Skip to main content
sharethis

ตอนที่ 3 การสะสางคดีสังหารพระสุพจน์ "วนพายเรือในอ่าง"?
พงษ์พันธุ์ ชุ่มใจ รายงาน



เจ้าหน้าที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ วางเครื่องหมายบริเวณจุดที่ค้นพบหลักฐานในที่เกิดเหตุ ระหว่างการเข้าไปค้นหาหลักฐานที่มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ร่วมกับดีเอสไอ เมื่อ 7 ธันวาคม 2549 ที่ผ่านมา


1.


คืนวันที่ 17 มิถุนายน 2548 มีกลุ่มคนจำนวนมากเข้ามาทำร้ายพระสุพจน์ สุวจโน จนถึงแก่มรณภาพ


18 มิถุนายน 2548 มีผู้พบพระสุพจน์ สุวโจ เสียชีวิตบริเวณพงหญ้าริมทางเดินเล็กๆ ในเขตสถานปฏิบัติธรรม สวนเมตตาธรรม ในเบื้องต้นพบว่าพระสุพจน์ สุวโจ ถูกทำร้ายกระทั่งถึงแก่มรณภาพด้วยของมีคมไม่ทราบชนิด อย่างเหี้ยมโหด แต่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถค้นหาอาวุธ หลักฐาน หรือวัตถุพยานใดๆ ระดับบ่งชี้บุคคล ได้ในที่เกิดเหตุ ทั้งไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ทำร้าย เพราะไม่มีประจักษ์พยาน ตลอดจนไม่สามารถประมวลข้อมูลที่มี-ที่ทราบ เพื่อนำไปสู่การค้นหาตัวผู้ต้องสงสัยใดๆ ได้แม้แต่คนเดียว


ความตายของพระสุพจน์ สุวโจ ยังคงทำให้ถูกเป็นปริศนา


ในช่วงแรกของการเสียชีวิต พ.ต.ท.สมชาย อินทวงศ์ สวส.สส.สภ.อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า จากการตรวจสอบบริเวณพยานแวดล้อม พบว่าห่างจากศพประมาณ 10 เมตร มีร่องรอยของการตัดไม้ไผ่ที่ถูกตัดกองไว้อยู่สองลำ สันนิษฐานว่าการมรณภาพของพระรูปดังกล่าวน่าจะเกิดจากการเข้าไปห้ามปราม หรือต่อว่าชาวบ้านที่เข้ามาตัดไม้ หรืออีกกรณีอาจเป็นไปได้ว่ามีการว่าจ้างคนงานให้ไปตัดไม้แล้วมีปัญหาเรื่องค่าจ้าง อาจเป็นเหตุให้ชาวบ้านไม่พอใจและลงมือสังหารได้


แต่พระกิตติศักดิ์ กิตติโสภโณ ประธานกลุ่มเสขิยธรรมระบุว่า การมรณภาพไม่น่าจะใช่ตามที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสันนิษฐานว่าเป็นฝีมือของชาวบ้านที่เข้าไปตัดไม้ไผ่ หาหน่อไม้ เพราะสถานปฏิบัติธรรมสวนเมตตาธรรมอนุญาตให้ชาวบ้านเก็บหน่อไม้หากินอยู่กับป่าได้ อีกทั้งพระสุพจน์เป็นพระที่เคร่งครัดจริยวัตรปฏิบัติ จนเป็นที่เคารพของชาวบ้านในละแวกนั้นเป็นอย่างมาก และทั้งที่เกิดเหตุยังห่างจากกุฏิเพียง 300 เมตร และผ้าสบงยังแช่น้ำเตรียมซักอยู่ จึงเชื่อว่าจะถูกหลอกให้ออกไป โดยคนร้ายอ้างว่ามีเหตุสำคัญให้ออกไปดูก่อนลงมือสังหารพระสุพจน์


ทำให้พระสุพจน์รีบออกไปโดยไม่ได้ปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ที่กำลังใช้งานอยู่ และจากบาดแผลน่าจะเป็นการฟันซ้ำให้ตาย อีกทั้งสุนัขที่พระสุพจน์เลี้ยงไว้ก็ถูกฟันที่สะโพกเช่นกัน


พระกิตติศักดิ์กล่าวว่าการมรณภาพน่าจะเกิดจากผู้มีอิทธิพลในท้องที่ และเชื่อมโยงกับนักการเมืองระดับชาติ เพราะก่อนหน้านี้มีกลุ่มผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ซึ่งทราบว่าเป็นน้องของ ส.ส.พรรคไทยรักไทย รวมทั้งเจ้าที่รัฐบางคน เข้ามาข่มขู่เพื่อหวังจะฮุบเอาที่ดินไปใช้ประโยชน์ตัวเอง โดยอ้างว่าพื้นที่สถานปฏิบัติธรรมมีเอกสารสิทธิไม่ถูกต้อง ทั้งที่ความจริงนั้นมีเอกสารสิทธิถูกต้อง โดยได้รับบริจาคจากชาวบ้านที่ค่อนข้างมีฐานะมอบให้ใช้ปฏิบัติธรรม ต่อมาทางมูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ได้ดำเนินการแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยมีพระสุพจน์เป็นพยานสำคัญ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามที่จะบ่ายเบี่ยงไม่รับแจ้งความ จนต้องทำเรื่องไปถึงรัฐบาล ตำรวจถึงจะยอมรับแจ้งความ และล่าสุดอัยการแจ้งมาว่าเรื่องจะขึ้นสู่ศาลในวันที่ 30 มิถุนายน 2548


 







มรณกรรมของ "พระสุพจน์" กับความสิ้นหวังของสังคมไทย...


