Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 6 ธ.ค.2549   จากการที่สำนักงานสารนิเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ออกเอกสารภายในรายสัปดาห์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย "จุฬาสัมพันธ์ ฉบับพิเศษ" ปีที่49 วันจันทร์ที่4 ธันวาคม 2549 ซึ่งมีการ "ตอบคำถามคาใจ" โดยอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในเรื่องร่างระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งจะมีผลเป็นการเปลี่ยนฐานะจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจากส่วนราชการเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ (ออกนอกระบบ) ซึ่งมีกำหนดจะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติในวันนี้ (6 ธ.ค.)


กลุ่มนิสิตนักศึกษาคัดค้านมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ได้จัดทำข้อโต้แย้งต่อคำตอบดังกล่าวในประเด็นต่างๆ ดังต่อไปนี้

ถาม:  ทำไมต้องเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ
อธิการบดีตอบ: การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐมีขึ้นเพื่อปรับเปลี่ยนระบบการบริหารจัดการให้มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้นและเพื่อให้มีระบบบริหารวิชาการที่ดีโดยมุ่งสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการตาม ปณิธานเริ่มแรกในการสถาปนามหาวิทยาลัย เพราะที่ผ่านมาพบว่าการบริหารวิชาการในระบบราชการนั้นจะพัฒนาให้รุดหน้าก้าวทันต่อความเปลี่ยนแปลงของสังคมได้ยาก เนื่องจากติดขัดในกฎเกณฑ์ และระเบียบแบบแผนของทางราชการที่มีอยู่มากมาย



ข้อโต้แย้งของกลุ่มคัดค้าน: การอ้างว่าการออกนอกระบบจะทำให้การบริหารคล่องตัวมากขึ้นนั้นเป็นการกล่าวอ้างที่ไม่มีเหตุผล เพราะหากระบบการบริหารจัดการไม่คล่องตัวก็ควรปรับแก้การบริหารไปทีละจุดเพื่อให้แก้ปัญหาให้ได้ตรงประเด็นจริงๆ ไม่จำเป็นต้องนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ในประเด็นที่การบริหารจะมีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้นนั้นควรจะอธิบายให้ชัดเจนว่าคล่องตัวในแง่ใด นิสิต อาจารย์และบุคลากรอื่นๆ นอกจากอธิการบดีและฝ่ายบริหารจะได้รับประโยชน์อย่างไร บ้าง? การตอบคำถามข้างต้นถือว่าเป็นการอ้างปณิธานเพื่อเบี่ยงเบนประเด็น!


ถาม:  การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐเหมือนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจและจะนำไปขาย ให้แก่เอกชนเพื่อเป็นหน่วยสร้าวความร่ำรวยใช่หรือไม่
อธิการบดีตอบ: ไม่ใช่ การเป็นมหาวิทยาบันในกำกับของรัฐมิใช่การโอนให้เป็นของเอกชน มิใช่การนำ ไปขายให้แก่เอกชนและมิใช่หน่วยสร้างความร่ำรวย เพราะมหาวิทยาลัยยังคงเป็นหน่วยงานของรัฐ ประเภทหนึ่ง โดยมิได้มุ่งค้าหากำไรมาแบ่งปัน หากแต่มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินการเพื่อประโยชน์ สาธารณะทางการศึกษา กล่าวคือ มหาวิทยาลัยนั้นมีวัตถุประสงค์ที่จะบุกเบิก แสวงหาและเป็น คลังความรู้ ให้การศึกษา ส่งเสริม ประยุกต์ และพัฒนาวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง สร้างบัณฑิตวิจัย เป็นแหล่งรวมสติ ปัญญา และบริการทางวิชาการแก่สังคม รวมทั้งสืบสานทะนุบำรุงศิลปะ และวัฒนธรรม ทั้งนี้ ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 7 ของร่าง พรบ. จุฬาฯ

