Skip to main content
sharethis


อรรคพล สาตุ้ม

 


หมายเหตุ : บทความนี้เป็นตอนที่ 2 ของบทความชุด "การเปลี่ยนแปลงพรมแดนความรู้ : คติทางศิลปะ-ภูมิสถาปัตยกรรมและระบบนิเวศของวัด" ซึ่งปรับปรุงเพิ่มเติม และตัด เชิงอรรถกับบรรณานุกรมบางส่วนออกไป เพื่อให้เหมาะสมกับการนำเสนอในเวบไซต์ประชาไท โปรดดูเพิ่มเติมในผลงานชื่อหัวข้อเดิม คือ การเปลี่ยนแปลงพรมแดนความรู้ : คติทางศิลปะ-ภูมิสถาปัตยกรรมระบบนิเวศของวัดในชุมชนชายแดนสองฝั่งโขง ในวารสารชุดภูมิภาคศึกษา สำหรับรวมบทคัดย่อและข้อเขียน อาจารย์ นักศึกษาปริญญาโท ภูมิภาคศึกษา ปีที่1 ฉบับที่1 ,2549: 90-103 และ บทความนำเสนอ ใน การประชุมทางวิชาการระดับชาติ สาขาสังคมวิทยา ครั้งที่ 3 เรื่องความหลากหลายทางวัฒนธรรม และการพัฒนาภูมิภาคนานาชาติ 15-16 ธันวาคม 2549 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร


 


อ่านตอนที่ 1 การเปลี่ยนแปลงพรมแดนความรู้ : คติทางศิลปะ-ภูมิสถาปัตยกรรม ของวัดสองฝั่งโขง


 


..........................


 


 


ภาพแผนที่ในสมัยอาณานิคม (ที่มา: www.wikipedia.org)


 


การเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ของสองชุมชนและภายใต้อาณาจักร


ก่อนการเกิดอาณาจักรในประวัติศาสตร์ของชุมชนสองฝั่งแม่น้ำโขง ซึ่งอยู่ในรูปแบบการร่วมมือกันทางการค้าและความสัมพันธ์ระหว่างคนกับทรัพยากรธรรมชาติในแม่น้ำโขง ก็เคยมีกระบวนการดำเนินการทางด้านเศรษฐกิจร่วมกันมาแล้ว ในสมัยโบราณของประเทศไทยและลาว


 


ซึ่งความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจที่ผูกพันมาแต่โบราณนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากพื้นฐานความสัมพันธ์ทางด้านประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านภูมิศาสตร์ที่มีอาณาเขตบริเวณใกล้ชิดกัน ตลอดจนการมีภาษาพูดที่คล้ายคลึงกัน จนสามารถเข้าใจกันได้ดี ดังจะเห็นได้จากภาพความสัมพันธ์โดยรวมของภูมิศาสตร์เศรษฐกิจ ในวรรณกรรมสองฝั่งโขง ซึ่ง ศรีศักร วัลลิโภดม และ ไมเคิล ไรท์ รวมถึงนักวิจัยท่านอื่นๆ ได้รวบรวมข้อมูลและนำเสนอว่า ชุมชนสองฝั่งโขงนั้นน่าจะมีการค้าขายกันเองได้อย่างสะดวก และมีมานานแล้ว


 


จากภาพรวมดังกล่าว ผู้เขียนสันนิษฐานว่าในสมัยประวัติศาสตร์นั้น ด้วยความใกล้ชิดและมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันในลักษณะบ้านพี่เมืองน้อง น่าจะสันนิษฐานได้ว่า ต่างฝ่ายต่างมีการพึ่งพาอาศัยแลกเปลี่ยนสินค้ากัน ซึ่งเป็นไปตามลักษณะทางเศรษฐกิจของชุมชนโบราณที่ปรากฏอยู่ในลักษณะเดียวกันเกือบทุกภูมิภาค


 


