Skip to main content
sharethis


 


 


นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลชาวเอเชียคนแรกชื่ออำมาตยา เซ็น ได้เสนอความเห็นที่ใช้เวลาหลายปีกว่านักเศรษฐศาสตร์และบรรดาอำมาตย์ (เซ็ง) อีกหลายคน จะเข้าใจว่าประชาธิปไตยคือหัวใจของการแก้ปัญหาความยากจน (1)


 


ในมุมคิดของอำมาตยา เซ็น ส่วนสำคัญของการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและความยากจน ไม่ได้อยู่ที่การลงทุนจากต่างประเทศ ความเชื่อมั่นในการลงทุนจากต่างชาติ ความช่วยเหลือจากต่างชาติ หรือการประชาสัมพันธ์เชิงรุก รวมถึงนโยบายเศรษฐกิจแบบ "ชาตินิยมชักดาบ"... (2)


 


หากแต่อยู่ที่ระบบการแบ่งปันทรัพยากร ว่าใครคือคนตัดสินใจในการแบ่งสรรทรัพยากรของประเทศ


 


ถ้าประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมในการกำหนดความพอดีและความพอเพียง อย่าว่าแต่ต่างชาติจะไม่เข้าใจว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงหมายความว่าอะไรเลยครับ ... ประชาชนในประเทศก็ไม่เข้าใจว่าอะไรคือความพอดีและความพอเพียงเช่นกัน


 


ถ้าประชาชนไม่ได้รับการคุ้มครองในเรื่องเสรีภาพทางการเมือง เสรีภาพทางเศรษฐกิจ โอกาสทางสังคม หลักประกันความโปร่งใส และการคุ้มครองความปลอดภัย เราจะมีระบบเศรษฐกิจที่มีรากฐานจากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างไร?


 


ประชาชนที่จะอยู่ในระบอบเศรษฐกิจแบบพอเพียงควรเป็นประชาชนที่ได้รับ "ข้อมูลประชาสัมพันธ์เชิงรุกของรัฐบาล ภายใต้นโยบายข้อมูลข่าวสารแบบทีใครทีมัน" (3) ... หรือควรเป็นประชาชนที่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่หลากหลาย และสามารถตั้งคำถามและถกเถียงในเรื่องของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้?


 


จริงหรือที่ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงควรถูก "ผูกขาดโดยรัฐบาล" ที่ทำหน้าที่บังคับใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงราวกับเป็น "คำสั่ง" ที่ประชาชนต้องปฏิบัติโดยพร้อมเพรียงกันและปราศจากข้อสงสัย?


 


หรือขนาดนำเสนอภาพว่า "บริษัททุนนิยมขนาดใหญ่" นั้นร่ำรวยขึ้นมาได้ด้วยการดำเนินชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งที่ผลิตภัณฑ์ของบริษัทจำนวนไม่น้อย นำไปสู่การเปลี่ยผ่านสังคมสู่สังคมทุนนิยมและอุตสาหกรรมเกษตรขนาดใหญ่ การบริโภคผ่านศูนย์การค้า และร้านชำที่กระจายตัวไปทุกหย่อมความเจริญ รวมทั้งการเป็นเจ้าของบริษัทสื่อสารขนาดใหญ่? (4)


 


หรือว่า ... ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไม่ควรถูกผูกขาดโดยรัฐราชการและทุนนิยมที่พยายามทั้งอ้างทั้งปั้นว่าความสำเร็จขององค์กรตัวเองจากอดีตมาสู่ปัจจุบันนั้นมาจากหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง


 


ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงควรเป็นของประชาชนที่มีเสรีภาพในการเลือกนำไปปฏิบัติ และประยุกติใช้ พร้อมทั้งสามารถพัฒนาแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงต่อไปได้ในอนาคตมิใช่หรือ?


 


รัฐบาลเองมีตัวชี้วัดอะไรในการวัดความสำเร็จและประเมินผลงานของรัฐบาลภายใต้ระบอบเศรษฐกิจและการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจในแบบที่อ้างว่าดำเนินตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง? หรือว่าทำได้แค่รอสื่อแท้ในสังคมสมานฉันท์ที่เน้นหนักการประชาสัมพันธ์เชิงรุกคอยตีพิมพ์โพลรายวันว่าประชาชนเห็นด้วยกับแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง?


