Skip to main content
sharethis

หมายเหตุ : นายธีรยุทธ บุญมี อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การเมืองอีกครั้งหนึ่ง โดยครั้งนี้ถือเอาวันครบ 1 ปีของการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 โดยมีเนื้อหาบางส่วนที่น่าสนใจดังนี้


ที่มา : เว็บไซต์แนวหน้า


 


 


1. ประเมินผลงาน 1 ปีหลังรัฐประหาร 19 ก.ย. 49


 


รัฐบาลฤาษีสอบตกโดยสิ้นเชิง เพราะทำตัวเป็นรักษาการให้งานพอเดินไปได้ ขาดวิสัยทัศน์ ขาดการนำ ขาดความมุ่งมั่นที่จะขจัดการคอรัปชั่นในแผ่นดินไทย ขาดการตระหนักถึงภารกิจเชิงประวัติศาสตร์ที่ต้องนำพาสังคมไทยให้พ้นวิกฤติ รวมทั้งอธิบายกับคนไทยและชาวโลกถึงความผิดของระบอบอำนาจเก่า


          คมช. คะแนนหวุดหวิด ครูปัดให้ผ่าน เพราะกลัวคมช. จะขอสอบซ้ำ อย่างไรก็ตาม พลเอกสนธิได้คะแนนความตั้งใจและความพยายาม


          คตส. ได้คะแนนดี เพราะสามารถค้นหาหลักฐาน เหตุผล ดำเนินคดีระบอบอำนาจเก่าได้หลายคดี แต่จะเลื่อนเป็นดีมากถ้าจะขยายผลไปสู่นักการเมืองคนอื่นๆ จำนวนมากที่คอร์รัปชั่น


          โดยรวม 1 ปีของรัฐประหาร 19 ก.ย. สะท้อนว่า การรัฐประหารมีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงได้จำกัด ในอนาคตไม่ควรจะมีการรัฐประหารอีกแล้ว ผลงานของรัฐบาลสุรยุทธ์ก็สะท้อนว่าอดีตข้าราชการ เทคโนแครต เป็นชนชั้นที่ไม่สามารถนำพาประเทศได้อีกต่อไป เพราะวัฒนธรรมข้าราชการไม่ชื่นชมผู้มีความสามารถ ไม่เน้นประสิทธิภาพ วิสัยทัศน์ ความสำเร็จ และความรวดเร็วทันการณ์ แต่ชนชั้นนี้สามารถใช้ประสบการณ์ตรวจสอบคอร์รัปชั่นและการใช้อำนาจมิชอบได้ดี


 


 


2. ยี่เกการเมือง: ถ้าสนธิเล่นเข้าการเมือง


 


วิกฤติทักษิณเป็นเรื่องใหญ่มากของประเทศไทย จนต้องใช้วิถีทางรัฐประหารมาแก้วิกฤติ แต่ในช่วงที่ผ่านมา คมช. ทำเสมือนเล่นลิเกการเมือง จะแสดงไปเรื่อยๆ ไม่ยอมจบเรื่อง พลเอกสุรยุทธ์เป็นหัวหน้าวงปี่พาทย์อาวุโส บรรเลงเพลงออกแขกแต่เชื่องช้าคล้ายเพลง 3 ชั้น ส่วนประธาน คมช. รับบทบังธิมาออกแขก พูดจาทีแรกคมคาย คนดูชอบใจ เลยออกแขกต่อไปไม่หยุด มิหนำซ้ำยังอยากจะไปเปลี่ยนเครื่องเล่นเป็นตัวเอกต่อ ทั้งที่คนดูเบื่อหน่ายกันหมดแล้ว


