Skip to main content
sharethis

พงษ์พันธุ์ ชุ่มใจ รายงาน



จากซ้ายไปขวา อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์, วรวิทย์ เจริญเลิศ และ ไชยันต์ รัชชกูล


เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม ที่ผ่านมา นักวิชาการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเครือข่ายภาคประชาชนหลายองค์กรร่วมกันจัดเวทีเสวนาหัวข้อ "การเมือง รัฐธรรมนูญ และทางออกภาคประชาชน" เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์พฤษภาประชาธรรม 2535 ที่ห้องประชุมชั้น 2 ศูนย์สตรีศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


ผู้ร่วมเสวนาได้แก่ รศ.ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นายสมศักดิ์ โยอินชัย แนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือ และมี  รศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้ดำเนินรายการ ฯลฯ โดยมีประชาชนและนักศึกษาเข้ารับฟังร่วม 60 คน


ในวงเสวนาดังกล่าวมีการแสดงความเห็นต่อการเมืองหลังรัฐประหารของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) บรรยากาศที่เรียกว่า 'การกลับมาของระบอบอำมาตยาธิปไตย' 'การชุมนุมเทวดาร่างรัฐธรรมนูญ' และการที่รัฐธรรมนูญ 2550 เตรียมบรรจุองค์กร "8 โป๊ยเซียน" แก้วิกฤติชาติ! ตลอดจนการพูดถึงทางออกร่วมกันสำหรับประชาชน


และในเวทีดังกล่าว เครือข่ายภาคประชาชน 5 องค์กร ได้แก่ กลุ่มนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตย เครือข่ายเด็กและเยาวชนภาคเหนือตอนบน สถาบันเพื่อสิทธิชุมชน สำนักเรียนรู้การกระจายอำนาจและปกครองท้องถิ่น (สปท.) และกลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการ (ปรส.) ยังได้ออกจดหมายเปิดผนึกในหัวข้อ "ลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการ ทวงคืนประชาธิปไตยประชาชน" อีกด้วย


โดยเรียกร้องให้ประชาชนไม่รับรัฐธรรมนูญปี 2550 เรียกร้องให้สังคมไทยร่วมเคลื่อนไหวผลักดันให้ คมช.นำรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 มาใช้โดยไม่ต้องปรับปรุงแก้ไขแต่อย่างใด หลังจากประชาชนลงมติให้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน และยังเรียกร้องให้พรรคการเมืองทุกพรรคทำสัญญาประชาคมเพื่อให้มีการปฏิรูปการเมือง เศรษฐกิจและสังคมเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง เพื่อสร้างความยุติธรรมในสังคม


โอกาสนี้ ประชาไทขอนำเสนอส่วนหนึ่งของ "บทสนทนา" ในเวทีเสวนาดังกล่าว


000


1.เศรษฐกิจหลังรัฐประหาร และเกมชิงอำนาจชนชั้นนำ


รศ.ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่







"เราก็อย่าไปเล่นในเกมของอำนาจ ผมไม่เห็นด้วยกับการที่หาทางลัด ใช้อำนาจหนึ่ง ไปล้มอำนาจหนึ่ง โดยไม่มีฐานเลย เราจะไม่ได้อะไร จุดข้างบนมันแตกเป็นเสี่ยง ฐานล่างคือราก มันจะดึงรากไปด้วย"


ภาพรวมทางเศรษฐกิจเมื่อประมาณปี 2542 ที่ว่ากันว่าเงินทุนไหลกลับเข้ามานั้น จริงๆ แล้วเป็นเงินเพื่อเข้ามาเก็งกำไรและเข้าไปเทคโอเวอร์ธนาคาร เพราะฉะนั้นเศรษฐกิจที่ไปอิงพลวัตรภายนอก เมื่อเจอกับการรัฐประหารเศรษฐกิจย่อมหยุดชะงัก


ตอนนี้ที่เห็นชัดคือสถานการณ์ปัจจุบันนี้เศรษฐกิจตกต่ำมาก ค่าเงินบาทถูกเก็งกำไร ในขณะที่รัฐบาลระบุว่าการส่งออกเพิ่มขึ้น 13% แต่อุตสาหกรรมที่เราส่งออก ก็นำเข้าวัตถุดิบจากภายนอกอยู่มาก เช่น อุตสาหกรรมอิเลคทรอนิกส์


ถามว่าคนงานได้อะไรบ้าง? เพราะจริงๆ แล้วขณะนี้อุตสาหกรรมตอนนี้หยุดการลงทุน ถ้ามองในแง่คนงาน คนงานต้องอาศัยโอทีในการสร้างรายได้ และอาจจะมีการเลิกจ้างคนงาน เพราะการส่งออกถูกปิดกั้น คาดว่าในอีกไม่เท่าไหร่จะมีการว่างงานที่สูงตามมา


ขณะที่เป็นการเมืองที่อาศัยรัฐประหาร เป็นความขัดแย้งของขั้วอำนาจ ซึ่งไม่ใช่ขั้วอำนาจระหว่างรัฐกับประชาชน แต่เป็นขั้วอำนาจของรัฐด้วยกัน การเข้ามาของคุณทักษิณ แม้เราจะเรียก ระบอบทักษิณ คุณทักษิณเป็นตัวแทนทางความคิดของชนชั้นนายทุน ลักษณะการตัดสินใจเป็นลักษณะของการทำธุรกิจ เพราะฉะนั้นความขัดแย้งอันนี้มีมาตลอด


เมื่อมองทางเศรษฐกิจ แน่นอนมีผลกระทบทางด้านแรงงาน ที่เห็นก็คือการลงทุนชะลอตัว การอุตสาหกรรมก็หยุดนิ่ง เพราะฉะนั้นจะอยู่ได้อย่างไรก็ต้องลดโอที ส่งออกก็ส่งออกไม่ได้ เพราะฉะนั้นการว่างงานจะเป็นปัญหาใหญ่


ที่จริง ผู้ใช้แรงงานก็พยายามขับเคลื่อน ส่วนหนึ่งก็คิดว่ารัฐประหารครั้งนี้ น่าจะนำมาสู่การปฏิรูป มีการออกมาเดินขบวนเรียกร้องให้มีสถาบันคุ้มครองสุขภาพและความปลอดภัย ซึ่งเป็นร่างกฎหมาย ที่คนงานร่วมร่างมา และก็ผลักดันมาตลอด 7 ปี มันก็ไม่ขยับ คล้ายกับว่าในยุคนี้ข้าราชการมันฟื้นตัวขึ้นมา


ถ้าผมมาโยงประเด็นด้านการเมือง ตอนนี้การเมืองสับสน ในขณะที่เศรษฐกิจมันอยู่ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ต้องแข่งขัน แน่ละมันไปไม่ได้ ที่มันสับสนข้างบน ต้องดูว่าการสร้างรัฐใหม่มันไม่เกิดขึ้น


กับทักษิณ เราเคยใช้คำว่า 'ระบอบทักษิณ' แต่ไปคุยกับนายทุน นายทุนถือว่าคุณทักษิณเป็นตัวแทนทางความคิด อย่างน้อยในแง่ของการตัดสินใจ เพราะฉะนั้นคุณจะเห็นว่า ชนชั้นนายทุนเขารู้สึกหลังรัฐประหารมาตลอดว่า อยู่ภายใต้ระบบราชการที่ตัดสินใจแทนทุกคนและเขาไม่มีบทบาท