ข้อโต้แย้งของกลุ่มคัดค้าน: ใช่! เพราะเนื้อหาการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบนั้นไม่ต่างอะไรจากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ที่สำคัญคือไม่มีใครสามารถรับรองได้ว่าเมื่อนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบแล้วการบริหารงาน จะเป็นไปตามประโยชน์สาธารณะทางการศึกษาตามที่กล่าวอ้างไว้ และหากมหาวิทยาลัยต้องการ จะบริหารงานเพื่อประโยชน์สาธารณะจริงๆ ทำไมจึงต้องรอให้นำออกนอกระบบก่อน? ทำไมจึง ทำตั้งแต่วันนี้ไม่ได้? หรือไม่คิดจะทำตั้งแต่ต้น?!?




ถาม: มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐมุ่งหวังกำไรจากการจัดเก็บค่าเล่าเรียนซึ่งจะเป็นการตัดสิทธิ์
คนจนจริงหรือไม่
อธิการบดีตอบ: ไม่จริง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่ว่าเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ หรือเป็นส่วน ราชการ มหาวิทยาลัยก็ไม่ได้มีความมุ่งหมายที่จะหารายได้จากการจัดเก็บค่าเล่าเรียน โดยมหาวิทยาลัย มีแหล่งในการหารายได้ทางอื่นสนับสนุนอยู่แล้ว และที่สำคัญทุกปีการศึกษามหาวิทยาลัยยังมีนโยบายชัดเจนในการจัดสรรทุนการศึกษาให้แก่นิสิตที่ขาดแคลนทุนทรัพย์จนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีอีกด้วย ซึ่งเป็นนโยบายที่ดำเนินการมาตลอด โดยมหาวิทยาลัยมีการจัดทุนการศึกษาทั้งในส่วนของ มหาวิทยาลัยและของคณะให้แก่นิสิต รวมกันแล้วเป็นเงินปีละประมาณหนึ่งร้อยล้าน และในแต่ละปี มีนิสิตจำนวนสองพันกว่าคนที่ได้รับทุนการศึกษา


ข้อโต้แย้งของกลุ่มคัดค้าน: จริง!! เพราะทุกวันนี้ค่าเทอมของมหาวิทยาลัยได้ขึ้นมากกว่า 40% ในปีการศึกษา 2548 ที่คณะสาขาวิชาสังคมศาสตร์ขึ้นค่าเทอมจาก 8,500 บาท เป็น 12,000 บาท นี่คือการขึ้นค่าเทอม ตั้งแต่ที่มหาวิทยาลัยยังไม่ออกนอกระบบ อีกทั้งการพิจารณาให้ทุนการศึกษาของมหาวิทยาลัยเป็นไปในรูปแบบของสังคมสงเคราะห์ที่นิสิตจะต้องสำแดงความยากจนออกมาให้เป็นที่ประจักษ์แก่คณะกรรมการพิจารณาให้ทุน ซึ่งถือเป็นการทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างมาก และจำนวนทุนที่ให้ ก็ไม่ได้ครอบคลุมนิสิตส่วนมากในมหาวิทยาลัย หรือการให้กู้ยืมเงินการศึกษา ก็จะเป็นการสร้างภาระหนี้สินแก่ตัวนิสิตตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ เราจึงขอเสนอให้การศึกษาเป็นไปในรูปแบบสวัสดิการที่ประชาชนทุกคนสามารถเรียนฟรีได้ในทุกระดับการศึกษา


