Skip to main content
sharethis


นับตั้งแต่ปี 2533 ชาวบ้าน นักวิชาการ และองค์กรพัฒนาเอกชน ได้รวมตัวกันเป็น "เครือข่ายป่าชุมชน" และหลังจากนั้น ประชาชนจากทั่วประเทศกว่า 50,000 รายชื่อ ได้ร่วมกันร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชนกันขึ้นมา เพื่อเป็นการรับรองสิทธิของชุมชนที่มีความตั้งใจในการจัดการทรัพยากรตามวัฒนธรรมประเพณีที่หลากหลายที่มีอยู่ ให้เป็นระบบการจัดการร่วมในลักษณะพหุภาคี ระหว่างรัฐกับประชาสังคมร่วมกัน เพื่อการตรวจสอบ ส่งเสริม และสนับสนุนให้ชาวบ้านได้ดูแลรักษาป่าอย่างยั่งยืน ที่สำคัญเพื่อให้สอดคล้องตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ที่ให้สิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรท้องถิ่นได้

 


จนกระทั่งเมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2545 ทางสภาผู้แทนราษฎรได้มีมติรับร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน ฉบับดังกล่าว ด้วยคะแนน 341 เสียง แต่สุดท้ายก็ยังมีการยุดยื้อร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เอาไว้ จนทำให้กระบวนการทำงานล่าช้าและสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนไปทั่ว


 


เหตุการณ์ได้เริ่มปะทุทางด้านความคิดจนกลายเป็นความขัดแย้งกันอีกครั้ง หลังจากเมื่อวันที่ 22 ก.ย.ที่ผ่านมา ทางคณะกรรมาธิการร่วม 2 สภา ร่วมกันพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน โดยมีการเพิ่มเติมเขตพื้นที่ "อนุรักษ์พิเศษ" ซึ่งเป็นเขตพื้นที่เขตอนุรักษ์ที่รัฐมนตรีประกาศโดยการอนุมัติจากครม. ประกอบด้วยพื้นที่ต้นน้ำลำธารที่มีสภาพป่าสมบูรณ์ พื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง พื้นที่ที่มีความเปราะบางทางกายภาพและชีวภาพ หรือแหล่งศึกษาธรรมชาติ และพื้นที่ที่มีลักษณะเด่นทางธรรมชาติ เช่น มีพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์หายาก หรือใกล้สูญพันธุ์


 


ทำให้หลายฝ่ายทั้งภาคประชาชน นักวิชาการ และองค์กรพัฒนาเอกชน ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นกันว่า การปรับร่างกฎหมายป่าชุมชนโดยการเพิ่ม "เขตอนุรักษ์พิเศษ" เข้าไปนั้น เป็นการกระทำที่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ เพราะเป็นการไปเปลี่ยนเจตนารมณ์ของกฎหมาย โดยขัดต่อหลักการและธรรมเนียมปฏิบัติในการพิจารณากฎหมายของคณะกรรมาธิการ และยังเป็นลิดรอนสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ เช่น มาตรา 46 56 และ 79 อีกด้วย


 


เนื้อหาสาระหลักของกฎหมายที่ถูกนำไปใส่สีตีไข่ เล่นแร่แปรธาตุในครั้งนี้ ทำให้มีการวิจารณ์กันอย่างหนักว่า ยิ่งทำให้กฎหมายป่าชุมชนที่กำลังพิจารณาอยู่นี้กลายเป็นกฎหมายที่ล้าหลังตกขอบยิ่งขึ้นไปอีก จากที่เคยเป็นกฎหมายก้าวหน้า ที่เกิดจากการร่างกฎหมายโดยภาคประชาชน แต่กลับกลายเป็นว่า มีการพยายามเพิ่มอำนาจรัฐ และพยายามกีดกันประชาชนในการเข้ามามีส่วนร่วมจัดการป่า เพราะการที่กรรมาธิการร่วมฯ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน เพิ่มเติม "เขตพื้นที่อนุรักษ์พิเศษ" ซึ่งหมายความว่า ไม่อนุญาตให้มีการจัดตั้งป่าชุมชนในเขตอนุรักษ์พิเศษได้ ก็เท่ากับว่า เป็นการบีบเอาคนออกจากป่าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในที่สุด


 