ดังที่กล่าวมาข้างต้น พื้นที่ชุมชนสองฝั่งโขงนี้ ในตำนาน "วัดแก้ว วัดหลวง" ได้กล่าวถึงพระพุทธเจ้าเลียบโลกมาถึงขรนทีคือแม่น้ำโขง ในทางประวัติศาสตร์ ตั้งแต่นครโยนกนาคพันธุ์ของสิงหนวัติ จนถึงยุคของลวจังกราช พาผู้คนอพยพมาตั้งถิ่นฐานบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงตอนบน ใน พ.ศ. 1181 มีเมืองสำคัญ คือ เมืองหิรัญนครเงินยาง วิธีขยายอาณาเขตที่เรียกว่า ตวงบ้านตวงเมือง สมัยก่อนตั้งอาณาจักร ก็กล่าวถึง "ตวงบ้านตวงเมือง" คือการส่งราชบุตรออกไปสร้างเมืองใหม่ในบริเวณที่มีชัยภูมิดี เช่น อยู่ริมน้ำ ส่งผลให้อาณาเขตขยายตัวขึ้นแบ่งเป็นเขตศูนย์กลางการปกครองเดิมคือเมืองหิรัญนครเงินยาง (สันนิษฐานว่าเป็นอำเภอเชียงแสนในปัจจุบัน) เมืองฝาง และเมืองเชียงราย ซึ่งอาจจะเคยเป็นราชธานี ส่วนเมืองที่เกิดจากตวงบ้าน ตวงเมืองฐานะคล้ายลูกหลวง ได้แก่ เมืองเชียงของ และมีการบันทึกเมืองเชียงของเป็นภาษาบาลีว่า เมืองขรราช (ขรรัฐ)


 


ตำนาน ที่สำคัญกล่าวถึงการสถาปนาอาณาจักรล้านช้างในเขตลุ่มน้ำโขง จนถึงเจ้าฟ้างุ้ม ซึ่งถือเป็นกษัตริย์องค์แรก ที่เริ่มประวัติศาสตร์ลาว มีบทบาทรับพุทธศาสนาเข้ามาเป็นหลักเกณฑ์ของสังคมและขยายอาณาจักรพุทธศาสนาเป็นเครื่องมือทางการเมือง สะท้อนผ่านคติจักรวาลอันเกิดจากระบบไตรภูมิ


 


จนกระทั่งความสัมพันธ์ของทั้งสองอาณาจักรแนบแน่น เมื่อพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช มีอำนาจปกครองทั้งสองอาณาจักรล้านนา- ล้านช้าง มีการเชื่อมโยงทางสังคมวัฒนธรรม คือคติจักรวาลเป็นส่วนหนึ่งของการหล่อหลอมโลกทัศน์ชุมชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันสะท้อนแนวคิดกำเนิดโลก ธรรมชาติและปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยไม่สามารถควบคุมได้ตามกฎแห่งกรรม แสดงถึงชุมชนเลือกใช้วิธีคิดเข้ากับเงื่อนไขต่างๆ ภายในท้องถิ่นของตน โดยรับจากศาสนาฮินดู ศาสนาพุทธนิกายเถรวาท และความเชื่อพื้นบ้าน (สันฐิตา กาญจนพันธ์ 2547:123-129) ส่วนคติไตรภูมิแสดงถึงความสัมพันธ์ของคติน้ำระหว่างสัตตมหาสถานกับเมืองในชมพูทวีปคือภาพสะท้อนคติจักรวาลทางพุทธของมนุษย์และสัตว์ในป่าหิมพานต์


 


อย่างไรก็ดี ความเข้าใจที่เกี่ยวพันต่อสายสัมพันธ์ของชุมชนที่มีความเชื่อร่วมกันทางด้านศาสนา และด้านการปกครองในความผูกพันของอาณาจักรล้านนาและล้านช้างแล้ว ยังมีด้านปฏิสัมพันธ์ทางด้านการค้า จึงส่งผลต่อการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมอันเป็นตัวบ่งบอกความหมายของความสำคัญในเส้นทางการค้า และผลกระทบของปัจจุบันนี้ ว่าเหตุผลที่ทำให้ชุมชนเปลี่ยนแปลง เพราะความหมายของการรับรู้เกี่ยวกับแม่น้ำโขง ในอดีตกับโลกทัศน์ของคนปัจจุบันนี้แตกต่างกัน เนื่องจากต้องเข้าใจความหมายแผนที่ในอดีต หรือพรมแดนว่า เป็นความหมายของเส้นทางการค้านี้ ที่เคยมีระบบนิเวศเกี่ยวกับน้ำ คติจักรวาลแบบไตรภูมิ และความเป็นอิสระในปฏิสัมพันธ์ทางการค้า และการจับปลา เปลี่ยนแปลงไปดังที่จะกล่าวต่อไปถึงความสัมพันธ์ของสองชุมชนกับการเข้ามาล่าอาณานิคมของตะวันตก


