Skip to main content
sharethis


ตามที่กลุ่มนักศึกษาโปรแกรมวิชาเอกชาติพันธุ์ศึกษาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ชั้นปีที่ 1 รุ่นที่ 1 ประจำปีการศึกษา 2549 สถาบันชาติพันธุ์และสันติศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย (มรภ.เชียงราย) จำนวน 15 คน เข้าร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติถึงพฤติกรรมของนายสมบัติ บุญคำเยือง ผอ.สถาบันชาติพันธุ์และสันติศึกษา มรภ.เชียงราย ว่าชักชวนเด็กมาเรียนโดยอ้างว่าทางสถาบันฯจะมีทุนการศึกษา มีที่พัก มียานพาหนะให้ใช้ฟรี แต่เมื่อเด็กมาเรียนกลับพบว่าต้องเสียค่าใช้จ่ายเองทุกอย่าง ทำให้เด็กซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ จนโอกาสและจนฐานะเกือบทั้งหมดต้องเผชิญกับปัญหาหนี้สินในการเรียนทั้งนั้น


 


กระทั่ง เมื่อวันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา นักศึกษากลุ่มดังกล่าว ได้เดินทางไปยังสำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย เพื่อยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ ผศ.ดร.มาณพ ภาษิตวิไลธรรม อธิการบดี มรภ.เชียงราย โดยเรียกร้องให้ทาง มรภ.เชียงราย แก้ปัญหาที่เกิดจากพฤติกรรมของ ผอ.สถาบันชาติพันธุ์และสันติศึกษาโดยด่วน


 


อย่างไรก็ตาม กลุ่มนักศึกษาชาติพันธุ์ดังกล่าว ต้องพบกับความผิดหวัง เนื่องจากคณะผู้บริหาร มรภ.เชียงรายติดภารกิจดูงานที่ประเทศญี่ปุ่นและจะกลับเมืองไทยในวันที่ 22 ก.พ.นี้. ทำให้นักศึกษาไม่ได้พบกับอธิการบดีหรือคณะผู้บริหารตามที่ได้ตั้งใจไว้ จึงทำได้เพียงการยื่นหนังสือกับเจ้าหน้าที่สำนักงานอธิการบดี โดยกลุ่มนักศึกษาดังกล่าวได้ร้องขอให้เจ้าหน้าที่สำนักงานอธิการบดีลงเลขรับหนังสือฉบับดังกล่าวด้วย เพื่อเป็นการยืนยันว่านักศึกษากลุ่มดังกล่าวยื่นหนังสือร้องเรียนต่ออธิการบดีแล้ว


 


ทั้งนี้ ในกลุ่มนักศึกษาชนเผ่าที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว ต่างรู้สึกแปลกใจที่หลังจาก "ประชาไท" ได้เสนอข่าวดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง แต่จวบจนถึงบัดนี้ ทางอธิการบดี มรภ.เชียงราย และนายสมบัติ บุญคำเยือง ผอ.สถาบันชาติพันธุ์และสันติศึกษา มรภ.เชียงราย กลับเก็บตัวเงียบ ไม่ได้ออกมาชี้แจงหรือออกมาคลี่คลายปัญหาที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด


 


ล่าสุด กลุ่มนักศึกษาชาติพันธุ์ทั้ง 15 คน ได้ออกมาเขียนจดหมายเพื่อระบายความอัดอั้นและอึดอัดต่อกรณีที่ ผอ.ผอ.สถาบันชาติพันธุ์และสันติศึกษาได้หลอกลวงให้นักศึกษามาเรียนแล้วปล่อยให้เจอปัญหาดังที่กล่าวมาข้างต้น


 


ซึ่งนักศึกษาทั้ง 15 คน ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ที่เขียนจดหมายระบายออกมาครั้งนี้ ก็เพื่อต้องการบอกให้สังคมได้รับรู้ว่า ทำไมพวกเขาถึงต้องออกมาเรียกร้องเช่นนี้...


 


"ประชาไท" จึงขอนำมาทยอยเสนออย่างละเอียด...


 


 






 


ผมถูกกระทำ


 


 


 


นายสรวิชญ์ เปรมวชิระนนท์


ชาวลีซู อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน


 


ถ้ามีใครคนหนึ่งมาบอกว่า มาเรียนที่สถาบันนี้แล้วจะมีที่พักให้จะมีทุนให้เรียนฟรี จะมีใครบ้างครับที่ไม่สนใจจะมาเรียน ผมคนหนึ่งล่ะที่สนใจ


 


ตอนต้นเทอม อาจารย์คนหนึ่งบอกว่า สาขานี้เป็นสาขาที่โชคดีจะมีทุนสนับสนุนให้เรียนฟรี ถ้าเกรดดีก็จะส่งให้เรียนถึงปริญญาเอก ถ้าจบมาแล้วจะมีงานรองรับจะได้ไปทำงานที่ต่างประเทศ ผมรู้สึกดีใจ และคิดว่าเป็นคนโชคดีคนหนึ่ง หลังจากนั้นก็เริ่มเกิดเหตุการณ์แปลกๆ ขึ้นมา


ตอนแรก ผมพักอยู่หอนอก เป็นหอพักเครือข่ายของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย โดยมีกำหนดให้อยู่ครบหนึ่งปีถึงจะย้ายออกได้ แต่มีอาจารย์สั่งให้ผู้ชายทุกคนที่พักอยู่ข้างนอกให้ย้ายเข้ามาพักอยู่ในบ้านเมี่ยนที่อาจารย์จัดไว้ให้ 


 


ผมลองไปคุยกับเจ้าของหอพัก เขาบอกว่า ย้ายไม่ได้เพราะทำสัญญาไว้แล้วต้องอยู่ให้ครบหนึ่งปี ถ้าไม่อย่างนั้นทางมหาวิทยาลัยจะไม่ออกเกรดให้ ผมกลับไปคุยกับอาจารย์ แกบอกว่า ไม่ต้องกลัว ย้ายเข้ามาเลย ถ้ามีปัญหาอะไรให้เจ้าของหอมาคุยกับอาจารย์เอง เจ้าของหอพักไม่ยอมฟัง ผมก็บอกเจ้าของหอพักไปคุยกับอาจารย์คนเดียว แต่เจ้าของหอพักไม่ยอมมาคุย อาจารย์ก็ไม่ยอมไปคุยกับเจ้าของหอ สุดท้าย ผมต้องตกลงกับเจ้าของหอคนเดียว เขายอมให้ผมย้ายออก แต่ผมต้องจ่ายเงินถึง 3,000 บาท เป็นค่าประกัน ค่ามัดจำ 1,000 บาท ค่าหออีก 1,300 บาท ที่เหลือเป็นค่าน้ำค่าไฟและค่าโทรศัพท์ ผมยอมเสียเงินและคิดว่า ถ้าอยู่ต่อไปจะต้องเสียมากกว่านี้ ถ้าไปอยู่บ้านพักที่อาจารย์จัดให้ก็คงจะไม่เสียค่าใช้จ่ายอะไรเลย


 


ช่วงแรกๆ ก็ไม่มีอะไรเดือดร้อนมากนัก เพราะพวกผมยังพอมีเงินอยู่บ้าง และอาจารย์บอกว่า จะมีทุน มีค่าอาหารและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ให้  แรกๆ ก็เข้ามาดูอยู่บ้างหลังๆ มาไม่เคยสนใจว่า พวกผมจะอยู่จะกินกันอย่างไร แม้แต่ค่าอาหารที่เคยบอกจะให้ก็ไม่มีเลย พวกผมมีฐานะยากจนบางครั้งก็ไม่มีอะไรจะกินต้องไปหาของในป่ามาทำอาหารกิน


 


อีกเรื่องหนึ่งที่ผมไม่เข้าใจ คือ อาจารย์บอกว่าจะให้รถจักรยานคนละคัน และสั่งให้คนที่เอารถจักรยานยนต์มาใช้นำกลับไปไว้ที่บ้าน แต่พวกผมก็ต้องรอจนถึงเทอมที่สองถึงจะได้รถจักรยาน ผมคิดว่า ตอนที่อาจารย์สั่งให้นำรถจักรยานยนต์เอาไปไว้ที่บ้าน พวกผมจะไปติดต่อธุระไกลๆ ได้อย่างไร แต่ก็ต้องทำตามอาจารย์ 


