Skip to main content
sharethis


ตติกานต์ เดชชพงศ


 


 


"เราไม่เคยเรียนรู้อะไรจากประวัติศาสตร์" คือประโยคบอกเล่าซ้ำซากที่อยู่คู่กับสังคมและการเมืองไทยมานาน เรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นมักจะหมุนเวียนกลับมาเกิดใหม่อยู่เรื่อยๆ โดยที่สังคมไทยไม่เคยเปลี่ยนวิธีการจัดการหรือรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้น


 


ความสำเร็จ ความผิดพลาด และความสูญเสีย จึงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า...


 


นับตั้งแต่เหตุการณ์เดือนตุลา 2516 และ 2519 เรื่อยมาจนถึงพฤษภาคม 2535 ความสำเร็จของขบวนการภาคประชาชน ในที่สุดก็ถูกแทรกแซงจนแตกแยกทางความคิด กระทั่งนำไปสู่การทำรัฐประหารล้มล้างรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ก่อนจะลงท้ายด้วยการนองเลือดของประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางที่ไม่เป็นประชาธิปไตย


 


ดูเหมือนว่าสภาพปัจจุบันของสังคมและการเมืองไทย แทบไม่แตกต่างอะไรจากเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคมเมื่อ 15 ปีก่อน ซึ่งเต็มไปด้วยปมปัญหาและความขัดแย้ง ทั้งในเรื่องของผลประโยชน์และแนวคิดทางการเมืองต่างขั้ว


 


ท่ามกลางความเห็นต่างที่แตกแขนงออกไปเป็นวิวาทะเผ็ดร้อนระหว่างอำนาจเก่าและอำนาจใหม่ "ผู้หลักผู้ใหญ่" ที่เป็นห่วงเป็นใยบ้านเมือง พากันคาดคะเนต่างๆ นานาว่าสถานการณ์ตึงเครียดที่เป็นอยู่ มีแนวโน้มจะนำไปสู่การนองเลือดอีกครั้ง สิ่งที่ใครหลายคนนึกขึ้นมาในหัวก็คือประโยคเดิมๆ ที่ว่า "เราไม่เคยเรียนรู้อะไรจากประวัติศาสตร์"


 


ประชาไท ตามไปพูดคุยกับ วัฒนชัย วินิจจะกูล ผู้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการบริหารจัดการอนุสรณ์สถาน 14 ตุลาในยุคแรกเริ่ม และปัจจุบัน เขาเป็นหนึ่งในผู้ขับเคลื่อนสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ TK Park ที่มุ่งสร้างรากฐานการเรียนรู้ในมิติใหม่ให้กับคนในสังคมไทยอีกแรงหนึ่ง เพื่อไถ่ถามความเห็นว่า สังคมแบบไทยๆ ไม่เคยเรียนรู้อะไรเลยจริงหรือไม่ และปัจจัยอะไรบ้างที่จะทำให้เกิด "การเรียนรู้" ประวัติศาสตร์การเมือง นับตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน เพื่อนำไปสู่ความเข้าใจและรู้เท่าทันต่อสังคมไทยในอนาคต


 


และที่สำคัญ...


 


จะเป็นไปได้หรือไม่ หากเราคิดป้องกันไม่ให้ประวัติศาสตร์ที่ไม่พึงปรารถนาเกิดซ้ำรอยเดิมอีกหน…


 


 



 







"ประวัติศาสตร์ไม่ใช่เรื่องของอดีต


การเรียนรู้ประวัติศาสตร์คือการเรียนรู้อนาคต"


 


 


 


Q: สื่อ หนังสือ หรือนิตยสารหลายฉบับ พยายามผลิตซ้ำชุดความรู้ที่เกี่ยวกับเหตุการณ์เดือนตุลา 16, ตุลา 19 และพฤษภาคม 2535 เป็นประจำทุกๆ ปี แต่ดูเหมือนว่าสังคมไทยไม่ได้เรียนรู้อะไรจากประวัติศาสตร์การเมืองของเราเลย


ผมว่าการเรียนรู้ประวัติศาสตร์การเมืองของสังคมไทย ส่วนใหญ่เราจะมีสูตรสำเร็จของการเรียนรู้อยู่ไม่กี่อย่าง เช่น เราเรียนประวัติศาสตร์ไปเพื่อให้คนที่เรียนรู้สึกเกิดความรักชาติ รักความสามัคคี ซึ่งสูตรสำเร็จเพียงเท่านี้มันมีประโยชน์น้อยมากกับการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ที่เชื่อมโยงมาถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สังคมปัจจุบันมีลักษณะเป็นสังคมที่หลากหลายมากขึ้น ถ้าเราก็ใช้กระบวนการหรือวิธีการประชาธิปไตยในการแก้ไขปัญหา มันคงเป็นเรื่องยากที่เราจะไปห้ามคนให้หุบปากเพื่อชาติ หรือว่าอย่าคิดแตกต่างเพื่อความสามัคคี


 


