Skip to main content
sharethis


บทรายงานสาธารณะ ชุด


"ชุมชนบนกองเพลิง"


จับชีพจรชุมชนในสถานการณ์สงครามกลางเมืองชายแดนภาคใต้


 


โดย นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา


 


...........................................................................................


 


ตอนที่ 8


"ล้างบัญชี พ.ร.ก. เปิดทางด้วยสันติวิธี"


 


ในช่วงนี้ เวลาไป พบปะกับกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เรื่องที่ผมได้ฟังถึงความเดือดร้อนของพวกเขาบ่อยที่สุดคือ พ.ร.ก. คนนั้นก็โดน พ.ร.ก. คนนี้ก็มีชื่อ และคนนั้นผ่านการเรียกตัวไปอบรมแล้ว 4-5 ครั้ง เวลาที่เราจัดประชุมพูดคุย ปรึกษาหารือเพื่อทำงานพัฒนาชุมชนกัน อยากจะให้มีบางเข้ามาร่วม ก็ติดปัญหาเรื่อง พ.ร.ก. ถ้าอยากได้ตัวมาจริงๆ ก็ต้องประสานงานกับหน่วยทหาร ฉก. เพื่อที่จะขออนุญาตพาตัวมาร่วมกิจกรรม เสร็จแล้วก็ต้องพาตัวไปส่งคืน เป็นเช่นนี้อยู่ประจำ


 


พ.ร.ก. จึงเป็นคำที่ฮิตใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะนี้มีผู้ที่เดือดร้อนจาก พ.ร.ก. ไม่ต่ำกว่าพันคน


 


ในระยะเวลา 1 ปี ที่รัฐบาลใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ ทางภาครัฐได้ประกาศออกมาว่า ผลสำเร็จจากการที่ได้ใช้ พ.ร.ก. ฉบับนี้ คือ ทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติงานได้ง่ายและสะดวกขึ้น การติดตามจับตัวผู้ต้องสงสัยก็ทำได้ง่ายขึ้น


 


แต่ผลเสียจากการใช้ พ.ร.ก. ฉบับนี้ก็มีมากเช่นกัน พ.ร.ก. ถูกต่อต้านจากคนในพื้นที่ ไม่สามารถทำให้เหตุการณ์ยุติลงได้ สถานการณ์ไม่คลี่คลายลงเลย ตรงกันข้ามเมื่อใช้ พ.ร.ก. ฉบับนี้ เหตุการณ์กลับทวีความรุนแรงมากขึ้น เจ้าหน้าที่ของรัฐบางคนใช้ พ.ร.ก. แอบไปแสวงหาประโยชน์และปฏิบัติหน้าที่เกินกว่าเหตุก็มี และที่สำคัญ เจ้าหน้าที่ที่ใช้ พ.ร.ก. มักจะเข้าไม่ถึงประชาชน และมักใช้เป็นเครื่องมือในการจำกัดสิทธิของประชาชนอย่างชัดเจน เป็นการเพิ่มความระแวง สร้างความเกลียดชังของประชาชนต่อเจ้าหน้าที่รัฐมากขึ้น ทั้งเป็นการเอื้อให้ฝ่ายผู้ก่อการได้ประโยชน์ในทางอ้อม เรียกว่าเป็นการสร้างแนวร่วมมุมกลับให้กับฝ่ายก่อการไปโดยอัตโนมัติ


 


นอกจากนั้นฝ่ายก่อการยังใช้ผลกระทบจาก พ.ร.ก. นี้ ทำลายความเชื่อมั่นต่อเจ้าหน้าที่รัฐ และสร้างความชอบธรรมให้กับฝ่ายตน การใช้ พ.ร.ก. จึงมีข้อวิจารณ์หลายประการเช่นว่า แทนที่จะเป็นผลดี กลับเป็นอุปสรรคต่อการประกอบศาสนกิจ วิถีชีวิตทางศาสนาของชาวมุสลิมท้องถิ่น พ.ร.ก. เป็นปัญหาต่อการดำเนินชีวิตท้องถิ่น และไปส่งเสริมการใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถจับกุม คุมขังชาวบ้านได้อย่างง่ายๆ โดยหลีกเลี่ยงกฎหมายและรัฐธรรมนูญ


 