 


ปลายเทอมอาจารย์คนนั้นบอกให้เจ้าหน้าที่มารวบรวมอุปกรณ์เครื่องครัวต่างๆ ที่มีอยู่ในบ้านออกไปให้หมด ไม่ให้พวกผมใช้แล้ว ข่าวว่า อาจารย์จะให้เจ้าหน้าที่เอาอุปกรณ์เครื่องครัวพวกนี้ไปให้นักศึกษาจีนใช้ พวกผมจะทำยังไงล่ะ ผมจึงต้องเก็บเงินกันคนละ 100 -200 บาทต่อคน เพื่อซื้ออุปกรณ์เครื่องครัว หลังจากที่พวกผมซื้อแล้วอยู่ได้ไม่ถึงหนึ่งเดือน อาจารย์ก็มาบอกให้ พวกผมย้ายออกจากบ้าน พวกผมก็แปลกใจว่า จะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายค่าหอพักเพราะทุกคนนั้นก็มีฐานะยากจนพอๆ กัน


 


ทำไงได้ ขาไม่อยากให้เราอยู่ ผมกับเพื่อนจึงต้องย้ายออกไปเช่าหอข้างนอก ห้องละ 2 คน เดือนละ 700 บาท อยู่จนถึงปัจจุบันนี้  เขาเป็นคนดึงเราเข้ามาแต่เขากลับไม่รักษาสัจจะที่เคยให้ไว้กับพวกเรา


 


สิ่งที่ผมถูกกระทำมี ดังนี้


 


1.เรื่องที่พักอาศัยจากที่ผมอยู่ดีแท้ๆ กลับให้มาอยู่ในบ้านเมี่ยนแล้วไม่เคยมาดูแล และยังให้ย้ายออกจากบ้านโดยไม่มีเหตุผล


 


2.เรื่องทุนการศึกษาบอกว่า จะมีทุนการศึกษาเรียนฟรีไม่ต้องทำสัญญาเงินกู้และขอทุนจากมหาวิทยาลัยใดๆ ทั้งสิ้น แต่สุดท้ายกลับไม่มีทุนใดๆ เข้ามาเลย


 


3.สนับสนุนให้ผมมาเรียนและจะดูแลในเรื่องของค่าใช้จ่ายต่างๆ แต่กลับไม่เป็นอย่างที่พูดเอาไว้เลย แม้แต่พวกผมไม่มีกินก็ตาม.


 


 


 






 


มันน่าเศร้า!


 


 




นายสุริยัน  สินลี้


ชาวลีซู อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน


           


ปลายปี 2548 มีเจ้าหน้าที่และนักศึกษามาแนะแนวให้นักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 22 อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน จำนวน 85 คน ว่า ถ้าเรียนคณะชาติพันธุ์จะมีทุนการศึกษาให้ฟรี ถ้าเรียนดีจะส่งเรียนถึงปริญญาเอก และบอกว่า ขณะที่เรียนอยู่จะได้ไปฝึกงานที่ต่างประเทศ ผมฟังแล้วรู้สึกดีใจมากที่มีคนใจบุญเข้ามาช่วยกลุ่มชาติพันธุ์อย่างพวกเรา


 


วันแรกๆ ของการเรียน อาจารย์สมบัติ บุญคำเยืองบอกอีกว่า จะมีทุนออมสินให้ฟรีเลย มคิดถึงเพื่อนสนิทที่อยู่กรุงเทพฯ จึงโทรไปชวนเพื่อนที่กำลังลงเรียนมหาวิทยาลัยรามคำแหงให้มาเรียนด้วยกัน เรียนมาได้ประมาณเดือนกว่า ทุนก็ยังไม่ได้ เงินที่ผมกับเพื่อนเตรียมมาก็ค่อยๆ หมดลง เพื่อนผมลาออกและด่าผมว่า "ถ้ามึงไม่ชวนกูมาเรียนที่นี่ อนาคตของกูก็ไม่เป็นอย่างนี้ เพราะมึงคนเดียว"  


 


ตอนนี้ เพื่อนผมกลับไปอยู่บ้าน ไม่ได้เรียนหนังสือ ผมกับเขาจากเคยเป็นเพื่อนสนิทกันก็ไม่ได้ติดต่อกันอีกเลย


 


เรื่องที่พักก็เหมือนกัน แรกที่ผมเข้ามาเรียน ทางมหาวิทยาลัยให้นักศึกษาปีหนึ่งทุกคนเข้าไปอยู่ในหอเครือข่ายที่มหาวิทยาลัยจัดไว้ให้ ถ้านักศึกษาคนไหนไม่ไปอยู่หอพักเครือข่าย เกรดเฉลี่ยจะไม่ออก นี่เป็นข้อตกลงของทางมหาวิทยาลัย เราไม่ได้รับรู้อะไร เมื่อมาเรียนได้ไม่นาน  อาจารย์สมบัติให้ทุกคนย้ายเข้ามาอยู่ในมหาวิทยาลัย และบอกว่า "ถ้ามีปัญหาอะไรอาจารย์สมบัติ จะเป็นคนรับผิดชอบให้" แต่สุดท้ายแล้ว ก็ไม่ได้จัดการอะไร ปล่อยให้นักศึกษาจัดการกับปัญหาเอง


 


ก่อนที่จะย้ายเข้ามาอยู่บ้านเมี่ยน ผมมีปัญหายุ่งยากกับทางหอพักเครือข่าย ผมเองก็ไม่ค่อยมีเงินเพราะฐานะทางบ้านยากจน ทางหอพักเครือข่ายบอกว่า ตามข้อตกลงถ้าจะย้ายออกก่อนจะต้องยอมเสียค่ามัดจำ 1,000 บาทและเสียค่าหอพักล่วงหน้า 1,500 บาท ซึ่งก็หมายความว่า ในเดือนนั้น ผมก็ต้องเสียค่าหอพักฟรีๆ โดยไม่ได้เข้าไปอยู่


 


ขณะที่อยู่บ้านเมี่ยน อาจารย์สมบัติบอกว่า จะดูแลต่อเติมห้องน้ำให้กับนักศึกษา เพราะพวกเรา 10 กว่าคนมีห้องน้ำใช้ห้องเดียว ทุกคนดีใจมาก แต่หลังจากวันนั้นก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น
นักศึกษาจะเป็นจะตายอย่างไร อาจารย์ก็ไม่เคยมาสนใจ แต่ถ้ามีงานอะไรเข้ามาที่เป็นหน้าเป็นตาของอาจารย์ ก็จะไปเรียกใช้นักศึกษา


 


ตอนแรกก็บอกจะดูแลพวกเราอย่างดี พอมาตอนหลังก็ไล่พวกเราอย่างไม่มีเยื่อใย บอกว่า ไปอยู่ที่ไหนก็ไป นักศึกษาทุกคนไม่รู้จะทำอย่างไร บางคนไม่มีเงิน ไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหน ที่พึ่งสุดท้ายก็เป็นพ่อและแม่ 


 


ผมไม่เคยคิดไม่เคยฝันเลยว่า ในชีวิตของผมจะได้เจออาจารย์ที่เลวร้ายอย่างนี้ อาจารย์ที่ไม่เคยทำตามที่ตัวเองพูด ไม่เคยรักษาสัญญา มีแต่หวังผลประโยชน์จากคนอื่น ไม่เคยทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมและพี่น้องชาติพันธุ์ของเราอย่างแท้จริง...มันน่าเศร้ามากที่มีคนเช่นนี้.


