Skip to main content
sharethis


โดย  สุภัตรา ภูมิประภาส 

 


นิตยสารฟอร์บ (Forbes Magazine) ในสหรัฐอเมริกา เพิ่งจะตีพิมพ์ชื่อ "ผู้หญิง 100 คนที่มีอิทธิพลมากที่สุด" (The 100 Most Powerful Women) รายชื่อเหล่านี้ได้มาจากการทำสำรวจชื่อของผู้หญิงที่ปรากฏอยู่ในการรายงานของสื่อมวลชน ซึ่งครอบคลุมผู้หญิงในทุกสาขาวิชาชีพ


           


จากรายชื่อผู้หญิง 100 คนที่นิตยสารฟอร์บระบุว่ามีอิทธิพลนั้น จำนวน 30 คนเป็นผู้หญิงที่มีบทบาททางการเมือง  และสามอันดับแรกของผู้หญิงที่มีอิทธิพลมากที่สุดนั้น ก็เป็นผู้หญิงจากแวดวงการเมือง คือ แองเจลลา เมอเกิล (Angela Merkel) นายกรัฐมนตรีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี  คอนโดลิสซ่า ไรซ์ (Condoleezza Rice) รัฐมนตรีต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา และ หวูยี่ (Wu Yi) รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขของสาธารณรัฐประชาชนจีน


           


นอกจากหวูยี่ แล้ว ยังมีผู้หญิงอีก 7 คนจากภูมิภาคเอเชียที่มีบทบาทสำคัญทางการเมืองทั้งในประเทศและระหว่างประเทศติดอยู่ในอันดับผู้หญิง 100 คนที่มีอิทธิพลที่สุดของนิตยสารฟอร์บด้วย


           


พวกเธอคือ ซอนย่า คานธี ประธานพรรคคองเกรสของอินเดีย (อันดับ 13)  สีมา ซามาร์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งอัฟกานิสถาน (อันดับ 28)  คลาลิด้า เซีย นายกรัฐมนตรีบังคลาเทศ (อันดับ 33)  ทซีปี ลิฟนี่ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศอิสราเอล (อันดับ 40)  กลอเรีย อาโรโย่ ประธานาธิบดีฟิลิปินส์ (อันดับ 45)  ออง ซาน ซูจี หัวหน้าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย  ประเทศพม่า (อันดับ 47) และ ฮาน เมียง ซุก นายกรัฐมนตรีเกาหลีใต้ (อันดับ 68)


 


น่าสนใจที่ผู้หญิงทั้ง 8 คนนี้ แม้หลายคนจะมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในประเด็นที่เกี่ยวกับสิทธิสตรี แต่พวกเธอก็มิได้จำกัดบทบาททางการเมืองอยู่กับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสตรีเท่านั้น  พวกเธอมิได้อ้างมิติแห่งเพศสภาพเพื่อร้องขอโอกาสเข้าสู่พื้นที่ทางการเมือง และไม่เคยมีใครประกาศว่าใช้มุมมองของผู้หญิงมาเติมเต็มในการเมือง


 


ผู้หญิง 8 คนนี้เดินเข้าสู่เวทีการเมืองอย่างมั่นใจภายใต้กติกาเดียวกับนักการเมืองชาย และไม่มีใครได้รับเลือกเข้าสู่เวทีการเมืองเพราะเพศสภาพที่เป็นหญิง พวกเธอดำเนินบทบาททางการเมือง เผชิญทั้งความสำเร็จ ความพ่ายแพ้ ได้รับทั้งความนิยม และคำประณามเช่นเดียวกันกับนักการเมืองชาย และไม่มีใครถูกประณามและขับไล่จากเวทีการเมืองด้วยเหตุแห่งความเป็นหญิง


 


ต่างจากนักการเมืองหญิงในเมืองไทย ที่แม้กลุ่มรณรงค์ด้านสิทธิสตรีจะพร่ำพูดถึงเรื่องสัดส่วนหญิงชายในพรรคการเมือง ในรัฐบาลที่ "ขาดมิติของผู้หญิงมาสร้างความสมดุลเชิงนโยบาย" แต่บรรดาผู้หญิงที่ก้าวเข้าสู่การเมืองและได้รับเลือกให้อยู่ในระดับบริหารในรัฐบาล หรือมีตำแหน่งที่มีบทบาทอยู่ในพรรคการเมือง รวมทั้งนักการเมืองหญิงที่มีบทบาทการทำงานในประเด็นผู้หญิงกลับต้องเผชิญกับคำปรามาสอยู่เสมอในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเพศสภาพ เช่น


 


เป็นชายในร่างหญิง!


เป็นไม้ประดับ!


