Skip to main content
sharethis




ภายหลังคำประกาศของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แสดงจุดยืนชัดแจ้งแล้วว่าต้องการนายกพระราชทานโดยอ้างมาตรา 7 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร รายการถึงลูกถึงคนได้เชิญนักวิชาการชั้นกะทิมาถกกันทันที ว่า มาตรา 7 ที่ถูกหยิบยกอยู่ขณะนี้ สามารถใช้ได้ในสถานการณ์นี้หรือไม่ และจะตีความให้ไปถึงการขอนายกพระราชทานได้หรือไม่ ประชาไทขอนำกลับมา "รีรัน" เป็นตัวหนังสืออีกครั้ง เพื่อช่วยแก่การติดตามของผู้อ่านทุกท่าน 


ธีรภัทร เสรีรังสรรค์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราช


ต้องเข้าใจปรัชญาของมาตรา 7ก่อนว่าปกติกฎหมายลายลักษณ์อักษรจะเขียนอย่างไรก็ตามแต่ แต่ไม่สามารถจะอุดช่องโหว่หรือช่องว่างของทุกอย่างได้ ไม่มีใครคาดคิดได้ว่าสังคมจะเปลี่ยนไปอย่างไร รัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษรก่อนไม่สามารถจะรองรับได้เสมอไป เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นต้องมีมาตรานี้ไว้ และเมื่อเราพิจารณาแล้วจะเห็นว่ามาตรา 7 จะใช้ได้ ใน 4 กรณีด้วยกันคือ กรณีแรก ไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญเขียนไว้เลย ก็ไปดูว่าจารีตประเพณีปฏิบัติกันอย่างไร หรือแม้แต่ไม่มีจารีตประเพณีเลย การปฏิบัติครั้งแรกก็อาจจะปฏิบัติได้ เพราะทุกอย่างต้องมีครั้งแรกเสมอ กรณีที่ 2 คือกรณีที่มีการเขียนไว้ในรัฐรรมนูญ แต่ว่าปฏิบัติไม่ได้ เนื่องจากเงื่อนเวลาปฏิบัติไม่ได้ ก็ต้องยืดหยุนไป กรณีที่ 3 กรณีที่มีบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อปฏิบัติแล้วจะก่อให้เกิดผลเสียหายตามมา ยกตัวอย่างง่าย ๆ ก็คือกรณีการเลือกตั้งในวันที่ 2 เม.ย. เราคาดการณ์ได้ว่าเมื่อเลือกตั้งไปแล้วจะก่อให้เกิดความเสียหายและปัญฯหาตามมา และกรณีสุดท้ายคือกรณีที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย


 


การใช้มาตรา 7 ไม่ใช่ใช้โดยองค์กรใดองค์กรหนึ่ง แต่ว่าหลายองค์กรสามารถใช้ได้


 


เราต้องพิจารณามาตรา 7 ต้องพิจารณาอย่างกว้างจะพิจารณาแคบไม่ได้ ถ้าเราตีความแบบนักกฎหมายที่เคร่งครัดก็จะตีความว่าถ้าไม่มีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญใช้บังคับ แต่ความเป็นจริงเราต้องดูที่มาของการบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 7 เราต้องดูความเป็นจริงว่ารัฐเกิดขึ้นจากการที่ประชาชนมารวมตัวกัน รัฐธรรมนูญมาทีหลัง กติกามาทีหลัง และเมื่อกติกามีช่องโหว่ช่องว่าง และถ้าจะให้ดีเราต้องศึกษาประชาธิปไตยในอังกฤษด้วยเพราะว่าเราไปลอกแบบเขามา แต่ขณะเดียวกันประชาธิปไตยในอังกฤษเป็นแบบประเพณี ไม่ได้เป็นรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร เราจะเห็นตัวอย่างของรัฐธรรมนูญที่เป็นแนวปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้อำนาจของพระมหากษัตริย์ ซึ่งคือพระราชอำนาจดั้งเดิมเกี่ยวพันกันมา ประเทศไทยมีประวัติศาสตร์การเมืองคล้าย ๆ ของอังกฤษคือสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มีอำนาจดั้งเดิมของพระมหากษัตริย์อยู่ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ตรงนี้เป็นรอยเชื่อมต่อที่จะต้องสมานกันและสามารถที่จะให้สถาบันสามารถแก้ไขปัญหาของประเทศได้ ในยามที่เกิดวิกฤติการณ์


 


การตีความรัฐธรรมนูญตามถ้อยคำไม่ได้แก้ปัญหา เราต้องดูว่าปัญหาเป็นอย่างไรเพื่อแก้ไขปัญหาได้



 


วรเจตน์ ภาคีรัตน์ คณะนิติศาสตร์ มหวิทยาลัยธรรมศาสตร์


หากเราจะพูดะเรื่องมาตรา 7 เราคงต้องไปดูรัฐธรรมนูญฉบับเดิม ๆของเราเสียก่อน ความจริงแล้วบทบัญญัติทำนองเดียวกับมาตรา 7 ปรากฏขึ้นครั้งแรกในธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรปี 2502 หลังจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจ เขียนไว้ในมาตรา 20 ซึ่งเป็นมาตราสุดท้ายในธรรมนูญฉบับนี้ ขออ่านเร็วๆ ให้ฟัง


 


"ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตย"


 


"วรรคสอง กรณีมีปัญหาการวินิจฉัยกรณีใดตามความในวรรคก่อนเกิดขึ้นในสภา หรือเกิดขึ้นโดยคณะรัฐมนตรีขอให้สภาวินิจฉัย ให้สภาวินิจฉัยชี้ขาด"


 


อันนี้เป็นครั้งแรกที่มาตรานี้เกิดขึ้น และปรากฏสืบเนื่องมาในธรรมนูญอีกหลายฉบับ ซึ่งล้วนแต่เป็นธรรมนูญฉบับชั่วคราว ซึ่งมี 20-30 มาตรา ที่สำคัญคือ จะมีอีกวรรคหนึ่งบอกด้วยว่าใครใช้ นั่นคือ บอกว่าสภาเป็นคนใช้


 


รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นครั้งแรกที่บัญญัติบทบัญญัติมาตรา 7 ในลักษณะเช่นนี้ ซึ่งมีข้อสังเกต 2 ประการ ประการแรก มีแค่วรรคเดียว ขาดความในวรรคสอง ซึ่งบอกว่าใครเป็นคนวินิจฉัย ประการที่สอง ถ้อยคำเปลี่ยนไปเป็น ให้วินิจฉัยไปตามระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข อาจจะนับว่าเป็นครั้งแรกที่มีการบัญญัติมาตรานี้ไว้ในรัฐธรรมนูญถาวรที่ยาวถึง 336 มาตรา ถ้าไม่นับรัฐธรรมนูญปี 2519 ซึ่งสั้นมากมีเพียง 29 มาตรา


 


ผู้ร่างรัฐธรรมนูญมุ่งหมายอะไร เข้าใจในเบื้องต้นว่า มีไว้เพื่ออุดช่องว่างในกรณีที่ไม่มีรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร องค์กรที่จะใช้มาตรา 7 ในเบื้องแรกผมคิดว่าน่าจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญ เพราะศาลนี้วินิจฉัยกรณีเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ แต่บทบัญญัตินี้ก็ไม่ได้ระบุว่าต้องเป็นศาลเท่านั้น องค์กรอื่นก็ใช้ได้ถ้ามีปัญหาเกิดขึ้น


 


แต่บทบัญญัติมาตรา 7 นั้น อยู่ในฐานะบทสำรอง หมายความว่าก่อนที่จะมาถึงมาตรา 7 ต้องมีการใช้รัฐธรรมนูญมาตราอื่นๆ ก่อน เมื่อใช้ไม่ได้ หรือไม่มีบทบัญญัติไหนแก้ปัญหาได้แล้วจึงใช้มาตรา 7


 


การมองมาตรา 7 ถ้ามองกว้างมากจะเกิดความแน่นอนในตัวกฎหมาย โดยกฎหมายนั้นมีคุณค่าอย่างหนึ่งก็คือ ความชัดเจนแน่นอน ถ้าอ้างมาตรา 7 ได้ในหลายกรณีมันจะกลับไปทำลายรากฐานความมั่นคงของตัวรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติบางบทบัญญัติก็มีปัญหา แต่มันจะไม่ไปถึงมาตรา 7


 


ผมจำได้ว่าเคยมารายการคุณสรยุทธ กรณีป.ป.ช.มีปัญหาสรรหาไม่ได้เพราะพรรคการเมืองมีไม่ครบ 5 พรรค มีแค่ 4 พรรค ผมเป็นคนบอกว่า 4 พรรคก็พอ ทั้งที่ตัวรัฐธรรมนูญเขียนไว้ 5 พรรค ในตอนนั้นผมก็ไม่ได้อ้างมาตรา 7 มันเป็นเรื่องของการตีความรัฐธรรมนูญให้ใช้บังคับกันได้


 


กระนั้น ถ้าใครจะอ้างมาตรา 7 ผมก็ไม่ได้ขัดขวางอะไร ถ้าอ้างแล้วมันทำให้กลไกในรัฐธรรมนูญเดินไปได้ แต่ถ้าอ้างแล้วทำให้กลไกติดขัด หรือส่งผลให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ใช้ไม่ได้ ก็จะเป็นปัญหาว่าใช่เรื่องมาตรา 7 หรือไม่ ซึ่งเดี๋ยวคงพูดกันเรื่องนายกฯ พระราชทานว่า จริงๆ แล้วเป็นเรื่องของมาตรา7 หรือเปล่า


 



ธีรภัทร


ผมย้ำนิดหนึ่งว่า คงจะไปตีความรัฐธรรมนูญตามเจตนาของผู้ร่างไม่ได้ นักกฎหมายบางท่านร่างของตัวเองมาว่าคิดแบบนี้ และคิดว่าคนอื่นต้องเข้าใจแบบนี้ ผมเพียงแต่พูดถึงแนวคิดปรัชญาของการร่างมาตรา 7 มันมีที่มาที่ไป บางครั้งการแก้ไขปัญหาตามรัฐธรรมนูญลากลักษณ์อักษรนั้นแก้ไม่ได้ มันจะนำไปสู่ความวุ่นวาย


 


สรยุทธ สุทัศนะจินดา


อาจารย์วรเจตน์กำลังจะบอกว่า ข้อใหญ่ของรัฐธรรมนูญคือความแน่นอนชัดเจน อะไรก็แล้วแต่ถ้ายังเดินไปตามบทบัญญัติที่มีได้ ก็เดินไป แต่ถ้ายังไม่ถึงขั้นที่ต้องใช้มาตรา7 จะทำให้รัฐธรรมนูญไม่มีความหมาย


 



วรเจตน์


มันจะส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอน เพราะแต่ละคนก็จะอ้างมาตรา 7 ขึ้นมาได้เพื่อสนับสนุนความเห็นของตัวในการตีความรัฐธรรมนูญ


 



ธีรภัทร


ประเด็นที่อาจารย์วรเจตน์พูด ผมเห็นด้วย จึงต้องดูเป็นกรณีไปว่าใช้เมื่อใดและอย่างไร ไม่ใช่นึกจะใช้ก็ใช้


 



สรยุทธ


ผมลองถามอาจารย์สุธาชัย เห็นยังไงกับมาตรา 7


 



สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


ผมคิดว่าจริงมาตรา 7 เป็นผล คณะผู้เสนอแท้จริงแล้วต้องการนายกฯ พระราชทาน แต่จะหาเหตุผลอย่างไร หรือหากฎหมายข้อใดที่จะทำให้ตัวเองชอบธรรมในการนำเสนอ


 


ผมอ่านกฎหมายแบบประชาชนทั่วไป คิดว่าความตามมาตรา7 เป็นความที่กำกวม ซึ่งไม่สามารถตีความที่จะให้พระมหากษัตริย์ลงมาพระราชทานนายกฯ พระราชทานตามมาตรานี้ได้เลย การขอนายกฯ พระราชทานจึงเป็นการกระทำที่เลิกรัฐธรรมนูญ หรืออยู่นอกรัฐธรรมนูญ


 


ขออธิบายเพิ่มอีก 2 ประการ คือ การที่บอว่าให้วินิจฉัยไปตามประเพณีของระบอบประชาธิปไตย ตรงนี้ก็มีความสำคัญ เพราะตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 คณะราษฎรได้ทูลขอรัฐธรรมนูญ ซึ่งหลักใหญ่ใจความก็คือ พระมหากษัตริย์ได้มอบอำนาจอธิปไตยให้แก่ปวงชนชาวไทย และพระมหากษัตริย์ไม่มีบทบาททางการเมืองโดยตรง ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พระมหากษัตริย์จะดำเนินการหรือมีพระราชวินิจฉัยใดๆ จะต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ


 


อีกประการหนึ่ง ประเทศไทยมีการพัฒนาทางการเมืองตั้งแต่ 2475 ก็กว่า 70 ปีแล้ว แต่แล้วเมื่อเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองครั้งใด ก็มักจะหันไปขอพึ่งพระราชอำนาจ เอาภาระไปรบกวนเบื้องพระยุคลบาท สะท้อนว่าระบบการเมืองของเราไม่โต เป็นประชาธิปไตยที่เลี้ยงไม่โตซักที ทางออกที่ดีที่สุดคือ เราต้องพยายามแก้ไขปัญหาเอง ซึ่งไม่ใช่ว่าผมสนับสนุนนายกฯ พ.ต.ท.ทักษิณหมดความชอบธรรมไปนานแล้ว และต้องลาออก แต่เราก็ต้องพยายามแก้ปัญหากันในระบอบประชาธิปไตย


 


ขออนุญาตพูดถึงคุณฉลาด วรฉัตร เขาถูกในแง่หนึ่งที่พยายามรักษาประชาธิปไตย รักษารัฐธรรมนูญ แต่คุณฉลาดผิดตรงที่ว่า การรักษารัฐธรรมนูญคือการรักษาระบอบทักษิณ ซึ่งไม่ใช่ สิ่งที่เราต้องทำก็คือ ต้องรักษาระบอบประชาธิปไตย โดยที่ไม่รักษาระบอบทักษิณ


 



เสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร


จริงๆ แล้วรัฐธรรมนูญมาตรา 7 นี้ผมก็เป็นผู้ร่วมร่างคนหนึ่ง เห็นด้วยกับที่อาจารยวรเจตน์พูดว่า มาตรานี้เป็นการอุดช่องว่าง เพราะในขณะนั้นมีการร่างโครงสร้างใหม่ๆ ขึ้นมาก มีงค์กรอิสระหลายองค์กร แต่ด้วยความที่ไม่มั่นใจว่าองค์กรในการปฏิรูปการเมืองต่างๆ จะสมบูรณ์หรือไม่ เห็นชัดเจนจากมาตรา 336 ที่บัญญัติไว้ชัดเจนในเรื่ององค์ปฏิรูปการเมืองสำคัญ 3 องค์กร คือ ศาลรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช. ก.ก.ต. หากทำหน้าที่ไป 5 ปีแล้ว มีสิทธิเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญได้


 


ส่วนมาตรา 7 ในขณะนั้นก็มีการพูดกันอยู่บ้างว่า บัญญัติไปทำไม นักวิชาการใน สสร. บอกว่ารัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ก็บัญญัติเช่นนี้เหมือนกัน แต่ก็มีการเปลี่ยนถ้อยคำไป กล่าวได้ว่า มาตรา 7 บัญญัติขึ้นมาเพราะไม่รู้ว่าจะเกิดปัญหาอะไรในรัฐธรรมนูญ เป็นการอุดช่องว่าง เพียงแต่สถานการณ์ปัจจุบัน เหมาะสมกับการนำมาตรา7 มาใช้ได้หรือไม่


 


ฉะนั้น ต้องดูว่าไม่มีรัฐธรรมนูญเขียนไว้ในเรื่องนั้นหรือไม่ หรือเขียนไว้แต่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญเขียนหรือไม่ เช่น รัฐธรรมนูญกำหนดให้มี ส.ส. 500 คนมาจากการเลือกตั้ง 400 คน มาจากบัญชีรายชื่อ 100 คน ถ้าหากรัฐธรรมนูญมีหลักอย่างนี้ แต่เกิดสถานการณ์ใหม่ขึ้นว่าเลือกตั้งไปแล้วอาจไม่ครบ 500 คน จะเปิดสภาได้หรือไม่ นี่คือข้อที่หนึ่งที่ไม่มีบทบัญญัติเขียนไว้


 


ข้อที่สอง ไม่มีบทบัญญัติเขียนว่า หลังจากยุบสภาแล้ว คณะรัฐมนตรีชุดเดิมต้องพ้นไป แล้วทำหน้าที่จนกว่าจะได้คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ สิ่งที่มันเกิดขึ้นในสถานการณ์ตอนนี้คือ ประชาชนส่วนหนึ่งเรียกร้องให้นายกฯ ลาออก หลังจากยุบสภาแล้วอย่าปฏิบัติหน้าที่เลย เพราะสังคมไม่ยอมรับ หากนายกฯ ลาออก การลาออกหลังจากพ้นหน้าที่ไปแล้ว ถามว่ามีรัฐธรรมนูญเขียนไว้หรือไม่ เมื่อไม่มีรัฐธรรมนูญเขียนไว้แล้วนายกฯ ลาออก จะมีครม.รักษาการอยู่ไหม โดยมาตรา 215 เทียบเคียงกันได้ว่า ถ้านายกฯ ซึ่งเป็นคนตั้งคณะรัฐมนตรีลาออก รัฐมนตรีก็ต้องพ้นตำแหน่งไปด้วย จะรักษาการซ้อนรักษาการไม่ได้ เมื่อออกทั้งชุด ก็ไม่มีรัฐธรรมนูญตรงไหนที่บัญญัติไว้ ก็เข้าสู่ช่องทางที่ว่าทำอย่างไรจะทำให้บ้านเมืองเดินต่อไปได้ จึงต้องขอรัฐบาลพระราชทาน ซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดของบ้านเมือง


 


ดังนั้น สิ่งที่พูดมาไม่ได้นอกเหนือรัฐธรรมนูญ ยังอยู่ในเกณฑ์รัฐธรรมนูญ เพียงแต่เรากำหนดตรงนี้ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาบ้านเมืองในสถานการณ์ที่มีความจำเป็น ซึ่งมีวิกฤตที่เกิดขึ้นแล้ว



 


สรยุทธ


อาจารย์เสรีมองว่าวิกฤตแล้ว แล้วตอนนี้ก็ใช้มาตรา 7 ได้


 



