Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ซาเสียวเอี้ย


 


คงไม่มีหนังเรื่องไหนที่เดาเนื้อหาได้ง่ายดายมากไปกว่านี้อีกแล้ว...


 


Dying for Drugs คือหนังสารคดีที่ตามไปดูรายละเอียดชีวิต "บุคคลไม่สำคัญ" ของโลกใบนี้ และเล่าเรื่องตามลำดับเหมือนนับเลข 1,2,3,4,... ไปเรื่อยๆ


 


ไม่มีสเปเชียลเอฟเฟกต์ ไม่มีเพลงประกอบซึ้งๆ กินใจ แต่ "ความจริง" อาจทำให้หลายคนจุกเสียดจนถึงขั้นน้ำตาไหลออกมาเองโดยไม่รู้ตัว...


 


Dying for Drugs ถูกนำออกฉายครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2546 ทางช่อง 4 สถานีโทรทัศน์ BBC ในประเทศอังกฤษ และหลังจากนั้นไม่กี่วัน ผู้คนจำนวนมากก็เข้าไปแสดงความคิดเห็นต่อเนื้อหาของสารคดีเรื่องดังกล่าวอย่างคับคั่งในเวบไซต์ของบีบีซี


 


สิ่งที่ทำให้สารคดีต้นทุนต่ำซึ่งจัดทำโดยบริษัท True Vision TV กลายเป็นประเด็นร้อนแรง มีสาเหตุเพียงหนึ่งเดียวคือ "ข้อมูล" ที่หนังเรื่องนี้นำเสนอนั้น "เปิดโปง" กระบวนการทำงานและการสร้างอำนาจต่อรองในตลาดของธุรกิจยาข้ามชาติที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตคนมากมาย...


 



 


ชะตากรรมของเด็กชาย "อันนัส" ผู้อยู่ในเมืองคาโน ตอนเหนือของประเทศไนจีเรีย คือความซวยซ้ำซาก เพราะนอกจากเขาจะเกิดมาในครอบครัวยากจน อาศัยอยู่ในละแวกที่ข้นแค้น เขายังเป็นพลเมืองของประเทศ "โลกที่สาม" ที่ไม่มีอันจะกิน (หรือมีไม่พอกิน) อีกต่างหาก


 


เมื่อเด็กยากจนอย่างอันนัสป่วยด้วยโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หนทางเดียวที่ (น่าจะ) ทำให้เขาหายป่วยได้เร็วที่สุดก็คือการส่งตัวเข้ารับการรักษา-ในโครงการศึกษาวิจัยยารักษาโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบของ "แพทย์ผิวขาว-ชาวตะวันตก" ซึ่งเข้ามาให้ความช่วยเหลือผ่านทางองค์กรการแพทย์ระหว่างประเทศ


 


โครงการวิจัยยาที่ว่าเป็นผลิตผลจากบริษัทยาที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของโลกอย่าง "ไฟเซอร์" (Pfizer) และยาดังกล่าวก็มีชื่อเรียกว่า Trovan นั่นคือสิ่งที่หมอใช้รักษาอาการของอันนัส ทั้งที่มันยังไม่ได้วางจำหน่ายในท้องตลาด และยังไม่ผ่านการรับประกันคุณภาพว่าจะมีผลข้างเคียงใดๆ หรือไม่ด้วยซ้ำ...


 


จนกระทั่งต่อมา นายแพทย์หลายรายออกมายืนยันว่ายา Trovan ส่งผลให้กระดูกข้อต่อของคนไข้ที่ใช้ยาตัวนี้เสื่อมสภาพและมีปัญหาได้ง่าย


 


คงไม่เกินความจริงไปนักถ้าจะบอกว่า ชีวิตของอันนัสถูกใช้เป็น "หนูทดลองยา" ให้กับบริษัทไฟเซอร์ และหลังจากนั้น จำนวนคนตายจากโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบในไนจีเรียก็ยังมีสูงถึง 15,000 คน โดยในจำนวนผู้เสียชีวิตเหล่านั้น มีผู้เข้ารับการรักษาในโครงการศึกษาวิจัยของไฟเซอร์รวมอยู่ด้วยไม่น้อยเลย


 


ข้อแก้ตัวที่ไฟเซอร์ใช้ ในกรณีที่มีคนประณามว่าพวกเขาไม่เปิดโอกาสให้ผู้ปกครองของเด็กที่เข้าร่วมกับโครงการศึกษาวิจัยยา Trovan ได้รับรู้ถึงความเสี่ยงที่อาจได้รับ คือเหตุผลง่ายๆ ว่า "ที่ไม่แจ้งให้ทราบ เพราะคนส่วนใหญ่ไม่ถาม!"