เป็นพวกหาคะแนนเสียงจากการทำประเด็นผู้หญิง !


เป็นพวกหัวเก่าย้อนยุค  และสนับสนุนระบบชายเป็นใหญ่!


 


คำกล่าวหาเหล่านี้สะท้อนมุมมองที่เวียนวนอยู่กับวิถีคิดของสังคมไทยที่มีต่อบทบาทของผู้หญิงที่พ้นไปจากพื้นที่ในบ้าน คือความไม่เชื่อมั่นต่อบทบาทในพื้นที่สาธารณะของผู้หญิงที่ครอบงำความคิดของสังคมไทยมาช้านาน


 


แต่เป็นเรื่องน่าสนใจที่เสียงวิพากษ์วิจารณ์เหล่านี้มักเกิดขึ้นทุกครั้งในเวทีการพูดคุยเกี่ยวกับการรณรงค์ด้านสิทธิสตรีและความเสมอภาคระหว่างเพศ ซึ่งเป็นเวทีที่แทบไม่มีผู้ชายเข้าร่วมเสวนาสังสรรค์ด้วยเลย


 


ขณะเดียวกัน หลายครั้งที่กลุ่มต่างๆในภาคประชาสังคม รวมทั้งนักรณรงค์ด้านสิทธิสตรี และสื่อมวลชนในสังคมไทย มักจะหยิบยกประเด็น "ความเป็นหญิง" และความเป็น "เหยื่อ" ของความสัมพันธ์เชิงอำนาจในสังคมที่มีรากฐานความคิดแบบ "ชายเป็นใหญ่" มาใช้ในปรากฏการณ์ความขัดแย้ง และการต่อสู้ทางการเมืองอยู่เสมอ การต่อสู้กับผู้มีอำนาจ และอำนาจรัฐที่ไม่เป็นธรรม รวมถึงการต่อสู้ทางการเมืองในหลายกรณี ถูกทำให้เป็นประเด็นการต่อสู้ของ "ผู้ชาย" กับ "ผู้หญิง" ทั้งๆที่ประเด็นขัดแย้งนั้นไม่มีความเกี่ยวข้องกับความเป็นหญิงหรือความเป็นชายเลย


 


บางกลุ่มถึงกับใช้คำว่า "เป็นการต่อสู้ของผู้หญิงตัวเล็ก" เป็นสีสันในการต่อสู้โดยที่มิได้ตระหนักเลยว่า วาทกรรมที่ใช้นั้นคือกระจกเงาที่สะท้อนกลับให้เห็นรากคิดที่ยอมรับภาวะไม่เท่าเทียมระหว่างหญิงชาย


           


บางที เรื่องราวของนักการเมือง 8 คนจากภูมิภาคเอเซียที่ได้รับการระบุให้อยู่ใน 100 อันดับของ "ผู้หญิงที่มีอิทธิพลที่สุด" ของนิตยสารฟอร์บ อาจเป็นทั้งคำถามและคำตอบ และนำไปสู่การถกเถียงที่ก้าวคืบของสังคมไทยต่อภาวะ "ด้อยโอกาส" และ "มิติที่แตกต่าง" ที่ผู้หญิงจะเข้าไปสู่การเมือง


 


0 0 0


 




 


หวูยี่


(Wu Yi):


ผู้นำหญิงแห่งแดนมังกร


 


หวูยี่ เข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนตั้งแต่ปี พ.ศ.2505 เธอเกิดเมื่อปี พ.ศ.2481 ปัจจุบันอายุ 68 ปี เธอจบการศึกษาด้านวิศวกรรมปิโตรเคมีและทำงานในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการกลั่นน้ำมันมาโดยตลอด


 


บทบาททางการเมืองของหวูยี่ เริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ.2531 เมื่อได้รับเลือกให้เป็นรองนายกเทศมนตรีนครปักกิ่ง และก้าวเข้าสู่การเมืองระดับชาติในปี 2534 เมื่อเธอได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าต่างประเทศ และได้รับเลื่อนขึ้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการฯ ระหว่างปี พ.ศ. 2536 - 2540


 


ระหว่างปี พ.ศ.2540 - 2545 หวูยี่ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสำรองของกรรมการฝ่ายการเมือง คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน และในปี พ.ศ.2545 ก็ได้รับเลือกเป็นกรรมการการฝ่ายการเมืองเต็มขั้น รวมทั้งได้รับแต่งตั้งให้ควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขด้วย


 


ปี พ.ศ.2546 หวูยี่ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และดำเนินบทบาทสำคัญในการเมืองและการค้าระหว่างประเทศ ในการเจรจาทางการค้ากับสหภาพยุโรป หวูยี่ประกาศว่า ความร่วมมือทางการค้าแบบทวิภาคีนั้น ต้องอยู่บนผลประโยชน์ร่วมของทั้งสองฝ่าย