เพราะฉะนั้นการเรียนประวัติศาสตร์สูตรสำเร็จแบบที่ผ่านๆ มา มันมีประโยชน์ต่อปัจจุบันไม่มากเท่าที่ควร ซึ่งความไม่มีประโยชน์หรือการไม่มีความสามารถที่จะมองเห็นความเชื่อมโยงของประวัติศาสตร์ที่ส่งผลมาถึงปัจจุบัน ทำให้เรื่องของประวัติศาสตร์ไม่เพียงเป็นเรื่องน่าเบื่อเท่านั้น แต่มันยังทำให้คนรู้สึกว่า ไม่เห็นจำเป็นต้องรู้เรื่องประวัติศาสตร์เลย เพราะเรียนไปรู้ไป ในที่สุดมันก็วกเข้ามาตอบโจทย์ที่มีสูตรสำเร็จอยู่ไม่กี่อย่าง คือเพื่อความรักชาติ เพื่อความสามัคคี นี่เป็นขนบของการเรียนและการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ของสังคมไทย ซึ่งมันตัดขาดและไม่ได้ตอบปัญหาที่หลากหลายซับซ้อนที่เรากำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน


 


 


Q: ประวัติศาสตร์สูตรสำเร็จไม่เคยทำให้คนได้คิดต่อ?


คือสูตรสำเร็จของการเรียนรู้อย่างที่ว่า พอมาผนวกกับวิธีการการเรียนประวัติศาสตร์อย่างที่ผ่านมา มันก็เลยมีผลโดยตรงต่อความน่าเบื่อในความรู้สึกของผู้เรียน วิธีการเรียนประวัติศาสตร์ของเราเป็นวิธีการสื่อสารทางเดียว คือ มีครูสอน หรือมีผู้รู้คนหนึ่งกลุ่มหนึ่ง เป็นเสมือนผู้ผูกขาดความจริงทั้งหมดทางประวัติศาสตร์มาคอยบอกเล่า อธิบาย และสรุป ผู้เรียนในฐานะคนที่มาทีหลังก็จะรู้สึกว่า คนที่เป็นผู้ใหญ่หรือคนที่สอนเขาจะรู้มากกว่าเรา มันมักจะเป็นบรรยากาศแบบนี้


 


ประสบการณ์ตรงที่ผมเคยเจอตอนที่ยังเป็นผู้จัดการอนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ คือเวลาเราอธิบายหรือพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่อง 14 ตุลาฯ เราจะเจอผู้อาวุโสที่เคยร่วมอยู่ในเหตุการณ์ถามกลับมาทันทีว่า ตอน 14 ตุลาฯ ผมอายุเท่าไหร่ อยู่ในเหตุการณ์หรือเปล่า อะไรทำนองนี้ ซึ่งคำถามเหล่านี้ไม่ผิดหรอก แต่มันมีนัยว่าข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์นั้น ต้องเป็นผู้อยู่ในเหตุการณ์เท่านั้นจึงจะอธิบายได้อย่างถูกต้อง


 


ผมคิดว่าการผูกขาดประวัติศาสตร์หรือความคิดเรื่องการเป็นเจ้าของประวัติศาสตร์ในกรอบที่คับแคบ เพียงแค่การผูกพันตัวเองเข้ากับเรื่องของเวลาและสถานที่ มันกลายเป็นข้อจำกัดในการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของคนรุ่นหลังๆ ที่อาจสนใจวิชาประวัติศาสตร์หรือต้องการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่สัมพันธ์เชื่อมโยงกับปัจจุบันไปด้วย ทำให้เด็กเยาวชนไม่อยากรู้ไม่อยากสนใจ เพราะมองว่าไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวข้องผูกพันกับตัวเขาหรือชีวิตเขา


 


ผมมักจะพูดเสมอว่าประวัติศาสตร์ไม่ใช่เรื่องของอดีต ใครที่บอกว่าประวัติศาสตร์เป็นเรื่องอดีต เป็นความเข้าใจที่ผิด การเรียนรู้ประวัติศาสตร์คือการเรียนรู้อนาคต เพราะคุณไม่มีทางเข้าใจปัจจุบันซึ่งเป็นช่วงเวลาที่จะกำหนดสิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคตได้เลย หากว่าคุณไม่เข้าใจที่มาหรือความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ของเรื่องนั้นๆ หรือของสังคมนั้นๆ ถ้าไม่เข้าใจรากเหง้าของเราซึ่งเป็นอดีต ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ คุณจะไม่เข้าใจเลยว่า ทำไมถึงมีปัจจุบันที่เป็นอย่างนี้ และถ้าไม่เข้าใจปัจจุบัน การคาดการณ์อนาคตหรือการพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงอนาคตให้มันดีขึ้นกว่าปัจจุบัน มันก็เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะฉะนั้นใครเข้าใจว่าประวัติศาสตร์เป็นเรื่องอดีตก็เป็นความเข้าใจที่ผิดพลาด


 


 


Q: ในความเป็นจริง การเรียนรู้จากประวัติศาสตร์เป็นไปได้ยากมาก เพราะคนรุ่นหนึ่งพยายามที่จะผูกขาดประวัติศาสตร์เอาไว้กลุ่มเดียว ในขณะที่คนบางกลุ่มก็มองว่าการถกเถียงที่หาข้อสรุปไม่ได้ไม่เป็นประโยชน์อะไรต่อสังคม


ผมพูดถึงประเด็นการผูกขาดประวัติศาสตร์ไปแล้ว ส่วนคนบางกลุ่มที่ถามนั้นผมไม่ทราบว่าเป็นใครบ้าง ถ้ามี ผมคงต้องถามย้อนกลับไปว่า แล้วทำไมเราถึงต้องมุ่งหาประโยชน์จากการถกเถียงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ล่ะ คำถามที่ว่า ถ้าเราเปิดพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้หรือถกเถียงกันแล้วไม่เกิดประโยชน์อะไรต่อสังคม แล้วจะถกเถียงกันไปทำไม ผมคิดว่าคำถามนี้ไม่จำเป็นต้องถาม เพราะมันอาจจะมีหรือไม่มีประโยชน์อะไรก็ได้ จำเป็นด้วยหรือที่ต้องมุ่งถกเถียงแลกเปลี่ยนกันเพื่อให้ได้ประโยชน์ หากเห็นว่าพูดคุยกันแล้วไม่มีประโยชน์ก็ไม่ต้องคุยไม่ต้องแลกเปลี่ยน?