ถาม: มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐจะเน้นการประกอบธุรกิจจนละเลยการส่งเสริมคุณธรรมของนิสิตใช่หรือไม่
อธิการบดีตอบ: ไม่ใช่ เพราะว่าปณิธานหลักของมหาวิทยาลัย คือ การสร้างความรู้คู่คุณธรรม และเป็นมหาวิทยาลัยวิจัย เพื่อเป็นฐานความรู้ของแผ่นดิน โดยขอยืนยันว่ามหาวิทยาลัยไม่ได้มีนโยบายเป็นองค์กรธุรกิจทางการศึกษาแต่อย่างใด ดังจะเห็นได้จากร่าง พรบ. มาตรา 8 ซึ่งระบุไว้อย่างชัดเจนว่า มหาวิทยาลัยมีหน้าที่ที่จะต้องดำเนินการตามวัตถุประสงค์ในมาตรา 7 โดยยึดหลักดังนี้
1.      ความเสมอภาคในโอกาสทางการศึกษา
2.      ความเป็นเลิศทางวิชาการควบคู่ไปกับความมีคุณธรรม
3.      มาตรฐานและคุณภาพทางวิชาการอันเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ
4.      การนำความรู้คู่สู่สังคม เพื่อเป็นการเตือนสติและแนวทางแก้ไขปัญหาสังคม
5.      ความรับผิดชอบต่อรัฐและสังคมทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น
6.      ประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการบริหารที่โปร่งใสและตรวจสอบได้
7.      การบริหารงานโดยบุคลากรมีส่วนร่วม

ข้อโต้แย้งของกลุ่มคัดค้าน: ใช่!! เพราะการประกอบธุรกิจแม้อยู่ในรูปแบบของการศึกษาย่อมต้องเน้นผลกำไรสูงสุด ทำให้มหาวิทยาลัยต้อง "หากินกับนิสิต" อย่างแน่นอน แม้ยังไม่ได้ออกนอกระบบ เรายังสามารถเห็นโครงการพิเศษของแต่ละคณะที่ทำให้นิสิตแปรสภาพจาก "ลูกศิษย์" ไปเป็น "ลูกค้า" การจะทำให้นิสิตมีคุณธรรมนั้นเราสามารถทำโดยที่มหาวิทยาลัยอยู่ในระบบได้ โดยที่ผู้บริหารจะต้องทำงานอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้และสนับสนุนการมีส่วนร่วมของนิสิต อาจารย์ และบุคลากรอื่นๆ นอกจากนี้การแปรรูปจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้มีสภาพคล้าย "สยามแสควร์" และ "มาบุญครอง" นั้นไม่สามารถทำให้นิสิตมีคุณธรรมได้อย่างแน่นอน!!!


ถาม: พนักวานมหาวิทยาลัยจะเป็นอย่างไรเมื่อเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ
อธิการบดีตอบ: สำหรับกรณีของพนักงานมหาวิทยาลัยนั้นนโยบายในการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2542 แล้วโดยมหาวิทยาลัยมีระบบและกรอบในการกำหนด อัตราเงินเดือนที่ชัดเจนและดำเนินการเรื่อยมาอย่างไม่มีปัญหาใดๆ โดยปัจจุบันนี้ บุคคลากร จำนวน 1 ใน 3 ของมหาวิทยาลัยเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย กล่าวคือ มหาวิทยาลัย ไม่สามารถบรรจุข้าราชการเพิ่มมาตั้งแต่ปี 2542 แล้ว ทั้งนี้ เมื่อเปลี่ยนสถานะ มหาวิทยาลัยให้เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ระบบบริหารจัดการต้องดียิ่งขึ้นกว่าเดิม อย่างแน่นอน

ข้อโต้แย้งของกลุ่มคัดค้าน: พนักงานมหาวิทยาลัยที่เป็นลูกจ้างประจำจะต้องต่ออายุงานทุกๆ 3 ปี โดยที่ไม่มีสวัสดิการ เหมือนข้าราชการ ทำให้ลูกจ้างเหล่านั้นต้องแข่งขันกันในระบบทุนนิยมอย่างบ้าคลั่ง! อีกทั้งการไม่มีสวัสดิการรองรับทำให้ลูกจ้างไม่มีความมั่นคงในชีวิตของตนเองและครอบครัว เพราะการจ้างงานไม่มั่นคง
และการแปรรูปนั้นไม่มีข้อมูลที่เป็นรูปธรรมอันจะสามารถยืนยันได้ว่า ระบบบริหารจัดการจะดีขึ้นกว่าเดิม
เราจึงขอเสนอให้ลูกจ้างเหล่านั้นได้บรรจุเป็นพนักงาน มหาวิทยาลัยด้วยสัญญาระยะยาว มีสวัสดิการ และให้รวมตัวกันเป็นสหภาพได้!!!


