Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ภัควดี วีระภาสพงษ์


 


สื่อกระแสหลักของสหรัฐอเมริกาพยายามวาดภาพประธานาธิบดีอูโก ชาเวซเป็นจอมเผด็จการมานานแล้ว แต่ที่ผ่านมาดูเหมือนเป็นการโหมประโคมเกินกว่าเหตุ และยังไม่เคยงัดหลักฐานที่ชัดเจนออกมาได้สักทีว่า ประธานาธิบดีชาเวซมีการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนตรงไหน จนกระทั่งการไม่ต่อสัญญาให้สถานีโทรทัศน์ RCTV ครั้งนี้แหละ เปิดช่องให้สื่อกระแสหลักแองโกล-อเมริกันได้ทีขี่กระแสไล่ทันที ยิ่งประกอบกับการออกมาประท้วงของชาวเวเนซุเอลาจำนวนไม่น้อย รวมทั้งมีนิสิตนักศึกษาที่เป็น "พลังบริสุทธิ์" ตอกย้ำด้วยกลุ่มเอ็นจีโอด้านสิทธิมนุษยชน เช่น Human Rights Watch, Reporters Without Borders, Committee to Protect Journalists ฯลฯ ยิ่งเสมือนการประทับตราครั้งสำคัญถึงความชั่วร้ายของรัฐบาลชาเวซ แม้ว่าบางองค์กรใหญ่ อาทิเช่น รองประธานของคณะกรรมาธิการด้านเสรีภาพแห่งรัฐสภายุโรป จะชี้ขาดในประเด็นนี้อย่างชัดเจนว่า การไม่ต่อสัญญาสัมปทานสถานีโทรทัศน์ครั้งนี้ ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับปัญหาสิทธิมนุษยชนเลยก็ตาม


 


ประเด็นปัญหาของการไม่ต่อสัญญา RCTV
เมื่อแรกที่ข่าว RCTV จะถูกโอนคืนเป็นของรัฐนั้น สื่ออเมริกันและตะวันตกรีบประโคมขึ้นมาทันทีว่า รัฐบาลชาเวซ "ยึด" สถานีโทรทัศน์ของเอกชน ทว่าเมื่อข้อเท็จจริงชัดเจนออกมา สื่อกระแสหลักจึงเสียงอ่อยลงและยอมรับว่า เป็นแค่การ "ไม่ต่อสัญญา" ในแง่ของกฎหมาย การไม่ต่อสัญญาให้ RCTV เป็นการดำเนินการที่ถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ กฎหมายเกี่ยวกับการต่อสัญญาสัมปทานวิทยุโทรทัศน์นี้มีมาตั้งแต่ ค.ศ. 1987 ตั้งแต่สมัยที่อูโก ชาเวซยังไม่มีบทบาททางการเมืองในเวเนซุเอลาด้วยซ้ำ ตามกฎหมายฉบับนี้ ประธานาธิบดีมีอำนาจในการต่อหรือไม่ต่ออายุให้สถานีโทรทัศน์ โดยไม่จำเป็นต้องผ่านความเห็นชอบของสภาหรือคณะรัฐมนตรี


 


บรรดาเอ็นจีโอจำนวนมากวิจารณ์ประเด็นนี้ว่า แม้รัฐบาลชาเวซทำถูกกฎหมายทุกประการ แต่กระบวนการมีข้อบกพร่อง โดยเปรียบเทียบกับในสหรัฐอเมริกาว่า การต่อสัญญาสัมปทานวิทยุโทรทัศน์จะมีหน่วยงานอิสระคอยกำกับดูแล การลงมติต่อหรือไม่ต่อสัญญาต้องผ่านกระบวนการพิจารณาก่อน แต่ข้อน่าสังเกตในกรณีนี้ก็คือ ตลอดเวลา 20 ปีที่ผ่านมาหลังจากบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ เหตุใดสถานีวิทยุโทรทัศน์ในเวเนซุเอลาจึงไม่เคยกระโตกกระตากกับปัญหานี้มาก่อน? ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะที่ผ่านมา สถานีวิทยุโทรทัศน์เอกชนเคยชินกับการมีรัฐบาลเผด็จการหรือทุนนิยมที่เป็นพวกเดียวกับตนมาตลอด ในสมัยก่อนๆ การต่อสัญญาโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการพิจารณาขององค์กรใดๆ จึงเป็นข้อได้เปรียบของทุนสื่อมวลชนในเวเนซุเอลา


 


เรื่องที่รัฐบาลชาเวซจะไม่ต่อสัญญาให้ RCTV ไม่ได้เกิดขึ้นปุบปับ ชาเวซแสดงความตั้งใจในเรื่องนี้มานานแล้ว และหลังจากที่เขาชนะการเลือกตั้งในเดือนธันวาคมศกก่อน ชาเวซก็ประกาศชัดมาตั้งแต่เดือนมกราคมแล้วว่า ช่องสัญญาณของ RCTV คือเป้าหมายที่เขาจะนำมาใช้เป็นสถานีโทรทัศน์สาธารณะ ในกรณีนี้ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของเวเนซุเอลาที่เกิดขึ้นในสมัยของประธานาธิบดีชาเวซเปิดโอกาสไว้ว่า RCTV สามารถขอให้มีการลงประชามติเพื่อยกเลิกกฎหมายการต่อสัญญาสถานีโทรทัศน์ ขั้นตอนแรกคือรวบรวมรายชื่อผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงที่ลงทะเบียนไว้ในสัดส่วน 10% ของจำนวนผู้มีสิทธิ์ทั้งหมดเพื่อขอให้เปิดการลงประชามติ การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่ RCTV อ้างว่า มีถึง 70% ที่ต้องการให้ RCTV แพร่ภาพต่อไป ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง RCTV ก็น่าจะชนะการลงประชามติที่จัดขึ้น แต่ RCTV กลับไม่เลือกวิธีการนี้ หันไปใช้วิธีการฟ้องร้องต่อศาล การประท้วงบนท้องถนนและการเรียกร้องความสนใจจากต่างประเทศแทน


