Skip to main content
sharethis


ชาวบ้านตันหยงลิมอร์ ต.ตันหยงลิมอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ตัดต้นไม้ขวางทางป้องกันมิให้ฝ่ายเจ้าหน้าที่และบุคคลภายนอกเข้าหมู่บ้าน หลังกักตัวทหารนาวิกโยธิน 2 นาย ซึ่งเข้าใจว่าอาจเกี่ยวข้องกับการยิงถล่มร้านน้ำชาในหมู่บ้านจนทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ภาพ :ศูนย์ข่าวอิสรา


 


"กอส." ลุยตันหยงลีมอร์ พบหลังเกิดเหตุฆ่า 2 ทหาร ชาวบ้านหนียกหมู่บ้าน ตั้งข้อสังเกตกลุ่มคนฆ่ากับกลุ่มคนจับ น่าจะเป็นคนละกลุ่ม สงสัยเป็นเกม "สร้างสถานการณ์ซ้อนสถานการณ์" นำเรื่องหารือ "อานันท์" ด่วน เปิดกลางวงสัมมนา 2 ปี ครู - บุคลากรการศึกษา ถูกฆ่าตาย 80 ศพ แฉ 3 จังหวัดชายแดนใต้ คดีพุ่งกว่า 7 พันคดี เกี่ยวความมั่นคงแค่ 20 เปอร์เซ็นต์


 


เมื่อเวลา 13.00 น.วันที่ 21 กันยายน 2548 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ระหว่างการสัมมนาเชิงปฏิบัติการภาคประชาชนต่อมาตรการระยะสั้นเพื่อลดความรุนแรง 14 ข้อ ของคณะอนุกรรมการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี ในคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ ทางคณะอนุกรรมการฯ ประกอบด้วย พระไพศาล วิสาโล ประธานคณะอนุกรรมการฯ นายมาร์ค ตามไท รองประธานคณะอนุกรรมการฯ นายพิภพ ธงไชย นายประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ นายอิสมาแอล จะปะกิยา นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นางสาวนารี เจริญผลพิริยะ อนุกรรมการ และนางจิราพร บุนนาค ได้ประชุมนอกวาระเพื่อพิจารณาเหตุการณ์ชาวบ้านตันหยงลิมอ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส จับทหารนาวิกโยธิน 2 นาย แล้วปิดล้อมหมู่บ้าน


 


"กอส."ลุยตันหยงลีมอ


 


จากนั้น นายมาร์ค นางสาวนารี และพระไพศาล ได้ออกเดินทางไปยังหมู่บ้านตันหยงลีมอ โดยมีชาวบ้านตันหยงลีมอที่เข้าร่วมสัมมนา อาสานำเข้าไปในหมู่บ้านที่เกิดเหตุ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ระหว่างที่อนุกรรมการฯ ทั้ง 3 กำลังเดินทางได้รับแจ้งว่า ทหารทั้ง 2 นาย ถูกกลุ่มวัยรุ่นในหมู่บ้านรุมทำร้ายเสียชีวิตแล้ว โดยคณะอนุกรรมการฯ เดินทางถึงหมู่บ้านตันหยงลีมอ เวลาประมาณ 15.30 น. วันเดียวกัน


 


นางสาวนารี เปิดเผยว่า จากการเข้าไปในที่เกิดเหตุใจกลางหมู่บ้าน ไม่พบชาวบ้านแม้แต่คนเดียว ทั้งที่บริเวณใกล้ที่เกิดเหตุ มีบ้านปลูกอยู่ค่อนข้างหนาแน่น เข้าใจว่าชาวบ้านส่วนหนึ่ง คงหวาดกลัวหลบหนีไปแล้ว ส่วนบ้านหลังที่อยู่ห่างออกไป มีผู้หญิงชราเพียง 2 - 3 คน ทางคณะอนุกรรมการฯ เข้าไปถามว่า ทำไมถึงปิดหมู่บ้าน ได้รับคำตอบว่าพวกตนไม่ได้ปิดหมู่บ้าน ชาวบ้านคนอื่นเป็นผู้ปิด จากนั้นไม่ยอมพูดอะไรต่อ


 


สงสัยแผนซ้อนแผน


 


นางสาวนารี เปิดเผยต่อไปว่า ขณะเข้าไปที่เกิดเหตุพบเจ้าหน้าที่รัฐอยู่กันจำนวนมาก ตำรวจกำลังตรวจสอบจุดที่ชาวบ้านขังทหารทั้ง 2 นายเอาไว้ เป็นอาคารไม้ 2 ชั้น อยู่ข้างมัสยิดประจำหมู่บ้าน สภาพเก่า มีการนำไม้มาตอกตะปูปิดหน้าต่างเอาไว้แน่นหนา ส่วนที่ประตูมีรอยถูกงัด ภายในอาคารชั้นล่างมีเศษอาหารตกอยู่