 


แต่หากเราสนใจว่าปัจจัยอะไรที่ทำให้คนไม่เรียนรู้ประวัติศาสตร์ ผมคิดว่าประเด็นปัญหาอันหนึ่งคือการที่สังคมไทยเปิดพื้นที่ให้กับการแลกเปลี่ยนถกเถียงทางความคิดที่แตกต่างกันน้อยเกินไป เราจึงไม่ค่อยมีหลักประกันในการแสดงความคิดเห็นแตกต่างว่าสามารถคิด พูด เขียน แตกต่างจากคนส่วนใหญ่ได้จริงหรือเปล่า ผมว่าสังคมไทยมีพื้นที่อย่างนี้น้อยมากนะ ทั้งๆ ที่มันเป็นส่วนสำคัญของการเรียนรู้ประวัติศาสตร์


 


ดังนั้นแทนที่จะถามว่าเถียงกันไปทำไม ไม่เห็นมีประโยชน์ เราควรมาช่วยกันสร้างบรรยากาศและพื้นที่ของการถกเถียงให้มากๆ และสร้างหลักประกันด้วยว่าความคิดเห็นที่แตกต่างกันจะไม่ถูกปิดกั้นทั้งโดยตรงและโดยอ้อม เปิดให้ทุกคนสามารถถกเถียงกันได้ พูดคุยกันได้ อธิบายสิ่งที่เขาคิด ตีความสิ่งที่เขาเข้าใจตามเหตุตามผล ส่วนถ้ามันมีขึ้นมาแล้ว มันจะเป็นประโยชน์หรือไม่ ผมไม่สนใจเลย อาจจะไม่มีบทสรุปหรืออาจจะไม่มีคำตอบอะไรที่มีประโยชน์หลังจากเปิดพื้นที่ให้ถกเถียงกันได้อย่างเสรี แต่แล้วยังไงล่ะ ผมว่าไม่เห็นเป็นไรเลย เพราะ "การเรียนรู้" ไม่มีจุดสุดท้ายหรอกว่า คำตอบมันจะเป็นอย่างไร แต่ในกระบวนการถกเถียงแลกเปลี่ยน มันทำให้เกิดความงอกเงยของเหตุผลของคำอธิบายที่แตกต่างหลากหลายมากกว่าเดิม นี่ต่างหากที่ผมคิดว่ามันนำมาซึ่ง "ปัญญา" ไม่ใช่แค่ "ความรู้"


 


คนเราแต่ละคนที่ได้ร่ำเรียนมาสูงๆ ผ่านประสบการณ์มาระยะหนึ่งถือว่ามีความรู้เยอะ สังคมไทยมีคนเก่งมีความรู้เยอะนะครับ แต่คนที่มีปัญญานี่ไม่แน่ใจว่าเรามีเยอะหรือเปล่า เพราะปัญญาจะเกิดขึ้นได้ไม่ใช่นั่งสมาธิอย่างเดียวแต่ต้องประกอบไปด้วยความแตกต่างหลากหลายในการอธิบายและมีการยอมรับคำอธิบายเหล่านั้นอย่างมีเหตุผล


 


สังคมไทยเวลานี้ยังไม่ใช่สังคมที่เปิดพื้นที่ให้กับการถกเถียงแลกเปลี่ยนทางความคิดที่แตกต่าง เรายังขาดพื้นที่ของการถกเถียงแลกเปลี่ยน พื้นที่ของการสงสัยและตั้งคำถาม ซึ่งพื้นที่เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญของการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่สามารถเชื่อมโยงกับปัจจุบันได้ ถ้าไม่มีพื้นที่แบบนี้ เราก็อย่าไปคาดหวังเลยว่าคนไทยจะเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ ผมบอกได้เลยว่าต้องทำใจและเข้าใจกับเงื่อนไขแวดล้อมที่เป็นอยู่ จนกว่าคุณจะได้มีพื้นที่ของการทะเลาะกันทางปัญญา เปิดโอกาสให้คนสงสัย ให้คนตั้งคำถาม ให้คนแสวงหาคำตอบได้ เราไม่เพียงแต่ไม่ค่อยสนใจเรียนรู้หรือสรุปบทเรียนจากประวัติศาสตร์เท่านั้น เรายังมุ่งหาคำตอบที่เป็นข้อสรุปหรือประโยชน์ที่จะนำไปใช้มากจนเกินไป เราจึงไม่ค่อยคิดถึงการสร้างพื้นที่แบบนี้ให้มากๆ ประชาธิปไตย 70 กว่าปีก็เลยลุ่มๆ ดอนๆ กลายเป็นการเมืองของชนชั้นนำที่ไม่ได้ศรัทธาประชาชนจริงๆ เพราะลึกๆ แล้วยังมองว่าคนส่วนใหญ่โง่เง่า


 