 


นอกจากนี้ หวูยี่ยังเป็นผู้แทนของสาธารณรัฐประชาชนจีนเดินทางไปเยือนเกาหลีเหนือเพื่อเข้าร่วมในการเจรจา 6 ฝ่ายเพื่อยุติข้อพิพาทต่อกรณีอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือด้วย


 


การเดินเข้าสู่พื้นที่ทางการเมืองของหวูยี่ มิได้ราบรื่นดุจแพรไหม สตรีเหล็กคนปัจจุบันของจีนต้องเผชิญกับกระแสข่าวลือในเรื่องความสัมพันธ์เชิงชู้สาวกับอดีตประธานธิบดีหยาง ซ่างคุณ


 


0 0 0


 



 


ซอนย่า คานธี


(Sonia Gandhi):


เลือดต่างสีแห่งอินเดีย


 


ซอนย่าเกิดเมื่อปี พ.ศ. 2489 ปัจจุบันอายุ 60 ปี


 


ภริยาม่ายเชื้อสายอิตาเลี่ยนของอดีตนายกรัฐมนตรีราจีฟ คานธี ก้าวเข้าสู่ถนนการเมืองของอินเดียภายหลังที่สามีถูกลอบสังหารเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2534 


 


ซอนย่าได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานพรรคคองเกรสตั้งแต่ปี พ.ศ.2541 ท่ามกลางข้อกังขาของนักสังเกตการณ์ทางการเมืองถึงความไม่มีประสบการณ์ในเวทีการเมืองของเธอ 


 


ในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2542 เธอลงสมัครแข่งขันในเขตเลือกตั้งเดิมของราจีฟ และชนะการเลือกตั้ง แต่พรรคคองเกรสของเธอแพ้การเลือกตั้ง ได้เสียงข้างน้อยในสภา ทำให้ซอนย่ากลายเป็นผู้นำพรรคฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร แห่งรัฐสภาอินเดีย


 


เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2548 พรรคคองเกรสภายใต้การนำของซอนย่า ชนะการเลือกตั้ง ส่งผลให้ซอนย่าอยู่ในฐานะที่จะเป็นผู้ได้รับเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีของอินเดีย


 


แต่ข้อวิพากษ์วิจารณ์ของฝ่ายต่างๆถึงชาติกำเนิดของเธอ กดดันให้ซอนย่าประกาศไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยให้เหตุผลว่าไม่ต้องการเป็นสาเหตุของความแตกแยกในประเทศ


 


เดือนมีนาคม พ.ศ.2549 ซอนย่าประกาศลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และตำแหน่งประธานสภาที่ปรึกษาแห่งชาติ หลังจากที่มีข้อกล่าวหาจากฝ่ายค้านว่าเธอมีตำแหน่งที่รับเงินเดือนมากกว่าหนึ่งตำแหน่งซึ่งผิดระเบียบรัฐสภา


 


ซอนย่าได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนมากกว่า 400,000 คนในเขตเลือกตั้งเดิมในรัฐอุตราประเทศ ให้กลับเข้าสู่สภาอีกครั้งหนึ่งเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา


 


ซอนย่าเคยกล่าวไว้ว่า "ครั้งแรกที่ดิฉันเดินทางมาเดลลี เมื่อปี พ.ศ.2511 คุณพ่อของดิฉันได้ซื้อตั๋วครื่องบินเที่ยวกลับให้ดิฉันเก็บไว้ แต่เดลลีคือบ้านที่ดิฉันเกิดเป็นหนที่สอง และตั๋วใบนั้นเป็นเหมือนอดีตที่หายไปกับกาลเวลา"


 


0 0 0


 



 


สีมา ซามาร์

(Sima Samar):

เสียงเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งอัฟกานิสถาน

 


สีมา ซามาร์ เกิดเมื่อ พ.ศ.2500 ปัจจุบันอายุ 49 ปี


 


เธอเป็นผู้หญิงคนแรกของชนชาติกลุ่มน้อย Hazara ในอัฟกานิสถานที่มีโอกาสเรียนและจบการศึกษาคณะแพทย์ศาสตร์จากมหาวิทยาลัยคาบูล หลังจบการศึกษาในปี พ.ศ.2525 ซามาร์ปฏิบัติหน้าที่ในโรงพยาบาลในกรุงคาบูลได้เพียงไม่กี่เดือน ก็ต้องอพยพหนีภัยกลับไปบ้านเกิดในเขตชนบท


 