พอเกิดรัฐประหารที่สับสน เหมือนต้นไม้ที่ข้างบนกำลังแตกเป็นเสี่ยง แต่จะดึงให้รากไม้เป็นอย่างไรอันนี้ผมว่าน่าเป็นห่วง เพราะในส่วนข้างล่างความคิดก็ไม่เหมือนกัน


บางคนในแรงงานก็เห็นการรัฐประหารเป็นโอกาสในการปฏิรูป แต่ผมคิดว่าต้องมองโครงสร้างส่วนบนให้ชัด ในการเข้าใจความขัดแย้งนี้ ต้องถามว่า พล.อ.สุรยุทธ์มาจากใคร คมช.มาจากใคร อันนี้ต้องเอาให้ชัดนะ และความขัดแย้งระหว่าง คมช. และ รัฐบาลมีนัยยะอย่างไร อันนี้ต้องอ่านให้ออก มันมีขั้วอยู่แบบนี้ ต้องอ่านให้ออก มันเป็นการขัดแย้งในขั้วอำนาจ


เพราะฉะนั้นกระบวนการที่จะอ้างประชาธิปไตย มันมีขบวนการที่เอาทักษิณสร้างวิวาทะเรื่องระบอบทักษิณขึ้นมา แต่มีการใช้เงินและงบประมาณในการสร้างขบวนการทำลายทักษิณในหลายระดับ และเอกสารเหล่านี้มันถูกเผยแพร่ น่าแปลกใจว่าเอกสารที่ 'ลับ' มันออกมาได้อย่างไร มันก็สะท้อนว่าที่คุณเคยเห็นว่ามันขัดแย้ง 2 ขั้ว ไม่คิดหรือว่า 2 ขั้วนี้มันอาจรวมกันก็ได้? และถ้ารวมกันได้ใครถูกเขี่ยออก และถ้ามันรวมกันได้ ประชาชนจะยิ่งแล้วใหญ่


ทุกอย่างมันแปรเปลี่ยนได้ เราก็อย่าไปเล่นในเกมของอำนาจ ผมไม่เห็นด้วยกับการที่ Short Cut (หาทางลัด) ใช้อำนาจหนึ่ง ไปล้มอำนาจหนึ่ง โดยไม่มีฐานเลย เราจะไม่ได้อะไร จุดข้างบนมันแตกเป็นเสี่ยง ฐานล่างคือราก มันจะดึงรากไปด้วย


000


2.ประวัติศาสตร์ของระบอบอำมาตยาธิปไตย


รศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่







"หลังปี 2516 นอกจากที่ทุกฝ่ายต้องวิ่งเข้าหาสถาบันพระมหากษัตริย์แล้ว ผลที่เกิดขึ้นอีกอันหนึ่งก็คือว่า ตัวระบบการเมืองนั้นจำเป็นที่จะต้องเปิดให้กับกลุ่มทุนที่เข้ามาเถลิงอำนาจโดยผ่านระบบการเลือกตั้งในนามของ "ระบอบประชาธิปไตย" "


การจะเข้าใจรัฐประหารครั้งนี้ได้ จะต้องเข้าใจประวัติศาสตร์การเมือง เราไม่สามารถแยกว่ารัฐประหารครั้งนี้แตกต่างจากครั้งก่อนๆ อย่างไร แบบที่นักสังคมศาสตร์ดาดๆ ทั้งหลายทำ ซึ่งผมไม่ค่อยศรัทธา


แต่เราจะเข้าใจรัฐประหารครั้งนี้ได้ ต้องเข้าใจการเมืองจริง อย่างน้อยที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2516


หลังปี 2516 ระบบราชการได้สูญเสียกำลังไป หลังการถีบหัวทรราชทั้ง 3 ออกไป ตัวระบบราชการเริ่มแยกเป็น Fraction (กลุ่ม) ตั้งแต่นั้นมา และในตัวระบบราชการที่แยกเป็น Fraction นี้ ตัวระบบราชการที่อยากจะมีอำนาจเหนือคนอื่นเขา อยากจะมีอำนาจในการตัดสินใจ หรือเข้าไปกุมอำนาจรัฐมากกว่าคนอื่น ตัวระบบราชการส่วนนั้นจำเป็นต้องเข้าไปพาดพิง อ้างอิง หรือแสดงตนว่าเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างแนบแน่น


ตัวอย่างนี้ เราจะเห็นได้ชัดของการขยายตัวของโครงการพระราชดำริทั้งหลาย ผมเรียนอย่างนี้ว่าหน่วยราชการที่เป็น Fraction มันต้องวิ่งเข้าไป ในกระบวนการนี้เอง ถามว่ามันได้แก้ไขปัญหาของความเป็น Fraction ของระบบราชการไหม คำตอบคือไม่ได้แก้ มันยิ่งทำให้ตัวระบบราชการที่เคยกุมอำนาจทางการเมืองยิ่งแตกแยกกันมากขึ้นๆ


หลังปี 2516 นอกจากที่ทุกฝ่ายต้องวิ่งเข้าหาสถาบันพระมหากษัตริย์แล้ว ผลที่เกิดขึ้นอีกอันหนึ่งก็คือว่า ตัวระบบการเมืองนั้นจำเป็นที่จะต้องเปิดให้กับกลุ่มทุนที่เข้ามาเถลิงอำนาจโดยผ่านระบบการเลือกตั้งในนามของ "ระบอบประชาธิปไตย"


จากปี 2516 เรื่อยมา จนกระทั่งมาถึงยุคสมัยของป๋า 8 ปี คือช่วงการชักเย่อกันระหว่างตัวระบบราชการกับตัวนายทุน เผอิญในช่วงนั้น ด้วยพลังที่เหลืออยู่ของระบบราชการเองจึงทำให้ป๋าเปรมสามารถดำรงอยู่ตรงนั้นได้ และสถาปนาแขนขาบางส่วนของระบบราชการคอยควบคุม และคอยไม่ให้นายทุนแสวงหาผลประโยชน์มากไป กลไกที่สำคัญที่ป๋าใช้คือสถาปนา "เศรษฐกิจแห่งชาติ" ซึ่งก็มีคุณโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัตน์ ที่ตอนนี้มานั่งอยู่ในรัฐบาลนี้


กระบวนการตรงนี้หลังป๋า ถึงชาติชาย เรื่อยมา ระบบราชการที่แตกเป็นเสี้ยวๆ หลังชาติชายเริ่มตกเป็นเบี้ยล่างมากขึ้นๆ การตกเป็นเบี้ยล่างมากขึ้นๆ มันทำให้คนในระบบราชการอึดอัด เริ่มทนไม่ได้ จึงนำมาสู่การดิ้นรนครั้งหนึ่ง เมื่อปี 2534 จะเห็นว่าทหารโผล่ขึ้นมาพร้อมกับกลุ่มหนึ่งของระบบราชการ


หลังจากปี 2534-2535 ทหารและระบบราชการพยายามฉุดคืนอำนาจ แต่ก็ล้มเหลว เรื่อยมาจนถึงยุคสมัยของคุณทักษิณ