ถ้าหากจะทำให้พื้นที่แห่งเสรีภาพและความเท่าเทียมเกิดขึ้น ผมว่าเราทุกคนต้องช่วยกันกระตุ้นให้สังคมไทยมีบรรยากาศของการถกเถียงแลกเปลี่ยน มีบรรยากาศที่ชวนให้คนกล้าตั้งคำถาม กล้าสงสัย เพื่อที่จะหาคำตอบ หรือสร้างกระบวนการหรือหลักประกันให้คนสามารถแสวงหาความจริงได้ มีแหล่งที่จะค้นคว้าหาคำตอบต่อความสงสัยของเราได้ คำอธิบายทางประวัติศาสตร์บางเรื่องอาจจะไม่ใช่ความจริงสมบูรณ์แบบก็ได้ เพราะมันคือชุดเหตุผลชุดหนึ่งที่ใช้อธิบายข้อเท็จจริงที่คุณมีอยู่ในขณะนี้ที่มีต่อเรื่องราวในอดีต ภายใต้ข้อเท็จจริงที่มีเท่าๆ กันหรือเหมือนๆ กัน เราอาจจะตีความประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกันก็ได้ ก็เอาหลักฐานข้อเท็จจริงและเหตุผลมาหักล้างกันว่าชุดเหตุผลไหนมันลงตัวที่สุด เพราะฉะนั้นการอธิบายตีความประวัติศาสตร์ไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่ในแวดวงของคนที่เป็นนักประวัติศาสตร์ก็ได้ หัวใจสำคัญของการเรียนรู้ประวัติศาสตร์คือการยอมรับความแตกต่าง


 


แต่การยอมรับคำอธิบายที่แตกต่างเป็น "วัฒนธรรม" ของสังคมไทยหรือไม่ สังคมไทยมีความสามารถในการยอมรับคำอธิบายที่แตกต่างไม่ตรงกับทัศนะหรือไม่ลงรอยกับความเชื่อที่ฝังหัวมานานได้หรือไม่ นี่เป็นเรื่องที่ต้องถามและตอบให้ได้ แล้วจึงมาช่วยกันลงแรงสร้างพื้นที่ของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้


 


 


Q: ถ้าอย่างนั้นหมายความว่าสังคมของเรารับรู้ข้อเท็จจริงของประวัติศาสตร์อยู่บ้าง เพียงแต่เราไม่ให้ความสำคัญกับการนำข้อมูลเหล่านั้นมาถกเถียงเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้?


เรามีแต่ Fact มีแต่ข้อเท็จจริง แต่เราไม่ค่อยสงสัยเพื่อตีความหรืออธิบายมันในมุมมองเหตุผลที่ต่างออกไป ลำพังแค่ข้อเท็จจริง แค่ท่องได้ว่ากษัตริย์พม่าตีบ้านเมืองเราเมื่อไหร่ ประกาศอิสรภาพเมื่อไหร่ นี่เป็น Fact ที่มันไม่มีอะไร และไม่สามารถเชื่อมโยงมาถึงปัจจุบันได้ อย่างที่ผมบอกว่าถ้ามันจะมีผลอยู่บ้าง ก็มีผลตามสูตรสำเร็จของการเรียนตามขนบ คือใช่ว่าจะไร้ประโยชน์เสียทีเดียว เช่นเวลาไปเชียร์บอลไทยแข่งกับชาติอื่น เลือดลมก็พุ่งแรง รักชาติเชียร์ขาดใจ


 


0 0 0


 


 







"ถ้าคุณจะเรียนรู้ประวัติศาสตร์ คุณต้อง "เปลี่ยน" มัน"


 


 


 


Q: แบบเรียนหรือระบบการศึกษาของไทยไม่เคยพูดถึงประวัติศาสตร์ในเชิงวิเคราะห์วิจารณ์ และไม่มีการพูดถึงรายละเอียดที่เป็นเรื่องอ่อนไหว อย่างเช่น เหตุการณ์เดือนตุลาคมหรือพฤษภาคมไม่เคยได้รับการบรรจุลงไปให้คนไทยได้เรียนรู้กัน ไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลอย่างเป็นกิจลักษณะ ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้วสังคมไทยจะเกิดปัญญาได้อย่างไร


ผมคิดต่างออกไป ผมคิดว่าข้อเท็จจริงต่างๆ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่คุณยกตัวอย่างมา ว่าเกิดอะไรขึ้น เป็นมาอย่างไร มีเยอะและมีมาก สามารถค้นคว้าได้ง่ายขึ้นทุกทีในโลกยุคเทคโนโลยีสารสนเทศปัจจุบัน แต่การ "อธิบาย" ข้อเท็จจริงเหล่านั้นต่างหากที่มีน้อยหรือน้อยมาก จนถึงขั้นที่อาจจะเรียกได้ว่าไม่มี เพราะฉะนั้นลำพังแค่แบบเรียนหรือตำราเรียน โดยความเห็นส่วนตัวผมว่ามันไม่ใช่คำตอบของการเรียนรู้ของสังคม ถ้าเป็นสมัยก่อนน่ะใช่ ผมเห็นด้วยว่าเราต้องต่อสู้ให้มีการบรรจุเรื่องเหล่านี้ลงในแบบเรียนให้ได้ เพราะเราเชื่อว่ารัฐมีอำนาจในการสร้างความรู้ความเข้าใจกับคน แต่พอโลกมันเปลี่ยนแปลงมากขึ้น แหล่งการเรียนรู้ที่เด็กรุ่นใหม่ๆ สามารถเข้าถึงและแสวงหามันเยอะมากขึ้นจนเกินกว่าที่ตำราเรียนแบบทางการมันจะ Dominate หรือครอบงำเยาวชนและผู้คนที่สนใจได้ คือผมไม่ได้ดูแคลนอำนาจของตำราเรียน มันอาจจะทำได้ แต่ถ้าเราอยากจะให้คนได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ภาคประชาชน อย่างเช่น 14 ตุลา 6 ตุลา หรือพฤษภา ผมว่าเรามีวิธีการอื่นที่จะใช้ในการพูดถึงตั้งเยอะ นอกเหนือจากการผลักดันให้บรรจุเนื้อหาไว้ในตำราเรียน