 


 






 


 


 


อาจารย์ของเรา


 



 


 


นางสาวศิริพรรณ อัสนีวิจิตร


ชาวลาหู่ อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน


 


หนูเข้ามาเรียนคณะชาติพันธุ์ได้ระยะหนึ่ง อาจารย์สมบัติก็สั่งให้หนูย้ายจากหอพักเครือข่ายของมหาวิทยาลัย (หอนอก) ซึ่งมีข้อตกลงว่า นักศึกษาปีหนึ่งจะต้องอยู่ครบหนึ่งปีถึงจะย้ายหอได้ หนูจ่ายค่ามัดจำไป 300 บาท ค่าหอเดือนมิถุนายนอีก 460 บาทต่อคน รวมเป็น 760 บาท มีเพื่อนร่วมห้องอีก 2 คน คนหนึ่งเรียนบัญชี อีกคนเป็นรุ่นพี่เรียนภาควิชาภาษาอังกฤษ


 


ตอนแรกที่อาจารย์สมบัติสั่งให้ย้าย อาจารย์บอกว่า เรียนชาติพันธุ์ต้องอยู่หอพักใน หนูก็เลยไปคุยกับทางหอพัก เขาว่า ย้ายไม่ได้  ถ้าหนูไม่เชื่อให้ลองไปถามพี่ๆ ที่ทำงานในมหา"ลัยดู พี่ก็บอกว่า ย้ายไม่ได้ นี่เป็นกฎระเบียบของมหา" ลัย ไม่เกี่ยวกับคณะ หนูก็เลยอยู่ที่นี่ต่อ อีกอย่างหนูก็กลัวด้วยว่า ถ้าย้ายออกไป หนูจะไม่มีที่อยู่ แต่อาจารย์สมบัติก็บอกให้ หนูย้าย ถ้าย้ายไม่ได้ ก็ให้ออกมาเลย 


 


ตอนนั้น หนูไม่รู้จะทำอย่างไร ทางหอพักก็ไม่ให้ย้าย ทางเจ้าหน้าที่มหา"ลัยก็บอกว่า ย้ายไม่ได้ อาจารย์ก็จะให้หนูย้าย หนูจึงกลับไปหาอาจารย์สมบัติอีกที ทีนี้แกให้พี่ที่อยู่ชาติพันธุ์ติดต่อให้เลยได้ย้าย แต่เจ้าของหอพักเครือข่ายบอกว่า หนูต้องจ่ายค่าหอเดือนกรกฎาคมอีก 780 บาท หนูไม่มีเงินจ่ายจึงขอร้องให้เพื่อนที่อยู่ด้วยกันจ่ายให้ก่อน แล้วจะหามาคืนให้ภายหลัง แต่กว่าที่หนูจะหาเงินมาคืนเพื่อนได้ก็เดือนตุลาคมแล้ว ที่ลำบากใจที่สุด คือ หนูต้องจ่ายค่ามัดจำหอพักในมหา"ลัย อีก 300 บาท ค่าหออีก 900 บาท รวมแล้ว 1,200 บาท หนูกลายเป็นหนี้อีก


 


อาจารย์สมบัติให้เหตุผลกับพวกเราว่า การอยู่หอด้วยกันเป็นการใช้ชีวิตรวมหมู่เพื่อความอยู่รอดของนักศึกษาชาติพันธุ์ แต่แกไม่เคยถามความสมัครใจของพวกเราเลย 


 


เปิดเรียนเดือนแรก (มิถุนายน 2549) อาจารย์สมบัติบอกว่า จะมีทุนออมสินให้เรียนฟรีตลอดจนจบปริญญาตรี โดยให้เงินคนละสองแสนบาท จบแล้วมีงานทำแน่นอน และยังบอกว่า พวกเราจะได้ไปเรียนต่างประเทศ เวลาผ่านไปเรื่องทุนไม่มีแววว่า จะเป็นจริง จนหนูต้องไปขอกู้เงิน
กยศ
. และกู้เงินค่าเทอมอีกเทอมละ 9,700 บาท นับเป็นค่าเทอมที่แพงที่สุดที่ลูกชาวไร่อย่างเราเคยพบเจอมา กระทั่งปลายปี พ.ศ. 2549 (23 ธันวาคม 2549) อาจารย์เพิ่งมาชี้แจงพวกเราบางกลุ่มว่า ไม่ได้ทุนเพราะว่าไม่มั่นใจในตัวพวกเรา และยังบอกว่าพวกเราไม่มีประสิทธิภาพ ไม่มีมาตรฐาน ทั้งๆ ที่ผ่านมาเป็นเทอมๆ แล้วค่อยแจ้งให้พวกเราทราบ


 


อีกเรื่องหนึ่งที่หนูอยากบอก คือ ช่วงพักเที่ยงวันหนึ่งของเทอมแรก อาจารย์สมบัติเรียกหนูขึ้นไปบนห้องทำงานชั้นสองของตึกสองต่อสอง แล้วถามเรื่อง ประวัติครอบครัวว่า เป็นอย่างไรบ้าง พ่อกับแม่มีอาชีพอะไร ว่างๆ ก็ให้หนูพาพ่อกับแม่มารู้จักกับอาจารย์ได้นะ แล้วก็ยกตัวอย่าง พี่ออย (เจ้าหน้าที่สถาบันชาติพันธุ์)ว่า พ่อแม่ของพี่ออยมารู้จักกับอาจารย์แล้ว อาจารย์จะได้ทำความรู้จักกับพ่อแม่ของนักศึกษาไว้


 


อาจารย์ถามหนูอีกว่า เคยไปเที่ยวที่ไหนบ้าง  หนูบอก ไม่เคยไปไหน อาจารย์ว่า ทำไมไม่เคยไปเที่ยวไหน หนูตอบว่า หนูไม่ชอบเที่ยว ครอบครัวของหนูยากจน ปลูกข้าว ปลูกข้าวโพด ไม่มีรายได้อะไรมาก ก่อนมาเรียนที่นี่ พ่อแม่ก็ยืมสตางค์จากน้ามา 5,000  แกบอกว่า ไม่ต้องห่วงจะมีทุนให้  คุยอยู่ครึ่งชั่วโมง พอดีมีคนขึ้นมาหาแก แกก็ไปคุยกับคนอื่น ก่อนแกจะไป แกบอกให้หนูมาช่วยงานแก และวันเสาร์อาทิตย์ให้ไปช่วยงานพี่พิทักษ์ (เจ้าหน้าที่สถาบันชาติพันธุ์)


 


หลังจากนั้น อาจารย์สมบัติก็เรียกใช้หนูบ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นให้ไปล้างถ้วยชาม ชงกาแฟ จัดโต๊ะ จัดหนังสือ เป็นต้น ตอนนั้นหนูไม่คิดอะไรมาก คิดว่า เป็นเรื่องปกติที่อาจารย์จะเรียกใช้ลูกศิษย์  เพื่อนๆ ก็ล้อว่า หนูเป็นคนโปรดของอาจารย์สมบัติ หลังๆ มาหนูได้ยินข่าวไม่สู้ดี หนูรู้สึกหวาดกลัว และไม่กล้าเข้าไปในสถาบันชาติพันธุ์อีก ถ้าไม่จำเป็น


 


หนูไม่เคยคิดว่า อาจารย์ที่พวกเราเคารพน่าถือจะทำกับพวกเราได้ และไม่เคยรู้มาก่อนว่า อาจารย์ของพวกเราจะเป็นแบบนี้เลย.


 


 


 


 


 






 


เรื่องที่ผมอยากเล่าให้ฟัง


 


 


 


 


นายรอด อาจารย์


ชาวดาราอ้าง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่


           


ผมไม่ได้ตั้งใจที่จะเรียนต่อในสาขาชาติพันธุ์ศึกษาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ของมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย มาแต่แรก ที่ๆ ผมอยากไปเรียนต่อ และหางานทำ คือ มหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง แต่ผมได้รับข่าวจากสมาชิกเครือข่ายชาติพันธุ์ดาราอ้างว่า ถ้าไปเรียนที่เชียงราย ผมจะได้รับทุนการศึกษา ปีละ 20,000 บาท จะได้ไปลาวเพื่อไปศึกษาในภาคฤดูร้อนเป็นระยะเวลา 4  เดือนในชั้นปีที่ 1 และชั้นปีที่ 2 ชั้นปีที่ 3 จะได้ไปศึกษาที่จีน


 


ตอนผมมาถึงใหม่ๆ  อาจารย์สมบัติบอกว่า จะให้ไปอยู่บ้านฟรีๆ ไม่ต้องเสียค่าเช่า แล้วอาจารย์ยังบอกอีกว่า อาจารย์เข้าใจพวกเรามาจากบนดอย ฐานะยากจน ดังนั้น ก็ยิ่งทำให้เรามั่นใจมากขึ้นว่า อาจารย์เข้าใจพวกเราจริงๆ


 