 


ประเด็นต่อมาก็คือ สื่อกระแสหลักของตะวันตกและ RCTV วิจารณ์การไม่ต่อสัญญาครั้งนี้ว่า 1) เหตุผลในการไม่ยอมต่อสัญญาของรัฐบาลไม่ดีพอ และ 2) รัฐบาลเลือกปฏิบัติต่อสถานีโทรทัศน์เอกชนในเวเนซุเอลาอย่างไม่เท่าเทียมกัน


 


ในประเด็นแรก เหตุผลการไม่ยอมต่อสัญญาให้ RCTV ของรัฐบาลชาเวซคือ การที่ RCTV เคยมีส่วนร่วมอย่างชัดเจนในการพยายามทำรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งใน ค.ศ. 2002 มีส่วนร่วมในการปลุกระดมให้ปิดกิจการน้ำมันของรัฐใน ค.ศ. 2002-3 และละเมิดระเบียบข้อบังคับของการแพร่ภาพ


 


หลักฐานที่ RCTV มีส่วนร่วมในการพยายามทำรัฐประหารครั้งนั้นชัดเจนอย่างไม่อาจโต้เถียงได้ หากใครเคยได้ดูสารคดีเรื่อง "The Revolution Will Not Be Televised" จะเห็นว่า RCTV แพร่ภาพตัดต่อที่ทำให้ผู้ชมเข้าใจผิดคิดว่า กลุ่มผู้สนับสนุนประธานาธิบดีชาเวซที่รวมกลุ่มอยู่บนสะพานยิงปืนใส่ฝูงชนเบื้องล่าง ทั้งที่ในความเป็นจริง ข้างล่างไม่มีประชาชนหรือขบวนประท้วงเลย (เพราะขบวนประท้วงของฝ่ายค้านไม่ได้เดินผ่านถนนสายนั้น) และพวกเขากำลังยิงตอบโต้มือปืนที่ยิงใส่พวกเขาจากชั้นบนของตึกฝั่งตรงข้ามต่างหาก ภาพตัดต่อนี้ถูกนำไปใช้เป็นข้ออ้างในการทำรัฐประหาร อันเดรส อีซาร์รา (Andres Izarra) ซึ่งเป็นผู้อำนวยการข่าวของ RCTV ในขณะนั้น ทนไม่ได้กับการบิดเบือนจนถึงกับลาออกจาก RCTV ปัจจุบันเขาเป็นประธานของ Telesur เครือข่ายสื่อสารดาวเทียมนานาชาติ


 


สื่อมวลชนและนักวิชาการอเมริกันมักวิจารณ์ประเด็นนี้ว่า หาก RCTV ทำผิดจริง เหตุใดรัฐบาลไม่นำเรื่องเข้าสู่กระบวนการทางศาล ในรายการวิทยุ Democracy Now ของเอมี กู๊ดแมน อีซาร์ราชี้ให้เห็นว่า บางครั้งกระบวนการทางศาลของเวเนซุเอลาก็ไว้ใจไม่ได้ อาทิเช่น การรัฐประหาร ค.ศ. 2002 เป็นสิ่งที่ยอมรับกันทั้งในประเทศและต่างประเทศ (สหรัฐอเมริกาเองก็ออกมารับรองรัฐบาลรัฐประหารครั้งนั้น) แต่ศาลในเวเนซุเอลากลับตัดสินว่า ไม่มีการรัฐประหารเกิดขึ้น! และคนที่คุมตัวประธานาธิบดีชาเวซไปกักขังไว้ ทำไปด้วยความปรารถนาดี! รัฐบาลชาเวซนับว่าใจกว้างมากแล้วที่ปล่อยให้ RCTV แพร่ภาพต่อมาอีกถึง 5 ปี และรอจนสัญญาหมดอายุลงในปีนี้ หากเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในประเทศประชาธิปไตยอื่นๆ (แน่ล่ะ ยกเว้นประเทศไทย) RCTV คงลอยหน้าลอยตาอยู่แบบนี้ไม่ได้


 


ส่วนประเด็นที่สองในเรื่องของการเลือกปฏิบัตินั้น RCTV อ้างว่า หากตนไม่ได้รับการต่อสัญญาเพราะความผิดในข้อแรก เหตุใดสถานีโทรทัศน์ Venevisión ที่ทำความผิดอย่างเดียวกัน กลับได้รับการต่อสัญญาเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคมที่ผ่านมา RCTV มองว่า สาเหตุที่สถานีของตนถูกเลือกปฏิบัติ ก็เพราะ RCTV วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างหนัก ในขณะที่ Venevisión ลดการวิพากษ์ลงและทำตัวเป็นกลางมากขึ้น


 


