Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บรรณารักษ์ปลายแถว


 


คำว่า "ถุงอัณฑะ" หยาบคายไหม?


 


ฉันถามตัวเองอย่างไม่แน่ใจ เมื่อได้ยินข่าวว่าผลงานของนักเขียนหน้าใหม่ ชื่อว่า Susan Patron ที่ได้รับรางวัล Newberry Medal ซึ่งเป็นรางวัลสำหรับวรรณกรรมเยาวชนที่ยอมรับกันในหมู่นักอ่านชาวอเมริกันว่ามีความน่าเชื่อมากที่สุดในสหรัฐอเมริกา กลับถูกบรรณารักษ์จำนวนมากต่อต้าน ยืนกรานว่าจะไม่ยอมจัดซื้อจัดหาเข้ามาให้บริการนักอ่าน ไม่ว่าจะเป็นขาประจำหรือขาจรของห้องสมุดก็ตามที


 



 


เหตุผล (เพียงข้อเดียว) ที่ทำให้บรรณารักษ์ประจำห้องสมุดเยาวชน ห้องสมุดประชาชน ห้องสมุดเอกชน รวมถึงบรรณารักษ์ประจำห้องสมุดในโรงเรียนประถมของสหรัฐอเมริกาออกมาคัดค้านหนังสือเล่มนี้ ไม่ใช่เพราะว่าการมอบรางวัลนิวแบร์รีมีข้อกังขาเหมือนรางวัลซีไรต์บ้านเราแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะประโยคหนึ่งในหนังสือเล่มนี้มีคำว่า "ถุงอัณฑะ" (Scrotum) รวมอยู่ด้วย...


 


ถ้าจะว่ากันตามข่าวจากเวบไซต์หนังสือพิมพ์อินดีเพนเดนท์ของอังกฤษ บรรณารักษ์จากรัฐโคโลราโดรายหนึ่งให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่เธอออกมาต่อต้านหนังสือ The Higher Power of Lucky ของซูซาน พาทรอนว่า-เพราะมีการใช้คำประเภท "ถุงอัณฑะ" อยู่ในเนื้อหาของหนังสือ เธอจึงไม่อาจยอมรับได้ เพราะถ้อยคำที่บ่งบอกถึงอวัยวะสืบพันธุ์อย่างชัดเจนนั้นไม่เหมาะสมกับเด็กประถมที่ควรจะได้รับการปกป้องคุ้มครองจากการรับรู้รับฟังถ้อยคำที่เกี่ยวกับเรื่องเพศแบบนี้


 


และที่สำคัญ ถ้ามันมี "คำนั้น" อยู่ด้วย บรรณารักษ์อย่างเธอคงไม่สามารถอ่านออกเสียงดังๆ ให้บรรดาเด็กๆ ที่เป็นนักอ่านได้ฟังอย่างสะดวกใจ นอกจากนี้เธอยังเชื่อว่ามีคำอื่นๆ อีกมากมายที่ผู้เขียนสามารถใช้แทนคำว่าถุงอัณฑะ อันแสนจะสั่นสะเทือนต่อมเซ็นเซอร์


 


บรรณารักษ์อาชีพและบรรดาบล็อกเกอร์ที่แสดงความคิดเห็นต่อต้านหนังสือเล่มนี้ อ้างถึงเหล่าผู้ปกครองของเด็กๆ ด้วยว่าพวกเขาก็ไม่พอใจเนื้อหาของ The Higher Power of Lucky เช่นกัน


 


"ถุงอัณฑะ" ที่ปรากฏตัวในหนังสือก็ไม่ได้เป็นอวัยวะเพศชายของตัวละครใดในเรื่อง แต่เป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของหมาเพศผู้ที่โดนงูหางกระดิ่งฉกจนตาย... (รายงานตามข่าว มิได้ตั้งใจจะสปอยล์)


 


ถ้าจะเทียบเคียงความหมายของคำว่า Scrotum กับคำในภาษาไทย จะเรียก "ถุงอัณฑะ" ก็คงดูไม่เข้ากันเท่าไหร่กับน้องหมาสี่ขา


 


น้ำหนักของคำไทยแท้ว่า "กระโปก" จึงน่าจะเหมาะสมกว่า หากจะเปรียบเทียบความหนักหนาของถ้อยคำ


 


เชื่อว่าถ้าหนังสือเด็กในบ้านเรามีคำว่า "กระโปกหมา" ปรากฏอยู่ในเนื้อหา ก็คงไม่แคล้วจะโดนห้ามขาย ห้ามซื้อ ห้ามอ่าน และห้ามเข้าถึง อย่างรุนแรงไม่แพ้กัน


 


