Skip to main content
sharethis


 


เมื่อวันที่ 19 ก.ย. ที่เวทีอภิปราย "ครบรอบ 1 ปีรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และอนาคตสังคมไทย" จัดโดยเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ ที่ห้องประชุม อาคารปฏิบัติการชั้น 4 คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ช่วงหนึ่งของเวทีอภิปราย มีการจัดเสวนาหัวข้อ "1 ปี รัฐประหาร ประชาธิปไตยไทย และทางออกสังคมไทย?" โดยมีนักวิชาการ นักศึกษา และเจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชน เข้าร่วมเวทีอภิปรายเป็นจำนวนมาก


 


โดย รศ.สมเกียรติ ตั้งนโม อธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกล่าวว่า การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ไม่ใช่ความบังเอิญ แต่เป็น Official Revolution ไม่ใช่ People Revolution เป็นเรื่องของนายทหารไม่กี่คน ทำรัฐประหารก่อนวันแต่งตั้งโยกย้ายทหาร 11 วัน ซึ่งจะเป็นวันที่ชีวิตของหลายๆ คนในกองทัพจะต้องเปลี่ยน มันเป็นวิกฤตของพวก Officer ไม่ใช่วิกฤตของพวกเรา


 


ข้ออ้างว่าการทำรัฐประหารของ คมช. เพื่อให้บ้านเมืองสงบนั้นไม่จริง บ้านเมืองเลวร้ายยิ่งกว่าเดิม การรัฐประหารไม่ได้ทำให้บ้านเมืองสงบ เขาเห็นว่าหลังรัฐประหารในรอบ 12 เดือน มีความสงบอยู่เรื่องเดียว คือข่าวไข้หวัดนกที่เงียบหายไปเลย


 


รศ.สมเกียรติ กล่าวว่าผลจากการทำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ได้ทำให้การเมืองย้อนยุค ทำให้เศรษฐกิจถดถอย ต่างประเทศไม่ให้การยอมรับ นอกจากนี้ผลของการทำรัฐประหารยังทำให้ประเทศไทยตกอยู่ภายใต้กฎอัยการศึก ทั้งยังมีการสร้าง "กลไกชำระแค้น" ของ Bureaucratists (พวกขุนนาง) ต่อกลุ่มอำนาจเก่า และมีการให้รางวัลหลังการทำรัฐประหารไม่ว่าจะเป็นการขึ้นเงินเดือนให้ข้าราชการร้อยละ 4 มีการขึ้นเงินเดือนให้ศาล ต่ออายุให้ศาล เป็นต้น


 


นอกจากนี้ในรอบปีที่ผ่านมาพรรคการเมืองต่าง "หลีกภัย" ทั้งสิ้นกล่าวคือ หลังการทำรัฐประหาร ตลอดเวลา 1 ปี มีแต่ความทุกข์ยากของประชาชนที่ตกอยู่ภายใต้กฎอัยการศึก มีพรรคการเมืองไหนบ้างออกมาต่อสู้เรื่องนี้ แม้แต่พรรคการเมืองที่บอกว่า "ประชาชนต้องมาก่อน" ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุเรศมาก พรรคการเมืองในประเทศไทยจึงไม่เคยเป็นตัวแทนของประชาชนจริงๆ


 


"มันไร้ซึ่งความหวังสิ้นดี สำหรับพรรคการเมืองในประเทศไทย" รศ.สมเกียรติ กล่าว


 


นอกจากนี้ยังเกิดการเมืองหมาหมู่ แย่งกันกินเนื้อ มีข่าวออกทีวีว่า นักการเมืองพวกนี้จะรวมตัวกันอย่างไรเพื่อที่จะกระชากเหยื่อ ปราศจากนโยบายทั้งสิ้น นักการเมืองจึงไม่ต่างจากสุนัข


 


รศ.สมเกียรติ กล่าวขยายความรายละเอียดกลไกชำระแค้นของพวกขุนนาง Bureaucratese ว่าได้แก่ 1.การประกาศกฎอัยการศึกและแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมปกติ 2.มีการแต่งตั้งตุลาการรัฐธรรมนูญโดยไม่มีภารกิจอื่นๆ นอกจากพรรคไทยรักไทยและตัดหัวคน 111 คน ทั้งที่ตุลาการรัฐธรรมนูญมีหน้าที่อื่น ที่จำเป็นกว่านั้นกลับไม่ไปทำ