ประเด็นนี้มีข้อสังเกตที่น่าขันคือ ข้ออ้างของ RCTV เท่ากับยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า สถานีของตนกระทำความผิดฐานสมรู้ร่วมคิดกับการรัฐประหารจริง เพียงแต่โวยวายว่า ทำไมอีกสถานีหนึ่งที่สมรู้ร่วมคิดเหมือนกัน กลับไม่โดนลงโทษ คำตอบอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลชาเวซก็คือ การไม่ต่ออายุ RCTV ไม่ใช่การลงโทษ แต่การที่สัญญาหมดอายุลง ถือเป็นโอกาสดีที่รัฐบาลจะนำช่องสัญญาณมาทำเป็นสถานีโทรทัศน์สาธารณะ ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ตามรัฐธรรมนูญ รัฐมนตรีกระทรวงโทรคมนาคมอธิบายว่า ไม่ว่าอย่างไร รัฐบาลก็ต้องเลือกสถานีใดสถานีหนึ่งที่สัญญากำลังจะหมดอายุลงอยู่ดี ส่วนสาเหตุที่เลือก RCTV ก็เพราะสัญญาณวีเอชเอฟช่อง 2 ของ RCTV เหมาะกับการเป็นสถานีโทรทัศน์สาธารณะมากกว่า เนื่องจากช่อง 2 มีสัญญาณรับภาพทั่วประเทศดีกว่าช่องสัญญาณของ Venevisión


 


ข้อวิพากษ์ประการสุดท้ายที่สำคัญที่สุดในการไม่ต่อสัญญาให้ RCTV ก็คือ ประเด็นเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การปิดปากกระบอกเสียงอันหนึ่งของฝ่ายค้านในเวเนซุเอลา เป็นการละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหรือไม่? เป็นการควบคุมสื่อมวลชนที่จะนำไปสู่ระบอบเผด็จการในอนาคตหรือไม่? ถึงแม้ว่า RCTV จะทำความผิดหลายประการ แต่การไม่ต่อสัญญาเท่ากับเป็นการกดขี่เสรีภาพของคนส่วนน้อยที่ไม่เห็นด้วยกับเสียงส่วนใหญ่หรือเปล่า?


 


คำตอบกลับไม่ง่ายอย่างที่เรามักคิดกัน คำว่า "เสรีภาพ" หรือคำไหนๆ ในโลก ไม่ใช่สิ่งที่มีความหมายเบ็ดเสร็จในตัวเองโดยไม่ต้องขึ้นอยู่กับบริบทแวดล้อม ก่อนที่จะตัดสินฟันธงว่ารัฐบาลชาเวซเป็นอย่างที่สื่อกระแสหลักในตะวันตกวิจารณ์ เราน่าจะสำรวจดูภูมิทัศน์ของสื่อมวลชนในเวเนซุเอลาดูให้ถ้วนทั่วเสียก่อน


 


ใครเป็นเจ้าของสถานีและเขาฉายอะไรบนจอทีวีเวเนซุเอลา?


แน่นอน อดีตสถานีโทรทัศน์ RCTV เป็นสถานีที่ได้รับความนิยมที่สุดและต่อต้านรัฐบาลชาเวซอย่างขันแข็งที่สุด ในช่วงรัฐประหาร 2002, การปิดกิจการน้ำมัน 2002-3 และการลงประชามติถอดถอนชาเวซใน ค.ศ. 2004 RCTV นำเสนอข่าวและสปอตโฆษณาต่อต้านชาเวซอย่างดุเดือด แต่ในช่วงเวลาอื่น RCTV ให้ความสนใจกับธุรกิจหลักของตัวเองมากกว่า นั่นคือ การดึงดูดโฆษณาด้วยรายการบันเทิง ทั้งจากฮอลลีวู้ดและของเวเนซุเอลาเอง ส่วนใหญ่เป็นเกมส์โชว์และละครน้ำเน่า รายการทางการเมืองจำกัดอยู่แค่รายการข่าวตอนกลางคืนกับรายการทอล์คโชว์ตอนเช้ารายการหนึ่งเท่านั้นเอง


 


เจ้าของ RCTV คือชนชั้นสูงเก่าแก่ของเวเนซุเอลา หนึ่งในตระกูลที่มั่งคั่งที่สุดในประเทศ ตระกูลเฟลปส์นอกจากเป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์แห่งนี้แล้ว ยังเป็นเจ้าของกิจการผลิตสบู่ อาหาร และบริษัทรับเหมาก่อสร้าง เอลิอาโด ลาเรส ประธานบริหารของ RCTV มีสายสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับพรรคการเมืองฝ่ายขวา Acción Democrática ที่เคยผูกขาดเป็นรัฐบาลในสมัยก่อน


 


สถานีโทรทัศน์ช่องต่อมาที่มีคนดูมากเป็นอันดับสองคือ Venevisión เจ้าของคือ กุสตาโว ซิสเนโรส เจ้าพ่อวงการสื่อสารมวลชนชาวเวเนซุเอลาเชื้อสายคิวบา หนึ่งในมหาเศรษฐีติดอันดับของโลก เป็นเจ้าของสื่อถึง 70 แห่ง ใน 39 ประเทศ รวมทั้งเครือข่าย Univisión ที่เป็นสื่อภาษาสเปนในสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ เขายังมีบริษัทจัดจำหน่ายอาหารอีกนับไม่ถ้วน ซิสเนโรสเคยทะเยอทะยานอยากเล่นการเมืองเพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ภรรยาของเขาเป็นลูกสาวคนเล็กของตระกูลเฟลปส์


 