ผมไม่มีเงินติดตัวมาเลยในวันรายงานตัวครั้งแรก เพราะเขาบอกว่าฟรี แต่พอผมเข้ารายงานตัว เจ้าหน้าที่ก็เรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียม ผมก็บอกว่า ผมมาเรียนด้วยทุนเครือข่ายชาติพันธุ์ เจ้าหน้าที่บอกให้ผมไปถาม ฝ่ายรับนักศึกษา ผมไปถามเขาๆ บอกว่า ถ้าไม่มีเงินก็ยังไม่ต้องรายงานตัว  วันนั้น ผมต้องกลับบ้านโดยที่ยังไม่ได้รายงานตัว


 


พอผมรู้ว่า ผมต้องจ่ายเงินเองตามจำนวนที่ทางมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงรายกำหนด คือ 2,600 บาท ผมก็ออกไปหางานทำ ทำได้ครึ่งเดือนผมได้เงิน 2,000 บาท ขาดอีก 600 บาท ผมกลับบ้านไปขอเงินที่บ้านอีก 1,000 บาท


 


ผมสงสารพ่อแม่ที่ต้องทำงานเพื่อเลี้ยงผม แต่ผมก็หวังอยู่ว่า พอผมรายงานตัวเสร็จ ผมคงจะมีเงินทุนไว้เลี้ยงปากท้องยามหิวโหย ผมหวังเพียงว่า ผมมีกินเพื่อมีชีวิตอยู่เท่านั้นเอง(ตอนนั้น) และความหวังของผมก็ดูจะเป็นจริงขึ้น เมื่ออาจารย์สมบัติบอกว่า จะมีทุนออมสินให้ทุกคนเรียนฟรี  ในระหว่างที่รอทุนออมสินมาให้ผมกับเพื่อนคนหนึ่งขอทุนเด็กไร้สัญชาติจากทางมหาวิทยาลัยไปก่อน


 


ผ่านไป 1 เทอมในบ้านกลุ่มชาติพันธุ์อิ้วเมี่ยนหรือที่เรียกว่า ชนเผ่าเย้า ที่พวกผมถูกบังคับให้มาอยู่รวมกัน ผมไม่มีอะไรเลยได้แต่อาศัยเพื่อนที่อยู่ด้วยกัน ผมอดที่จะเกรงใจไม่ได้ผมก็พยายามไปหาของป่ามาทำกินกับเพื่อนๆ เพื่อไม่ให้เพื่อนๆ รู้สึกว่า ผมให้เขาเลี้ยงจนเกินไป อย่างน้อย ก็น่าจะอยู่ด้วยลำแข้งตัวเองได้บ้าง


 


ใกล้ปิดเทอมที่ 1 อาจารย์สมบัติเริ่มมีมาตรการกดดันให้เราออกจากบ้านเมี่ยน ด้วยการยึดถ้วย ชาม ช้อน และไม่รับผิดชอบต่อสิ่งที่อาจารย์เคยพูดว่า ให้พวกเรามาอยู่รวมกันเพื่อความอยู่รอด เปิดเทอม 2 ได้ไม่นาน พวกผมก็ถูกลอยแพ จะไปติดต่อหอในต่างๆ เขาก็บอกว่า เต็มหมดแล้ว ทุนออมสินที่เคยบอกไว้ ก็ไม่มี พวกเราแตกกระจายไปคนละทิศคนละทาง


 


ส่วนผม เพิ่งจะได้รับทุนเด็กไร้สัญชาติเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมานี่เอง


นี่คือ เรื่องของคนหลอกลวง คนไม่มีสัจจะ ที่ผมอยากเล่าให้ฟัง.


 


 


 


 


 


 


 






 


หนทางที่เชื่อว่า ดี



 


 


 


นางสาวพัชรินทร์ พฤกษาฉิมพลี


ชาวปกาเกอญอ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่


           


ตอนแรก ฉันสมัครเข้ามาเรียนในวิชาเอกอุตสาหกรรมท่องเที่ยว แล้วเปลี่ยนมาเป็น ชาติพันธุ์ศึกษาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เพราะว่าเจ้าหน้าที่สถาบันฯ เข้ามาหาเพื่อนที่เรียนอยู่เอกชาติพันธุ์ (หอ 8 ห้อง 202) คือ ก้อย หนึ่ง แต่เขาทั้งสองไม่อยู่ไปปฐมนิเทศ พี่เขาถามฉันกับเหมียวว่า "เรียนคณะอะไร ?"  ฉันตอบว่า "เรียนท่องเที่ยว"  เราสามคนคุยกันและจบลงที่ถ้าเราย้ายคณะ เราจะได้รับ  1.ทุนการศึกษา 2.ที่พักฟรี มีการปลูกผักสวนครัวกิน 3.รถจักรยาน 4.มีทุนให้ไปเรียนที่ต่างประเทศ ได้แก่ ประเทศจีนและประเทศลาว 5.จบออกมาแล้วรับรองมีงานทำแน่นนอน งานที่ดีที่สุดคือได้ทำงานที่ต่างประเทศ เช่น จีน ลาว เป็นต้น งานที่ห่วยที่สุด คือ ทำงานที่สถาบันชาติพันธุ์ฯ


 


เมื่อได้ยินแบบนั้น พวกเราคิดว่า น่าจะเป็นหนทางที่ดี เพราะฐานะทางครอบครัวของเรายากจนอยู่แล้ว อีกทั้งยังเป็นหนทางที่เราจะได้มีโอกาสศึกษาต่อด้วย


 


หลังจากที่ ฉันกับเหมียวย้ายเข้ามาเรียนคณะชาติพันธุ์ อาจารย์สมบัติ บุญคำเยืองได้แนะนำว่าจะหาทุนให้ โดยเฉพาะทุนออมสิน ทุนละสองแสนบาท จะขอไปประมาณ 15 ทุน เกรดเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3.00 ยิ่งทำให้พวกเรามีความมั่นใจมากขึ้น


 


หนึ่งเทอมผ่านไปไม่มีอะไรเกิดขึ้น


 


เข้าสู่เทอมที่สอง วันหนึ่ง อาจารย์ให้พี่อาทิตย์ (เจ้าหน้าที่สถาบันชาติพันธุ์ศึกษา) มาตามฉันขึ้นไปบนห้องทำงาน ฉันขึ้นไปชั้นสองมีอาจารย์อยู่ในห้องคนเดียว ฉันถามอาจารย์ว่า มีอะไรหรือคะ อาจารย์ว่า อยากให้ฉันช่วยจัดโต๊ะให้ ระหว่างที่ฉันจัดโต๊ะทำงาน อาจารย์ก็เดินไปเดินมาข้างๆ โต๊ะที่ฉันจัดอยู่ และถามฉันตลอดว่า พ่อแม่ทำอะไร ที่บ้านทำอะไร ช่วงนี้มีปัญหาอะไรหรือเปล่า ฉันก็เล่าๆ ให้อาจารย์ฟัง พอจัดเสร็จฉันก็ขออนุญาตลงไปข้างล่าง


 


ครั้งที่สอง อาจารย์ก็เรียกฉันขึ้นไปอีก คราวนี้ให้ฉันไปช่วยพิมพ์งาน อาจารย์ถามว่า พิมพ์งานคล่องไหม ฉันว่า ไม่ค่อยคล่อง แต่พิมพ์ได้ อาจารย์ว่า พิมพ์งานให้อาจารย์นะ อาจารย์ถามฉันอีกว่า ทำตารางได้ไหม ฉันว่า ทำไม่ได้ อาจารย์ก็สอนให้ฉันทำ และเอางานให้ฉันพิมพ์ระหว่างที่ฉันพิมพ์อยู่ อาจารย์ก็ปิดห้องและออกไปข้างนอก ฉันพิมพ์งานอยู่เกือบชั่วโมง ก็ลงไปเรียกเพื่อนมาช่วยพิมพ์


 


ตอนนั้น ฉันก็รู้สึกกลัว รู้สึกตัวเองไม่ปลอดภัย ฉันสงสัยว่า ทำไม ผู้ชายก็มีอยู่หลายคน เจ้าหน้าที่ก็มี แต่อาจารย์มาเรียกใช้ฉัน


 


ปลายปี (วันที่ 23 ธันวาคม 2549) อาจารย์สมบัติเรียกฉันกับเพื่อนๆ มาคุยเรื่อง ทุนออมสินที่ขอไป อาจารย์ว่า ทุนออมสินตอบรับมาเรียบร้อยแล้ว แต่อาจารย์สมบัติไม่กล้าเซ็นต์ เพราะไม่กล้ารับประกันในตัวนักศึกษาและตัวผู้สอนด้วยว่าจะทำได้ตามที่กำหนดตามมาตรฐานได้ หรือเปล่า


 


ถึงตอนนี้ ฉันไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ฉันเลือก คือ หนทางที่ดี จริง...ฉันบอกกับพ่อแม่ว่า ฉันไม่อยากเรียนที่นี่อีกแล้ว.


