควบคุมตัวในวันที่ 18 ตุลาคม ..ถึงแม้จะเสียดายที่กำหนดการไต่สวนที่จังหวัดระนองจะล่าช้าที่สุด แต่เราก็เริ่มเหนื่อยกับการแสดงความคิดเห็น อีกอย่าง-มองในแง่ดี มันก็เป็นโอกาสที่จะให้เราได้ไปสังเกตการณ์การทำงานของ มาตรา 90 ที่ศาลจังหวัดระนอง


 


-7-


"เข้าทางโจร" "ปล่อยโจรกลับบ้าน" "พวกคุณกำลังสวนกระแสสังคม" ..เป็นคำพูดที่ได้ยินจากหลายคน รวมถึงการฝากๆๆ มาบอกต่อ หลังจากที่รู้ข่าวว่าจะมีการยื่นคำร้องตามมาตรา 90


 


แม้จะเป็นเรื่องที่เรารู้กันดีอยู่แก่ใจว่า ไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่าผู้ถูกควบคุมตัวมาว่าเป็นผู้กระทำความผิด แต่ก็อีกนั่นแหละ-บางคนก็เถียงว่า "ของแบบนี้ ใครจะหาหลักฐานมามัดตัวได้" "มีคนในหมู่บ้านหนึ่ง โทร.หา พี่ บอกว่า อย่าปล่อย "คนนี้" "คนนี้" ..ออกมานะ จับไปน่ะดีแล้ว ชาวบ้านจะได้อยู่อย่างสบายใจขึ้น"


 


ล่าสุด ก่อนส่งอีเมลรายงานชิ้นนี้ นักสังเกตการณ์ ได้รับ FW อีเมล์ฉบับหนึ่งแจ้งข่าวว่า "ท่านโฆษก" ระบุว่า "..ทางราชการใช้หลักรัฐศาสตร์แยกน้ำออกจากปลา แต่ NGOs ไปยึดหลักนิติศาสตร์ ทำให้เป็นเครื่องมือของฝ่ายตรงข้าม และวันที่ 11 ท่านจะไปศาลเพื่อชี้แจงด้วยตนเองด้วย (แต่ไม่รู้ว่าศาลไหน).."


            ......................................


ออกจะเหลือเชื่อและมันยังคงเป็นข้อสังเกตที่สำคัญสำหรับงานของ นักสังเกตการณ์-ว่าทำไม-ข้อมูลที่แต่ละฝ่ายได้รับช่างแตกต่างกันเกือบจะสิ้นเชิง แต่ก็อีกนั่นแหละ-มันอาจเป็นไปได้เช่นกันว่า "การกวาดจับ" และ "โครงการฝึกอบรมอาชีพ 4 เดือน" อาจมี "ผู้กระทำความผิด" รวมอยู่ใน "ผู้ถูกควบคุมตัว" ด้วยจริงๆ แต่คำถามยังมีอยู่ดีว่า-แล้วปลาตัวไหนกันที่ถูกจับแยกออกมา?, แล้วการประเมินผลถึงคุณภาพและประสิทธิภาพของโครงการฯ นี้ (Evaluation) ทำกันอย่างไร ดูท่ามันจะทำได้ยาก-หรือประเมินไม่ได้เสียมากกว่าไหม


 


ในความเห็นของ นักสังเกตการณ์ การอ้างถึงหลักการแห่งรัฐศาสตร์ โดยไม่เอ่ยถึงความโปร่งใสและความรับผิดชอบที่สามารถถูกตรวจสอบได้ ก็อาจเป็นได้เพียงการบริหารที่ไม่สอดคล้องต่อหลักธรรมาภิบาล ในสังคมที่อวดอ้างตัวว่ายึดมั่นในหลักนิติธรรม หรือมีความเป็นนิติรัฐ เช่นสังคมไทย การเคารพต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคลเป็นหลักการพื้นฐานที่สำคัญ การลิดรอนสิทธิเสรีภาพใดๆ จักเป็นไปได้ก็แต่โดยผลของกฎหมายและต้องไม่กระทบต่อสาระสำคัญของสิทธิเสรีภาพ ..เจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (บางคน) สมควรต้องยึดมั่นในหลักการและการบังคับใช้กฎหมายในฐานะที่เป็นเครื่องมือหนึ่งในการเอื้ออำนวยให้เกิดความยุติธรรมในพื้นที่ภาคใต้ (รวมถึงทุกพื้นที่ในสังคมไทย) ทั้งนี้เพื่อสร้างประกันให้แก่สมาชิกในสังคมว่าเราต่างอยู่ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน และยังเป็นการลดเงื่อนไขที่สนับสนุนบรรยากาศแห่งความไม่สงบ ..มิใช่ละเลย เพิกเฉย ปล่อยให้เกิด รวมถึงทำให้เกิดการควบคุม/ขังที่มิชอบด้วยกฎหมาย-แบบนี้


 


ใช่หรือไม่ว่า-สาเหตุหนึ่งของความขัดแย้งและการสะสมตัวของความขัดแย้งจนนำไปสู่ความรุนแรงนั้น เกิดจากการละเว้นซึ่งหลักนิติธรรม รวมถึงหลักธรรมาภิบาล


 


หมายเหตุ            วันที่ 11 ตุลาคมนี้ เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดชุมพร และสุราษฎร์ธานี นัดไต่สวนเจ้าหน้าที่รัฐผู้ควบคุมตัวบุคคลภายใต้โครงการอบรมอาชีพ 4 เดือน ว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  และวันที่ 18 ตุลาคม ที่ศาลจังหวัดระนอง


 


 


………………………………………….


อ่านตอนก่อนหน้า


นักสังเกตการณ์ (The Observers) : โครงการอบรมอาชีพ 4 เดือน ..ความสมัครใจที่ถูกบังคับ (ตอนที่ 1)


นักสังเกตการณ์ (The Observers) : การควบคุม/ขังโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย บทเรียนจากหลายๆ กรณี (ตอน 2)


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net