Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 23 ก.ค. 50 เมื่อวันที่ 22 ก.ค. นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยซึ่งมีสมาชิกร่วม 27 องค์กร มีทั้งองค์กรที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็เป็นสิทธิส่วนบุคคลของแต่ละคน และที่จริงแล้วได้พูดคุยกับผู้นำแรงงานจากหลายส่วน โดยจะเห็นความชัดเจนว่าช่วงเช้าได้เสนอ 15 ประเด็นปัญหาของเครือข่ายแรงงานที่ทำงานอย่างหนักในการนำเสนอ และได้เห็นว่าอะไรบ้างที่เขียนไว้ (อ่านที่นี่)


 


ในส่วนของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เนื่องจากทำงานกับพี่น้องที่หลากหลาย จึงได้ข้อสรุปว่า เมื่อกฎหมายรัฐธรรมนูญเกี่ยวข้องกับทุกคน ทุกคนจึงควรมีส่วนร่วมในการตัดสินใจด้วย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย จึงจะรวบรวมสาระสำคัญของกฎหมายรัฐธรรมนูญเพื่อนำเสนอต่อเครือข่ายเพื่อให้พี่น้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ รับหรือไม่รับ และจะส่งเสริมสนับสนุนให้พี่น้องผู้ใช้แรงงานออกไปลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ


 


โดยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย จะไม่มีมติว่ารับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ แต่มีจุดยืนคือ ให้การศึกษากับพี่น้องประชาชนให้ตัดสินใจเอง ที่สำคัญที่สุดคือ สิ่งที่ตราไว้ในรัฐธรรมนูญต้องมีการขับเคลื่อนแก้ไขต่อไปให้ตอบสนองต่อความต้องการ โดยจะขับเคลื่อนร่วมกันกับพี่น้องประชาชนทุกเครือข่าย และขอยืนยันว่า คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยเคารพในสิทธิการตัดสินใจของทุกๆ คน


 


นายสาวิทย์ แก้วหวาน รองเลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ด้านปฏิบัติการ (สรส.) อ่านคำแถลงการณ์ ดังนี้


 






แถลงการณ์คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย


ฉบับที่ 5/2550


เรื่อง ท่าทีต่อร่างรัฐธรรมนูญ 2550


 


ตามที่ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ซึ่งเป็นองค์กรขับเคลื่อนหลักของขบวนการแรงงาน อันประกอบด้วยองค์กรสมาชิก 27 องค์กร ในระดับสหพันธ์แรงงานต่างๆ กลุ่มสหภาพแรงงาน กลุ่มย่าน และองค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงาน ซึ่งถือได้ว่าเป็นองค์กรหนึ่งที่ได้เคลื่อนไหวในการนำเสนอในเรื่องการปฏิรูปการเมืองมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปีติดต่อกัน จนถึงปัจจุบันในสถานการณ์ภายหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่ได้มีบทบาทชัดเจนมากขึ้นในการนำเสนอประเด็นเนื้อหาสาระสำคัญในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญของผู้ใช้แรงงาน 15 ประเด็น ต่อสภาร่างรัฐธรรมนูญ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คณะกรรมการการเลือกตั้ง และได้รณรงค์ผลักดันข้อเสนอดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องในรูปแบบการรณรงค์ให้การศึกษา ให้ความรู้ในกระบวนการปฏิรูปการเมืองของผู้ใช้แรงงาน


 


จากการดำเนินงานดังกล่าวอย่างต่อเนื่องนั้น คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย จึงมีความเห็นและท่าทีต่อร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ในลักษณะที่เป็นกลาง โดยไม่มีมติว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 แต่จะดำรงไว้ซึ่งฐานะขององค์กรแรงงานที่ให้ความรู้แก่ผู้ใช้แรงงานในเรื่องเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญในประเด็นต่างๆ อย่างแท้จริง โดยไม่มีการชี้นำใดๆ  ในขณะเดียวกันก็มีความเห็นให้องค์กรสมาชิกมีความอิสระในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญว่าจะรับหรือไม่รับในการทำประชามติ ซึ่งภารกิจที่สำคัญต่อไปของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยคือการรณรงค์ให้ความรู้แก่ผู้ใช้แรงงานอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับเนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยยังมีความเห็นว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้มีความหมายใดเทียบเท่ากับตัวกระบวนการที่ภาคประชาชนที่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการปฏิรูปการเมืองและสังคม เพื่อให้เกิดกระบวนการศึกษาเรียนรู้ และความตื่นตัวในกระบวนการดังกล่าวต่อพี่น้องผู้ใช้แรงงาน แต่อย่างไรก็แล้วแต่ก็ต้องคงไว้ซึ่งความสามัคคีของภาคประชาชนในการขับเคลื่อนต่อไปในอนาคตเพื่อประชาธิปไตยที่สมบูรณ์กว่า เพราะกระบวนการประชาธิปไตยไม่ได้หยุดอยู่ที่การล้มหรือการรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้


 


แถลงเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2550


คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net