เสรี


มันวิกฤตตรงไหน เราเห็นอยู่แล้วว่าถ้าเลือกตั้งจะไม่ครบ 500 คน แล้วเราจะฝ่าวิกฤตเลือกตั้งไปทำไม จะเสียเงินของแผ่นดินอีก 2-3 พันล้านไปทำไม  ผมจึงไม่เข้าใจว่าทำไมเราต้องเดินไปข้างหน้าทั้งที่เห็นปัญหา


 



วรเจตน์


ขออนุญาตเห็นตรงข้ามกับอาจารย์เสรี ตอนนี้มีรักษาการนายกรัฐมนตรี และมีคณะรัฐมนตรีรักษาการ ปัญหาก็คือว่าถ้าในหลวงพระราชทานนายกรัฐมนตรี แล้วครม.รักษาการจะอยู่ตรงไหน ไม่ใช่ผมปฏิเสธอำนาจในการพระราชทานนายกรัฐมนตรี มันอาจมีบางกรณีที่ทำได้ กรณีที่วิกฤตจริงๆ แต่ไม่ใช่ตอนนี้ เพราะตอนนี้คณะรัฐมนตรีรักษาการยังมีอยู่ มันอาจจะซ้อนกัน


 


มีกรณีที่พระองค์เคยพระราชทานนายกรัฐมนตรีสมัยท่านอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ กรณีนั้นเป็นกรณีที่นายกฯ ลาออกจากตำแหน่ง และเกิดวิกฤตการณ์ความวุ่นวายในบ้านเมืองรุนแรง แต่ว่าตอนนี้ผมคิดว่าบ้านเมืองอยู่ในภาวะที่ไม่ปกติจริง แต่ไม่ปกติถึงขนาดที่จะขออำนาจพระมหากษัตริย์ในการพระราชทานนายกรัฐมนตรีนั้น ผมคิดว่ามันเสี่ยง


 


ในแง่หนึ่งเรากำลังดึงองค์พระมหากษัตริย์ลงมายุ่งเกี่ยวในทางการเมืองในขณะที่ยังไม่ถึงเวลา เราอาจจะคิดอย่างไรก็ได้กับนายกฯ ทักษิณ มีคนต่อต้าน มีคนเห็นด้วย แต่ทุกคนคงเห็นว่ามีทั้งสองส่วน ถ้าวันนี้เราเรียกร้องนายกพระราชทาน ไม่เท่ากับว่าเราทำให้พระมหากษัตริย์ทรงเลือกข้างหรือเลือกฝ่ายทางการเมืองหรือ ประเด็นนี้สำคัญ


 


อีกอันหนึ่ง ถ้าหากมีการพระราชทานนายกฯ จากในหลวงจริง มันจะไม่ได้มาจากมาตรา7 แต่เป็นอำนาจนอกรัฐธรรมนูญ ซึ่งเราอาจจะรับกัน ถ้าบ้านเมืองวิกฤต กลไกทุกอย่างไม่ทำงานแล้ว แต่ตอนนี้ผมมองว่าเป็นการต่อสู้ทางการเมืองของสองฝ่าย และกลไกยังมี แน่นอน เราอาจไม่พอใจกลไก แต่มันยังมี และมันยังเดิน


 


และถึงแม้ว่าตัวนายกรัฐมนตรีจะไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ รองนายกรัฐมนตรีก็จะเข้ามาปฏิบัติหน้าที่แทน เพราะ ครม. สิ้นสุดไปแล้วหลังจากยุบสภา มันจะไม่มีการสิ้นสุดได้อีกแล้วโดยการจากไปของนายกรัฐมนตรี ฉะนั้น ถ้าจะให้มีช่องว่างในทางบริหาร ก็ต้องเรียกร้องให้คณะรัฐมนตรีทั้งคณะยุติการปฏิบัติหน้าที่ แปลว่าไม่มีอะไรเหลืออยู่ ถึงจุดนั้นก็ต้องมานั่งดูกันอีกว่าเหลืออะไรอีกบ้าง ผมคิดว่ายังมีวุฒิสภาเหลืออยู่


 


จะมีการพระราชทานนายกฯ ต้องมีคนลงนามรับสนองก็ต้องหาองค์กรที่จะรับผิดชอบในทางการเมือง ก็ต้องเทียบเคียง กรณีที่ไม่มีสภาผู้แทนราษฎรก็ยังมีวุฒิสภา อย่างการที่วุฒิสภามีอำนาจเห็นชอบในการประกาศสงคราม เทียบเคียงแล้วให้วุฒิสภาดำเนินการจัดให้มีครม.ชั่วคราว โดยที่ประธานวุฒิสภาลงนามรับสนองพระราชโองการ ผมไม่รู้ว่าจะเรียกว่านายกฯ พระราชทานหรือไม่ แต่มันต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญให้สุดกระแสก่อน



 


สรยุทธ


เท่าที่ฟังจากอาจารย์ มันยังเหลืออีกหลายประตูที่จะเดินไปได้ โดยไม่ใช้มาตรา 7 เลย


 



เสรี


ที่พูดเรื่องนายกฯ พระราชทานเมื่อสักครู่ ไม่ได้หมายความว่าจะใช้พระราชอำนาจตั้งนายกฯ แล้วซ้อนกับคณะรัฐมนตรีเดิม ผมบอกว่า การที่จะตั้งนายกฯ ขึ้นมาโดยขอพระราชทาน จะต้องเป็นกรณีที่นายกฯ ปัจจุบันท่านนี้แสดงเจตนานที่จะไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 215 วรรค 2 ก่อน แล้วเมื่อท่านไม่ปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งประชาชนทั่วไปเรียกว่า ลาออก โดยการเทียบเคียงกับรัฐธรรมนูญมาตรา 215 อนุ 1 ที่ระบุว่ารัฐมนตรีทั้งคณะจะพ้นจากตำแหน่งเมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง


 



สรยุทธ


ประเด็นที่เห็นต่างนี้เป็นประเด็นรอง


 



วรเจตน์


ผมต้องพูดในประเด็นนี้ ขออภัยจริงๆ ผมคิดว่าเป็นอย่างนั้นไม่ได้ เหตุผลที่ไม่ได้ สมมติว่ารักษาการนายกรัฐมนตรีวันนี้เสียชีวิต ถามว่า ครม.จะหมดไปทั้งคณะหรือไม่ ผมคิดว่าไม่ รองนายกฯ คนอื่นก็จะเข้ามาทำหน้าที่แทน เพราะตอนนี้รัฐบาลเป็นรัฐบาลรักษาการ พ้นไปอีกไม่ได้แล้ว


