Skip to main content
sharethis


ประชาไท—3 ก.พ. 2549 นักวิชาการ คนท้องถิ่นปลุกคนเชียงรายลุกขึ้นต้านเอฟทีเอ ไทย-จีน พร้อมดันกลุ่มเปิดการค้าเสรี ภาคประชาชน จัดการค้าภายในท้องถิ่นกันเอง ชี้ก่อให้เกิดผลประโยชน์ให้คนเชียงแสน-เชียงของ-ลาว อย่างยั่งยืน

 


รศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตรมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวในงานประชุมสัมมนา "ทิศทางการพัฒนาเมืองเชียงแสน ภายใต้เมืองการค้าชายแดนและเมืองประวัติศาสตร์" ที่ห้องประชุม ร.ร.เชียงแสนวิทยาคม อ.เชียงแสน จ.เชียงราย โดยได้บรรยายวิชาการเรื่อง "การพัฒนาเชียงแสน เพื่ออนาคตคนเชียงแสน" เมื่อวันที่ 29 ม.ค.ที่ผ่านมาว่า ต้องยอมรับว่าชาวเชียงแสนต้องสัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงในรูปแบบใหม่ ซึ่งไม่ใช่เพียงการเปลี่ยนแปลงทางความหมาย แต่จะเปลี่ยนแปลงถึงชีวิตผู้คนด้วย หากคนเชียงแสนไม่ยอมปรับตัวตรงนี้ เชื่อว่าอนาคตเมืองเชียงแสนจะต้องได้รับผลกระทบเหมือนกับเมืองเชียงใหม่ และนรกที่กรุงเทพฯ ในขณะนี้อย่างแน่นอน


 


"เอาเข้าจริงแล้ว ผลประโยชน์จากการเปิดเขตการค้าเสรี ไม่ได้ตกอยู่กับคนเชียงแสน อีกทั้งยังสร้างปัญหาแก่คนเชียงแสนอีกมากมาย ไม่ว่าการเข้ามาเปลี่ยนพื้นที่เพื่อตอบสนองการฉาบฉวย ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ นี่คือความซับซ้อนที่จะกระแทกเราอย่างแน่นอน ดังนั้น ทำอย่างไรคนเชียงแสนจะอยู่อย่างภาคภูมิใจ ทำอย่างไรคนท้องถิ่นถึงจะได้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้อย่างเป็นธรรม"


 


 รศ.ดร.อรรถจักร์ ยังได้เสนอแนวคิด ให้มีการวิจัยเรื่องการค้าขายข้ามพรมแดนระหว่างพี่น้องไทย-ลาว ในเขตเชียงแสน-เชียงของ บนความสัมพันธ์ทางการค้าของคนสองฝั่งได้ชัดเจน จะทำให้เกิดการค้าข้ามพรมแดน หรือเอฟทีเอ ภาคประชาชน ที่ไม่ข้ามหัวคนท้องถิ่น เอฟทีเอที่สามารถเคลื่อนทั้งสองฝั่งโขง ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้ตลาดดอนซาวในเขตลาวสามารถเชื่อมต่อกับฝั่งไทยได้  และอาจจะงดงามกว่าที่แม่สาย ซึ่งหลายคนกำลังเบื่อตลาดแม่สายกันมากในขณะนี้ เนื่องสภาพตลาดที่คึกคัดเฉพาะหนังโป๊ เพราะฉะนั้น ทางองค์กรปกครองท้องถิ่น ทางเทศบาลจะต้องคิด ว่าทำอย่างไรถึงจะจัดให้มีการค้าเอฟทีเอ ภาคประชาชนให้มากขึ้น และหากมีการเคลื่อนหากันกับพี่น้องลาว มีการเกื้อหนุนกันมากขึ้น จะทำให้ผลประโยชน์ตกอยู่กับคนท้องถิ่นแถบนี้ และจะเป็นการคืนความสัมพันธ์ให้กับพี่น้องไทย-ลาวสองฝั่งโขงด้วย


 