คุณทักษิณ คือช่วงเวลาที่กลุ่มทุนขึ้นมาเถลิงอำนาจอย่างเต็มที่ และกลุ่มทุนนี้เองก็พยายามจะผลักดันระบบราชการซึ่งพยายามดิ้นมีอำนาจ ตกมาเป็นเบี้ยใต้ฝ่าเท้าของคุณทักษิณ การโยกย้าย การสืบทอดตำแหน่งปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นเรื่องที่ไม่มีคนในระบบราชการสักคนแหกปากขึ้นมาพูด อย่าลืมว่าในสมัยป๋า สมัยก่อนป๋า หรือคุณชวนก็ได้ เวลานักการเมืองย้ายข้าราชการประจำจะมีเสียงเลยว่ารังแกข้าราชการประจำ ยังมีศักดิ์ศรีอยู่ สมัยคุณชาติชายไม่มีแล้ว ระบบราชการไม่มีแล้ว


ในตัวระบบข้าราชการที่หมดไปนี้ ถามว่ามันมีอึดอัดคับข้องใจที่อยากจะมีอำนาจไหม ผมคิดว่ามี พร้อมกันนั้นเองมันเป็นจังหวะที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ได้ทำให้เกิดเหมือนกับว่าผู้ที่ผ่านการเลือกตั้งกลายเป็นผู้ที่สามารถครองอำนาจทางวัฒนธรรมควบคู่ไปด้วย


ในสังคมใดก็ตามที่มีศูนย์กลางอำนาจทางวัฒนธรรม 1 ศูนย์ จะย่อมไม่มีทางที่จะมีศูนย์อำนาจทางวัฒนธรรมอีกศูนย์ขึ้นมาแข่งได้ ดังนั้นกระบวนการรัฐประหารครั้งที่ผ่านมา จึงเป็นการต่อสู้ของพลังหลายพลังมาก มันจะมีความแตกต่างจากรัฐประหารครั้งก่อนหน้านี้โดยสิ้นเชิง และการต่อสู้จากหลายพลังนี้เอง มันมีความสามัคคีกันของศัตรู มีความพยายามเยอะแยะในการที่จะเขี่ยกลุ่มทุนกินรวบ คือคุณทักษิณ


กระบวนการที่ยึดอำนาจ โดยที่ระบบราชการเป็นส่วนๆ เป็น Fraction มันทำให้มีความขัดแย้งสูงมากขึ้น ขณะเดียวกันทำให้กลุ่มที่ยึดอำนาจเองก็รู้ว่าฐานตัวเองไม่เข้มแข็ง เราสังเกตดู กลุ่มที่ยึดอำนาจเองพยายามที่จะเข้าไปแอบอิงหรืออ้างสถาบันพระมหากษัตริย์ตลอดเวลา อย่างที่เราเห็น ปฏิวัติครั้งนี้เพื่อราชบัลลังก์ อะไรก็ว่ากันไป







"ทั้งหมดคือ ภาคประชาชนต้องรักษาความเป็นอิสระจากรัฐให้มากที่สุด รักษาหนทางการต่อสู้ที่ผ่านมาของเรา ถ้าตกเป็นทาสแบบนี้ ผมว่าเราตีกันเองแน่ โดยที่ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร"


ในกระบวนการนี้เอง จึงทำให้สถานการณ์การเมืองวันนี้เป็นสถานการณ์ทางการเมืองที่ค่อนข้างสันสน ฝุ่นคลุ้งไปหมด เนื่องจากแต่ละ Fraction เอง พยายามดิ้นรนต่อสู้เพื่อมีอำนาจ เพราะไม่อยากให้ "สฤษดิ์น้อย" เข้ามามีอำนาจแต่เพียงฝ่ายเดียว รู้จักไหมสฤษดิ์น้อย ทหารที่ตัวเตี้ยใน คมช. นะฮะ


ดังนั้นกระบวนการทั้งหมด คือการเข้าไปแย่งชิงกัน รวมถึงว่าฝ่าย คปค. ที่กลายเป็น คมช ก็ทะเลาะกับคณะรัฐมนตรี ปฏิเสธอย่างไร ตีกอล์ฟด้วยกันอย่างไร กินข้าวอย่างไรมันก็เห็นอยู่ชัดๆ ว่าทะเลาะกัน


กรณีสุดท้ายที่ชี้ให้เห็นถึงความขัดแย้งเป็น Fraction คือการดึงพัลลภ ปิ่นมณี เข้ามานั่งในตำแหน่งปราบม็อบ ถามว่าตำแหน่งปราบม็อบ จะยังผลดีอะไรให้กับคนไทย นี่เป็นคำถามหลักเลย ลองดูนะครับว่าต่อไปการตีหัวกันจะรุนแรงมากขึ้น และตีหัวกันโดยที่ยังไม่รู้อะไรก็จะรุนแรงมากขึ้น


สถานการณ์ปัจจุบันเป็นสถานการณ์ที่ยังอยู่ในจังหวะที่ถ้าใครกระพริบตาก็เพลี่ยงพล้ำ และในจังหวะที่ถ้าใครกระพริบตาแล้วเพลี่ยงพล้ำนี้เอง ผมคิดว่าสถานการณ์เศรษฐกิจจะซ้ำเติมมากขึ้น ถ้าไปถามพี่น้องคนจนทั้งหลาย จะพบว่า เงินที่มันไม่ไหลมา มันเริ่มทำให้พี่น้องช็อต กำลังซื้อน้อยลง ทั้งหมดคือภาวะช็อตของเงินนะครับ


ถามว่าระบบราชการมีอะไร "เกียร์ว่าง" คือสิ่งที่ดีที่สุด เกียร์ว่างคือสิ่งที่ไม่ดีสำหรับสังคมไทย แต่เกียร์ว่างคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับข้าราชการ เพราะคุณจะทำยังไงในวาระแบบนี้


สถานการณ์แบบนี้เองมันก็ปะทุขึ้นมา หลายคนบอกว่ามันเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่อำมาตยาธิปไตยขึ้นมามีอำนาจ ผมก็ว่าก็ใช่ แต่เป็นส่วนเสี้ยวของอำมาตยาธิปไตยเท่านั้นที่เข้ามามีอำนาจ มันมีกลุ่มที่ไม่ได้ตรงนี้มากมาย นี่คือตัวสะท้อนความขัดแย้ง


สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้และต่อไปข้างหน้า แน่นอนที่สุด ความขัดแย้งนี้นองเลือดแน่ๆ ปะทะแน่ๆ ไม่มีทางออกถ้าเดินไปแบบนี้ แม้ว่าจะแก้รัฐธรรมนูญ และการแก้รัฐธรรมนูญที่จะเกิดขึ้นเพื่อปรับความสัมพันธ์ทางอำนาจซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจน ผมเชื่อว่าเขาจะเพิ่มในส่วนที่พูดเรื่องชุมชนมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันส่วนอื่นๆ เขาค่อนข้างจะคงไว้อย่างเดิม แน่นอน มาตรา 68 องค์กรแก้วิกฤติเปลี่ยน อำนาจ ส.ว. อาจลดลง แต่ที่มาเหมือนเดิม (แต่งตั้ง) คือส่วนเสี้ยวของอำมาตยาธิปไตยจะครองอำนาจอยู่ แต่ชุมชนจะเพิ่มขึ้น ชาวบ้านจะรู้สึก Happy มากขึ้น อย่างชาวบ้านสายรองนายกฯ สายกระทรวงพัฒนามนุษย์ นายแพทย์พลเดช (ปิ่นประทีป) เห็นชัดเลยว่ากลายเป็น NGO (Non-Governmental Organization - องค์กรพัฒนาเอกชน) แปรสภาพเป็น GO (Governmental Organization - หน่วยงานของรัฐ) อีกจำนวนมาก จะเทเข้าไป