 


ผมเห็นคนทำเวบไซต์เกี่ยวกับเรื่องพวกนี้เยอะแยะ แค่คีย์คำค้นเข้าไปก็จะมีเวบไซต์ขึ้นมาให้เลือกดูไม่ใช่น้อย ข้อเท็จจริงบางอย่างอาจจะถูกบ้างผิดบ้าง ซึ่งนั่นก็เป็นปัญหาหนึ่งที่ต้องว่ากันต่อไป แต่เค้าโครงหลักในการอธิบายไม่ค่อยต่างกัน ความผิดความถูกจึงไม่ได้ช่วยทำให้คนรู้มากขึ้นหรือรู้น้อยลง นอกจากเอาไว้อวดภูมิกัน เพราะสิ่งสำคัญก็คือสื่อที่มีข้อมูลเหล่านี้ไว้ให้ค้นคว้าจะต้องมีกระบวนการกระตุ้นให้คนอยากเรียนรู้เป็นสำคัญ เมื่อคนอยากรู้แล้ว ตัวที่มันเป็น Content หรือเนื้อหาก็จะตามมา ความอยากรู้มันจะบีบให้คนทำเนื้อหาต้องระมัดระวังต่อความถูกต้องของข้อเท็จจริง และสิ่งที่ตามมาหลังจากข้อเท็จจริงก็คือการอธิบาย ซึ่งอันหลังนี้เองที่ผมเห็นว่ามันมีน้อย น้อยมาก หรือบางเวบไซต์ไม่มีคำอธิบายเลย


 


ผมมีข้อสังเกตต่อประวัติศาสตร์การเมืองระยะใกล้อยู่ประเด็นหนึ่ง ก็คือว่า เป็นเรื่องตลกที่ประวัติศาสตร์การเมืองไทยยุคใกล้ๆ เรานี่เอง กลับมีการบันทึกเขียนถึงหรืออธิบายในมุมมองที่แตกต่างหลากหลายน้อย เมื่อเทียบกับสิ่งที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์เมื่อพันปี เจ็ดร้อยปี ห้าร้อยปี หรือสองร้อยปีที่แล้ว เหตุผลหนึ่งเท่าที่คิดได้ อาจจะเป็นเพราะคนที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ตอนนั้นจำนวนไม่น้อยยังมีชีวิตอยู่ และสังคมไทยก็เป็นสังคมขี้เกรงใจ ประนีประนอมทุกเรื่อง รวมทั้งประนีประนอมกับสัจจะ ผมไม่ค่อยเห็นการแตกหักเพื่อรักษาสัจจะหรือความจริง เพราะเรามักเกรงใจผู้หลักผู้ใหญ่


 


กลายเป็นว่ายิ่งเป็นประวัติศาสตร์ที่ใกล้ตัวมากที่สุดก็ยิ่งเป็นเรื่องที่พูดถึงกันน้อย เพราะเรากระอักกระอ่วนที่จะพูดถึงบุคคลที่ยังมีชีวิตในแง่ที่อาจมีข้อบกพร่องผิดพลาด นอกจากนั้นบรรดาบุคคลที่ยังมีชีวิตเหล่านั้น แต่ละคนก็ยังมีปมขัดแย้งทางผลประโยชน์และอำนาจอยู่ในปัจจุบันกันแทบทั้งนั้น บางคนยังมีบทบาททางการเมืองอยู่ด้วยซ้ำ บางคนก็ยังมีอำนาจทางเศรษฐกิจอยู่ อะไรต่างๆ เหล่านี้ มันทำให้เวลาพูดก็ไม่ได้เต็มที่


 


วิธีการพูดถึงประวัติศาสตร์ระยะใกล้ที่คนยังมีชีวิตอยู่จึงมีสองแบบ คือถ้าไม่ยกย่องเชิดชูเป็นวีรบุรุษไปเลยก็ไม่ขอพูดถึงเลยก็แล้วกัน ปล่อยให้มันผ่านไป เพราะบางทีการพยายามหาแง่มุมเหตุผลตีความอธิบายหวังให้เกิดปัญญาแตกฉาน กลับจะทำให้ผู้อื่นรู้สึกอิหลักอิเหลื่อด้วยซ้ำ ถ้าหากชุดคำอธิบายนั้นไม่ตรงกับชุดความจริงที่เคยเลือกเชื่อ มันก็จะยิ่งทะเลาะกันไปใหญ่


 