นั่นคือที่มาของการเดินธรรมชาติยาตราในครั้งนี้ เพื่อแสดงจุดยืนในการรณรงค์เรียกร้องและยืนยันร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน ฉบับประชาชน


 


"ประชาไท" จึงขอเรียบเรียงมุมมองของนักคิด นักวิชาการอาวุโส ที่ได้แสดงทัศนะเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ป่าชุมชน ภาคประชาชน ว่าเป็นเช่นไร และจะส่งผลต่อการเปลี่ยนทัศนคติ แนวคิด และการตัดสินใจของกรรมาธิการร่วม 2 สภา เกี่ยวกับ พ.ร.บ.ป่าชุมชน ที่จะกำลังเสนอเข้าที่สภาในระยะเวลาอันใกล้นี้หรือไม่


 


สุลักษณ์ ศิวรักษ์


สู้ด้วยหลักอิทธิบาท 4 โดยสันติวิธี


ปราชญ์ปัญญาชนสยาม กล่าวในวันที่เริ่มต้นออกเดินธรรมชาติยาตราฯ ที่ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ในวันที่ 7 พ.ย.ที่ผ่านมา ว่า เป็นวันสำคัญอย่างยิ่ง และมีความสำคัญกับคนทั้งประเทศ ในการเรียกร้องสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากร การที่จะเดินธรรมชาติยาตราเพื่อยืนยันเจตนารมณ์เดิมของชาวบ้านต่อ พ.ร.บ. ป่าชุมชนด้วยการเดินเท้าจาก อ.เชียงดาวไปยังกรุงเทพมหานครนั้นเป็นเรื่องสำคัญ แม้ว่าจะมีชาวบ้านจำนวนน้อยที่ร่วมเดินตลอดเส้นทาง แต่การมีพี่น้องมาคอยให้กำลังใจและร่วมเดินเป็นช่วงๆ ก็ถือว่ามีความสำคัญเช่นกัน


 


"อย่าลืมว่าบ้านเมืองนี้เป็นของพวกเรา แต่ปัจจุบันถูกแย่งชิงไปด้วยนายทุนซึ่งเวลานี้เปรียบเสมือนสุนัขรับใช้บริษัทข้ามชาติ รับใช้จักรวรรดินิยมอเมริกา โดยเฉพาะนายทุนที่ชื่อทักษิณ ชินวัตรซึ่งปัจจุบันเป็นโอกาสสุดท้ายของเขาแล้ว แม้ว่าตอนนี้เขายังไม่พัง แต่เร็วๆนี้เขาพังแน่ และแม้จะไม่พังด้วยกระบวนการรัฐสภา แต่เขาจะแพ้ภัยตัวเองอยู่ประเด็นเดียวคือประเด็นที่ประชาชนตื่นตัวไม่ยอมอยู่ภายใต้อำนาจของเขา ซึ่งการไม่อยู่ภายใต้อำนาจของเขาเราก็ต้องต่อสู้โดยใช้ธรรมะมาเป็นพื้นฐาน ใช้หลักอิทธิบาท 4 สู้โดยใช้สันติวิธี" นายสุลักษณ์ กล่าว


 


ศ.เสน่ห์ จามริก


กฎหมายมีไว้เพื่อความสงบสุข ไม่ใช่เพื่อเผด็จการ อยุติธรรม


ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่ได้เดินทางมาให้กำลังใจ และกล่าวปาฐกถาให้แก่ขบวนธรรมชาติยาตราที่เดินเท้ามาถึงที่วัดเกาะแก้ว ต.จอมทอง อ.เมือง จ.พิษณุโลก เมื่อวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา


 


ศ.เสน่ห์ กล่าวว่า การที่กลุ่มผู้นำระดับประเทศกับพี่น้องในชุมชน รวมไปถึงนักวิชาการมีมุมมองในการมองป่าที่แตกต่างกัน จึงทำให้เป็นปัญหามาเป็นเวลาเกือบ 20 ปี อาจจะตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจก็ตาม ก็กลายเป็นเครื่องมือของผลประโยชน์ภายนอก เห็นชัดเจนว่าสังคมเรามีปัญหาช่องว่างอย่างมาก


 