พระกิตติศักดิ์ กิตติโสภโณ
หนังสือพิมพ์ประชาไท, วันที่ 9 สิงหาคม 2548


๑.


พระสุพจน์ สุวโจ ถูกพบว่าเสียชีวิตเมื่อเวลาประมาณ ๐๙.๓๐ น. ของวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๔๘ บริเวณพงหญ้าริมทางเดินเล็กๆ ในเขตสถานปฏิบัติธรรม "สวนเมตตธรรม" ร่างของท่านทอดยาวไปกับผืนดิน หันศีรษะไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ใกล้ๆ กอไผ่แนวเขตอาราม ซึ่งไม่ห่างจากถนนระหว่างหมู่บ้านเท่าใดนัก แต่ไกลจากกุฏิที่พักกว่า ๓๐๐ เมตรเศษ โดยมีทางน้ำไหลเล็กๆ และสระน้ำใหญ่ ตลอดจนลำห้วย และลานไผ่ที่ใช้จัดกิจกรรมต่างๆ ของสถานปฏิบัติธรรมคั่นอยู่เป็นระยะ


ทางเดินเล็กๆ สายนั้นมีหญ้าขึ้นรกท่วมเข่าและท่วมเอวในบางจุด ทั้งเพราะฝนชุกตามฤดูกาล และเพราะแทบไม่มีใครใช้ทางนั้น เข้า-ออก ตามปกติ


นางคำ เหล้าหวาน หญิงไทยใหญ่ คนงานหนึ่งในสองครอบครัวที่อาศัยอยู่ในอาณาเขต "สวนเมตตาธรรม" ผู้พบศพคนแรกเล่าว่า นางได้ลำไยมาจากสวนอื่นซึ่งอยู่ไม่ไกลนัก จึงตั้งใจจะนำไปถวายพระสุพจน์ ที่ระหว่างนั้นพักอยู่ในสถานปฏิบัติธรรมเพียงรูปเดียว เนื่องจากเพื่อนภิกษุอีก ๒ รูป อยู่ระหว่างทำภารกิจในกรุงเทพมหานคร


วูบแรกที่นางเห็นคือปลายเท้าและและปลีน่องอันขาวซีด เท่านั้นก็ทำให้นางหยุดชะงัก ต่อเมื่อเหลือบมองขึ้นไปจนเห็นหน้าที่มีบาดแผลเหวอะหวะ ตลอดจนสบงอังสะซึ่งเปียกชุ่มไปด้วยเลือด ก็ทำให้หญิงวัยสามสิบเศษผู้นี้ถึงกับเข่าอ่อน ต้องทรุดตัวลงนั่งอย่างทันทีทันใด


เพราะจำได้ทันทีที่เห็น ว่านั่นคือ "อาจารย์สุพจน์" หรือ "ตุ๊เจ้าใส่แว่น" ที่นางตั้งใจนำผลไม้ไปถวายนั่นเอง...


เวลาจะผ่านไปเท่าใดไม่แน่ชัด กระทั่งสติสัมปชัญญะกลับคืนมา นางจึงกระหืดกระหอบออกเดินจากจุดนั้น แล้วบังเอิญพบกับอดีตสามี ซึ่งแต่เดิมเป็นคนงานในสวนเมตตาธรรม กำลังขี่รถจักรยานยนต์ผ่านมาจึงพากันไปหา นายพงค์ โถแก้ว คนงานอีกคนหนึ่ง ที่บ้านซึ่งห่างออกไปกว่า ๔๐๐ เมตร


ความตายของ "พระ" ทำให้คนเหล่านี้ตื่นตระหนกตกใจ แต่นั่นยังไม่เท่ากับความกริ่งเกรง ที่จะต้องไปพบเจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้ซึ่งคนเหล่านี้พบเสมอ ว่าพร้อมที่จะขู่กรรโชก หรือกระทำสิ่งใดๆ ต่อพวกเขา(และเธอ) ในนามของระเบียบและกฎหมาย ตลอดจนอำนาจรัฐ ซึ่งคนใช้แรงงานเช่นพวกเขาและเธอไม่เคยมีความรู้


กว่าที่จะได้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ที่บ้านของอดีตนายตำรวจระดับสูงซึ่งอยูใกล้ๆ สถานปฏิบัติธรรม เวลาจึงผ่านไปแล้วกว่า ๑ ชั่วโมง หรือมากไปกว่านั้น


ด้วยเหตุนี้เอง นอกเหนือจาก "ความตาย" จะพราก "พระสุพจน์ สุวโจ" ไปจากเพื่อนภิกษุ, ญาติ และมวลมิตร "ความตาย" ของพระสุพจน์ ก็ยังได้ "พราก" เอาหลายสิ่งหลายอย่างที่เคยมีอยู่และเป็นอยู่ "ตามปกติ" ไปจากชีวิตของคนสิ้นไร้ไม้ตอกเหล่านี้ด้วย...


๒.