แต่ถ้าลองพิจารณาเหตุผลของซูซานที่ป็นคนเขียนหนังสือเล่มนี้ซึ่งออกมาอธิบายว่าสาเหตุที่ต้องมีคำว่า "ถุงอัณฑะ" (หรือกระโปก) อยู่ในหนังสือเล่มนี้ เป็นเพราะมันมีความสำคัญต่อพัฒนาการของ "ลัคกี้ ทริมเบิล" เด็กกำพร้าซึ่งเป็นตัวละครหลักของเรื่อง ฉากนี้อาจจะเกี่ยวเนื่องกับเรียนรู้เรื่องความตายของเด็กในวัย 10 ขวบ ก็เป็นได้


 


หรือถ้านักอนุรักษ์เหล่านั้นจะลองไปอ่านความคิดเห็นของพ่อแม่ผู้ปกครองของนักอ่านวัยเด็กที่เข้าไปตอบกระทู้หลังข่าวนี้ ในเวบไซต์ของสื่อทางเลือกอย่าง Commondreams.org ก็คงจะพอเห็นแนวทางอื่นๆ ที่อาจนำมาใช้ประกอบการทำความเข้าใจกับเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้อย่างประนีประนอมได้มากขึ้น (เพราะอย่างน้อยๆ หนังสือเล่มนี้ก็ไปคว้ารางวัลยอดเยี่ยมกับเขามาได้ แถมยังเป็นรางวัลที่บรรณารักษ์ส่วนใหญ่ในอเมริกาเห็นดีเห็นงามว่ามีความน่าเชื่อถือมาโดยตลอดด้วย)


 


ผู้ปกครองของเด็กรายหนึ่งแสดงความเห็นเอาไว้ว่า "การแหย่ให้พวกอนุรักษ์นิยมขุ่นเคืองบ้างเป็นเรื่องที่ดี เพราะสิ่งที่เราต้องการก็คือการทำให้ผู้คนหัวเราะขบขันไปกับเรื่องต้องห้ามของพวกเขา การทำให้เรื่องที่ต้องปกปิดกลายเป็นเรื่องตลก เป็นวิธีที่ดีกว่าการบอกว่ามันเป็นยาพิษที่ไม่ควรเข้าไปยุ่ง"


 


ในขณะที่นักท่องเน็ตที่บอกว่าตัวเองเป็นผู้ปกครองของเด็กวัย 10 ขวบคนหนึ่งประชดประชันแต่พองามเอาไว้ท้ายข่าวนี้เช่นกัน ว่า


 


"เรากำลังถูกรุมทึ้งด้วยปัญหาโลกร้อน, ปัญหาการใช้ทรัพยากรอย่างเปล่าประโยชน์ และนิสัยแย่ๆ ทั้งหมด นี่ขนาดยังไม่ได้พูดถึงนิสัยบ้าเลือดกระหายสงครามของเรา และยังไม่ได้พูดถึงบาปที่พวกเราทำในฐานะที่เกิดมาเป็นสิ่งมีชีวิตประเภทนี้ พวกบรรณารักษ์และคนที่ต่อต้านหนังสือเล่มนี้ยังอุตส่าห์มีเวลามาเดือดร้อนกะเรื่องที่มีคำว่า "กระโปก" โผล่มาอยู่ในหนังสือเด็กเนี่ยนะ? ฉันว่าลูกวัย 10 ขวบของฉันคงจะรู้แล้วล่ะว่าคำๆ นี้มันหมายถึงอะไร และฉันว่าเขาคงไม่มาถามฉันถึงเรื่องนี้อีกหรอก"


 


แต่ถ้าเด็ดที่สุดน่าจะเป็นข้อความจากนักอ่านคนหนึ่งที่บอกว่าเธอ "เข้าใจ" เหตุผลของบรรณารักษ์ที่ออกมาต่อต้านหนังสือเล่มนี้ และเห็นด้วยว่ามีคำอื่นๆ อีกมากมายที่นักเขียนจะนำมาใช้ในการสื่อความหมาย แต่ถ้านักเขียนเลือกคำนี้มาใช้ ก็คงจะดูแล้วว่ามันเหมาะสมกับบริบทของหนังสือ ซึ่งมันก็เป็นเหตุเป็นผลอย่างยิ่ง เพราะหนังสือเล่มนี้พูดถึง "พัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กที่กำลังเติบโต" ไม่ใช่หรือ?


 


และในทางกลับกัน การที่บรรณารักษ์หัวอนุรักษ์ออกมาต่อต้านหนังสือเล่มนี้อย่างสุดลิ่มทิ่มประตูโดยไม่ฟังใคร คงจะยิ่งเป็นการยั่วยุให้คนที่อยากรู้อยากเห็นไปซื้อหาหนังสือเล่มนี้มาอ่าน โดยไม่คิดจะพึ่งพาบริการของห้องสมุดเหมือนเคยด้วยซ้ำ (เพราะความอยากรู้ไม่เคยปราณีใคร)


 


ท้ายที่สุดแล้วการต่อต้านประเภทนี้ก็จะกลายเป็นการโฆษณาประชาสัมพันธ์ชึ้นดีให้กับหนังสือเด็ก รางวัลนิวแบร์รี (อันอื้อฉาว) ด้วยประการฉะนี้แล..


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net