 


ทุกวันนี้ อันนัส เด็กชายวัยสิบกว่าขวบ ไม่อาจออกไปเตะฟุตบอลหรือวิ่งเล่นกับเพื่อนๆ ได้เหมือนที่ใจเขาอยากทำ เพราะตัวยาที่เขาเคยได้รับเมื่อตอนเป็นโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ กำลังออกฤทธิ์ย้อนหลังให้เขากลายเป็น "คนป่วยเรื้อรัง" ที่ไม่สามารถมีชีวิตปกติได้...


 


ยา Trovan จึงถูกสั่งห้ามขาย หลังจากพบว่ามันมีผลข้างเคียงที่เป็นลบต่อสุขภาพ...


 


แต่ที่รู้ๆ คือไฟเซอร์คงประหยัดงบประมาณในการทดลองผลข้างเคียงของยาไปได้มากโข


 



 


นอกจากการมุบมิบทดลองยาในประเทศด้อยพัฒนาแล้ว บริษัทยาบางแห่งยังสนุกกับการขับไล่และบีบให้นักวิจัยที่พยายามเปิดเผยจุดบกพร่องของตัวยาที่ทดลองต่อสาธารณะ ลาออกจากองค์กรไปซะ


 


เหมือนอย่างที่ ดร.แนนซี่ โอลิเวียรี่ (Nancy Oliviery) ถูกกดดันให้ออกจากงานที่เธอเคยดำรงตำแหน่งนักวิจัยในสถาบันค้นคว้าวิจัยยาบรรเทาอาการโรคลูคีเมีย เนื่องจากเธอทำรายงานส่งไปยังบริษัทยา Apotex โดยระบุว่ายา L1 ที่กำลังศึกษาอยู่นั้น อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการแทรกซ้อนได้...


 


แต่ดูเหมือน Apotex ที่ให้เงินสนับสนุนการวิจัยจะไม่พอใจรายงานดังกล่าว เมื่อ ดร.โอลิเวียรี พยายามจะชูประเด็นนี้ขึ้นมาแถลงต่อสาธารณชน เธอจึงได้รับจดหมายขู่และการคุกคาม ทั้งจากเพื่อนร่วมงานและผู้บริหารระดับสูงของบริษัทยา เพียงเพราะว่า ถ้าหากรายงานฉบับนี้ถูกเผยแพร่ออกไป อาจส่งผลให้ยาที่ทำวิจัยไม่สามารถนำออกไปวางจำหน่ายได้...


 


หากเรื่องเป็นเช่นนี้ ใครกันจะกล้าออกมาคัดง้างความไม่ชอบมาพากลของบริษัทยาข้ามชาติที่มีลูกล่อลูกชนแพรวพราวได้?




 


ความป่วยไข้และการปิดบังข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลข้างเคียงของยา เป็นเพียงประเด็นหนึ่งที่ทำให้เกิดข้อกังขาเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจเหล่านี้ หากสิ่งที่ทำให้ขนลุกมากกว่าก็คือข้อเท็จจริงที่ว่า บุคคลบางกลุ่ม เด็ดยอดของการค้นคว้าวิจัยยาไปเป็นกรรมสิทธิ์โดยอาศัยความสนับสนุนของกฏหมายสิทธิบัตร ซึ่งเปิดช่องให้ "ผู้ออกทุนในการค้นคว้าวิจัย" (ที่เคยอ้างว่าเป็นการบริจาคเพื่อการกุศล แต่นำ "ใบเสร็จ" ไปลดเงินภาษีที่ต้องจ่ายได้อีกต่อหนึ่ง) ใช้สิทธิ์เหล่านั้นในการครอบครอง-ผูกขาด และตั้งราคายาแพงๆ โดยที่ผู้ใช้ยาไม่มีทางต่อรองได้เลย


