Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 21 ส.ค.50  ตั้งแต่ราวเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เริ่มมีกระแสข่าวว่ากระทรวงสาธารณสุขของไทยจะมีการประกาศมาตรการบังคับใช้สิทธิ (ซีแอล) ในยาที่ติดสิทธิบัตรเพิ่มเติมจาก 3 รายการที่ทำไปแล้ว (ยาต้านไวรัสเอฟฟาไวเรนซ์, ยาต้านไวรัสโลพินาเวียร์/ริโทนาเวียร์, ยาโรคหัวใจโคลพิโดเกล โดยอาจจะประกาศซีแอลในยารักษาโรคมะเร็งที่มีราคาแพง ซึ่งเป็นโรคหนึ่งที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตในอันดับต้นๆ เช่นกัน แต่ยังไม่มีความชัดเจนในขณะนี้ว่าจะเป็นยารักษามะเร็งเต้านม มะเร็งปอด หรือมะเร็งเม็ดเลือดขาว


 


หลังจากนั้น วันที่ 10 ก.ค.50 นายปีเตอร์ แมนเดลสัน ประธานคณะกรรมาธิการการค้าของสหภาพยุโรป


ได้ทำหนังสือถึงนายเกริกไกร จิระแพทย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แสดงความไม่พอใจที่ไทยประกาศว่าจะซื้อยาต้นแบบก็ต่อเมื่อมีราคาสูงกว่ายาชื่อสามัญไม่เกินร้อยละ 5 และขู่ว่าประเทศไทยจะถูกโดดเดี่ยว


 


"การที่รัฐบาลไทยเสี่ยงใช้วิธีบีบบังคับให้บริษัทยาอื่นๆ ยกเลิกสิทธิบัตรนั้น อาจทำให้ประเทศไทยถูกโดดเดี่ยวจากกลุ่มนักลงทุนด้านเทคโนโลยีชีวภาพจากต่างประเทศ" แมนเดลสันกล่าวพร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลไทยเจรจากับบริษัทยาโดยตรง โดยเฉพาะกับบริษัทซาโนฟี่-อเวนตีส เจ้าของยาโคลพิโดเกรล (พลาวิกซ์) ที่ไทยได้ประกาศซีแอลไปแล้ว


 


อย่างไรก็ตาม ท่าทีของนายแมนเดลสันที่ไม่พอใจการทำซีแอลของไทยนั้นขัดกับมติของสภายุโรปที่ออกมา 2 วันหลังจากนั้น (12 ก.ค.50) ซึ่งระบุให้สหภาพยุโรปต้องสนับสนุนประเทศต่างๆ ในการใช้มาตรการยืดหยุ่นในข้อตกลงทริปส์ขององค์การการค้าโลก รวมถึงมาตรการบังคับใช้สิทธิเพื่อแก้ปัญหาสาธารณสุขของประเทศสมาชิก และยังระบุห้ามมิให้การเจรจาการค้าของสหภาพยุโรป มีเนื้อหาเกินไปกว่าข้อตกลงทริปส์ที่จะสร้างผลเสียต่อการเข้าถึงยาของประชาชนในประเทศต่างๆ ด้วย


 


ทั้งนี้ ในขณะนี้สภายุโรปอยู่ระหว่างปิดสมัยประชุม และจะเปิดสภาอีกครั้งในวันที่ 25 ส.ค.นี้ แต่ในขณะนี้ทั้งสมาชิกสภายุโรปบางส่วนและเอ็นจีโอหลายองค์กร เช่น องค์การหมอไร้พรมแดน, อ็อกแฟม อินเตอร์เนชั่นแนล ก็ได้เตรียมที่จะร่วมกันกดดันให้นายแมนเดลสันต้องชี้แจงการละเมิดข้อมติของสภายุโรปไว้แล้ว


 


ด้านนายเกริกไกร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้ทำหนังสือตอบกลับประธานคณะกรรมาธิการการค้าของสหภาพยุโรปไปเมื่อวันที่ 8 ส.ค.50 ด้วยท่าทีที่มิได้ตกอกตกใจกับคำขู่นัก โดยระบุว่า ประเทศไทย โดยกระทรวงสาธารณสุขมีอำนาจเต็มตามกฎหมายที่จะประกาศบังคับใช้สิทธิ


 


"เป็นไปตามข้อตกลงในพันธกิจในฐานะประเทศภาคีสมาชิกองค์การการค้าโลกและความตกลงทริปส์ ทั้งนี้ ตามข้อกำหนดแห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2534 และความตกลงทริปส์นั้น ประเทศไทยสามารถประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิโดยรัฐเพื่อสาธารณประโยชน์ที่มิได้มีวัตถุประสงค์เชิงพาณิชย์ได้โดยมิต้องขออนุญาตจากเจ้าของสิทธิบัตรก่อน" จดหมายระบุพร้อมทั้งยืนยันถึงความโปร่งใสในการดำเนินการตามมาตรการบังคับใช้สิทธิ และความจริงใจของรัฐบาลไทยในการเจรจาต่อรองราคากับเจ้าของสิทธิบัตรด้วย