ผมไปที่ไหนก็พูดว่าป่าไม่ใช่มีแต่ต้นไม้ แต่มีทรัพยากรชีวภาพอันหลากหลายด้วย มีส่วนประกอบสำคัญคือชุมชนที่ทำให้ความหลากหลายยังคงอยู่ คนกับป่าอยู่มาหลายชั่วคนแล้ว ผมเรียนรู้จาก อ.สมศักดิ์ สุขวงศ์ ผมก็รู้ว่าป่าทุกวันนี้ท่านเรียนว่าป่ารุ่น 2 หมายความว่าไม่ใช่ป่าดั้งเดิม ป่าที่ยืนยาวทุกวันนี้เกิดจากการฟื้นฟูและพัฒนาจากภูมิปัญญาของชุมชน


 


ศ.เสน่ห์ กล่าวอีกว่า ทำไมป่ากับคนอยู่กับป่าจึงอยู่ด้วยกันได้ เพราะคนก็ใช้ป่าเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง มีปัจจัยสี่ครบครันหมด แต่ในขณะเดียวกันเราก็มีภูมิปัญญาที่จะบูรณะป่าให้มีความอุดมสมบูรณ์ขึ้น มีการขยายพันธุ์ ปลูกพืชพันธ์ใหม่ขึ้น เมื่อมีพืชก็จะมีสัตว์ที่หลากหลายมากขึ้น ไม่ใช่เวลามาตั้งคำถามแล้วว่าคนกับป่าอยู่ด้วยได้หรือไม่เพราะ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็มีพระบรมราโชวาทว่าการที่กรมป่าไม้มาขีดเส้นบนป่าสงวน ตอนที่ออกกฎหมายป่าสงวนปี 2507 แล้วไล่คนออกจากป่าใครนั้นถือว่าไม่ถูกต้อง เพราะกฎหมายนั้นมีไว้เพื่อทำให้คนมีความสงบสุข แต่ไม่ใช่มีไว้เพื่อบังคับคน ถ้ามาบังคับคนก็เป็นเผด็จการ ไม่มีความยุติธรรม


 


ปัจจุบัน ป่าชุมชนถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งยวด เพราะทรัพยากรป่าของเราเป็นป่าเขตร้อนที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก เรามีภูมิปัญญาเป็นต้นทุน ทรัพยากรชีวภาพนี้กำลังเป็นที่หมายปอง และกำลังจะถูกช่วงชิงจากชาติมหาอำนาจ ดังนั้นการต่อสู้เพื่อรักษาป่าชุมชนจึงมิใช่แค่การต่อสู้เพื่อการดำรงวิถีชีวิตแบบเดิม ๆ เหมือนในอดีตเท่านั้น หากแต่ทั้งชุมชนและคนในสังคมก็จะต้องเห็นความสำคัญเพราะเป็นการปกป้องทรัพยากรชีวภาพที่เป็นสมบัติของชาติด้วย


 


ศ.นพ.ประเวศ วะสี


ป่าชุมชน คือ การถอดชนวนความรุนแรง


ในเวทีเสวนา "4 นักคิดเปิดทิศทางพ.ร.บ.ป่าชุมชน" เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคมที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมจุมภฎ-พันธุ์ทิพย์ ตึกประชาธิปกรำไพพรรณี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์วิทยาลัย ศ.นพ.ประเวศ วะสี นักคิด นักปราชญ์ คนสำคัญของสังคมไทยได้ออกมาแสดงทัศนะต่อ พ.ร.บ.ป่าชุมชน ว่า


 


ป่าชุมชนสัมพันธ์เชื่อมโยงกับเรื่องที่ใหญ่มาก คือเรื่องประชาธิปไตย ประชาชนมีสิทธิจัดการทรัพยากร ไม่ใช่แค่ลงเสียงเลือกตั้ง เป็นเรื่องรัฐธรรมนูญที่บัญญัติสิทธิชุมชน เป็นเรื่องการฟื้นฟูเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งควบคู่กับการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นฐานเศรษฐกิจทั้งหมด เป็นเรื่องของศีลธรรมพื้นฐาน คือ การเคารพศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นคนของทุกคน โดยเฉพาะคนเล็กคนน้อย คนจน เคารพว่าเขามีศักยภาพจัดการ ถ้าไม่ได้ชาวบ้านเดือดร้อน ไม่ใช่วุฒิสมาชิกเดือดร้อน ตัวอย่างก็มีให้เห็นเป็นพันแห่ง