                       


ความสัมพันธ์ระหว่างอาณาจักรต่อแม่น้ำโขง และการช่วงชิงอาณานิคมของตะวันตกกับสยาม


ชุมชนภายใต้การปกครองของอาณาจักรล้านนาและล้านช้างทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขงได้ปฏิสัมพันธ์กัน ในด้านการค้า เพราะท้องถิ่นเป็นอิสระทางเศรษฐกิจและมีส่วนร่วมในทางการค้าต่างประเทศโดยตรง (โยซิยูกิ มาซูฮารา.2546 :170) ซึ่งการค้าแต่เดิมในเชียงแสน-เชียงของ-เวียงแก่น เป็นการค้าขนาดเล็กระหว่างชุมชนสองฝั่งน้ำโขง แม่น้ำโขงมีบทบาทในการคมนาคมขนส่ง การไปมาหาสู่และการเชื่อมร้อยชุมชนต่อชุมชน และมีเมืองเชียงแสนเป็นเมืองท่าที่จะเดินทางไปสู่ตอนในของจังหวัดเชียงรายด้วยเส้นทางถนน การค้าระหว่างเมืองริมฝั่งของไทยกับลาวในลักษณะที่เรียกว่า "น้ำน้อย ก็ใช้เรือน้อย" ถือเป็นการค้าตามขนาดของฐานทุนทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมของแต่ละชุมชน ส่วนการค้ากับเมือง เช่น ลาวทางเหนือหรือจีน เป็นเส้นทางการค้าทางบกใช้ม้า ล่อ ลา บรรทุกต่างสินค้า เช่นเส้นทางการค้าโบราณระหว่างเชียงของไปเชียงรุ่ง


 


เมื่อกาลเวลาผ่านไปแล้ว เส้นทางการค้าก็เป็นตัวบ่งบอกแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการค้า ศาสนาอื่นๆ เชื่อมโยงปฏิสัมพันธ์แก่อาณาจักรล้านนา กับ "อาณาจักรอยุธยา" และอาณาจักรล้านช้าง ดังที่สะท้อนผ่านการค้าในชุมชน จวบจนอาณาจักรล้านช้างที่เคยเจริญรุ่งเรืองเรื่อยมาถึงพระเจ้าสุริยวงศาธรรมมิกราช ใน พ.ศ. 2237 เกิดการแย่งชิงอำนาจ และแตกออกเป็นสองอาณาจักร คือหลวงพระบางและเวียงจันท์ ต่อมาเวียงจันท์เกิดความวุ่นวายภายในและเกิดแย่งชิงอำนาจอีก จนกระทั่งราชครูโพนเสม็ก ผลักดันอาณาจักรจำปาศักดิ์ขึ้นทางตอนใต้ราวปี พ.ศ.2256


 


มีความขัดแย้งกันมากมาย ระหว่างทั้งสามอาณาจักร อันเป็นที่มาของความอ่อนแอ และทำให้ลาวตกเป็นประเทศราชของไทย ปีพ.ศ.2322 ในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ยุคกรุงธนบุรี(เราคงรับรู้ว่า พระนารายณ์เคยส่งกล้องดูสุริยุปราคา ตั้งแต่ในยุคอยุธยาแล้ว และความขัดแย้งในช่วงเวลาปลายสมัยกรุงอยุธยา น่าจะทำให้เกิดแนวคิดพุทธแบบพระเจ้าตากสิน และการปรับแนวคิดพุทธในช่วงต้นรัตนโกสินทร์) เมื่อ"ลาว"ตกเป็นประเทศราชอยู่นานถึง 114 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2322-2436 ระหว่างที่ไทยปกครองลาวก็เกิดกบฏเจ้าอนุวงศ์ขึ้น แต่ไม่สำเร็จ เช่นเดียวกันในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่ออาณาจักรล้านนา หลังจากฟื้นฟูอาณาจักรขึ้นมาใหม่ ผ่านพ้นยุคพม่าปกครองก็ตกอยู่ภายใต้อำนาจสยาม