แม้ว่า Venevisión เคยต่อต้านรัฐบาลชาเวซอย่างดุเดือดไม่แพ้ RCTV แต่มันเปลี่ยนท่าทีไปในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2004 ก่อนหน้าการลงประชามติถอดถอนชาเวซจะเริ่มขึ้น ทั้งนี้เกิดจากการไกล่เกลี่ยของอดีตประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ ทำให้ Venevisión กับประธานาธิบดีชาเวซประกาศยุติสงครามสื่อและ "เคารพกระบวนการตามรัฐธรรมนูญ รวมทั้งสนับสนุนการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ระหว่างรัฐบาลเวเนซุเอลากับสื่อมวลชน..." ทว่ามีข่าวลือว่า ซิสเนโรสยอมเปลี่ยนท่าทีให้เป็นกลางต่อรัฐบาลมากขึ้น เพื่อแลกกับการขอให้ชาเวซพาซิสเนโรสเข้าไปรู้จักกับประธานาธิบดีลูลาแห่งบราซิล แน่นอน ชาเวซปฏิเสธข่าวลือเรื่องนี้เสียงแข็ง ในอีกด้านหนึ่ง Venevisión และสื่อมวลชนอื่นๆ ลดการวิพากษ์วิจารณ์ชาเวซลงหรือวางท่าทีเป็นกลางมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะพวกเขากำลังสูญเสียเรตติ้งไป เมื่อพิจารณาจากคะแนนเสียงที่ชาเวซได้รับในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด แสดงว่ามีชาวเวเนซุเอลาถึงครึ่งประเทศที่สนับสนุนชาเวซ การเปลี่ยนท่าทีของสื่อจึงเป็นการหันหัวตามกระแสลมเพื่อรักษาเรตติ้งเอาไว้


 


สถานีโทรทัศน์อันดับต่อมาคือ VTV ซึ่งเป็นสถานีของรัฐบาลมานมนานแล้ว (เปรียบได้กับช่อง 11 ของไทย) รัฐบาลเป็นผู้แต่งตั้งผู้บริหารสถานีและควบคุมรายการต่างๆ รายการส่วนใหญ่เป็นประเด็นทางการเมืองที่สนับสนุนรัฐบาลอย่างชัดเจน


 


สถานีต่อมาคือ Televen นี่เป็นสถานีโทรทัศน์ที่ค่อนข้างใหม่ เพิ่งเริ่มแพร่ภาพเมื่อ ค.ศ. 1988 Televen ค่อนข้างแตกต่างจากสถานีโทรทัศน์เอกชนอื่นๆ ตรงที่วางตัวค่อนข้างเป็นกลางมาตั้งแต่ต้น ในรายการทอล์คโชว์ทางการเมืองของสถานีนี้ จะเชิญตัวแทนทั้งฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้านมาอย่างค่อนข้างสมดุลทีเดียว ความเป็นกลางของสถานีนี้ ส่วนหนึ่งสืบเนื่องมาจากการที่ Televen ไม่มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มผลประโยชน์ที่เป็นธุรกิจเอกชนขนาดใหญ่ในเวเนซุเอลา


 


สถานีโทรทัศน์ขนาดใหญ่แห่งสุดท้ายคือ Globovisión ซึ่งเป็นสถานีข่าว 24 ชั่วโมง เพิ่งก่อตั้งขึ้นมาเมื่อ ค.ศ. 1994 นี่เอง เจ้าของสถานีล้วนเป็นตระกูลธุรกิจที่มั่งคั่งร่ำรวยและเป็นชนชั้นสูง มีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับองค์กรเอกชนฝ่ายค้านชื่อ Súmate ซึ่งมีบทบาทสนับสนุนการรัฐประหาร อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ อย่างเปิดเผย แม้ว่าสัญญาณยูเอชเอฟของ Globovisión ครอบคลุมพื้นที่จำกัดเพียงแค่เมืองใหญ่สามเมืองเท่านั้น แต่มันมีข้อตกลงร่วมกับสถานีโทรทัศน์เอกชนท้องถิ่นอีกหลายแห่ง ทำให้แพร่ภาพถึงผู้ชมได้มากขึ้น ในเชิงการเมืองแล้ว Globovisión มีน้ำหนักความสำคัญมากกว่าจำนวนผู้ชมหรือสัญญาณแพร่ภาพที่จำกัด ทั้งนี้เพราะมันเป็นสถานีข่าวและนำเสนอความคิดเห็นต่อต้านรัฐบาลตลอด 24 ชั่วโมง


 


นอกเหนือจากสถานีโทรทัศน์ขนาดใหญ่เหล่านี้ ที่เหลือเป็นสถานีโทรทัศน์ชุมชน แน่นอน ส่วนใหญ่สนับสนุนรัฐบาลชาเวซ แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด สถานีโทรทัศน์เอกชนท้องถิ่น ส่วนใหญ่ต่อต้านรัฐบาล นอกจากนั้นก็มี Telesur ที่เป็นเครือข่าวสถานีโทรทัศน์นานาชาติ และ ANTV หรือสถานีโทรทัศน์ของสมัชชาแห่งชาติ ถ่ายทอดการประชุมสมาชิกสมัชชา ทั้งหมดนี้มีจำนวนผู้ชมหรือเรตติ้งไม่มากนัก


 