ถาม: ข้าราชการจะเป็นอย่างไรเมื่อเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ
อธิการบดีตอบ: ข้าราชการมีสิทธิที่จะเลือกเปลี่ยนสถานภาพเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย หรือจะเป็น ข้าราชการอยู่ต่อไปจนเกษียณอายุราชการก็ได้ เพราะร่าง พรบ.มิได้บังคับให้ข้าราชการ ต้องแสดงเจตนาเปลี่ยนสถานภาพในทันที และยังได้กำหนดชัดเจนว่า ผลตอบแทนที่ได้รับ หลังเปลี่ยนสถานภาพจะไม่ต่ำกว่าเดิม นอกจากนี้ บุคลากรยังได้รับสิทธิประโยชน์จากระบบ กบข.และบำเหน็จบำนาญตามสิทธิที่มีอยู่เดิมทุกประการ และยังมีสิทธิได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตามหลักเกณฑ์ตำแหน่งวิชาการเหมือนเดิม
โดยขอยืนยันว่าข้าราชการที่เปลี่ยน สถานภาพเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยยังคงได้รับการดูแลอย่างเต็มที่

ข้อโต้แย้งของกลุ่มคัดค้าน : การตอบคำถามข้อนี้คล้ายเป็นการให้สินบนแก่ข้าราชการประจำมหาวิทยาลัยให้ร่วมกันตักตวงผลประโยชน์จากการขายมหาวิทยาลัยในครั้งนี้โดยสงบปากสงบคำ การให้คำมั่นสัญญาแก่ข้าราชการว่าจะดูแลนั้นไม่ได้มีสิ่งยืนยันว่าจะสามารถทำได้จริงเป็นรูปธรรม เราขอยืนยันว่า ไม่ว่าจะอธิการบดี คณบดี ฝ่ายบริหาร ข้าราชการ หรือลูกจ้างมหาวิทยาลัย "ไม่มีใครมีสิทธิที่จะนำการศึกษาของพวกเราไปหากิน!!!"


ถาม: เมื่อเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐแล้ว ผู้บริหารจะมีอำนาจมากโดยปราศจากการตรวจสอบและไม่มีความโปร่งใส ใช่หรือไม่
อธิการบดีตอบ: ไม่ใช่ เพราะตามร่าง พรบ. จุฬาฯ นั้น ได้กำหนดกรอบของกระบวนการตรวจสอบที่โปร่งใสและชัดเจน มีการดุลและคานอำนาจ และสามารถถูกตรวจสอบได้จากผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก กระบวนการกำกับดูแลเป็นไปตามระบบธรรมาภิบาล ดังที่ได้ปรากฏชัดแจ้งในร่าง พรบ. หมวด 3 ว่าด้วยการประกันคุณภาพและการประเมิน หมวด 4 การบัญชีและการตรวจสอบ และที่สำคัญ การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐไม่ได้ทำให้ มหาวิทยาลัยหลุดพ้นจากการตรวจสอบของหน่วยงานอื่น ๆ อาทิ ป.ป.ช. หรือ ส.ต.ง.แต่อย่างใด