 


 


 






 


 


จากคนที่ผิดหวัง


 


 


 


นายกิตติพงษ์ ขัตติ


ชาวลัวะ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน


 


 


นี่หรือ คนดี


โอ้! เมื่อเจอครั้งแรกก็นึกว่า จะดีจริงตามที่พูด


โธ่! นี่อะไร ผ่านไปไม่เท่าไรก็แสดงธาตุแท้ออกมาให้เห็นเสียแล้ว


ไอ้เราอุตส่าห์ให้ความเคารพนับถือ เชื่อมั่นในคำพูด แต่กลับทำกันแบบนี้ ที่แท้ก็เป็นผู้ดีจอมปลอม คอยหลอกคนอื่นไปวันๆ นี่หรือที่เขาเรียกกันว่า อาจารย์


...


เป็นคุณจะมาสมัครเรียนไหมล่ะ  ถ้าอาจารย์ในระดับผู้อำนวยการลงทุนเดินทางไปรับคุณให้มาเรียนในหลักสูตรด้วยตัวเองอย่างนี้  ถ้าอาจารย์ในระดับผู้อำนวยการบอกว่า ที่นี่จะให้โอกาสกับกลุ่มชาติพันธุ์ ทุกคนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ในการเรียน อาจารย์จะดูแลความเป็นอยู่ให้กับคุณทุกประการ แถมยังไม่พอ ยังให้ทุนการศึกษาตลอดหลักสูตร ปีละ 200,000 บาท


คุณอยากรู้ไหมว่า ที่ไหนที่ผู้อำนวยการจะลงทุนขนาดนี้ จะบอกให้ก็ได้ สถาบันชาติพันธุ์ศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ไงล่ะ 


...


บุคคลคนนี้ปากพูดว่า ทำเพื่อกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นผู้มีความเมตตายากไร้ แต่แท้ที่จริงแล้วหารู้ไม่ว่า บุคคลคนนี้ไม่เคยสนใจเลยว่า คนอื่นจะเป็นอย่างไร บางทีก็อดคิดไม่ได้ว่า พวกเรานักศึกษาที่มาเรียนหลักสูตรนี้คงจะเป็นสินค้าสำหรับการหารายได้และหาเงินเข้ากระเป๋า ของเขา หรือไม่


...


ถ้าอาจารย์ที่สอนคุณ มีพฤติกรรมอย่างนี้ เราควรเรียกว่า อาจารย์อีกไหม หรือเราควรเรียกว่า อย่างไรดี.


 


 


 


 


 


 






 


 


คำสารภาพจากเด็กตาดำๆ


 


  


นางสาวสนทนา มณีรัตนชัยยง


ชาวปกาเกอญอ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่


 


ตอนแรก ดิฉันสมัครเข้าเรียนเอก อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย จากนั้นก็ย้ายมาอยู่เอก ชาติพันธุ์ศึกษาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง สถาบันชาติพันธุ์ศึกษา


 


สาเหตุที่ย้ายมาเอกชาติพันธุ์ฯ เพราะว่ามีเจ้าหน้าที่จากสถาบันชาติพันธุ์ฯ เข้ามาหาเพื่อนที่เรียนเอกชาติพันธุ์ฯ 2 คน ที่พักอยู่ในห้อง 202 หอ 8 แต่เพื่อนทั้งสองคนไปปฐมนิเทศนักศึกษารุ่นสอง ส่วนดิฉันกับเพื่อนอีกคน(ริน)ปฐมนิเทศรุ่นแรก และการคุยของพวกเราในวันนั้น พวกเราได้รับข้อเสนอว่า ถ้าเรียนเอกชาติพันธุ์ สิ่งที่จะได้แน่ๆ คือ 1.ทุนการศึกษาฟรี 2.ที่พักฟรี 3.จักรยานฟรี 4.มีทุนเรียนต่อต่างประเทศ ได้แก่ จีน ลาว เป็นต้น 5.จบออกมาแล้วได้งานทำแน่นอน งานที่ดีที่สุดเมื่อจบออกมาแล้ว คือ เป็นผู้ช่วยนักวิจัย ทำงานกระทรวงการต่างประเทศ งานสำหรับผู้ที่เรียนไม่เก่งหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า งานที่ห่วยที่สุดในบรรดางานที่จะได้ทำ คือ ทำงานที่สถาบันชาติพันธุ์ เรื่องนี้การันตีได้เลยว่า ทุกคนที่เรียนเอกชาติพันธุ์จะต้องได้งานทำทุกคน ขณะที่เรียนอยู่จะมีทุนให้เรียนฟรีและจะหาทุนให้ทุกคนอย่างแน่นอน


 


เมื่อได้ยินดังนั้น พวกเราก็มาปรึกษาหารือกันว่าจะย้ายคณะใหม่ดีไหม?


เพราะการท่องเที่ยวน่าจะใช้เงินจำนวนมาก บวกกับฐานะทางครอบครัวยากจนรายได้ไม่เพียงกับรายจ่าย พ่อกับแม่ต้องกู้หนี้ยืมสินมาเป็นค่าเทอมให้ (ธกส.) อีกอย่างก็อยากช่วยลดภาระทางนี้ให้กับครอบครัว อีกทั้งยังเป็นหนทางที่จะได้มีโอกาสเรียนต่อด้วย ก็เลยตัดสินใจย้ายคณะใหม่ (คิดดูสิ มีใครบ้างที่ไม่อยากได้ของฟรี เรียนก็ฟรี ที่พักก็ฟรี ทั้งยังได้ไปเรียนต่างประเทศอีก โดยไม่ต้องเสียเงินควักกระเป๋าตัวเองสักบาท ลืมนึกไปว่าของฟรีไม่มีในโลก)


 


ดิฉันโทรไปบอกพ่อกับแม่ว่า จะย้ายคณะใหม่ คณะนี้ดีอย่างโน้นอย่างนี้ สาธยายไป พ่อแม่ก็บอกว่า ถ้ามันดีอย่างที่พูดจริงก็ย้ายสิ จะได้ช่วยลดภาระของพ่อกับแม่ได้บ้าง เพราะพ่อกับแม่ต้องส่งน้องเรียนอีกหนึ่งคน


 


ในการย้ายคณะใหม่นี้จะต้องเสียค่าธรรมเนียมในการรายงานตัวใหม่อีกครั้ง เป็นเงิน 2,600 บาทถ้วน (ไม่รวมค่าหอพักและค่ามัดจำหอพัก ) หลังจากย้ายเข้ามาเรียนเอกชาติพันธุ์ศึกษา อาจารย์สมบัติ บุญคำเยือง ก็บอกว่า จะหาทุนให้ทุกคน ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่ได้ทุน โดยเฉพาะทุนออมสิน จะได้ทุนละ 200,000 บาทต่อปี จะขอไป 15 ทุน และยังบอกพวกเราอีกว่า ไม่ต้องขอทุนจากทางมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย เพราะมีทุนให้อยู่แล้วต่างหาก พวกเราก็ยิ่งเชื่ออย่างสนิทใจ 2-3 เดือนผ่านไป ไม่มีอะไรเกิดขึ้นทั้งยังไม่พูดถึงทุนออมสินอีกเลย


 


ถึง วันที่ 23 ธันวาคม 2549  อาจารย์สมบัติก็เรียกพวกเราคุยและบอกว่า ทุนออมสินที่ทำเรื่องขอไปนั้น ทางทุนออมสินตอบรับมาเรียบร้อยแล้ว แต่ !!!! อาจารย์ไม่กล้าเซ็นต์ เพราะกลัวว่า ตัวผู้สอนและตัวนักศึกษาจะไม่มีคุณภาพ


 


