Skip to main content
sharethis

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ


 


1


 


ปรากฏการณ์ทางการเมืองในเดือนกันยายน 2550 ที่พระสงฆ์จำนวนเป็นหมื่นเป็นแสนในพม่า ลุกขึ้นมาประท้วงด้วยสันติวิธี พร้อมกับทำการ "คว่ำบาตร" ระบอบเผด็จการทหารของนายพลตันฉ่วย จนนำไปสู่การปราบปรามอย่างรุนแรงด้วยกำลังทหารและอาวุธสงครามนั้น ในด้านหนึ่งก็ดูเหมือนกับเรื่อง "ปกติธรรมดา" สำหรับการเมืองพม่าที่จะต้องปราบปรามขบวนการประชาธิปไตยของประชาชน แต่ในทางกลับกันก็นับได้ว่าเป็นสถานการณ์ใหม่ที่ทำให้เกิดความหวังขึ้นกับขบวนการประชาธิปไตยพม่าที่ชงักงันมาถึงเกือบ 20 ปี


 


 


2


 


ในแง่ของ "ความปกติธรรมดา" หรือ "ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย" นั้น ก็คือ พระสงฆ์ในพม่าได้มีบทบาทเช่นนี้ในการเมืองมาตั้งแต่สมัยอยู่ภายใต้ "ลัทธิอาณานิคม" ของอังกฤษ กล่าวคือ เมื่ออังกฤษเข้ายึดครองพม่าได้ทั้งหมดในปี พ..2428 (..1885) ตรงกับต้นสมัยรัชกาลที่ 5 ของสยามประเทศ) นั้น อังกฤษได้ล้มเลิกสถาบันกษัตริย์พม่า จับพระเจ้าธีบอ (หรือสีป่อ) กับพระนางศุภยลัต ตลอดจนพระราชวงศ์ทั้งหมด เนรเทศไปอยู่อินเดียตะวันตก (ด้านเมืองมุมไบ) สถาบันกษัตริย์ของพม่าทรงพลังเกินกว่าที่อังกฤษจะเก็บรักษาไว้เป็นสัญลักษณ์หรือหุ่นเชิด อย่างในกรณีที่เจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสรักษาสถาบันกษัตริย์ลาว / กัมพูชา / เวียดนาม เอาไว้ในกลุ่มประเทศอินโดจีน


 


 


3


 


ดังนั้น ภาระของการเป็น "ผู้นำ" ของสังคมพม่าในช่วงนั้น ก็ตกอยู่กับสถาบันศาสนาและพระสงฆ์ไปโดยปริยายนั่นเอง น่าสนใจที่ว่าเมื่ออังกฤษเข้ามามีอำนาจปกครองแทนกษัตริย์พม่านั้น อังกฤษมิได้ให้ความสนใจต่อสถาบันศาสนา เพราะถือว่ารัฐกับศาสนจักรต้องแยกจากกัน อังกฤษถือว่าตนได้ให้เสรีภาพไปแล้ว ใครจะถือศาสนาอะำไร จะจัดการกับองค์การศาสนาอย่างไร ก็เป็นเรื่องเสรีภาพและสิทธิของบุคคล รัฐไม่พึงเข้าไปยุ่งเกี่ยว แม้แต่การตั้งตำแหน่ง "สังฆราช" หรือ Thathanabaing ที่กษัตริย์พม่าเคยทรงกระทำ เจ้านายอังกฤษก็ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย องค์การศาสนาจึงเสมือนถูกละเลย (ลักษณะของวังกับวัดขาดหายไป) เกิดความปั่นป่วนขึ้นในวงการ เกิดความไม่พอใจในหมู่พระสงฆ์ไม่น้อย


 


 


4


 


ในขณะเดียวกัน กระแสของความไม่พอใจต่อการที่มี "เจ้าต่างด้าวท้าวต่าวแดน" ก็สร้างความรู้สึกแบบที่เราจะมารู้จักกันในนามของ "ลัทธิชาตินิยม" ในเมื่อกษัตริย์ถูกจำกัดออกไป และผู้นำที่เป็นฆราวาสถูกปราบปรามอย่างหนัก พระสงฆ์ก็กลายเป็นผู้นำอาจจะเพียงกลุ่มเดียวที่ยังเหลืออยู่ ดังนั้น การประท้วงแสดงความไม่พอใจ ก็จะเป็นเรื่องที่เริ่มด้วยประเด็นทางวัฒนธรรมประเพณี ความตกต่ำของศาสนา วิธีการของพระสงฆ์ในยุคสมัยนั้นมีหลายแบบ ตั้งแต่การวิพากษ์วิจารณ์ระบบสังคม การเรียกร้องให้อังกฤษทำนุบำรุงศาสนา การอดอาหาร (อย่างแบบของมหาตมะคานธี) ดังในกรณีของพระรูปหนึ่งนาม "อูวิสระ" ก็อดอาหารประท้วงถึง 166 วัน จนถึงแก่มรณภาพ ท่านได้รับความเคารพนับถือมาก ถึงกับมีอนุสาวรีย์อยู่กลางเมืองย่างกุ้งในสมัยหลังจากได้รับเอกราช


