Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

: The Real War


 


 



 


โดย  อุทัยวรรณ เจริญวัย


 


 


มาห์มูดิยา...เรื่องเล่าและปฏิกิริยาจากซีก "จิฮัดดิสต์"


มาห์มูดิยา...ไม่ได้สร้างความเจ็บปวดอับอายให้คนอิรักทั้งประเทศเท่านั้น แม้แต่จิฮัดดิสต์ซุนนีกลุ่มใหญ่ยังต้องออกมาเคลื่อนไหวประกาศ "การแก้แค้น"


 


แต่ก่อนที่เราจะไปดูรายละเอียดตรงนั้น ยังมีคำบอกเล่าเกี่ยวกับมาห์มูดิยาอีกหนึ่งเวอร์ชัน...ที่แทบจะไม่เป็นที่รับรู้กันในโลกภายนอกมุสลิมเท่าไหร่ แต่ก็มีแง่มุมคันๆ ให้มองข้ามไปไม่ได้ง่ายๆ


 


เป็นเวอร์ชันที่มาจากสื่อกลุ่มหนึ่งที่ "ใกล้ชิดกับกลุ่มจิฮัดดิสต์เป็นพิเศษ" หรือ "มีความเห็นใจฝ่ายต่อต้านในอิรักเป็นพิเศษ"


 


Islam Memo (หรือ Mafkarat al-Islam) คือหนึ่งในเครือข่ายนี้ เป็นสำนักข่าวที่มีการทำข่าวและนำเสนอข่าวจากมุมมองของฝ่ายต่อต้านเป็นภาษาอาหรับ มีฐานในริยาร์ด แต่เนื่องจากสำนักข่าวนี้มีพันธมิตรเป็นเว็บภาษาอังกฤษถึง 2 แห่ง จึงทำให้ข่าวสารของที่นี่ถูกแปลเผยแพร่ออกไปในวงกว้างมากขึ้น เว็บดังกล่าวได้แก่ JUS (Jihad Unspun หรือ JUSone News) ซึ่งเป็นเว็บรวมข้อมูลจากหลายแหล่งและมีการทำข่าวของตัวเองร่วมด้วย และเว็บ Free Arab Voice เจ้าของจดหมายข่าว "Iraqi Resistance Report" ที่รวบรวมความเคลื่อนไหวของฝ่ายต่อต้านทั้งในซีกพรรคบาธและจิฮัดดิสต์มานำเสนอเป็นประจำ


 


ในเอกสารทางราชการชิ้นหนึ่ง กระทรวงต่างประเทศของประธานาธิบดีบุชเรียกเครือข่ายนี้ (ประมาณ) ว่า "สามสหายจอมลวงโลก" (A Trio of Disinformers)


 


แน่นอนว่า ภายใต้สงครามข่าวสารเข้มข้น (ใครคือแชมป์ลวงโลกผู้มีประสิทธิภาพมาตลอด...ก็รู้ๆ กันอยู่) มันย่อมไม่มี "ความจริงสำเร็จรูป" วางขายในอิรักอยู่แล้ว แต่ในเมื่อทุกฝ่ายต่างก็มีอะเจนดาและแรงจูงใจของตัวเอง ไม่เว้นม้แต่สื่อฝรั่งที่มีการเซ็นเซอร์ในระดับต่างๆ กัน การรับฟังเรื่องราวเกี่ยวกับมาห์มูดิยาให้รอบด้าน "อย่างมีวิจารณญาณ" น่าจะทำให้เรามองเห็นอะไรมากขึ้น


 


และต่อไปนี้ก็คือปากคำของ "ผู้เห็นเหตุการณ์คนหนึ่ง" ซึ่งให้สัมภาษณ์กับนักข่าวของ Islam Memo โดย Free Arab Voice ร่วมกับ JUS ได้หยิบมาแปลและรายงานเพิ่มเติม วันที่ 5 กรกฎาคม ไม่มีการเปิดเผยชื่อว่าผู้เห็นเหตุการณ์คนนี้เป็นใคร แต่จากเนื้อหาพอจะเดาได้ไม่ยากว่าเป็น "โอมาร์ จานาบี"  - คนที่ให้สัมภาษณ์วอชิงตันโพสต์ในช่วงใกล้เคียงกัน


 


(วอชิงตันโพสต์...ซึ่งมีสำเนาเอกสารของแพทย์และรู้มาตั้งแต่แรกว่าอาเบียร์อายุ 14 แต่เซ็นเซอร์ไม่ยอมบอกน่ะแหละ)


 


 ลองมาฟังเพื่อนบ้านของอาเบียร์...พูดถึงเหตุการณ์วันนั้น ในเวอร์ชันที่แตกต่างออกไป


 


"ตอนบ่าย 2 กองกำลังของอเมริกาบุกบ้านคาซิม พวกนั้นล้อมเขาไว้ แล้วผมก็ได้ยินเสียงปืนดังขึ้น หลังปืนเงียบเสียงไปราวๆ ชั่วโมงหนึ่ง ผมก็เห็นควันคลุ้งลอยมาจากที่นั่น แล้วพวกทหารก็รีบออกมาจากบ้าน ต่อมา ทหารอเมริกันกับกองกำลังรักษาดินแดนอิรัก-หรือทหารชีอะต์-ก็ปิดล้อมพื้นที่ไว้ พวกเขาบอกเราว่าผู้ก่อการร้ายอัล-ไคดาเข้าไปในบ้านและฆ่าคนในบ้านหมดทุกคน พวกเขาไม่ยอมให้ใครเข้าไปในบ้านหลังนั้น แต่ผมบอกทหารชีอะต์คนหนึ่งว่า ผมเป็นเพื่อนบ้าน ผมขอเข้าไปดูหน่อยเพื่อจะได้เอาเรื่องคาซิมไปแจ้งข่าวให้พ่อของเขารู้ ทหารคนหนึ่งเลยยอมให้ผมเข้าไป"


 


"พอผมเข้าไปในบ้าน ผมก็พบคาซิม เมียเขา และฮาเดลในห้องแรก พวกเขานอนจมกองเลือดอยู่ เลือดไหลนองจนลอดออกมาใต้ประตู ผมเอื้อมมือไปพลิกตัวแต่ไม่มีใครขยับเขยื้อน พวกนั้นสิ้นใจหมดแล้ว"


 


"ผมไปที่ห้องของอาเบียร์ ผมเห็นไฟลุกออกมาจากตัวเธอ ที่อกและที่หัวของเธอ...ไฟกำลังไหม้อยู่ เธออยู่ในท่าที่น่าสงสารมาก ชุดกระโปรงสีขาวของเธอถูกเลิกขึ้นมาถึงคอ เสื้อชั้นในฉีกขาด ตรงหว่างขายังคงมีเลือดไหลออกมา แม้ว่าเธอจะสิ้นใจไปแล้ว คงจะสัก 15 นาทีแล้ว ท่ามกลางควันไฟที่คลุ้งอยู่ในห้อง เธอตายไปแล้ว ขอให้พระเจ้าโปรดดูแลดวงวิญญาณเธอด้วย ผมรู้ตั้งแต่วูบแรก ผมรู้ว่าเธอถูกข่มขืน ที่แขนและขาของเธอถูกมัด หน้าของเธอหันไปอีกทางหนึ่ง


 


แล้วผมก็กลั้นน้ำตาต่อไปไม่ไหว ผมร้องไห้ด้วยความสงสารเธอ  ผมรีบดับไฟที่กำลังไหม้ร่างเธออยู่ ไฟไหม้ที่หน้าอก ผม และเนื้อบนใบหน้าของเธอ ผมหยิบผ้ามาคลุมให้ ขอให้พระเจ้าโปรดดูแลดวงวิญญาณเธอด้วย ทันใดนั้น ผมก็คิดขึ้นมาได้ว่า ถ้าผมเอาเรื่องนี้ไปพูดหรือโวยวายข้างนอก ผมจะต้องถูกจับ ผมพยายามตั้งสติ ออกจากบ้านหลังนั้นไปเงียบๆ ด้วยท่าทีที่เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น เพื่อที่จะเป็นประจักษ์พยานของเหตุการณ์อันน่าเศร้าสลดนี้ ผมจะได้เก็บสิ่งที่ผมเห็นนี้ไปเล่าต่อให้คนอื่นฟัง"


 


