Skip to main content
sharethis




ประชาไท - 23 ก.ค.50  สืบเนื่องจากวันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา สมาชิกคณะกรรมาธิการการค้าได้ร่างจดหมายถึงรัฐบาลไทยโดยแสดงความไม่พอใจต่อนโยบายรัฐบาลไทยที่ประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ (ซีแอล) เพื่อการเข้าถึงยาเพิ่มเติม


 


AIDES และ Act Up-Paris องค์กรเครือข่ายผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์แห่งประเทศฝรั่งเศส จึงได้ทำหนังสือถึงสมาชิกคณะกรรมาธิการการค้าของสหภาพยุโรปเพื่อขอคำชี้แจงในเรื่องดังกล่าว โดยยืนยันว่าการประกาศซีแอลของรัฐบาลไทยเป็นสิทธิอันชอบธรรมถูกต้องตามความตกลงทริปส์และสอดคล้องกลับมติของสภายุโรปที่ออกเมื่อ 12 ก.ค.ที่ผ่านมาในการสนับสนุนให้ประเทศต่างๆ ได้ใช้มาตรการยืดหยุ่นในทริปส์ แต่จดหมายของสมาชิกคณะกรรมาธิการการค้านั้นเองที่เท่ากับเป็นการเขียนกฎหมายระหว่างประเทศขึ้นใหม่ ทั้งยังเป็นการข่มขู่ประเทศไทยเพื่อรักษาผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมยาติดสิทธิบัตร โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะตกแก่มนุษย์จากการที่ไม่สามารถเข้าถึงและซื้อหายาจำเป็นเพื่อรักษาชีวิตได้


 






กรุงปารีส


22 สิงหาคม


 


วัตถุประสงค์: เพื่อขอคำชี้แจงในจุดยืนของคณะกรรมาธิการการค้าแห่งสหภาพยุโรปต่อการประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธในประเทศไทย


 


เอกสารอ้างอิ: จดหมายจากสมาชิกคณะกรรมาธิการการค้า นายปีเตอร์ แมนเดลสัน ถึงรัฐบาลไทย ฉบับลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2550


 


เรียน ฯพณฯ ท่าน


 


ในฐานะองค์กรเครือข่ายผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์แห่งประเทศฝรั่งเศส หรือในฐานะประชาชนที่มีความสนใจด้านเอดส์และมุ่งทำงานเพื่อให้เกิดการเข้าถึงการรักษาโรคเอดส์อย่างถ้วนหน้า เราขอเดินหน้าสนับสนุนจุดยืนของเครือข่ายผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์แห่งประเทศไทย หลายปีที่ผ่านมา เครือข่ายฯ ได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยอนุมัติให้มีการผลิตยาชื่อสามัญสำหรับยาทุกรายการ (รวมถึงยาต้านไวรัส) ซึ่งมีความจำเป็นต่อผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ในประเทศ


 


ในที่สุด ข้อเรียกร้องของเครือข่ายฯ ก็ได้รับการตอบสนองในช่วงปลายปีที่ผ่านมา เมื่อรัฐบาลไทยประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิกับยาสามรายการ ได้แก่ยาต้านไวรัสสองรายการและยาสลายลิ่มเลือดอีกหนึ่งรายการ


 


และด้วยเหตุนี้ เราจึงรู้สึกตระหนกอย่างยิ่งกับจดหมายของท่านถึงรัฐบาลไทยฉบับลงวันที่ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมา เพื่อแสดงข้อกังขาต่อนโยบายสาธารณสุขของรัฐบาลในการประกาศใช้สิทธิ อันเป็นมาตรการที่กอปรด้วยเจตนารมณ์เพื่อขยายการเข้าถึงยาชื่อสามัญ ทั้งนี้ ท่าทีที่ท่านได้แสดงมาในจดหมายฉบับดังกล่าวนี้ ขัดแย้งกับแนวทางของคณะกรรมาธิการแห่งสหภาพยุโรปอย่างเห็นได้ชัด


 