ปี พ.ศ.2527 สามีของเธอถูกจับกุมและหายสาบสูญไป ซามาร์ต้องพาลูกชายอพยพหนีภัยไปอาศัยอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยบริเวณชายแดนปากีสถาน และช่วยงานรักษาพยาบาลผู้อพยพชาวอัฟกานิสถานที่เป็นสตรี ซึ่งผู้อพยพหญิงเหล่านี้ถูกห้ามไม่ให้รับการรักษาพยาบาลจากแพทย์ที่เป็นบุรุษ


 


ปี พ.ศ.2544 ซามาร์ได้รับการแต่งตั้งเป็นเป็นรองประธานาธิบดี และรัฐมนตรีกิจการสตรี ในรัฐบาลชั่วคราวของอัฟกานิสถาน เธอลาออกจากตำแหน่งเพราะถูกกดดันจากฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ไม่พอใจกับการตั้งคำถามของเธอต่อกฎหมายอิสลามที่กดขี่ผู้หญิง


 


ซามาร์ไม่ยอมรับข้อบังคับทางศาสนาที่ห้ามผู้หญิงมุสลิมปรากฏตัวในที่สาธารณะ รวมทั้งการบังคับให้ผู้หญิงต้องห่อหุ้มร่างกายจากหัวจรดเท้า ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพอนามัยของผู้หญิงมุสลิมด้วย ซามาร์กล่าวว่าผู้หญิงมุสลิมจำนวนมากเป็นโรคกระดูกเปราะเพราะร่างกายขาดแคลเซี่ยมจากแสงแดด


 


ปัจจุบัน ซามาร์ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งอัฟกานิสถาน และเป็นผู้แทนพิเศษแห่งสหประชาชาติ ในวิกฤตการณ์ดาร์ฟู ในซูดาน


 


0 0 0


 



คลาลิด้า เซีย


(Khaleda Zia):


นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกแห่งบังคลาเทศ


 


คลาลิด้า เซีย พลิกชีวิตแม่บ้านสู่ถนนการเมืองหลังจากที่ประธานาธิบดี Ziaur Rahman ผู้เป็นสามีถูกลอบสังหารเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2524


 


เธอเกิด พ.ศ.2488 ปัจจุบันอายุ 61 ปี


 


เดือนมีนาคม 2526 เซีย ได้รับเลือกให้เป็นรองประธานพรรค Bangladesh Nationalist Party (BNP) ที่สามีเป็นผู้ก่อตั้ง และเดือนสิงหาคม ปีถัดมา เซียขึ้นรับตำแหน่งประธานพรรคฯ


 


เซียเริ่มบทบาททางการเมืองด้วยการต่อต้านรัฐบาลทหารของ Hossain Mohammad Ershad ที่ทำการปฏิวัติยึดอำนาจเมื่อเดือนมีนาคม 2525  เซียนำพรรคบีเอ็นพีร่วมกับพันธมิตรอีก 7 พรรค บอยคอตการเลือกตั้งทุกครั้งที่รัฐบาลทหารจัดให้มีขึ้นเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาล การต่อต้านของเซียทำให้เธอถูกจับกุมคุมขังถึง 7 ครั้งในช่วงระหว่าง 9 ปีภายใต้การปกครองของรัฐบาลเผด็จการ


 


การชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ของประชาชน กดดันให้ประธานาธิบดี Ershad ต้องลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ.2533 และรัฐบาลรักษาการณ์จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2534


 


พรรคบีเอ็นพีชนะการเลือกตั้ง และเซียได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของบังคลาเทศ รัฐบาลของเซียให้ความสำคัญกับนโยบายการศึกษา และนโยบายสตรี โดยได้จัดสวัสดิการให้เรียนฟรีสำหรับการศึกษาภาคบังคับระดับประถมศึกษา และพยายามเปิดโอกาสให้ผู้หญิงเข้าถึงการศึกษา โดยจัดสรรงบประมาณพิเศษช่วยค่าอาหารและค่าเล่าเรียนให้นักเรียนหญิงจนถึงเกรด 10


 


เซียเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นวาระที่ 2 เมื่อพรรคบีเอ็นพีชนะการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2539 แต่ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ถูกพรรคการเมืองอื่นๆกล่าวหาว่าไม่โปร่งใส และเรียกร้องให้มีรัฐบาลรักษาการณ์มาจัดการเลือกตั้งใหม่ เซียปฏิบัติตามคำเรียกร้อง โดยแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตั้งรัฐบาลรักษาการณ์มาจัดการเลือกตั้ง แล้วจึงประกาศยุบสภาเพื่อเปิดทางให้การเลือกตั้งครั้งใหม่ในวันที่ 12 มิถุนายน ปีเดียวกัน ซึ่งครั้งนี้พรรคบีเอ็นพีพ่ายแพ้ ต้องกลายเป็นพรรคฝ่ายค้านในสภาฯ