"จริงๆ แล้ว เรื่องนี้ก็ไม่ได้ทำให้ผมแปลกใจเท่าไหร่ เพราะก่อนหน้านี้ วันที่ 9 มีนาคม แม่ของอาเบียร์แวะมาหาผม มาถามว่าจะให้อาเบียร์มานอนกับลูกสาวผมได้มั้ย อาเบียร์กลัว เพราะเธอเห็นท่าทีของพวกทหารที่ชอบจ้องมองเธอเวลาออกไปให้อาหารวัว ผมตอบตกลง เพราะบ้านคาซิมอยู่ใกล้ป้อมทหารมากประมาณ 15 เมตรราวๆ นั้น บอกตามตรง ตอนแรกผมไม่คิดเลยว่า เรื่องแบบนี้จะเกิดขึ้นกับเธอได้ เพราะเธอดูเด็กมาก อายุสัก 16 เองมั้ง เธอยังเป็นแค่เด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ อยู่เลย แต่ผมก็บอกแม่เธอว่า…มาเถอะ ไม่มีปัญหา เธอมานอนค้างที่บ้านเราคืนหนึ่งแล้วก็กลับไปตอนเช้า เราไม่คิดเลยว่า พวกทหารอเมริกาจะทำเรื่องแบบนี้กลางวันแสกๆ"


 


หลังจากนั้นเกิดอะไรขึ้น? ต่อไปนี้ เป็นส่วนที่จะนำไปสู่เรื่องราว "การแก้แค้น" ของพวกจิฮัดดิสต์


 


"ทหารฝ่ายยึดครองปิดล้อมบ้านหลังนั้นไว้ประมาณสามชั่วโมง และบอกชาวบ้านว่า ครอบครัวนี้ถูกผู้ก่อการร้ายฆ่าเพราะพวกเขาเป็นชีอะต์ ไม่มีใครเชื่อ เพราะเป็นที่รู้กันดีว่า...พ่อของอาเบียร์เป็นคนที่ดีที่สุดในเมืองคนหนึ่ง เป็นคนดีมีคุณธรรมน่านับถือคนหนึ่ง และเขาก็เป็นซุนนี ไม่ใช่ชีอะต์ ทุกคนต่างก็สงสัยเรื่องนี้ หลังเวลาสวดมนต์เย็น ทหารเอาศพทั้งสี่กลับไปที่ฐานทัพอเมริกัน วันต่อมาทหารพวกนั้นนำศพไปยังโรงพยาบาลมาห์มูดิยา และบอกว่าผู้ก่อการร้ายเป็นคนฆ่าครอบครัวนี้ เช้าวันนั้น ผมกับญาติผู้ตายพากันไปที่โรงพยาบาล เรารับศพกลับมาแล้วเราก็ฝังพวกเขา...ขอให้พระเจ้าโปรดเมตตาพวกเขาด้วย"


 


"แล้วเราก็ตัดสินใจว่า เราจะไม่ปล่อยให้เรื่องนี้เงียบ เราจึงไปหานักรบมูจาฮีดีนเพื่อขอร้องให้พวกเขาช่วย เพื่อเอาคืนการกระทำครั้งนี้ พวกมูจาฮีดีนได้บุกโจมตีทหารฝ่ายยึดครองถึง 30 ครั้ง ภายในเวลา 2 วัน และนั่นทำให้ทหารอเมริกันต้องบาดเจ็บล้มตายไปกว่า 40 นาย"


 


แต่ชาวบ้านไม่ได้แวะไปหาพวกมูจาฮีดีนเท่านั้น เขาเล่าต่อไปว่า ชาวบ้านได้พยายามไปขอความช่วยเหลือจากสื่อมวลชน ไม่ว่าจะเป็นสถานีโทรทัศน์อัล-อาราบิยา และสื่อสิ่งพิมพ์บางราย แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจ เจ้าหน้าที่สถานีโทรทัศน์อธิบายว่า นโยบายของเขาขึ้นอยู่กับเอกสารที่เป็นทางการ...ซึ่งก็หมายถึงเอกสารที่ออกโดยกองทัพอเมริกา พวกเขาไม่สามารถเข้าถึงหรือเข้าไปทำข่าวเรื่องพวกนี้ได้ เพราะไม่มีอำนาจ


 


"แต่นักรบฝ่ายต่อต้านบอกเราว่า พระเจ้าจะไม่ปล่อยให้ชาวมุสลิมคนไหนต้องหลั่งเลือดอย่างสูญเปล่า พวกเขาบอกให้เราอดทนรอต่อไป แล้วเราจะได้เห็นการลงโทษ สำหรับเลือดทุกหยดของอาเบียร์และครอบครัว สำหรับเกียรติยศและศักดิ์ศรีของน้องสาวเราที่ถูกละเมิด มันจะเป็นการลงโทษชนิดที่ทำให้คนทั่วไปต้องขนลุก"


 


หลังสื่อในซีกจิฮัดดิสต์เผยแพร่รายงานนี้ประมาณหนึ่งสัปดาห์ ความเคลื่อนไหวที่สอดคล้องกันจากเว็บไซต์ของจิฮัดดิสต์ขาใหญ่กลุ่มหนึ่งก็ตามมา เพื่อยืนยันว่า...การลงโทษที่ "ทำให้ขนลุก" คืออะไร


 


11 กรกฎาคม กลุ่มสภามูจาฮีดีนหรือ Mujahedeen Shura Council (1) ที่เคยอ้างความรับผิดชอบในเหตุการณ์บุกโจมตีจุดตรวจ ยูซิฟิยาห์ (Yusifiyah) วันที่ 16 มิถุนายน ซึ่งมีการจับทหารอเมริกา 2 นายไปทำทารุณกรรมและฆ่าตัดคอด้วยนั้น ได้ออกมาประกาศผ่านเว็บไซต์ว่า สิ่งที่ทำไปนี่แหละ คือการแก้แค้นให้กับ "น้องสาวของเราที่ถูกหยามเกียรติโดยทหารอเมริกันซึ่งสังกัดหน่วยเดียวกับทหาร 2 คนนี้"


 


พร้อมกันนั้น เพื่อเป็นการยืนยันว่าพูดจริงทำจริง และเพื่อข่มขวัญศัตรู ทางกลุ่มยังได้นำวิดีโอคลิปภาพศพทหารสุดสยองมาเผยแพร่ให้เห็นกันจะๆ อีกด้วย


 


นับเป็นการสยบความสงสัยของทุกฝ่าย เพราะก่อนหน้านี้ อเมริกันยังไม่ยอมรับความเกี่ยวข้องของ 2 กรณีดังกล่าว


 


เหตุการณ์มาห์มูดิยาถูกตีพิมพ์เป็นข่าวครั้งแรกในวันที่ 30 มิถุนายน แน่นอนว่า...กลุ่มจิฮัดดิสต์ที่ทำการแก้แค้น (ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนี้หรือกลุ่มไหน) ย่อมจะต้องรู้เรื่องนี้มาก่อนหน้าแล้ว คำประกาศบนเว็บไซต์ให้เหตุผลว่า...ก่อนหน้านี้ เหล่าจิฮัดดิสต์จำเป็นต้องเก็บเรื่องนี้ไว้เป็นความลับ ก็เพราะต้องการจะปฏิบัติการแก้แค้นอย่างเงียบๆ


 


แต่เรื่องการแก้แค้นดังกล่าว ไม่ได้เป็นข่าวจากปากเพื่อนบ้านที่สะพัดอยู่ในสื่อซี้จิฮัดดิสต์เท่านั้น ก่อนหน้าคำประกาศของกลุ่มสภามูจาฮีดีน 2 วัน เรื่องพวกนี้ได้ไปปรากฏอยู่ในสื่อตะวันตกมาแล้วเช่นกัน ซันเดย์เทเลกราฟ ฉบับที่ 9 กรกฎาคม ได้ตีพิมพ์บทสัมภาษณ์ชาวเมืองมาห์มูดิยา ซึ่งมีเนื้อหา "รับลูก" กันอย่างไม่น่าเชื่อ ดังนี้


 


"เจ้าหน้าที่ของกองทัพอเมริกา ได้เริ่มการสืบสวนความเกี่ยวข้องของ 2 คดี (ยูซิฟิยาห์และมาห์มูดิยา) แล้ว แม้ตอนนี้ พวกเขาจะยืนยันว่า ความคิดที่ว่านี้เป็นเพียงการคาดเดาล้วนๆ อย่างไรก็ตาม ชาวเมืองมาห์มูดิยา ตอนใต้ของแบกแดดและใจกลาง "สามเหลี่ยมมรณะ" ต่างก็พูดกันว่า ญาติของผู้ตายซึ่งเคยมีการติดต่ออยู่กับฝ่ายต่อต้าน ได้ขอร้องให้คนเหล่านั้นช่วยแก้แค้นให้ ชนิดที่เรียกว่า "เลือดล้างด้วยเลือด"……"