 


3.มีการตั้ง กกต. ที่ไม่ยอมเซ็นบันทึกข้อตกลงหรือ MOU เพื่อสังเกตการณ์การเลือกตั้งกับสหภาพยุโรป โดยอ้างว่า "เราไม่ได้เป็นอาณานิคม" ซึ่งมันบ้ากันใหญ่แล้ว เพราะมหาวิทยาลัยไทยทำ MOU กับมหาวิทยาลัยต่างประเทศหมด MOU ไม่ใช่สนธิสัญญาที่อยู่ภายใต้สิทธิสภาพนอกอาณาเขต MOU เป็นบันทึกข้อตกลง ข้อไหนไม่พอใจก็สามารถต่อรอง แก้ไขได้


 


และ MOU ก็ไม่ใช่การทำ FTA ที่ทำแล้วแพ้เขาตลอดด้วย เรื่องไม่ทำ MOU นี้จึงเป็นเรื่องของคนที่อ่านกฎหมายไม่แตก แล้วแปลผิดๆ ถูกๆ


 


4.นอกจากนี้ก็มีการตั้ง คตส. (คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ) ซึ่งมาจากเวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่สนามหลวง นับเป็น Conflict of interest (ผลประโยชน์ทับซ้อน) 5.มีการร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่เรียกว่า "รัฐธรรมนูญฉบับกระดาษชำระ" คือใช้เพื่อชำระความแค้นกับศัตรู ส่วนมาตรา 339 ในรัฐธรรมนูญก็ใช้ชำระโทษให้กับตัวเอง


 


5.การตั้งรัฐบาลเฉพาะกิจเพื่อเปิดพื้นที่ชำระแค้น จัดสรรตำแหน่งให้ลงตัว แต่งตั้งทหารยศนายพลนอกราชการมาเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งใช้เวลาเรียนรู้ถึง 6 เดือน ก่อนที่จะทำเทคนิค Spin doctor 6 เดือนแรกก็ไม่มีผลงานอะไร แต่หลังจากนั้นนายพลนอกประจำการคนนี้ใช้เทคนิค Spin doctor ให้นักข่าวมาสัมภาษณ์ตัวเองที่ทำเนียบทุกวันเสาร์ ส่วนประธาน คมช. ระยะหลังๆ เริ่มมีโฆษณาของตนเอง หน้าขาวขึ้น ปากแดงขึ้น เพราะนี่คือนายพลที่ทำการปฏิวัติและอยู่หน้าจอทีวีจึงต้องใช้ไวท์เทนนิ่ง


 


6.มีการให้รางวัลตุลาการ ทหาร และข้าราชการด้วยการขึ้นเงินเดือน และ 7.หนึ่งปีที่ผ่านมารัฐบาลและ คมช. ไม่มีนโยบายอะไรที่เป็นประโยชน์กับประชาชน นอกจากมีรัฐธรรมนูญและกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อชำระแค้น ซึ่งน่าสงสัยว่าไม่เซ็น MOU เพราะอะไร หรือว่าต้องการเบี้ยวการเลือกตั้งเดือนธันวาคมนี้หรือเปล่า รศ.สมเกียรติกล่าว


 


ส่วนนายไพโรจน์ พลเพชร เลขาธิการสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) กล่าวว่าผลจากรัฐธรรมนูญปี 2540 ได้ก่อให้เกิดกลุ่มทุนเข้มแข็งเป็นรัฐบาล และทุนนี้ได้เบียดสองฝ่าย หนึ่งคือเบียดข้าราชการและเบียดกลุ่มทุนอื่นๆ ที่เคยมีอำนาจในรัฐ และหนึ่งคือ เบียดขับการเมืองภาคประชาชนไม่ให้เติบโต ดังนั้นคุณทักษิณจึงมีศัตรูสองด้าน


 


เขาเห็นว่า ไม่มีชนชั้นนำฝ่ายไหน ที่ไม่สนับสนุนระบบทุนนิยมเลย ไม่ว่าจะเป็นทักษิณหรือ คมช. เพราะต่างก็คิดแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เพียงแต่ชนชั้นนำพวกนี้ขัดแย้งเพราะแย่งกันมีบทบาทนำในการปกครอง