 


เวลาที่พูดถึงดรรชนีความสุข และความพอเพียง เราพูดถึงไหมว่ารัฐบาลนี้จะมีนโยบายว่าด้วยเรื่องสวัสดิการสังคม และนโยบายว่าด้วยการกระจายความมั่งคั่งในสังคมอย่างไร? นโยบายสวัสดิการสังคมและการกระจายความมั่งคั่งในสังคมโดยรัฐในแบบไหนที่จะทำให้สังคมสามารถไปสู่จุดหมายตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้? อาทิ การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจตามปรัชญาเศรษฐกิจแบบพอเพียงแบบไม่มีรัฐบาลเลย หรือมีรัฐบาล "เผด็จการสุภาพบุรุษ" หรือจะเอารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนภายใต้รัฐธรรมนูญที่ประชาชนเป็นผู้ร่าง?


 


จริงหรือที่ประชาชนไทยไม่มีความเข้าใจปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจนถึงกับต้องไประดมผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองมาอธิบายให้ฟัง? หรือเอาเข้าจริงแล้วปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่ทำกันอยู่นั้นเป็นเพียงกระบวนการประณามทุนนิยมและโลกาภิวัตน์แบบมือถือสากปากถือศีลไปเรื่อยๆ ในฐานะเป็นเครื่องมือทางการเมืองและอุดมการณ์ที่จะสลัดหลุดจากภาพลักษณ์การคบหาสมาคมและความเป็นพันธมิตรกับทักษิณ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริง การออกมาอธิบายเศรษฐกิจพอเพียงในที่สาธารณะของคนจำนวนไม่น้อยนั้นก็ไม่ใช่เรื่องของการมุ่งหวังให้ประชาชนเข้าใจ เท่ากับมุ่งหวังให้ผู้มีอำนาจเข้าใจว่าพร้อมถูกเรียกใช้ในนามของการทำงานเพื่อบ้านเมืองเสียมากกว่า


 


หรือว่าการนำไปสู่การสร้างสังคมบนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้นจะทำได้ จะต้องขจัดเงื่อนไขทางการเมืองเศรษฐกิจและสังคมที่มากไปกว่าการรัฐประหารโค่นล้มทักษิณ ชินวัตร (คนเดียว ไม่รวม "และพวก") และการทำให้เกิดการรองรับสิทธิของประชาชนที่จะได้รับการคุ้มครองและการยอมรับจากรัฐ โดยประชาชนต้องมีส่วนในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจที่มีฐานจากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งย่อมจะต้องสะท้อนออกมาจากกติกาทางการเมืองของสังคมนั้นๆ และถ้ากติกาไม่ลงตัว หรือกติกาถูกละเมิดไม่ว่าจะจากฝ่ายไหนก็ตาม ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจะถูกนำไปปฏิบัติจากประชาชนได้อย่างไร?


 


อย่าแก้ปัญหาเศรษฐกิจโดยการ "แช่แข็งการพัฒนาทางการเมือง" แล้วยัดเยียดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงราวกับการส่งเสริมอุดมการณ์พัฒนาแบบทุนนิยมในยุค "น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี มีงานทำ" อีกเลยครับ เพราะนั่นหมายถึงว่า เรากำลังจะเห็นตรรกะของการเป็นรัฐระบบราชการที่หมกมุ่นกับการพัฒนาในฐานะฐานความชอบธรรมของรัฐ (developmental state) กลับมาทำงานอย่างเข้มข้นและเข้มแข็งเหมือนยุคแห่งการหมกมุ่นการพัฒนาเช่นเดิม แต่ด้วยภาษาใหม่คือปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่ทำหน้าที่เป็นเพียงแค่พาหะนำเอาอำนาจของรัฐราชการมาบังคับประชาชนให้ทำตามเหมือนที่ผ่านมา (5)


 


โปรดคืนอำนาจให้ประชาชนโดยการสร้างบรรยากาศให้ประชาชนสามารถตั้งคำถามและถกเถียงในเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้ เพราะหลักการการเรียนรู้ที่ดีนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่แค่เพียงการมี "เนื้อหา" และ "ตำรา" ที่ดี แต่ต้องหมายถึงสร้างและส่งเสริม "บรรยากาศ" ในการเรียนรู้ผู้เรียนรู้นั้นมีความรู้สึกอยากจะเรียนรู้และตั้งคำถามได้ รวมทั้งผู้ที่ให้การศึกษาผู้อื่นนั้นก็จะต้องได้เรียนรู้จากการนำเสนอความรู้ของตนออกไปด้วย


 


และโปรดตอบคำถามด้วยว่าประชาธิปไตยกับเศรษฐกิจพอเพียงจะไปด้วยกันอย่างไร?