 


"ซาบา ชูเกอร์ (Saba Shukr), 44, ชีคซุนนีที่มัสยิดอัล-อาซิส ในมาห์มูดิยา กล่าวว่า : เรารู้เรื่องอาชญากรรมนี้มาก่อนแล้ว และเราก็รู้ว่าพวกมูจาฮีดีนทำการแก้แค้นให้ตอนที่พวกเขาลักพาตัวทหาร 2 คนที่ยูซิฟิยาห์ไป พวกเขากำลังหาจังหวะที่จะลักพาตัวและฆ่าทหารอีกแปดคน เพราะความตายของเด็กผู้หญิงคนนี้มีราคาที่ต้องจ่ายเท่ากับความตายของทหารอเมริกัน 10 คน เราแน่ใจเรื่องนี้ มูจาฮีดีนสัญญาเอาไว้อย่างนั้น"


 


"เพื่อนบ้านของครอบครัวนี้ที่ชื่อ อาบู ฮาเซ็ม (Abu Hazem), 51, บอกว่า : เราแวะไปหาญาติของผู้ตายที่อยู่ห่างออกไปครึ่งไมล์ เพื่อไปบอกข่าวกับเขา แต่เขาบอกเราว่า อย่าเอะอะไปนะ เรากำลังจะแก้แค้นทหารอเมริกันแบบเงียบๆ"


 


"อิซซัท ฮูมาดี (Izzat Humadi), 29, คนขับแท็กซี่ในท้องถิ่น ให้สัมภาษณ์ว่า : ตอนที่เราเห็นพวกนั้นยักคิ้วหลิ่วตาใส่ผู้หญิงของเรา มันทำให้เราเริ่มไม่สบายใจและคิดว่าวันหนึ่งเรื่องไม่ดีคงจะเกิดขึ้น แล้วมันก็เกิดขึ้นจนได้ พวกมูจาฮีดีนจะทำการแก้แค้นให้พวกเราและเด็กคนนี้ต่อไป เรากำลังคอยให้เขาจับทหารอเมริกามาให้ได้อีกแปดคน"


 


สรุปว่า อาชญากรรมที่ทหารอเมริกาทำกับอาเบียร์นั้น ชาวเมืองรู้มาก่อนหน้าแล้ว? สรุปว่า ยกเว้นความซื่อบื้อของทหารอเมริกา ชาวซุนนี (แม้แต่คนขับแท็กซี่) ต่างก็รู้ดีเรื่องการฆ่าตัดคอเพื่อล้างแค้น?


 


ว่าแต่ทำไมต้องสิบ? ทำไมต้องเหลืออีกแปด? แม้แต่พาดหัวข่าวของเทเลกราฟยังอุตส่าห์ตอกย้ำคนอ่านในจุดนี้ว่า "ตายไปสอง และกำลังจะตามมาอีกแปด" ไม่มีคำอธิบายในเนื้อข่าวว่าตัวเลขนี้มาจากไหน หรือมันจะเป็นแค่ตัวเลขอันเลื่อนลอยของมูจาฮีดีน-ไม่มีที่มาที่ไป?


 


ท่ามกลางข่าวสารหลายระลอกเกี่ยวกับคดีของอาเบียร์ตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ที่เดียวเท่านั้นที่เราจะพบกับ "อะไรสักอย่าง" ที่เกี่ยวข้องกับเลข 10 นั่นก็คือ รายงานชิ้นเดิมของ "สามสหาย" - Free Arab Voice และเครือข่ายนั่นแหละ


 


มันอยู่ในช่วงแรกของรายงาน 3 ย่อหน้าติดกัน คำต่อคำ ดังต่อไปนี้


 


"บ่ายวันหนึ่ง ในเดือนมีนาคม 2006 ทหารอเมริกัน 10-15 คนบุกไปที่บ้านของ คาซิม ฮัมซา ราชิด อัล-จานาบี ผู้ซึ่งเกิดในปี 1970 และทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ รปภ. อยู่ที่โกดังเก็บมันฝรั่งที่รัฐเป็นเจ้าของ อัล-จานาบี อาศัยอยู่ที่บ้านหลังนั้นกับภรรยาของเขา ฟาครียา ทาฮา มูห์ซิน และลูกอีก 4 คน - อาเบียร์ (เกิด1991) ฮาเดล (1999) โมฮัมเหม็ด (1998) และอาห์เหม็ด (1996)


 


"ทหารอเมริกันเข้าคุมตัวคาซิม ภรรยาของเขา และลูกสาวคนชื่อฮาเดล พาคนทั้งสามไปยังห้องๆ หนึ่งในบ้าน เด็กผู้ชายสองคนคือโมฮัมเหม็ดและอาห์เหม็ดยังอยู่ที่โรงเรียนตอนที่อเมริกันบุกเข้าไปในบ้านเวลาบ่าย 2 อเมริกันยิงคาซิม ภรรยาและลูกคนเล็กในห้องนั้น พวกเขายิงเข้าที่ศีรษะคาซิม 4 นัด ยิงเข้าที่ท้องน้อยและใต้ท้องน้อยของฟาครียาอีก 5 นัด ส่วนฮาเดลถูกยิงเข้าที่หัวและไหล่


 


"หลังจากนั้น อเมริกันพาอาเบียร์ไปที่ห้องถัดไป มันยืนล้อมเธอไว้ที่มุมหนึ่งของบ้าน มันถอดเสื้อผ้าเธอ และอเมริกัน 10 คนก็เวียนกันข่มขืนเธอทีละคน เสร็จแล้ว พวกนั้นก็ฟาดศรีษะเธอด้วยวัตถุมีคมชนิดหนึ่ง ตามรายงานทางนิติวิทยาศาสตร์ ก่อนที่จะเอาหมอนมาปิดจมูกจนเธอเสียชีวิต แล้วพวกนั้นก็จุดไฟเผาที่ร่างเธอตามมา"


 


ความจริงในอิรักอาจจะเป็นสิ่งไม่มีตัวตน ความจริงในอิรักอาจจะจับต้องไม่ได้ตลอดไป และเรื่องเล่าทั้งหมดนี้ก็อาจจะเป็นแค่ "จินตนาการฟุ้งๆ เพียวร์ๆ" ของสื่อที่อเมริกาไม่ชอบขี้หน้าก็ได้


 


แต่วันนี้ วินาทีนี้ ช่วยไม่ได้จริงๆ ที่ชมรมคนขี้สงสัยจะพากันตั้งคำถามกับเพนตากอนกันไม่หยุดหย่อน........


 


ข่าวระบุว่า สตีเฟน กรีน (ผู้ต้องหาคนแรก) ถูกปลดออกจากกองทัพตั้งแต่ "กลางเดือนพฤษภาคม" คำถามที่ตามมามีว่า เขาถูกปลดด้วยข้อหาอันคลุมเครือที่ว่า "บกพร่องทางบุคลิกภาพ" จริงหรือ? อเมริการู้เรื่องนี้ตั้งแต่เมื่อไหร่? รู้จากคำสารภาพของทหารบางคนจริงหรือไม่? อาเบียร์ถูกข่มขืนด้วยทหารกี่คนกันแน่? แล้วทำไมทหารพวกนั้นต้องนำศพเธอกลับไปที่ฐานทัพ ไม่ส่งโรงพยาบาลตั้งแต่แรก? ปฏิบัติการครั้งนี้มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงรู้เห็นด้วยหรือไม่? ปฏิบัติการที่อเมริกา (ใส่ชุดดำพรางตัว) ก่ออาชญากรรมแล้วโยนความผิดไปที่ฝ่ายต่อต้านหรือกลุ่มติดอาวุธถือเป็นกรณีปกติ และมี "มากกว่านี้" หรือเปล่า? ฯลฯ


 


ยังไม่มีคำตอบสำหรับคำถามคาใจพวกนี้ แต่สิ่งหนึ่งๆ ที่เรารู้แน่ๆ ก็คือ การข่มขืนผู้หญิงชาวอิรัก...ไม่ได้เพิ่งเริ่มต้นวันนี้ และไม่ได้มีแค่กรณีนี้


 


ข่มขืนผู้หญิงอิรัก? ขอโทษที...ไม่ได้มีแค่มาห์มูดิยา


เพราะความจริงที่ว่า การข่มขืนคือ "ประเด็นต้องห้าม" ในสังคมอิรัก ทำให้อาชญากรรมประภทนี้กลายเป็นเรื่องลึกลับ เหยื่อส่วนใหญ่ไม่กล้าพูดถึง ไม่กล้ารายงานหรือแจ้งความ ด้วยความกลัวต่างๆ กัน


