Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 14 มี.ค. 50 ตัวแทนศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย (YPD) และเครือข่าย 4 องค์กร ยื่นหนังสือข้อเรียกร้องเครือข่ายเยาวชนต่อการร่างรัฐธรรมฉบับ 2550 ถึงนายนรนิติ เศรษฐบุตร ประธานสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)


 


หนังสือข้อเรียกร้องดังกล่าว นำโดย นายวรภัทร วีรพัฒนคุปต์ ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย(YPD) นายพลีธรรม ตริยะเกษม กลุ่มแรงคิด นายศตวรรษ อินทรายุทธ ศูนย์ประสานงานนักเรียน นิสิต นักศึกษา(ศนศ.) และนายนฤพล นิยมทรัพย์ เครือข่ายนักศึกษาติดตามการร่างรัฐธรรมนูญ


 


โดยหนังสือของเครือข่ายเยาวชน ระบุว่า ขณะนี้สภาร่างรัฐธรรมนูญโดยคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีนาวาอากาศตรีประสงค์ สุ่นศิริ เป็นประธานกมธ. ได้สร้างความแคลงใจแก่สังคมในเรื่องที่มาของนายกรัฐมนตรี ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย(YPD.) และเครือข่ายองค์กรเยาวชนจึงมีข้อเสนอต่อสภาร่างรัฐธรรมนูญและข้อเรียกร้องอื่นๆ ต่อรัฐธรรมนูญ 2550 คือ


 


หนึ่ง รัฐธรรมนูญ 2550 จะต้องไม่ปล่อยให้มีการสืบทอดอำนาจจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) รวมถึงรัฐบาลเฉพาะกาล โดยสรุปบทเรียนจากเจตนารมณ์วีรชนเดือนพฤษภาคม 2535 และรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 เพื่อให้การเมืองไทยมีบรรทัดฐานที่ก้าวหน้าต่อไป ดังนั้น จะต้องไม่มีการลักไก่โดยคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) รัฐบาล หรือ คมช. ให้เปิดช่องว่างที่มานายกรัฐมนตรีอาจจะมาจากคนนอกได้โดยเด็ดขาดไม่ว่ากรณีใดก็ตาม เพราะเรื่องนี้จะกลายเป็นวิกฤติการณ์การเมืองรอบใหม่ เราขอยืนยันหลักการที่ว่า นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน โดยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) หรืออาจจะมีการเลือกตั้งทางตรงก็ได้            


 


สอง โปรดตระหนักว่ากระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มาจากการรัฐประหารและวิกฤติการณ์ทางการเมืองไทย ดังนั้น รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องตอบสนองต่อการแก้ปัญหาทางการเมืองในอนาคตจากการสรุปวิกฤติการณ์การเมืองที่ผ่านมา ซึ่งเป็นภาระหน้าที่ของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) ดังนั้น รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้จะต้องจัดวางอำนาจในการถ่วงดุลตรวจสอบและความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจต่างๆ ใหม่อย่างเหมาะสม เพื่อแก้วิกฤติการณ์อย่างน้อย 5 ด้านคือ วิกฤติการเมืองจากระบบเผด็จการรัฐสภาและวัฒนธรรมอำนาจนิยม ตลอดจนการแทรกแซงองค์กรอิสระ วิกฤติการณ์ปัญหาคอร์รัปชั่น วิกฤติการสื่อ วิกฤติการณ์กระบวนการยุติธรรมและตำรวจ และวิกฤติการณ์ความเหลื่อมล้ำทางสังคมและคุณธรรม จริยธรรม


 


สาม รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องมีส่วนในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยควรจะต้องมีการบัญญัติให้ "รัฐสวัสดิการ" คือเจตนารมณ์แห่งการปกครองของรัฐบาล และเป็นหน้าที่ของรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นผลผูกพันให้รัฐบาลเร่งผลักดันนโยบายหรือออกกฏหมายรองรับเจตนารมณ์ดังกล่าว โดยเฉพาะการเก็บภาษีทรัพย์สินอัตราก้าวหน้า การจำกัดการถือครองที่ดิน และต้องจัดให้ประชาชนเข้าถึงการบริการของรัฐอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม เช่น การศึกษา การรักษาพยาบาล เป็นต้น


 


สี่ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องเปิดให้มีการปฏิรูประบบการศึกษา และบัญญัติให้การศึกษาเป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการจัดบริการสาธารณะโดยให้เปล่า รวมถึงการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียม ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2540 และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน


 


ห้า รัฐธรรมต้องบัญญัติสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ตลอดจนสิทธิมนุษยชน เพื่อรองรับสิทธิ เสรีภาพของประชาชน การตรวจสอบ ถ่วงดุล การใช้อำนาจของรัฐบาล ตลอดจนการมีส่วนร่วมทางการเมืองและการกระจายอำนาจการปกครองสู่ท้องถิ่นมากขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดการรอนสิทธิตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย หรือการแย่งยึดอำนาจประชาชนจากกลุ่มคณาธิปไตยใดๆ ในอนาคต เพื่อสร้างบรรทัดฐานทางเจตจำนงค์ของสังคมและกฏหมายรัฐธรรมนูญ รวมถึงสิทธิประชาชนในการมีส่วนร่วมในรัฐบาลของตน และหลักการที่มา อำนาจแห่งรัฐบาลต้องมาจากเจตจำนงค์มูลฐานของประชาชน ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน


 


ในข้อเรียกร้องยังระบุว่า การสร้างบรรทัดฐานทางการเมืองต่อไปในอนาคต จะต้องปฏิรูปกองทัพเพื่อหยุดยั้งรัฐธรรมนูญฉบับประเพณีที่ใช้ในการรัฐประหารยามเกิดวิกฤติการเมืองดังเช่นที่ผ่านมา โดยรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะต้องไม่สืบทอดอำนาจคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ และรัฐบาลเฉพาะกาล เรายังยืนยันตามเจตนารมณ์วีรชนเดือนพฤษภาว่า "นายกต้องมาจาก ส.ส. - ส.ว. มาจากการเลือกตั้ง" เท่านั้น รวมทั้งเงื่อนไขสำคัญที่ว่า คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติและรัฐบาลเฉพาะกาล มีระยะเวลาที่เหลืออยู่ในอำนาจถึงเดือนกันยายนเท่านั้น โดยจะต้องมีการเลือกตั้งใหม่ ตามสัญญาที่ว่าไว้ในการรัฐประหารว่าจะอยู่ในอำนาจ 1 ปี เพื่อแก้ไขวิกฤติการณ์ทางการเมือง และเงื่อนไขรัฐธรรมนูญ 2549 เองที่ร่างขึ้นรองรับระยะเวลาดังกล่าวในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อใช้เป็นกติกาในการเลือกตั้งในเดือนกันยายน 2550 จึงเรียกร้องให้สภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) นำพากระบวนการร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จสมบูรณ์ตามกำหนดระยะเวลาเพื่อให้ประชาชนลงประชามติ และดำเนินการจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยทันที ภายในเดือนกันยายน 2550 ซึ่งครบ 1 ปีแห่งสัญญาของคณะรัฐประหาร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net