บรรยากาศแบบนี้เละเทะครับ บรรยากาศแบบนี้เป็นบรรยากาศที่น่ากลัว และสิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือ การอ้างอิง หรือการอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์จะสูงขึ้น


ผมอยากจะยก ประโยคทองของ นิลวรรณ บก.สตรีสาร ท่านพูดไว้หลายปีแล้วว่า "ถ้าหากจงรักภักดีจริงต้องแอ่นอกรับก้อนหินที่จะโดนสถาบัน ไม่ใช่แอบอยู่หลังสถาบัน แล้วเอาก้อนหินขว้างคนอื่นเขา" แต่บรรยากาศวันนี้ทั้งหมด ไม่ว่าจะไอ้ตัวเตี้ยเรื่อยมาจนถึงทุกฝ่ายก็คือ "แอบอยู่หลังสถาบันพระมหากษัตริย์ แล้วเอาก้อนหินขว้างคนอื่นเขา" ดังนั้นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นคือ "การที่อยู่หลังคนอื่น แล้วเอาก้อนหินขว้างคนอื่นเขา"


แล้วถ้าดูใน Hi-thaksin.net ก็จะพบว่า ก็เริ่มบอกแล้วว่า การรัฐประหารครั้งนี้ไม่ได้ทำเพื่อในหลวงหรอก แต่ว่าอ้างอิง..."


คือ ใช้หมัดเดียวกันรบกัน สิ่งที่เกิดขึ้นคือชนชั้นนำรบกัน ชนชั้นสูงรบกัน สิ่งที่เป็นปรากฏการณ์ที่น่ากลัวคือมันจะดึงพวกเราทั้งหมดเข้าไปเกี่ยวด้วย เพราะถ้าหากถูกดึงเข้าไปมันจะพันไปหมดเลย NGO (Non-governmental organization) เองที่ครั้งหนึ่งควรจะมีอิสระโดยสัมพัทธ์จากรัฐ ก็กลายเป็น GO (Governmental Organization) ไป ก็จะพังอีก


แนวโน้มทางเดียววันนี้ ที่น่าจะเกิดขึ้นคือภาคประชาชนทั้งหมด ถอยออกมาจากการรักทักษิณ ถอยออกมาจากการรับใช้พลเดช ถอยออกมาทั้งหมด มาตั้งหลัก แล้วคิดกันใหม่ ภาคประชาชนต้องคิดตรงนี้ให้ชัด คือความเป็นอิสระ ไม่อย่างนั้นแล้วการเมืองข้างบนจะลากเอาเราไปเป็นพวกทักษิณตีทหาร ลากไปเป็นพวกทหารตีทักษิณ ถามว่าใครได้ประโยชน์ เราไม่ได้เลย


สรุปก็คือว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะชี้ให้เห็นว่าการเมืองไทยจะป่วนหนักขึ้น ทางออกของเราก็คือว่า ถ้าเราจะรับ...รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็แก้ใหม่ทั้งหมด ซึ่งเป็นไปไม่ได้ ถ้าไม่รับ อะไรจะเกิดขึ้น ...ไม่รับก็ต้องเลือกตั้งแน่ๆ แต่ด้วยรัฐธรรมนูญฉบับไหน


"ทั้งหมดคือ ภาคประชาชนต้องรักษาความเป็นอิสระจากรัฐให้มากที่สุด รักษาหนทางการต่อสู้ที่ผ่านมาของเรา ถ้าตกเป็นทาสแบบนี้ ผมว่าเราตีกันเองแน่ โดยที่ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร"


000


3.ไตรอัปลักษณะร่างรัฐธรรมนูญ 3 ประการ


ผศ.สมชาย ปรีชาศิลปะกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่



สมชาย ปรีชาศิลปกุล







รัฐไม่เชื่อในสิทธิในการอัตตวินิจฉัยของประชาชน ... เพราะฉะนั้น มันจึงไม่แปลกที่ต้องมีมาตรา 68 วรรคสอง มันมีองค์กรโป๊ยเซียนเหมือนเทพ 8 คนน่ะ คล้องแขนกัน ถือง้าว ถือกระบอง ... มาตรา 68 วรรคสอง สอดคล้องกับความคิดในรัฐธรรมนูญฉบับนี้อย่างยิ่ง


เวลาอ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้คิดว่ามันให้ภาพการเมืองไทยที่ผมคิดว่าเป็นภาพการเมืองไทยที่มันกำลังจะเกิดขึ้น คือช่วงเกิดรัฐประหารและการร่างรัฐธรรมนูญ มันสะท้อนให้เห็นมิติภาพของการเมืองออกมาได้ โดยช่วงเช้าผมเพิ่งไปพูดที่สมาคมนักข่าวฯ มา ซึ่งผมเสนอสิ่งนี้


ผมคิดว่าเวลาอ่านรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มันมีฐานความคิดหลักที่ไม่พึงประสงค์ หรือฐานความคิดหลักที่น่าเกลียดชังก็ได้ หรือไตรอัปลักษณะของร่างรัฐธรรมนูญ 3 ประการ ซึ่งสะท้อนภาพการเมือง


เรื่องแรก รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งที่เราเห็นเป็นปรากฏการณ์คือในตัวบทบัญญัติหลายๆ เรื่อง ทั้งหมดขมวดปม เรื่องแรก คือมันพยายามพุ่งเป้าไปจัดการกับระบบการเมืองที่จะสร้างนักการเมืองหรือพรรคการเมืองที่เข้มแข็งขึ้นมา ผมคิดว่าที่อาจารย์นิธิพูดว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้คือ "หมายจับทักษิณ" น่ะ ใช่เลย ตรงตัวที่สุด


คือทำอย่างไรก็ได้ จะออกแบบระบบการเมืองอย่างไรก็ได้ เพื่อให้คนอย่างทักษิณไม่กลับมาอีก หรือพรรคไทยรักไทยไม่กลับมาอีก คือหมายความว่า นักการเมืองที่ได้รับความนิยม หรือพรรคการเมือง ที่ได้ 16 ล้านเสียง แบบว่ากูไม่เอาแบบนี้แล้วน่ะ


ถ้าเราดูระบบการเลือกตั้ง มันถูกทำเสนอขึ้นมาเพื่อทำให้พรรคการเมืองมันเละเทะ กระทั่งมันมีระบบเลือกตั้ง เดิมมันมีเขตเดียวเบอร์เดียว ตอนเสนอใหม่มันมีหลายระบบ คือจนกระทั่งบางระบบ ซึ่งผมฟังแล้วก็อึ้ง เช่น ให้แบ่งเขต เขตหนึ่งมี ส.ส.ได้ 3 คน แล้วก็บอกว่าจะกลับไปย้อนก่อนหน้านี้คือแบ่งเขตเรียงเบอร์ เขตหนึ่ง 3 คน เวลาเราเลือกได้ 3 คน จะเลือกจากไทยรักไทย ประชาธิปัตย์ ชาติไทย ก็ได้