 


"ตราบาป" และการสร้างความเสื่อมเสียให้วงศ์ตระกูล เป็นเรื่องที่ผู้หญิงอิรักต้องคิดหนัก ยิ่งในย่านชนบทที่ผู้คนหัวเก่ามากๆ ด้วยแล้ว ดีไม่ดี ผู้หญิงที่ถูกข่มขืนอาจจะตกเป็นเหยื่อซ้ำสองของ "การฆ่าเพื่อปกป้องเกียรติยศ" (honor killing) ตามมาอีก ซึ่งหมายถึงการถูกสมาชิกในบ้านที่เป็นชายลงมือสังหารเพื่อปกป้องเกียรติยศชื่อเสียงของครอบครัวตามธรรมเนียมเดิม


 


และนี่ไม่ใช่เรื่องล้อเล่น ทั้งรายงานของ องค์การนิรโทษกรรมสากล (AI - Amnesty International) และ ฮิวแมนไรทส์วอทช์ (HWR - Human Rights Watch) ต่างก็เคยให้ข้อมูลและพูดถึงเรื่องการฆ่าประเภทนี้ (honor killing) ไว้ตรงกัน ยิ่งกว่านั้น ในกรณีที่เหยื่ออยากจะแจ้งความเอาเรื่อง ความพร้อมและวิธีการทำงานทั้งในส่วนของเจ้าหน้าที่ตำรวจและโรงพยาบาล ก็ดูจะไม่เอื้อเฟื้อต่อการดำนินคดีอย่างมาก ยังไม่นับบทลงโทษที่ "บ้าๆ บอๆ" อีกต่างหาก (อาทิ ข่มขืนแล้วยอมแต่ง ตำรวจไม่เอาผิด)


 


แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ท่ามกลางปัจจัยที่บั่นทอนการรายงานและการแจ้งความทุกชนิด กรณีทหารอเมริกันข่มขืนผู้หญิงอิรักก็ยังอุตส่าห์หลุดพ้นความมืด "โผล่มาให้เห็นแว้บๆ" จนได้ แม้จะไม่เป็นข่าวใหญ่


 


ภายหลังการยึดครองของอเมริกา ผู้หญิงจำนวนหนึ่งถูกจับไปคุมขัง...อาจเพราะบังเอิญเป็นญาติพี่น้องกับบิ๊กๆ ในพรรคบาธ อาจเพราะถูกสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับฝ่ายต่อต้าน หรืออาจจะด้วยเหตุผลอะไรก็ได้ อเมริกันจะติดป้ายว่าเป็นนักโทษการเมืองหรือไม่ก็ตาม แต่โดยทั่วไป...ผู้ถูกคุมขังทั้งหญิงชายจะถูกกวาดจับไปขังตามอำเภอใจ ไม่มีความคุ้มครองทางกฎหมาย ไม่มีการตั้งข้อหาและปราศจากการขึ้นศาล


 


นึกอยากจับก็จับ นึกอยากปล่อยก็ปล่อย มีไรป่าว?...ประมาณนั้น


 


สำหรับคุกต่างๆ ทั่วประเทศ อเมริกากับรัฐอิรักจะแบ่งกันดูแล ยอดตัวเลขล่าสุดของผู้ถูกคุมขังในส่วนของคุกอเมริการวมชาย-หญิงมีประมาณ 14,000 คน ผู้ถูกคุมขังหญิงอาจจะมีจำนวนไม่มากนัก แต่ที่ผ่านมากว่า 3 ปี ไม่เป็นที่แน่ชัดว่ามีผู้หญิงเคยถูกจับไปคุมขังเท่าไหร่ ถูกปล่อยออกมาเท่าไหร่ และยังอยู่ในนั้นจริงๆ เท่าไหร่


 


ในบรรดาผู้ที่ถูกปล่อยตัวมาแล้ว มีน้อยคนมากๆ ที่จะยินดีพูดคุยให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องการถูกละเมิดทางเพศ โดยเฉพาะเรื่องข่มขืน ในรายงานชิ้นหนึ่งของ AI หลังความพยายามไล่ล่าหาข้อมูลจากอดีตผู้ถูกคุมขังจำนวนหนึ่ง พบว่า ไม่เพียงผู้หญิงเหล่านั้นจะต้องเจอเข้ากับการเฆี่ยนตี ทรมาน ขังเดี่ยว อดีตผู้ถูกคุมขังเหล่านี้ส่วนหนึ่ง ยังต้องเจอเข้ากับการสอบปากคำของกองทัพอเมริกาที่สั่งให้ผู้หญิง "ถอดเสื้อผ้า" และพูดจาจาบจ้วงหยาบคายใส่ต่างๆ นานา ถึงขนาดที่บางคนเล่าว่า "ล่ามอิรักยังต้องหันหน้าหนีด้วยความละอายแทน"


 


ศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแบกแดด ฮูดา เชคเกอร์ (Huda Shaker) เป็นนักวิชาการคนหนึ่งที่ช่วย AI ทำวิจัยเก็บข้อมูลเรื่องนี้เมื่อปี 2004 ยืนยันว่าผู้หญิงที่ถูกคุมขังใน คุกอาบูกราอิบ มีทั้งกรณีข่มขืนจนตั้งท้องเกิดขึ้น และมีทั้งกรณีที่ถูกละเมิดทางเพศอื่นๆ


 


"เพื่อนร่วมงานของฉันคนหนึ่งเคยถูกจับไปขังที่นั่น หลังจากที่ถูกปล่อยตัวออกมา พอฉันถามเธอว่าเกิดอะไรขึ้นที่อาบูกราอิบบ้าง...เธอก็เริ่มร้องไห้ทันที" เธอเล่าว่า ผู้หญิงส่วนใหญ่อายและกลัว...เกินกว่าจะสารภาพเรื่องนี้


 


ก่อนอาบูกราอิบจะเป็นข่าวฉาวปลายเดือนเมษายน 2004 ธันวาคม 2003 นักโทษหญิงที่ถูกปล่อยตัวคนหนึ่ง รู้จักกันว่าชื่อ "นูร์" (Noor) ได้ลักลอบนำ "จดหมายฉบับหนึ่ง" ออกมาด้วย มีใจความชวนช็อคมากมายพอสรุปได้ว่า ผู้คุมชาวอเมริกันได้ข่มขืนผู้หญิงที่ถูกขังอยู่หลายคนในนั้น และผู้หญิงจำนวนหนึ่งกำลังตั้งท้อง ท้ายจดหมายขอร้องให้ฝ่ายต่อต้านบุกเข้ามาโจมตีและระเบิดคุกนี้ เพื่อช่วยให้พวกเธอหลุดพ้นจากเรื่องที่น่าอับอาย


 


ทันทีที่รับรู้เรื่องราวในจดหมาย ตอนแรก ทนายของผู้หญิงที่ถูกคุมขัง ต่างก็ทำใจเชื่อได้ยากไปตามๆ กัน อย่างไรก็ตาม หลังจากทนายความคนหนึ่งที่ชื่อ อามาล คาดัม สวาดี (Amal Kadham Swadi)  ได้ติดตามเรื่องนี้ต่อมาเรื่อยๆ (ก่อนหน้านี้...เธอได้พยายามหาทาง "เข้าถึงข้อมูล" ในคุกอเมริกามาตลอด) สวาดีพบว่า มันไม่ได้เป็นจริงแค่ที่อาบูกราอิบเท่านั้น แต่มัน "กำลังเกิดขึ้นทั่วประเทศอิรัก"


 


หนังสือพิมพ์การ์เดียน ฉบับที่ 20 พฤษภาคม 2004 รายงานเรื่องนี้ไว้แบบเข้มๆ เนื้อๆ น่าสนใจ ดัง 3 ย่อหน้าต่อไปนี้ :


 