เพราะฉะนั้นคนที่สนใจเรียนรู้ประวัติศาสตร์จริงๆ ก็เลือกพูดถึงเรื่องที่ผ่านไปแล้วสักสี่ห้าชั่วโคตรคนดีกว่า แล้วในที่สุดมันไปติดกับดักของสูตรสำเร็จของการเรียนประวัติศาสตร์ อย่างผมเห็นโฆษณาคนไปดูหนังสมเด็จพระนเรศวรออกมาแล้วฮึกเหิมจนน้ำตาคลอ มันก็อาจจะช่วยได้ในเวลาที่บอลไทยชนะพม่า หรือไปแพ้สิงคโปร์ อะไรอย่างนี้ แต่มันไม่ได้ช่วยในเรื่องของการจรรโลงกระบวนการส่งเสริมประชาธิปไตยในภาวะที่สังคมการเมืองกำลังเผชิญหน้ากับสภาวะแห่งความขัดแย้งได้เลย เพราะเราไม่อาจใช้สูตรสำเร็จเรื่องความรักชาติและความสามัคคี ไปแก้ปัญหาความขัดแย้งของคนในสังคมปัจจุบันให้หมดไปได้


 


 


Q: ถ้าอย่างนั้นความสมานฉันท์จะช่วยได้ไหม?


คำนี้ผมว่ามันเป็นคำลึกซึ้ง ผมไม่ขอก้าวล่วงละเมิดไปวิพากษ์วิจารณ์ตรงนี้ อันที่จริงคำพวกนี้เป็นวาทกรรมที่ใช้ต่อสู้กัน ผมไม่มีความรู้ตรงนี้นะ แต่ถ้าเราพูดถึงการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ กับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการรัฐประหารที่ผ่านมา และการที่ผู้ใหญ่ในสังคมพยายามออกมา "ตักเตือน" ให้คนระวังการนองเลือด ผมคิดว่ามันชัดเจนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันมาจากการไม่รู้จักเรียนรู้ประวัติศาสตร์ และมันไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งใดๆ ได้ด้วยสูตรสำเร็จจากเรียนรู้ประวัติศาสตร์แบบเดิม ฉะนั้นถ้าคุณจะเรียนรู้ประวัติศาสตร์ คุณต้อง "เปลี่ยน" มัน


 


 


Q: อันดับแรกที่ต้องทำเพื่อการเรียนรู้ประวัติศาสตร์คือเราต้องทำลายกำแพงกรอบหรือนิยามเดิมของคำว่าเรียนรู้ออกไปก่อนหรือเปล่า


เราต้องเปลี่ยนหรือทำลายหลายนิยามเลย ทำลายนิยามในเรื่องของระบบอาวุโสหรือ Seniority ทำลายนิยามเรื่องการเป็นผู้เรียนและผู้สอนทิ้งไปให้หมดเลย ให้กลายเป็นการเรียนรู้ร่วมกัน แต่ใช้คำว่าทำลายก็อาจจะฟังดูรุนแรงเกินไป ใช้ว่าปรับเปลี่ยนก็แล้วกัน ปรับเปลี่ยนทัศนะที่มีต่อวิชาประวัติศาสตร์ แม้แต่ทัศนะต่อประชาธิปไตยก็คงต้องปรับเปลี่ยน เรามีประชาธิปไตยในสังคมที่ไม่มีความเท่าเทียมไม่ได้นะ ผมว่ามันตลกมากเลย เป็นการเอาประชาธิปไตยมาใช้แบบประหลาด เป็นไปไม่ได้ที่เราจะบอกว่าศรัทธาในประชาธิปไตยโดยยอมรับให้คนบางคนมีอำนาจหรืออภิสิทธิ์เหนือคนอื่น หรือการยอมรับในการมีเสรีภาพในบางเรื่อง แต่กลับไม่มีเสรีภาพในอีกหลายเรื่อง ไม่ได้นะครับ เพราะพื้นฐานและรากฐานของปรัชญาประชาธิปไตยคือปฏิสัมพันธ์ระหว่างเสรีภาพความเท่าเทียมกับการใช้อำนาจ 


 


Q: จะทำอย่างไรให้สังคมไทยเป็นสังคมที่ทุกคนมองว่าการเรียนรู้ประวัติศาสตร์สามารถนำไปใช้ในการกำหนดอนาคตได้


สังคมแบบนั้นจะเกิดขึ้นได้ก้ต่อเมื่อเราสร้างความรู้สึกหวงแหนในเสรีภาพที่จะแสดงออกในทุกรูปแบบได้ ผมไม่รู้ว่าพวกเรารู้สึกบ้างไหมว่าบางทีเราอยากจะพูด อยากจะคิด อยากจะเขียนอะไรบางเรื่อง แต่เราต้องอั้นเอาไว้ บรรยากาศแบบนี้ไม่ใช่สังคมที่มีเสรีภาพ และตราบใดที่สังคมยังไม่มีเสรีภาพ มันก็เป็นเรื่องยากที่จะทำให้เกิดความรู้สึกว่าอยากจะเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับปัจจุบัน เราต้องมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ก่อน เราต้องสามารถพูดได้โดยปราศจากความกลัว


           


การจะทำให้คนไทยเรียนรู้จากประวัติศาสตร์คือเรื่องที่เป็นไปได้ เพียงแต่เงื่อนไขตอนนี้มันยังไม่เป็นเอื้ออำนวย มีเงื่อนไขอยู่ 2-3 ชั้นที่ผมมองว่ามันเป็นอุปสรรค เรื่องใหญ่ที่สุดคือวัฒนธรรมของสังคมที่ยังไม่ยอมรับในความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย ยังไม่ยอมรับกับการตั้งคำถามของคนเล็กคนน้อยคนไร้อำนาจ ยังไม่ยอมรับการเปิดพื้นที่ให้มีการถกเถียงแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อค้นหาความจริง หากจะมีการยอมรับในเรื่องดังกล่าวอยู่บ้าง ผมคิดว่าก็มีน้อยเต็มที


 


Q: หรือว่าสังคมไทยไม่เหมาะหรืออาจจะยังไม่พร้อมสำหรับการปกครองแบบประชาธิปไตย?