 



เสรี


ลองเทียบง่ายๆ อย่าไปเทียบว่าเสียชีวิต ถ้านายกฯ รักษาการตอนนี้บอกว่าไม่ทำหน้าที่แล้ว และเดินทางไปต่างประเทศเลย มันรักษาการซ้อนรักษาการไม่ได้ จึงเทียบเคียงว่าถ้าความเป็นนายกฯ สิ้นสุดลง ครม.ก็ต้องพ้นตามไปด้วย มาตรา 215 ระบุไว้ชัดเจนว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเมื่อลาออก เมื่อลาออก ครม.ก็ต้องออกทั้งคณะ


 



วรเจตน์


ออกไปแล้ว มันไม่มีการออกได้อีก ต้องเรียนว่า ครม.ที่สิ้นสุดทั้งคณะนั้นหมายถึง ครม.ที่เป็นถาวร เมื่อนายกฯ ลาออก ครม.ก็สิ้นสุด แต่เมื่อสิ้นสุดแล้วต้องมีรักษาการ เพราะมันต้องมีฝ่ายบริหารของบ้านเมือง


 



เสรี


ประทานโทษ อันที่จริงผมเคารพอาจารย์วรเจตน์มาก พอมาตราที่ไม่เขียนไว้ท่านก็เทียบเคียงมาใช้ พอผมบอกผมเทียบเคียง ไม่ได้เอามาใช้ทั้งหมด


 



สรยุทธ


ผมว่ามันเป็นประเด็นรอง ประเด็นรองก็คือว่า ต้องรอให้นายกฯ บอกก่อนว่าไม่ปฏิบัติหน้าที่ถึงจะมาเถียงกันตรงนี้ แต่นายกฯ ปัจจุบันบอกว่าท่านจะปฏิบัติหน้าที่ อาจารย์เสรีว่าใช้มาตรา7 ขอนายกฯ พระราชทานได้ไหม


 



เสรี


ถ้าหากว่าเกิดวิกฤต แล้วยังมีตัวนายกฯ อยู่ ผมก็ว่าไม่ได้ เพราะถ้ามันมีอยู่จะไปซ้อนได้ยังไง ต้องมีเหตุผล


 



ธีรภัทร


เราคงเห็นตรงกันว่าทุกวันนี้มันเป็นปัญหา และเป็นปัญหาวิกฤตแน่ ทั้งก่อนเลือกตั้งและหลังเลือกตั้ง เราจะแก้ปัญหานี้อย่างไร ผมคิดว่าถ้าดูจากนักกฎหมายใหญ่อย่าง ศ.ดร.หยุด แสงอุทัย ท่านอธิบายถึงการใช้อำนาจที่เป็นกลางไว้ในการอธิบายรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2517 บอกว่า ในระหว่างที่คณะรัฐมนตรีต้องออกจากตำแหน่ง โดยยังมิได้จัดตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่ เป็นเวลาที่พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจมาก พระมหากษัตริย์มีฐานะเป็นผู้ประสาน ในระหว่างเวลาที่ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารมีความเห็นสอดคล้องต้องกันก็ไม่จำเป็นต้องมีพระราชอำนาจ แต่ในกรณีที่มีการแตกร้าวกันระหว่างอำนาจทั้งสองนี้ พระมหากษัตริย์ย่อมมีพระราชอำนาจที่จะเป็นกลางระงับความแตกร้าว หรือจัดการให้เป็นไปตามวิถีทางตามรัฐธรรมนูญ


 


วรรคสอง ระบุว่าโดยเฉพาะเวลาที่บ้านเมืองได้รับความคับขันถึงขนาด พระราชอำนาจที่ดูเผินๆ เหมือนจะทำอะไรไม่ได้นั้น ย่อมกลับกลายมาเป็นพระราชอำนาจอันแท้จริง ในอันที่จะปกปักรักษาและอาจกระทำการเป็นประโยชน์แก่รัฐมากกว่าใครๆ จะนึกไปถึง


 


ถ้าเราดูของอังกฤษ สมเด็จพระราชินีอังกฤษเคยทรงปลดนายกรัฐมนตรีหลายประเทศในเครือจักรภพ เร็วๆ นี้ของออสเตรเลีย และในอดีตเคยปลดนายกรัฐมนตรีทั้งในแคนาดา แอฟริกาใต้


 


เราจะไปมองสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเพียงกลไกในรัฐธรรมนูญหรือ เราต้องมองในฐานะเป็นมนุษย์ที่จะสามารถแก้ไขปัญหาเหตุการณ์บ้านเมืองได้ ไม่เช่นนั้นเราจะมีสถาบันพระมหากษัตริย์ไปทำไม เราต้องให้ทรงมีพระราชอำนาจในการแก้ไขสถานการณ์


ประเด็นที่ว่าจะมีนายกฯ พระราชทานหรือรัฐบาลพระราชทานหรือไม่ ถ้าเราตีความมาตราต่างๆ ในรัฐธรรมนูญ มันไม่จบหรอก


 



สรยุทธ


สรุปมันจะแก้ปัญหาหรือจะเป็นปัญหา ตอนนี้มีคนสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งวิตกว่า ถ้าใช้มาตรา 7 ให้มีนายกฯ พระราชทาน เหมือนกับให้พระมหากษัตริย์ทรงเลือกข้าง


 



ธีรภัทร


ผมว่าไม่เลือกข้าง เพราะตอนนี้ทุกคนก็รู้ว่านายกฯ มีปัญหาเยอะเลย ทั้งในเรื่องส่วนตัว ปัญหาจริยธรรม เรื่องกฎหมายก็มากที่ต้องไปพิสูจน์ตัวเอง ในส่วนของประชาชนที่คัดค้านก็มีจำนวนมาก ขณะเดียวกันการเลือกตั้งก็ไม่มีฝ่ายค้าน จัดการเลือกตั้งไปก็จะมีปัญหาอีก และรัฐบาลใหม่ก็ไม่รู้จะเกิดขึ้นเมื่อใด เกิดขึ้นแล้วก็ไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชนอีก เป็นปัญหางูกินหางที่ต้องใช้เวลาอีก 1-2 ปี ท่านจะเอาอย่างนั้นหรือ ในขณะที่มีความคับขันอยู่นี้ ผมไม่เห็นจะเสียหายประการใดเลย เพราะตอนนี้ก็เป็นคณะรัฐมนตรีรักษาการอยู่แล้ว