 


เดือนตุลาคม พ.ศ.2544 เซียกลับมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีบังคลาเทศอีกเป็นวาระที่ 3 เมื่อพรรคบีเอ็นพีของเธอชนะการเลือกตั้ง


 


วาระที่ 3 ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของเซียกำลังจะสิ้นสุดลงในเดือนตุลาคมนี้  ท่ามกลางปัญหามากมายที่รายล้อม เช่น การก่อการร้าย การคอรัปชั่น และข้อกล่าวหาว่ารัฐบาลละเมิดสิทธิมนุษยชนกลุ่มต่างๆที่เป็นชนกลุ่มน้อยในบังคลาเทศ


 


0 0 0



 



 


ทซีปี ลิฟนี่


(Tzipora Livni) :


นางสิงห์น้อยแห่งอิสราเอล

 


ทซีปี ลิฟนี่ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศของอิสราเอล เกิด พ.ศ.2501  ปัจจุบันอายุ 48 ปี ลิฟนี่เป็นผู้หญิงคนที่ 2 ของอิสราเอลที่ก้าวขึ้นสู่บทบาทนำทางการเมือง นับจากยุคของนางสิงห์ โกลด้า แมร์ (Golda Meir) อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศหญิงและนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของอิสราเอล (พ.ศ.2512-2517)


 


ลิฟนี่ เดินตามเส้นทางการเมืองของบิดาและมารดาที่เป็นสมาชิกคนสำคัญของกองกำลังใต้ดินเพื่อก่อตั้งรัฐอิสราเอล  เธอเคยปฏิบัติงานในหน่วยสืบราชการลับ  และได้รับการประดับยศร้อยโทหญิงแห่งกระทรวงกลาโหมอยู่ถึง 4 ปี


 


หลังจบการศึกษาด้านกฎหมายจาก Bar llan University ลิฟนี่เข้ารับตำแหน่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงในหน่วยงานของรัฐที่ดูแลด้านรัฐวิสาหกิจและธุรกิจผูกขาดต่างๆ เธอเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชนและกฎหมายพาณิชย์


 


บทบาททางการเมืองของลิฟนี่เริ่มปรากฏชัดในปี พ.ศ.2542 เมื่อเธอได้รับเลือกตั้งให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติของอิสราเอล  บิดาของเธอเคยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งนี้เช่นกัน


 


ลิฟนี่เป็นผู้สนับสนุนคนสำคัญของอดีตประธานาธิบดีแอเรียล ชารอน (Ariel Sharon) และเคยได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีหลายกระทรวงในสมัยของนายกรัฐมนตรีชารอน (มีนาคม 2544 - เมษายน 2549) ลิฟนี่สนับสนุนประธานาธิบดีแอเรียล ชารอน ในการดำเนินแผนการถอนทหารและประชาชนชาวอิสราเอลออกจากฉนวนกาซาทั้งหมด


 


เดือนมกราคม 2549 ลิฟนี่ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ ซึ่งนับเป็นสตรีคนที่ 2 ของอิสราเอลที่ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนี้หลังจาก โกลด้า แมร์


 


เธอได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรองนายกรัฐมนตรีอีกตำแหน่งหนึ่งเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา


 


บทบาททางการเมืองที่โดดเด่นและเด็ดขาดของลิฟนี่ต่อวิกฤตการณ์สู้รบของอิสรเอล ทำให้เธอถูกเรียกว่าเป็นผู้นำสายเหยี่ยว เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ลิฟนี่ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์เอบีซีว่า "คนที่กำลังทำสงครามกับทหารอิสราเอลเป็นศัตรูของเรา และเราจะโต้ตอบ แต่ดิฉันเชื่อว่าการต่อสู้ที่มีเป้าหมายเป็นทหาร ไม่อยู่ในคำจำกัดความของการก่อการร้าย"


 


ลิฟนี่กำลังถูกจับตามองจากทั่วโลกว่าเธอกำลังสืบต่อตำนานของนางสิงห์โกลด้า แมร์ ผู้ได้รับฉายาว่า "สตรีเหล็กแห่งอิสราเอล"


 


0 0 0


 



 


กลอเรีย อาโรโย่


(Gloria Macaraeg Macapagal-Arroyo) :


ตะวันอ่อนแสงที่ทำเนียบมาลากันยัง


 


อาโรโย่เกิดในพ.ศ.2490 ปัจจุบันอายุ 59 ปี


 