พฤศจิกายนปีที่แล้ว สวาดีมีโอกาสไปเยี่ยมผู้ถูกคุมขังหญิงรายหนึ่งที่ ฐานทัพอเมริกา อัล-คาร์ก (al-Kharkh) ซึ่งเคยเป็นพื้นที่ของสถานีตำรวจแห่งหนึ่งในแบกแดดมาก่อน "เธอเป็นผู้หญิงรายเดียวที่ยอมคุยกับเรา เธอร้องไห้ และเล่าว่าเธอถูกข่มขืน" สวาดีเล่าต่อว่า "ทหารอเมริกาหลายคนข่มขืนเธอ เธอพยายามจะต่อสู้ขัดขืน แต่ถูกทำร้ายเข้าที่แขน เธอให้เราดูแผลที่ยังมีรอยเย็บอยู่เลย และบอกเราว่า - - พวกเธอมีลูกและมีสามีกันทั้งนั้น เพื่อเห็นแก่พระเจ้า อย่าเล่าเรื่องนี้ให้ใครฟัง"


 


และที่น่าตกใจก็คือ จากรายงานสืบสวนลับเรื่องคุกอาบูกราอิบของกองทัพอเมริกา นำทีมโดย พลตรี แอนโทนิโอ ทากูบา (Major General Antonio Taguba) ซึ่งเริ่มต้นเงียบๆ มาตั้งแต่ในเดือนมกราคม (เรียกกันสั้นๆ ว่า "รายงานทากูบา") ได้ยืนยันว่าจดหมายที่ผู้หญิงซึ่งรู้กันแค่ว่าชื่อ "นูร์" ลักลอบนำออกมาจากคุกอาบูกราอิบนั้น มีเนื้อหาถูกต้องสอดคล้องกันทุกประการ และถูกต้องในทางเลวร้ายสะเทือนขวัญอีกต่างหาก ตั้งแต่เรื่องอื้อฉาวที่อาบูกราอิบเป็นข่าวมา 3 สัปดาห์ โฟกัสของเรื่องส่วนใหญ่อยู่ที่การละเมิดสิทธิผู้ถูกคุมขังชาย การทำอนาจารและการสร้างความอับอายทางเพศต่อหน้าทหารหญิง แต่ตอนนี้ มีข้อพิสูจน์ที่ไม่สามารถโต้แย้งได้ว่า ผู้ถูกคุมขังหญิงก็ถูกละเมิดสิทธิด้วยเหมือนกัน ท่ามกลางผู้ที่ตกอยู่ภายใต้การคุมตัวของอเมริกาทั้งหมด 40,000 คน หลังจากการยึดครองอิรักปีที่แล้วเป็นต้นมา สัดส่วนเพศหญิงอาจจะเป็นกลุ่มน้อย แต่กลับไม่มีใครบอกได้ว่าจำนวนที่แท้จริงเป็นเท่าไหร่ อย่างไรก็ตาม ในบรรดาหลักฐานรูปภาพ (ดิจิทัล) จำนวน 1,800 รูปที่ยึดได้ ตามรายงานของทากูบา ระบุว่า มีรูปของเจ้าหน้าที่กองทัพอเมริกากำลัง "มีเซ็กส์" กับผู้หญิงอิรัก


 


ทากูบายังได้ค้นพบว่า เจ้าหน้าที่หรือการ์ดที่อาบูกราอิบ ได้ถ่ายวิดีโอและภาพเปลือยของผู้ถูกคุมขังหญิงไว้ด้วย คณะผู้บริหารบุชได้ปฏิเสธที่จะนำภาพผู้หญิงจำนวนหนึ่งที่ถูกปืนจี้บังคับให้เปลือยหน้าอกมาเผยแพร่ต่อสาธารณะ (แม้ว่าเขาจะอนุญาตให้สภาคองเกรสได้ดูก็ตาม) ทั้งนี้ ด้วยข้ออ้างที่ว่าเพื่อป้องกันไม่ให้ทหารอเมริกาถูกโจมตีในอิรัก แต่จริงๆ แล้ว ผู้คนต่างก็สงสัยว่า น่าจะปกป้องอาการขายหน้ายับเยินของตัวเองในบ้านมากกว่า


 


หลังเหตุการณ์อาบูกราอิบ ตลอด 2 ปีมานี้ นักเคลื่อนไหวและกลุ่มองค์กรสิทธิมนุษยชนได้พยายามต่อสู้ทางกฎหมายเพื่อให้เพนตากอนปล่อย "เอกสารที่เหลือ" ออกมาเผยแพร่ทั้งหมด แต่จนถึงปัจจุบัน ก็ยังไม่สำเร็จ เพนตากอนยังคงหน่วงเหนี่ยวดื้อดึง-เก็บเอา "ความชั่วร้ายของอาบูกราอิบ" ไว้เป็นความลับอยู่ส่วนหนึ่ง


 


พฤษภาคม 2004 ระหว่างพานักข่าวชมคุกอาบูกราอิบด้วยความจำเป็น-สถานการณ์พาไป เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกองทัพอเมริกามากกว่าหนึ่งนาย ยอมรับกับนักข่าวว่า มีการข่มขืนผู้ถูกคุมขังหญิงเกิดขึ้นจริง (ในโซน 1 A)


 


นักข่าวถามต่อว่าเรื่องแบบนี้...เกิดขึ้นได้ยังไง? พันเอก เดฟ ควอนท็อก (Colonel Dave Quantock) ซึ่งเพิ่งมารับหน้าที่ดูแลคุกตอนนั้น ตอบแบบไม่มีฟอร์มว่า "ผมก็ไม่รู้ มันเป็นเรื่องของภาวะผู้นำ การจัดการของผู้นำ ซึ่งก็เห็นได้ชัดว่า ที่นี่...มันไม่มี"


 


ญาติของผู้ถูกคุมขังซึ่งมารวมตัวชุมนุมกันภายนอก วันที่นักข่าวไปเยี่ยมดูคุก ต่างก็พูดถึงกรณีการล่วงละเมิดเพศหญิงเป็นเสียงเดียวกัน มีชาวบ้านคนหนึ่งชื่อ ฮามิด อับดุล ฮุสเซน (Hamid Abdul Hussein) อายุ 40 มารอเจอน้องชาย (หรือพี่ชาย) ชื่อจาบาร์ ให้สัมภาษณ์นักข่าวการ์เดียนไว้ตั้งแต่ช่วงเวลานั้นว่า พวกที่ถูกปล่อยตัวกลับบ้านที่เมืองมาห์มูดิยา (คนบ้านเดียวกับน้องอาเบียร์) หลายคนยืนยันว่าผู้หญิงในคุกถูกข่มขืน "เรารู้กันมาหลายเดือนแล้ว" เขาบอกต่อว่า "และเราก็ได้ยินมาว่า...ผู้หญิงบางคนฆ่าตัวตายด้วย"


 


ในอีกด้านหนึ่ง ศาสตราจารย์ฮูดา เชคเกอร์ ก็ให้สัมภาษณ์ถึงชะตากรรมของสาวลึกลับชื่อ "นูร์" ไว้ด้วยว่า


 


"เราเชื่อว่าเธอถูกข่มขืน  และเธอท้องกับการ์ดอเมริกันคนหนึ่ง หลังถูกปล่อยตัวจากอาบูกราอิบ ฉันไปหาเธอที่บ้าน เพื่อนบ้านบอกเราว่าครอบครัวนี้ย้ายไปแล้ว แต่ฉันเชื่อว่าเธอน่าจะถูกฆ่าตาย"


 


(ธันวาคม 2004 มีรายงานถึงจดหมายที่หลุดมาจากอาบูกราอิบอีกหนึ่งฉบับ เป็นฉบับที่ร้อนระอุและเรตติ้งกระฉูดบนเว็บไซต์ เรียกกันว่า "จดหมายจากฟาติมา" ถูกนำมาเผยแพร่โดยสำนักข่าวในเครือข่าย "สามสหายฯ" นั่นเอง - อย่างไรก็ตาม กรณีหลังนี้ ไม่มีหลักฐานและการยืนยันจากแอคทิวิสต์หรือหน่วยงานอิสระใดๆ ที่แสดงว่าเชื่อถือได้ บทความนี้จึงขอข้ามไปไม่พูดถึง)


 


พ้นไปจากกรณีอาบู กราอิบ ในปี 2005 ก็ยังคงมีข่าวเน่าๆ หื่นๆ ของอเมริกาตามมาอีก อาทิ 19 ตุลาคม องค์กรสิทธิมนุษยชนของอิรัก Freedom Voice รายงานว่ามีการข่มขืนผู้หญิงถึงสามคน ในละแวก ซาอัด บิน อาบี วัคคัส (Saad Bin Abi Waqqas) เมืองเทลอาฟาร์


 