 



สุธาชัย


ในระบอบประชาธิปไตยนั้น มีอะไรก็ตามต้องเคารพอำนาจของประชาชนก่อน เพราะอย่างที่เรียนว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มอบอำนาจอธิปไตยมาให้แก่ประชาชนแล้ว 70 กว่าปี ผมจึงคิดว่าเรายังต้องหาทางแก้ไขปัญหากันเองเสียก่อน โดยที่ต้องไม่รบกวนพระราชอำนาจเกินความจำเป็น


 


ผมคิดว่าที่ฝ่ายพันธมิตรหรือฝ่ายต่างๆ กดดันให้นายกฯ ลาออกเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วและเป็นไปตามกระบวนการประชาธิปไตย ถ้าสมมติว่านายกฯ ลาออกวิกฤตก็จะคลี่คลายไปมาก แล้วให้รองนายกฯ คนใดคนหนึ่งรักษาการแทน จากนั้นก็เลื่อนการเลือกตั้ง จัดใหม่ให้ฟรีแอนด์แฟร์ พรรคไทยรักไทยควรจะทำอย่างนี้ด้วยซ้ำให้ประชุมกันเลือกผู้นำมาใหม่ ให้เห็นว่าพรรคไทยรักไทยเป็นสถาบันไม่ได้อยู่ที่ใครคนใดคนหนึ่ง


 



วรเจตน์


ผมคิดว่าเรากำลังเผชิญกับคำถามในเชิงคุณค่าในสังคมประชาธิปไตยของไทย ในวันที่เราเผชิญกับปัญหาแบบนี้ เราหาทางออกเองไม่ได้แล้วหรือ หลายคนพยายามกดดันคุณทักษิณให้ลาออกจากตำแหน่ง เว้นวรรคทางการเมือง ผมเป็นคนหนึ่งที่มุ่งหมายอย่างนั้น ดูจากการแก้ปัญหาของท่านนายกฯ ท่านทำให้คนในชาติแตกออกเป็นสองกลุ่มแล้ว 


 


ในแง่ของการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งเป้าหมายทางการเมือง เราต้องระวัง การต่อสู้นั้นต้องเป็นการต่อสู้กันในเชิงสังคมที่สู้กันในทางการเมือง ต้องจูงใจหรือทำให้มวลชนเห็นด้วยว่าต้องไปในทิศทางนั้น ถ้ายังทำไม่ได้ มันก็เป็นการต่อสู้กันระหว่างมวลชน ถามว่าฝ่ายใดมีความชอบธรรมให้องค์พระมหากษัตริย์พระราชทานนายกฯ ฝ่ายที่สนับสนุนนายกฯ ก็ชัดเจนว่าขอให้มีการเลือกตั้งตามกลไกในระบอบประชาธิปไตย ถามว่าองค์พระมหากษัตริย์จะตัดสินอย่างไร ในเมื่อมันมีทั้งสองด้านวิ่งเข้าหาพระองค์


 


เรากำลังมองในมุมที่ต้องการให้นายกฯ ทักษิณออกจากตำแหน่ง โดยที่ลืมไปว่ามันมีคุณค่าในสังคมอีกอย่างอยู่เหมือนกัน คือ คุณค่าในระบอบประชาธิปไตย ที่มีคนอีกฝ่ายหนึ่ง


 



สรยุทธ


อาจารย์ธีรภัทรบอกว่ามีประชาชนออกมาเรียกร้องจำนวนมาก แล้วจะรอให้เกิดเหตุการณ์ขึ้นก่อนหรือ


 



วรเจตน์


ผมไม่ได้ปฏิเสธพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ แต่ว่าพระราชอำนาจควรมีในยามวิกฤต ปัญหาคือตอนนี้มันวิกฤตแล้วหรือยัง การประเมินวิกฤตนั้นแตกต่างกัน


 



เสรี


เราไม่มีทางปฏิเสธว่าเราต้องแก้กันเองก่อน แต่ต้องดูสถานการณ์ปัจจุบันด้วยว่ามันแก้ได้ไหม ตอนนี้ทั้งสองฝ่ายเผชิญหน้า ต่างคนต่างเอาคนมาเป็นแสนๆ คน แล้วจำนวนก็จะมากขึ้นเรื่อยๆ นี่คือวิกฤตของชาติ แล้วบอกว่าเราแก้ก่อน จะแก้อย่างไร เพราะระยะเวลาที่ออกมาก็เหยียบเดือนแล้ว เรายังแก้ได้อยู่หรือในขณะนี้ที่แต่ละฝ่ายต่างคนต่างยืนยัน


 


ประการที่สอง ถ้าการเสนอประเด็นดังกล่าว เป็นการทำให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท ผมคิดว่าประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นพระราชอำนาจ เช่น การถวายฎีกาขึ้นไป ไม่ใช่ทำให้พระองค์ท่านแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ตัวอย่างของคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา  อันนั้นก็เป็นเรื่องการถกเถียงกันมากไม่รู้กี่ฝ่าย พระองค์ก็พระราชทานสิ่งที่ถูกต้องในการแก้ปัญหาได้


 


นอกจากนี้ผมยังไม่เห็นด้วยว่าเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัย แต่มาตรา 7 นี้เป็นเรื่องของพระราชวินิจฉัย ทรงใช้มาตรา 7 ได้


 



ธีรภัทร


เห็นตรงกันว่าพระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจใช้มาตรา 7 ได้อยู่แล้ว ที่สำคัญคือ ทรงใช้ตามกลไกในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไม่ใช่ไปใช้แล้วตีความว่าเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ถ้าเราดูให้ดี พระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา พระองค์ท่านทรงมีจิตวิญญาณประชาธิปไตยมากกว่าผู้นำในระบอบประชาธิปไตยบางคนด้วยซ้ำไป และพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้ ตลอดเวลาที่ผ่านมาเห็นชัดเจนว่าทรงปฏิบัติตามกติการะบอบประชาธิปไตย


 


เป็นการใช้พระราชอำนาจในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งผมฟันธงว่าทรงมีพระราชอำนาจทำได้ และทำได้อย่างกว้างขวางด้วย และเมื่อทรงใช้จะเป็นการปกปักรักษารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไว้ด้วยซ้ำไป