เธอเข้าสู่ทำเนียบมาลากันยังตั้งแต่เป็นเด็กหญิงวัย 14 ปีเมื่อบิดาของเธอ คือ Diosdado Macapagal ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนที่ 9 ของฟิลิปินส์ ในปี พ.ศ.2504


 


อาโรโย่เคยเรียนด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ Georgetown Universityเป็นเวลา 2 ปีและเป็นเพื่อนร่วมชั้นเรียนกับอดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน แห่งสหรัฐอเมริกา


 


เธอได้รับปริญญาศิลปศาสตร์บัณฑิตสาขาเศรษฐศาสตร์จาก Assumption College ในประเทศฟิลิปินส์ ในปี พ.ศ.2511 ได้รับปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์จาก Ateneo de Manila University และปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์จาก UP School of Economics


 


ระหว่างปี พ.ศ.2520-2530 อาโรโย่ทำงานสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง เส้นทางทางการเมืองของเธอเริ่มขึ้นในปี พ.ศ.2530 จากการชักชวนของอดีตประธานาธิบดีคอราซอน อาคีโน ให้เข้ารับตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการกรมการค้าและอุตสาหกรรม


 


ปี 2535 อาโรโย่ตัดสินใจเข้าสู่การเมืองเต็มตัวด้วยการสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา และชนะการเลือกตั้ง


 


ปี 2538 อาโรโย่ได้รับเลือกตั้งเข้าสู่วุฒิสภาอีกครั้งหนึ่งด้วยคะแนนเสียง 16 ล้านเสียงซึ่งมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งทุกตำแหน่งทางการเมืองของฟิลิปินส์ ระหว่างการทำหน้าที่ในสภานิติบัญญัติ อาโรโย่ผลักดันและสนับสนุนให้มีการออกกฎหมายสำคัญหลายฉบับ เช่น กฎหมายการต่อต้านการคุกคามทางเพศ กฎหมายว่าด้วยสิทธิของชนพื้นเมือง


 


ปี 2541 อาโรโย่ชนะเลือกตั้งและรับตำแหน่งรองประธานาธิบดี และได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดีโจเซฟ เอสตราด้าให้กำกับดูแลกระทรวงพัฒนาและสวัสดิการสังคม


 


เดือนตุลาคม 2543 เมื่อประธานาธิบดีเอสตราด้าเผชิญกับวิกฤติทางการเมืองด้วยข้อกล่าวหาว่าคอรัปชั่น อาโรโย่ลาออกจากคณะรัฐมนตรี และร่วมเคลื่อนไหวกับภาคประชาสังคมเพื่อเรียกร้องให้ประธานาธิบดีเอสตราด้าลาออกจากตำแหน่ง


 


เธอสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 14 ของฟิลิปินส์ ในวันที่ 20 มกราคม 2544 ไม่กี่ชั่วโมงหลังที่ศาลฏฎีกามีคำพิพากษาให้ประธานาธิบดีเอสตราด้าพ้นจากตำแหน่ง


 


ประธานาธิบดีคนใหม่ประกาศวาระแห่งชาติ - มุ่งสร้างความเข้มแข็งให้ระบบราชการ ลดอาชญากรรม เพิ่มภาษี พัฒนาการเติบโตทางเศรษฐกิจ และต่อต้านการก่อการร้าย


 


30 มิถุนายน 2547 อาโรโย่สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีอีกสมัยหนึ่ง ภายหลังชนะการเลือกตั้งท่ามกลางข้อครหาเรื่องความไม่โปร่งใสในการใช้เงินรณรงค์หาเสียงและการใช้อิทธิพลในตำแหน่งแทรกแซงกระบวนการเลือกตั้ง


 


ความนิยมในตัวของอาโรโย่ลดลงเรื่อยๆ ด้วยข้อกล่าวหามากมายที่สวนทางกับวาระแห่งชาติที่เธอเคยประกาศไว้ เมื่อเผชิญสถานการณ์ท้าทายอำนาจจากฝ่ายทหาร และการประท้วงของภาคประชาชน ประธานาธิบดีอาโรโย่ประกาศใช้กฎอัยการศึกเพื่อควบคุมสถานการณ์ มีการจับกุมผู้นำพรรคการเมืองฝ่ายซ้าย และการบุกค้นกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เดลี่ ทรีบูน (Daily Tribune) ที่วิพากษ์วิจารณ์การบริหารงานของรัฐบาล รายงานขององค์การนิรโทษกรรมสากลระบุว่านับตั้งแต่ปี 2544 ที่ประธานาธิบดีอาโรโย่ก้าวเข้าสู่ทำเนียบมาลากันยัง


มีนักเคลื่อนไหวทางสังคม และนักข่าวถูกลอบสังหาร 710 คน


 