ตลอดเวลาที่ผ่านมา... อาจารย์ก็ไม่เคยมาดูแล สนใจใยดีพวกเรา ซ้ำยังปล่อยปะละเลยคล้ายๆ กับว่า จะลอยแพพวกเรา และปล่อยไปตามยถากรรม พวกเราจะมีกินหรือไม่ก็ไม่เคยจะสนใจ พอถึงเวลาจ่ายค่าเทอม ดิฉันบอกกับพ่อแม่ว่า จะต้องจ่ายค่าเทอมแล้วนะ พ่อกับแม่ก็หาเงินมาจ่ายค่าเทอมให้ไม่ทัน พ่อของดิฉันจึงโทรศัพท์ไปปรึกษาอาจารย์สันติพงษ์ ช้างเผือกว่า ตอนนี้หาเงินมาจ่ายค่าเทอมไม่ทันจะทำอย่างไรดี ถ้าไม่ได้ก็จะขอให้ดิฉันลาออก อาจารย์ก็คุยกับเจ้าหน้าที่ว่า จะหาทางออกอย่างไร จะผ่อนผันได้ไหม และบอกพ่อดิฉันว่า อย่าเพิ่งให้ดิฉันลาออก จากนั้น เจ้าหน้าที่สถาบันฯ ก็ชวนดิฉันมาคุยว่า จะต้องทำเรื่องผ่อนผันการชำระค่าเทอม เพราะหาเงินมาไม่ทันจริงๆ อีกทั้งยังเป็นเงินจำนวนที่ค่อนข้างมากด้วย (19,400 บาทต่อปี)และไม่รู้ว่าพ่อกับแม่จะหาเงินมาให้ทันตามที่กำหนดไว้
หรือเปล่า


 


ดิฉันจำต้องกู้ยืมเงิน กรอ.ค่าเทอมที่ผูกติดกับรายได้ในอนาคต เพราะไม่มีทางเลือก เหมือนกับว่าผลักดันให้เรากู้หนี้ยืมสิน ทั้งๆ ที่ ตอนแรกบอกว่าทุกอย่างฟรี !!!!!


 


 


 


 


 


 








 


ฉันกลับมาต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม


 



 


นางสาวนิภา แซ่ลิ้ม


ชาวลัวะ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน


 


ฉันได้เจอกับอาจารย์สมบัติ บุญคำเยืองอีกครั้งในเดือนมิถุนายน ตรงกับวัน ที่ 3  
ปี พ.ศ.
2549 นี่เป็นครั้งที่สองหลังจากที่อาจารย์มาแนะแนวที่โรงเรียนเมื่อปลายปี 2548


 


ฉันจำอาจารย์ได้ดี เพราะสิ่งที่อาจารย์พูดต่อหน้านักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน
41 คน ทำให้พวกเราเกือบครึ่งห้องอยากไปเรียนที่ชาติพันธุ์ และต้องเดือดร้อนให้คุณครูนำรถโรงเรียนและรถส่วนตัวอีกคันพาพวกเรา 16 คนมารายงานตัวที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายใน วัน ที่ 19 กุมภาพันธ์ 2549  วันนั้นทุกคนจ่ายเงินไปคนละ 800 บาทตามที่อาจารย์สมบัติได้บอกไว้


 


ต่อมาในวัน ที่ 5 พฤษภาคม 2549 พวกเรา 6 คนเดินทางล่วงหน้ามาลงทะเบียนเป็นนักศึกษาใหม่ เช้าวันนั้นไม่เจอโต๊ะสำหรับเอกชาติพันธุ์ แต่โชคดีเจอพี่ๆ ชมรมชาติพันธุ์จึงเข้าไปถามหา คณบดีคณะชาติพันธุ์อยู่ที่ไหน ? พวกเราอยากพบอาจารย์สมบัติมาก อยากถามอาจารย์ว่า ไหนเคยบอกเมื่อตอนมาแนะแนวว่า ถ้าเสียค่ารายงานตัวไป 800 บาทแล้วไม่ต้องเสียค่าอะไรอีก


รุ่นพี่พาพวกเราไปที่สถาบันชาติพันธุ์ศึกษา ได้พบกับเพื่อนใหม่คนหนึ่งที่จะเรียนเอกนี้ด้วยกัน ได้เจอพี่นาแล(เจ้าหน้าที่สถาบันชาติพันธุ์ศึกษา) พี่นาแลให้พวกเรานั่งรออาจารย์สมบัติอยู่ในห้องๆ หนึ่ง นั่งรอ รอ รอ อาจารย์ก็ไม่มาสักที พี่นาแลเข้ามาบอกว่า อาจารย์สมบัติไม่ว่าง ติดสอนอยู่ จากนั้นก็พาพวกเราไปที่ลงทะเบียน


 


เจ้าหน้าที่เรียกเก็บเงินอีกคนละ 1,800 บาท


ฉันคิดในใจ ไหนอาจารย์สมบัติบอกว่า ฟรี  ทำไมต้องจ่ายด้วยล่ะ?


 


ฉันกับเพื่อนอีกคนไม่ได้เตรียมเงินมาจึงจ่ายเฉพาะค่าหอพัก ส่วนที่เหลืออีก 4 คนจ่ายไปตามที่เจ้าหน้าที่เรียกเก็บ พี่นาแลแนะนำว่า ใครที่ยังไม่ได้จ่ายให้มาจ่ายในวันเปิดเรียนก็ได้  ฉันบอกตามตรง ตอนนั้นเริ่มลังเลแล้ว จะเรียนหรือไม่เรียนดี ถ้าเรียนฟรี หอพักฟรี มีทุนให้ตามที่อาจารย์สมบัติเคยพูดให้ฟังก็จะเรียนอยู่ หลังจากลงทะเบียนเสร็จพวกเราแยกย้ายกันกลับ ฉันกับเพื่อนอีก 3 คนลงกรุงเทพฯ ไปหางานทำ ช่วงนั้นฉันไปสมัครเรียนที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพฯ และมหาวิทยาลัยรามคำแหงไว้ด้วย


 


กระทั่ง วัน ที่ 3 มิถุนายน 2549 เมื่อฉันได้พบกับเพื่อนอีกครั้งที่ตลาดชายแดนห้วยโก๋น เพื่อนคนนี้อยากจะให้ฉันไปเรียนมากๆ  เพื่อนกล่าวว่า ถ้าเรียนสาขานี้ ลูกๆ อย่างเราจะได้ช่วยลดค่าใช้จ่ายของพ่อแม่อีกทางหนึ่ง และอีกอย่างเรียนจบจากสาขานี้มีงานรองรับแน่นอน เช่นงานทูตหรือนักวิชาการ ฉันฟังเพื่อนอย่างตั้งใจ


 


เพื่อนพาฉันไปหาอาจารย์สมบัติกับพี่นาแล พี่ถามว่า "อยากเรียนอะไร" ฉันตอบไปว่า "อยากเรียนเกี่ยวกับภาษา หรืออุตสาหกรรมท่องเที่ยว" อาจารย์สมบัติพูดสวนมาทันทีว่า "เรียนอย่างงั้น มีแต่จะไปเป็นทาสผู้รับใช้ของคนอื่น ไม่เป็นตัวของตัวเอง แต่ถ้าเรียนสาขาชาติพันธุ์นี้จะได้ทำงานที่ไม่ต้องเป็นทาสใคร เป็นตัวของตัวเองคิดที่จะทำตามความต้องการของตัวเองได้"


 


"มีด้วยหรืองานที่อาจารย์พูด...งานทุกงานจะต้องมีเจ้านายและลูกน้องทั้งนั้น" ฉันคิดอยู่ในใจ ไม่กล้าพูดออกมา


 


อาจารย์สมบัติยกเรื่อง ทุนการศึกษา มาพูดว่า ที่นี่จะมีทุนให้สำหรับนักศึกษาชาติพันธุ์ เป็นทุนของธนาคารออมสิน ฉันเริ่มสนใจมากขึ้น แต่ไม่ได้ตกลงว่า จะเรียนหรือไม่เรียนต้องขอปรึกษาพ่อแม่ก่อน


 


อาจารย์มีท่าทีว่าอยากไปพูดกับพ่อแม่ของฉันด้วยตนเอง แกลงทุนขับรถจากตลาดห้วยโก๋นไปบ้านของฉัน "ห้วยน้ำรีพัฒนา" ซึ่งไกลมากมีระยะทางคดเคี้ยวไปบนภูเขาประมาณ 42 กิโลเมตร เมื่ออาจารย์ได้พูดข้อเสนอทั้งหมดเหมือนกับที่พูดกับฉัน ดูเหมือนพ่อกับแม่ก็อยากให้ฉันเรียนมาก อาจารย์รับปากว่า จะดูแลฉันเป็นอย่างดี