 


ขณะที่ น.พ.มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขซึ่งได้สำเนาจดหมายของนายแมนเดลสันเช่นกัน ได้ทำจดหมายชี้แจงเมื่อเร็วๆ นี้ถึงความไม่พอใจของนายแมนเดลสันที่ไทยประกาศว่าจะซื้อยาต้นแบบก็ต่อเมื่อมีราคาสูงกว่ายาชื่อสามัญไม่เกินร้อยละ 5 ว่า


 


"ในการดำเนินการตามมาตรการบังคับใช้สิทธินั้น ประเทศไทยตั้งเจตนาแต่ต้นที่จะจ่ายค่าตอบแทนการใช้สิทธิในอัตราร้อยละ 0.5 แก่เจ้าของสิทธิบัตรตามที่ระบุไว้ในประกาศ ทั้งนี้ตัวเลขค่าตอบแทนนี้ยึดตามประสบการณ์ของประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ที่ได้เคยประกาศบังคับใช้สิทธิ รวมถึงปริมาณยาที่กระทรวงฯ ต้องใช้ โดยเปิดให้มีการเจรจาต่อรองอัตราค่าตอบแทนได้ ทว่าจนบัดนี้ยังไม่มีบริษัทใดสนใจเข้าเจรจาต่อรอง"


 


"แต่ทั้งนี้ เพื่อให้มีการตอบแทนที่สูงขึ้น ตลอดจนการร่วมประสานงานกับเจ้าของสิทธิบัตรอย่างสร้างสรรค์ กระทรวงสาธารณสุขไทยจึงได้เสนอแก่เจ้าของสิทธิบัตรว่า เมื่อมีการประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ หากยาติดสิทธิบัตรใดเสนอราคาไม่สูงกว่าร้อยละ 5 จากราคาเสนอต่ำสุดของยาชื่อสามัญ กระทรวงสาธารณสุขจะซื้อยานั้นกับเจ้าของสิทธิบัตรโดยตรง ดังนี้ จะเห็นได้ว่าส่วนต่างร้อยละ 5 ที่เสนอให้แก่เจ้าของสิทธิบัตรนั้น เทียบเท่ากับค่าตอบแทนการใช้สิทธิในอัตราร้อยละ 5 ซึ่งสูงกว่าอัตราที่ประกาศไว้ถึง 10 เท่า ซึ่งหากสามารถตกลงตามเงื่อนไขนี้ได้ ย่อมไม่มีความจำเป็นต้องดำเนินการตามมาตรการบังคับใช้สิทธิแต่อย่างใด ทั้งนี้เงื่อนไขใหม่ของรัฐบาลไทยซึ่งระบุค่าตอบแทนการใช้สิทธิที่สูงขึ้นนั้น ก็เพื่อแสดงความขอบคุณต่อเจ้าของสิทธิบัตรที่ยอมลดราคายาติดสิทธิบัตรลง อันแสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ที่มุ่งประโยชน์สาธารณชนเป็นที่ตั้ง"


 


รมว.สาธารณสุขยังย้ำว่า เงื่อนไขส่วนต่างร้อยละ 5 นี้ กำหนดให้ใช้เฉพาะกับยาสามรายการที่รัฐบาลจะจัดซื้อภายใต้มาตรการบังคับใช้สิทธิ และใช้เฉพาะกับผู้ป่วยในโครงการประกันสุขภาพแห่งชาติทั้งสามโครงการของรัฐบาลเท่านั้น ซึ่งเงื่อนไขนี้ไม่อาจใช้กับกรณีที่บุคคลรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลด้วยตนเอง และไม่อาจใช้กับยาติดสิทธิบัตรรายการอื่นๆ ที่รัฐบาลมิได้ประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ นอกจากนี้ ยังมิใช่เป็นเงื่อนไขสำหรับพิจารณาประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิกับยาตัวใดอีกด้วย


 


ในจดหมายของกระทรวงสาธารณสุข ยังระบุคำถามกลับไปถึงประธานคณะกรรมาธิการการค้าของสหภาพยุโรปด้วยใน 3 ประการ คือ 1.มีหลายครั้งที่กลุ่มประเทศยุโรปได้ดำเนินการใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ จึงอยากขอทราบตัวอย่างกรณีที่บริษัทยายกเลิกสิทธิบัตร และกรณีที่ประเทศยุโรปถูกโดดเดี่ยวจากกลุ่มนักลงทุนด้านเทคโนโลยีชีวภาพจากต่างประเทศอันเป็นผลสืบเนื่องจากการใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ ดังที่ประธานกรรมาธิการการค้าฯ ได้ชี้ประเด็นมาในจดหมาย