ด้วยข้อกล่าวหาต่างๆเหล่านี้ ทำให้ประธานาธิบดีอาโรโย่ กำลังเผชิญกับข้อเรียกร้องให้ก้าวลงจากเวทีการเมืองอยู่ในขณะนี้


 


0 0 0



 



 


ออง ซาน ซูจี


(Aung San Suu Kyi):


พลังเงียบของสันติวิธีเหนือลุ่มน้ำอิระวดี


 


 


ออง ซาน ซูจี ผู้นำพรรคฝ่ายค้านในพม่า เคยกล่าวไว้ว่า เรื่องการเมืองไม่ได้อยู่ในความสนใจของเธอเลย แต่เมื่อประชาชนในประเทศพม่ากำลังเรียกร้องประชาธิปไตย เธอถือเป็นหน้าที่ที่ต้องเข้าร่วมด้วย ในฐานะที่เป็นบุตรสาวของนายพลออง ซาน


 


ซูจี พลัดหลงเข้ามาสู่ถนนการเมืองในพม่าตั้งแต่ปี พ.ศ.2531 หลังเหตุการณ์ 8-8-88 ที่กลุ่มผู้นำทหารในกรุงร่างกุ้งทำการปราบปรามนักศึกษาประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2531


 


วันที่ 24 กันยายน ปีเดียวกัน เธอร่วมก่อตั้งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy- NLD) และได้รับเลือกให้เป็นเลขาธิการพรรค ประกาศต่อสู้กับอำนาจเผด็จการด้วยการใช้นโยบายสันติวิธีและอารยะขัดขืน เธอร่วมกับประชาชนในพม่าเรียกร้องประชาธิปไตยและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติและเสมอภาคระหว่างกลุ่มชาติพันธ์ต่างๆในประเทศพม่า


 


เดือนพฤษภาคม 2533 พรรคเอนแอลดีของเธอชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น แต่ไม่เคยมีโอกาสได้บริหารประเทศ ภายใต้การยึดอำนาจของกลุ่มเผด็จการทหาร ซูจีถูกสั่งกักบริเวณครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อปิดกั้นข่าวสารและบทบาทของเธอจากประชาคมโลก หากแต่ชื่อของ ออง ซาน ซุจี กลับถูกกล่าวถึงอยู่เสมอในฐานะที่เป็นสัญญลักษณ์ของนักต่อสู้ด้วยสันติวิธี ซูจี ได้รับการประกาศชื่อให้เป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ปี พ.ศ.2534


 


เมื่อก้าวเข้าสู่เวทีการเมืองเพื่อต่อสู้กับเผด็จการทหารในพม่าในปี 2531 ซูจีไม่ได้ย่างเท้าก้าวออกจากพม่าอีกเลย เธอทิ้งอนาคตทางวิชาการและครอบครัวไว้เบื้องหลัง เธอจบการศึกษาสาขาเศรษฐศาสตร์ การเมือง และปรัชญาจาก St. Hugh"s College, Oxford University และอยู่ในระหว่างทำวิทยานิพนธ์ด้านวรรณคดีพม่าสำหรับการศึกษาระดับปริญญาเอกที่ London School of Oriental and African Studies (SOAS) ซูจีแต่งงานกับไมเคิล อริส นักวิชาการชาวอังกฤษ และมีบุตรชาย 2 คน สามีและบุตรของเธอใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ไมเคิล อริส ถึงแก่กรรมเมื่อเดือนมีนาคม 2542 ที่ประเทศอังกฤษ


 


ณ วันนี้ แม้จะถูกจองจำอยู่ในประเทศพม่า แต่การต่อสู้ด้วยสันติวิธีและอารยะขัดขืนของซูจี ทรงพลังในการเรียกร้องให้ประชาคมโลกมิอาจถอนความสนใจไปจากปัญหาทางการเมืองในพม่าได้


 


ในวันที่บุตรชายสองคนของซูจี เดินทางจากอังกฤษไปรับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพแทนมารดา พวกเขาได้นำสาส์นจากซูจีไปกล่าวกับผู้มาร่วมแสดงความยินดีว่า "ถ้าแม่มีอิสรภาพและอยู่ที่นี่ในวันนี้ แม่จะขอบคุณพวกคุณและขอร้องให้พวกคุณร่วมกันสวดมนต์ให้ทั้งผู้กดขี่และผู้ถูกกดขี่โยนอาวุธทิ้ง และหันมาร่วมกันสร้างชาติด้วยความเมตตากรุณาและจิตวิญญาณแห่งสันติ"


 


ซูจีถูกรัฐบาลเผด็จการทหารจำกัดอิสรภาพตลอดเกือบสองทศวรรษที่ผ่านมา


 