          สังคมไทยแต่ก่อนมีคติ 4 อย่าห้าม คือ อย่าห้ามฝนจะตก แดดจะออก หญิงจะคลอดลูก พระจะสึก ปัจจุบันต้องเพิ่มอีก 2 อย่าห้ามคือ ฤาษีจะกลับอาศรม และทหารจะเล่นการเมือง ปัจจุบันสังคมได้แสดงออกชัดเจนว่าต้องการให้พรรคการเมืองแสดงบทบาทแก้ปัญหาประเทศชาติ ความสำคัญของทหารหมดไป พลเอกสนธิจึงไม่ควรเล่นการเมือง


 


 


3. คำแนะนำต่อผบ.ทบ. คนใหม่


ภาระหน้าที่ของกองทัพในช่วงเปลี่ยนผ่านที่คนยังเกรงใจมี 2 อย่าง คือ



          (ก) การให้คำแนะนำตักเตือน (advise & warning) ต่อภาคการเมืองว่าไม่ควรทำสิ่งที่สุดโต่ง จนทำให้สังคมขัดแย้งแตกขั้ว



          (ข) ผบ.ทบ. ผบ.ตร. มีลักษณะเป็นคนรุ่นใหม่ ควรปรึกษาประสานงานใกล้ชิด เพื่อยกเครื่องการแก้ปัญหา 3 จังหวัดภาคใต้ ความมั่นคงของชาติ และการป้องกันการก่อการร้ายในประเทศ


 


 


การเลือกตั้ง 2550 ฝังระบอบทักษิณ



          1. การเลือกตั้งเป็นปัจจัยชี้ขาดว่าระบอบทักษิณจะสลายตัวหรือไม่ สังคมวิทยาชี้ให้เห็นว่า สังคมทำงานทุกอย่างเพื่อให้ตัวมันเองอยู่รอดต่อไป โดยไม่ขึ้นกับเจตนารมณ์ของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ทักษิณจึงจะกลับมามีอำนาจอีกไม่ได้ เพราะจะสร้างปัญหาความแตกแยกขัดแย้งต่อไปไม่รู้จบ ดังนั้น ในการเลือกตั้งครั้งนี้จึงมีเป้าหมายร่วมกันของสังคม เพื่อลดทอนจำนวนส.ส. ของพรรคทักษิณลง ซึ่งจะนำไปสู่การสลายตัวของอำนาจเก่าในที่สุด แต่ถ้ากล่าวในเชิงรัฐศาสตร์การเลือกตั้งครั้งนี้มีความชอบธรรมต่ำ เพราะประชามติรัฐธรรมนูญมีเสียงคัดค้านมากถึง 40% คนส่วนหนึ่งจะคลางแคลงความเป็นกลางของรัฐ ความยุติธรรมขององค์กรอิสระต่างๆ



          2. การเลือกตั้งแบบ 4 สุดๆ การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นการเลือกตั้งที่สุดขั้วในความไม่ดีงาม เป็นการเลือกตั้ง 4 สุดๆ หรือ 4 สุดขั้ว คือ



          ซื้อเสียงกันแหลกรานมากที่สุด



          สกปรกมากที่สุด ในการใช้อำนาจรัฐ กลุ่มพวกพ้องตัวเองเอาเปรียบคู่ต่อสู้



          สามานย์มากที่สุด คือจะมีการใช้วิชามาร นโยบายหลอกลวง ใบปลิว ข่าวลือ ทำลาย ทำร้ายคู่แข่ง ฟ้องร้องโกงเลือกตั้งมากและกว้างขวางที่สุด



          เสียบมากที่สุด พรรคขั้วที่ 3 ที่ 4 ก็เหมือนปลาร้าเก่าในไหใหม่ ในการจัดรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง จะมีความพยายามวิ่งเต้นเสียบเพื่อร่วมเป็นรัฐบาลอย่างน่าเกลียดที่สุด รวมทั้งซื้อส.ส. หรือพรรคการเมืองด้วย



