Skip to main content
sharethis

วันที่ 2 ก.ย.2550 เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร ออกแถลงการณ์คัดค้านกรณีศาลอาญาอนุมัติฝากขัง นายสมบัติ บุญงามอนงค์ แกนนำกลุ่มพลเมืองภิวัฒน์ ตามที่ พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร ฟ้องร้องฐานหมิ่นประมาท


 


เครือข่าย 19 กันยาฯ เห็นว่าการกระทำของนายสมบัติ เป็นการใช้สิทธิอย่างชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 65 หรือรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 69 ที่เขียนระบุไว้ชัดเจนว่า "บุคคลย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีซึ่งการกระทำใดๆ ที่เป็นไป เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้"


 


คดีดังกล่าวจึงมิใช่คดีหมิ่นประมาทบุคคล ระหว่างคู่กรณีทั้ง 2 รายเท่านั้น แต่เป็นคดีที่ต่อสู้กันระหว่าง "การทำรัฐประหาร" ซึ่งเป็นการกระทำที่มีความผิดชัดเจน กับ "สิทธิพลเมืองในการต่อต้านรัฐประหาร" รวมถึง "สิทธิในการแสดงความเห็นอย่างเสรี"


 


เครือข่าย 19 กันยาฯ ยังระบุอีกด้วยว่า ถ้าผลการพิพากษาปรากฎว่าการทำรัฐประหารเป็นฝ่ายชนะ ก็จะหมายความว่ากระบวนการยุติธรรมไทย โดยเฉพาะศาล ได้เป็นส่วนหนึ่งในการรับรองสิ่งที่ผิดให้กลายเป็นถูกอีกครั้ง


 



 







 


แถลงการณ์เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร


กรณีคุมขังนายสมบัติ บุญงามอนงค์ 


 


            สืบเนื่องศาลอาญาได้อนุมัติฝากขังนายสมบัติ บุญงามอนงค์ แกนนำกลุ่มพลเมืองภิวัฒน์ 12 วัน ตามคำขอของเจ้าหน้าที่ตำรวจในข้อหาที่พลโทสพรั่ง กัลยาณมิตร ได้ฟ้อง"หมิ่นประมาทโดยการโฆษณาด้วยภาพวาด ภาพระบายสี หรือตัวอักษร โดยการป่าวประกาศ" จากการที่กลุ่มพลเมืองภิวัฒน์ ได้จัดกิจกรรมปาเป้าที่สนามหลวง โดยอ้างว่านายสมบัติ "ใช้ใบหน้าล้อเลียน พล.อ.สพรั่ง และ พล.อ.สนธิ ในอิริยาบทที่ไม่เหมาะสม ทำให้ทั้งสองคนได้รับความเสียหาย ดูหมิ่นเกลียดชัง เสียชื่อเสียง"


 


            ทางเครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร มีความเห็นดังต่อไปนี้


            1.เราขอยืนยันว่าการที่ พลโทสพรั่ง กัลยาณมิตร กับพวกในนาม "คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" ได้แอบอ้างสถาบันมหากษัตริย์กระทำการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 นั้น มีความผิดชัดเจนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 ที่ระบุว่า


            "ผู้ใดใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อ


            (1) ล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ


(2) ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการแห่งรัฐธรรมนูญ หรือให้ใช้อำนาจดังกล่าวแล้วไม่ได้ หรือ


(3) แบ่งแยกราชอาณาจักรหรือยึดอำนาจปกครองในส่วนหนึ่งส่วนใดแห่งราชอาณาจักร


ผู้นั้นกระทำผิดฐานเป็นกบฎ ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต"


            ดังนั้นการที่นายสมบัติ บุญงามอนงค์ ได้แสดงออกด้วยการ "อารยะขันขืน" ต่อการกระทำที่ไม่ชอบนั้นนอกจากจะไม่ผิดกฎหมายแล้วยังเป็นการใช้สิทธิอย่างชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญอีกด้วย เพราะไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 65 หรือรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 69 ก็เขียนไว้อย่างชัดเจนว่า "บุคคลย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีซึ่งการกระทำใดๆ ที่เป็นไป เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้"


 

               2. เราเห็นว่าการที่ศาลอาญาอนุมัติฝากขังคดีดังกล่าวนั้นเป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมไทย
นั้น ยังถือหลัก
"อำนาจคือธรรม มิใช่ธรรมคืออำนาจ" มาโดยตลอด ตำรวจนั้นเป็นเครื่องมือให้กับผู้มีอำนาจ ใช้ช่องโหว่
ของกฏหมาย ลิดรอนเสรีภาพของประชาชน ขณะที่ศาลนั้นเป็นเพียงเครื่องมือในการรับรองความไม่ถูกต้องให้กลายเป็น
สิ่งที่ถูกกฎหมายเท่านั้นเอง

             สุดท้ายเราขอยืนยันว่าคดีนี้มิใช่เป็นคดีหมิ่นประมาทบุคคล ระหว่างพลโทสพรั่ง กัลยาณมิตร กับ นายสมบัติ บุญงามอนงค์ เท่านั้น แต่เป็นคดีที่ต่อสู้กันระหว่างการกระทำที่มีความผิดชัดเจนคือการทำรัฐประหาร กับสิทธิพลเมืองในการต่อต้านรัฐประหาร รวมทั้งสิทธิในการแสดงความเห็นอย่างเสรี และถ้าผลการพิพากษาปรากฎว่าการทำรัฐประหารเป็นฝ่ายชนะ นั่นหมายความว่ากระบวนการยุติธรรมไทย โดยเฉพาะศาลได้เป็นส่วนหนึ่งในการรับรองสิ่งที่ผิดให้กลายเป็นถูกอีกครั้งเช่นเดียวกับการกระทำที่ผ่านมา


 


เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร


2 กันยายน 2550  


 


 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net