 


และถ้าตอบไม่ได้ ก็ทำให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยเสียก่อน ค่อยมาว่ากันเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจะดีกว่าครับ (6)


 


... อย่าให้สงสัยไปกว่านี้เลยครับว่า ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้นจะสามารถนำไปปฏิบัติได้ (หรือเกิดได้ในบรรยากาศ) เฉพาะในระบอบที่เรียกกันว่าระบอบปฏิรูปการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข(ซึ่งเป็นระบอบที่ได้มาจากการรัฐประหาร) เท่านั้น ?


 


 


—————————


เชิงอรรถขยายความ:


 


1.Sen, Amartya. Development as Freedom. New York: Knopf, 1999. สำหรับการสรุปประเด็นเป็นภาษาไทย ดู คนชายขอบ. Development as Freedom โดย Amartya Sen. ใน http://www.fringer.org/?p=56


 


2.คำว่า "ชาตินิยมชักดาบ" นี้ผมไม่ได้ประดิษฐ์ขึ้นเอง แต่ได้มาจากอาจารย์ผู้ใหญ่ทางรัฐศาสตร์ท่านหนึ่งที่ผมเคารพนับถือ ...


 


3.จะว่าไปแล้ว นวัตกรรมที่สำคัญประการหนึ่งของทุนนิยมแบบทักษิณพรรคพวก ก็คือทุนนิยมสื่อสาร ที่ทำมาหากินกับการเสกคลื่นสัญญานบนฟ้าเอามาแสวงหากำไรได้ผ่านการผูกขาด องค์ประกอบสำคัญอย่างน้อยสองประการที่นำมาซึ่งการทำงานของทุนสื่อสารก็คือ ทุนสื่อสารนั้นไม่ใช่ทุนที่เกิดจากการขูดรีดโดยตรง เหมือนทุนอุตสาหกรรม ที่ทำให้แรงงานนั้นสามารถเข้าใจได้ว่าพวกเขาเป็นทั้งผู้บริโภคสินค้า และเป็นผู้ผลิตสินค้าที่ถูกเอาเปรียบ ณ กระบวนการผลิต (เพราะเขาต้องขายกำลังแรงงานของตัวเขาเอง) และ ณ กระบวนการแลกเปลี่ยน และประการที่สอง ทุนนิยมสื่อสารจะมีกำไรมหาศาลได้ด้วยการผูกขาดสิทธิในกระจายคลื่น ซึ่งว่าง่ายๆก็คือ ทุนแบบนี้มีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดการทุจริตได้ง่ายมาก ด้วยว่าทุนเหล่านี้จะโตได้จากการ "จ่ายค่าเช่า" ให้กับรัฐ และรัฐที่ "แสวงหาค่าเช่า" โดยไม่มีกระบวนการที่โปร่งใสในการตัดสินใจกระจายคลื่นความถี่ ก็คือรัฐที่มีแนวโน้มที่จะทุจริต ทั้งนี้ทรัพยากรที่นำไปสู่การทุจริตอาจไม่จำเป็นต้องเป็นตัวเงินก็ได้ แต่อาจหมายถึงความสัมพันธ์ระหว่างสื่อมวลชนกับตัวรัฐบาลที่อาจนำไปสู่การเซ็นเซ่อร์ตัวเองของสื่อ หรือการไม่สามารถหาคำตอบได้ว่าเหตุใดรัฐจึงเลือกผู้ประกอบการรายดังกล่าวมากกว่ารายอื่นๆ ในกรณีล่าสุดของกรมประชาสัมพันธ์นี้ เรายังไม่พบการสร้างบรรทัดฐานใหม่ใดๆในแง่ของการตัดสินใจสาธารณะในแง่ของการกระจายคลื่นความถี่และการจัดผังรายการ นอกจากปล่อยให้ผู้ที่เข้ามาร่วมจัดรายการต้องทำหน้าที่ช่วยอธิบายด้วยตรรกะทำนองว่า "จะกลัวไปทำไม ทีเมื่อก่อนปล่อยให้พวกอื่นจัดยังได้เลย"


 