 



วรเจตน์


ทีละประเด็นนะครับ กรณีของคุณหญิงจารุวรรณ ถ้าไปอ่านหนังสือที่นายกรัฐมนตรีมีถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน และในหนังสือฉบับนั้น พระราชกระแสของพระบาทสมเด็นพระเจ้าอยู่หัวชัดเจนว่าไม่ใช่พระราชอำนาจ แต่เป็นการวินิจฉัยว่าไม่ถูกต้อง และเป็นไปตามหลักกฎหมายว่าไม่มีการวินิจฉัยยกเลิกหรือเพิกถอน พระราชโองการโปรดเกล้าแต่งตั้งคุณหญิงจารุวรรณ


 


ประเด็นที่เราคุยกัน ทุกท่านเห็นตรงกันว่านายกฯ ต้องลาออกเสียก่อน ถึงจะไปถึงจุดนั้น


 



สรยุทธ


อาจารย์ภีรพัทธ์ว่านายกฯ ไม่ต้องลาออกก็มีนายกฯ พระราชทานได้


 



วรเจตน์


ผมคิดว่าไม่ได้ ต่อให้นายกฯ เป็นคนเลว หรือเป็นคนชั่วอย่างไรก็ตาม เขามาจากการเลือกตั้ง เราต้องยอมรับตรงนี้ก่อน ถ้าจะมีการปลดต้องมีกลไกทางกฎหมายในระบอบประชาธิปไตย


 


การนายกฯ พระราชทานถ้าจะทำไม่ใช่จะทำไม่ได้ แต่มันจะเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะเป็นไปในกรณีที่มีวิกฤตรุนแรง และจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อตัวรัฐธรรมนูญเอง


 


ถามว่าจะทำอย่างไร  ก็ต้องกดดันให้เต็มที่ ถ้าถามผม ผมคิดว่าประชาชนยังออกมาไม่มากพอในแง่การกดดัน คนชั้นนำในสังคมจำนวนไม่น้อยยังไม่ได้ออกมา คนที่อยู่ในซีกรัฐบาลก็ยังไม่ออกมา พันธมิตรก็ไม่ได้เรียกร้องให้คณะลาออกจากตำแหน่ง


 



สุธาชัย


สุดท้ายแล้วเราต้องทำอย่างนี้อีกกี่ครั้ง ประชาธิปไตยบ้านเราก็ไม่โตเสียที


 



เสรี


ที่อาจารย์วรเจตน์ยกกรณีคุณหญิงจารุวรรณ ผมคงไม่ปฏิเสธหนังสือ แต่เรื่องนี้เป็นพระราชอำนาจที่ทรงกระทำได้ และโดยถ้อยคำและสาระทั้งหมด พระองค์ท่านใช้พระราชอำนาจแล้ว แต่พระองค์อาจจะไม่ได้แสดง เราต้องเคารพเอง


 



วรเจตน์


องค์พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจตามรัฐธรรมนูญ พระราชอำนาจในการแนะนำ ตักเตือน ให้คำปรึกษา แต่ตอนนี้เรากำลังพูดถึงพระราชอำนาจในการให้รักษาการนายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง  ถ้าเป็นเช่นนั้นก็ไม่ใช่พระราชอำนาจในรัฐธรรมนูญ อาจเป็นพระราชอำนาจตามประเพณี ซึ่งไม่ใช่จะยอมรับได้ทุกกรณี และขึ้นกับพระบารมีของพระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์ ไม่ใช่อำนาจของสถาบัน


 



เสรี


ขนาดมาตรา 7 เปิดช่องไว้ แต่อาจารย์บอกว่าเป็นนอกเหนือรัฐธรรมนูญ ขนาดเราอ้างมาตรา 7 อ้างฐานที่มาว่าไม่ได้ทำนอกเหนือรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าจะให้ไปไกล......



 


สรยุทธ


อาจารย์วรเจตน์หมายถึงว่าถ้าใช้มาตรา 7 แบบนี้ ต่อไปอะไรก็อ้างมาตรา 7 ได้หมด



 


เสรี


ก็ยังดีกว่าไม่มีรัฐธรรมนูญ



 


วรเจตน์


ผมเรียนว่าจะมีปัญหาในทางกฎหมายตามมา ถ้าเราอ้างมาตรา 7 มันจะเป็นปัญหาว่าพระราชอำนาจนั้นมาจากส่วนใหญ่ ถูกโต้แย้งได้หรือไม่ อย่างไรโดยกลไกรัฐธรรมนูญ มันมีปัญหาในทางกฎหมายตามมาอีกหลายชั้น  แต่ถ้ามันวิกฤตจริงๆ แล้วในหลวงท่านทรงลงมานั่นเป็นพระราชอำนาจอีกส่วนหนึ่ง แต่วันนี้ยังไม่ใช่


 



สรยุทธ


ทำไมอาจารย์ธีรภัทรถึงคิดว่ามันใช่


 



ธีรภัทร


ในอดีตเราปล่อยให้เหตุการณ์เดินไปสู่ความรุนแรง จนกระทั่งพี่น้องประชาชนเสียเลือดเสียเนื้อกันไปแล้ว เรามีบทเรียนทางประวัติศาสตร์มาแล้ว 2-3 ครั้ง จะเอาอย่างนั้นหรือ ถึงจะบอกว่าตรงนั้นถึงจะใช่ เราจึงควรนำบทเรียนมาป้องกันปัญหา


 


ถ้าเราป้องกันปัญหานั้นได้ แล้วเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทุกฝ่าย มันไม่ดีกว่าหรือ


 



สุธาชัย


อันนั้นทำได้ แต่ผมยืนยันว่าไม่ใช่มาตรา 7 นั่นเป็นพระราชอำนาจนอกรัฐธรรมนูญ หรือเหนือรัฐธรรมนูญ ผมไม่เห็นเลยว่ามาตรา 7 จะสามารถประยุกต์ใช้ได้


 



สรยุทธ


อาจารย์ธีรภัทรบอกเรามีบทเรียนทางประวัติศาสตร์ จะรอให้เสียเลือดเสียเนื้อกันอีกหรือ


 