พวกเขา(และเธอ)เล่าว่า หลังจากการชันสูตรศพในที่เกิดเหตุ พวกตนก็ถูกนำตัวไปสถานีตำรวจ มีการสอบปากคำ หรือซักถามโดยเจ้าหน้าที่หลายคน หลายครั้ง และหลายต่อหลายเรื่องราว ซ้ำแล้วซ้ำอีก อย่างยืดเยื้อและยาวนาน แต่คำถามนั้นค่อนข้างจำกัด และวนเวียนอยู่กับไม่กี่ประเด็นที่ตำรวจต้องการ เช่น เรื่องคนตัดไม้ เรื่องที่ว่าทำไมพวกตนจึงไม่อยู่ในสวนเมื่อวันเกิดเหตุ พวกตนมีส่วนร่วมหรือรู้เห็นใช่ไหม ตลอดจนเรื่องความเป็นอยู่ของพระภิกษุเหล่านั้น ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร


วันและคืนนั้นหลังพบศพและต่อเนื่องมาอีกหลายวัน นางคำและนายพงค์ถูกสอบปากคำครั้งแล้วครั้งเล่า รวมแล้วหลายสิบชั่วโมง...


แต่นายต่อโชคร้ายยิ่งกว่านั้น เพราะถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็น "ผู้ร้าย" ในคดีนี้เลยทีเดียว ต่อเมื่อผลพิสูจน์ร่องรอยบนเสื้อ และคราบยางไม้บนขวานออกมาได้ ว่าไม่มีคราบเลือดใดๆ อยู่เลยนั่นแหละ นายต่อจึงค่อยห่างออกมาจากวงล้อมของ "ความไม่ไว้วางใจ" ได้บ้าง


๓.


พระสุพจน์ สุวโจ ถูกทำร้ายกระทั่งถึงแก่มรณภาพด้วยของมีคมไม่ทราบชนิด เพราะเจ้าหน้าที่ไม่สามารถค้นหาอาวุธ หลักฐาน หรือวัตถุพยานใดๆ ระดับบ่งชี้บุคคล ได้ในที่เกิดเหตุ ทั้งไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ทำร้าย เพราะไม่มีประจักษ์พยาน ตลอดจนไม่สามารถประมวลข้อมูลที่มี-ที่ทราบ เพื่อนำไปสู่การค้นหาตัวผู้ต้องสงสัยใดๆ ได้แม้แต่คนเดียว


กระนั้นก็ใช่ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะไม่มีข้อสังเกต ข้อสันนิษฐาน หรือสมมติฐานเอาเสียเลย...


กับบาดแผลและร่องรอยฉกรรจ์เกินกว่าสิบ มีทั้งที่ยาวกว่า ๑๕ เซนติเมตร ลึก ๕ เซนติเมตรเศษ ๑ ใน ๓ แผลบริเวณท้ายทอย หรือบาดแผลความยาวกว่า ๑๕ เซนติเมตร บริเวณลำคอด้านซ้ายและด้านหน้า ๑ ใน ๔ แผล ที่ตัดหลอดเลือดแดงใหญ่เกือบขาดและตัดหลอดเลือดดำใหญ่จนขาดสะบั้น ทั้งยังตัดผ่านกล่องเสียงและหลอดลม ตลอดจนกระดูกลำคอ อันเป็นร่องรอยการเชือดหรือฟันขนาดใหญ่ที่เป็นเหตุให้เสียชีวิตเกือบจะทันทีที่ถูกกระทำ ตามความเห็นของฝ่ายนิติวิทยาศาสตร์ หรือบาดแผลบนมือขวา ที่ถูกตัดฟันจนเกือบขาด หรือบาดแผลบนแก้มซ้าย บนแขนซ้าย ฯลฯ ที่พบบนร่างกายสูงใหญ่ประมาณ ๑๗๐ เซนติเมตรเศษของพระภิกษุวัย ๓๙ ปี อดีตนักกีฬาระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งบวชมาแล้ว ๑๓ พรรษา กลับทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสรุปได้เพียงสั้นๆ และง่ายๆ ว่า พระสุพจน์ ถูกคนตัดไม้ไผ่(ลำเดียว) ซึ่งบันดาลโทสะเพราะพระมาห้ามมิให้ตัดไม้ ทำร้ายจนถึงแก่ความตายไปอย่างง่ายดายและแทบไร้เหตุผลในที่สุด


ไม่นำพาปรารมภ์ต่อข้อสังเกตของพระร่วมสำนัก ที่พยายามอธิบายทั้งทางตรงและทางอ้อมหลายกรรมหลายวาระ ว่าน่าจะมีผู้มีอิทธิพล และกรณีการบุกรุกที่ดินซึ่งเกิดขึ้นมาอย่างสืบเนื่องและยาวนานเข้ามาเกี่ยวข้อง


ต่อเมื่อมีการวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่ายมากๆ เข้า ตำรวจระดับสูงบางนายจึงเบี่ยงประเด็น ไปเป็นว่า อาจมีคนร้ายเข้ามาขโมยไม้จากยุ้งข้าวเก่าบริเวณใกล้เคียงที่พบศพ เมื่อสุนัขที่พระสุพจน์เลี้ยงไว้มาพบและเห่าเสียงดัง ก็ทำร้ายเอาจนสุนัขส่งเสียงร้อง พระสุพจน์ได้ยิน จึงออกเดินจากที่พักมาต่อว่าด่าทอ จึงบันดาลโทสะทำร้ายพระสุพจน์จนถึงแก่ชีวิต