ข้อโต้แย้งของกลุ่มคัดค้าน: ในประเด็นความโปร่งใสเราขอยก มาตรา 31 จาก พรบ.จุฬาฯ ที่หยิบยื่นอำนาจให้อธิการบดีเป็น CEO
ของมหาวิทยาลัยที่มีอำนาจควบคุมมหาวิทยาลัยอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด มาตรา 31 อธิการบดีเป็นผู้แทนของมหาวิทยาลัยในกิจการทั้งปวง และโดยเฉพาะให้มีอำนาจและหน้าที่  ดังนี้
(1)     บริหารกิจการของมหาวิทยาลัยให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และนโยบายของมหาวิทยาลัย
(2)     บริหารการเงิน การคลัง การพัสดุ และทรัพย์สินอื่นของมหาวิทยาลัยให้เป็นไป
ตามกฎหมาย ข้อบังคับ และประกาศของมหาวิทยาลัย
(3)     แต่งตั้ง และ ถอดถอน รองคณบดี รองผู้อำนวยการ
รองหัวหน้าส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่น และอาจารย์พิเศษ
(4)     บรรจุ แต่งตั้ง ดำเนินการทางวินัย และ ถอดถอน พนักงานของมหาวิทยาลัยรวมทั้ง
บริหารงานบุคคลตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย
(5)     จัดทำแผนพัฒนาและแผนปฏิบัติการโดยปฏิบัติตามนโยบายและแผนงานของมหาวิทยาลัย
รวมทั้งติดตามและประเมินผลการดำเนินงานด้านต่างๆ ของมหาวิทยาลัย
(6)     จัดหารายได้และทรัพยากรอื่นจากแหล่งต่างๆ
เพื่อสนับสนุนการดำเนินภารกิจให้บรรลุ วัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัย
และจัดทำงบประมาณรายรับและรายจ่ายเพื่อเสนอต่อ สภามหาวิทยาลัย
(7)     เสนอรายงานประจำปีเกี่ยวกับกิจการด้านต่างๆ
ของมหาวิทยาลัยต่อสภามหาวิทยาลัย
(8)     ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ และประกาศของมหาวิทยาลัย
หรือตามที่มหาวิทยาลัยมอบหมาย

จากมาตราดังกล่าวเราจะเห็นได้ว่าพรบ.จุฬาฯนี้เป็นการรวบอำนาจเข้าสู่ตัวอธิการบดีให้มี อำนาจเบ็ดเสร็จในหลายแง่ เมื่ออำนาจรวมศูนย์อยู่ที่ตัวผู้บริหารแล้ว การบริหารงานอย่าง โปร่งใสย่อมเป็นไปไม่ได้!เพราะหน่วยงานทุกส่วนย่อมต้องขึ้นตรงกับอธิการบดี ซึ่ง มีอำนาจจะ จ้าง หรือยกเลิกการจ้าง ผู้ใด เมื่อใด ก็ได้!


ถาม: ลักลอบผ่านมติ ครม. โดยไม่เคยรับฟังความคิดเห็นประชาคมจุฬาฯเลย จริงหรือไม่
อธิการบดีตอบ: ไม่จริง ในกรณีของการับฟังความคิดเห็นนั้น มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นโดยแบ่งเป็น 3 ระยะซึ่งมีทั้งการรับฟังความคิดเห็นจาก บุคคลภายนอกผู้ทรงคุณวุฒิ และบุคคลากรภายในมหาวิทยาลัยซึ่งผ่านทางเว็บไซต์ของ มหาวิทยาลัยดังนี้ ระยะที่ 1 ในระหว่างวันที่ 26-29 พฤษภาคม 2541 จำนวน 5 ครั้ง และในระหว่างวันที่ 26 ตุลาคม - 9 พฤศจิกายน 2541 จำนวน 10 ครั้ง โดยจัดการประชาพิจารณ์เป็นกลุ่มย่อย แบ่งตามคณะและสถาบัน ระยะที่ 2 ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2543 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2545 โดยคณะผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นบุคคลภายนอกทั้งหมด ประกอบด้วย นายอานันท์ ปันยารชุนเป็นประธาน ดร. คุณหญิง กัลยา โสภณพาณิช ศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวานิช
ดร.สายสุรี จุติกุล และนายโสภณ สุภาพงษ์ เป็นกรรมการ ระยะที่ 3 ตั้งแต่ปี 2542 จนถึงปัจจุบัน มีรายการ "อธิการบดีพบประชาคม" ในประเด็นการปรับเปลี่ยนสถานภาพของมหาวิทยาลัยดังกล่าวกว่า 6 ครั้ง รายการ"อธิการบดีออนไลน์" และจัดทำเว็บไซต์ให้ข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโดยเฉพาะด้วย นอกจากนี้ ในปัจจุบัน สภามหาวิทยาลัยได้แต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจที่มี ศาสตราจารย์ (พิเศษ) จรัญ ภักดีธนากุล เป็นประธาน เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาคมจุฬาฯ ผ่านเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยเพื่อนำความคิดเห็นทั้งหมดมาประมวลและเสนอปรับปรุงร่างพรบ. จุฬาฯ ในการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติอีกด้วย