 


และการต่อสู้ครั้งนี้ยังไม่ยุติในหมู่ชนชั้นนำ ชนชั้นนำได้ต่อสู้เพื่อจัดโครงสร้างอำนาจใหม่กันในรัฐธรรมนูญ เพื่อจัดพื้นที่ของอำมาตยาธิปไตย ทั้งในระดับวุฒิสมาชิกที่จะมาจากการแต่งตั้ง 74 คน และยังปรากฏข่าวว่าทหารแสดงความไม่พอใจเรื่องการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่ง ส.ว. เพราะองค์กรของเขามีสมาชิกซึ่งมีกำลังพลเป็นแสนทำไมได้ ส.ว. คนเดียว แต่กับอีกองค์กรหนึ่งมีสมาชิก 20 คน หรือมีสมาชิก 5 คน ก็เสนอได้คนเดียวเหมือนกัน จะเห็นว่าพื้นที่ ส.ว. นี้ กลุ่มอำมาตยาธิปไตยจะเข้ามาขยาย ยึดครอง อยู่ต่อ และถ่วงดุลอำนาจ


 


ส่วนพื้นที่ต่อมาที่อำมาตยาธิปไตยจะเข้าไปยึดคือ องค์กรอิสระ แต่พื้นที่ๆ อำมาตยาธิปไตยไม่แตะ คือพื้นที่ภาคประชาชน เพราะสังคมไทยได้ผ่านประสบการณ์ต่อสู้ของประชาชน อย่างเช่น ขบวนการชาวนาที่มีมาทั้งก่อนและหลัง พคท. (พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) ที่สู้กับอำนาจรัฐ ประสบการณ์การต่อสู้ของหลายๆ ฝ่าย จึงสถาปนาพื้นที่การเมืองภาคประชาชนในหลายมิติเอาไว้ได้ เช่น มิติพื้นที่จัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มิติพื้นที่ในการกำหนดแผนโครงการนโยบายของรัฐ มิติพื้นที่สื่อสาธารณะ การเข้าไปเป็นเจ้าของ ยึดครองสื่อสาธารณะ และมิติการไปต่อรองสัญญาระหว่างประเทศ นี่เป็นผลผลิตของการต่อสู้ของประชาชน ต้องให้เครดิตกลุ่ม FTA watch ที่เกาะติด กัดไม่ปล่อย


 


การพูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าอำนาจของประชาชนดำรงอยู่ในรัฐธรรมนูญ แต่ว่ามันดำรงอยู่จริงๆ ในอำนาจทางสังคม ยกตัวอย่าง ถ้าตรงไหนที่ประชาชนเข้มแข็ง รัฐก็จัดการประชาชนไม่ได้ เราจึงเห็นการต่อสู้หลายพื้นที่ เช่น พื้นที่ด้านสิ่งแวดล้อม การตรวจสอบโครงการของรัฐ แต่ว่าพื้นที่ภาคประชาชนในรัฐธรรมนูญ ก็จะเป็นสิ่งที่ประชาชนอ้างอิงเพื่อใช้ต่อสู้กับฝ่ายอื่นๆ ใน 4-5 มิติที่กล่าวไป


 


อย่างไรก็ตาม นายไพโรจน์เห็นว่า หากการเมืองภาคประชาชนจะมีพื้นที่สาธารณะได้ ถึงกับต้องถอดชุดชั้นในประท้วงอย่างที่เป็นข่าวนั้น เป็นเรื่องน่าเจ็บปวดมาก ต่อไปอาจต้องเปลือยกันจริงๆ หน้าทำเนียบ และกล่าวว่า ถ้าต่อไปภาคประชาชนยังขึ้นต่อความขัดแย้งของพวกข้างบน ภาคประชาชนก็จะไม่เป็นอิสระ ดังนั้น อยากให้มีพื้นที่ภาคประชาชนจริงๆ โดยเราต้องปฏิบัติการจริง ลงมือทำ ไม่งอมืองอเท้า เช่น ถ้าต้องเข้าชื่อเสนอกฎหมายก็ต้องเข้าชื่อ ในระยะหนึ่งปีที่มีการออกกฎหมาย เราก็ต้องเสนอกฎหมาย พื้นที่ของภาคประชาชนถึงจะขยาย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net