 


อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจในอดีตของชุมชนตามอาณาจักรสัมพันธ์กับเส้นทางการค้า เป็นเหมือนเขตเศรษฐกิจชาวบ้าน เส้นทางการค้าทั้งสามสายจากการค้าในระบบการคมนาคมทางบกจากตาลีและคุนหมิง นี้มีความสำคัญมากสำหรับการยังชีพของชุมชนต่างๆ เพราะในเขตภูดอยห่างไกลเมืองท่าเช่นนี้ ความอัตคัดขาดแคลนเป็นปัญหาสำคัญ มิหนำซ้ำ ในระยะต้นของแม่น้ำสำคัญสี่สายที่ผ่านยูนนาน(แม่น้ำอิระวดี สาละวิน โขง และแม่น้ำแดง) สภาพอันเชี่ยวกรากคดเคี้ยวเต็มไปด้วยเกาะแก่งของแต่ละสายน้ำก็ไม่อำนวยต่อการสัญจรขนส่งสินค้า


 


ทั้งนี้เราสามารถหยั่งวัดระดับความสำคัญของการค้าทางบกซึ่งเปรียบเสมือนเส้นชีวิตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเหล่านี้ได้จากบันทึกท้องถิ่นต่างๆ และหมายเหตุของนักเดินทางชาวตะวันตก บริบทจักรวรรดินิยมตะวันตกอย่างเช่น บันทึกของกัปตัน Mcleod และ Dr.Richardson (นคร พันธุ์ณรงค์.2516:73) ซึ่งเข้ามาทางพม่าเพื่อหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการค้าในยูนนาน ในช่วงปี พ.ศ. 2373 และนับเป็นชาวยุโรปคณะแรกที่เข้ามาเยือนเชียงตุง


 


หรือนักธรรมชาติวิทยา อย่าง Henri Mouhot ได้รับทุนสนับสนุนจากอังกฤษเข้ามาสำรวจดินแดนสยาม ลาว และกัมพูชา (ชาญวิทย์ เกษตรศิริ.2546:63) อีกคนคือ Francis De Ganier นักผจญภัยผู้สร้างประวัติการณ์เดินทางย้อนลำน้ำโขงจากกัมพูชาไปถึงยูนนานก็มีข้อสังเกตมากมายเกี่ยวกับการค้าขายตามเส้นทางที่ผ่านไปอันสะท้อนภาพความมีชีวิตชีวาของตลาดท้องถิ่นเช่นนี้ ทำให้นักล่าอาณานิคมชาวตะวันตกพากันฝันหวาน ที่จะอาศัยยูนนานเป็นประตูหลังเปิดเข้าสู่ตลาดการค้าในประเทศจีนอันกว้างใหญ่


 


ซึ่งไม่ว่าจะเป็นอังกฤษหรือฝรั่งเศส ต่างก็คิดวางแผนพัฒนาเส้นทางเดิมที่มีอยู่แล้ว ด้วยการสร้างทางรถไฟเชื่อมจากชายฝั่งพม่าหรือตังเกี๋ยขึ้นไป ผู้ที่ศึกษาค้นคว้านโยบายการแผ่ขยายอิทธิพลของสองมหาอำนาจในละแวกนี้ คงทราบกันดีอยู่แล้วว่า การค้าระหว่างยูนนานตอนล่างกับดินแดนรอบๆ มีผลสำคัญอย่างไรต่อการกำหนดทิศทางการแข่งขันเพื่อยึดครองพื้นที่แห่งนี้


 


 