มิไยที่ญาติมิตร พระสุพจน์ สุวโจ จะทักท้วงและโต้แย้ง ว่าอุปนิสัยของพระรูปนี้มิได้เป็นไปเช่นนั้น หรือที่หลายคนอธิบายว่า การออกมาระยะไกลในที่รกเรื้อเป็นเรื่องผิดวิสัย เมื่อประกอบกับการไม่ปิดคอมพิวเตอร์ ไม่ปิดประตูกุฏิ ทั้งยังแช่สบงอังสะทิ้งไว้ที่ริมห้วยใกล้กุฏิที่พักด้วยแล้ว คน "รู้จัก" พระสุพจน์ แม้ไม่นานนักก็ยากจะเชื่อไปได้ ว่าเหตุร้ายที่เกิดขึ้น จะมีสาเหตุเพียงเพราะไม้ไผ่ ๑ ลำ หรือไม้กระดานเก่าๆ ไม่กี่แผ่นที่ว่ามานั้นเลย


๔.


ท่ามกลางความโศกเศร้าและสลดใจของญาติผู้เกี่ยวข้อง ในระหว่างงานศพจนถึงวันทำบุญเอาอัฏฐิพระสุพจน์เข้าสถูป สังคมไทยจึงกลายเป็น "สังคมคู่ขนาน" ไปในที่สุด


กล่าวคือ ด้านหนึ่งมีผู้หลักผู้ใหญ่ในสังคม ที่สนใจในเรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องการเผยแผ่และประยุกต์ใช้ศาสนธรรม และความยุติธรรมอันพึงมีพึงได้ของคนด้อยโอกาส ได้พากันมาเคารพศพและแสดงความเสียใจกับญาติมิตรของผู้จากไปอย่างล้นหลาม


ขณะที่อีกด้าน เจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งระดับท้องถิ่นและส่วนกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือต้องรับผิดชอบกับชีวิต และความเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม หรือตามหน้าที่ในสายงาน ต่างก็พากันดาหน้าออกมาปฏิเสธความรับผิด ชนิดปัดภาระให้พ้นตัว บางคนบางฝ่ายที่ไร้มโนธรรมสำนึกอย่างหนักหน่วงและรุนแรง ก็ถึงกับออกปาก "ว่าร้าย" โจมตีให้พระผู้มรณภาพกับเพื่อนภิกษุกลายเป็น "คนผิด" ไปเสียเอง เพื่อบอกกล่าวในทางอ้อมต่อสังคม ว่ามี "คนผิด" ยิ่งไปกว่าตัว ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบกับชีวิตและความตายของ "คนไม่ถูกต้อง" ดังกล่าวนั้น


นี่ออกจะเป็นเรื่องเลวร้ายและโหดร้าย ไม่น้อยไปกว่าการลงมือเข่นฆ่า พระสุพจน์ "โดยตรง" แต่อย่างใด...


อีกทั้งการเพิกเฉยไม่ยินดียินร้ายของคณะสงฆ์และผู้บริหารราชการแผ่นดินอีกเล่า จะกล่าวได้หรือไม่ ว่าเป็นทารุณกรรม "ซ้ำเติม" ทั้งผู้ตายและผู้ยังอยู่หนักขึ้นไปอีก เพราะนอกจากจะไม่ป้องกันแก้ไข ไม่หาทางออกแล้ว ยังปล่อยให้ผู้ตาย ญาติผู้ตายและผู้เกี่ยวข้อง ต้องเผชิญหน้ากับวิกฤติการณ์ครั้งใหญ่ อย่างโดดเดี่ยวและสิ้นหวัง


๕.


ถึงวันนี้ นางคำ นายพงค์ นายต่อ และคนยากจนข้นแค้นอีกหลายต่อหลายคน ยังตกเป็นผู้ต้องสงสัย หรือถูกกระทำในฐานะจำเลยซ้ำแล้วซ้ำเล่า ในหลายสถานที่ ต่างกรรมต่างวาระ เช่นเดียวกับคนอย่าง "พระสุพจน์" ที่วันร้ายคืนร้าย ก็ต้องตกตายไปอย่างเจ็บปวด โดยการเข่นฆ่าอย่างทารุณ ของนายทุน คนของรัฐ หรือผู้มีอิทธิพลระดับต่างๆ อย่างแทบมิอาจเรียกร้องความเป็นธรรมใดๆ ได้ ขณะที่ "ผู้กระทำ" หรือ "ผู้รับผิดชอบ" ต่อ "อาชญากรรม" ประเภทนี้ ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ยังเชิดหน้าชูคออยู่ในสังคมได้อย่างสูงเกียรติ ห่มคลุมและประดับประดาตน ไว้ด้วย "ยศ" และ "ตำแหน่งหน้าที่" ระดับสูง ชนิดที่ "นางคำ" หรือ "นายพงค์" หรือ "ญาติพระสุพจน์" นับแสนนับล้านคนแทบจะต้องคุกเข่าคืบคลานเข้าไปหา เพื่อร้องขอเศษเสี้ยวแห่งความเป็นธรรม


มรณกรรมของ "พระสุพจน์" มิใช่รายแรก และคงมิใช่รายสุดท้าย หาก "สังคมไทย" ยังมีสภาพเช่นนี้ และ "คนไทย" ยัง "ยินดี" หรือ "ยอมรับ" การมี "วิถีชีวิต" เช่นที่ว่ามาข้างต้นนี้ โดยมิได้ประสงค์จะเปลี่ยนแปลงสิ่งใดๆ.