เจ้าหน้าที่ทำการสืบสวนสอบสวนอย่างมิชอบโดยอ้างกฎหมายพิเศษ เป็นเครื่องมือ เพื่อไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายพิจารณาความอาญา ทั้งที่สามารถทำได้ และไม่ควรจะอ้างเจ้าหน้าที่เขียนคำร้องต่อศาล เพื่อขอออกหมายจับ โดยบรรยายคำร้องเกินความจริง เพื่อให้เป็นเรื่องความผิดต่อความมั่นคง ทั้งๆ ที่หลายเรื่องก็เป็นเพียงอาชญากรรมธรรมดา


 


ดังนั้น หากมีการปรับปรุงแก้ไข ทบทวน มาตรการในการใช้ พ.ร.ก.และเข้มงวดต่อเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ให้สามารถใช้ พ.ร.ก.เป็นเครื่องมือในการควบคุมและแก้ไขปัญหาความไม่สงบ เป็นเครื่องมือสร้างความสมานฉันท์ ไม่ให้เป็นเครื่องมือในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของพลเมือง หากทำได้ก็จะเป็นบุญกุศลอย่างยิ่งต่อประชาชน และเป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยหลักการแล้วควรมีการทบทวน ปรับปรุง เพื่อยกระดับมาตรการการใช้ พ.ร.ก. ดังกล่าวให้เป็นเครื่องมือในการเข้าถึงประชาชนอย่างแท้จริง และสร้างความสันติสมานฉันท์ โดยน่าจะมีหลักการใหญ่ ๆ ดังนี้


 


1. พ.ร.ก. ที่ใช้นี้ควรใช้ภายใต้แนวทางการเมืองนำการทหาร หรือสันติวิธี มิใช่การใช้ พ.ร.ก. ภายใต้ แนวทางนิติศาสตร์นำการเมือง อย่างที่เป็นอยู่ เพราะสถานการณ์ปัจจุบันของพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ใช่สถานการณ์ของอาชญากรรมท้องถิ่นตามปกติ แต่เป็นปัญหาความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐ เป็นปัญหาทางการเมือง ซึ่งต้องแก้โดยใช้มาตรการทางการเมือง


 


2. การใช้ พ.ร.ก. ต้องไม่เป็นไปเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพของพลเมือง แต่ต้องเป็นไปเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนพลเมือง


 


3. พ.ร.ก. ต้องดูแลความปลอดภัยของประชาชน ทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ทุกหมู่เหล่าอย่างแท้จริง โดยไม่เลือกปฏิบัติ


 


4. พ.ร.ก. ต้องเป็นไปบนพื้นฐานของการยอมรับและการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย


 


5. พ.ร.ก. ต้องสามารถแก้ไขปัญหาความไม่สงบของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างเป็นรูปธรรมและครบถ้วน ต้องเป็นผลงานที่สามารถแสดงได้อย่างเป็นรูปธรรมในด้านการให้ความยุติธรรมกับประชาชนและชุมชนในท้องถิ่น


 


สำหรับในเรื่องรูปธรรมในการแก้ไขปัญหา ผลกระทบจาก พ.ร.ก. นั้น ผมมีความเห็นว่า


 


ประการที่ 1 ควรสนับสนุนองค์กร NGO ให้ NGO ในพื้นที่จัดตั้งศูนย์ประสานงานความช่วยเหลือผู้เดือดร้อน หรือผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้ พ.ร.ก. โดยเป็นส่วนที่จะช่วยเสริมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นจุดที่จะสะท้อนข้อมูลกลับและเป็นส่วนประสานงานเพื่อให้เกิดการปรับปรุงแก้ไข หรือให้ความร่วมมือ ซึ่งกันและกัน


 


ในขณะนี้ประมาณว่าผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจาก พ.ร.ก. และมีชื่ออยู่ในบัญชีกลุ่มเสี่ยง มีไม่ต่ำกว่า 1 พันคน ใน 1 พันคน ถ้ามาจาก 1 พันครอบครัว สมาชิกครอบครัวๆ ละ 5 คน ซึ่งหมายความว่าจะมีผู้เดือดร้อน 5 พันคน ซึ่งเป็นจำนวนที่ไม่น้อยเลย ดังนั้นถ้ามีการช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรม ก็จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนทางด้านจิตใจและวิถีชีวิต และจะเป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการหันมาต้อสู้ทางการเมืองโดยแนวทางสันติวิธี แทนที่จะบีบบังคับให้ไปสู้ด้วยการใช้ความรุนแรง


 