          3. พรรคพลังประชาชน (พปช.) ไม่มีโอกาสตั้งรัฐบาล เนื่องจากเหตุ 2 ประการ คือ การที่ภาคธุรกิจสังคมการเมืองร่วมกันโดดเดี่ยวกลุ่มอำนาจเก่า และโดยแนวโน้มจำนวนส.ส. ของพปช. จะได้ไม่พอเพียงจะจัดตั้งรัฐบาล ตัวเลขส.ส. ประเมินเบื้องต้นจากข้อมูลปัจจุบัน ได้ดังนี้



          (ก) ถ้าประเมินจากคะแนนเสียงการลงประชามติ ซึ่งอยู่ในสัดส่วน 40: 60 พปช. จะได้ส.ส. ราว 190 คน และฝ่ายคัดค้านทักษิณได้ราว 290 คน



          (ข) ถ้าประเมินละเอียดขึ้นจากอดีตส.ส. ที่แต่ละพรรคมีอยู่ ผสานด้วยการที่ภาครัฐ สังคม การเมือง และธุรกิจ จะโดดเดี่ยวกลุ่มทักษิณ ปัจจัยระบบเลือกตั้งแบบพวง จำนวนส.ส. ที่ลงสมัครในนามพปช. จะมากสุดอยู่ราว 200 คน (เท่ากับตัวเลข ส.ส. ของ ทรท. ดั้งเดิมในปี 2544) ในจำนวนนี้ต้อหัก ส.ส. กทม. ซึ่งมีโอกาสเป็นของปชป. ออกอีกประมาณ 30 ที่นั่ง และถ้าคำนวณว่าปัจจัยด้านลบถ้ามีมากจะทำให้พปช. สูญเสียที่นั่งในภาคกลาง อีสาน เหนือ ไปอีกเฉลี่ยเขตละ 1 ใน 3 หรือ 1 ใน 5 ถ้าปัจจัยลบมีไม่มาก ทรท. จะเสียส.ส. ไปอีกประมาณ 35-60 เหลือรวมประมาณ 110-135 คน ซึ่งถ้าเพิ่มปัจจัยด้านบวกให้บ้าง ก็อาจประมาณให้ พปช. ได้จำนวนส.ส. 150 คน ฝ่ายค้านทักษิณได้รวมกันราว 275 คน


 


 


การเมืองทางแยกพาประเทศไปสู่ความก้าวหน้าหรือหายนะ: 4 คุณสมบัติเด่นของนายกฯ คนใหม่



          1. รัฐบาลใหม่จะเป็นรัฐบาลผสมอย่างน้อย 3 พรรคขึ้นไป ปชป.และพันธมิตรฝ่ายค้านเดิม มีโอกาสเป็นแกนนำจัดตั้งมากที่สุด



          2. รัฐบาลหลังการเลือกตั้งจะโชคดีเพราะภาคธุรกิจ สังคมและประชาชนทั่วไปสนับสนุนให้มีโอกาสทำงานแก้ปัญหาของประเทศ



          3. การเมืองหลังการเลือกตั้งครั้งหน้ามีความสำคัญยิ่งสามประการคือ หนึ่ง เป็นโอกาสที่จะสลายวิกฤติทักษิณลงไปอย่างสิ้นเชิง สอง เป็นโอกาสที่จะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ เพราะอุตสาหกรรมผลิตสินค้าราคาถูกของเราหมดอนาคต เพราะการแข่งขันของจีน เวียดนาม ขณะเดียวกันเราก็มีโอกาสเกาะกระแสที่โลกกำลังหนุนให้จีน อินเดีย และเอเชียเติบโต และ สาม โอกาสที่พรรคซีกรัฐบาล (ปชป. ชท. เพื่อแผ่นดิน) จะบูรณาการสร้างโครงสร้างพันธมิตรคล้าย UMNO หรือ LDP เพื่อให้ก้าวพ้นจากข้อจำกัดของความเป็นรัฐบาลผสมของพรรคย่อยๆ