 


2.


หลังเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถติดตามจับกุมคนร้ายได้ ทำให้เอ็นจีโอสายสิ่งแวดล้อมและเครือข่ายพระนักพัฒนา ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้เร่งดำเนินคดี ขณะที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบ ส่วนตำรวจได้โอนคดีให้กับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็นผู้ดำเนินการต่อและเรื่องได้เงียบหายไป กระทั่งมีการเปลี่ยนรัฐบาลและดีเอสไอชุดใหม่ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบคดีในครั้งนี้


แม้จะมีการโอนคดีจากตำรวจท้องที่ไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แต่ก็เช่นเดียวกับคดีสังหารนักสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชนทั้งหลายที่ไม่มีความคืบหน้าของรูปคดี กระทั่งหลายฝ่ายรวมทั้งองค์การภาคประชาสังคมต่างๆ ต้องออกมากระตุ้นการทำงานของดีเอสไอบ่อยครั้ง


และเมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2549 นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มีคำสั่งย้าย พล.ต.อ.สมบัติ อมรวิวัฒน์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) มาช่วยงานที่กระทรวงยุติธรรม ในตำแหน่งรองปลัดกระทรวงยุติธรรม สลับกับนายไกรสร บารมีอวยชัย รองปลัดกระทรวงยุติธรรม รักษาการในตำแหน่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ รอให้มีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายสุนัย มโนมัยอุดม ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ มาเป็นอธิบดีดีเอสไอต่อไป


ต่อมา พล.ต.อ.สมบัติ ได้กลับเข้ามารับตำแหน่งรอง ผบ.ตร. ฝ่ายความมั่นคง ซึ่งตำแหน่งดังกล่าว เป็นตำแหน่งใหม่ที่เพิ่งมีขึ้น


หลังการเปลี่ยนแปลงอธิบดีดีเอสไอนี้เอง ได้มีการรื้อฟื้นคดีสำคัญๆ มาพิจารณากันอีกครั้ง ทั้งคดีอุ้มทนายสมชาย นีละไพจิตร ประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม การรื้อฟื้นคดีฆ่าตัดตอน ฯลฯ


คดีสังหารพระสุพจน์ก็เช่นกัน ทีมเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ นำโดยพันตำรวจโท กฤษฎา ริบรวมทรัพย์ นักนิติวิทยาศาสตร์ 8 ได้เข้าตรวจสอบพื้นที่สำนักปฏิบัติธรรมสวนเมตตาธรรม ต.สันทราย อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 6-7 ธันวาคม 2549 ที่ผ่านมาเพื่อหาหลักฐานเพิ่มเติมในคดีดังกล่าว


3.


โดยในการสืบสวนหาพยานหลักฐานเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2549 มีการตรวจสอบหาหลักฐานของคนร้ายในกุฏิพระสุพจน์ มีการเก็บหลักฐานไปตรวจสอบหลายชิ้น อย่างไรก็ตามระหว่างการหาหลักฐานเจ้าหน้าที่ดีเอสไอและสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ไม่อนุญาตให้สื่อมวลชน ผู้เกี่ยวข้องและญาติของผู้เสียชีวิต เข้าไปบริเวณกุฏิ


ส่วนช่วงบ่ายได้มีการหาหลักฐานเพิ่มเติมบริเวณที่พระสุพจน์ถูกทำร้ายจนเสียชีวิต ซึ่งปัจจุบัน จุดที่พระสุพจน์เสียชีวิตได้มีการตั้งศาลและบริเวณโดยรอบมีสภาพเป็นป่าไผ่ มีหญ้าขึ้นรกและเป็นที่น่าสังเกตว่า สวนส้มของอีกฝั่งถนนซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับจุดทีพระสุพจน์เสียชีวิตก็ได้มีการตั้งศาลขึ้นเช่นกัน


ทางเจ้าหน้าที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ได้ใช้เครื่องตรวจจับวัตถุโลหะช่วยค้นหาหลักฐานประเภทของมีคมที่อาจหลงเหลือบริเวณที่เกิดเหตุ และบริเวณป่าไผ่ ป่าหญ้ารอบๆ เป็นบริเวณกว้างด้วย โดยระหว่างการค้นหาหลักฐานของทีมสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ปรากฏว่าเครื่องตรวจจับวัตถุโลหะดังกล่าวส่งสัญญาณเป็นระยะๆ


โดยสื่อมวลชนที่เกาะติดทำข่าวคดีสังหารพระสุพจน์ตั้งข้อสังเกตว่าการค้นหาพยานหลักฐานของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์มีความละเอียดและมีการใช้เครื่องมือค้นหาที่ทันสมัยมากอย่างเครื่องตรวจจับวัตถุโลหะ ซึ่งแตกต่างจากทีมค้นหาหลักฐานชุดก่อนๆ ไม่ว่าจะเป็นทีมของตำรวจท้องที่ หรือจากดีเอสไอก่อนหน้านี้


การค้นหาช่วงบ่ายกินเวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ทีมจากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์จึงยุติการค้นหา โดยได้หลักฐานจากที่เกิดเหตุเพิ่มเติมหลายประเภท ทั้งขวดแก้ว รองเท้า กรอบแว่นตา เลนส์แว่นตาที่ญาติสงสัยว่าจะเป็นของพระสุพจน์ เป็นต้น


อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่จากกรมสอบสวนคดีพิเศษและสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ที่ลงพื้นที่หาหลักฐานครั้งนี้ ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ใดๆ กับผู้สื่อข่าว


 


4.