สำรวจภูมิทัศน์ของสื่อมวลชนในเวเนซุเอลา


เพื่อเข้าใจปัญหาเสรีภาพของสื่อมวลชน เราควรสำรวจดูบริบทของคำว่า "เสรีภาพ" นั้นให้ดีเสียก่อน แน่นอน เราไม่มีทางชี้ขาดได้เบ็ดเสร็จว่า ภูมิทัศน์ทั้งหมดเป็นอย่างไรจริงๆ เพราะขึ้นอยู่กับมุมมองของผู้มองด้วย ถ้ามองจากสายตาของฝ่ายค้าน พวกเขาก็กล่าวหาว่า ชาเวซควบคุมสื่อมวลชนส่วนใหญ่ไว้ในมือ ไม่ว่าด้วยการเป็นเจ้าของโดยตรงหรือสนับสนุนทางการเงิน หรือใช้วิธีโดยอ้อมด้วยการใช้กฎหมายสื่อมวลชน แต่ถ้ามองจากสายตาของฝ่ายสนับสนุนชาเวซ พวกเขาก็บอกว่า ฝ่ายค้านนั่นแหละที่ควบคุมสื่อมวลชนถึง 95%


 


ในเมื่อภูมิทัศน์เป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละฝ่าย สิ่งที่เราต้องนำมาพิจารณาเพื่อพยายามหาภาพภูมิทัศน์ที่เป็นกลางที่สุดก็คือ ประการแรก ใครเป็นเจ้าของหรือควบคุมสื่อต่างๆ ประการที่สอง สื่อประเภทไหนบ้างที่เข้าถึงประชาชน ประการที่สาม สุดท้ายแล้วประชาชนรับชมหรือรับฟังสื่อไหนบ้าง


 


ในประการแรก ดังที่เรากล่าวถึงสื่อโทรทัศน์ไปแล้วข้างต้น ประเด็นนี้มักเป็นข้ออ้างที่ฝ่ายสนับสนุนชาเวซมักใช้รองรับข้อกล่าวหาของตน นอกจากสื่อโทรทัศน์ ไม่ว่าสถานีวิทยุและหนังสือพิมพ์ ส่วนใหญ่เป็นของธุรกิจเอกชนเกือบทั้งสิ้น ตัวเลข 95% ไม่ใช่การกล่าวอ้างเกินความจริง และสื่อเอกชนเหล่านี้เกือบทั้งหมดเอียงไปข้างต่อต้านรัฐบาลชาเวซ


 


ประการที่สอง ข้อนี้เป็นข้ออ้างที่ฝ่ายค้านมักหยิบยกมารองรับข้อกล่าวหาของตน พวกเขาให้เหตุผลว่า สถานีโทรทัศน์ที่มีขอบเขตสัญญาณแพร่ภาพมากที่สุดคือ ช่อง 2 (เดิมเป็นของ RCTV ปัจจุบันเป็น TVes ของรัฐบาล) และช่อง 8 (VTV) ส่วนสถานีเอกชนที่เหลือ ไม่ว่า Venevisión, Televen หรือ Globovisión มีขอบเขตสัญญาณแพร่ภาพจำกัดเฉพาะในเขตเมืองที่ประชากรหนาแน่น ถ้ามองในแง่นี้ ทันทีที่รัฐบาลยึด RCTV ไป ย่อมเท่ากับรัฐบาลได้เปรียบฝ่ายค้านอย่างมาก


 


แต่ภาพภูมิทัศน์เปลี่ยนไปทันที เมื่อเราพิจารณาปัจจัยประการที่สามว่า ประชาชนรับชมรับฟังอะไร จากการสำรวจเรตติ้งก่อนที่ RCTV จะไม่ได้รับการต่อสัญญา ภาพออกมาเป็นดังนี้


 














จำนวนผู้ชม


ฝ่ายค้าน 50-55%


เป็นกลางหรือสมดุล 30-40%


เข้าข้างรัฐบาล 20-25%


RCTV 35-40%


Globovisión 10%


สถานีเอกชนท้องถิ่น 5%


Venevisión 20-25%


Televen 10-15%


VTV 15-20%


อื่นๆ (Telesur, สถานีชุมชน) 5%


 


ตอนนี้ RCTV กลายเป็นสถานีโทรทัศน์สาธารณะ TVes รัฐบาลชาเวซให้สัญญาไว้ว่า TVes จะเป็นกลาง กล่าวคืออยู่ในกลุ่มเดียวกับ Venevisión และ Televen นี่ยังต้องรอดูว่ารัฐบาลจะทำอย่างที่สัญญาไว้หรือไม่ หากทำตามที่สัญญาไว้ ฝ่ายค้านจะเสียเปรียบรัฐบาลเพียงแค่ 15:25 หรือ 1:1.7 แต่ถ้ารัฐบาลไม่ทำตามสัญญา ฝ่ายค้านจะเสียเปรียบรัฐบาลเท่ากับที่รัฐบาลเสียเปรียบฝ่ายค้านมาตลอดหลายปีนับแต่ชาเวซก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดี


 