 


ถึงแม้ครอบครัวของฉันจะมีฐานะไม่ยากจนเกินไปนัก แต่โดยทั่วไปเด็กทุกคนก็อยากเรียนสาขาวิชาที่ดีๆ จบมามีงานทำและมีทุนการศึกษาให้ ฉันตัดสินใจเก็บเสื้อผ้า ของใช้ส่วนตัว และเดินทางมาพร้อมกับอาจารย์


 


วันนั้นเป็นวันเสาร์ ไปถึงเชียงรายก็ดึกมากแล้ว อาจารย์สมบัติไปส่งฉันที่หอพักใน เช้าอีกวันก็มารับไปยังสถาบันชาติพันธุ์ เพื่อพูดคุยกับเพื่อนๆ ที่เรียนคณะเดียวกัน  พี่นาแลบอกให้ฉันไปพักที่บ้านพี่นาแลก่อน เพื่อรอทำเรื่องเข้าหอพักใน และพูดว่า ตอนนี้บ้านลัวะที่อาจารย์จะให้อยู่ฟรี ยังสร้างไม่เสร็จ


           


วันจันทร์ที่ 5 มิถุนายน 2549 วันแรกที่ต้องเข้าเรียน ฉันไม่ได้ไปเรียนเพราะต้องไปทำเรื่องรายงานตัวและจ่ายค่าธรรมเนียมไป 2,600 บาท ฉันนึกในใจ ทำไม ต้องจ่าย ไหนอาจารย์สมบัติว่า เรียนฟรีทุกอย่าง แต่ก็คิดไปว่า จ่ายแค่นี้ไม่เป็นไร อีกไม่นานก็คงได้ทุน 


           


วัน ที่ 29 มิถุนายน 2549 เป็นวันที่อาจารย์สมบัติ นัดประชุมนักศึกษาทุกคน แกพูดเรื่องทุนการศึกษาอีกครั้ง แต่คราวนี้แตกต่างจากครั้งก่อนมาก คือ แกกำหนดว่า คนที่จะได้ทุนจากธนาคารออมสิน ปีละ 200,000 บาทจะต้องได้เกรดเฉลี่ย 3.00 ขึ้นไป  พวกเราก็เอาเรื่องนี้มาคุยกันต่อทันที เราเริ่มสงสัยว่า ทำไม อาจารย์ไม่บอกพวกเราตั้งแต่แรกว่าเป็นอย่างนี้ แต่ตอนนั้นนักศึกษาอย่างเราไม่กล้าเรียกร้องอะไร หลังจากวันนั้นเป็นต้นมา ฉันกับเพื่อนๆ เริ่มหวาดหวั่น ไม่มั่นใจ และกลัวว่า จะเรียนไม่ได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดในการรับทุน


 


ถึงวันครบกำหนดจ่ายค่าเทอมงวดแรก ฉันหนักใจพอสมควร เพราะคิดอยู่ตลอดเวลาว่า ไม่ต้องจ่ายค่าเทอม แต่ดูเหมือน ตอนนี้ยังไงพวกเราก็ถูกบีบให้ต้องจ่ายแล้ว ฉันเลยไปกดเงินที่แม่ฝากมาให้ 9,700 บาทเพื่อเป็นค่าเทอม อีก 900 บาทเพื่อจ่ายค่าหอพัก รวมแล้วฉันต้องจ่ายเงินไป 10,600 บาท


 


ฉันคิดว่า ตัวเองยังโชคดีที่แม่ฝากเงินไว้ให้เป็นค่าเทอม แต่เพื่อนบางคนที่คิดว่า จะได้รับทุนและครอบครัวมีฐานะยากจนมากๆ พอไม่มีเงินจ่ายค่าเทอมก็วิ่งวุ่นไปปรึกษากับพี่ๆ เจ้าหน้าที่  ผลออกมา ก็คือ เกือบทุกคนจำเป็นต้องกู้เงินเรียนกันทั้งหมด ถ้าไม่กู้ ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ไม่รู้จะหาเงินที่ไหนมาจ่ายค่าเทอม แต่ละคนต้องเสียค่ารถกลับบ้านไปให้พ่อแม่เซ็นต์เอกสารต่างๆ ยุ่งยากมากเลย


 


ช่วงนั้นรู้สึก อาจารย์สมบัติไม่มาสนใจใยดีพวกเราเลย ทั้งๆ ที่ตนเป็นคนให้ความหวังกับพวกเราไว้ ยามที่เราลำบากกลับไม่มีการช่วยเหลืออะไรจากอาจารย์คนนี้เลย ช่วงนั้นพวกเราพูดคุยกันบ่อยมาก เราต้องให้กำลังใจกัน ต้องสู้ด้วยกัน เรียนด้วยกัน เพราะหลายคนเริ่มท้อ ไม่อยากเรียน และคิดจะลาออก ในที่สุด พวกเราก็ดึงกันจนจบเทอม 1 ของชั้นปีที่ 1 จนได้


 


แต่ละวันระหว่างปิดเทอม...ฉันคิดถึงแต่เรื่องการเรียนที่นี่ ถ้าเรียนไปแล้วไม่ได้เกรดตามเกณฑ์ ไม่ได้ทุนจะทำอย่างไร  คณะนี้ค่าเทอมแพงกว่าคณะอื่นที่ฉันเคยอยากจะเรียน จะเรียนหรือไม่เรียนดี หรือว่าจะย้ายคณะ ตอนนั้น  ฉันสับสนมาก ใจหนึ่งก็อยากเรียนต่อ อีกใจหนึ่งก็ไม่อยากเรียน


 


ต้นเทอมที่ 2 ประมาณเดือนพฤศจิกายน ฉันเริ่มคิดว่า ตัวเองอาจจะไม่เรียนเอกชาติพันธุ์ต่อไป จึงเข้าเรียนเฉพาะวิชาพื้นฐานของมหา" ลัยอย่างเดียว ไม่ยอมไปเรียนวิชาเอก แต่เพื่อนๆ ก็มาตามฉันไปเรียนอยู่หลายวันติดๆ กัน ฉันยอมกลับไปเรียนอยู่พักหนึ่ง แต่กำหนดเวลาของการจ่ายค่าเทอม ครั้งที่ 2 ก็มาถึง ฉันเริ่มลังเล คิดหนักอีกครั้ง ใจหนึ่งอยากเรียนต่อเพื่อรอย้ายคณะ อีกใจหนึ่งก็คิดว่า ลาออกไปแล้วหาที่เรียนใหม่ปีหน้า ที่แน่ๆ คือ ฉันตัดสินใจไม่จ่ายค่าเทอม ไม่จ่ายค่าหอพัก


 


ปลายเดือนพฤศจิกายน 2549 ฉันแอบหนีกลับบ้านโดยไม่ได้บอกอาจารย์ เพราะคิดว่าไม่รู้จะเรียนไปทำไม จะมีทุนให้ก็ไม่มี ที่เคยรับประกันว่า จบมามีงานทำก็คงจะไม่เป็นจริงตามที่อาจารย์สมบัติพูดไว้


 


ช่วงที่กลับมาบ้าน ฉันรู้สึกผิดหวัง ท้อแท้ หมดกำลังใจ โทษตัวเอง ไม่น่าเสียเวลาชีวิตไปตั้ง 1 ปีเต็มๆ ถ้าตอนนั้นฉันตัดสินใจเรียนวิชาที่ฉันชอบตั้งแต่แรก ป่านนี้ฉันคงไม่ตกอยู่ในสภาพแบบนี้ ทำไม ฉันถึงเชื่อคำพูดของอาจารย์คนนี้ง่ายๆ ทำไม ทำไม


 


แต่แล้ววันหนึ่งช่วงต้นเดือนมกราคม ตรงกับวัน ที่13  อาจารย์กบ (สันติพงษ์ ช้างเผือก) อาจารย์โป๊ะ(เจษฏา โชติกิจภิวาทย์) กับเพื่อนๆ ในรุ่นไปหาฉันที่บ้าน ทุกคนอยากให้ฉันกลับไปเรียนด้วยกัน ท้ายที่สุด...ฉันตัดสินใจกลับมาเรียนอีกครั้ง


 


การกลับมาครั้งนี้ได้รู้เรื่องเกี่ยวกับอาจารย์สมบัติ บุญคำเยืองมากขึ้น และมากพอที่จะทำให้ฉันกับเพื่อนๆ ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม.


