Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 9 ก.ค. 50 วานนี้ (8 ก.ค.) มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเผยแพร่ "แถลงการณ์เรื่องการคุกคามสิทธิเสรีภาพ" เนื้อหาประณามการกระทำของทหารที่ควบคุมตัวนายสมบัติ บุญงามอนงค์ ขณะปราศรัยต่อต้าน คมช. ที่ จ.เชียงราย โดยมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเห็นว่านายสมบัติชุมนุมโดยสงบและเป็นการใช้สิทธิพลเมืองในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง การจับกุมดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่อาจยอมรับได้ เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพอย่างร้ายแรง และขอเรียกร้องต่อสังคมให้ช่วยกันกดดันให้มีการยกเลิกกฎอัยการศึก เพื่อเปิดโอกาสให้พลเมืองไทยได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่


 


ในท้ายของแถลงการณ์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนยังแจ้งว่าในวันพุธที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 ตั้งแต่เวลา 13.00 น.เป็นต้นไปจะได้จัดให้มีการบรรยายพิเศษ ณ บริเวณหน้าที่ทำการของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) (ห้องโถงชั้นล่าง อาคารศรีจุลทรัพย์)


 


"เนื่องจากเห็นว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐรวมทั้งคณะกรรมการต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากอำนาจรัฐในระบอบรัฐประหารยังขาดความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์เชิงอำนาจในระบอบประชาธิปไตยตลอดจนสิทธิในการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจึงต้องการให้การศึกษาแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง" แถลงการณ์ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนระบุ


 


ทั้งนี้กิจกรรมบรรยายพิเศษดังกล่าวจัดขึ้นโดย เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร, มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน และสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) โดย วิทยากรประกอบด้วย 1) รศ.ดร.อรรถจักร สัตยานุรักษ์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 2) รศ.สมเกียรติ ตั้งนโม อธิการบดี มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน 3) ผศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 4) ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 5) อ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินรายการโดยนายอุเชนทร์ เชียงเสน ผู้ประสานงาน เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร


 


โดย จดหมายเชิญชวนร่วมการเสวนาของเครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร ได้ระบุถึงคำพูดของนางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.), กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน วันที่ 3 ก.ค.50 ได้ออกมาข่มขู่ผู้ที่ออกมารณรงค์โหวตล้มร่างรัฐธรรมนูญว่า


 


"หากร่าง พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ มีผลบังคับใช้ การกระทำดังกล่าวอาจจะผิดกฎหมายได้ โดยในมาตรา 10 ของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวห้ามไม่ให้วิพากษ์วิจารณ์ ในลักษณะทำให้การออกเสียงประชามติเกิดปัญหา อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมายดังกล่าวยังไม่ได้ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หาก พ.ร.บ.ดังกล่าวมีผลบังคับใช้ การโฆษณาต่างๆ จะต้องหยุดลงทันที โดยโทษสูงสุดของการกระทำผิดนั้นรุนแรงถึงขั้นเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง และยุบพรรคการเมืองได้"


 


ซึ่งความเห็นของนางสดศรีข้างต้น แสดงให้เห็นว่าขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องสิทธิพื้นฐานของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย และกระบวนการประชามติ จดหมายของเครือข่าย 19 กันยาระบุ


 






แถลงการณ์เรื่องการคุกคามสิทธิเสรีภาพ


การจับกุมนาย สมบัติ บุญงามอนงค์ ที่จังหวัดเชียงราย ในวันที่ 6 กรกฎาคมศกนี้ ขณะร่วมชุมนุมโดยสงบและใช้สิทธิพลเมืองในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เป็นการกระทำที่ไม่อาจยอมรับได้ แม้ว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐจะเรียกว่าเป็นการ "เชิญตัวไปคุย" และนายสมบัติจะได้รับการปล่อยตัวออกมาแล้วก็ตาม
เพราะการกักกันตัวเช่นนี้ เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพอย่างร้ายแรง อีกทั้งยังเป็นการข่มขู่คุกคาม ทั้งต่อนายสมบัติ บุญงามอนงค์และต่อประชาชนทั่วไป ให้มีความหวาดกลัวในการที่จะแสดงออกซึ่งความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาของบ้านเมืองอย่างบริสุทธิ์ใจ อันเป็นการปิดกั้นโอกาสที่สังคมไทยจะได้เรียนรู้ร่วมกันและผลักดันให้เกิดรัฐธรรมนูญที่ดี ที่จะเอื้อให้การปฏิรูปการเมืองสามารถจะดำเนินไปได้อย่างอย่างกว้างขวางและมีประสิทธิผลในอนาคต

เนื้อหาสาระของคำปราศรัยที่นายสมบัติ งามบุญอนงค์แสดงต่อสาธารณะ อันนำไปสู่การถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐ "เชิญตัวไปคุย" นั้น มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทย เพราะนายสมบัติ งามบุญอนงค์ ได้พยายามชี้ให้เห็นว่ากฎอัยการศึกที่ยังคงมีผลบังคับใช้ในหลายพื้นที่นั้นเป็นอุปสรรคโดยตรงต่อการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งๆ ที่การแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีและกว้างขวางนั้น มีความสำคัญอย่างยิ่งในการที่จะช่วยให้สังคมได้เห็นทั้งข้อดีและข้อด้อยของร่างรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน ก่อนที่จะถึงขั้นตอนของการลงประชามติว่าจะเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือไม่

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจึงขอประณามการกระทำแบบเผด็จการของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำการคุกคามต่อนายสมบัติ งามบุญอนงค์และคุกคามต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนไปพร้อมกันและขอเรียกร้องต่อสังคมให้ช่วยกันกดดันให้มีการยกเลิกกฎอัยการศึก เพื่อเปิดโอกาสให้พลเมืองไทยได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตลอดจนต่อนักการเมืองและต่อนโยบายของพรรคการเมือง
เพื่อให้การเลือกตั้งที่ใกล้จะมีขึ้นนั้นได้ดำเนินไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง


 


อนึ่ง เนื่องจากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนพิจารณาเห็นว่า  เจ้าหน้าที่ของรัฐรวมทั้งคณะกรรมการต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากอำนาจรัฐในระบอบรัฐประหารยังขาดความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์เชิงอำนาจในระบอบประชาธิปไตยตลอดจนสิทธิในการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจึงต้องการให้การศึกษาแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งความคิดเห็นของกรรมการหลายคนที่แสดงออกในสื่อต่างๆ สะท้อนให้เห็นว่า ผู้ที่มีหน้าที่อันสำคัญเกี่ยวกับการเลือกตั้งเหล่านั้นยังขาดความรู้และความเข้าใจในเรื่องการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยอีกมาก ในวันพุธที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 ตั้งแต่เวลา 13.00 น.เป็นต้นไป คณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจึงได้จัดให้มีการบรรยายพิเศษ ณ บริเวณหน้าที่ทำการของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กตต.) และขอเชิญทุกท่านเข้าร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็นร่วมกับมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนโดยเสรี


 


มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน


 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net