อย่างไรก็ตาม ภูมิทัศน์ของสื่อโทรทัศน์อาจเปลี่ยนไปได้อีก ประการแรก ผู้ชมที่เคยดู RCTV อาจย้ายไปดู Globovisión มากขึ้น ทำให้สัดส่วนของผู้ชมโทรทัศน์แต่ละช่องเปลี่ยนไป ประการที่สอง Venevisión อาจเอียงกลับไปต่อต้านรัฐบาลมากขึ้น เพื่อเรียกเรตติ้งจากผู้ชมฝ่ายค้านที่เคยเป็นแฟนประจำของ RCTV และประการสุดท้าย ผู้ชม RCTV เดิมยังสามารถรับชม RCTV ได้ต่อไปทางเคเบิลทีวี, จานดาวเทียมและอินเทอร์เน็ต ตัวเลขผู้ชมเคเบิลทีวีนั้นไม่สามารถรู้ได้แน่ชัด เนื่องจากมีผู้ลักลอบดักสัญญาณเคเบิลทีวีมาดูโดยไม่จ่ายเงินเป็นจำนวนไม่น้อย ดังนั้น สุดท้ายแล้วความได้เปรียบเสียเปรียบของรัฐบาลกับฝ่ายต่อต้านในด้านสื่อโทรทัศน์อาจสมดุลกันพอดีที่ 1:1 ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่หาได้ยากแม้แต่ในประเทศประชาธิปไตยตะวันตก


 


เมื่อหันมาดูสื่อมวลชนสิ่งพิมพ์และวิทยุ ต้องถือว่าฝ่ายค้านได้เปรียบรัฐบาลไม่น้อย ฝ่ายที่สนับสนุนชาเวซมักบอกว่า หนังสือพิมพ์ที่ใหญ่ที่สุดในเวเนซุเอลาคือ Últimas Noticias เป็นฝ่ายชาวิซตาหรือฝ่ายรัฐบาล แต่หากอ่านดูดีๆ ทั้งในเชิงเนื้อหาและคอลัมนิสต์ทั้งหลาย หนังสือพิมพ์ฉบับนี้จัดว่ามีความเป็นกลางและสมดุลมากที่สุดฉบับหนึ่ง เนื้อหามีทั้งชมและวิจารณ์รัฐบาลอย่างค่อนข้างเท่าเทียมกัน ส่วนหนังสือพิมพ์อันดับสองกับสาม (El Universal และ El Nacional) รวมทั้งหนังสือพิมพ์รายเล็กๆ ส่วนใหญ่ ปักหลักอยู่ในค่ายฝ่ายต่อต้านรัฐบาลอย่างมั่นคง แต่ที่รัฐบาลเสียเปรียบที่สุดน่าจะเป็นสื่อวิทยุ สถานีวิทยุที่เข้าข้างรัฐบาลและสถานีวิทยุชุมชน (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวิซตา แต่ไม่เสมอไป) มีสัดส่วนในการเข้าถึงประชาชนน้อยกว่าสถานีวิทยุเอกชนที่เป็นฝ่ายต่อต้านมาก


 


ดังนั้น เมื่อพิจารณาเสรีภาพของการแสดงความคิดเห็นภายในบริบทของสื่อมวลชนในเวเนซุเอลา การไม่ต่อสัญญาให้สถานีโทรทัศน์ RCTV ไม่ได้ทำให้การแสดงความคิดเห็นในประเทศนี้ลดความหลากหลายลงสักเท่าไร


 


สิทธิของคนกลุ่มน้อย


ส่วนในแง่ของสิทธิของ RCTV ในการแพร่ภาพนั้น ดังที่กล่าวไปแล้วว่า ในทางกฎหมาย รัฐบาลชาเวซไม่ได้ละเมิดสิทธิของ RCTV แต่อย่างใด แม้ว่ากระบวนการพิจารณาต่อหรือไม่ต่อสัญญาให้สถานีโทรทัศน์ของเวเนซุเอลาอาจบกพร่อง แต่ในประเทศอื่นๆ ก็มีข้อบกพร่องไม่แตกต่างกัน อาทิเช่น กรณีของสถานีโทรทัศน์ Thames Television ในประเทศอังกฤษ ซึ่งไม่ได้รับการต่อใบอนุญาตในสมัยนายกรัฐมนตรีแธทเชอร์เมื่อ ค.ศ. 1992 ด้วยข้ออ้างที่ตั้งอยู่บนการประเมินเชิงอัตวิสัยพอสมควรว่า สถานีโทรทัศน์แห่งนี้ไม่ผ่านมาตรฐาน "คุณภาพการบริการ" ทั้งๆ ที่สถานีก็มีอายุถึง 24 ปี มีการวิพากษ์วิจารณ์ในสมัยนั้นเหมือนกันว่า รัฐบาลแธทเชอร์ใช้อิทธิพลกดดันให้ผลลัพธ์ออกมาเป็นเช่นนั้น แต่อังกฤษก็ไม่ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติเหมือนดังที่เวเนซุเอลาโดนกระหน่ำอยู่ในปัจจุบัน หากรัฐบาลแธทเชอร์ยืนยันว่าการดำเนินการของรัฐบาลในเรื่องนี้เป็น "อธิปไตยของชาติ" ฉันใด รัฐบาลชาเวซก็อ้างได้เฉกเช่นกัน


 


