Skip to main content
sharethis


 


สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ


 


 


ได้อ่านข่าวและเห็นว่ามีการถกเถียงนำเสนอในเรื่องเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ ดังเช่น เรื่องจำนวน ส.ส.ควรจะมีมากหรือน้อย จะให้มีวุฒิสภาแบบไหน หรืออะไรทำนองนี้


 


ผู้เขียนเห็นว่า เป็นเพียงเรื่องพลความปลีกย่อย อันที่จริงในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ยังมีประเด็นอีกมากมายที่เป็นประเด็นหลักสำคัญที่ควรจะต้องพิจารณา และสังคมไทยยังไม่ได้มีการถกเถียงกันอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในเรื่องการทำให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นรัฐธรรมนูญที่ก้าวหน้า และเป็นประชาธิปไตยมากกว่า รัฐธรรมนูญในอดีตที่ผ่านมา


 


ก่อนอื่น ผู้เขียนไม่ได้เห็นด้วยกับการฉีกรัฐธรรมนูญและร่างใหม่ทั้งฉบับเช่นนี้ แน่นอนรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ยังมีข้ออ่อนที่ต้องแก้ไขหลายเรื่อง แต่การแก้ไขที่ถูกต้องคงไม่ใช่การนำรถถังออกมาล้มทั้งฉบับอย่างที่ทำกันมา และเมื่อฉีกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับมาแล้วก็มาตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญทำกันใหม่ ซึ่งก็เห็นอยู่แล้วว่าเป็นสภาร่างที่ถอยหลังลงคลองเมื่อเทียบกับสภาร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่แล้ว อย่างน้อยก็ในเรื่องการมีส่วนร่วมของภาคท้องถิ่น ซึ่งคณะกรรมการร่างชุด พ.ศ.2539 ก็มีการเลือกมาจากตัวแทนจากระดับจังหวัด นอกจากนี้ก็คือการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมที่มีส่วนผลักดัน


 


แต่นั่นแหละเมื่อสภาร่างชุดนี้จะร่างกันใหม่ก็น่าจะต้องทำการให้เป็นรัฐธรรมนูญที่ก้าวหน้า สำหรับประชาชน ซึ่งจะทำได้ก็คงจะต้องมีการพิจารณารัฐธรรมนูญทั้งกระบวนการ ไม่ใช่พิจารณาเพียงประเด็นปลีกย่อยต่างๆ


 


แรกสุดที่จะต้องพิจารณาก็คือ คำปรารภของรัฐธรรมนูญ ในฉบับที่ผ่านมาในอดีต ยังไม่มีฉบับไหนเลยที่กล่าวอย่างชัดเจนว่า ประชาธิปไตยของไทยมาจากการต่อสู้ของประชาชน โดยการปฏิวัติของคณะราษฎรเมื่อ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 และพัฒนาขึ้นตามลำดับจากการต่อสู้ของขบวนการเดือนตุลาคม พ.ศ.2516 การเสียสละของวีรชน 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 และพฤษภาคมประชาธรรม พ.ศ.2535 เพื่อจะได้เป็นการคารวะและรับรองวีรกรรมเหล่านั้น และเป็นการกล่าวถึงวิวัฒนาการที่เป็นจริงของสังคมไทยด้วย


 


มาตราแรกของรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา มักกล่าวว่า "ประเทศไทยเป็นอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้" ซึ่งแนวคิดเบื้องหลังของมาตรานี้คือ รัฐเดี่ยว (Unitary State) ที่เน้นการรวมศูนย์อำนาจที่ส่วนกลาง ควรจะแก้เสียใหม่ว่า "ประเทศไทยนั้นเป็นองค์ประกอบของกลุ่มชนที่มีความแตกต่างหลายหลายทางสังคม วัฒนธรรมและศาสนา และมารวมกันเป็นหนึ่งเดียวภายใต้รัฐของไทย" การกำหนดเช่นนี้จะเปิดให้มีการเคารพในความแตกต่างของกันและกันในสังคมมากขึ้น และจะทำให้สังคมไทยเป็นสังคมอันเปิดกว้างอย่างแท้จริง


 


มาตราต่อมาที่กล่าวว่า "อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนชาวไทย" นั้นถูกต้องแล้ว แต่วรรคต่อมาควรจะระบุว่า "ประชาชนเป็นผู้ใช้อำนาจในทางนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ" ในอดีตที่ผ่านมาเคยมีรัฐธรรมนูญที่กำหนดในลักษณะเช่นนี้แล้ว คือ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามฉบับแรก 27 มิถุนายน พ.ศ.2475 ดังนั้น รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จึงควรที่จะย้อนกลับไปรักษาเจตนารมณ์ดั้งเดิมของคณะราษฎรซึ่งเป็นไปตามหลักประชาธิปไตยสากล


 