0 0 0


 



 


ฮาน เมียง ซุก


(Han Myung-sook) :


จากนักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของเกาหลีใต้


 


อดีตนักโทษการเมืองและนักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศเกาหลีใต้เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา (2549) ฮาน เมียง ซุก เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 37 ของสาธารณรัฐเกาหลี


 


ฮาน เมียง ซุก เกิดพ.ศ.2487 ปัจจุบันอายุ 62 ปี


 


ความใฝ่ฝันในวัยเด็กของฮานคือการเป็นนักเขียน เธอจบการการศึกษาสาขาภาษาศาสตร์และวรรณคดีฝรั่งเศสที่ Ewha Womans University ในกรุงโซล แต่เส้นทางแห่งความฝันของฮานหักเหเมื่อพบกับ ปัก ซุน จุง นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย


 


ฮาน และปัก ซุง จุง เป็นสมาชิกของชมรมนักศึกษาคริสเตียนด้วยกันทั้งคู่


 


ทั้งสองแต่งงานกันเมื่อปี พ.ศ.2511 แต่เพียงหกเดือนหลังการแต่งงาน ปัก ซุง จุง ถูกจับกุมเพราะการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลเผด็จการขณะนั้น เขาถูกจำคุกเป็นเวลาถึง 13 ปี


 


พ.ศ.2513 ฮานเริ่มต้นทำงานที่วิทยาลัยคริสเตียน ซึ่งเป็นสถาบันที่จัดตั้งโดยกลุ่มนักกิจกรรมและผู้นำทางศาสนาเพื่อจัดโครงการศึกษาให้กับชาวนา ผู้หญิง และกลุ่มคนงานในเมือง แต่รัฐบาลของประธานาธิบดีปักจุงฮีกล่าวหาว่าวิทยาลัยคริสเตียนแห่งนี้สนับสนุนเกาหลีเหนือ และจับกุมคุมขังกลุ่มผู้ปฏิบัติงาน โดยที่ฮานเป็นหนึ่งในจำนวนผู้ถูกจับกุม เธอถูกคุมขังอยู่ถึง 2 ปี (ระหว่างปีพ.ศ.2522-2524) หลังจากได้รับอิสรภาพ  ฮานเข้าศึกษาต่อสาขาสตรีศึกษาที่ Ewha Womans University


 


หลังสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทปี พ.ศ.2529 ฮานทำงานเป็นอาจารย์และนักวิชาการด้านสตรีศึกษาในสถาบันหลายแห่งรวมทั้งที่ Ewha Womans University


 


ปี พ.ศ.2532 เธอดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการพิเศษเพื่อแก้ไขกฎหมายครอบครัว และประธานสมาคมผู้หญิงเกาหลี และได้รับเลือกเป็นประธานเครือข่ายผู้หญิงเกาหลีระหว่างปี 2533-2537


 


เส้นทางสู่ทำเนียบรัฐบาลของฮานเริ่มต้นในปี พ.ศ.2543 เมื่อเธอได้รับเลือกเป็นสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ ซึ่งฮานมีบทบาทสำคัญในการผลักดันและร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับสิทธิสตรี เช่น กฎหมายประกันการจ้างงานของคนงานหญิงที่ตั้งครรภ์ และการขยายเวลาลาคลอด


 


ปี พ.ศ.2544 ฮานได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีคนแรกของกระทรวงเพื่อความเสมอภาคระหว่างเพศ และระหว่างปี 2546-2547 เธอได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อม


 


เมื่อรับตำแหน่งนากยกรัฐมนตรี ฮานสนับสนุนให้บริษัทในประเทศเยอรมันมาลงทุนในเขตเศรษฐกิจร่วมของเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้


 


ฮานบอกว่ากุญแจสำคัญที่นำเธอมาถึงจุดนี้ได้ คือการทำงานหนัก


 


"ดิฉันให้ค่ากับการทำงานหนัก ถ้าคุณทำงานหนักที่สุดเพื่อความเป็นหนึ่ง นั่นคือกุญแจสู่ความสำเร็จ ผู้หญิงต้องเปลี่ยนทัศนคติว่า - เราสามารถทำได้  แม้เราจะเป็นผู้หญิง -  ความคิดในเชิงบวกคือกุญแจ"


 


 


………………………………………..


บทความนี้เขียนสำหรับสื่อออนไลน์ "ประชาไท"เผยแพร่เมื่อเดือนกันยายน 2549

ผู้เขียน- สุภัตรา ภูมิประภาส เป็นนักข่าวที่สนใจประเด็นสิทธิมนุษยชน ปัจจุบันทำงานที่หนังสือพิมพ์ The Nation

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net