4) ดูตัวอย่างที่ "เจ้าสัวซีพี ดำเนินธุรกิจ-ชีวิตประจำวัน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" ข่าวสังคม-สตรี. Thairath.co.th [23 ก.พ. 50 - 00:21] ลองดูเนื้อข่าวเต็มๆดังนี้


 


"ในยุคที่สังคมกำลังเข้าเกียร์ว่าง ทิศทางเศรษฐกิจไม่แน่นอน คงไม่มีอะไรดีไปกว่าการหันมายึดหลัก ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการดำรงชีวิตและดำเนินธุรกิจ ดังเช่นเจ้าสัวซีพี ธนินท์ เจียรวนนท์ ผู้กุมบังเหียนธุรกิจการเกษตรใหญ่ยักษ์เครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งมีสาขาอยู่ใน 11 ประเทศทั่วโลก และมียอดขายรวมหลายแสนล้านบาทต่อปี อาศัยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักในการดำเนินชีวิตและประกอบธุรกิจ จึงส่งผลให้ธุรกิจของเครือเจริญโภคภัณฑ์เติบโตอย่างมั่นคงและก้าวหน้ามาจนถึงปัจจุบัน


 


นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวถึงหลักเศรษฐกิจพอเพียงที่ตนนำมาใช้ในการดำเนินชีวิตว่า "ส่วนตัวผมใช้ชีวิตแบบพอเพียงในชีวิตประจำวัน เช่น ไม่กินจนเกินไป เพราะทำให้สุขภาพมีปัญหา ใช้จ่ายอย่างพอเหมาะ ไม่ใช่ไม่ใช้เงินเลย ที่สำคัญคือไม่ใช้เงินจนเกินตัว มีเงินแล้วต้องใช้เงิน โดยไม่ทำให้ตนเองและคนอื่นเดือดร้อน"


 


เจ้าสัวซีพีย้ำด้วยว่า "เศรษฐกิจพอเพียง" เป็นปรัชญาที่คนทุกระดับสามารถนำไปปรับใช้กับชีวิตของตนเองได้ และโดยส่วนตัวแล้วเพิ่งเข้าใจคำว่า "พอเพียง" ลึกซึ้งขึ้น เมื่อได้ฟังโอวาทของ ฯพณฯ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษในโอกาสหนึ่งที่ว่า "ปรัชญาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในเรื่องความพอเพียงนี้ สามารถใช้ได้กับคนทุกระดับ ทุกกลุ่มบุคคล ทุกบริษัท รวมทั้งประเทศชาติ โดยคำว่า "พอเพียง" นั้น ขึ้นต้นด้วยคำว่า "พอ" นั่นหมายถึง ต้องรู้จักพอ คือพอเหมาะและพอดี ส่วนคำว่า "เพียง" นั้นหมายถึง การไม่ทำอะไรที่เกินตัว" และซีพีก็ได้นำแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะในด้านของการลงทุน ซึ่งซีพีจะประเมินตัวเองก่อนเสมอว่า มีความสามารถในการลงทุนเท่าใด และจะลงทุนอย่างไรที่จะไม่ทำให้มีภาระมากจนเกินไป โดยซีพีจะต้องทำตามความสามารถที่ตนเองมีอยู่ ไม่ใช่ทุ่มจนสุดตัวหรือเกินตัว เพราะหากมีวิกฤตการณ์ใดๆเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทางด้านเศรษฐกิจ การเงิน คน หรือสิ่งแวดล้อม อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาอย่างคาดไม่ถึง ซีพีจะต้องอยู่ได้ โดยไม่ทำให้พนักงาน ผู้ถือหุ้น ธนาคารที่ให้เงินกู้ และสังคมเดือดร้อน


 


อย่างไรก็ตาม คำว่า "เศรษฐกิจพอเพียง" ไม่ได้หมายความว่า ให้เราหยุดอยู่กับที่ในขณะที่โลกยังก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง แต่ความพอเพียงคือความพอเหมาะพอสม ซึ่งความหมายนั้นลึกซึ้ง ต้องใช้ให้ ถูกต้อง แล้วจะเป็นประโยชน์อย่างมหาศาลต่อบุคคล ต่อประเทศชาติ โดยเฉพาะกับภาวะเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบัน."