ในหมวดต่อมา เรื่องว่าด้วยพระมหากษัตริย์ แต่เดิมมาได้กล่าวถึง "พระมหากษัตริย์อันทรงเป็นประมุขแห่งรัฐและอยู่ในฐานะอันพึงเคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดและฟ้องร้องมิได้" แต่ควรหรือไม่ที่จะกำหนดให้ชัดเจนว่า "ในกรณีที่มีการล่วงละเมิดนั้น ให้สำนักพระราชวังเป็นผู้วินิจฉัยดำเนินการ" เพื่อจะได้เป็นการปิดทางการที่จะใช้ข้อหาการล่วงละเมิดองค์พระมหากษัตริย์ เป็นเครื่องมือใส่ร้ายโจมตีกันในทางการเมือง หรือเป็นข้ออ้างในการทำรัฐประหารล้มล้างประชาธิปไตยดังที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการลบหลู่พระเกียรติอย่างมาก


 


เรื่องที่น่าจะต้องทบทวนด้วยก็คือ ความจำเป็นของการมีองคมนตรี ผู้เขียนไม่เห็นว่า ประเทศไทยมีความจำเป็นอะไรที่จะต้องมีองค์กรนี้ เพราะในรัฐธรรมนูญเดิมกล่าวว่า "คณะองคมนตรีมีหน้าที่ถวายความเห็นต่อพระมหากษัตริย์" ซึ่งความจริง สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา ก็ถวายคำปรึกษาได้ ในประเทศที่มีสถาบันกษัตริย์อันมั่นคงอย่างประเทศอังกฤษ ก็ไม่มีคณะองคมนตรี ความจริงแล้วการมีที่ปรึกษาส่วนพระองค์ย่อมทำได้ แต่เป็นเรื่องตามพระราชอัธยาศัย ประชาชนทั่วไปอาจจะไม่ทราบว่า แม้แต่ในสังคมไทย องคมนตรีก็เป็นองค์กรเกิดใหม่ เมื่อหลังการปฏิวัติ พ.ศ.2475 ไม่มีองคมนตรี เพิ่งจะมามีองคมนตรีตามรัฐธรรมนูญ หลังจาก พ.ศ.2492 นี้เอง


 


เรื่องที่ว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ ในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2540 กล่าวว่า "การสืบราชสมบัติให้เป็นไปโดยนัยของกฏมณเฑียรบาล" แต่ผู้เขียนเห็นว่าไม่เพียงพอ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้านี้กล่าวด้วยว่า "การสืบสันตติวงศ์นั้น ให้เป็นไปโดยนัยของกฏมณเฑียรบาล และประกอบด้วยความเห็นชอบของรัฐสภา" ผู้เขียนเห็นว่า การขึ้นครองราชย์ของพระมหากษัตริย์โดยผ่านการพิจารณาเห็นชอบของรัฐสภาเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และจะทำให้สถานะของพระมหากษัตริย์ใกล้ชิดกับประชาชนอย่างแท้จริง ตามนัยของการเป็นอเนกชนนิกรสโมสรสมมต


 


ในหมวดที่ว่าด้วยสิทธิของประชาชน ควรจะต้องคงลักษณะเช่นเดิมของรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2540 เพื่อเป็นการยืนยันว่า การที่รัฐจะดำเนินการจำกัดสิทธิของประชาชนนั้น เป็นสิ่งที่กระทำมิได้ แต่ควรที่จะเลิกการกำหนดให้การเลือกตั้งเป็นหน้าที่ ควรให้เป็นไปตามใจสมัคร ดังเช่นการเลือกตั้งในอารยประเทศ


 


ในเรื่องแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ จะต้องเลิกมาตรา 87 ที่กำหนดให้รัฐต้องสนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบเสรีโดยอาศัยกลไกตลาด เพราะเป็นการจำกัดแนวทางให้ประเทศไทยต้องใช้แนวทางทุนนิยมเสรีแต่อย่างเดียว การใช้เศรษฐกิจพอเพียง เศรษฐกิจสังคมนิยม รัฐสวัสดิการ และอื่นๆ จะขัดกับแนวนโยบายนี้ ควรจะต้องปล่อยให้แนวทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องของแนวทางของพรรคการเมืองที่จะเสนอให้ประชาชนมีทางเลือก


 


ในเรื่องสุดท้ายที่ผู้เขียนอยากจะกล่าวถึงคือเรื่องรัฐสภา จะมี 2 สภา หรือ สภาเดียวก็ตาม แต่ควรที่จะมาจากการเลือกตั้ง ไม่ควรที่จะมาจากการแต่งตั้งไม่ว่าจะเป็นแบบใดๆ ทั้งสิ้น เพราะคงจะไม่มีใครที่จะอ้างเป็นตัวแทนแต่งตั้งแทนประชาชนได้


 


ผู้เขียนคิดว่า ประเด็นต่างๆ เหล่านี้ต่างหาก ที่จะต้องมีการพิจารณาถกเถียงกันอย่างจริงจัง เพื่อจะให้ประเทศไทยก้าวไปสู่เส้นทางประชาธิปไตยที่ก้าวหน้าต่อไป


 


 


…………………………………


หมายเหตุ : ตัวเน้นทั้งหมด "ประชาไท" เน้นเอง


 


สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net