ภาพประกอบ บันไดนาคของวัดเขาจอมมณีรัตน์ ณ เมืองห้วยทราย ฝั่งแม่น้ำโขง สปป.ลาว


 


ความสืบเนื่องของการเข้ามาของจักรวรรดินิยมตะวันตกในอุษาคเนย์ มีหลายสาเหตุที่ได้ส่งผลกระทบต่อภูมิภาคนี้ ซึ่งมีปัญหา เช่น การเข้ามาหาทางยึดครองพื้นที่ คือการเข้ามาล่าอาณานิคมเพื่อการค้าสัมพันธ์กับแม่น้ำโขง ดังนั้นการเข้ามาของฝรั่งเศสสะท้อนการบุกรุกเข้าครอบครองต่อทรัพยากรในแม่น้ำโขงกับการเพื่อให้ได้เป็นอาณานิคมในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ


 


โดยฝรั่งเศสต้องการเพียงลาวและเขมร เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากแม่น้ำโขงและการใช้แม่น้ำโขงเป็นพรมแดนธรรมชาติสำหรับอาณานิคมของตน (อภิญญา เฟื่องฟูสกุล 2524:2)ทำให้ก่อเกิดแนวคิดสร้างรัฐชาติ มีพรมแดนเป็นการผนวกกลืนอาณาจักรเพื่อสร้างความมั่นคงเข้ามาในรัฐ ตามอิทธิพลภูมิศาสตร์ของวิทยาศาสตร์แบบตะวันตก ทำให้ต้องมีการสร้างนิยามรัฐชาติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ ภาษี การศึกษา และวัฒนธรรม รัชกาลที่ 4 ได้นำหลักเหตุผล และเทคโนโลยี มาผลิตแผนที่ ทั้งที่ยุคก่อนไม่จริงจังเรื่องพรมแดน แต่โดนแรงบีบจากการขู่ทำสงครามจากตะวันตก เพราะว่าสยามไม่ทันสมัย จึงต้องเปลี่ยนแปลงแนวคิดภูมิศาสตร์ (Thongchai Winichakul 1994:35-57;อรรถจักร สัตยานุรักษ์2541:12) และด้านดาราศาสตร์เกี่ยวข้องกับระบบจักรวาล


 


ดังนั้น การรับรู้ธรรมชาติแบบใหม่เพิ่งเกิดในรัชกาลที่ 4 และกลายเป็นรากฐานความรู้ ความจริง เชิงประจักษ์ทางกายภาพ ซึ่งก่อนหน้านี้สยามรับรู้และให้ความหมายแก่ภูมิศาสตร์ด้วยชุดความรู้ทางพื้นที่แบบไตรภูมิ แต่ว่าการอ้างถึงภัยจากการล่าอาณานิคม ก็ทำให้เกิดการคิดสร้างแผนที่และน่าจะส่งผลต่อการแปลชื่อแม่น้ำของ เปลี่ยนเป็นแม่น้ำโขงในสนธิสัญญาต่างๆ


 


ด้วยเหตุดังกล่าวนำไปสู่อาณาเขตว่าด้วยภายใต้จุดหนึ่งในพลังแผนที่ สำหรับการต่อรองระหว่างสยามและฝรั่งเศสเพื่อเข้าถึงภูมิภาคลาวในแม่น้ำโขงตอนบนและการหายไปของอาณาเขตสยามนั้น อาจไม่ใช่ข้อเท็จจริงว่าพื้นที่อาณาเขตเคยนั้นเคยเป็นของสยาม แต่พลังของตัวตนภูมิศาสตร์ของสยามและการรวมอาณาเขต ทำให้สิ่งที่หายไป (อาณาเขต) กลับเข้ามาเพื่อการช่วงชิงการสร้างความหมายแก่แผนที่ในสังคมสมัยใหม่ เพราะการเข้ามาของจักรวรรดินิยมตะวันตกในดินแดนล้านนา ก็พยายามดึงดูดล้านนาให้มีความสัมพันธ์กับเจ้าอาณานิคมอังกฤษ ที่ครอบครองดินแดนพม่ามากขึ้น เนื่องจากการปกครองเมืองประเทศราชของสยามมีนโยบายให้อิสระในการปกครองตนเองอย่างมาก ทำให้ล้านนาผูกพันกับการค้าขายของชาวอังกฤษและคนในบังคับอังกฤษโดยผ่านเมืองมอญพม่า (สรัสวดี อ๋องสกุล 2544:332)