เรื่องนี้เป็นการปฏิรูปการจัดการอย่างสำคัญ ประเทศพังเพราะเราใช้ระบบเส้นทางเดียว คือรัฐจัดการทุกอย่าง ระบบที่ดีที่สุดคือร่างกายของเรา ซึ่งไม่มีวันใช้ระบบเส้นทางเดียว เพราะหากตีบตันจะตาย เราใช้เส้นทางเดียว เราคิดว่ากรมป่าไม้คือผู้รักษาป่า ซึ่งก็พิสูจน์แล้วว่าทำไม่ได้ วุฒิสภาก็ยังอยากเลือกให้กรมป่าไม้เป็นผู้รักษาป่าอีก ไม่อีกหลายวิธีซึ่งมีในกฎหมายป่าชุมชน


 


ป่าชุมชน ยังเป็นการปฏิรูปการเรียนรู้และปฏิรูปการศึกษา สำหรับผม ไม่ถือว่าที่พูดกันเป็นการปฏิรูปการศึกษาเลย เพราะจะต้องมีโจทย์ใหญ่ ต้องปฏิรูปให้เกิดปัญญาใหญ่แก้วิกฤติบ้านเมืองได้ ถ้าท่านลงไปชนบทพูดคุยกับชาวบ้าน จะเห็นว่าความรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้นคือความยากจนและการแย่งชิงทรัพยากรในชนบท และรัฐเป็นส่วนสำคัญในการแย่งชิงไม่ให้ชาวบ้านใช้ประโยชน์


 


ป่าชุมชนคือการถอดชนวนความรุนแรงนั้นให้ชาวบ้านมีสิทธิจัดการ วางแผนระยะยาวได้ ถ้าเขาไม่รู้ว่าถูกไล่เมื่อไร เขาไม่ปลูกต้นไม้ แต่ถ้าเขารู้ว่าไม่ถูกไล่ เขาจะปลูกต้นไม้ ป่าชุมชน จึงเป็นการถอดชนวนความรุนแรงในประเทศไทย อยากให้มองเห็นตรงนี้


 


ความน่ากลัวอย่างหนึ่งก็คือ การรุกรานครอบงำจากต่างชาติ ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ ตั้งแต่มีการพัฒนาวิทยาศาสตร์เมื่อ 400 ปี คุณูปการที่ใหญ่ที่สุดควรจะนำไปสู่ปัญญา แต่ชาวยุโรปได้เลือกลงต่ำ เอาวิทยาศาสตร์ไปทำอาวุธ ไล่ฆ่าฟันผู้คน ชนพื้นเมือง อินเดียนแดง ยิงคนเหมือนยิงจิงโจ้ อันนี้คือฐานที่มาความรู้ฝรั่ง ซึ่งมาจากการแย่งชิง แล้วเราก็เอาความรู้ ความคิดดังกล่าวมาทำกับชนบทของเรา เหมือนชนบทเราเป็นเมืองอื่น ประเทศอื่น ขณะนี้เขาก็ไม่ได้เลิก เขาพูดโลกาภิวัตน์เหมือนเป็นสัจธรรม ถ้าไม่ทำแล้วบาป แต่โลกาภิวัตน์ที่พูดกันคือการแย่งชิงอย่างเสรี ไม่เจริญขึ้น เป็นโลกาภิวัตน์แบบด้อยพัฒนา เราควรมีโลกาภิวัตน์ที่เป็นอารยะ ร่วมมือกัน ตรงนี้ก็เข้ามาในรูปใหม่ ใช้เรื่องการเงิน การจัดการ เรื่องความรู้สิทธิบัตร และรัฐบาลต้านการครอบงำนี้ไม่อยู่


 


เรื่องป่าชุมชน จะเป็นการฐานที่แข็งแรง ยันการรุกรานต่างชาติ ท่านวุฒิสมาชิกที่รักช่วยมองประเด็นต่างๆ ว่าป่าชุมชนใหญ่กว่าป่า ใหญ่กว่าชุมชน ต้องส่งเสริมสันติวิธีอย่าให้เกิดการนองเลือด และต้องสร้างการเรียนรู้สู่การปฏิบัติ เพื่อรักษาชาติของเราให้ได้


 


ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์


การเมืองภาคประชาชนต้องพัฒนาให้ก้าวหน้า


นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กล่าวว่า ปัญหาที่มีเกี่ยวกับการออกกฎหมายป่าชุมชนไม่ใช่ปัญหาจัดการป่าชุมชน แต่เป็นวิธีคิดการเมืองของสังคมไทยที่แบ่งแยกคนชั้นกลางในเมืองกับคนชนบท แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าคนชั้นกลางในเมืองเปลี่ยนแปลงไม่ได้


 


ต่อกรณีขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของป่าชุมชนกับความก้าวหน้าการเมืองภาคประชาชน ซึ่งตรงกับทฤษฎีสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา ไม่มีขบวนการเคลื่อนไหวตรงกับทฤษฎีดังกล่าวเท่ากับป่าชุมชน ที่มีการสร้างฐานความรู้มากมาย ศึกษาวิจัย และถูกตีพิมพ์ มีตลาดที่ได้อ่าน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา


 


การขับเคลื่อนทางสังคมของแนวคิดป่าชุมชน ถามว่าดีไหม ผมว่าดีพอสมควร สำเร็จครึ่งหนึ่ง ลองนึกถึง 10 กว่าปีที่ผ่านมามีรายการทีวีที่เสนอให้คนดูความสำเร็จของป่าชุมชนสืบเนื่องมานาน เช่น ป่าใหญ่ ครีเอชั่น ซึ่งอยู่ได้นานไม่หายไป มีบทความหนังสือพิมพ์ต่อเนื่อง


 


ผมคิดว่าคนชั้นกลางซึ่งมีอคติเรื่องนี้ ถูกให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับป่าชุมชนมากทีเดียว แต่ทั้งรายการทีวีและบทความหนังสือพิมพ์ในส่วนให้ความรู้มีไม่ค่อยมากนัก มักจะเป็นการเสนอความสำเร็จของป่าชุมชน เมื่อให้ความรู้ไม่เพียงพอ ทำให้ยังไม่สามารถทำลายอคติของคนชั้นกลางได้ สว.พยายามอภิปรายให้ถูกใจคนชั้นกลางในเมือง ซึ่งสะท้อนการขาดความรู้ของคนชั้นกลาง ซึ่งสว.เป็นตัวแทนด้วย เมื่อมองตามทฤษฎีสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา เรายังสำเร็จครึ่งๆ กลางๆ


 


การสามารถผลักดันกฎหมายป่าชุมชนเข้าสภาได้ก็เป็นความสำเร็จส่วนหนึ่ง ฟังจากตัวแทนกรรมาธิการวิสามัญของสส.เรื่องป่าชุมชน สส.ก็ไม่ค่อยสนใจ หรือรู้เรื่องราวเท่าใดนัก ที่ผ่านมาได้ก็เพราะทางการเมือง


 


ดังนั้น การเมืองภาคประชาชนกรณีป่าชุมชนก็ก้าวหน้าพอสมควร แต่ไม่เพียงพอ เราควรต้องทำงานด้านความรู้ต่อไปให้มากขึ้นกว่านี้ เราควรทำงานเรื่องสื่อมากขึ้น โดยเฉพาะมาตรา 40 ตามรัฐธรรมนูญ เรื่องสื่อ และการปฏิรูปการศึกษา เพื่อทำความเข้าใจแก่สังคมให้มากขึ้น และต้องคิดการประสานเครือข่ายกับคนชั้นกลางให้มากขึ้น.


 


จากมุมมองของนักคิด นักวิชาการอาวุโส ที่ได้เสนอทัศนะแนวคิดเกี่ยวกับการจัดป่าชุมชน ที่ผ่านมา อาจทำให้คนในสังคมไทยได้มีฉุกคิดและเข้าใจความสำคัญของการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทยโดยรวมกันชัดเจนยิ่งขึ้น แต่ก็ยังมีหลายฝ่ายต่างวิตกกังวลกันว่า มุมมองของนักวิชาการอาวุโสที่ออกมาแสดงความคิดเห็น จะช่วยสร้างความเข้าใจให้แก่กรรมาธิการร่วม 2 สภา รวมไปถึงสมาชิกวุฒิสภา และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดในสภาได้หรือไม่ นั่นเป็นสิ่งที่ประชาชนทั่วประเทศ โดยเฉพาะประชาชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ต่างกำลังเฝ้าจับตามองกันอยู่


 


กลับหน้าแรกประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net