Skip to main content
sharethis

ท่ามกลางการเรียกร้องอย่างยาวนาน ให้เปิดเผยข้อมูลการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) โดยเฉพาะไทย-สหรัฐที่กำลังจะมีการเจรจารอบที่ 5 ปลายเดือนก.ย.นี้ วันนี้(13 ก.ย.) ถือเป็น ครั้งแรก ที่ "นิตย์ พิบูลสงคราม" หัวหน้าคณะเจรจาเอฟทีเอไทย-สหรัฐ ร่วม "เวทีภาคประชาชน" เพื่อชี้แจงผลการเจรจา-ท่าทีของคณะเจรจาไทย รวมทั้งนั่งตอบความเคลือบแคลงสงสัยต่างๆ ให้ภาคประชาชนฟังกันแทบไม่กะพริบตาเต็มเวลา 30 นาที


 


- - - - - - - - - - - - - - - - -


 


นิตย์ พิบูลย์สงคราม


 


ต้องขอขอบคุณคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนที่ได้เชิญผมมาในครั้งนี้ และดีใจที่การสัมมนาครั้งนี้มีตัวแทนเกษตรกรเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ซึ่งน่าจะเป็นกลุ่มที่เคยถูกกระทบจากการทำเอฟทีเอกับประเทศต่างๆ แต่ขอให้คำนึงถึงว่าการเจรจากับแต่ละประเทศนั้นแตกต่างกัน


 


 


 


ผู้เข้าร่วมสัมมนา : มีหลักฐานอะไรที่รับรองว่าผลประโยชน์ที่ได้จะเป็นของประชาชนส่วนใหญ่ และการมีส่วนร่วมนั้นทำไมไม่ปรึกษารัฐสภา หรือวางกระบวนการรับฟังความคิดเห็นในวงกว้าง หรือให้มีการลงประชามติ?


 


นิตย์ : ทำไมเราไม่แจ้งรัฐสภา ผมเรียนมาหลายครั้งแล้วว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เป็นประเพณีของประเทศไทย ทำไมท่านยกขึ้นมาว่าเราควรทำตามอเมริกา ผมก็ไม่เข้าใจ นั่นเป็นประเพณีของเขา ที่การเจรจาการค้าของสหรัฐขึ้นอยู่กับอำนาจหน้าที่ของคองเกรส แต่ถ้าถามว่าในที่สุดเรื่องของเราต้องเข้าสู่รัฐสภาหรือไม่ ต้องเข้าอยู่แล้วเพราะว่าเป็นสนธิสัญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่มีการแก้ไขกฎหมาย ซึ่งคาดว่าต้องมี ขอกล่าวเลยเถิดไปถึงการแก้ไขกฎหมาย ท่านก็น่าจะพึงเชื่อได้ว่า เราจะแก้กฎหมายในส่วนที่เราต้องการที่จะแก้เพื่อผลประโยชน์ของเราเอง ไม่ใช่ถูกบังคับให้แก้


 


ส่วนการให้มีประชามติ อันที่จริงแล้วเราก็ทำ แต่ผมขอไม่ไปก๊อปปี้สหรัฐได้ไหม ทำแบบสหรัฐผมคิดว่าไม่มีความจำเป็น ของไทยเราก็เป็นประเทศเอกราช และผมคิดว่าการกระทำของเราก็เหมาะสมกับพวกเราเอง ที่แลกเปลี่ยนกันวันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของการเปิดกว้างรับฟังอยู่แล้ว และในส่วนตัวผมก็เข้าไปชี้แจงกับรัฐสภาหลายต่อหลายครั้ง รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ที่ต้องรวบรวมข้อมูลจากภาคประชาชน นอกจากนี้ยังมีสถาบันของเอกชนที่เราได้ติดต่อกันอย่างใกล้ชิด รวมถึงภาควิชาการอีก เช่น ทีดีอาร์ไอ มหาวิทยาลัยต่างๆ


 


ผมอยากระบายความในใจของผมบ้างว่า เรื่องที่รัฐบาลไปทำเป็นความตกลงระหว่างรัฐต่อรัฐ ฉะนั้น หน้าที่ของผมคือเจรจาให้เป็นไปตามที่รัฐบาลต้องการ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของชาติ ผมไม่ใช่คนเริ่มเจรจา


 


ในแง่ของรัฐบาลเขาก็คงต้องดูภาพรวมของประเทศทั้งหมด และสิ่งนี้ท่านก็อาจจะมีข้อกังขาบางอย่างได้ ผมเองก็คงมีเหมือนกันในบางเรื่อง


 


แต่อย่างไรก็ดี ผมยังมีความเชื่อมั่นว่ารัฐบาลคงมีความปรารถนาที่จะนำมาเพื่อสิ่งที่เป็นประโยชน์สูงสุดของประเทศ


 


 


ถ้าขณะนี้นายกรัฐมนตรีเจรจากับประธานาธิบดีบุช แล้วบอกว่าให้ดำเนินการเจรจาให้เสร็จภายในปีหน้า ทางคณะเจรจาคาดว่าจะดำเนินการได้ทันหรือไม่ ?


 


ผมยังไม่ทราบว่าจะมีคำสั่งนี้มาจากรัฐบาล ปัจจุบันสิ่งที่คณะเจรจายึดถือคือ มติที่เป็นข้อสังเกตของคณะรัฐมนตรีปี 41  "ซึ่งการเจรจาต้องใช้ระยะเวลายาวนานพอสมควร และหากผลการเจรจาไม่ได้เป็นไปในแนวทางข้างต้น กล่าวคือ ไม่เสมอภาค ก็ไม่สามารถลงนามระหว่างกัน" โดยสรุปก็คือไม่มี timeframe (กรอบเวลา) ตราบใดที่นายกฯ ยังไม่มีโทรศัพท์สั่งมาเป็นนโยบายของรัฐบาล


 


 


เรื่องทรัพย์สินทางปัญญาจะกระทบต่อผู้ใช้ยาอย่างมาก ยกออกจากโต๊ะเจรจาเลยได้หรือไม่ ?


