Skip to main content
sharethis

ภายหลังการประชุมคณะรัฐนตรีนัดพิเศษ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงแก่ผุ้สื้อข่าวอย่างละเอียดถึงหลักการเบื้องต้น และการใจความสำคัญของพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน แยกเป็นประเด็นดังนี้
1. คำว่า "สถานการณ์ฉุกเฉิน" หมายถึง สถานการณ์ทุกชนิดที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ กระทบกระเทือนต่อความสงบของประชาชน รวมไปถึงภัยธรรมชาติที่กระทบต่อสาธารณชน ซึ่งจะควบคุมตั้งแต่เกิดการกบฎ จลาจล เกิดภัยธรรมชาติ รวมทั้งเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ จนกระทั่งเกิดสถานการณ์สงคราม

"มีปัญหาว่า ทำไมต้องใช้สถานการณ์ฉุกเฉิน คำตอบก็คือในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ยอมให้มีการล่วงล้ำสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้อยู่ 3 กรณี คือจะต้องเป็นสถานการณ์รบหรือสงคราม การประกาศใช้กฏอัยการศึก และการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นทางเลือกเดียวที่เหลืออยู่ที่ต้องเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์"

2. คณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน จะมีการตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่ง โดยมี รองนายกฯ เป็นประธาน มีรองประธานคือ รมว.มหาดไทย รมว.กลาโหม รมว.ยุติธรรม และปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงยุติธรรม ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ อัยการสูงสุด ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผบ.ทบ. ผบ.ทร. และ ผบ.ทอ รวมถึง ผอ.สำนักข่าวกรองแห่งชาติ อธิบดีกรมการปกครอง อธิบดีกรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัยเป็นกรรมการ และมีเลขาธิการ สมช.เป็นกรรมการและเลขานุการ

3. อำนาจหน้าที่ของคระกรรมการ คณะกรรมการชุดนี้ จะเป็นผู้คอยดูเหตุการณ์ว่า มีสถานการณ์ฉุกเฉินหรือไม่สงบ และแนะนำต่อนายกรัฐมนตรี ว่า สมควรประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่ใด ซึ่งนายกฯ จะนำเข้าหารือกับ ครม. เมื่อ ครม.เห็นชอบ นายกฯ ก็จะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทันที โดยมีการระบุพื้นที่ ตำบล อำเภอ จังหวัด ถ้าสถานการณ์รุนแรงถึงขั้นสงคราม ก็ประกาศถึงขั้นทั่วประเทศก็เป็นไปได้

4. ระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่ใดแล้วให้มีผลไป 3 เดือน และหมดอายุ แต่ถ้า ครม.เห็นว่า สถานการณ์ยังรุนแรงอยู่ก็จะสามารถต่ออายุไปคราวละ 3 เดือนได้

5. อำนาจนายกรัฐมนตรีในกรณีฉุกเฉินเร่งด่วน นายกฯ สามารถประกาศได้สถานการณ์ฉุกเฉินก่อนไปได้ แล้วให้เรียกประชุม ครม.ภายใน 3 วัน และถ้า ครม.ไม่เห็นชอบกับการประกาศนั้นก็ให้ถือว่าการประกาศนั้นสิ้นสุดแล้ว ถ้า ครม.เห็นชอบ ก็ให้มีอายุไป 3 เดือน หรือต่ออายุต่อไปได้

6. ผลของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ผลที่ตามมาก็คือ

6.1. กรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินก็จะทำหน้าที่คอยติดตามเหตุการณ์ ซึ่งนายวิษณุระบุว่าน่าจะดูรอบคอบกว่าการที่ทหารใช้กฎอัยการศึก
6.2. นายกฯ สามารถออกคำสั่งหลายอย่างได้ คือห้ามออกนอกบ้าน ห้ามเข้าเขต ห้ามออกนอกเขต ควบคุมกิจกรรมต่างๆ ได้ คล้ายๆ กับที่เขียนไว้ใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2495 ซึ่งกฎหมายนั้นจะต้องถูกยกเลิกไป
6.3. ถ้าสถานการณ์รุนแรงถึงขั้นมีการก่อการร้าย นายกฯ สามารถประกาศให้เป็นสถานการณ์ที่มีความร้ายแรงกว่าเดิม และเมื่อประกาศแล้ว นายกฯ สามารถสั่งการเพิ่มเติมได้อีกหลายอย่าง เช่นควบคุมตัวคนไว้ได้ มีระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน โดยขออนุญาตจากศาล เมื่อครบ 7 วันต้องควบคุมต่อ ก็ขออนุญาตศาลต่อได้ครั้งละ 7 วัน โดยเบ็ดเสร็จไม่เกิน 30 วัน ถือเป็นหลักขั้นตอนธรรมดาที่ต้องมีการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน รวมทั้งอำนาจในการติดเครื่องดักฟังโทรศัพท์ โดยที่จะต้องดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยกาสอบสวนคดีพิเศษ แปลว่า ต้องร้องขออธิบดีศาลอาญาให้เป็นผู้อนุญาต

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net