 


5.ดูตัวอย่างจากคำสัมภาษณ์ของ คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่ว่า "สพฐ. (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ) จะสอดแทรกหลักสูตรเศรษฐกิจพอเพียงเข้าสู่ในการอบรมทุกประเภท เพื่อให้ครูทุกคนได้มีโอกาสทราบและเข้าใจในหลักเศรษฐกิจพอเพียง และทุกหน่วยงานในสังกัด สพฐ.ก็จะช่วยกันทำแผนว่าจะน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่การปฏิบัติได้ อย่างไร และจะผลักดันให้ทุกโรงเรียนจัดกิจกรรมคุณธรรมนำความรู้ โดยมีเกณฑ์กว้างๆ ว่าต้องมีการปลูกฝังคุณธรรมแทรกในการเรียนการสอน เป็นการปฎิบัติร่วมกันระหว่างนักเรียนและครู กรรมการสถานศึกษา โดยจะมีกิจกรรมอย่างต่อเนื่องทั้งปี


 


โดย สพฐ.คาดหวังว่าจะพัฒนาโรงเรียนประมาณ 10% หรือประมาณ 3,000 โรงเรียนเพื่อเป็นต้นแบบจากนั้นจะค่อยๆ ขยายผลให้ไปสู่โรงเรียนทั่วประเทศ ประมาณการว่าภายใน 3 ปีจะทำได้ครบทุกแห่งทั่วประเทศ ภายใต้นโยบายคุณธรรมนำความรู้ สพฐ. จะให้เงินทุกสถานศึกษานำไปฟื้นฟูกิจกรรมลูกเสืออย่างเต็มรูปแบบ เพื่อให้ลูกเสือจะน้อมนำเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่การปฎิบัติ รวมทั้งการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ การทำความดีถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเน้นว่าจะทำอย่างไรจะมีผู้บังคับบัญชาลูกเสือได้คุณภาพตามเกณฑ์ ที่กรรมการลูกเสือกำหนดในทุกสถานศึกษา รวมถึงจะมีการประกวดดนตรีและละครคุณธรรม เชิญชวนให้นำคุณธรรมแทรกไปในดนตรีและละคร


 


"การปลูกฝังคุณธรรม การทำคุณงามความดี จะสร้างภูมิต้านทานไม่ให้เด็กที่มีปัญหาออกนอกลู่นอกทาง นอกจากนี้จะร่วมฟื้นฟูเรื่องระบบดูแลนักเรียน จะต่อยอดเรื่องระบบดูแลนักเรียนโดยการพัฒนาให้มียุวชนแนะแนวเกิดขึ้นในทุก โรงเรียนที่มีช่วงชั้นที่ 3 และ 4 เหล่านี้จะเป็นเรื่องใหญ่ๆที่จะทำในปีนี้ภายใต้หัวข้อคุณธรรมนำความรู้" ("หมอเกษม" เผยฝรั่งเขียนโจมตี ศก.พอเพียง เทียบทักษิโณมิกส์เพราะมีคนจ้าง" ผู้จัดการออนไลน์ 31 มกราคม 2550 17:23 น.)


 


และ ทำพจนานุกรมศัพท์ "พระราชดำริ" -ศก.พอเพียง (มติชน วันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10572 หน้า 26 ความว่า


 


"นางจิตนา พันธุฟัก เลขาธิการราชบัณฑิตยสถาน เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักราชบัณฑิตยสถานกำลังจัดทำพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2550 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา ซึ่งจะบัญญัติคำศัพท์จากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในโครงการ ต่างๆ มาไว้ในพจนานุกรมเฉลิมพระเกียรติฉบับนี้ เพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนได้เข้าใจ ทราบความหมาย และข้อมูลที่ถูกต้อง เพราะที่ผ่านมามีประชาชนสอบถามมายังสำนักราชบัณฑิตยสถานเกี่ยวกับความหมาย คำศัพท์ การสะกดคำจากโครงการพระราชดำริจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องบัญญัติศัพท์เหล่านี้เอาไว้ เพื่อให้ใช้กันอย่างถูกต้องโดยนายชัยอนันต์ สมุทวณิช นายกราชบัณฑิตยสถาน ได้แต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำต้นฉบับเพื่อจัดพิมพ์พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิต พ.ศ.2550 มาดำเนินการให้แล้วเสร็จในปี 2550


 