 


คงเป็นไปได้ถ้าท่านจะไม่เจรจาเรื่องนี้ แต่ท่านก็คงไม่มีคู่เจรจา ก่อนที่จะมีการตกลงระหว่างประเทศที่เราเรียกว่า "เอฟทีเอ" ก่อนหน้านั้นมีโครงสร้างของความร่วมมือระหว่างกัน เรียกว่า "Framework Agree ment" ซึ่งนายกฯ ทักษิณลงนามร่วมกับประธานาธิบดีจอร์จ บุช ในนั้นได้กล่าวถึงประเด็นต่างๆ ในกรณีที่จะมีการเปิดการค้าเสรีระหว่างกัน ทั้งสองฝ่ายจะมีการเจรจาในเรื่องเหล่านี้ คำถามนี้จึงตอบยากในชั้นนี้เสียแล้ว เพราะเราตกลงว่าจะเจรจาไปแล้ว


 


ประเด็นที่สอง ถ้าไม่เจรจาเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา เขาก็อาจบอกได้ว่าไม่มีความจำเป็นต้องเจรจาเรื่องการนำเข้าสินค้าเกษตรของท่าน ซึ่งความร่วมมือระหว่างกันในเวลานี้ ในกรอบของเอฟทีเอมีกว่า 50 กว่ารายการแล้ว เป็นโครงการใหญ่ เช่น วิทยาศาสตร์ การเกษตร การแพทย์ และทรัพย์สินทางปัญญาด้วย


 


อย่างไรก็ตาม จนถึงเวลานี้เรายังไม่ได้ตกลงกันเป็นขั้นสุดท้ายว่าเรื่องของแรงงานและสิ่งแวดล้อมจะอยู่ที่ไหน จะอยู่เป็นปกต่างหากในกรอบของเอฟทีเอ หรือจะเป็นการตกลงร่วมกับเอฟทีเอคู่ขนานกัน


 


 


ใครจะเป็นคนตัดสินว่าการเจรจามีความเสมอภาค ความเป็นธรรมหรือไม่? เป็นไปได้หรือไม่ที่การนำเรื่องเอฟทีเอมาสู่รัฐสภา จะทำให้อำนาจต่อรองของรัฐสภามีส่วนช่วยคณะเจรจา?  ยกเลิกคำมั่นในการรักษาความลับที่ให้ไว้กับสหรัฐได้หรือไม่? เรื่องสิ่งแวดล้อม ในประเทศเอกราชไม่มีใครยอมให้ประเทศอื่นเข้ามาตั้งกลไกและประเมินการใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมภายในประเทศ ?


 


ในเรื่องเอกราช ไม่อยากให้หยิบยกมาพูดเป็นข้อถกแถลง เพราะที่จริงไม่ว่าเซ็นสัญญาระหว่างประเทศใดๆ ก็ต้องมีการยอมรับอะไรบางอย่างที่ไม่ใช่การยึดเหนี่ยวเอกราช 10,000% การเป็นสมาชิกของสหประชา ชาติก็เช่นเดียวกัน แต่ในแง่กฎหมายระหว่างประเทศมันคือสิ่งที่ท่านยอมรับโดยสมัครใจ


 


ประเด็นการรักษาความลับ ทำไมท่านไม่พูดถึงการเจรจาเรื่องอื่นๆ ที่เรามี เผอิญผมมีประสบการณ์ที่ต้องเจรจาเรื่องที่มีขีดความลับสูงกว่านี้ด้วย เรื่องที่เป็นความลับระหว่างประเทศนั้น ตามประเพณีปฏิบัติหรือตามมารยาทแล้ว มันทำไม่ได้ที่จะนำไปเปิดเผย เพราะฉะนั้น เรื่องนี้ท่านยอมเป็นความลับไม่ได้ ก็ไม่ควรจะทำเอฟทีเอ แต่เราทำไม่ได้เพราะเรามีคู่เจรจา คู่เจรจาเขาบอกว่าเอกสารของเขาคือเอกสารของรัฐบาลเขา แล้วท่านจะมีสิทธิอะไรเอาของเขาไปเปิดเผย บางเรื่องที่เรามีท่าทีอยู่แล้ว และมีความละเอียดอ่อน ถ้าเขาเอาไปเปิดเผยบ้างเล่า


 


เรื่องการมีส่วนร่วมพิจารณาของรัฐสภานั้น ท่านคงต้องไปพูดกับรัฐบาลว่าทำไมไม่เอาเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาตอนนี้เลย


 


หมายเหตุ จากงานสัมมนา "ข้อเสนอแนะก่อนหายนะ การเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีไทย-สหรัฐ : มุมมองจากบทเรียนเอฟทีระหว่างประเทศไทยกับจีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น และประสบการณ์จากต่างประเทศ" วันที่ 13 กันยายน 2548 จัดโดย คณะอนุกรรมการทรัพยากรชีวภาพและทรัพย์สินทางปัญญาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ,คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา, กรรมาธิการพัฒนาสังคมและทรัพยากรมนุษย์ วุฒิสภา, มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) , กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรี ภาคประชาชน (FTA Watch) ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net