ประการที่ 2 การล้างบัญชี พ.ร.ก. อย่างที่กล่าวข้างต้น บัญชี พ.ร.ก. เป็นบัญชีที่มีลัษณะที่ฉาบฉวย คำจำกัดความของกลุ่มเสี่ยงก็หละหลวม ทำให้เกิดผู้รับผลกระทบแบบเหวี่ยงแหเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดแนวร่วมมุมกลับ ทำให้เกิดการบีบคั้นประชาชน ไม่มีทางออกจึงต่อสู้ด้วยความรุนแรง ดังนั้นจึงควรมีการล้างบัญชี พ.ร.ก. กันอย่างจริงจัง อย่างมีกระบวนการ มีขั้นตอนที่มาตรฐานและเป็นเอกภาพ ทั้งทหาร พลเรือน ฝ่ายปกครอง


 


อาจจะกำหนดหลักสูตรในการเข้าอบรม ให้ผู้มีรายชื่อในบัญชี พ.ร.ก. เข้าหลักสูตรอบรมเฉพาะ ทางด้านการเมืองและด้านคุณธรรม จริยธรรม 3-4 สัปดาห์ จัดบรรยากาศที่เหมาะสม มีวิทยากรที่มาจาก สหสาขา วิทยการ วิชาชีพ ทั้งฝ่ายความมั่นคงและฝ่ายการพัฒนา ทั้งทางเศรษบกิจ สังคม การเมือง คุณธรรม จริยธรรม เมื่อจบหลักสูตรก็มอบประกาศนียบัตร และล้างชื่อออกจากบัญชี พ.ร.ก. อย่างเป็นระบบ ถ้าทำเช่นนี้ได้จะทำให้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ได้รับการบำบัดเยียวยาทางด้านจิตใจอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นเครื่องมือในการเข้าถึงตามแนวทางพระราชทาน "เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา" กล่าวคือเป็นการเข้าถึงกลุ่มเสี่ยง กลุ่มที่กำลังต่อสู้ กลุ่มที่ไม่ยอมจำนน และเป็นเงื่อนไขในการนำไปสู่การสู้ทางสันติวิธีต่อไป


 


ประการที่ 3 การผลักดัน พ.ร.บ. สันติสมานฉันท์  ควรมีการผลักดัน พ.ร.บ. สันติสมานฉันท์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามข้อเสนอของ กอส. โดยเร็ว โดยที่หวังว่าเมื่อมี  พ.ร.บ. ฉบับนี้แล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะใช้ พ.ร.ก. อีกต่อไป เพราะมีกลไกใหม่ขึ้นมารับภาระ ในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งระบบ และมีประสิทธิภาพมากกว่า


 


ทั้งนี้ พ.ร.บ. สันติสมานฉันท์ ควรขับเคลื่อนสังคมอย่างเป็นกระบวนการและอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะยิ่งต้องเน้นกระบวนการการมีส่วนร่วมอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะในทั้งพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทุกอำเภอ ตำบล และรวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอกฎหมายต่อรัฐสภา ติดตามกระบวนการทางนิติบัญญัติ จนกระทั่งได้กฎหมายประกาศออกมาใช้ และมีกลไกเป็นเครื่องมือของสังคมในการคลี่คลายปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในระยะยาว


                                     


 


"พลเดช ปิ่นประทีป" ชุมชนในสถานการณ์ไฟใต้ (7) : "พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ; ดับหรือโหมไฟใต้"


"พลเดช ปิ่นประทีป" ชุมชนในสถานการณ์ไฟใต้ (6) : "ปมสถานการณ์ที่ต้องช่วยกันแก้"


"พลเดช ปิ่นประทีป" ชุมชนในสถานการณ์ไฟใต้ (5) : "ปมเงื่อนที่รอการคลี่คลาย"


"พลเดช ปิ่นประทีป" ชุมชนในสถานการณ์ไฟใต้ (4) : "พ.ร.บ. สันติสมานฉันท์ ทางเลือก ทางรอด"


"พลเดช ปิ่นประทีป" ชุมชนในสถานการณ์ไฟใต้ (3) : "ปฏิรูปการศึกษาเพื่อดับใต้"


"พลเดช ปิ่นประทีป" ชุมชนในสถานการณ์ไฟใต้ (2) : "ภูมิปัญญาความเป็นกลางคือทางรอด"


"พลเดช ปิ่นประทีป" จับชีพจรชุมชนในสถานการณ์ไฟใต้ (1) : "ชุมชนบนกองเพลิง"


 
สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net