 


 


5


 


บทบาทเช่นนี้ของพระสงฆ์ จะถูกสืบทอดไปยังคนรุ่นใหม่ที่เป็นหนุ่มสาว และได้รับการศึกษาจากโรงเรียนและวิทยาลัยแบบใหม่ ที่ตั้งขึ้นภายใต้ลัทธิอาณานิคมอังกฤษ ฉะนั้น ทั้งพระและฆราวาส ก็จะประสานกันในการต่อสู้เพื่อ "เอกราชและประชาธิปไตย" จากอาณานิคมอังกฤษในปี 2449/1906 ถึงกับมีการตั้งองค์ขึ้นมาในนามของ Young Men Buddhist Association หรือ YMBA โปรดสังเกตว่านี่เป็นการเลียนแบบ YMCA ของชาวคริสต์ฝรั่ง YMBA หรือ "สมาคมชาวพุทธหนุ่ม" จะกลายเป็นศูนย์กลางของขบวนการชาตินิยม เน้นกิจกรรมด้านศาสนาและวัฒนธรรม สร้างแรงกดดันให้อังกฤษต้องตั้งงบประมาณช่วยเหลือต่อกิจกรรมและการศึกษาพุทธศาสนา และ "สมาคมชาวพุทธหนุ่ม" ก็ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในกรณีของการประท้วงใหญ่ที่เรียกว่า "กบฏเกือก" หรือ No Footwear Protest เมื่อปี 2461/1918 ที่ต่อต้านการที่ฝรั่งหรือชาวต่าวชาติอื่นๆ สวมเกือกหรือรองเท้าเข้าไปในบริเวณวัด


 


 


6


 


บทบาทดังกล่าวของ "สมาคมชาวพุทธหนุ่ม" ร่วมกับบรรดาพระสงฆ์นี้จะถูกส่งทอดต่อไปยังคนรุ่นต่อมาอีก เช่น General Council Burmese Association หรือ GCBA ในปี 2463/1920 พร้อมๆ กันนี้ พระพม่าอย่าง "อูอุตมะ" ก็กลายเป็นผู้นำพระสงฆ์รุ่นใหม่ ที่พยายามตีความพุทธศาสนาในรูปแบบใหม่ๆ  เช่นว่า พุทธศาสนานั้น สอดคล้องกับการต่อสู้เพื่อเอกราช การที่มนุษย์จะตัดกิเลสได้ จะต้องผ่านขั้นตอนของการมีอิสระเสรีภาพเสียก่อน ชาวพุทธจะต้องช่วยกันในการต่อสู้นี้ "อูอุตมะ" ยังตีความพระศาสนาต่อไปอีกว่า "ลัทธิสังคมนิยม" นั้นมีเนื้อหาสอดคล้องกับ "โลกนิพพาน" ของชาวพุทธ และท่านก็ได้รณรงค์ต่อต้านเจ้าอาณานิคมอังกฤษด้วยการ "คว่ำบาตร" และนี่ก็เป็นที่มาของการที่เราได้เห็นการ "คว่ำบาตร" ในการประท้วงครั้งล่าสุดในเดือนกันยายน 2550


 


 


7


 