 


นางสาวนารี กล่าวอีกว่า จากสภาพที่พบทางคณะอนุกรรมการฯ คาดว่ากลุ่มผู้ควบคุมตัวทหารทั้ง 2 กับกลุ่มผู้เข้ามาทำร้าย น่าจะไม่ใช่คนกลุ่มเดียวกัน สังเกตได้ว่าประตูถูกงัดเข้าไป ถ้าเป็นคนกลุ่มเดียวกันไม่น่าจะต้องงัดประตู เพราะมีกุญแจไขประตูอยู่แล้ว ขณะเดียวกันชาวบ้านเป็นผู้ต่อรองให้นำผู้สื่อข่าวจากข่าวมาเลเซียเข้ามาทำข่าวเอง ถ้าชาวบ้านใช้ทหารทั้ง 2 นาย เป็นข้อต่อรองเช่นนี้ ก็ไม่น่าจะมาทำร้ายกัน ตนจึงไม่แน่ใจว่า มีสร้างสถานการณ์ซ้อนสถานการณ์หรือไม่ ทางคณะอนุกรรมการฯ จะนำเรื่องที่เกิดขึ้นไปหารือกันอีกครั้งว่า จะดำเนินการอะไรได้บ้าง


 


แจ้งข่าว"อานันท์"


 


นางจิราพร กล่าวว่า เรื่องที่เกิดขึ้นจะต้องนำไปหรือกันในคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติแน่นอน ส่วนจะทำอย่างไรนั้น คงต้องรอให้หารือกันก่อน ขณะนี้ตนได้แจ้งให้นายอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ ทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว แต่นายอานันท์ยังไม่มีความเห็นใดๆ ออกมา


 


สำหรับการสัมมนา เชิงปฏิบัติการภาคประชาชนต่อมาตรการระยะสั้นเพื่อลดความรุนแรง 14 ข้อ ของคณะอนุกรรมการฯ ที่เริ่มมาตั้งแต่เวลา 9.00 น. วันเดียวกัน มีประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าร่วม 131 คน


 


2ปีครู-บุคลากรถูกฆ่า80ศพ


 


นายประสิทธิ์ กล่าวต่อที่สัมมนาว่า ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา ครูและบุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถูกทำร้ายเสียชีวิตประมาณ 80 คน เป็นผู้บริหารสถานศึกษา 8 คน ครู 20 คน บุคลากรทางการศึกษาอีก 60 คน เช้าวันเดียวกันนี้ ภารโรงของโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดยะลาก็ถูกยิงตาย


 


นายประสิทธิ์ กล่าวว่า ตนถูกครูด้วยกันตำหนิว่า ไปเข้าข้างผู้ก่อความไม่สงบ เพราะเป็นกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ คัดค้านการออกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ตนเห็นว่า คนที่เป็นครูต้องรู้จักใช้เหตุผลและสันติ ไม่ส่งเสริมให้เกิดความรุนแรง อย่าคิดว่าคนที่ชอบใช้ความรุนแรงเป็นพระเอก


 


ชายแดนใต้คดีพุ่ง7พันเกี่ยวความมั่นคง20%


 


นายเดชอุดม กล่าวต่อที่สัมมนาว่า ขณะนี้สภาทนายความได้เปิดศูนย์ยุติธรรมสมานฉันท์ขึ้น เพื่อรับข้อร้องเรียนจากผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ขณะนี้ 3 จังหัดชายแดนภาคใต้ มีคดีเกิดขึ้นกว่า 7,000 คดี ซึ่งเป็นเรื่องที่หนักมากในการว่าความ


 


นายเดชอุดม กล่าวว่า ตนขอให้ทางเจ้าหน้าที่รัฐ ทำสำนวนอย่างตรงไปตรงมา ผิดก็ว่าไปตามผิด ไม่เพิ่มข้อหา เช่น ถ้าพบว่ามีการทะเลาะกัน แล้วใช้อาวุธมีดหรือปืน ก็ว่าไปตามความผิด ไม่ใช่กล่าวหาว่า เป็นกบฎแบ่งแยกดินแดน จากการว่าความที่ผ่านมา พบว่าคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง มีเพียงร้อยละ 20 ของคดีทั้งหมดเท่านั้น


 


ระหว่างการสัมมนา ได้มีญาติของผู้ต้องหาคดีกบฎแบ่งแยกดินแดน อั้งยี่ ซ่องโจรรายหนึ่ง เข้าร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อคณะอนุกรรมการฯ โดยนายเดชอุดมได้มอบหมายให้นายปริญญา คณานุรักษ์ นายกสภาทนายความจังหวัดปัตตานี รับไปดูแลในฐานะทนาย พร้อมกับยื่นคำร้องต่อพนักงานสอบสวน ขอให้ปล่อยตัวชั่วคราว ตามกฎประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net