 


 


 


 






 


เส้นทางที่มองไม่เห็น


 



 


 


นายสุรพจน์ มงคลเจริญสกุล


ชาวปกาเกอญอ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่


 


วัน ที่ 5 มิถุนายน 2549 ข้าพเจ้าได้หอบความล้มเหลวจากเชียงใหม่มุ่งสู่เชียงราย และอาศัยอยู่กับน้า


 


วัน ที่ 6 มิถุนายน 2549 มาสมัครเรียนคณะชาติพันธุ์ศึกษา จ่ายค่าลงทะเบียนเรียบร้อย พร้อมกับเข้าเรียนในวันนั้นทันที ตอนเย็นหลังจากที่เลิกเรียน ข้าพเจ้าเข้าไปคุยกับอาจารย์สมบัติ ท่านได้สอบถามถึงฐานะทางบ้านของข้าพเจ้า และกำชับให้ข้าพเจ้าย้ายเข้ามาอยู่บ้านพักข้างใน (ตอนนั้น ไม่รู้วาต้องเป็นบ้านเมี่ยน) ท่านบอกว่า เมื่อเข้ามาเรียนแล้ว ทางสถาบันจะให้ที่พักฟรี ให้กินฟรี


 


วัน ที่ 11 มิถุนายน 2549 ข้าพเจ้าย้ายมาอยู่บ้านพักใหม่ (จึงรู้ว่าเป็นบ้านเมี่ยน) แต่ไม่มีวี่แววว่า อาจารย์ท่านจะมาดูแลเรื่องการอยู่การกิน แรกๆ ก็ไม่เอะใจว่า จะโดนหลอก ได้แต่แอบหวังว่า คงจะได้ทุนธนาคารออมสิน ตามที่อาจารย์ได้พูดมาเป็นแน่


 


สองสามเดือนผ่านไป เสียงวิพากษ์วิจารณ์เกิดขึ้นในหมู่พวกเรา สืบเนื่องจากอาจารย์สมบัติไม่ได้เข้ามาดูแลพวกเราตามที่ได้กล่าวกับพวกเราไว้


 


ช่วงหนึ่งเดือนก่อนสอบปลายเทอมที่ 1 พวกเราถูกบีบให้ออกจากบ้านเมี่ยน ถูกเก็บถ้วยชาม และเก็บทีวีส่วนตัวของเพื่อนคนหนึ่งไปไว้ที่สำนักงาน สอบปลายเทอมที่ 1 เสร็จสิ้น ชีวิตพวกเราก็เดินมาถึงทางตัน ไม่สามารถจะอยู่ต่อบ้านเมี่ยนได้อีก เพื่อนๆ ต่างดิ้นรนหาที่อยู่ใหม่ ส่วนข้าพเจ้าย้ายของกลับมาอยู่บ้านน้าอีกครั้ง ระหว่างนั้นข้าพเจ้าช่วยน้าขายของ


 


เปิดเทอมใหม่ มีคำสั่งด่วนจากอาจารย์สมบัติให้ข้าพเจ้ากลับเข้ามาอยู่บ้านพักข้างในอีกครั้ง คราวนี้อาจารย์ให้ข้าพเจ้าไปทำความสะอาดพื้น และเอาเสื้อผ้าไปเก็บไว้ที่ บ้านไตหย่า พอตกดึกก็ให้มานอนเฝ้าห้องสมุด วันเสาร์-อาทิตย์ให้ไปช่วยงานในหลักสูตรสหวิทยาการบริหารท้องถิ่น โดยจะให้ค่าตอบแทนวันละ 200 บาท ข้าพเจ้าไม่ค่อยมั่นใจกับข้อเสนอนี้นักจึงนำเรื่องไปปรึกษากับอาจารย์กบ และพี่นาแล กระทั่ง ข้าพเจ้าได้ข้อสรุปกับตัวเองว่า น่าจะย้ายมาอยู่หอพักในของมหาวิทยาลัยดีกว่า


 


ที่ผ่านมา อาจารย์สมบัติได้แต่พูดว่า จะดูแลข้าพเจ้ากับเพื่อนๆ เป็นอย่างดี แต่ความจริงแล้วกลับหาใช่แบบนั้นไม่  ขณะที่อาจารย์อีกกลุ่มหนึ่ง และเจ้าหน้าที่สามสี่คนไม่เคยพูดแม้แต่คำเดียวว่า จะดูแลข้าพเจ้ากับเพื่อนๆ แต่...พวกเขาทำ ในเมื่อเส้นทางที่อาจารย์สมบัติวางไว้ให้ข้าพเจ้ากับเพื่อนๆ เป็นเส้นทางที่มองไม่เห็นว่า ข้างหน้าจะเป็นอย่างไร  ข้าพเจ้ากับเพื่อนๆ จึงต้องลุกขึ้นมากำหนดเอง.


 


 


 






 


ลุกขึ้นสู้


 



 


 


นายจะอือ ปะป่า


ชาวลาหู่  อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย


 


แน่มาก...หลอกลวงผู้ยากจน


ถ้าจะกล่าวถึง "อาจารย์สมบัติ" ช้ำสุดระทม อุตสาห์เทิดทูนบูชาไว้เหนือ ว่านี่แหละคือ คนที่เสียสละทำงานให้เราพี่น้องชาติพันธุ์ แต่หารู้ไหม หลอกเราไม่มีชิ้นดี


 


เราเองตั้งใจเรียนในมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย คณะสังคมศาสตร์ โปรแกรม ร.ป.ศ.
แรกพบเจอ
"อาจารย์สมบัติ" ปรึกษาให้ย้ายคณะโดยเอ่ยวาจาท่าทีสุภาพ ยื่นข้อเสนอให้ทุนการศึกษา เรียนฟรี จบมีงานทำ


 


โอ้...ละหนอ คำคนเชื่อไม่ได้ เห็นเพียงหน้าตารูปร่างสัดส่วน น่าเคารพเชื่อถือ แต่การกระทำเบื้องลึก คือ คำลวง


 


ผลบุญของนักศึกษาที่ได้รับจาก "อาจารย์สมบัติ" คิดแล้วน่าเศร้าใจแท้


 


เริ่มเรียนทำให้เราเชื่อมั่นว่า มีทุนการศึกษา เราเชื่อ เราจึงมีกำลังใจจะเรียน การปรึกษาหารือประชุมก็มีบ่อยครั้ง ทุกประชุมเป็นแรงจูงใจให้เรามีกำลังใจลุกขึ้นสู้ตลอด เวลาผ่านไปทุนการศึกษาที่เคยเอ่ยวาจาไว้ล่องลอยหายไป ความเชื่อถดถอยลดลงทีละน้อยๆ


 


เท่านี้ยังไม่พอ ถ้าให้กล่าวถึงเรื่องที่พักอีกหนอน่าสะเทือนใจ บอกให้เราอยู่บ้าน
เมี่ยน จะดูแลความเป็นอยู่ ต่อเติมปรับปรุงบ้านให้เหมาะสม ไม่ว่าห้องน้ำห้องนอน วอนให้เราเชื่อ แต่นานไป ปัดโธ่...
! เป็นแค่ลมปาก ลวงแค่นี้ไม่สาแก่ใจท่าน ต้องให้เราเจ็บหนักกว่าครั้งใด ด้วยการไล่ออกจากบ้านให้พ้นสายตา


 


นี่หรือ อาจารย์ที่เราเคารพเทิดทูน นี่หรือคือ คนที่บอกว่า ตนเสียสละเพื่อพี่น้อง แต่นี้ต่อไป สิ้นสุดแล้วสำหรับ "อาจารย์สมบัติ"


 


ทุกวันนี้...ชีวิตเราต้องดิ้นรน หลบๆ ซ่อนๆ ในต่างท้องที่ เพื่อเรา เพื่อสังคม เพื่อพี่น้องชาติพันธุ์ เราจึงตัดสินใจลุกขึ้นสู้ ! และวอนพี่น้องมิตรสหายร่วมเดินทางพร้อมกัน.



 


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net