          4. ผู้นำรัฐบาลคนใหม่ควรประกอบด้วย 4 คุณสมบัติเด่นคือ หนึ่ง ต้องมีวิสัยทัศน์เชิงเศรษฐกิจ สอง ต้องทำงานได้รวดเร็ว สาม ต้องผูกใจทั้งชาวบ้านและภาคธุรกิจได้ และ สี่ ต้องมีชั้นเชิงยืดหยุ่นทางการเมืองพอที่จะรักษาเสถียรภาพของรัฐบาลซึ่งอาจมีเสถียรภาพถึงครึ่งเทอมหรือมากกกว่าได้ เพราะผู้นำหลักๆที่คาดว่าจะตั้งรัฐบาล เช่น ปชป. ชท. พลังแผ่นดิน กลุ่มสุวัจน์-รวมใจไทย มีประสบการณ์ทางการเมืองสูง และเข้าใจความรู้สึกของประชาชนและภาคเศรษฐกิจ ถ้าเราโชคดีการเมืองจะก้าวพ้นจากวัฏจักรอุบาทว์ที่มีมาโดยตลอด



          5. แต่ถ้าหากนายกฯคนใหม่ขาดคุณสมบัติดังกล่าว การเมืองไทยจะกลับไปเหมือนเดิมอย่างรวดเร็วภายในหนึ่งถึงสองปี กล่าวคือการแก่งแย่งผลประโยชน์ คอรัปชั่น ถอนทุน เพิ่มทุน อย่างขนานใหญ่กว่าทุกครั้ง เพราะทุกพรรคตระหนักว่าในการเลือกตั้งในครั้งถัดไปจะต้องต่อสู้กับพรรคอำนาจเก่าซึ่งมีท่อน้ำเลี้ยงจำนวนมหาศาล



          6. ในอีกมุมหนึ่งของการเมืองหลังการเลือกตั้ง 50 อาจเรียกเป็นการเมืองของการนิรโทษกรรม เพราะการลงโทษยุบพรรคและห้ามไม่ให้ 111 คนดำรงตำแหน่งการเมือง เป็นการลงโทษโดยภาพรวม มีผู้ไม่ได้ทำผิดโดยตรงรวมอยู่ด้วย การนิรโทษกรรมจึงอาจเป็นไปได้ แต่ต้องไม่รวมถึงผู้ที่ต้องคดีคอร์รัปชั่นโกงกินบ้านเมือง การนิรโทษกรรมนี้สำคัญ เป็นปัจจัยที่ทำจะให้รัฐบาลหน้าล้มได้


 


 


ภารกิจการสร้างภาวะปกติและโรดแมพสร้างความปรองดองในชาติ



          1. สังคมไทยควรเข้าสู่โหมดปกติ (Normalization หรือ Normal Mode) ได้แล้ว ทั้งนี้เพราะคนไทยเผชิญหน้ากับวิกฤติทักษิณ ต้องอยู่ในอารมณ์เคร่งเครียดวิตกกังวลว่าจะเกิดความรุนแรงอนาคตไม่มั่นคงมาตลอดสองปีเต็ม ถึงเวลาที่สังคมไทยจะต้องก้าวพ้นจากภาวะที่เป็นทุกข์ดังกล่าว โดยต้องมั่นใจว่าทักษิณจะไม่สามารถกลับคืนมาสู่อำนาจได้อีกแล้ว เพราะการเมืองไทยก้าวเข้าสู่ภาวะปกติ ทักษิณใช้มาตรการ / ยุทธศาสตร์สุดขั้วซึ่งแพ้มาตลอด ตัวเองถูกจำกัดบทบาทโดยคดีความต่างๆ ประเทศไทยใช้ระบบพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่ละตินอเมริกา ซึ่งเป็นระบบประธานาธิบดี ผู้นำประชานิยมจึงได้แรงศรัทธาเหนียวแน่น ในอีกทางหนึ่งขบวนการประชานิยมมักแตกเป็นส่วน ๆ และสลายตัวในที่สุด