หลังกองทัพอเมริกาบุกเข้าไปย่านนั้น ทหารได้จับพวกญาติพี่น้องที่เป็นผู้ชายไป แล้วข่มขืนผู้หญิงในบ้านของพวกเธอเอง แหล่งข่าวในเมืองที่เป็นพวกหมอหรือพยาบาลให้ข้อมูลว่า ผู้หญิงคนหนึ่งเสียชีวิต จากเหตุการณ์นั้น ผู้บังคับบัญชาในกองทัพได้สั่งคุมตัวทหารจำนวนหนึ่ง แต่แล้วก็ไม่มีข่าวความคืบหน้าใดๆ อีก


 


ในอิรัก กองทัพอเมริกามีสิทธิที่จะบุกเข้าไปค้นบ้านและจับกุมใครก็ได้ตลอดเวลาที่ต้องการ โดยไม่มีต้องหมายศาลหรือหมายอะไรทั้งสิ้น นอกจากยกทีมไปในรถหุ้มเกราะ บางทีก็มีเฮลิคอปเตอร์ร่วมด้วย (ขนาดนั้นเลยเชียว) เวลายอดนิยมของกองทัพโหดหื่นพวกนี้ก็คือ "หลังเที่ยงคืน" นักเขียนหญิงชาวอิรัก ไฮฟา ซันกานา (Haifa Zangana) เล่าให้ฟังว่า


 


"ในบางพื้นที่ เดี๋ยวนี้ ผู้หญิงหันมาแต่งตัวเต็มยศเวลานอนกันแล้ว ใส่เผื่อเอาไว้...จะได้ไม่ถูกทหารอเมริกาบุกจับในชุดนอน"


 


แต่เรื่องฉาวๆ แบบนี้ ว่ากันตรงๆ ไม่มีกั๊กแล้วล่ะก้อ...ไม่ได้มีแต่ผู้ร้ายชื่อกองทัพอเมริกาอย่างเดียว ในยุคที่บ้านเมืองเละเทะมาตลอด 3 ปี ในคุกอื่นๆ ที่เจ้าหน้าที่อิรักคุมเอง ทั้งคุกคาซิมิยา บาคูบาห์ และคุกของกระทรวงมหาดไทย ต่างก็มีข่าวคาวการข่มขืนหญิงสาวในคุกไม่น้อยหน้ากัน หรือแม้แต่นอกคุก บนท้องถนน ผู้หญิงอิรักทุกวันนี้ มีสิทธิถูกแก๊งติดอาวุธ (ไม่รู้ใครเป็นใคร) ลักพาตัวไปข่มขืนหรือส่งต่อเพื่อไปขายบริการยังต่างประเทศได้ตลอดเวลา สถานการณ์ที่ว่า...กำลังสาหัสขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในแบกแดด


 


ก่อนหน้านี้ ภายใต้ยุคซัดดัม ฮุสเซน เอ็นจีโอท้องถิ่น  Women's Rights Association ระบุว่า ทั่วประเทศอิรัก มีรายงานการข่มขืนปีละไม่ถึง 5 กรณี แต่เร็วๆ นี้ หลังจาก  WRA ทำการศึกษาเก็บข้อมูล พบว่าตั้งแต่เดือน กพ.-มิย. 4 เดือน มีผู้หญิงเกือบ 60 รายในแบกแดดที่ถูกข่มขืน และอีกราวๆ 80 รายที่ถูกละเมิดทางเพศในรูปแบบอื่นๆ


 


ไม่มีรายละเอียดว่าการเก็บข้อมูลมีวิธีการเจาะลึกอย่างไร มาตรฐานแค่ไหน หรือใครเป็นผู้ร้ายบ้าง แต่ท่ามกลางข้อจำกัดที่กล่าวมาแล้วตั้งแต่แรก ตัวเลขจริงๆ และโศกนาฎกรรมจริงๆ ในสังคมอิรักวันนี้...คงไม่มีใครบอกได้ง่ายๆ


 


ด้วยเหตุนี้ "อิรักภายใต้การยึดครอง" จึงไม่เคยมีน้องอาเบียร์แค่คนเดียว จากแบกแดด ซามารา ถึงเทลอาฟาร์ ทุกหนแห่ง...ล้วนเต็มไปด้วยเสียงกระซิบและเสียงร้องไห้ของ "น้องอาเบียร์อีกมากมาย" นับไม่ถ้วน


 


คำตอบอาจไม่ได้อยู่ที่ "คำสั่งที่ 17"


หลังเรื่องนี้เป็นกระแสร้อนแรงไปแล้ว 5 วัน นายกรัฐมนตรี นูรี อัล-มาลิกี ซึ่งอยู่ที่คูเวตตอนนั้น จึงได้ฤกษ์ปริปากให้สัมภาษณ์นักข่าวเป็นครั้งแรก นอกจากจะบอกกับประชาชนว่า...รัฐบาลจะเรียกร้องต่ออเมริกาให้มีคณะสืบสวนอิสระของอิรักแล้ว นายกฯ ยังกล่าว (เพื่อลดกระแส) ด้วยว่า


 


"เราไม่ยอมรับการละเมิดเกียรติชาวอิรักอย่างที่ปรากฎในกรณีนี้ เราเชื่อว่า...ความคุ้มกันจากอำนาจศาล...ที่กองกำลังนานาชาติได้รับ เป็นสิ่งที่นำไปสู่การก่ออาชญากรรม เราจะมีการพิจารณาเรื่องนี้ใหม่"


 


ย้อนหลังไปในยุคแรกที่อเมริกายึดครองอิรัก ผู้บริหารของอเมริกาได้ออกกฎหมายฉบับหนึ่งขึ้นมา และยังคงอยู่ยงคงกระพัน-ได้รับการต่ออายุมาจนถึงทุกวันนี้ กฎหมายดังกล่าวชื่อ  "คำสั่งที่ 17"  (Coalition Provisional Authority - Order 17) และกฎหมายนี้เองที่นำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างมโหฬารและต่อเนื่องกว่า 3 ปีในอิรัก เพราะมันให้ความคุ้มกันหรือสิทธิคุ้มกัน (Immunity) แก่ทหาร ทหารรับจ้าง ผู้รับเหมาเอกชน ที่ปรึกษา และเจ้าหน้าที่พลเรือนทั้งหมดของอเมริกาและฝ่ายพันธมิตร ให้ปลอดพ้นจากอำนาจตุลาการในอิรัก และนั่นหมายถึง คนในหลักแสนพวกนี้สามารถทำความผิดอะไรก็ได้ ละเมิดสิทธิคนอิรักยังไงก็ได้ โดยที่กระบวนการยุติธรรมของคนอิรักไม่สามารถแตะต้องได้


 


พ้นไปจากความคุ้มกันจากอำนาจศาล กฎหมายนี้ยังเลยเถิดไปถึงความคุ้มกันอื่นๆ อาทิ คนของอเมริกา ตลอดจนพันธมิตรอเมริกาทั้งหมด ไม่ต้องเสียภาษีให้กับรัฐบาลอิรัก หรือการยึดอาคารสถานที่และที่ดินในอิรักไปใช้เป็นฐานทัพ ก็สามารถทำได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าเช่าอะไรทั้งสิ้น


 


ตามปกติ การเข้าไปตั้งฐานทัพของอเมริกาในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก จะมีการเจรจาต่อรองระหว่างอเมริกากับเจ้าบ้าน ว่าด้วยเรื่องสถานะของกำลังพลและทรัพย์สินของอเมริกาในประเทศนั้น ข้อตกลงนี้คือ "ข้อตกลงว่าด้วยสถานะของกองกำลัง" (SOFA - Status of Forces Agreement) แต่คำสั่งที่ 17 นี้แตกต่างจาก SOFA และไม่ใช่เรื่องของการต่อรอง เป็นสิ่งที่ "อเมริกาเขียนขึ้นมาเองข้างเดียว" เพราะฉะนั้น อะไรที่สามารถ "ลดแลกแจกแถมและคุ้มกันได้" อเมริกาจึงยัดใส่เข้าไปทั้งหมด


 


อย่างไรก็ตาม คำสั่งที่ 17 ไม่ใช่ประกาศิตจากสวรรค์อันไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ เพียงแต่การมีอยู่ของมันดันไปยึดโยงกับมติยูเอ็นฉบับที่ให้สิทธิอำนาจแก่อเมริกาและกองกำลังต่างชาติในอิรัก โดยมตินี้จะมีการต่ออายุเป็นระยะ รัฐธรรมนูญของอิรักระบุว่า คำสั่งที่ 17 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีอยู่เดิมจะคงอยู่เพื่อบังคับใช้ต่อไป ตราบเท่าที่มติยูเอ็นที่ให้อำนาจแก่อเมริกาได้รับการต่ออายุ


 


มติยูเอ็นล่าสุดที่รับรองสิทธิอำนาจอเมริกาก็คือ มติคณะมนตรีความมั่นคง 1637 (ปี 2005) ซึ่งจะหมดอายุปลายปีคือ 31 ธันวาคม 2006 นี้ แต่ด้วยกระแสเรียกร้องให้ยกเลิก "ความคุ้มกัน" ของทหารต่างชาติที่ดังขึ้นเรื่อยๆ จากหลายฝ่ายพร้อมกัน ล่าสุด 10 กรกฎาคม รัฐมนตรีกระทรวงสิทธิมนุษยชนของอิรัก วิกดาน ไมเคิล (Wigdan Michael) จึงได้ออกมาแจ้งความคืบหน้าว่า ขณะนี้รัฐบาลกำลังจัดเตรียมคำร้องเพื่อยื่นต่อคณะมนตรีความมั่นคงของยูเอ็นในเดือนหน้า โดยอิรักจะขอยกเลิกความคุ้มกันดังกล่าว


 


ก็แล้วถ้าถูกปฏิเสธ?


