Skip to main content
sharethis

ชื่อรายงานเดิม: ผู้บริหารโซนี่ถูกปล่อยตัวหลังจากถูกคนงานกักไว้ 24 ชม. แปลและเรียบเรียงจาก: Sony executives freed after 24-hour 'bossknapping' (LARA MARLOWE, www.irishtimes.com - 14/03/2009)


 




ภาพ คนงานโรงงานโซนี่ที่เมืองปองตงซูร์ลาดอร์ ถือป้ายผ้าเขียนว่า

"โซนี่ ช่วยเคารพลูกจ้างของท่านบ้าง"
(ที่มาภาพ: www.irishtimes.com)


 


นายเสิร์จ ฟูเชอร์ ด้วยลักษณะท่าทางการแต่งกายแบบผู้บริหารโดยทั่วๆไป คือหัวล้าน สวมแว่นสายตา ในชุดสูทสีเทากับเน็คไทผ้าไหม ได้รับเสรีภาพเมื่อวันจันทร์ตอนเช้าหลังจากที่กลุ่มคนงานที่ไม่พอใจผู้บริหารได้กักขังหน่วงเหนี่ยวตัวเขาไว้ถึง 24 ชั่วโมง นายฟูเชอร์กล่าวว่า เขารู้สึกดีใจที่ได้เป็นอิสระและได้เห็นแสงสว่างอีกครั้ง นายฟูเชอร์เป็นผู้บริหารระดับสูงคนหนึ่งของโซนี่ประเทศฝรั่งเศส


 


นายฟูเชอร์ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล พร้อมกับแกนนำสหภาพแรงงานในโรงงานอีกสองคน ถูกกักบริเวณอยู่ในห้องประชุมในโรงงานผลิตวีดีโอเทปที่เมืองปองตงซูร์ลาดอร์ ในแคว้นลองด์ ทางฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส


 


โรงงานแห่งนี้มีลูกจ้าง 311 คน และเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ทางโรงงานได้ประกาศให้ทุกคนทราบว่าจะมีการปิดกิจการในวันที่ 17 เมษายนปีนี้ เมื่อบ่ายวันพฤหัสที่ผ่านมา นายฟูเชอร์ได้เข้าไปในโรงงานเพื่อต้องการจะกล่าวอำลาเป็นครั้งสุดท้าย แต่ปรากฏว่าถูกคนงานที่ปฏิเสธเงินชดเชยในจำนวนที่บริษัทเสนอให้ เข้าล็อคตัวนายฟูเชอร์ คนงานปิดทางเข้าออกโรงงานทุกส่วนด้วยท่อนไม้  ต่อมาทางตำรวจได้ส่งนายตำรวจ 20 นายมาปิดล้อมโรงงานทั้งหมด


 


นายแพททริค  อาชาเกอร์  แกนนำในโรงงานซึ่งเป็นตัวแทนสหภาพแรงงาน กล่าวว่าบรรยากาศในโรงงานนั้นดี  แม้ว่าทางฝ่ายบริหารโซนี่จะคิดไม่เหมือนกันก็ตาม และยังกล่าวอีกว่า "ผู้บริหารจะไม่ยอมรับฟังพวกเราแน่ เราเลยไม่มีหนทางอื่น นอกจากต้องทำแบบนี้"


 


เหตุการณ์ "กักขังหน่วงเหนี่ยว" นายจ้าง ยุติลงในเวลา 10.30 น. เมื่อฝ่ายบริหารเดินออกมาจากโรงงานพร้อมกับตัวแทนสหภาพแรงงาน


 


ลูกจ้างโซนี่ยืนเรียงแถวสองข้างทาง และมองดูผู้บริหารกับตัวแทนสหภาพแรงงานเดินจากไปด้วยความเงียบ  จากนั้น ฝ่ายบริหารได้เดินไปขึ้นรถตู้ เพื่อขับออกไปยังเมืองใกล้เคียง เพื่อทำการเจรจาต่อในตอนบ่ายระหว่างสองฝ่าย


 


 "รัฐจะเข้าไปช่วยอำนวยความสะดวกในการหารือของสองฝ่าย" นายเอเตียน กูโยต์  ผู้ว่าราชการของแคว้นลองด์กล่าว


 


คนงานที่โรงงานแห่งนี้กล่าวว่า ตอนที่โรงงานโซนี่ที่เมืองอัลซาซปิดกิจการเมื่อปีที่แล้ว คนงานได้เงินชดเชยได้มากกว่าตั้ง 50 เปอร์เซ็นต์


 