          2. เพื่อให้วิกฤติทักษิณคลี่คลายตัว สังคมไทยต้องโอนอ่อนผ่อนตามทหารและนักการเมืองมาตลอด เราไม่ควรปล่อยให้สภาพซึ่งเปรียบเสมือนการเขียนเช็คเปล่าให้ทหารหรือนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามทักษิณเติมเงินเอาได้ตามใจชอบอีกต่อไป เพราะระบบการตรวจสอบ ถ่วงดุลย์ของบ้านเมืองจะเสียหาย



          3. สังคมไทยต้องเริ่มเรียกร้องให้ทหารกลับสู่ที่ตั้งและมีบทบาทตามที่ควรจะเป็น



          4. สังคมไทยต้องเรียกร้องพันธมิตรฝ่ายค้านทักษิณให้กลั่นกรองตัวบุคคลที่จะเป็น ส.ส. และผลิตนโยบายที่มีคุณภาพพอที่จะแก้ปัญหาบ้านเมืองได้



          5. เศรษฐกิจไทยเจอปัญหาร้ายแรง อุตสาหกรรมบางประเภทขาดความสามารถในการแข่งขัน คนตกงานและว่างงานเพิ่มขึ้น สังคมไทยควรหันมาขบคิดแก้ปัญหาเหล่านี้ได้แล้ว ในอีกทาง เศรษฐกิจไทยมีโอกาสที่ดีจากการเติบโตของเศรษฐกิจเอเซีย จีน อินเดีย เป็นช่วงจังหวะที่ต้องฉกฉวยเอาไว้ มากกว่าจะมาเสียเวลากับอดีตผู้นำที่โกงกินบ้านเมือง เห็นแก่ตัว ไม่คำนึงถึงประเทศชาติ


 


 


การเมืองบูรณาการแบบสมดุล ทฤษฎี 4 พลังประชาธิปไตยและการแก้วิกฤติเชิงถาวร



          1. การเมืองไทยมีปัญหาซื้อเสียง การคอร์รัปชั่น การแตกแยกแก่งแย่งผลประโยชน์ จนทำให้คนส่วนใหญ่หมดหวังกับการปฏิรูปการเมือง รัฐธรรมนูญ 2540, 2550 มุ่งแก้มิติเดียว คือให้พรรคการเมืองเข้มแข็งหรืออ่อนแอ ไม่มองว่าพรรคการเมืองไทยเป็นระบบอุปถัมภ์ จึงแยกเป็นกลุ่มย่อยๆ ตามภาค ไม่มองความสมดุลภายในโครงสร้างประชาธิปไตยไทย



          2. โครงสร้างประชาธิปไตยไทยมีอยู่ 4 พลัง คือ 1. ชนชั้นรากหญ้า 2. กลุ่มทุนใหญ่ที่เชื่อมโยงกระแสโลกาภิวัตน์ 3. กลุ่มข้าราชการ เทคโนแครต 4. ภาคสังคม วิชาการ และสื่อ 4 พลังนี้ขาดบูรณาการและความสมดุล ทุนใหญ่ในกระแสโลกาภิวัตน์มีลักษณะทั่วประเทศ (หรือทั่วโลก) จึงสามารถครอบงำรากหญ้า ภาคชนบท ที่มีลักษณะเป็นท้องถิ่นได้ง่าย มันจึงมีเสียงความเป็นตัวแทนมากเกินไป สามารถเข้ามาแทนที่ข้าราชการที่มีลักษณะทั่วประเทศและเคยมีอำนาจมาก่อน ส่วนรากหญ้าถูกครอบงำ จึงมีลักษณะมีเสียงน้อยไป (under representation) ส่วนภาคสังคมคือ นักวิชาการและสื่อนั้น แม้จะมีฐานะทั่วประเทศ แต่ก็มีฐานเสียงเป็นส่วนๆ หรือเป็นชนชั้น ไม่ได้มีลักษณะกว้างขวางแท้จริง ความไม่สมดุลทำให้เกิดวิกฤติทักษิณ คือ เนื่องจากกลุ่มทุนใหญ่ขยายตัวไปครอบงำส่วนอื่น และคอร์รัปชั่นมากเกินไป จึงถูกคัดค้านจากปัญญาชน สื่อ ที่ต้องการให้ประชาธิปไตยมีมิติด้านศีลธรรมคุณธรรมด้วย และในที่สุดก็ถูกรัฐประหารจากพลังสถาบันทหารที่กลัวทุนจะขัดแย้งกับสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์ มากเกินไป