 


"ถ้าไม่สำเร็จ เราก็จะขอมีส่วนร่วมในการสืบสวนคดีนี้ต่อไป" รัฐมนตรีชี้แจงปิดท้าย


 


แต่บางที "คำตอบของคณะมนตรียูเอ็น"...อาจจะไม่ต้องรอถึงเดือนหน้าก็ได้ เพราะนักวิเคราะห์หลายรายต่างก็ฟันธงไปแล้ว เหมือนๆ กัน ทำนองว่า "ฝันไปเถอะ"


อเมริกาไม่มีวันปล่อยให้ทหารตัวเองขึ้นศาลอิรักเด็ดขาด และอเมริกันไม่เคยปล่อยให้ทหารตัวเองขึ้นศาลต่างชาติง่ายๆ


 


ในที่สุด การตั้งคำถามเรื่อง "คำสั่งที่ 17" จึงอาจจะกลายเป็นเรื่องสูญเปล่า ไร้ความหมาย หรืออาจจะไม่นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงที่มีสาระอะไรเลยก็ได้ เพราะคำถามที่แท้จริงมีอยู่ว่า


 


"เมื่อไหร่พวก mung ทหารอเมริกัน จะกลับบ้านไปซะ?"


 


ก็แค่ไสหัวกลับบ้าน เลิกข่มขืนอิรักทั้งประเทศ ไปให้พ้นจากที่นี่ และไปให้เร็วที่สุด...ก็เท่านั้น o


 


           


 






 


เมื่อ "น้องคุ้งน้ำ" ขอด่า "เมกา" ด้วยคน (ไม่เจ๋ง ไม่โพสต์)


 


"น้องคุ้งน้ำ" หรือ ริเวอร์เบนด์ (Riverbend) ผู้ลึกลับ จัดเป็น "บล็อกเกอร์สาวในอิรักที่โด่งดังที่สุดในโลกตะวันตก" ก่อนหน้านี้ เธอเคยมีท่าทีที่ "อ่อนโยนกว่านี้" (สาบานได้) เพียงแต่ว่าวันนี้ เธอกำลังโกรธมั่กๆ โกรธกว่าทุกครั้ง และบันทึกของเธอชิ้นนี้ " Atrocities..."  (11 กรกฎาคม) ก็ได้ถูกนำไปโพสต์ต่อๆ กันประมาณว่าสิบเว็บขึ้นไป


 


และนี่คือชิ้นส่วนที่หั่นมาสั้นๆ ลองมาดูกันซิว่า ผู้หญิงที่มีชีวิตเสี่ยงตายและ "สูดหายใจเอาอิรักเข้าไปในปอดจริงๆ" เขารู้สึกกับเรื่องนี้ยังไงบ้าง.......


 


-------------------------------------------- 


 


ข่มขืน วีรกรรมต่ำทรามของอเมริกาเที่ยวล่าสุด อันที่จริงแล้วมันก็ไม่ได้ล่าสุดเท่าไหร่หรอก...เพียงแต่มันเพิ่งจะเป็นที่รับรู้มากที่สุดก็เท่านั้นแหละ 


 


อาเบียร์ เด็กผู้หญิงที่น่าสงสาร เธอไม่ใช่เหยื่อรายแรกและรายสุดท้ายที่ถูกข่มขืนด้วยทหารอเมริกา เหตุผลเดียวที่เหตุการณ์ข่มขืนครั้งนี้มีโอกาสเป็นข่าวในวงกว้าง ก็เพราะมันเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการฆ่าคนหนึ่งครอบครัวไปด้วย การข่มขืนเป็นหัวข้อต้องห้ามในอิรัก ที่นี่ ครอบครัวไหนที่เจอเข้ากับเรื่องนี้...เขาจะไม่รายงานให้มันเป็นข่าวขึ้นมาหรอก แต่จะใช้การแก้แค้นหรือโต้ตอบมากกว่า ตลอดสามปีที่ผ่านมา เราต่างก็ได้ยินเสียงกระซิบต่อๆ กันในเรื่องนี้มาตลอด ไม่ว่าจะเป็นจากคุกที่อเมริกาคุมอยู่ จากการปิดล้อมเมืองฮาดิธาและซามารา ความไร้เดียงสาของคนอเมริกันที่คิดว่า "ฮีโร่" ของพวกเขาไม่มีวันทำเรื่องชั่วช้าแบบนี้ได้...ช่างเป็นเรื่องน่าหัวเราะ  มีใครที่ไหนเคยได้ยินเรื่องทหารอเมริกันข่มขืนมาก่อนน่ะเหรอ????? ก็คุณข่มขืนประเทศนี้ไปแล้วนี่ จะปล่อยประชาชนทิ้งไว้ทำไมล่ะ?


 


ในข่าว พวกเขาบอกว่าเธออายุ 24 แต่คนอิรักในพื้นที่บอกว่าเธออายุแค่ 14 - - สิบสี่ - - ลองคิดดูว่าน้องสาวของคุณหรือลูกสาวของคุณอายุ 14 ลองคิดดูว่าเธอถูกรุมโทรมด้วยไอ้พวกโรคจิตกลุ่มหนึ่ง แล้วเธอก็ถูกฆ่า แล้วเธอก็ถูกเผาเพื่ออำพรางการข่มขืน สุดท้าย พ่อแม่และน้องสาว 5 ขวบก็ต้องถูกฆ่าตายพร้อมกันไปด้วย ก็ขอให้สรรเสริญอเมริกันฮีโร่กันต่อไป ก็ขอให้เชิดหน้ากันให้สูงๆ เข้าไว้...นักสนับสนุน "เสรีภาพ" และ "การปลดแอกอิรัก" ทั้งหลาย ทหารของคุณทำให้พวกคุณภาคภูมิใจมากเลยนะเนี่ย...วันเนี้ย แต่ขอโทษ ฉันไม่คิดว่าทหารพวกนั้นควรจะขึ้นศาลอเมริกาสักนิด เมื่อไหร่ก็ตามที่ทหารพวกนั้นถูกส่งตัวไปให้คนในท้องถิ่นพิพากษา นั่นแหละ...ความยุติธรรมถึงจะเกิดขึ้น สำหรับนายกฯ ตัวดี นูรี อัล-มาลิกี ผู้ที่พยายามจะถามหา "การสืบสวนอิสระ" เขาก็ได้แต่หมกตัวอย่างปลอดภัยอยู่ในทำเนียบที่มีแต่การ์ดอเมริกันห้อมล้อมไว้ ก็เพราะมันไม่ใช่ลูกสาวหรือน้องสาวของเขานี่ ก็เพราะครอบครัวของเขาอยู่ต่างประเทศ...ที่สุดแสนจะปลอดภัยไงล่ะ ห่างไกลจากเงื้อมมือของชาวอิรักผู้กำลังคลุ้มคลั่ง และกองทัพอเมริกันที่เป็นโรคจิตวิปริต


 


ทุกครั้งที่ได้ยินหรือได้อ่านเรื่องนี้...มันทำให้ฉันโกรธ ความสงสารที่ครั้งหนึ่งฉันเคยมีให้ทหารต่างชาติหายไปหมดเกลี้ยง มันถูกถอนรากถอนโคนทิ้งไปหมดก็ด้วยพฤติกรรมต่ำช้าที่อาบู กราอิบ การสังหารหมู่ที่ฮาดิธา และการข่มขืน-ฆ่ากรณีล่าสุด เดี๋ยวนี้ เวลาฉันมองทหารในรถหุ้มเกราะพวกนั้น พูดตรงๆ ว่า - ฉันไม่สามารถทำใจให้แคร์พวกเขาได้อีกต่อไปแล้ว...ว่าพวกเขาจะอายุ 19 หรือ 39 ว่าพวกเขาจะมีชีวิตรอดกลับบ้านไปมั้ย ว่าลูกเมียที่กำลังรอพวกเขาอยู่ที่บ้านจะเป็นยังไง ฉันไม่สามารถทำใจให้แคร์พวกเขาได้อีกต่อไป เพราะมันยากที่เราจะมองเห็นสิ่งอื่นที่พ้นไปจากเรื่องราวน่าเกลียดน่ากลัวเหล่านี้ เวลาที่ฉันมองทหารอเมริกา ฉันก็แค่สงสัยในใจว่า วันนี้...พวกเขาฆ่าคนบริสุทธิ์ไปแล้วกี่คน? และกว่าจะถึงวันกลับบ้าน...พวกเขาจะฆ่าไปอีกเท่าไหร่? และกว่าจะถึงวันนั้น...พวกเขาจะข่มขืนเด็กผู้หญิงเพิ่มขึ้นอีกกี่ราย?


