Skip to main content
sharethis

 



ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์และม.เที่ยงคืนร่วมกันปักป้ายเขตเสี่ยงภัย


 


 


ประชาไท - เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 50 ที่บริเวณพื้นที่ป่าพรุแม่รำพึง อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ชาวบ้านจากกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง ร่วมกับนักวิชาการจากม.เที่ยงคืน นำโดยสมเกียรติ ตั้งนโม, นิธิ เอียวศรีวงศ์, ชัชวาลย์ ปุนปัน, ไพสิฐ พานิชกุล ประกาศให้พื้นที่ป่าพรุแม่รำพึงเป็น "พื้นที่เสี่ยงภัยต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม" อันเป็นผลกระทบของโครงการจัดสร้างโรงถลุงเหล็กขนาดใหญ่ของเครือสหวิริยา


 


ก่อนอ่านคำประกาศ สมเกียรติ ตั้งนโม อธิการบดีม.เที่ยงคืน เกริ่นถึงความขัดแย้งของชาวบ้านบางสะพานกับเครือสหวิริยา ที่ต้องการสร้างโรงถลุงเหล็กว่า เป็นการต่อสู้กันบนสองชีวิต สองแนวทาง คือวิถีชีวิตที่มุ่งไปสู่อุตสาหกรรม และชีวิตที่ดำรงอยู่ร่วมกับเกษตรกรรม โดยอาศัยพื้นที่ป่าพรุเป็นสนามประลอง แต่น่าอนาถเหลือเกิน ที่การต่อสู้นี้ เริ่มจากต้นทุนที่ไม่เท่าเทียม ไม่เสมอภาคกัน ฝ่ายหนึ่งมีทั้งเงินทุน ข้าราชการ สื่อมวลชนในท้องถิ่น และมีทั้งมือปืน แต่ฝ่ายหนึ่งมีแต่สองมือ มีแต่ชีวิตและเลือดเนื้อ  ซึ่งการต่อสู้ที่สุ่มเสี่ยงและต้นทุนที่ไม่เสมอกันนี้ จึงนำไปสู่การเสี่ยงภัย


 



นิธิ เอียวศรีวงศ์ อ่านคำประกาศ


 


จากนั้น นิธิ เอียวศรีวงศ์ อ่านคำประกาศของม.เที่ยงคืน ประกาศให้ป่าพรุแม่รำพึงเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม (ดูคำประกาศได้ในล้อมกรอบด้านล่าง) และนักวิชาการจากม.เที่ยงคืนและชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง ได้ร่วมกันปักป้ายประกาศเขตพื้นที่เสี่ยงภัย ด้านหน้าทางเข้าบริเวณป่าพรุ ซึ่งชาวบ้านปักหลักดูแลรักษาและเฝ้าระวังมาเป็นเวลาหนึ่งเดือนกว่าแล้ว


 


ก่อนที่ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์จะได้นำคณะนักวิชาการและสื่อมวลชนลงดูพื้นที่โดยรอบบริเวณป่าพรุ ซึ่งทางบริษัทสหวิริยากล่าวว่าเป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม แต่ในความจริงพบว่า พื้นที่ป่าชุ่มน้ำนี้ยังอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาศัยของพืชและสัตว์ และเป็นระบบนิเวศที่สำคัญของอำเภอบางสะพานมาเนิ่นนาน


 


ในช่วงค่ำ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนและชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ ได้ร่วมกันจัดเวทีชาวบ้าน ศึกษาและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกรณีการจัดสร้างโรงถลุงเหล็ก เพื่อหาทางต่อสู้และรักษาผืนป่านี้ต่อไป


 


 



ชาวบ้านนำนักวิชาการและสื่อมวลชนดูพื้นที่ป่า


  


คำประกาศมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน


 


พื้นที่เสี่ยงภัยต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม


 


 


ภายใต้นโยบายพัฒนา สิ่งแวดล้อมหรือระบบนิเวศมีความหมายแต่เพียงทรัพยากรที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้สูงสุดในตลาด ความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลกันอย่างละเอียดอ่อนในระบบนิเวศหนึ่งๆ ถูกถือว่ามีค่าเท่ากับศูนย์ ฉะนั้นจึงหาอะไรที่เสื่อมโทรมอย่างกว้างขวางและรวดเร็วภายใต้นโยบายพัฒนา ยิ่งไปกว่าสิ่งแวดล้อมหรือระบบนิเวศไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นป่าดิบชื้น ป่าเบญจพรรณ ป่าประเภทอื่นๆ แม่น้ำ ชายฝั่ง ทะเล ภูเขา พื้นที่การเกษตร พื้นที่ชุ่มน้ำ และอื่นๆ ถูกทำให้เสื่อมคุณภาพหรือถูกเปลี่ยนไปใช้ในแนวทางที่จะไม่มีการฟื้นตัวได้อีกเลยในอนาคต


 


พื้นที่เหล่านี้เกื้อกูลชีวิตที่หลากหลายอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในเขตเมืองร้อนอย่างประเทศไทย ความสัมพันธ์เชิง


เกื้อกูลกันในระบบนิเวศนี้เอง ที่ทำให้รูปแบบชีวิตที่หลากหลายดำรงอยู่ได้ นับตั้งแต่พันธุ์พืช สัตว์ตัวเล็กๆ ที่ตามองไม่เห็น ไปจนถึงสัตว์ตัวใหญ่ และปลายสุดของห่วงโซ่ความสัมพันธ์นี้คือมนุษย์ หากระบบนิเวศหนึ่งถูกทำลายลง จึงสร้างความวิบัติให้แก่รูปแบบชีวิตที่หลากหลายดังกล่าว อันจะส่งผลถึงชีวิตของมนุษย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