ในวันที่มีการค้นหานี้ ผู้เป็นบิดามารดาของพระสุพจน์ที่ได้มรณภาพ คือ นายกิตติพัฒน์และนางดาวเรือง ด้วงประเสริฐ ได้เดินทางจากภูมิลำเนาคือ จ.นนทบุรี ขึ้นมายังสวนป่าเมตตาธรรม อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ เพื่อเฝ้าติดตามการค้นหาหลักฐานของทีมนิติวิทยาศาสตร์ด้วย


นายกิตติพัฒน์ผู้เป็นบิดาได้กล่าวหลังสิ้นสุดการค้นหาหลักฐานกับ "ประชาไท" ว่า ตั้งแต่เปลี่ยนรัฐบาลก็มีความหวังกับคดีนี้ขึ้นมาเล็กน้อย และการค้นหาวันนี้ทำให้เริ่มมีความหวังระดับหนึ่ง แต่จะได้สักแค่ไหนตนต้องดูก่อน ที่เห็นวันนี้ก็รู้สึกว่าทีมค้นหาหลักฐานก็มาทำจริงจัง ซึ่งถ้าเขามาทำตั้งแต่ทีแรก ตั้งแต่พระท่านมรณภาพใหม่ๆ สัก 2-3 วันแรก ก็อาจจะมีผล แต่นี่มันช้าไป หลักฐานต่างๆ อาจจะหาย


ความจริงหลักฐานที่เจอ ควรจะเป็นหลักฐานที่ตำรวจเจอไปก่อนแล้ว ช่วงที่พระมรณะภาพใหม่ๆ เขาน่าจะเก็บหลักฐานไปแล้ว แต่ปล่อยปละละเลย ไม่มาเก็บหลักฐานให้ละเอียดถี่ถ้วน ผู้เป็นบิดากล่าว


อย่างไรก็ตาม ผู้เป็นบิดาของพระสุพจน์ยังคงมีความหวังกับการสะสางคดีนี้ โดยกล่าวว่า "คล้ายๆ ว่าจะสายไปแล้ว เพราะมันจะ 2 ปีอยู่แล้ว เริ่มต้นตั้งแต่เดือนแรกสัก 10 วัน 20 วัน มันก็ยังไม่สายเท่าไหร่ แต่นี่มันเกือบ 2 ปี มันช้าไปนิด แต่ยังมีความหวังอยู่นะ ว่าเขาคงจะทำให้ ก็บอกเขาว่าความหวังคงจะมีขึ้นนะ เพราะทุกครั้งที่เขาเปลี่ยนชุดมา รู้สึกว่าครั้งนี้เขาพามาหมดเลย"


ด้านพระกิตติศักดิ์ กิตติโสภโณ เจ้าอาวาสสวนป่าเมตตาธรรม มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ และประธานเครือข่ายเสขิยธรรมกล่าวถึงที่มาของการค้นหาหลักฐานคดีพระสุพจน์เพิ่มเติมครั้งนี้ว่า ได้รับแจ้งจากดีเอสไอว่าจะมีการนำเจ้าหน้าที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์มาตรวจที่เกิดเหตุ มาตรวจในกุฏิท่านสุพจน์ เพื่อหาหลักฐานต่างๆ เพิ่มเติม โดยพระกิตติศักดิ์กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงคดีว่าล่าสุดที่ดีเอสไอบอกก็คือเรื่องนี้ไม่ใช่การบันดาลโทสะหรือการก่อเหตุซึ่งหน้า และคดีนี้มีการบงการ


"อย่างไรก็ตาม ถ้าพูดกันตรงไปตรงมา มันจะเรียกว่าความคืบหน้าไม่ได้ เพราะมันเป็นสิ่งที่ควรจะทำตั้งแต่ 18 เดือนที่แล้ว" พระกิตติศักดิ์กล่าว


"ถึงวันนี้ อย่างหนึ่งที่ชัดเจนก็คือการกลับมาพิสูจน์สมมติฐานที่เราตั้งไว้ ซึ่งเราพูดตั้งแต่พระสุพจน์มรณภาพมาได้วันสองวัน ว่าน่าจะเป็นเช่นนี้ แต่เราถูกปฏิเสธมาตลอด และพยายามพิสูจน์ให้เห็นว่าสมมติฐานที่เขาตั้งไว้ถูกต้อง คือเสียเวลาไปปีหนึ่งในการพยายามพิสูจน์ว่า คดีนี้เป็นเรื่องของการก่อเหตุซึ่งหน้า เป็นเรื่องของชาวบ้านมาตัดไม้ เรื่องนี้ไม่มีเบื้องหลังไม่มีการเมือง" พระกิตติศักดิ์กล่าว


พระกิตติศักดิ์เปรียบเทียบการทำคดีของดีเอสไอว่า "ก็เหมือนกับว่ามีคนชี้ว่าควรจะเดินไปทางนี้ ทางทิศตะวันออก เพื่อจะไปให้ถึงหมู่บ้านข้างหน้า แต่คุณไม่ฟัง คุณพยายามจะเดินไปทางทิศเหนือ คุณพยายามจะเดินไปทางทิศได้ คุณพยายามจะเดินไปทางทิศตะวันตก สุดท้ายคุณเดินไปทุกทิศ คุณไม่เจอหมู่บ้าน คุณก็บอกว่าใช่ น่าจะไปทางทิศตะวันออกนี่แหละ"