ข้อโต้แย้งของกลุ่มคัดค้าน:การทำประชาพิจารณ์ที่กล่าวอ้างถึงนั้นไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าจัดทำด้วยกระบวนการที่โปร่งใส และ ไม่มีการนำผลของประชาพิจารณ์ที่กล่าวอ้างนั้นมาแถลงให้ประชาคมจุฬาฯ ทราบ การอ้างชื่อของคณะบุคคลผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหมดไม่ได้เพิ่มความชอบธรรมให้แก่กระบวนการทำประชาพิจารณ์ เพราะคนที่เสียประโยชน์จากการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ซึ่งก็คือนิสิต อาจารย์และบุคคลากรส่วนใหญ่ของมหาวิทยาลัยไม่ได้เข้าร่วมในการทำประชาพิจารณ์ เหล่านั้น อีกทั้งเรายังมี หลักฐานของการทำประชาพิจารณ์ปี 2545 ว่า 82% ของผู้ที่ร่วมทำประชาพิจารณ์ คัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ
และประเด็นที่สำคัญก็คือ หากการนำมหาวิทยาลัย ออกนอกระบบนั้น "ชอบธรรม" จริงคงไม่ค้างคาจนปัจจุบันนี้ การอ้างว่าตัวมหาวิทยาลัยยังไม่พร้อมคงไม่เพียงพอ เพราะจริงๆแล้ว พรบ.นี้ไม่ควรจะมีมาตั้งแต่ต้น!


ดังที่กล่าวมาทั้งหมด คณะผู้คัดค้านจึงขอสรุปว่าเอกสารจุฬาสัมพันธ์ ฉบับพิเศษ "ตอบคำถาม คาใจ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ"เป็นเอกสารโฆษณาชวนเชื่อ เต็มไปด้วยการเบี่ยงประเด็นคำถาม และการแก้ตัวอย่างไม่มีน้ำหนัก ขอให้คณะผู้จัดทำจุฬาสัมพันธ์ฉบับนี้ละอายต่อการบิดเบือนและโกหกประชาคมจุฬาฯ และประชาชนในครั้งนี้ด้วย

การนำมหาวิทยาลัยของรัฐออกนอกระบบนั้นไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนในทุกด้าน เราจึงขอเรียกร้องให้ "ยกเลิกพรบ. นี้เป็นการถาวร!!!" และขอให้ อธิการบดี และอาจารย์ทุกท่าน ที่มีตำแหน่งในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ  คณะรัฐมนตรี หรือในส่วนใดก็ตามที่เกี่ยวข้องกับการ ผ่านร่างพรบ.นี้ เลือกที่จะลาออกจากตำแหน่งอธิการบดี/ข้าราชการ/ลูกจ้างมหาวิทยาลัย/อาจารย์พิเศษของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ ลาออกจากตำแหน่ง ที่รัฐบาลที่มาจากการแต่งตั้งได้แต่งตั้งให้ท่านอีกทีหนึ่ง เพื่อแสดงความจริงใจต่อประชาคมจุฬาฯ !!!

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net