วรเจตน์


ผมคิดว่าควรถามคำถามในทางกลับกัน วันหนึ่งในอนาคตเกิดความเห็นแตกต่างกันในทางการเมืองออกมาเดินขบวน เราจะบอกไหมว่าคือพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ที่จะปลดนายกรัฐมนตรี แน่นอน ผมไม่อยากเห็นประเทศไทยต้องเสียเลือดเสียเนื้อ แต่ผมกำลังมองว่าเราจะมองปัญหาว่าจะมอง ประเมินความวิกฤตอย่างไร


 


คล้ายกับเรื่องการป้องกันในกฎหมายอาญา ว่า บุคคลมีอำนาจกระทำการเพื่อป้องกันตนได้เมื่อมีภยันตรายที่ใกล้จะถึง  มีคนเอาปืนมาจะยิงคุณสรยุทธ คุณสรยุทธก็ยิงคนนั้นจนถึงแก่ความตายได้ แต่ถ้าคุณสรยุทธรู้ว่าคนนั้นจะยิงคุณสรยุทธ แต่เขายังไม่ทำ คุณไปยิงเขาก่อนไม่ได้


 



สรยุทธ


มันเปรียบเทียบอย่างนี้ได้หรือเปล่า


 



วรเจตน์


ผมก็ไม่แน่ใจนะ แต่ผมกำลังจะบอกว่าเรากำลังคิดถึงการป้องกันล่วงหน้าหรือไม่ และการป้องกันล่วงหน้านี้มันอยู่ในกรอบแค่ไหน และต้องตอบคำถามผมด้วยว่า ในอนาคตถ้ามีสถานการณ์เช่นนี้ พระมหากษัตริย์มีอำนาจปลดนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญด้วยนะ


 



เสรี


ผมว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร เราคงตอบไม่ได้ มันต้องคิดเป็นรายกรณีไป และต้องดูสภาพปัจจุบันว่าทำอย่างนั้นได้ไหม ถ้าทำได้ก็คือได และถ้าทำแล้วเป็นบรรทัดฐานในอนาคต เกิดลักษณะเดียวกันก็ทำได้อีก


 ต้องมาตรฐานเดียวกัน


 


ในเมื่อเราเห็นอยู่แล้วว่าจะเป็นปัญหาบานปลายใหญ่โต เราก็แก้เสียก่อนอย่าให้เสียเลือดเสียเนื้อ


 



สรยุทธ


ดูเหมือนยังไม่ได้ตอบคำถามอาจารย์วรเจตน์ว่า การทำแบบนี้จะทำให้พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ข้างหนึ่งข้างใดหรือเปล่า ถ้าเป็นพฤษภาทมิฬจะชัดเจนว่าทั้งสังคมไม่ได้อยู่ข้างนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น แต่ตอนนี้มีคนสองกลุ่มที่เห็นแตกต่างกัน


 



เสรี


ก็อย่างที่บอกว่าถ้ามันแก้ปัญหาได้ในครั้งหนึ่ง แล้วในคราวต่อไปเกิดความรุนแรงใกล้เคียงกัน.....


 



สรยุทธ


อาจารย์ไม่ได้อธิบายประเด็นนั้น


 



ธีรภัทร


ผมตอบแทนว่า ยิ่งตอนนี้สถานการณ์แยกคนเป็นสองกลุ่ม และมีแนวโน้มจะปะทะกัน การมีรัฐบาลพระราชทานในช่วงนี้ไม่ได้ทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียหาย เพราะการมีรัฐบาลพระราชทานแล้วจะนำไปสู่การปฏิรูปการเมือง เพื่อให้เกิดการเลือกตั้งใหม่ เกิดการเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย คุณทักษิณก็เข้ามาได้ พรรคฝ่ายค้านก็แข่งขันได้ แต่ขณะเดียวกันมันช่วยให้กลไกในรัฐธรรมนูญเข้มแข็งมากขึ้น


 



วรเจตน์


สภาพการณ์ตอนนี้มันยุบสภาแล้ว ประเด็นถูกเลื่อนไปที่วันที่ 2 เม.ย.วันเลือกตั้ง คนที่สนับสนุนนายกฯ ทักษิณเรียกร้องให้ไปเลือกตั้ง การมีรัฐบาลพระราชทาน ในแง่มุมหนึ่งก็คือจะไม่มีการเลือกตั้ง วันนี้เราต้องมานั่งแก้ปัญหาองค์กรต่างๆ อย่าง กกต. สามารถจัดการเลือกตั้งในเป็นไปโดยโปร่งใสเรียบร้อยได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ มีการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปอย่างไร แล้วฝ่ายการเมืองคุยกันได้อย่างไร ปัญหาจึงต้องแก้ไปทีละเปราะ


 


เราต้องใช้ความพยายามของเราเองในการแก้ปัญหาตรงนี้เสียก่อน ผมว่าวันนี้เรายังไม่ได้ทุ่มเทความสามารถของเราทั้งหมดไปในการแก้ปัญหาเลยเราก็ไปขอรัฐบาลพระราชทานเสียแล้ว


 



สุธาชัย


เรามีแนวโน้มขอนายกฯ พระราชทานตั้งแต่ต้น ตั้งแต่ก่อนหน้านี้เป็นเดือนๆ


 



วรเจตน์


อย่างนี้เมื่อไรสังคมไทยจะบรรลุนิติภาวะ



 


ธีรภัทร


เราต้องมองสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันที่มีชีวิตชีวา เป็นสถาบันที่เป็นชีวิตของประชาธิปไตย ถ้ามองสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์แตะต้องไม่ได้ จะกลายเป็นเรื่องไปดึงพระองค์ท่านลงมา ผมว่าเราคิดผิดจากความเป็นจริงของสังคมปัจจุบัน เราจะมองสถาบันนี้เป็นกลไกไปเลย ซึ่งนี่เป็นความบกพร่องอย่างร้ายแรง เป็นอวิชชาอย่างร้ายแรง



 


เสรี


เราต้องมองสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันสูงสุดจริงๆ และเป็นพระราชอำนาจที่จะแก้ปัญหาทั้งปวง ดังนั้นในมาตรา 7 ทุกคนจึงมีสิทธิทูลเกล้าถวายฎีกา แล้วพระองค์จะทรงพระราชวินิจฉัยเอง



 


วรเจตน์


ผมคิดว่าเรายังไม่ใช้ความพยายามเพียงพอ



 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net