กล่าวได้ว่า ทั้งพระสงฆ์และองค์กรที่เชื่อมโยงกันอย่าง YMBA และ GCBA นั้นประสบความสำเร็จไม่น้อย และก็ส่งทอดมรดกของการต่อสู้เพื่อเอกราชและประชาธิปไตยไปยังรุ่นของคนที่จะนำมาซึ่งเอกราชของชาติ นั่นคือ กลุ่มนักชาตินิยมอย่าง Dobhama Asiayone หรือ "สมาคมชาวเราพม่า" ที่ตั้งขึ้นเมื่อปี 2463 / 1920 อันมีบรรดานักศึกษามหาวิทยาลัยย่างกุ้งเป็นผู้นำ เช่น อองซาน และอูนุ พวกนักศึกษาเหล่านี้ล่ะที่จะใช้คำนำหน้าของตนว่า "ทะขิ่น" (Thakin) ซึ่งแปลว่า "เจ้านาย" ทั้งนี้เพื่อแสดงความเท่าเทียมกันกับคนอังกฤษ ที่ถือว่าตนเองเป็น "ทะขิ่น" มานาน และเราก็ทราบดีว่าคนรุ่นนี้อีกประมาณกว่า 20 ปีต่อมา ก็จะเป็นผู้นำมาซึ่งเอกราชของพม่าในปี 2491/1948 หรือภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง


 


 


8


 


กล่าวโดยย่อ การประท้วงอย่างสันติวิธี และการ "คว่ำบาตร" ของพระพม่ามีที่มาและที่ไปตามข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่กล่าวมานั้น พระสงฆ์พม่าในสมัยอาณานิคมอังกฤษ ต้องต่อสู้เพื่อเอกราชและประชาธิปไตย พระสงฆ์ต้องเป็นผู้จุดประกายและส่งต่อการต่อสู้ไปยังนักชาตินิยมที่เป็นฆราวาส ดังนั้น ในสถานการณ์ปัจจุบัน หากเราถือได้ว่าประเทศพม่าต้องตกอยู่ภายใต้ "ลัทธิอาณานิคมภายใน" คืออยู่ในมือของ "เผด็จการทหารพม่า" ที่ครองอำนาจมาตั้งแต่ปี ค..1962 หรือ พ..2505 แล้ว เราก็ควรจะทำความเข้าใจวิวัฒนาการและสถานการณ์ใหม่ในขณะนี้ด้วยเช่นกัน กล่าวคือ พม่าก็คงเหมือนกับหลายๆ ประเทศในอุษาคเนย์ คือ ประชาชนมีความต้องการที่จะชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีการปกครองและการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย มีสิทธิและเสรีภาพเยี่ยงนานาอารยประเทศ


 


 


9


 


แต่ก็อย่างที่เราได้เห็นกันในภูมิภาคอุษาคเนย์นี้ว่า "ประชาธิปไตย" หรือหลักการว่าด้วยสิทธิเสรีภาพ หาได้หยั่งรากลึกลงไปได้ไม่ และอุปสรรคที่สำคัญก็คือสิ่งที่เรียกว่า "คณาธิปไตย" หรือ Oligarchy (not Democracy) นั่นเอง ในหลายประเทศของอุษาคเนย์ (รวมทั้งหม่าและไม่เว้นแม้แต่สยามประเทศไทย) เราจะเห็นได้ว่าการเมืองการปกครอง จะตกอยู่ในมือของคนกลุ่มน้อยบางกลุ่มบางคณะเท่านั้น ในบางประเทศก็เป็น "เสนาอำมาตยาธิปไตย" อย่างเปิดเผย ดังเช่นในกรณีของอินโดนีเซียและกัมพูชา หรืออย่างอ้อมๆ เช่น ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ มาเลเซีย


 


 


10


 


ดังนั้น แม้ว่าลัทธิอาณานิคมต่างชาติจะหมดสิ้นไปแล้วก็ตาม แต่ประเทศในอุษาคเนย์หรืออาเซียน กลับต้องเผชิญกับ "ลัทธิอาณานิคมภายใน" (Domestic colonialism) ของคนในชาติของตนเอง และนี่ก็ทำให้เราเข้าใจได้ว่า ทำไมการเมืองภายในของหลายๆ ประเทศในอุษาคเนย์ ถึงมีความปั่นป่วนไร้เสถียรภาพ มีการลุกฮือของพลังประชาชนอยู่เป็นระยะๆ ดังเช่นในกรณีของ People"s Power ในฟิลิปปินส์ ดังเช่นกรณีของ "14 ตุลา" หรือ "6 ตุลา" หรือ "พฤษภาเลือด" ของไทย หรือการล้มระบอบทหารซูฮาร์โตในอินโดนีเซีย สลับกับการมีปฏิวัติรัฐประหาร และยึดอำนาจการเมืองการปกครองด้วยกำลังอาวุธสงคราม


 


 


11


 