แต่หากเราไม่ยกกฎหมายภายในประเทศเป็นข้อตั้ง ทว่ายกเอาสิทธิในการแสดงความคิดเห็นของคนกลุ่มน้อย เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องละเอียดอ่อน โดยทั่วไป เรามักยอมรับกันโดยไม่โต้เถียงว่า การปิดปากเสียงของฝ่ายค้านเป็นการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่ในกรณีของ RCTV การไม่ต่อสัญญาสถานีโทรทัศน์ไม่ใช่การปิดปาก เพราะ RCTV สามารถแพร่ภาพทางเคเบิลและดาวเทียมโดยไม่มีข้อจำกัด กล่าวโดยเปรียบเทียบให้เห็นชัดก็คือ หากเปรียบคลื่นความถี่เป็นเสมือนโทรโข่งที่ใช้แสดงความคิดเห็น สัญญาณโทรทัศน์ช่อง 2 ที่ RCTV เคยใช้อยู่นั้นก็เป็นโทรโข่งที่ RCTV ยืมมา หาใช่กรรมสิทธิ์ในครอบครองไม่ แล้วใครเป็นเจ้าของคลื่นความถี่ตัวจริง? คำตอบก็คือ ประชาชน RCTV ยืมคลื่นความถี่นี้ไปครอบครองนานถึงกว่าครึ่งศตวรรษแล้ว และตอนแรกที่ได้ไปครอบครองก็อยู่ในช่วงรัฐบาลเผด็จการทหาร การที่รัฐบาลที่ได้รับเลือกตั้งมาตามระบอบประชาธิปไตยจะขอเอาคลื่นความถี่คืนเพื่อไปจัดสรรใหม่ ควรถือเป็นการละเมิดสิทธิของคนกลุ่มน้อยหรือไม่? นี่เป็นประเด็นที่ต้องถกเถียงกันถึงปัญหาความชอบธรรม


 


ปัญหาสิทธิของคนกลุ่มน้อยหรือเสียงข้างน้อยเป็นประเด็นที่เราน่าจะถกเถียงกันให้มาก เพราะเราทุกคนมีโอกาสเป็นหนึ่งในเสียงข้างน้อยได้เสมอ หรืออาจกำลังเป็นอยู่แล้วด้วยซ้ำ ฝ่าย RCTV มองว่า ตนเป็นคนกลุ่มน้อยที่กำลังถูกกลั่นแกล้ง ในขณะที่ฝ่ายชาวิซตาเห็นว่า RCTV เป็นคนกลุ่มน้อยมั่งคั่งที่มีอภิสิทธิ์มายาวนาน การวิจารณ์ยังลามไปถึงเนื้อหาในรายการของ RCTV ว่า เต็มไปด้วยอคติทางด้านเชื้อชาติ หากเปิดโทรทัศน์ดูรายการของ RCTV ผู้ชมที่ไม่ใช่ชาวเวเนซุเอลาคงเข้าใจว่า ทั้งประเทศเวเนซุเอลามีแต่หนุ่มสาวผิวขาวผมบลอนด์ แม้กระทั่งทีมงานเบื้องหลังในสถานีโทรทัศน์แห่งนี้ก็เป็นคนผิวขาวทั้งหมด ทั้งๆ ที่คนส่วนใหญ่ในประเทศเป็นคนผิวดำและคนพื้นเมือง


 


ปัญหาทางด้านเชื้อชาตินี้ส่งผลกระทบที่กินวงกว้างมากกว่าแค่สถานีโทรทัศน์ บรรดานักศึกษาหนุ่มสาวที่ออกมาประท้วงทวงคืน RCTV นั้น ไม่ใช่เพียงเพราะพวกเขาคิดถึงละครน้ำเน่าที่ต่อไปต้องไปหาดูทางเคเบิลทีวีแทน แต่ยังมีประเด็นอื่นๆ อีกที่พวกเขาไม่พอใจรัฐบาลชาเวซ ไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้านั้น ชาเวซเพิ่งประกาศว่าจะปฏิรูปมหาวิทยาลัย เขาต้องการให้มหาวิทยาลัยเปิดรับนักศึกษาให้หลากหลายมากขึ้นและปรับปรุงหลักสูตรเสียใหม่ สำหรับนักศึกษาผิวขาวในมหาวิทยาลัยเอกชนที่รับเฉพาะลูกหลานของคนร่ำรวย นี่เป็นเรื่องที่พวกเขาทนไม่ได้แน่นอน


 


"ดูด้วยตาตัวเอง"


สถานีโทรทัศน์สาธารณะที่มาแทน RCTV มีชื่อว่า TVes ออกเสียง เต-เวส ทำให้มีความหมายว่า "ดูด้วยตาตัวเอง" แม้รัฐบาลชาเวซสัญญาว่า มันจะมีอิสระจากรัฐบาล แต่ตราบที่รัฐบาลยังเป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารสถานี รวมทั้งเป็นผู้ให้เงินทุนหลักแก่สถานีแล้ว สถานีโทรทัศน์แห่งนี้ก็ไม่มีทางเป็นอิสระจากรัฐบาลได้อย่างแท้จริง


 


กระนั้นก็ตาม มีคนกลุ่มหนึ่งยินดีมากที่ได้เห็น TVes ถือกำเนิดขึ้น คนกลุ่มนั้นก็คือ กลุ่มผู้ผลิตรายการอิสระ


 


กฎหมายว่าด้วยความรับผิดชอบทางสังคมในโทรทัศน์และวิทยุของเวเนซุเอลา ซึ่งเป็นกฎหมายที่ออกมาในยุคประธานาธิบดีชาเวซและถูกฝ่ายค้านโจมตีอย่างมาก กฎหมายนี้กำหนดเอาไว้ว่า สถานีโทรทัศน์ทุกช่องจะต้องจัดสรรเวลาวันละ 5 ชั่วโมงในระหว่างตีห้าถึงห้าทุ่ม ให้แก่รายการที่ผลิตโดยผู้ผลิตรายการอิสระ โดยห้ามมิให้ผู้ผลิตรายใดได้เวลาเกินกว่า 20% ของเวลาที่จัดสรรให้ มีผู้ผลิตรายการอิสระหลายพันรายมาลงทะเบียนเพื่อขอมีส่วนร่วมตามข้อกำหนดนี้แล้ว แต่การมี TVes หมายความว่า โอกาสที่รายการของผู้ผลิตอิสระจะได้ออกอากาศย่อมมีมากขึ้นกว่าเดิมและเข้าถึงผู้ชมได้มากขึ้น เพราะเป็นไปได้อย่างยิ่งที่สถานีโทรทัศน์ใหม่จะถ่ายทอดรายการของผู้ผลิตอิสระเกือบทั้งหมด