 


2.อัตราค่าตอบแทนการใช้สิทธิที่ประเทศภาคีสมาชิกในกลุ่มสหภาพยุโรปจ่ายแก่เจ้าของ


สิทธิบัตรตามปกติ และเมื่อมีการใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิต่อยาติดสิทธิบัตร และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตัวอย่างกรณีที่มีการเสนอให้ค่าตอบแทนสูงกว่าข้อเสนอของรัฐบาลไทยที่ส่วนต่างร้อยละ 5


 


3.หลักฐานยืนยันประเด็นที่ประธานกรรมาธิการการค้าฯ หยิบยกมาในจดหมายท่านว่ารัฐบาลไทยมีเจตนาจะประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิทุกครั้งที่ยาติดสิทธิบัตรมีราคาเกินต้องการ


 


และล่าสุด เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 50 จดหมายจากเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย "ราล์ฟ แอล.บอยซ์" ก็ถึงมือ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี โดยบอยซ์แสดงความไม่พอใจที่ประเทศไทยอาจมีการประกาศบังคับใช้สิทธิเพิ่มเติมจากที่ประกาศไปแล้ว 3 ตัว


 


"สืบเนื่องจากการร่วมหารือกันในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ก่อนที่ข้าพเจ้าจะเดินทางไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา ข้าพเจ้ารู้สึกยินดีที่ท่านได้ให้การรับรองว่าจะไม่มีการประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิกับเภสัชภัณฑ์รายการใหม่ๆ อื่นใดอีก ข้าพเจ้าจึงใช้โอกาสที่ข้าพเจ้าเดินทางกลับกรุงวอชิงตันเมื่อครั้งที่ผ่านมา รายงานข่าวนี้กับรัฐบาลของข้าพเจ้า และกลุ่มอุตสาหกรรมในสหรัฐ ทำให้ช่วยผ่อนคลายสถานการณ์ที่ตึงเครียดได้อย่างมาก ทว่าขณะนี้ข้าพเจ้าเกรงว่าจะมีการประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิอีกครั้งในเร็ววันนี้"


 


ทูตสหรัฐระบุในหนังสืออีกว่า ต้องการให้กระทรวงสาธารณสุขเจรจากับบริษัทยา โดยอ้างว่า


"การตัดสินใจใช้มาตรการต่างๆ นี้มิพึงสักแต่ทำเป็นว่าเล่น อีกพึงใช้เป็นหนทางออกสุดท้ายแล้วเท่านั้น"


 


ด้านความคืบหน้าของรัฐบาลไทย สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้ทำหนังสือถึงกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 6 ส.ค.ที่ผ่านมา ให้ประชุมร่วมเพื่อกำหนดท่าทีที่เหมาะสมของไทย ประกอบไปด้วย กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รวมทั้งเครือข่ายผู้ป่วย อาทิ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศเทศไทย เครือข่ายผู้ป่วยโรคหัวใจ และเครือข่ายผู้ป่วยมะเร็ง โดยจะประชุมร่วมกันภายในสัปดาห์นี้


 


ขณะที่เอ็นจีโอทั้งไทยและต่างประเทศจะจัดแถลงข่าวในวันพรุ่งนี้ (22 ส.ค.) เพื่อยืนยันว่าการดำเนินการของรัฐบาลไทยในเรื่องซีแอลนั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้อง


 


"เราจะยืนยันว่าไทยทำถูกต้อง มีสิทธิที่จะทำ ทันทีที่ที่ประชุมสภายุโรปเปิด จะมีการร่วมกันของหลายฝ่ายกดดันให้ตั้งคำถามให้ประธานกรรมาธิการการค้าของสหภาพยุโรป นายบอยซ์ และกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐต้องตอบคำถามว่าทำไมจึงมาบีบไม่ให้ประเทศไทยทำซีแอล พร้อมกันนี้เราจะตั้งคำถามถึงพล.อ.สุรยุทธ์ ว่ามีการไปรับปากกับนายบอยซ์ว่าจะไม่ดำเนินการประกาศซีแอลเพิ่มจริงหรือไม่ เพราะนั่นเท่ากับเป็นการยกอธิปไตยของประเทศห้คนอื่น" กรรณิการ์ กิจติเวชกุล จากองค์การหมอไร้พรมแดน-เบลเยี่ยม (MFS) กล่าว


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net