ท่านได้ระบุในจดหมายว่า "ทั้งความตกลงทริปส์และปฏิญญาโดฮานั้นจะมิได้ให้ความชอบธรรมกับการดำเนินนโยบายบังคับใช้สิทธิอย่างเป็นกิจจะลักษณะทุกครั้งที่ยามีราคาเกินต้องการ" เห็นได้ชัดว่าขัดแย้งกับความตกลงทริปส์ ซึ่งระบุว่า "ประเทศสมาชิกแต่ละประเทศมีสิทธิที่จะออกมาตรการบังคับใช้สิทธิ และมีเสรีภาพที่จะกำหนดเหตุผลเพื่อการออกมาตรการดังกล่าว"


 


ขอให้เราได้กระตุ้นเตือนความจำของท่านสักข้อว่า กฎหมายของสหภาพยุโรปเองนั้นได้ระบุชัดว่า เมื่อยาตั้งราคาไว้สูงเกินไป ย่อมถือเป็นเหตุผลอันชัดแจ้งพอแก่ประเทศภาคีสมาชิกในการประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิเพื่อแก้ปัญหาสาธารณสุขของชาติ (อาจดูได้จาก ยกตัวอย่างเช่น มาตราที่ L613-16 ในประมวลกฎหมายฝรั่งเศสว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งระบุว่า "รัฐสามารถประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิกับผลิตภัณฑ์ติดสิทธิบัตรได้หากเกิดกรณีหนึ่งกรณีใดดังต่อไปนี้ ผลิตภัณฑ์นั้นขาดคุณสมบัติหรือมีในปริมาณที่ไม่เพียงพอ หรือมีราคาสูงผิดปกติ") ฉะนั้น ข้อที่ท่านตำหนิรัฐบาลไทยจึงปราศจากความชอบธรรมและมิชอบด้วยกฎหมาย และจากข้อความของท่านในจดหมาย ท่านได้แสดงให้เห็นว่าท่านหมายจะเขียนกฎหมายระหว่างประเทศขึ้นใหม่ ด้วยเห็นแก่ผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมยาต้นแบบ โดยมิได้คำนึงถึงผลกระทบอันจะตกแก่ผู้ป่วยแต่อย่างใด


 


นอกจากนี้ ท่านยังได้เร่งเร้าให้ประเทศไทยเจรจาต่อรองราคากับบรรษัทยาเจ้าของสิทธิบัตร ซึ่งทั้งความตกลงทริปส์และปฎิญญาโดฮามิได้กำหนดไว้เป็นข้อบังคับให้รัฐบาลใดต้องทำเช่นนั้นในกรณีที่เกิดวิกฤตปัญหาด้านสาธารณสุข ในข้อนี้ จึงดูเหมือนว่าท่านพยายามที่จะเขียนกฎหมายระหว่างประเทศขึ้นใหม่อีกเช่นกัน ยิ่งไปกว่านั้น ยิ่งเราพิจารณาข้อโต้แย้งของท่านลงในรายละเอียดจะยิ่งพบว่า คำกล่าวของท่านนั้นขาดความชอบธรรม ขอนุญาตเตือนความจำท่านอีกสักข้อว่า รัฐบาลไทยได้ทำการเจรจาต่อรองราคากับบริษัทยามาตลอดสองปี จึงค่อยใช้ทางออกสุดท้ายด้วยการประกาศใช้สิทธิ ทั้งๆ ที่มิได้มีข้อกำหนดผูกมัดให้ต้องเจรจากันก่อนมิใช่หรือ  


ท่านยังได้ระบุอีกว่า ารที่รัฐบาลไทยเสี่ยงใช้วิธีบีบบังคับให้บริษัทยาอื่นๆ ยกเลิกสิทธิบัตรนั้น อาจทำให้ประเทศไทยถูกโดดเดี่ยวจากกลุ่มนักลงทุนด้านเทคโนโลยีชีวภาพจากต่างประเทศ


 


