Skip to main content
sharethis

          


 


 


           ประชาไท - วานนี้ (6 มิ.ย.50) ตั้งแต่เวลา 13.00 น. ที่ห้อง 222 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ มีการประชุมกันขององค์กรต้านรัฐประหารหลายองค์กร อาทิ กลุ่มพีทีวี แนวร่วมประชาชนต้านรัฐประหาร (นปตร.) นางประทีป อึ้งทรงธรรม อดีตส.ว.กรุงเทพฯ นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ผู้ประสานงานพันธมิตรสหภาพแรงงานประชาธิปไตย รวมถึงมีนักวิชาการ อาทิ รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มธ. เข้าร่วมการประชุม


ต่อมาเวลา 17.00 น. นพ.เหวง โตจิราการ เป็นตัวแทนแถลงข่าวเรื่องการตั้งองค์กรใหม่เพื่อต้านรัฐประหาร ภายใต้ชื่อ "แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ" โดยเรียกการประชุมในวันนี้ว่า สมัชชาประชาธิปไตย เพื่อฉลอง 75 ปี 24 มิถุนายน 2475 ฟื้นเจตนารมณ์ของคณะราษฎร


นพ.เหวง กล่าวว่า กลุ่มนี้ไม่ใช่กลุ่มพีทีวีเก่า เนื่องจากมีการผนึกกำลังร่วมกันจากองค์กรต่างๆ โดยองค์กรที่มาร่วมประชุมในวันนี้ (6 มิ.ย.) ประกอบด้วยบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวเมื่อ 24 มิถุนา 2475 คณาจารย์ด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ ส.ว.ชุดแรกบางส่วน กลุ่มพรรคการเมือง กลุ่มกรรมกร สหภาพครู แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ และ 22 องค์กรที่ผนึกกำลังเป็นแนวร่วมประชาชนต้านรัฐประหาร (นปตร.) โดยมี นปตร. เป็นกองเลขานุการในการทำงาน


โดยที่ประชุมมีฉันทานุมัติร่วมกันเพื่อให้ได้ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ว่า เป้าหมายเฉพาะหน้าคือ การคว่ำรัฐธรรมนูญของคณะรัฐประหาร ทั้งรัฐธรรมนูญฉบับปี 2549 และฉบับที่น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ กำลังร่างอยู่ เนื่องจากเคยพูดไว้ว่าจะอยู่เพียง 1 ปี ดังนั้น คณะรัฐประหารต้องคืนอำนาจก่อนวันที่ 19 กันยายน 2550 เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้ง นอกจากนี้ พวกเขายังปฏิเสธผลผลิตจากการยึดอำนาจครั้งนี้ทั้งหมด ตั้งแต่ คณะรัฐมนตรี ส.ส.ร. สนช. กกต. ผู้ว่าสตง. คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ และแสดงเจตจำนงโค่นระบอบอำมาตยาธิปไตยรวมถึงระบอบเผด็จการ


            ทั้งนี้ ทางกลุ่มมีแนวทางสันติวิธี แสวงจุดร่วมสงวนจุดต่าง โดยนพ.เหวง อธิบายว่า แต่ละองค์กรที่มาเข้าร่วมนั้นมีจุดยืนที่ชัดเจนมากว่า ต่อต้านรัฐประหารและต้องการทวงคืนประชาธิปไตย ส่วนท่าทีต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นั้น บางกลุ่มอาจเรียกร้องให้กลับมาเป็นนายกฯ แต่ไม่ใช่ธงหรือเป้าหมายขององค์กรนี้ น้ำหนักที่ประเมินต่อคุณทักษิณ อาจจะแตกต่างกัน 


"จะไม่มีการก้าวล่วงกัน แต่ละองค์กรมีอิสรภาพในการดำเนินกิจกรรมของตนเอง เช่น กลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการอาจจะแจกสมุดปกม่วงและขับไล่พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ก็มีเสรีภาพที่จะทำต่อไป ขณะที่เป้าร่วมของทุกองค์กรก็คือต้องการประชาธิปไตย"


            นพ.เหวง กล่าวด้วยว่า บุคคลและหน่วยงานที่เข้าร่วมต้องมีคุณสมบัติเป็นบุคคลหรือองค์การที่ประณามการรัฐประหารอย่างตรงไปตรงมาและเปิดเผย ปฏิเสธผลพวงของการรัฐประหาร และต้องการนำรัฐธรรมนูญ 2540 กลับคืนมา นอกจากนี้จะมีการพิจารณาประชาชนบางส่วนที่เคยเข้าร่วมกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก่อน 19 กันยา 2549 ให้เข้าร่วมกับทางกลุ่มด้วยหากมีคุณสมบัติดังที่ระบุไว้


            ส่วนกิจกรรมที่จะมีขึ้น นพ.เหวงระบุว่า คาดว่าวันศุกร์ - วันจันทร์ (8-11 มิ.ย.) อาจจะมีการจัดศาลประชาชนที่ท้องสนามหลวง เพื่อพิจารณาว่าการรัฐประหารถูกหรือไม่ถูกต้องอย่างไร เป็นประโยชน์หรือไม่ และจะพิจารณาโทษกันอย่างไร รวมทั้งกรณีถือครองที่ดินเขายายเที่ยง การจดทะเบียนสมรสซ้อนที่กลไกรัฐเลือกปฏิบัติ รวมทั้งจะมีการนำเอากรณีตุลาการรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรค รวมถึงองค์กรต่างๆ ที่ตั้งขึ้นตามคำสั่งคณะรัฐประหารให้ศาลประชาชนพิจารณาอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม จะต้องมีประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องแกนนำและวัฒนธรรมองค์กรร่วมอีกครั้งหนึ่ง

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net