 


ฉะนั้นการที่ชาวบางสะพานร่วมกันรักษาระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งกำลังถูกอำนาจเงินทำลายลงเพื่อนำไปใช้ในการสร้างมูลค่าเพิ่มทางอุตสาหกรรม จึงเป็นความพยายามที่น่าสรรเสริญ เพราะเท่ากับทำให้ชีวิตอีกหลายรูปแบบ รวมทั้งชีวิตของลูกหลานในอนาคตมีหลักประกันที่มั่นคง หรือไม่ต้องเสี่ยงภัยจนถึงกับสูญสิ้นชีวิตนั่นเอง


 


ดังที่ทราบกันอยู่แล้วว่า พื้นที่ชุ่มน้ำตรงนี้ นอกจากให้ที่พักพิงอาศัยแก่ชีวิตในรูปแบบอื่นๆ แล้ว มนุษย์ยังได้พึ่งพิงอาศัยทั้งในด้านยารักษาโรค อาหาร และประโยชน์ใช้สอยอื่นๆ ในทางธรรมชาติ เช่นเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ เป็นแนวปะทะคลื่นลม และเป็นแหล่งรองรับน้ำในฤดูน้ำหลาก ก่อนไหลลงทะเล ชาวบางสะพานใช้ประโยชน์พื้นที่นี้ด้วยวิถีทางที่ทำให้พื้นที่ชุ่มน้ำตรงนี้ดำรงอยู่ต่อไปได้โดยไม่เสื่อมโทรม หรือเป็นการใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำอย่างยั่งยืนนั่นเอง


 


วิถีทางการใช้ประโยชน์เช่นนี้เป็นวิถีทางที่อุตสาหกรรมไม่อาจทำได้ เพราะเริ่มต้นก็จะใช้เครื่องจักรเข้ามารื้อทำลายและขนดินมาถมเพื่อลบพื้นที่ชุ่มน้ำนี้ออกไปจากผืนโลกอย่างถาวร เพราะพี่น้องบางสะพานมองเห็นการณ์ไกล จึงรู้ว่าจะก่อให้เกิดผลกระทบในทางร้ายแรงแก่ระบบนิเวศโดยรวมของบางสะพาน และแก่วิถีชีวิตของชาวบางสะพานทั้งในปัจจุบันและอนาคตอีกมาก ดังนั้นพี่น้องจึงได้ลุกขึ้นมาร่วมกันปกป้องทรัพย์ของชุมชนและแผ่นดินเอาไว้อย่างแข็งขัน


 


การกระทำเช่นนี้ของพี่น้องบางสะพาน ย่อมประสบชะตากรรมเช่นเดียวกับที่พี่น้องชาวไทยในพื้นที่อื่นๆ ได้เคยประสบมาแล้ว นั่นคือผู้ได้ประโยชน์จากการทำลายระบบนิเวศ จะใช้อำนาจเงินและอิทธิพลเส้นสายที่ตัวมีอยู่เพื่อคุกคามพี่น้องที่ลุกขึ้นมาปกป้องทรัพย์ของชุมชนและแผ่นดิน บางครั้งก็อาศัยอำนาจรัฐผ่านข้าราชการทุจริตฉ้อฉล บางครั้งก็อาศัยการดำเนินคดีทางกฎหมายซึ่งต้องกินเวลายาวนาน ก่อให้เกิดความยากลำบากแก่พี่น้องที่ต้องคดี บางครั้งก็อาศัยอิทธิพลเถื่อนเช่นนักเลงหัวไม้หรือมือปืน เพื่อทำร้ายร่างกายและทรัพย์สินของพี่น้อง ดังเช่นที่คุณเจริญ วัดอักษร แห่งอำเภอบ่อ


นอกได้ประสบมาแล้ว


 


พื้นที่นี้จึงเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยต่อชีวิต ทั้งในแง่ที่การทำลายระบบนิเวศ ย่อมทำให้ทุกชีวิตที่ได้อาศัยพึ่งพิงระบบนิเวศนั้นๆ ต้องเสี่ยงภัย และในแง่ที่ว่าในการปกป้องอย่างสงบและถูกต้องตามกฎหมาย ก็ยังมีภัยที่ชีวิตต้องเสี่ยงอีกหลายอย่างไปพร้อมกัน


 


สิ่งแวดล้อมและชีวิตเป็นสองสิ่งที่แยกจากกันไม่ได้ หากสิ่งแวดล้อมถูกคุกคาม ชีวิต - ทั้งชีวิตพืช ชีวิตสัตว์ ชีวิตเรา และชีวิตลูกหลานของเราก็จะถูกคุกคามเสี่ยงภัยเช่นกัน


 


มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนรู้สึกชื่นชมความกล้าหาญ และการมองเห็นการณ์ไกลของพี่น้องบางสะพาน จึงใคร่ขอปักป้ายบ่งบอกว่าพื้นที่นี้เป็น พื้นที่เสี่ยงภัยต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม ไว้ ณ ที่นี้ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการให้กำลังใจแก่พี่น้องบางสะพานตลอดไป หากมีสิ่งใดในอนาคตที่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะสามารถร่วมพลังกับพี่น้องได้ เราก็จะทำตลอดไป


 


 


 


 


ข่าวประกอบ :


"ขบวนการเสื้อเขียว" การต่อสู้เพื่อป่าพรุผืนสุดท้ายของบางสะพาน


ชาวบางสะพานร่วม ม. เที่ยงคืน ประกาศ "พื้นที่เสี่ยงภัยต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม"


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net