คำกล่าวนี้คล้ายแฝงนัยข่มขวัญกลายๆ แม้ว่ามาตรการของไทยจะชอบด้วยกฎหมาย แต่แอ๊บบอต บรรษัทยายักษ์ใหญ่สัญชาติอเมริกันกลับใช้วิธีตัดสิทธิไม่ให้ผู้ป่วยในไทยเข้าถึงนวัตกรรมด้านการแพทย์ของบริษัท เพื่อเป็นการตอบโต้ที่รัฐบาลไทยใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ ทั้งๆ ที่ท่านน่าจะประณามพฤติกรรมเช่นนี้ ซึ่งส่งผลกระทบร้ายแรงต่อชีวิตผู้ป่วยนับหมื่นๆ รายในประเทศ แต่ท่านกลับไม่ทำ การที่ท่านยอมรับพฤติกรรมที่เห็นแก่ผลกำไรเป็นที่ตั้งว่า "ปกติ" และกล่าวโทษแต่ประเทศไทยที่ตัดสินใจ เช่น กรณีแอ๊บบอต ย่อมแสดงให้เห็นว่าจริงๆ แล้วใจท่านใคร่สนับสนุนการขู่ขวัญทำนองนี้มากกว่า  


 


จึงเป็นเรื่องน่าสะเทือนใจอย่างยิ่งที่ต้องมาเห็นสมาชิกคณะกรรมาธิการแห่งสหภาพยุโรปผู้หนึ่ง ทำให้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างประเทศกำลังพัฒนากับบรรษัทยาที่ไม่มีดุลยภาพอยู่แล้วกลับยิ่งเสียสมดุลย์ ไม่ว่าจะเจตนาหรือไม่ แต่ท่านก็ได้กระทำการเข้าข่ายสนับสนุนนโยบายของแอ๊บบอตที่ใช้ผู้ป่วยเป็นตัวประกันเข้าแล้ว     


 


สุดท้ายนี้ สภายุโรปได้ผ่านมติเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2550 ซึ่งเรียกร้องให้คณะกรรมมาธิการยุโรปสนับสนุนประเทศต่างๆ เช่นประเทศไทย ที่ใช้มาตรการยืดหยุ่นประการต่างๆ ที่มีบรรจุไว้ในความตกลงทริปส์และปฏิญญาโดฮา เช่นนี้แล้ว ท่านมีแผนจะทำอย่างไรกับมติสภายุโรป ในเมื่อจดหมายท่านถึงรัฐบาลไทยได้แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่าขัดกับมติสภายุโรป อีกทำให้เราเชื่อว่าท่านไม่ใส่ใจนำพากับข้อเสนอแนะของสภายุโรปแต่อย่างใด หรือท่านจะสามารถพิสูจน์ได้ว่าท่านมิได้เห็นเช่นนั้น  


 


ทุกๆ วันจะมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคเอดส์จากการเข้าไม่ถึงการรักษาถึงวันละหมื่นราย แต่เหตุการณ์เช่นนี้ใช่ว่าจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ เอดส์เป็นโรคระบาดที่เกิดกับมนุษย์ แต่จากการที่ท่านทำเหมือนต้องการปกป้องสิทธิของบริษัทยามากกว่าชีวิตผู้ป่วยด้วยการกดดันรัฐบาลไทย จึงอาจทำให้ท่านกลายเป็นพันธมิตรกับโรคร้ายนี้ไปโดยปริยาย    


 


ด้วยเหตุนี้เราจึงขอให้ท่านแก้ไขข้อผิดพลาดประการทั้งปวงและคำกล่าวของท่าน อีกขอให้ท่านได้โปรดตระหนักอย่างชัดเจนว่านโนบายของประเทศไทยนั้นสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญา เราขอให้ท่านดำเนินแนวทางเดียวกับสภายุโรป ด้วยการสนับสนุนประเทศต่างๆ ที่ใช้มาตรการยืดหยุ่นที่มีบรรจุไว้ในความตกลงทริปส์และปฏิญญาโดฮา แต่หากท่านไม่ตอบกลับข้อเรียกร้องนี้ภายในเวลาที่เหมาะสม จำเป็นที่เราจะต้องดำเนินการและกล่าวประณามจุดยืนของท่านต่อสาธารณชน 


 


 


ด้วยความนับถือ


 


Act Up-Paris                                                   AIDES


 


เอ็มมานูเอล ชาโต้                                         บรูโน สไปร์


ฮิวจ์ ฟิชเชอร์


Co-President                                               


President


 


เจโรม มาร์ติน


คณะกรรมการระหว่างประเทศ


 


 


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net