Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 20 ธ.ค.2549 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย นำโดย น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และเครือข่ายพันธมิตรแรงงานข้ามชาติ กว่า 30 คน เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ และนายอภัย จันทนจุลกะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อ 18 ธันวาคม 2549 เพื่อยื่นข้อเสนอเรื่องการคุ้มครองสิทธิแรงงาน เนื่องในวันแรงงานข้ามชาติสากล


 



น.ส.วิไลวรรณ เรียกร้องขอให้รัฐบาลจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติให้สอดคล้องกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริง และขอให้เปิดโอกาสจดทะเบียนได้ตลอดทั้งปี พร้อมระบุว่ากรมการจัดหางานควรทำหน้าที่เป็นคนกลางในการจ้างงาน ในรูปแบบศูนย์จัดจ้างแรงงานข้ามชาติ และขอให้ยกเลิกระบบประกันตัวเพื่อลดทอนอำนาจการต่อรอง ในการคุ้มครองสิทธิและศักดิ์ความเป็นมนุษย์ของแรงงานข้ามชาติ


 



อย่างไรก็ตาม นายจุฑาธวัช อินทรสุขศรี ปลัดกระทรวงแรงงาน ได้ออกมาเปิดเผยถึงข้อเรียกร้องของกลุ่มเครือข่ายแรงงานข้ามชาติ ที่เสนอให้รัฐบาลและกระทรวงแรงงาน แก้ไขกฎหมายอนุญาตให้แรงงานพม่า 2 ล้านคนที่ทำงานในประเทศไทยสามารถจัดตั้งสหภาพแรงงาน เพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับนายจ้างไม่ให้ถูกกดขี่ด้านแรงงาน ซึ่งนายจุฑาธวัชได้ปฏิเสธที่จะพิจารณาข้อเสนอดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่ากฎหมายไทยในปัจจุบัน ยังไม่เปิดช่องให้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายที่ได้รับการผ่อนผันให้ทำงานปีต่อปี สามารถจัดตั้งสหภาพได้ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศ เพราะเกรงว่าหากแรงงานพม่าจำนวนนับล้านคนรวมตัวกันสไตรค์หยุดงาน ลางาน เพื่อประท้วงนายจ้างเป็นเวลาหลายวัน จะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม


 



นายจุฑาธวัช กล่าวเพิ่มเติมว่าการเรียกร้องของแรงงานต่างด้าวจะต้องดูเหตุผลและขอบเขตของกฎหมายประกอบไปด้วย ไม่ใช่อ้างเพียงแต่เรื่องสิทธิมนุษยชน และถามกลับว่าถ้าไทยขอตั้งสหภาพแรงงานในสหรัฐบ้าง สหรัฐอเมริกายอมหรือไม่ คำตอบก็น่าจะบอกว่าไม่ เพราะแม้แต่ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยใหญ่ๆ ยังไม่ยอมกันเลย


 



อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 18 ธันวาคมของทุกปี ถือเป็นวันแรงงานข้ามชาติสากล และรัฐบาลไทย โดยเฉพาะกระทรวงแรงงาน มีนโยบายชัดเจนที่จะช่วยเหลือคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ ไม่ว่าจะเป็นแรงงานชาติไหน หากเข้ามาทำงานในประเทศไทยอย่างถูกกฎหมาย จะต้องได้รับการคุ้มครองเท่ากับแรงงานไทย การปฏิเสธพิจารณาข้อเสนอดังกล่าวอาจเป็นการขัดแย้งกันเองต่อนโยบายที่ตั้งไว้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net