 


ทำไมคนอเมริกันไม่รู้จักกลับบ้านไปซะ? พวกเขาสร้างความยับเยินให้เราพอแล้ว เรามักจะได้ยินว่า ถ้าพวกเขา "เลิกต่อสู้และวิ่งหนีไป" สิ่งต่างๆ ในอิรักจะถึงกาลล่มสลาย แต่ความจริงมีอยู่ว่า แม้กระทั่งขณะนี้ วินาทีนี้...พวกเขาก็ไม่ได้ทำอะไรให้เราแม้แต่นิดเดียว แล้วสิ่งต่างๆ มันจะเลวร้ายไปกว่าเดิมได้ยังไง? ประชาชนถูกฆ่าทั้งที่บนถนนและในบ้านตัวเอง มีใครทำอะไรให้เราบ้าง? ไม่มี - มันก็ง่ายดีสำหรับพวกเขาอยู่แล้ว ขณะที่คนอิรักแต่ละฝ่ายกำลังฆ่ากันตาย อเมริกาก็นั่งดูการนองเลือดของพวกเราอย่างสบายใจ ยกเว้นบางเวลาเท่านั้น...ที่อเมริกานึกสนุกขึ้นมา พวกเขาก็อาจจะมาขอร่วมวงบ้าง ด้วยการข่มขืน-ฆ่าคนอิรักเป็นครั้งคราว o


 


 


 


 


อธิบายท้าย


(1) Mujahedeen Shura Council ไม่ใช่กลุ่มติดอาวุธหน้าใหม่ที่ไหน แต่มาจากการรวมตัวของเหล่าซาลาฟีจิฮัดดิสต์หรือนักรบซุนนีกลุ่มย่อยๆ อย่างน้อย 5 กลุ่ม มีทั้งชาวอิรักเองและชาวต่างชาติ หนึ่งในนั้นคือกลุ่ม Al-Qaeda in Iraq โดยการเคลื่อนไหวรวมตัวกันนี้เพิ่งจะมีขึ้นเมื่อต้นปี มกราคม 2006 ตอนที่ซาร์คาวียังมีชีวิตอยู่


 


สำหรับเหตุผลเบื้องหลัง นักวิเคราะห์บางรายให้คำอธิบายว่า สืบเนื่องมาจากบทบาทที่ผ่านมาของซาร์คาวีที่มุ่งทำลายล้างสังหารพลเรือนเป็นหลัก ส่งผลให้ฝ่ายต่อต้านชาวอิรักและนายทุนอาหรับบางส่วนไม่พอใจ-รับไม่ได้ไปตามๆ กัน Mujahedeen Shura Council  จึงต้องเกิดขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อ "ลดบทบาทาร์คาวี"  และ "ทำอัล-ไคดาให้มีหน้าตาเป็นอิรัก" มากขึ้น  -  แต่เรื่องจริง/การมีอยู่จริง/เป้าหมายจริงขององค์กรพวกนี้ ยังเป็นสิ่งที่อยู่ในความคลุมเครือมืดมนอีกมาก ปัญญาชนที่ดีควรเก็บข้อมูลไปเรื่อยๆ ไม่ต้องรีบเชื่อก็ได้ (เดี๋ยวจะหน้าแหกภายหลัง)


 


ท่ามกลางฝ่ายต่อต้านหลากหลายสายพันธุ์และอุดมการณ์ในอิรัก (ประกอบด้วยกลุ่มใหญ่ๆ จำนวนเป็นโหล หรือ 2 โหล ยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัด) Mujahedeen Shura Council จึงเป็นแค่เสี้ยวเดียวเท่านั้นของฝ่ายต่อต้านทั้งหมด แต่เนื่องมาจากป้ายยี่ห้อที่โยงใยกับอัล-ไคดา กลยุทธฆ่าตัดคอ และลักษณะเฉพาะตัวในการสร้างความฮือฮาหรือพีอาร์ตัวเอง จิฮัดดิสต์ high profile กลุ่มนี้ก็คงจะขึ้นแท่น "โลโก้ผู้ก่อการร้ายในอิรัก" รายต่อไป เพนตากอนก็จะยังประสบความสำเร็จในการของบประมาณก้อนใหญ่ และท่านประธานาธิบดีบุช...ก็ไม่จำเป็นต้องคิดถึงซาร์คาวีอีกต่อไปแล้ว


 


 


ข้อมูลประกอบ


Focus shifts to jail abuse of women, Luke Harding, Guardian, May 12, 2004


The other prisoners, Luke Harding, Guardian, May 20, 2004


A Trio of Disinformers: Islam Memo, Muhammad Abu Nasr, and Jihad Unspun, US State Department, Apr 8, 2005


US Steps up its War on Terror Online, Mohammed Al-Shafey, Asharq Al-Awsat, June 19, 2005


IRAQ: Local NGO warns of rising cases of sexual abuse, IRIN, June 14, 2006


Two US Soldiers Found Tortured to Death in Iraq, AFP, June 20,2006


The Rule of Order 17, Christopher Dickey, Newsweek, June 29, 2006


U.S. troops accused of killing Iraq family, Ryan Lenz, AP, June 30 2006


GIs May Have Planned Iraq Rape, Slayings, Ryan Lenz, AP, July 1 2006


U.S. Examines Troops' Role in 4 Iraqi Deaths, Edward Wong, New York Times, June 30 2006


Details Emerge in Alleged Army Rape, Killings, Ellen Knickmeyer, Washington Post, July 3, 2006


Ex-G.I. Accused of Murders and Rape in Iraq, David Stout and Kirk Semple, New York Times, July 3, 2006


Ex-Soldier Charged in Killing of Iraqi Family, Josh White, Washington Post, July 4, 2006


Iraqi minister calls for UN role in rape-murder probe, Daily Star (Lebanon), July 5, 2006


RAPED: Shocking Eyewitness Testimony Of US Rape, Murder In Iraq, Muhammad Abu Nasr, Free Arab Voice, July 5, 2006


All Iraq is Abu Ghraib, Haifa Zangana, Uruknet, July 5, 2006


Iraqi PM demands rape probe, slams US immunity, Ibon Villelabeitia, Reuters Jul 5, 2006


Iraqi Leaders Question U.S. Troops' Immunity, Jonathan Finer and Joshua Partlow, Washington Post, July 6, 2006


In Cold Blood: Iraqi Tells of Massacre at Farmhouse, Raheem Salman and J. Michael Kennedy, Los Angeles Times, July 6, 2006


Two dead soldiers, eight more to go, vow avengers of Iraqi girl's rape, Akeel Hussein and Colin Freeman, Sunday telegraph, July 9 2006


Soldiers charged in Iraq rape-murder case, Alastair Macdonald, Reuters, July 9 2006


US military identifies soldiers charged in Mahmudiya case, Joe Shaulis, Jurist, July 10, 2006


5 GIs Tied to Iraq Rape-Slaying Identified, Qassim Abdul-Zahra, AP, July 10, 2006


Iraq to ask UN to end U.S. immunity after rape case, Mariam Karouny, Reuters July 10, 2006


Atrocities..., Riverbend, Baghdad Burning, July 11, 2006


Iraqi Journalist Details Family Accounts of Iraq Rape, Killings, DemocracyNow, July 11th, 2006


The Hidden War on Women in Iraq, Ruth Rosen, TomDispatch, July 13, 2006

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net