"ถามว่ามันเป็นความคืบหน้าไหม มันไม่ใช่ ถ้าคุณเดินตั้งแต่ทีแรกก็จบ ทีนี้ถ้าสันนิษฐานว่ามันมีเหตุผลอะไร ที่เขาไม่เดินทีแรก ถ้ามองในด้านร้าย กลัวว่าจะถึงผู้ที่เขาไม่อยากให้ไปถึง สอง เขาไม่มีประสิทธิภาพ สาม มันทำให้เท่ากับยอมรับความคิดเห็นของพวกเรา กลายเป็นว่าที่เขาทำงาน เป็นการทำตามที่พวกเราเสนอ เขาไม่ยอม พอไม่ยอมก็เสียหาย พอเสียหายแล้วใครรับผิดชอบ" พระกิตติศักดิ์กล่าว


ขณะที่ พ.ญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ รักษาการผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กล่าวถึงกรณีส่งทีมงานร่วมเดินทางไปกับดีเอสไอครั้งนี้ผ่านหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2549 ว่า เป็นไปเพื่อร่วมเก็บพยานหลักฐานตามที่มีการร้องขอ พร้อมทั้งจะเข้ารับฟังข้อมูลจากพนักงานสอบสวน แต่ทั้งนี้ยอมรับว่าการหาพยานหลักฐานอาจเป็นไปด้วยความยากลำบากเนื่องจากเหตุการณ์ได้เกิดขึ้นมานานจนกระทั่งพนักงานสอบสวนท้องที่ได้โอนคดีไปให้ดีเอสไอ


ส่วนคดีนี้ตำรวจเป็นผู้ดำเนินการเองตั้งแต่แรกแต่ก็เงียบหายไปนาน กระทั่งมาให้ความสำคัญในตอนนี้จึงอาจดูเหมือนเป็นการสร้างกระแส ส่วนการทำงานร่วมกันของดีเอสไอกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ก็เป็นไปตามขั้นตอน แต่ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาโดยเนื้องานแล้ว ทั้งสองฝ่ายไม่ได้ทำงานร่วมกัน คดีพระสุพจน์ จึงดูคล้ายกับคดีทนายความสมชาย นีละไพจิตร ที่อยากจะเรียกมาทำก็เรียกมาตามใจชอบ แต่ผลที่ตามมาคือเรียกมาช้าทำให้พยานหลักฐานแทบจะไม่มีเหลือ พ.ญ.คุณหญิงพรทิพย์กล่าว


5.


ขณะที่ ใกล้ห้วงเวลาครบรอบ 2 ปี การมรณภาพของพระสุพจน์


เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2550 ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เมื่อวันที่ 27 เม.ย. นายสุนัย มโนมัยอุดม อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผยว่า นายจรัญ ภักดีธนากุล ปลัดกระทรวงยุติธรรม ได้ลงนามคำสั่ง ย้ายข้าราชการระดับผู้บัญชาการสำนักคดี (ผบ.) ในดีเอสไอ 5 ราย


ได้แก่ พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ จาก ผบ.สำนักกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ ไปเป็น ผบ.สำนักคดีการเงิน การธนาคาร, พ.ต.อ.ญาณพล ยั่งยืน จาก ผบ.สำนักคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ เป็น ผบ.เทคโนโลยีศูนย์ข้อมูลและการตรวจสอบ, พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ จาก ผบ.สำนักเทคโนโลยีศูนย์ข้อมูลและการตรวจสอบ เป็น ผบ.สำนักคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ


ในจำนวนนี้ พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย จาก ผบ.สำนักคดีอาญาพิเศษ ซึ่งรับผิดชอบคดีสังหารพระสุจน์ และคดีการหายตัวไปทนายสมชาย นีละไพจิตร ได้ย้ายไปเป็น ผบ.สำนักกิจการต่างประเทศ และคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ ขณะที่ พ.อ.ปิยะวัฒก์ กิ่งเกตุ จากผู้เชี่ยวชาญด้านคดีพิเศษและอดีตโฆษกดีเอสไอ ขยับขึ้นเป็น ผบ. สำนักคดีอาญาพิเศษ แทน


นายสุนัย กล่าวว่า การสลับสับเปลี่ยนตำแหน่ง ผบ.สำนักคดีครั้งนี้ต้องการให้เกิดการหมุนเวียนการทำงานภายในกรม เนื่องจาก ผบ.สำนักคดีหลายคนดำรงตำแหน่งมานาน ทำให้บางสำนักแทบจะแยกตัวเป็นกรมใหม่เอง สำหรับ สำนักคดีอื่นๆ ที่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงจะมีการปรับเปลี่ยนอีกครั้งในเร็วๆ นี้ เนื่องจากนายยงยุทธ ศรีสัตยาชน ผบ.สำนักคดีทรัพย์สินทางปัญญา ได้ทำเรื่องขอย้ายกลับสำนักงานอัยการสูงสุด ในส่วนของผู้อำนวยการส่วนคดี ระดับ 8 อาจจะยังไม่ปรับเปลี่ยน แต่จะกำหนดภารกิจและขอบเขตงานคดีให้ชัดเจน เพราะที่ผ่านมายังไม่มีบทบาทชัดเจน