มีคนแย้งว่าแบบนี้ไม่เสมอภาค บางเขตเลือกได้เสียงหนึ่ง คือบางเขตมี ส.ส. ได้คนเดียว ก็เลือกได้เสียงเดียว บางเขตมี 3 คนเลือกได้ 3 เสียง ไม่เสมอภาค กรรมาธิการบอกว่า ไม่เป็นไร เขตที่มี ส.ส.3 คน ก็ให้ประชาชนเลือกได้เบอร์เดียว คือคุณดู คุณมาจากพรรคเดียวกัน 3 คน แต่เวลาไปหาเสียง คนจะเลือกแค่คนใดคนหนึ่งได้ หมายความว่า ตีกันตายเลย ผู้สมัครไม่จำเป็นต้องไปด้วยกันหรอก คือหมายความว่าความเป็นกลุ่มเป็นก้อนของระบบการเมืองมันไม่มี และมันจะแตกกระจาย สุดท้ายถูกด่าเยอะเขาก็เลิกไปนะครับ


ถ้าเราดูระบบปาร์ตี้ลิสต์ที่จะเลิก ระบบการเลือกตั้งใหม่ จำนวนวัน สังกัดพรรค อะไรทั้งหมดนี้ก็ตาม มันมันพุ่งเป้าหมายด้วยการให้พรรคการเมืองเข้มแข็งไม่มี โอกาสที่จะเกิดขึ้นไม่มี นักการเมืองที่เข้มแข็งไม่มี อันนี้คือฐานความคิดแรกนะครับ


ประเด็นที่ต้องคิดต่อคือว่า พรรคการเมือง นักการเมืองมีปัญหาหรือเปล่า ใช่ มีปัญหา แต่มีปัญหาแล้วเราจะจัดการอย่างไร ทำให้พรรคการเมือง นักการเมืองอ่อนแอลงแบบนี้หรือ ผมคิดว่าถ้าสังคมไทยไม่ความจำสั้นเกินไป ระบบการเมืองที่พรรคการเมืองอ่อนแอ มันจะนำไปสู่อะไร ช่วง พ.ศ. 2520-2530 สิ่งที่เราเห็นคือ คุณเลือกตั้งไปเถอะ แต่ได้ พล.อ.เปรม มานั่งเอ้เต้เป็นนายกฯ น่ะ ไม่มีพรรคไหนหือเลยน่ะ ทุกพรรคก็ เออๆ เอา พล.อ.เปรมโว้ย เมื่อไหร่ก็ตามที่เราไม่ทำให้ระบบพรรคการเมืองเข้มแข็ง สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือว่า ระบบราชการ คือพูดง่ายๆ ขุนนาง พร้อมจะแทรกขึ้นมา ซึ่งผมคิดว่าสิ่งนี้ต้องระวังนะครับ ซึ่งสัมพันธ์กับประเด็นที่สอง


สิ่งที่เราเห็นคือว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้กำลังสะท้อนสิ่งที่เรียกว่า ระบอบอำมาตยาธิปไตยโฉมหน้าใหม่ ถ้าเรียกไพเราะหน่อยคือ "นวอำมาตยาธิปไตย" ระบอบอำมาตยาธิปไตยมันหมายความว่า ระบบการเมืองการปกครอง ของข้าราชการ โดยข้าราชการ เพื่อข้าราชการ ระบบการเมืองที่เรียกว่า "อำมาตยาธิปไตย" จะถูกตรวจสอบน้อย มีความสัมพันธ์กับประชาชนน้อย ถ้าพูดให้ชัดเจนเทียบกับนักการเมือง นักการเมืองด่าได้ แต่ถ้าเป็นขุนนาง โอกาสที่จะถูกด่าน้อยมาก ผมคิดว่าคุณสพรั่งเป็นตัวอย่างที่ดี ตอนที่แกไปเมืองนอก มีนักข่าวไปถามว่าใช้เงินส่วนตัวหรือส่วนรวม คุณสพรั่งก็ตอบว่า ประทานโทษผมเป็นวีรบุรุษ รู้จักไหม Hero น่ะ ไม่รู้จัก Hero หรือพวกนี้ ก็คือใครอย่ามาตรวจสอบกู


คือ สิ่งที่เป็นปัญหาของระบอบอำมาตยาธิปไตย คือเปิดช่องให้สังคมตรวจสอบน้อยมาก และตัวอำมาตยาธิปไตยก็ไม่ต้องการ ไม่ใช่แค่ตัวคุณสพรั่งนะครับ พล.อ.เปรม ก็เคยเป็น ใครเกิดช่วงที่ พล.อ.เปรม เป็นนายกฯ ตอนที่มีอภิปรายไม่ไว้วางใจ ผมจำได้แม่นเลยว่า ตอนนั้นกำลังจะอภิปรายพอดี คุณทวี ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี เดินมาขอถอนชื่อ ชื่อไม่ครบ คือ ไม่ได้หมายความคุณทวีเกิดดวงตาเห็นธรรมขึ้นมาว่า พล.อ.เปรมเป็นคนดีนะ แต่เป็นเรื่องการเมืองหรือเปล่า อันนี้ก็ไม่รู้นะครับ นี่เป็นระบอบอำมาตยาธิปไตยแบบเดิม ทหารเล่นบทบาทหลักในทางการเมือง


ก่อนหน้านี้ ตัวบทรัฐธรรมนูญเป็นแบบนี้ คือไม่ห้ามข้าราชการประจำเป็นนายกรัฐมนตรี ทหารเป็นนายกฯ ได้ ทหารเป็นรัฐมนตรีได้ เป็นวุฒิสมาชิกได้ ทหารเล่นบทบาทนำในการเมืองแบบระบอบอำมาตยาธิปไตย


แต่ว่าหลังกันยายน 2549 สิ่งที่เราเห็นคือ ทหารมีกองหน้านะครับ แต่ว่าศาลเข้ามาเป็นกองกลางเสริมมากขึ้น ศาลมีบทบาทเล่นมากขึ้น ถ้าหากร่างรัฐธรรมนูญ 2550 สิ่งที่เราเห็นก็คือว่าองค์กรอิสระทุกองค์กร ผู้ตรวจการรัฐสภา ปปช. ปปง. อะไรไม่รู้เต็มไปหมด ศาลจะเข้ามาเป็นผู้คัดเลือก อันนี้ ขอย้ำนะครับ เป็นสาระสำคัญนะครับ ไม่ได้บิดเบือนรัฐธรรมนูญนะครับ


ระบอบอำมาตยาธิปไตยหน้าใหม่ ผมคิดว่า "ศาล" เข้าเล่นบทบาทนำแง่ของในการเป็นผู้คัดเลือกคนที่จะเข้าไปดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมถึงวุฒิสมาชิกด้วย คำถามคือถ้าเราเชื่อมั่นในความเป็นกลาง ถ้าให้ศาลเลือกศาลจะเลือกใคร


ผมเดานะ ศาลจะเลือกพ่อหลวงจอนิ (โอโดเชา) (ผู้ร่วมเสวนาหัวเราะ) ศาลจะเลือก จินตนา แก้วขาว กระนั้นหรือ อย่าว่าแต่จะเลือกเลย พ่อหลวงจอนิเป็นใคร