 


ยาจำนวนมากที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของคนไข้ที่ติดเชื้อ HIV ถูกจดสิทธิบัตรในนามของบริษัท "โนวาร์ติส" ตามข้อตกลงของ WTO ทำให้บริษัทยายักษ์ใหญ่มีเวลาถึง 20 ปีที่จะกอบโกยโดยปราศจากคู่แข่งที่จะผลิตยาหรือพัฒนายาเจเนอริกออกมากระจายส่วนแบ่งของตลาด


 


ทั้งหมดทั้งมวลที่ว่ามานั้น ใครกันที่ตกที่นั่งลำบากที่สุด ถ้าไม่ใช่ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้ยา?


 


ที่ร้ายกว่านั้นก็คือว่า ผู้ป่วยจำนวนมากที่อยู่ในประเทศด้อยพัฒนา ไม่เว้นแม้กระทั่งประเทศกำลังพัฒนาอย่างเกาหลีใต้ ประชาชนบางส่วนของเขาก็ยังถูกใช้เป็นหนูทดลองยาและขูดรีดให้ซื้อยาแพงๆ เมื่อการทดลองสำเร็จเสร็จสิ้น


 



 


ชาวเกาหลีใต้ประท้วงบริษัทยา "โนวาร์ติส" ที่ตั้งราคายาที่ไม่เป็นธรรมกับผู้ป่วยโรคลูคีเมีย ซึ่งก่อนหน้าที่บริษัทจะตั้งราคาแพงๆ พวกเขาได้ใช้ผู้ป่วยจำนวนมากเป็นหนูทดลองประสิทธิภาพของยามาแล้ว


 


แน่นอนว่าการรับรู้เรื่องราวเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องบันเทิงอารมณ์ สารคดีเรื่อง Dying for Drugs จึงต้องอาศัยความอดทนอย่างมากจากคนดู เพื่อที่จะติดตามไปให้ถึงรายละเอียดทุกขั้นทุกตอนของเพื่อนร่วมโลกที่กำลังป่วยไข้ คนดูแทบทุกคนล้วนเดาได้ว่าชะตากรรมของผู้ป่วยส่วนใหญ่หนีไม่พ้นการตกเป็นเหยื่อของธุรกิจยาข้ามชาติ...


 


แต่ท่ามกลางความซับซ้อนและเงื่อนไขมากมายที่นายทุนของบริษัทยาพยายามยกมาลิดรอนสิทธิในการเข้าถึงยา ยังมีเรื่องดีๆ ที่เกิดขึ้นตามมา นั่นก็คือการลุกขึ้นต่อสู้และรวมตัวของผู้ป่วย ครอบครัว รวมทั้งมิตรสหาย และนักเคลื่อนไหวที่เห็นว่าเรื่องเช่นนี้เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้อย่างยิ่ง...


 


แม้โลกจะโหดร้ายที่ส่งโรคภัยไข้เจ็บใหม่ๆ มาตบหัวมนุษย์ให้พึงสังวรณ์ในความกระจ้อยร่อยของตัวเอง และมนุษย์ด้วยกันเองก็พยายามซ้ำเติมความโหดเหี้ยมด้วยการคำนึงถึงวัตถุหรือรายได้ก่อนที่จะใส่ใจกับชีวิตของคนอื่น และแม้เรื่องราวของ Dying for Drugs จะทำให้เราต้องถอนหายใจอย่างหนักหน่วง


 


อย่างน้อยที้สุด ความไม่ยอมแพ้ของผู้คนที่ต่อสู้ อาจทำให้การมองภาพที่เป็นอยู่มีความหวังมากขึ้น


 


เพราะหนังเรื่องนี้ยังไม่จบบริบูรณ์ (อย่างน้อยก็ในชีวิตจริงของใครหลายคน)


 


 


………………………………………………………………….


 


 


หมายเหตุ: สารคดี Dying for Drugs จะฉายให้ดูกันในงาน "เทศกาลหนังขายยา" วันเสาร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ.2550 เวลา 13.00 น. - 16.00 น.ณ ห้องประชุม 702 คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net