"พวกเราไม่ได้เรียกร้องในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่พวกเราเรียกร้องว่าต้องมีการปฏิบัติที่เท่าเทียมกันกับลูกจ้างโซนี่คนอื่นๆ ในฝรั่งเศส เมื่อถูกเลิกจ้าง" นายอาชาเกอร์กล่าว


 


หนังสือพิมพ์ฟิกาโรของฝรั่งเศสรายงานข่าวว่า ลูกจ้างโซนี่ได้รับเงินค่าชดเชยจำนวน 45,000 ยูโร (ประมาณ 2,250,000 บาท) ซึ่งมากกว่าตามที่กฎหมายกำหนดไว้ และได้รับเงินสวัสดิการตั้งแต่ 9 ถึง 18 เดือนเพื่อเป็นเงินเลี้ยงชีพระหว่างหางานทำใหม่ แต่นายอาชาเกอร์กล่าวว่าก่อนหน้านี้โซนี่เสนอค่าชดเชยเท่ากับอัตราเงินเดือนคูณด้วยอายุงาน  ส่วนคนงานที่อายุมากกว่า 55 ปีก็ไม่มีเงินพิเศษอะไรเลย


 


"พวกเราไม่มีอะไรจะเสียแล้ว เพราะไหนๆ ก็ต้องตกงาน โซนี่ฝรั่งเศสตัดสินใจลดเงินค่าชดเชยพวกเรา เมื่อพวกเราอยุ่ในสถานการณ์ที่ย่ำแย่เพราะภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ"


 


"ตำแหน่งงานแทบจะไม่มีเหลือในพื้นที่แถบนี้ งานหายากมากในแคว้นนี้ ถ้าจำเป็นต้องย้ายออกจากไป ผมก็จะไป ผมอาศัยอยู่ที่นี่มาถึง 24 ปี และไม่เคยนึกฝันมาก่อนว่าโรงงานจะปิดกิจการ" นายฟิลลิปซึ่งเป็นลูกจ้างคนหนึ่งของโซนี่กล่าวกับสถานีวิทยุฟรานซ์อินโอ


 


นายชองตาล โอมิซิอูโล วัย 50 กล่าวว่าการกักตัวผู้บริหารครั้งนี้ "เป็นโอกาสสุดท้าย เราไม่มีทางเลือกอื่น"


ความเป็นไปได้ที่จะดัดแปลงโรงงานแห่งนี้เพื่อผลิตแผงโซล่าเซลล์เคยมีการพิจารณาแต่ถูกล้มเลิกไป  ตัวแทนสหภาพแรงงานคัดค้านโครงการนี้ โดยกล่าวว่าทางโซนี่ไม่มีการปรึกษาหารือกับสหภาพแรงงาน


 


บ่ายวานนี้ นายอาชาเกอร์กล่าวว่าการเจรจามีความคืบหน้าในเรื่องการรักษาตัวของคนงานที่อายุมาก และขยายเวลามากขึ้นในการหางานใหม่ รวมทั้งให้มีการฝึกทักษะฝีมือแรงงานคนที่ถูกเลิกจ้าง  แต่ว่าการเจรจาต่อรองไม่คืบหน้าในเรื่องจำนวนเงินค่าชดเชย


 


หน่วยงานรัฐที่ดูแลเรื่องการว่างงานได้ประกาศในสัปดาห์นี้ว่า  จะมีคนฝรั่งเศสตกงานระหว่าง 375,000 - 454,000 คน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าเศรษฐกิจจะหดตัวอยู่ที่ 1.5 หรือ 1.8 เปอร์เซ็นต์


 


รัฐบาลฝรั่งเศสกำลังเตรียมรับมือการนัดหยุดงานและการประท้วงทั่วประเทศในวันที่ 19 มีนาคม


 


เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโซนี่ฝรั่งเศสอาจจะเป็นแรงบันดาลใจหรือตัวอย่างให้คนงานที่อื่นๆ โดยเฉพาะถ้าหากการ "กักตัว" ผู้บริหาร สามารถทำให้การเจรจาต่อรองได้ผลดีขึ้น


 


เมื่อปีที่แล้ว ชายอังกฤษเจ้าของโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์แห่งหนึ่งในภาคตะวันออกของฝรั่งเศส  ถูกลูกจ้างกักตัวไว้เป็นเวลาติดต่อกัน 48 ชม.


 


และมีอีกเหตุการณ์หนึ่ง ที่มีคนได้รับบาดเจ็บ 14 คน ภายหลังตำรวจจู่โจมเข้าไปในโรงงานผลิตไอศครีมแห่งหนึ่งเพื่อปล่อยตัวผู้จัดการที่ถูกจับเป็นตัวประกัน.


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net