พม่าได้ถูกปกครองโดย "ลัทธิอาณานิคมภายใน" หรือ "ระบอบเนวิน" (ด้วยการอ้าง "ความสงบเรียบร้อย" และ "ความสามัคคี" กับ "เอกภาพของชาติ") มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2505 (1962) จนกระทั่งถึง "การลุกฮือ 8888" ของนักศึกษาและประชาชน ("เหตุการณ์วันที่ 8 เดือน 8 ค.ศ. 1988" หรือปี พ.ศ. 2531) รวมแล้วเป็นระยะเวลา 19 ปี การลุกฮือครั้งนั้นทำให้ "ระบอบเนวิน" พังทลาย และทำท่าว่าฝ่ายประชาธิปไตยจะมีชัยชนะ แต่แล้วหลังการเลือกตั้งปี พ.ศ.2533 (1990) ที่พรรค NLD ของวีรสตรีอองซาน ซูจี ได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น แต่ "เสนาอำมตยาธิปไตย" หรือ "เผด็จการทหารพม่า" ที่นำโดยนายพลตันฉ่วย ก็ไม่ยอมถ่ายโอนอำนาจการปกครองให้ ซ้ำยังทำการกักกันซูจี รวมทั้งจับกุมคุมขังนักการเมืองและนักศึกษาต่อมาอีกถึงเกือบ 20 ปีเข้าแล้ว


 


 


12


 


และนี่ก็คงทำให้เราเข้าใจได้ว่า เมื่อขาดผู้นำตามปกติของสังคมในปัจจุบัน คือ นักการเมืองและนักศึกษา พระสงฆ์พม่าก็ต้องกลายเป็นผู้นำอีกครั้งหนึ่ง และก็เป็นที่น่าเชื่อว่า การจุดประกายครั้งใหม่ครั้งนี้ มีความสำคัญยิ่ง นักต่อสู้รุ่นปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาหรืออดีตนักศึกษา ไม่ว่าจะอยู่ในหรือนอกประเทศ อาจจะไม่ประสบชัยชนะในทันทีทันควัน แต่ดูเหมือนว่ากาลเวลาและสถานการณ์ของโลก รวมทั้งเทคโนโลยีสมัยใหม่ (มือถือ อินเตอร์เน็ต อีเมล คลิป) ดูจะวิ่งสวนทางกับกลุ่ม "คณาธิปไตย" "ลัทธิอาณานิคมภายใน" ตลอดจน "เสนาอำมาตยาธิปไตย" ทั้งหลายทั้งปวง


 


 


13


 


และนี่คือแสงสว่างแม้จะเพียงเล็กน้อย แต่ก็เกิดจาก "ภารกิจทางประวัติศาสตร์" ของพระสงฆ์ที่ดำเนินมาตั้ง 100 ปีได้แล้ว ในระยะยาวของกาลเวลาแห่งอนาคต ก็น่าเชื่อได้ว่า "คณาธิปไตย" รวมทั้งนัก "อประชาธิปไตย" ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นนายพลตันฉ่วย หรือนายพลอะไรก็ตาม ก็น่าจะจบชีวิตและถูกบันทึกไว้ในฐานะของฝ่ายอธรรม ดังเช่นนายพลเนวินได้รับ


 


ที่น่าเสียดายก็คือ ในขณะที่ชาวโลกส่วนใหญ่ของนานาอารยประเทศ ลถกขึ้นมาตะโกนก้องประณามการกระทำของ "เสนาอำมาตยาธิปไตย" ของพม่า ทั้งไทย (ที่มีพรมแดนร่วมกับพม่าถึง 2 พันกิโลเมตร มีแรงงงานพม่าเข้ามาอยู่กว่า 1 ล้านคน) กับองค์การอาเซียน กลับยึดติดอยู่กับนโยบาย "ความสัมพันธ์ที่ไม่สร้างสรรค์" (unconstructive engagement) ที่พิสูจน์ว่า "ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง" มาเป็นเวลาตั้ง 10 ปี เป็นไปได้หรือไม่ว่า "คณาธิปไตย" ย่อมจะต้องเห็นอกเห็นใจและ "สมานฉันท์" กับ "คณาธิปไตย" ด้วยกัน


 


"คณาธิปไตย" นั้นไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้ง หรือจากการแต่งตั้ง ไม่ว่าจะสวมเครื่องแบบ "เสนาอำมาตย์" สวมชุดสากลหรือชุดประจำชาติสีใดก็ตาม ก็คงจะเหมือนๆ กันนั่นแหละ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net