Skip to main content
sharethis

ประชาไท -  ศิษย์เก่าสถาบันราชภัฏเชียงรายซึ่งเคยเป็นนักศึกษาที่ร่วมทำกิจกรรมกับทางศูนย์ชาติพันธุ์ศึกษา รวมตัวกันเขียนจดหมายเปิดผนึก เมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2550 เพื่อเรียกร้องให้อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเร่งสอบสวนกรณีที่นักศึกษาโปรแกรมวิชาเอกชาติพันธุ์ศึกษา อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ได้ยื่นหนังสือต่อทางคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ระบุว่าพวกตนถูกผู้อำนวยการศูนย์ชาติพันธุ์หลอกลวงว่าจะได้เล่าเรียนฟรี แต่กลับต้องกู้เงินจนเป็นหนี้กันยกชั้น


 


กลุ่มอดีตนักศึกษาที่รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมในครั้งนี้ ประกอบด้วย สมาชิกกลุ่มเพื่อนชนเผ่า. สมาชิกกลุ่มเพื่อนชุมชน และสมาชิกกลุ่มมดงาน ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ดำเนินกิจกรรมและประสานงานด้านการรณรงค์และสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย


 


เนื้อความในจดหมายเปิดผนึกที่เขียนโดยกลุ่มอดีตนักศึกษาสถาบันราชภัฏเชียงราย ฉบับที่ 1 เป็นการให้กำลังใจแก่นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ที่ได้รับความเดือดร้อน ทั้งยังเรียกร้องให้ทางมหาวิทยาลัยเร่งสอบสวนหาความจริงในกรณีดังกล่าวโดยเร็วที่สุด เพราะหากมัวแต่ประวิงเวลา อาจส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงที่สั่งสมมากว่า 38 ปีของสถาบัน แม้ว่าสถาบันราชภัฏเชียงรายจะเปลี่ยนไปเป็นมหาวิทยาลัยแล้วก็ตาม และผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องแสดงความรับผิดชอบต่อกรณีดังกล่าวให้ถึงที่สุดด้วย


 


 



 


จดหมายเปิดผนึกฉบับที่1


 


เรียน อธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย


 


จากข่าวที่ปรากฏบทเว็บไซต์ Prachatai.com ที่เสนอข่าวนักศึกษาโปรแกรมวิชาเอกชาติพันธุ์ศึกษาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ได้ยื่นหนังสือต่อทางคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2550 และมีกระทู้ในเว็บไชค์วิพากษ์ วิจารณ์อย่างมากมาย ทำให้กลุ่มอดีตนักศึกษาของสถาบันราชภัฎเชียงราย หรือมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย ที่เคยร่วมรวมกลุ่ม และเข้าร่วมทำกิจกรรมกับทางศูนย์ชาติพันธุ์ศึกษา ได้มีการประสานพูดคุยกัน และเห็นว่า


 


1. โดยประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยที่ยาวนานกว่า 38 ปี มีภารกิจ วิสัยทัศน์ ที่เป็นสถาบันเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น และมหาวิทยาลัยที่ในปัจจุบัน ดังนั้นการที่มีเด็กกลุ่มหนึ่ง ได้ออกมาร้องเรียนกับคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยไม่ร้องเรียนผ่านที่ทางมหาวิทยาลัยนั้น ไปได้หรือไม่ว่า พวกเขาไม่มั่นใจ สถาบันราชภัฎเชียงรายที่เคยรับฟังปัญหา และข้อเสนอของนักศึกษามาโดยตลอด เป็นสถาบันของท้องถิ่น และให้โอกาสกับปวงชนได้เปลี่ยนไปแล้ว ตามการเปลี่ยนจากสถาบัน ไปเป็นมหาวิทยาลัย


 


2. เราในฐานะผู้ที่เคยเข้าร่วมกิจกรรมของศูนย์ชาติพันธุ์ฯ เคยได้รับข้อมูลข่าวสาร และภาพฝันของอยากเห็นศูนย์ชาติพันธุ์ฯ ดังกล่าวเป็นทางเลือก ให้โอกาส เป็นที่พึ่ง เปิดมิติมุมมองใหม่ๆ ทางวิชาการเกี่ยวกับชาติพันธุ์ เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น แต่การเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิของนักศึกษาชั้นปี 1 ซึ่งเป็นปีแรกของโปรแกรมวิชาเอกชาติพันธุ์ศึกษาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ย่อมสะท้อนถึงสภาพปัญหาที่น่าห่วงใยอย่างยิ่ง และมหาวิทยาลัยต้องมีกระบวนการตรวจสอบโดยเร่งด่วน มิอาจปฏิเสธความรับผิดชอบได้ เพราะถือว่าเป็นอันตรายต่อสถาบันในระยะยาว  


 


อย่างน้อย ผู้ที่จะเข้ามาเรียน และผู้ปกครองที่จะส่งบุตรหลานจะขาดความเชื่อมั่นต่อสถาบันที่มีคุณูปการแก่ท้องถิ่นมาอย่างยาวนาน จะมีหลักประกันใดได้บ้างที่จะทำให้สร้างความเชื่อมั่นต่อผู้อื่น หากมหาวิทยาลัยไม่แสดงจุดยืน และตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา และเป็นธรรมกับทุกฝ่ายให้เห็นเป็นประจักษ์กับทุกฝ่าย


 


3. เราขอประณามพฤติกรรมดังกล่าวของ ผอ.สถาบันชาติพันธุ์ และขอแสดงความเสียใจของนักศึกษาและเป็นกำลังใจให้ในการเรียกร้องสิทธิในครั้งนี้


 


4. ท้ายสุด เราขอ เรียกร้องให้อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัชเชียงราย จัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากหลายฝ่ายโดยเร่งด่วน ที่สำคัญต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าตัวบุคคลที่สร้างความเสื่อมเสียให้กับสถาบันโดยรวม


 


ด้วยความเชื่อมั่น


กลุ่มเพื่อนชนเผ่า


สมาชิกกลุ่มเพื่อนชุมชน


สมาชิกกลุ่มมดงาน


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net