คนที่ศาลรู้จักคือใคร ถ้าจะเลือกมีสองส่วน คือหนึ่ง ผู้พิพากษาเกษียร มองไปทั่วหล้าแล้ว คนที่เป็นเทวดา เชิญกันมา เหมือนที่เราเห็นอยู่ในองค์กรต่างๆ สอง ก็ต้องเลือกข้าราชการระดับสูง ประชุมกันก็เจอคนระดับ อธิบดี ผบ.ตร. ก็เลือกกันอยู่แค่นี้แหละ


ผมคิดว่าภาพของการเมืองไทยที่เห็น จะมีการเลือกหรือเปล่า การเลือกตั้งถูกปฏิเสธไม่ได้ต้องมี แต่นักการเมือง พรรคการเมืองจะอ่อนแอจนน่ารังเกียจ จนกระทั่งวันนี้ ให้ตายเถอะ เคยเห็นพรรคการเมืองมันแหย... เขาเขียนรัฐธรรมนูญยังไงก็ เออๆๆ คือในใจผมก็อยากให้พรรคการเมืองเข้มแข็งเกิดขึ้น แต่เราต้องคุมเขาได้ แต่ผลที่สุดพรรคการเมืองมันแหย


ซึ่งถ้าตัวระบบการเมืองในอนาคตข้างหน้า อย่างน้อยหนึ่งปี หรือสองปี ข้างหน้า พรรคการเมือง นักการเมืองอ่อนแอแน่ๆ และในขณะเดียวกัน มีผู้ควบคุม ซึ่งเป็นเทวดาผู้ทรงคุณธรรม มาคอยกำกับไม่ให้นักการเมืองนอกลู่นอกทาง นักการเมืองชั่วช้า ผ่านองค์กรอิสระต่างๆ โดยศาลเป็นผู้คัดเลือก อันนี้คือภาพการเมืองไทย


ในร่างรัฐธรรมนูญนี้ ประเด็นที่สาม ที่น่าสนใจคือ ในประเด็นเรื่องสิทธิเสรีภาพ มีหลายมาตราที่ดูเหมือนจะดีขึ้น เช่น เรื่องสิทธิชุมชน อันนี้เป็นประเด็นสำคัญของขบวนการเคลื่อนไหวทางภาคเหนือ ที่ผ่านมาเรื่องสิทธิชุมชน ในมาตรา 16 ของรัฐธรรมนูญ (2540) มันมีสิ่งที่เรียกว่า "ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ" กฎหมายไม่บัญญัติเลยใช้ยึดติดไม่ได้


การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย จากเดิม 50,000 ลดเหลือ 20,000 คือมันมีทั้งหมดอะไรในรัฐธรรมนูญ เออ มันลืมได้นะ อย่างเช่นหมวดสิทธิเสรีภาพ ครั้งนี้เป็นครั้งแรก ผมนั่งไล่รัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ 2475 นะ จากเดิมที่ไม่เคยมีในรัฐธรรมนูญ ครั้งนี้มีการจัดหมวดหมู่แยกแยะอย่างชัดเจน 13 ส่วน โอ้โฮ! ไม่เคยเห็นมาก่อน อันนี้เป็นนวัตกรรมใหม่เลยนะครับ แยกเรื่องสิทธิเสรีภาพจากเดิมที่ไม่เคยมี ตอนนี้มันเยอะขึ้นต้องจัด 13 ส่วน


ผมเสนอแบบนี้ ผมคิดว่าเวลาเรามองสิทธิเสรีภาพในทางการเมือง ควรจะแบ่งเรื่องนี้ได้เป็นสองส่วนสำคัญ เรื่องแรก มันเป็นสิทธิ ที่รัฐจะเล่นบทบาทในเชิงเป็นผู้ให้ หรือเป็นผู้ควบคุม สิทธิแบบแรก เช่น สิทธิทรัพย์สินของเอกชนจะได้รับการคุ้มครอง สิทธิของประชาชนแห่งกระบวนการยุติธรรมจะได้รับการปกป้อง สิทธิแบบนี้ มันถูกเขียนไว้ รวมถึงสิทธิสวัสดิการต่างๆ ในด้านศึกษา และสาธารณสุข ผมคิดว่าสิทธิแบบนี้เขียนไว้ดี แต่ว่าบทบาทของรัฐที่ถูกกำหนดไว้ในสิทธิแบบนี้ สิทธิมันดูดีขึ้น แต่ว่าดูดีโดยรัฐเล่นเป็น Protector รัฐทำหน้าที่ผู้ปกป้องสิทธิให้ประชาชนทั้งหลาย


แต่ถ้าอ่านแบบ มันเป็นสิทธิที่เรียกว่า สิทธิในเชิงรุก สิทธิในการเป็นอัตตวินิจฉัย สิทธิในการที่ประชาชนจะแสดงความต้องการ หรืออำนาจให้กับประชาชน ถ้าอ่านเรื่องนี้จะมีปัญหาทันที


อย่างเช่นเข้าชื่อเสนอกฎหมาย จาก 50,000 คน ลดเหลือลง 20,000 หลายคนว่า 'เออ ดีขึ้น'


แต่ปัญหาการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ผมคิดว่าไม่ใช่เรื่องจำนวน ผมว่าปัญหาใหญ่มันคือขั้นตอน ทั้งก่อนและหลังเข้าสภา เช่น ถึง 20,000 อย่างไร พอยื่นเข้าไปปุ๊บสุดท้ายก็ถูก ส.ส.ปู้ยี้ปู้ยำอยู่ดี เพราะฉะนั้นจำนวนผมคิดว่าไม่ใช่ปัญหามาก สิ่งที่สำคัญที่สุดคือกระบวนการทั้งหมดยังตัดตอน เออ เข้าชื่อมาสิ เสนอไปแล้วแต่จะมีเปลี่ยนแปลงแก้ไข เช่น ชาวบ้านเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายว่าหมูต้องเป็นหมู เข้าถึงสภา สภาขอเปลี่ยน ขอให้หมูกลายเป็นหมา ก็เปลี่ยนไป


อันหนึ่งที่น่าสนใจ สิทธิการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ สิ่งที่เรียกว่าการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ รัฐธรรมนูญไทยเขียนแบบนี้มาตั้งแต่ 2492 แล้วก็เขียนลอกต่อๆ กันมา ไม่เปลี่ยนเลยสักคำ


คำถามคือ สิทธิในการชุมนุมของประชาชนมีปัญหาไหมครับ มีไหม ผมคิดว่ามันมีเยอะมาก ตัวอย่างเช่น ชาวบ้านปากมูล มาชุมนุมหน้ารัฐสภา คุณสมัคร สุนทรเวช มาถึงบอกเลยว่าอันนี้ผิดเทศบัญญัติว่าด้วยเรื่องการรักษาความสะอาด พูดแบบหยาบคายหน่อยคือ อันนี้ผิดกฎหมายว่าด้วย มึงฉี่ไม่เป็นที่เป็นทางน่ะ ก็ให้ชาวบ้านกลับ ชาวบ้านอ้างรัฐธรรมนูญ แต่สู้กฎหมายเรื่องฉี่ข้างทางไม่ได้ ก็ต้องกลับ อันนี้เป็นปัญหาของการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญหรือเปล่า-ก็เป็นปัญหา


คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญไม่สนใจปัญหานี้เลย 2492 เขียนอย่างไร 2550 กูก็ร่างเหมือนเดิม เพราะฉะนั้น ที่มันเป็นปัญหาก็คือ สิทธิอันไหนที่เป็นสิทธิที่ประชาชนจะแสดงออกเพื่อที่จะกำหนดชะตากรรม หรือเพื่อที่จะบอกว่าอยากได้อะไร อันนี้ไม่ได้ถูกเขียนไว้ชัดเจน แต่ที่ถูกเขียนไว้ชัดเจนคือแง่ของรัฐเล่นบทบาท Protector เราจะไม่ให้ใครมาคุกคามเจ้า เราจะให้การศึกษาแก่เจ้า


อันหนึ่ง ที่ผมคิดว่าสะท้อนชัดเจนคือ สิทธิในการเลือก คือในระบบตัวแทน มันไม่มีวิธีการอื่นที่เป็นสากลมากกว่าการเลือก การเลือกเป็นสิทธิที่ประชาชนใช้เรื่องต่างๆ เราจะเห็นได้ว่า สิทธิในการเลือก ในการลงคะแนน ในการกาบัตร ถูกจัดกัดมากขึ้น ส.ส.ก็ลดน้อยลง ส่วน ส.ว.ก็อย่าไปเลือกเลย เลือกแล้วเดี๋ยวประชาชนถูกหลอกน่ะ


โดยนัยยะมันหมายความว่า รัฐไม่เชื่อในสิทธิในการอัตตวินิจฉัยของประชาชน เข้าชื่อไปสุดท้ายก็ตัดตอนที่รัฐสภา คือทั้งหมดมันสะท้อนภาพว่าเห็นประชาชนเป็นทารกทางการเมือง พูดภาษากฎหมายคือประชาชนเป็นผู้ไร้ความสามารถทางการเมือง


เพราะฉะนั้น มันจึงไม่แปลกที่ต้องมีมาตรา 68 วรรคสอง มันมีองค์กร ที่ผมเรียกว่าองค์กรโป๊ยเซียน ที่มี 8 คนน่ะ และพอมันเสนอชื่อองค์กรมันเหมือนเทพ 8 คนน่ะ คล้องแขนกัน ถือง้าว ถือกระบอง (ผู้ร่วมเสวนาหัวเราะ)


มาตรา 68 วรรคสอง สอดคล้องกับความคิดในรัฐธรรมนูญฉบับนี้อย่างยิ่ง เพราะว่าอะไร เพราะถ้ามีวิกฤตชาติ ถ้าปล่อยให้ประชาชนแก้ไขเอง ถ้าปล่อยให้ประชาชนเคลื่อนไหว มันก็ชุมนุมสองแสน-หนึ่งแสน ประเทศชาติเดือดร้อน เพราะฉะนั้นไม่ต้องชุมนุม เดี๋ยวเรา เทวดาของสังคมไทยจะจัดการให้ พวกเจ้าเป็นทารก เป็นผู้ไร้ความสามารถ ถ้าปล่อยพวกเจ้าเคลื่อนไหวปุ๊บเนี่ย พวกเจ้าจะถูกหลอกได้ ถูกชักจูงได้


เพราะฉะนั้น คุณมีชัยถึงได้เสนอร่างกฎหมายเรื่องประชามติว่า ห้ามออกไปชี้นำการลงประชามติเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญว่าจะเอาหรือไม่เอา ทำไมถึงกลัวการชี้นำครับ เพราะคุณคิดว่าพวกประชาชนที่ลงประชามติเป็นพวกโง่ มันโง่ เนี่ยโง่ ดังนั้น เราในฐานะเทวนาที่มีภาระหน้าที่เยอะ ต้องคอยกำกับว่า เออ อย่านะ อย่าไปบิดเบือน ถ้าบิดเบือนประชาชนโง่ๆ จะถูกชักจูงง่ายๆ


คือคำถาม ใครมีโอกาสบิดเบือนรัฐธรรมนูญได้มากที่สุด เวทีที่นั่งอภิปรายนี้ กับคุณมีชัยพูดแกรกเดียว หรือคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 35 คน พูดใครมันจะมีความสามารถในการเข้าถึงสื่อ และพูดมากกว่ากัน ที่นั่งกันอยู่ที่นี่พูดไปเถอะ หนังสือพิมพ์เขาไม่ลงเต็มๆ ยกเว้นในเว็บไซต์... (ผู้ร่วมเสวนาหัวเราะ) พูดไปเถอะได้ลงอย่างมาก 5 บรรทัด  1 คอลัมน์ อรรถจักร สัตยานุรักษ์เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เป็นประชาธิปไตย สมชาย ปรีชาศิลปะกุลเห็นพ้อง จบ (ผู้ร่วมเสวนาหัวเราะ) ในขณะที่คุณมีชัยพูดว่าไง ลงกันพรืดๆ ๆ ๆ โอ้โฮ


คือแบบนี้ ที่ว่า ห้ามบิดเบือน ห้ามชี้แจงบิดเบือนในสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญ ดังนั้นคำถามที่ผมถามคือแบบนี้ สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับนี้คืออะไรครับ ถ้าผมจับสมาชิกสภาร่างรับธรรมนูญ 100 คน และกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ 35 คน มานั่งตอบคำถามนี้โดยแยกนะครับ เหมือนนักเรียนทำข้อสอบแยกกัน เลขที่ 1 ถึง เลขที่ 100 เลขที่ 1 ถึง เลขที่ 35 ต่างคนต่างแยกทำ ห้ามลอกกัน คุณคิดว่าจะตอบเหมือนกันไหม ประทานโทษเถอะ ให้ตายเถอะ ผมว่าไม่เหมือนกันหรอก แล้วใครบิดเบือนสาระสำคัญล่ะ


ในทัศนะของผม ถ้าไม่ใช่การทำประชามติ ใครจะบิดเบือนให้มันบิดเบือนไปเถอะครับ ให้บิดเบือนไปเลย แล้วให้ถียงกัน


ผมคิดว่าสิ่งที่น่าจะเป็นหัวใจของการร่างรัฐธรรมนูญ ผมคิดว่าการร่างรัฐธรรมนูญมันควรจะต้องเถียง ทั้งหมดเปิดโอกาสให้เถียงกันได้ บางคนอ่านรัฐธรรมนูญแล้วตีความแบบหนึ่งก็ต้องเปิดโอกาส ประทานโทษอันนี้ประชามติ ไม่ใช่มีชัยมติ ส่วนสมชายมติก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง คือเรื่องนี้ต้องยอมรับว่าการเถียงเป็นสิ่งที่สำคัญ







"หัวใจที่เราจะทำในวันนี้ คือทำให้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญกลับมาสู่สังคม แทนที่จะทำให้เป็นเรื่องในห้องเล็กๆ ของเทวดาไม่กี่คน ทำให้การเขียนรัฐธรรมนูญกลับมาสู่สังคมให้ได้ อย่าไปปล่อยให้เทวดาไม่กี่คนมานั่งเขียน อยากเขียนอะไรก็เขียน อยากตัดอะไรก็ตัด อยากเปลี่ยนอะไรก็เปลี่ยน"