 


ดังกล่าวไปแล้ว การล่าอาณานิคม คุกคามต่ออาณาจักรทั้งสองแล้ว อาณาจักรสยาม จึงพยายามครอบครองอาณาจักรล้านนาสร้างตัวตนทางพรมแดนขึ้นไว้อยู่ในแผนที่สยาม เพื่อยึดดินแดนล้านนาเข้ามา อำนาจท้องถิ่นค่อยๆ เสื่อมอำนาจลง และแล้วเชียงของ ก็ถูกผนวกกลืนในที่สุด เมื่อมีการปฏิรูปมณฑลเทศาภิบาล เจ้าเมืองคนสุดท้ายคือพระยาจิตวงษ์วรยศรังษีในปี พ.ศ. 2453 และการช่วยเหลือของสยามในการปราบจีนฮ่อที่รุกรานลาว ทำให้สยามส่งกำลังทหารไปปราบปรามถึงสามครั้ง โดยที่ครั้งที่สาม สยามพยายามต่อสู้เข้ายึดครองหลวงพระบาง รวมถึงเมืองบริวาร ยึดทั้งเชียงขวาง บุกยังแคว้นสิบสองจุไท จับเจ้านายของแคว้นสิบสองจุไทเป็นตัวประกันอยู่หลวงพระบาง แต่เจ้าคำฮุมไม่ต้องการเป็นเมืองขึ้นใคร จึงได้ร่วมมือกับพวกจีนฮ่อยกลงมาตีเมืองหลวงพระบางจนเมืองแตก เจ้าอุ่นคำแห่งหลวงพระบางหนีเอาตัวรอด มาทำหนังสือขอความช่วยเหลือฝรั่งเศสก็ใช้หนังสือดังกล่าวเป็นข้ออ้างในการผนวกลาวเข้ามาเป็นรัฐภายใต้อารักขาของตน ทำให้สยามเสียอำนาจเหนือภูมิภาคนี้ตลอดกาล.


 


..........................


 


อ้างอิงบางส่วน


 


สัณฐิตา กาญจนพันธุ์.2547. แนวความคิดเกี่ยวกับมนุษย์และสิ่งแวดล้อม. เชียงใหม่: คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.


 


สรัสวดี อ๋องสกุล.2544.ประวัติศาสตร์ล้านนา. กรุงเทพฯ: คณะมนุษยศาสตร์


มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.


 


มาซูฮารา โยซิยูกิ. 2546. ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ ของราชอาณาจักรลาวล้านช้าง สมัยคริสต์ศตวรรษที่ 14-17 จาก "รัฐการค้าภายในภาคพื้นทวีป" ไปสู่ "รัฐกึ่งเมืองท่า." กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน.


 


นคร พันธุ์ณรงค์.2516. การเจรจาและข้อตกลงระหว่างรัฐบาลสยามกับรัฐบาลอังกฤษ เกี่ยวกับหัวเมืองชายแดนลานนาไทยและพม่าสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลดจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ระยะ พ.ศ. 2428-2438 กรุงเทพฯ:วิทยาลัยวิชาการศึกษา.


 


ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. (พฤศจิกายน 2546) "จากอาณานิคมาภิวัฒน์สู่โลกาภิวัตน์." สารคดี 19, 225 : 63


 


อภิญญา เฟื่องฟูสกุล.2524. กรณีวิกฤตการณ์ปากน้ำ ร.. 112 : วิเคราะห์กลไกการกำหนดนโนบายต่างประเทศของไทย. กรุงเทพฯ: สถาบันเอเซีย.


อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์. 2541. การศึกษาพรมแดนความรู้ทางประวัติศาสตร์ ด้านนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อม. เชียงใหม่: คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.


 


Thongchai Winichakul. 1994. Siam Mapped : a History of the geo-body of a Nation. Chiang Mai: Silkworm Books.


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net