น.ส.ชลธิชา สุดมุด นักวรรณศิลป์ในฐานะกรรมการจัดทำต้นฉบับฯ กล่าวว่า มีคำศัพท์จากโครงการพระราชดำริจำนวนมากที่จะบรรจุไว้ อาทิ แกล้งดิน แก้มลิง เศรษฐกิจพอเพียง ฝายแม้ว เป็นต้น โดยจะประสานไปยังสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมา จากพระราชดำริ (กปร.) ให้พิจารณาว่าจะนำคำใดมาบัญญัติไว้บ้าง รวมทั้ง จะเพิ่มคำศัพท์ส่วนอื่นๆ ที่ใช้ไม่ต่ำกว่า 10 ปี มาบัญญัติไว้ด้วย คาดว่าจะมีคำศัพท์เพิ่มขึ้น 30% จากที่มีอยู่ 30,000 คำในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานในปัจจุบัน


 


คุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า คำศัพท์จากโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีอยู่หลายคำ โดยเฉพาะคำว่า "พอเพียง" ที่พระองค์ได้สื่อสารกับวิถีชีวิตของคนไทยมาตลอด เมื่อบรรจุไว้ในพจนานุกรมแล้ว จะช่วยให้ประชาชนทุกระดับเข้าใจความหมายมากขึ้น ถือเป็นโครงการที่ดีมาก


 


คุณหญิงไขศรีกล่าวอีกว่า ส่วนหนังสือสารานุกรมนั้น จากการเข้าเฝ้าฯสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระองค์มีพระราชกระแสถึงหนังสือสารานุกรมอยู่เสมอว่าเป็นขุมคลังทางปัญญา ทรงใช้ประโยชน์อยู่เสมอ เพราะมีประวัติ บอกเล่าประเพณี วิถีชีวิต วัฒนธรรมท้องถิ่นของแต่ละภูมิภาคในประเทศไทย แต่เยาวชน และคนทั่วไปยังใช้ประโยชน์น้อยมาก ฉะนั้น จะทำอย่างไรให้ประชาชนใช้อย่างทั่วถึง ซึ่ง วธ.ได้มอบให้นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ ปลัด วธ.ไปรณรงค์การให้คนไทยหันมาใช้พจนานุกรม และสารานุกรม ควบคู่กับการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้องอีกทางหนึ่ง"



6. การเมือง(และประชาธิปไตย)จึงมีความสำคัญเพราะทำให้เกิดการต่อสู้กันในการให้ความหมายต่อสิ่งที่เราไม่มีทางไปถึงได้ผ่านการประดิษฐ์และสอดแทรกความหมายลงไปในสัญญะที่กลวงเปล่านั่นเอง ("Politics is possible because the constitutive impossibility of society can only represent itself through the production of empty signifiers." ใน Laclau, Ernesto. "Why Do Empty Signifiers Matter to Politics?" In Emancipations(S). London: Verso, 1994 (1996). หน้า 44


 


ในปัจจุบัน ไม่มีใครที่ไม่พูดถึง "ความพอเพียง" และเมื่อ ความพอเพียงถูกพูดถึงมากขนาดนั้น ก็เป็นไปได้ที่ความพอเพียงนั้นจะไม่สามารถถูกผูกขาดไว้ได้ด้วยผู้ที่ถืออำนาจกลุ่มเดียวอีกต่อไป ดังที่เห็นว่ายิ่งพูดกันมาก รัฐก็ยิ่งพยายามออกมากำหนดนิยามความพอเพียงที่ตายตัวมากขึ้น (ดูเชิงอรรถที่แล้ว) ซึ่งอาจเป้นไปได้ว่ายิ่งมีการเผยแพร่ความคิดเรื่องความพอเพียงมากเท่าไหร่ ความพอเพียงตามที่เสนอไว้แต่แรกก็จะสูญเสียความหมายดั้งเดิมมากขึ้น


 


ดังนั้นถ้าจะให้ความพอเพียงนั้นมีความยั่งยืนจริง การเมืองที่เปิดให้มีการรับฟัง แลกเปลี่ยน และถกเถียงถึงคำจำกัดความของความพอเพียงต่างหากที่สำคัญมากกว่าเนื้อหาสาระของความพอเพียงจากแหล่งเดียว


 


 


—————————


หมายเหตุ : ปรับปรุงจากบทความที่ตีพิมพ์ครั้งแรกใน หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันพุธที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 หน้า 4 และนำเผยแพร่ใน www.onopen.com

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net