ถ้าเราพูดว่าพื้นฐานของคนไทยไม่เหมาะกับการปกครองแบบประชาธิปไตย ที่ผ่านมา 75 ปีมันก็คือสุญญากาศน่ะสิ ผมว่าไม่มีใครบอกได้หรอกครับว่าสังคมไทยพร้อมหรือไม่พร้อมเมื่อไหร่ มันขึ้นอยู่กับว่าเราเชื่อมั่นศรัทธาในสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมกันของประชาชนจริงๆ หรือเปล่า เพราะประชาธิปไตยมันเกิดจากการที่ปัจเจกบุคคลสำนึกหวงแหนในสิทธิเสรีภาพของตน และไม่ยินยอมให้คนอื่นลิดรอนคุกคาม เพราะฉะนั้นมันเลยเกิดการต่อสู้ต่อรองระหว่างคนที่จะขึ้นมาใช้อำนาจกับผู้ถูกปกครองที่ต้องสละสิทธิเสรีภาพบางอย่างให้แก่ผู้ขึ้นมามีอำนาจ ในที่สุดการปกครองรูปแบบนี้ก็เกิดขึ้นมาเพื่อเป็นหลักประกันแก่ปัจเจกบุคคล


 


แต่ที่ผมไม่เข้าใจก็คือทำไมคนที่เคยต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมาตั้งนานกลับยอมรับในการใช้อำนาจคุกคามเสรีภาพของปัจเจกบุคคล ผมสงสัยว่าคนเหล่านั้นศรัทธาในปรัชญาประชาธิปไตยจริงไหม ตั้งแต่รัฐประหารผ่านมาจนถึงวันนี้ หลายเดือนมาแล้ว ก็ยังไม่หายสงสัยเลย ทุกวันนี้แทบไม่กล้าคุยกับใคร


 


0 0 0


 







"ตุลา 16 ตุลา 19 หรือว่า พฤษภา 35


มันไร้ความหมายโดยสิ้นเชิงไปเรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 19 กันยา 49"


 


 


Q: การที่กลุ่มคนซึ่งต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในสังคมไทยมาตลอดสามารถยอมรับการละเมิดสิทธิเสรีภาพได้ เรามองว่าเป็นการพยายามเรียนรู้ในอีกรูปแบบหนึ่งได้ไหม เป็นการมองให้ต่างจากมุมเดิมบ้าง...


ถ้าเรียนรู้ได้ผลอย่างไรก็ช่วยมาบอกผมหน่อยก็แล้วกัน (หัวเราะ) ต้องขอบอกก่อนว่า คนอย่างผมที่เติบโตมาในแวดวงนี้ เราก็มีไอดอลที่เป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตนะ คนที่เอาชีวิตเข้าเสี่ยงเพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย ให้ได้มาซึ่งสิทธิเสรีภาพ เป็นคนที่เราเคยยกย่องเป็นแบบอย่างในด้านความคิดและจิตใจ อันที่จริงสิ่งที่พวกเขาต่อสู้มาเราก็ยอมรับว่าในปัจจุบันมันเพิ่มขึ้นจากจุดเริ่มต้นของประชาธิปไตยมากนะครับ ไม่ใช่ว่า 75 ปีมานี้มันล้มเหลวโดยสิ้นเชิงก็ไม่ใช่ แต่ผมหาคำอธิบายไม่ได้แค่นั้นเองว่าทำไมหลายคนจึงยอมรับการรัฐประหารครั้งล่าสุด ทั้งๆ ที่ไม่ใช่วิถีทางประชาธิปไตย และไม่ใช่หนทางเสริมสร้างสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมของสังคมเลยแม้แต่นิดเดียว


 


Q: สังคมไทยจะเดินไปสู่การนองเลือดอีกครั้งหรือไม่ เพราะดูหมือนว่าตอนนี้อำนาจและเสรีภาพไม่ค่อยจะสมดุลกันเท่าไหร่


ขอสารภาพว่ายังคิดไม่ทัน ผมไม่รู้ว่าคนที่อยู่วงในเขาประเมินหรือวิเคราะห์สถานการณ์ยังไงกัน เขามองเห็นสิ่งที่เป็นอยู่ในตอนนี้แล้วเขาเตรียมการหรือเขาคิดอย่างไรไว้ล่วงหน้าแล้วหรือไม่ แต่ตามประสาคนที่ยืนอยู่วงนอก และพยายามจะเป็นคนที่เข้าใจประวัติศาสตร์ เอาประวัติศาสตร์มารับใช้ปัจจุบัน ผมมองไม่เห็นภาพอื่นเลย นอกจากภาพเดียวกับที่ผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองออกมาเตือน แล้วก็ไม่รู้ว่าจะแก้ไขหาทางออกอย่างไร เพราะว่าตราบใดที่เราไม่รู้จักสรุปบทเรียนที่มีมาแล้วไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง การนองเลือดก็เลี่ยงได้ยาก หรือถ้าเลี่ยงได้ก็เป็นแค่การซุกระเบิดเวลาไว้ ถึงที่สุดแล้วมันก็ต้องระเบิดออกมา มันต้องเกิดความขัดแย้งขึ้นมาอีก


