Skip to main content
sharethis


ประชาไท-21 ต.ค. 49 เมื่อวันที่ 21 ต.ค. ในงานสมัชชาสังคมไทย 2006 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ได้จัดเสวนาหัวข้อ "การสร้างสันติภาพในสังคมไทย" เพื่อลดความขัดแย้งที่เริ่มขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวางมากขึ้นในสังคมไทยและทุกส่วนของสังคมโลก



อาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวถึงประเด็นของการสร้างสันติภาพในสังคมไทยว่า การเมืองก็คือความต้องการที่จะเปลี่ยนสิ่งที่ไม่ดีและรักษาสิ่งที่ดีเอาไว้ ในกระบวนการของการที่จะเปลี่ยนนั้น เปรียบเหมือนต้นไม้ เวลาเราปลูกต้นไม้ใหม่ มันก็เปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ให้เกิดขึ้น แต่เวลาเราปลูกมัน เราปลูกมันบนเนื้อดินเดิม เพราะฉะนั้นผลของต้นไม้ที่ปรากฏขึ้น มันอาจจะไม่เหมือนกับสิ่งที่เราคิดก็ได้ การสร้างสันติภาพก็เหมือนกัน ควรคำนึงถึงประเด็นหลักๆ สามประเด็นคือ ชั้นดินที่จะปลูก บรรยากาศ และหลังจากปลูกแล้วเงาของมันเป็นอย่างไร


 


"ถ้าเปรียบสังคมไทยเป็นชั้นดินนั้นก็เป็นสิ่งที่ซับซ้อน เพราะฉะนั้นทุกสังคมไม่ว่าจะเป็นสังคมไทยหรือทุกส่วนของสังคมโลกไม่ได้เห็นแต่ผิวที่อยู่ข้างบนเท่านั้น เราจึงต้องตอบคำถามว่า ถ้าเราจะสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคม เราก็ต้องตอบคำถามได้ว่าอะไรคือเนื้อดินนี้ที่เรากำลังเผชิญอยู่ สมมุติว่าถ้าเราเชื่อมโยงกับความสัมพันธ์ทางอำนาจ เราค้นพบว่า ดินมันเป็นดินหลายชั้น ก็จะบอกได้ว่ามันเป็นความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ซ้อนกันอยู่ อย่างน้อยสามอันดับ คือความสัมพันธ์ทางอำนาจเชิงสัญญา ความสัมพันธ์ทางอำนาจเชิงอุปถัมภ์ และความสัมพันธ์ทางอำนาจเชิงชุมชน และทั้งสามอย่างในความคิดเห็นของผม มีทั้งข้อดีและข้อด้อยปะปนกันไป" ชัยวัฒน์ กล่าว   


 


อาจารย์ชัยวัฒน์กล่าวต่อไปอีกว่า "ในแง่ของบรรยากาศที่จะปลูกต้นไม้ มันเป็นสภาพอากาศของความขัดแย้ง ในเรื่องความขัดแย้งมีอยู่สี่อย่าง ปัญหาที่หนึ่ง เรื่องทรัพยากรที่มีการขัดแย้งกันระหว่างคนกับทุน รัฐกับประชาชน และกลุ่มประชาชนด้วยกัน ปัญหาที่สองก็คือเรื่องชนชั้นที่เกิดจากทุนนิยม คือเรื่องช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวย ที่ช่องว่างห่างกันเยอะเหลือเกิน ปัญหาที่สามก็คือความขัดแย้งในเรื่องระบบประชาธิปไตย ปัญหาสุดท้ายคือความขัดแย้งทางด้านคุณค่าในเรื่องความดีและไม่ดี ซึ่งได้ลงไปทุกส่วนของสังคมไทย บรรยากาศในสังคมไทยนั้นเต็มไปด้วยความขัดแย้งซึ่งเป็นธรรมชาติของสังคม"


 


ชัยวัฒน์ ยังกล่าวอีกว่า "เงาในสังคมไทยมีหลายอย่างที่ทำให้เชื่อว่าเป็นเนื้อเดียว และคนทั้งสังคมเหมือนกันหมดเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อันที่จริงแล้ว สังคมมีความหลากหลายกันมาก แต่สังคมได้มีการพยายามที่จะทำให้คนเชื่อว่าสังคมไทยมีความเหมือนกัน และอีกอย่างหนึ่งก็คือการสร้างภาพของความมีสันติ โดยปิดบังเรื่องที่ไม่ดีเอาไว้ ซึ่งคนที่จะสร้างสันติภาพได้ควรต้องคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้"


 


ด้านคุณสมบัติ บุญงามอนงค์ ผู้อำนวยการมูลนิธิกระจกเงา กล่าวว่า "สันติภาพเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าเราไม่รู้จักที่จะเรียนรู้ร่วมกัน การสร้างสันติภาพในสังคมนั้นต้องมีความจริงคือ ต้องเริ่มต้นหาความจริงและเรียนรู้รูปธรรมของความดีความงามว่าคืออะไร ความอยุติธรรมมีอยู่บนแผ่นดินไทยแน่ๆ เพียงแต่เราจะมองเห็นรึเปล่า"


 


ในขณะที่อาจารย์มาลี พฤกษ์พงศาวลี ประธานสตรีและเยาวชนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวถึงแผนพัฒนาสตรีแห่งชาติที่มีเนื้อหาความต้องการที่จะให้สังคมเกิดความเท่าเทียมกันระหว่างหญิง/ชาย  ลดอคติในเรื่องการกีดกันการดำรงอยู่ในสังคมโดยใช้เหตุผลทางเพศ


 


"ผู้หญิงที่เป็นคนต่างชาติต่างศาสนาจะถูกกีดกันในภาวะอื่นๆ และภาวะเพศหญิงด้วย เช่น ผู้หญิงมุสลิมที่ไม่ได้รับการศึกษาต่อ หรือต้องแต่งงานเมื่ออายุน้อย หรือได้รับปัญหาในเรื่องสามีที่สามารถที่จะมีภรรยาได้สี่คน ทำให้เกิดการกดขี่โดยวัฒนธรรม หรืออีกตัวอย่างหนึ่งคือทางด้านผู้หญิงเผ่าม้งที่มีวัฒนธรรมให้ผู้ชายไปฉุดผู้หญิงไปเป็นเมีย และเกิดปัญหาผู้หญิงท้องแล้วถูกปฏิเสธ ฯลฯ ซึ่งจุดมุ่งหมายของแผนการนี้คือ ต้องการให้เกิดความเท่าเทียมทั้งหญิงและชาย ส่งเสริมให้ผู้หญิงพัฒนาได้เต็มศักยภาพ มีสุขอนามัยปราศจากโรคร้ายและการให้สุขภาวะแก่ผู้หญิงเป็นสิ่งสำคัญและให้โอกาสทางด้านการศึกษาที่ไม่ใช่ในระบบเท่านั้น" มาลี พฤกษ์พงศาวลี กล่าว


                          


อาจารย์มาลี ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า "อันที่จริงแล้วสันติภาพไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ถ้าเรามองปัญหาในระดับใหญ่และถ้าไม่ได้มองจากจุดเล็กๆในครอบครัวจนไปถึงสังคม"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net