 


รัฐบาลชาเวซส่งเสริมให้ประชาชนหันมาเป็นผู้ผลิตรายการทีวี ถึงกับสร้างคำขวัญว่า "อย่ามัวแต่ดูทีวี มาทำรายการเองดีกว่า" ชั้นเรียนสอนการสร้างภาพยนตร์ผุดขึ้นทั่วประเทศ ในรายการของผู้ผลิตอิสระเหล่านี้ ผู้ชมจะได้เห็นชาวเวเนซุเอลาตัวอ้วน ผิวดำ แก่และน่าเกลียด ได้เห็นชนชั้นกึ่งแรงงานและชาวนาไร้ที่ดิน ทุกรายการมีช่องแสดงภาษามือสำหรับคนหูหนวก ลิล โรดริเกซ ผู้อำนวยการสถานีเตเวสกล่าวว่า TVes จะเป็นพื้นที่ในการกอบกู้คุณค่าที่สถานีโทรทัศน์เอกชนละเลยมานาน โดยเฉพาะมรดกทางวัฒนธรรมของคนผิวดำ


 


สมรภูมิใหม่เพิ่งเริ่มต้น


วันที่ 2 มิถุนายนที่ผ่านมา ในการระดมพลภายใต้คำขวัญว่า "เพื่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและต่อต้านจักรวรรดินิยม" ชาวเวเนซุเอลาหลายแสนคนออกมาแสดงพลังข่มขวัญฝ่ายที่ประท้วงการไม่ต่อสัญญา RCTV ในการชุมนุมครั้งนี้ อูโก ชาเวซประกาศเปิดฉากสมรภูมิใหม่ เขาบอกว่า ชัยชนะที่เขาได้รับจากการเลือกตั้งในเดือนธันวาคมไม่ใช่ "หมุดหมายของการบรรลุถึง แต่เป็นหมุดหมายของการเริ่มต้น" เพื่อมุ่งสู่การปฏิวัติ


 


ชาเวซไม่พลาดที่จะหยิบยกนักคิดระดับโลกสักคนขึ้นมาประกอบคำปราศรัย ครั้งนี้คนที่เขาเลือกมาคือ อันโตนิโอ กรัมชี เขาอธิบายแนวคิดเกี่ยวกับ "กลุ่มพลังทางประวัติศาสตร์" ของกรัมชี ซึ่งหมายถึงการที่ชนชั้นใดชนชั้นหนึ่งสามารถครองความเป็นใหญ่และแสดงอำนาจนำออกมาทั้งในเชิงโครงสร้างสังคมและอุดมการณ์ ในความคิดของกรัมชีนั้น โครงสร้างส่วนบนของกลุ่มพลังทางประวัติศาสตร์ที่ครองความเป็นใหญ่มีสองระดับด้วยกันคือ สังคมการเมืองหรือ "สถาบันของรัฐ" และภาคประชาสังคม ประกอบด้วยสถาบันทางเศรษฐกิจและเอกชน โดยเฉพาะโบสถ์, สื่อมวลชนและระบบการศึกษา ซึ่งชนชั้นปกครองใช้ "เพื่อเผยแพร่อุดมการณ์ครอบงำสังคมและชนชั้นสามัญชน"


 


หลังจากเปิดสมรภูมิรบทางการเมืองและเศรษฐกิจอย่างหนักหน่วงมาแล้ว ตอนนี้อูโก ชาเวซเริ่มเปิดสมรภูมิใหม่ทางด้านสื่อมวลชนและการศึกษา สงครามครั้งนี้เพิ่งเริ่มต้นและคงไม่จบง่ายๆ


 


...........................


ข้อมูลประกอบการเขียน


Federico Fuentes, "Venezuela: US fears spread of Chavez example," Green Left Weekly, June 11, 2007.


 


Amy Goodman, Andres Izarra and Francisco Rodriguez, "Chavez Shuts Down Venezuelan TV Station as Supporters, Opponents Rally: A Debate on the Closing of RCTV," http://www.democracynow.org/article.pl?sid=07/05/31/1412206, May 31, 2007.


 


Richard Gott, "Venezuela clashes also about race and class," , The Guardian (UK) ,June 10, 2007.


 


Patrick McElwee, "Is Free Speech Really at Stake? Venezuela and RCTV, ZNet, May 25, 2007.


 


Gregory Wilpert, "RCTV and Freedom of Speech in Venezuela," Venezuelanalysis.com, June 04, 2007. (เนื้อหาของบทความนี้ส่วนใหญ่นำมาจากบทความของ Wilpert)


 


สารคดี "The Revolution Will Not Be Televised"


 


 


................................................


อ่านรายงานก่อนหน้า


ภัควดี รายงาน : ทางแพร่งของอูโก ชาเวซ (ตอนที่ 1)


ภัควดี รายงาน : ทางแพร่งของประชาชนเวเนซุเอลา (ตอน2)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net