 


อันที่จริงแล้วประวัติศาสตร์ ตุลา 16 ตุลา 19 หรือว่า พฤษภา 35 มันไร้ความหมายโดยสิ้นเชิงไปเรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 19 กันยา 49 เพราะผมจำได้ว่า หลังเหตุการณ์พฤษภาใหม่ๆ มีความพยายามที่จะชูคำขวัญขึ้นมาชุดหนึ่ง คือการ "ต่อต้านรัฐประหาร" ผมยังเก็บสติกเกอร์สีส้มที่เขียนว่า ต่อต้านรัฐประหาร เอาไว้เลย เพราะเป็นที่ยอมรับโดยทั่วกันแล้วว่าฐานะทางประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์เดือนพฤษภาคือการคัดค้านการสืบทอดอำนาจของเผด็จการทหาร เป็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่ปลอดจากการแทรกแซงของกองทัพ อันเป็นผลมาจากรัฐประหาร 23 กุมภา "34 แต่เมื่อเกิดรัฐประหารในเดือนกันยา 49 ขึ้นมา เหตุการณ์เดือนพฤษภาก็หมดความหมายไปแล้วแทบจะสิ้นเชิง ถ้ามันจะมีความหมายอยู่บ้าง ผมก็ยังให้ค่ากับคนที่ออกมาต้านการรัฐประหารในปัจจุบันเสียมากกว่า แต่เป็นการให้ค่าอย่างจำแนกแยกแยะนะครับ เพราะกลุ่มที่ต่อต้านก็มีหลายกลุ่ม ถึงแม้ผมจะไม่ได้มองว่าบางกลุ่มที่มีผลประโยชน์แอบแฝงแล้วมาต่อต้านเป็นพวกเลว แต่ก็มองอย่างจำแนกแยกแยะ และเห็นว่าคนที่ออกมาต่อต้านอย่างบริสุทธิ์ใจและเต็มไปด้วยความกล้าเพียงไม่กี่คนนี้แหละที่มีค่าในสายตาผม เพราะเป็นคนที่ปกปักรักษาคุณค่าความหมายทางประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์เดือนพฤษภา 35 เอาไว้ได้


 


ผมไม่เคยเห็นประวัติศาสตร์หรือการรัฐประหารครั้งใดที่ไม่จบลงด้วยความรุนแรง เมื่อไหร่ที่เริ่มต้นด้วยการรัฐประหาร สิ่งที่ตามมาไม่เคยนำมาสู่ความสงบได้ ถ้าไม่กวาดล้างจนสงบราบคาบ ก็ต้องถูกเอาคืน คือผมเองก็งงนะ สังคมไทยเรียกตัวเองว่าสังคมประชาธิปไตย แต่เรากลับให้ค่ากับวิถีทางหรือวิธีการแบบประชาธิปไตยน้อยเกินไป เรามักจะคิดว่าประชาธิปไตยเป็นเป้าหมาย เรามักจะชอบพูดว่า "แมวสีอะไรก็จับหนูได้" ทั้งๆ ที่คำพูดแบบนี้มันให้ความสำคัญกับเป้าหมายมากกว่าวิธีการ ซึ่งไปด้วยกันได้ยากมากกับคนที่ศรัทธาในประชาธิปไตย


 


ผมคิดว่าเรื่องบางเรื่องเราอาจจะให้ความสำคัญกับเป้าหมายได้ ภายใต้บริบทประชาธิปไตย แต่สำหรับเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เราไม่ให้ความสำคัญกับวิธีการไม่ได้อย่างเด็ดขาด แม้จะอ้างว่าเป้าหมายของมันเป็นไปเพื่อประชาธิปไตยก็ตาม เพราะมันเกี่ยวข้องกับเดิมพันสำคัญ คือ "ชีวิตคน" ซึ่งเดิมพันนี้สูงเกินไป


 


ผมเรียนรู้จากอดีตว่ามันไม่คุ้มเลย เพราะเมื่อเดินออกไปต่อสู้บนท้องถนน เราก็เป็นแค่เบี้ย ถ้าหากว่าต่อไปจะมีการออกมาเดินขบวนต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอีก มันก็ต้องมีหลักประกันว่าคนที่มีอำนาจถืออาวุธในมือเขาจะไม่ยิงคุณ แต่หลักประกันที่ว่านี้มันทำไม่ได้นะ ถ้าไม่เริ่มต้นด้วยการ "เปลี่ยน" วัฒนธรรมความเคยชินทางการเมืองแบบเดิมๆ ถ้าไม่สร้างพื้นที่ ไม่สร้างกระบวนการเรียนรู้ ไม่มีช่องทางการแสวงหาความจริง ไม่ยอมรับในความแตกต่างหลากหลาย เรื่องเหล่านี้ต้องช่วยกันอีกนาน ถ้าคนๆ เดียวทำ มันอาจไม่เกิดผลสำเร็จ แต่ถ้าเราออกมาช่วยกันหลายๆ คน พยายามเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ ภาพที่เกรงว่าจะเกิดในวันนี้มันก็ไม่เกิดได้ในอนาคต


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net