"และที่สำคัญ คนท้องถิ่นจะต้องสร้างจินตนาการเมืองขึ้นมา เช่น จินตนาการเรื่องประวัติศาสตร์ชุมชน เพราะจะช่วยฟื้นคืนความสัมพันธ์ฉันท์พี่น้องกลับคืนมา หลังจากถูกอำนาจรัฐส่วนกลางเข้ามาครอบงำ มีการนำเรือสินค้าเข้ามา ทำให้เกิดผลกระทบต่อวิถีชีวิตดั้งเดิม ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ดังนั้น ทำอย่างไรเราจึงจะมีการใช้สมบัติชุมชนร่วมเหมือนแต่ก่อน ซึ่งจะเป็นการคืนอำนาจ การตัดสินใจ และคืนความสัมพันธ์ให้กับคนในแต่ละชุมชนให้กลับคืนมา"รศ.ดร.อรรถจักร์


 


นายมิติ ยาประสิทธิ์ ประธานกลุ่มรักษ์เมืองเชียงแสน กล่าวว่า เห็นด้วยกับข้อเสนอของ อ.อรรถจักร์ ที่คนท้องถิ่นจะลุกขึ้นมาทำเอฟทีเอ ภาคประชาชน เพราะหากจะพูดถึงเรื่องการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีความเป็นมิตรชิดเชื้อ ทั้งทางด้านเชื้อชาติและภาษามากที่สุดก็คือ ประเทศลาว มีความเป็นพี่เป็นน้องกัน ทั้งนี้ การค้าขายที่ผ่านมา การค้าขายกับประเทศจีน ชาวบ้านต้องโอนอ่อน ต้องลดภาษี ต้องยอมทุกอย่างทั้งหมด  แต่หากเรามาทำการค้าเสรี หรือเอฟทีเอกับคนลาวในระดับรากหญ้า เชื่อว่า การค้าขายกับคนสองฝั่งโขงกับประเทศลาวจะต้องกลับมาคึกคักขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งอย่างแน่นอน เพราะว่าก่อนหน้านั้นก็มีการติดต่อค้าขายกันอยู่แล้ว  มีการข้ามมาซื้อแลกเปลี่ยนสินค้ากับพี่น้องฝั่งไทย


 


"การค้าเสรีไทย-จีน ที่ผ่านมา นอกจากคนเชียงแสนไม่ได้อะไรแล้ว มันยังสร้างปัญหาผลกระทบทั้งทางด้านวิถีชีวิตวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม  ซึ่งหลายๆ กระทรวง ต่างโยนโครงการลงมาโครมๆ ต่างคนต่างทำ มั่วไปหมด ล่าสุด ยังจะมีการสร้างท่าเรือแห่งที่ 2 ที่กำลังจะเกิดขึ้น และการสร้างถนนสี่เลนเข้าไปยังท่าเรือ ซึ่งการทำโปรเจกใหญ่ต่างๆ เหล่านี้ มันมันย่อมกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนท้องถิ่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้" นายมิติ กล่าว


 


ในขณะที่ นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว สมาชิกกรรมการแห่งชาติว่าด้วยผู้นำชุมชนท้องถิ่น จ.เชียงราย กล่าวว่า เห็นด้วย กับการเสนอเปิดการค้าเสรี ภาคประชาชน หรือเอฟทีเอ ภาคประชาชน เพราะที่ผ่านมา การค้าระหว่างชุมชนสองฟากฝั่งโขงไทย-ลาว ซึ่งมันเป็นวิถีชีวิตที่เขามีกันมานานแล้ว 


 


"ถ้าทุกฝ่ายให้ความสำคัญตรงนี้ ก็จะทำให้คนท้องถิ่นลุ่มน้ำโขงบริเวณนี้ มีการค้าขายโดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง  อาจจะมีการจัดเก็บภาษีโดยกรรมการชาวบ้าน หรือ อบต.มาพัฒนาท้องถิ่น  ตรวจสอบโดยการปกครองส่วนท้องถิ่น  ซึ่งกฎหมายข้อตกลงตรงนี้มันมีอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับว่าเราจะนำมาใช้ได้เป็นจริงหรือไม่" นายนิวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net