"การปรับย้ายผู้บัญชาการสำนักคดีเพื่อสลายขั้วอำนาจให้มีการหมุนเวียนภายในกรม ไม่ใช่ว่าทุกคนจะอยู่ที่เดิมจนเกษียณ ส่วน พ.อ. ปิยะวัฒก์ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็น ผบ.สำนักคดีอาญาพิเศษ อาจเป็นเพราะปลัดกระทรวงยุติธรรม เห็นฝีมือและความตั้งใจจริงในการทำงาน โดยที่ผ่านมา พ.อ.ปิยะวัฒก์ ได้มีผลงานการสอบสวนคดีสำคัญให้เห็นอย่างชัดเจน" อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวทิ้งท้าย


ก่อนหน้านี้ พ.อ.ปิยะวัฒก์ ได้รับการคาดหมายว่าจะได้ขยับขึ้นเป็น ผบ.สำนักคดีอาญาพิเศษมาตั้งแต่ต้น เพราะระยะหลังได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีสำคัญให้รับผิดชอบ อาทิ คดีอุ้มทนายสมชาย นีละไพจิตร คดีฆ่าตัดตอนในช่วงสงครามยาเสพติด และคดีซ้อมผู้ต้องหาคดีปล้นปืนจากกองพันพัฒนาที่ 4 โดยมีการส่งสำนวนให้ (ป.ป.ช.) สอบสวนกรณีมีการทำร้ายร่างกายผู้ต้องหาให้รับสารภาพ


และเมื่อวันที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา ทาง กระทรวงยุติธรรม เพิ่งจะมีคำสั่งโยกย้าย พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ไปเป็นรองเลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ให้เหตุผลว่าเพื่อให้งานด้านยาเสพติดมีความแปลกใหม่และเห็นผลงานมากขึ้น


มีรายงานว่า การเริ่มทยอยปรับย้ายอดีตนายตำรวจอาจมีผลมาจากนโยบายปรับเกลี่ยอัตรากำลัง เนื่องจากภายในกรมสอบสวนคดีพิเศษในช่วงของรัฐบาลก่อนได้มีนายตำรวจฝีมือดีจำนวนมากโอนย้ายมาสังกัดอยู่เกือบครึ่งกรมฯ ซึ่งขัดต่อกฎหมายที่ให้กรมสอบสวนคดีพิเศษรับโอนอัตรากำลังจากหน่วยงานต่าง ๆ ได้ไม่เกินสัดส่วน 1 ใน 3


ซึ่งต้องเฝ้าจับตาการเปลี่ยนแปลงผู้บังคับบัญชาในดีเอสไอต่อไป ว่าจะทำให้คดีสังหารพระสุพจน์ สุวโจ และคดีสังหารนักสิทธิมนุษยชนคนอื่นๆ เช่น คดีสังหารเจริญ วัดอักษร และคดีการหายตัวไปของทนายสมชาย นีละไพจิตร มีความคืบหน้าหรือไม่


หรือจะเป็นแค่การพายเรือในอ่างซ้ำๆ ปีแล้ว ปีเล่า ต่อไป?


 


(โปรดติดตาม "2 ปีกับมรณกรรมของ "พระสุพจน์ สุวโจ" ตอนที่ 4)


 







"รำลึกการจากไปและร่วมเรียกร้องความเป็นธรรม"
กรณีฆาตกรรม พระสุพจน์ สุวโจ, เจริญ วัดอักษร และอุ้มหายทนายสมชาย นีละไพจิตร


ในวันอาทิตย์ที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๐
ณ ห้องประชุม อาคารใหม่ อนุสรณ์สถาน ๑๔ ตุลา ๑๖ สี่แยกคอกวัว กรุงเทพฯ

๙.๓๐ - ๑๑.๓๐ น. พิธีกรรมทางศาสนา พุทธ คริสต์ และอิสลาม
๑๒.๐๐ - ๑๓.๐๐ น. ร่วมรับประทานอาหาร
๑๓.๓๐ - ๑๖.๓๐ น. แถลงความไม่คืบหน้าของคดี และความล้มเหลวของกระบวนการยุติธรรม
โดย พระกิตติศักดิ์ กิตฺติโสภโณ นางกรณ์อุมา พงษ์น้อย และนางอังคณา นีละไพจิตร
ตลอดจน แถลงข่าวการก่อตั้งมูลนิธิพระสุพจน์ สุวโจ


เพื่อสนับสนุนการประยุกต์ใช้ศาสนธรรม กับการแก้ปัญหาสังคม

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
ผู้ประสานงานมูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๐๘๖ ๗๕๗๕ ๑๕๖


 


 


บทความย้อนหลัง


2 ปีกับมรณกรรมของ "พระสุพจน์ สุวโจ": แม้แต่พระยังต้องสังเวยต่ออำนาจทุนนิยม


ตอนที่ 1 : ความตายของพระนักพัฒนา: "พื้นที่ - ผลประโยชน์ - อิทธิพล" โดย วิทยากร บุญเรือง, ประชาไท, 13 มิถุนายน 2550


ตอนที่ 2: เบื้องหลัง "อำเภอฝาง ... สวรรค์ของนายทุน" โดย   วิทยากร บุญเรือง, ประชาไท, 14 มิถุนายน 2550


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net