          3. การแก้ด้วยการบูรณาการอย่างสมดุล การแก้ปัญหาการเมืองไทยต้องแก้ 2 มิติ คือ ให้พรรคการเมืองเข้มแข็งระดับประเทศ ด้วยการบูรณาการให้พ้นขอบเขตกลุ่มย่อย และแก้ด้วยการให้พลังต่างๆ เกิดความสมดุลกัน ไม่มากเกินไปจนครอบงำคนอื่น หรือน้อยเกินไปจนถูกครอบงำ ดังนี้คือ



          ชนชั้นรากหญ้าซึ่งถูกครอบงำให้เป็นตัวของตัวเอง แก้ปัญหาความยากจนเพื่อให้พวกเขาพ้นบ่วงการเป็นทาสบริโภคนิยม และระบบอุปถัมภ์



          ส่วนข้าราชการมักแสดงบทบาทผิดๆ (misrepresentation) โดยรับใช้นักการเมือง หรือไม่ก็อยากครอบงำนักการเมืองในรูปปเผด็จการหรือกึ่งเผด็จการ ก็ต้องแก้โดยให้มีบทบาทที่ถูกต้อง คือ เป็นส่วนหนึ่งของอำนาจตรวจสอบ ถ่วงดุลย์อำนาจการเมือง



          กลุ่มทุนใหญ่พยายามเลี่ยงการเมือง มีลักษณะเป็นตัวแทนการเมืองน้อย (under representation) ยกเว้นกลุ่มทุนทักษิณ ซึ่งอาศัยกระแสโลกาภิวัตน์เข้าไปครอบงำส่วนต่างๆ มากเกินไป ทางแก้ กลุ่มทุนต้องเข้ามามีบทบาททางการเมือง เพื่อให้เกิดการแข่งขัน ไม่ใช่การเมืองแบบผูกขาด และเพื่อส่งเสริมให้นักธุรกิจ ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจ เข้ามาเล่นการเมืองมากขึ้น



          กลุ่มนักวิชาการ สื่อ ต้องทำงานอย่างหนักด้วยความเปิดกว้างต่อไป



          การแก้ด้วยการสร้างบูรณาการ คือ การแก้ลักษณะกลุ่มก๊วนย่อยของรากหญ้าและนักการเมืองตามพื้นที่ภูมิภาคต่างๆ ให้การเมืองก้าวพ้นจากระดับพื้นที่ไปสู่ระดับชาติ สามารถทำได้ 2 ทาง คือมีนโยบายที่ดึงดูดประชาชนได้ทั่วประเทศ เช่นที่ ทรท. ใช้นโยบายประชานิยมสร้างความนิยมในพรรค จนก้าวพ้นขอบเขตของการเป็นก๊กเป็นกลุ่ม ในอีกทางหนึ่ง เป็นแนวที่กลุ่มพันธมิตรค้านทักษิณกำลังเลือกเดินอยู่ คือการสร้างองค์กรที่มีฐานเสียงทั่วทุกภาค เพื่อบูรณาการให้ก้าวพ้นข้อจำกัดของแต่ละพรรคที่มีฐานในภาคเดียวหรือ 2 ภาค ปัจจุบันโอกาสเกิดองค์กรถาวรยังมีน้อย แต่อนาคตพันธมิตรฝ่ายค้านอาจเห็นความจำเป็นของการพัฒนาทั้งรูปองค์กรและนโยบายมาบูรณาการให้พ้นจากข้อจำกัดระดับภูมิภาคได้

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net