โดยภาพที่ผมเห็นเป็นแบบนี้ ผมคิดว่าเราจะเห็นการเมือง 3 แบบ


หนึ่ง นักการเมือง พรรคการเมือง ถูกทำให้อ่อนแอลง


สอง เราจะเห็นระบอบอำมาตยาธิปไตยหน้าใหม่ เข้ามาจัดการการเมือง


และในขณะที่ สาม ผมคิดว่าประชาชนส่วนหนึ่งอาจจะยินดีปรีดา ไปกับสิ่งที่เรียกว่า "สิทธิ" ที่มีมากขึ้น แต่ผมคิดว่าโดยพื้นฐานความคิดของผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มองเห็นประชาชนเป็น "ผู้ไร้ความสามารถทางการเมือง" เพราะฉะนั้นเราจึงจำเป็นต้องมี "โป๊ยเซียน" มาช่วยควบคุมการเมือง ให้มันดำเนินไปได้อย่างราบรื่น การเมืองของทารกมันจึงไว้ใจไม่ได้ เป็นการเมืองแห่งความวุ่นวาย เป็นการเมืองแห่งความโง่เขลาทั้งสิ้น


จุดเริ่มต้นคือ เราไม่ควรจะฝากอะไรกับใครไว้กับคนอื่น อยากทำอะไรทำ เป็นเรื่องที่เราอยากทำอะไรต้องทำ เช่นกลุ่มเยาวชนอยากบอกว่าไม่เอาเรื่องรัฐธรรมนูญ ก็ประกาศไปเลย เราไม่เอา จะจัดเวทีอะไรก็ได้ยื่นไปเลย ผมคิดว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะผ่านหรือไม่ผ่านก็ตาม มันไม่มีเงาหัวแล้ว ถึงผ่านมันจะถูกแก้ไขและเปลี่ยนแปลงในระยะเวลาไม่นาน


สิ่งที่พวกเราควรจะทำ คือควรเถียงกันให้เยอะๆ อย่าไปเชื่อคุณมีชัย เริ่มต้นด้วยการบอกว่า ที่คุณมีชัยบอกว่ามีชี้นำอะไร อย่าไปเชื่อคุณมีชัย หัวใจที่เราจะทำในวันนี้ คือทำให้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญกลับมาสู่สังคม แทนที่จะทำให้เป็นเรื่องในห้องเล็กๆ ของเทวดาไม่กี่คน ทำให้การเขียนรัฐธรรมนูญกลับมาสู่สังคมให้ได้ อย่าไปปล่อยให้เทวดาไม่กี่คนมานั่งเขียน อยากเขียนอะไรก็เขียน อยากตัดอะไรก็ตัด อยากเปลี่ยนอะไรก็เปลี่ยน


เมื่อเริ่มต้นเถียง ในท่ามกลางการเถียงเสียงจะกระจัดกระจาย ข้อเสนอของผมคือทำอย่างไรให้การเถียงเกิดการรวมกลุ่มขึ้น เช่นกลุ่มเยาวชนรวมกลุ่มขึ้น ผมในแง่อาจารย์รวมกลุ่มกัน แลกเปลี่ยนและเสนอความเห็น ถ้าเรารวมกันเป็นกลุ่มมากขึ้น จะทำให้การเสนอความเห็นของเราจะมีน้ำหนักมากขึ้น สิ่งที่ต้องคิดคือรัฐธรรมนูญนี้ไม่นานหรอกและมันก็จะไป สิ่งที่เราต้องทำคือทำโดยยืนอยู่บนขาตัวเองและลมหายใจของตัวเอง สำเร็จไม่สำเร็จเราก็รู้ว่าเราจะกำหนดอะไรได้หรือไม่ได้บ้าง แต่ถ้าเราไปฝาก รัฐธรรมนูญ 2540 เราก็ไม่รู้อะไร ทำได้แค่รอ ถ้าเราไปคนเยอะๆ เขาจะมาถ่ายรูปกับเราและคุยกับเรานานหน่อย ถ้าเราไปคนเดียว เขาจะปล่อยให้เราตากฝนคนเดียวข้างหน้านั้น.


000


4.การรัฐประหารคือชนชั้นบนแย่งอำนาจกันและพาเราไปเจ็บตัว


สมศักดิ์ โยอินชัย แนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือ (นกน.)








"คิดว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 อ่านบ้างไม่อ่านบ้างก็ได้ คิดว่าอาจจะต้องร่างใหม่ แต่ว่าพวกเรา โดยเฉพาะคนชั้นล่างต้องคิดหาทางเรียนรู้ความขัดแย้งทางการเมือง ที่ชนชั้นบนขัดแย้งกันเพราะอะไร และทำไมต้องชักชวนเราไปขัดแย้งด้วย ถ้าประชาชนไม่เรียนรู้ความขัดแย้งทางการเมืองนี้ เมื่อไหร่ที่การเมืองสงบนิ่งเขาก็จะกินเราไปเรื่อยๆ"


ขอมองการรัฐประหารที่ผ่านมาสองอย่าง หนึ่ง ชนชั้นบนแย่งอำนาจกัน เหตุการณ์รัฐประหารครั้งนี้ ทำให้ตนนึกถึงการรัฐประหารในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ที่ชนชั้นนำเข้ามาแย่งอำนาจทางการเมืองของ นักศึกษา ชาวนา กรรมกร คนทุกข์คนยาก ที่ฆ่ากันตายที่ธรรมศาสตร์


การรัฐประหารคือการแย่งชิงอำนาจของคนชั้นบน และระหว่างคนชั้นบนและคนชั้นล่าง แต่ครั้งนี้เห็นชัดว่าเป็นการแย่งอำนาจทางการเมืองของคนข้างบน คือของคนมีอำนาจทางการเมืองและอำนาจทางเศรษฐกิจ เป็นเรื่องของคนมีอำนาจกับคนมีสตางค์แย่งอำนาจกัน แต่ว่าเขาตีกันเองยังไม่พอ ยังพาพวกเราไปด้วย พวกหนึ่งอยู่สะพานมัฆวาน อีกพวกอยู่สวนจตุจักร ถือเป็นพัฒนาการทางการเมืองของพวกที่พาคนไปตีกัน


แต่ผมมองว่าจุดนั้น ถ้าหากว่า ถ้าให้กระบวนการเรียนรู้กระบวนการความขัดแย้งทางการเมืองตรงนั้นชาวบ้านจะได้เรียนรู้ รัฐประหารถามว่ามีประโยชน์ชาวบ้านไหม ไม่มีครับ ถ้ามองไปจริงๆ จากต้นจนปลายการรัฐประหาร 19 กันยาเป็นครั้งล่าสุด และน่ากลัวว่าจะไม่ใช่ครั้งสุดท้าย แต่ที่แน่ๆ คือ ไม่มีประโยชน์อะไรกับคนทุกข์คนยาก


คิดว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 อ่านบ้างไม่อ่านบ้างก็ได้ คิดว่าอาจจะต้องร่างใหม่ แต่ว่าพวกเรา โดยเฉพาะคนชั้นล่างต้องคิดหาทางเรียนรู้ความขัดแย้งทางการเมือง ที่ชนชั้นบนขัดแย้งกันเพราะอะไร และทำไมต้องชักชวนเราไปขัดแย้งด้วย ถ้าประชาชนไม่เรียนรู้ความขัดแย้งทางการเมืองนี้ เมื่อไหร่ที่การเมืองสงบนิ่งเขาก็จะกินเราไปเรื่อยๆ.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net