Skip to main content
sharethis

 


 



 


ส.ศิวรักษ์ นำทัพธรรมยาตราเครือข่ายป่าชุมชนภาคเหนือ เดินเท้าจากเชียงดาว เข้ากรุงเทพฯ เพื่อยันยันเจตนารมณ์ของ ร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน เดิม โดยคัดค้าน และไม่เห็นด้วยที่ กมธ.ร่วม 2 สภา เสนอให้เพิ่มเติมมาตราเกี่ยวกับการประกาศ " เขตพื้นที่อนุรักษ์พิเศษ"  ที่เอื้อต่อการใช้อำนาจรัฐ และเป็นเครื่องมือในการประกาศเขตป่า ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างหนัก


 


จากกรณี เมื่อวันที่ 22 กันยายนที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการร่วม 2 สภา ได้ร่วมกันพิจารณาร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชน โดยมีการเพิ่มเติม " เขตพื้นที่อนุรักษ์พิเศษ"  เข้าไปในภายหลัง หลังจากนั้น คณะกรรมาธิการร่วมจึงมีมติ 11 ต่อ 4 ให้เพิ่มเติมเขตอนุรักษ์พิเศษ ซึ่งมีผลเป็นการไม่อนุญาตให้มีการจัดตั้งป่าชุมชนในเขตนี้ได้


 


ทั้งนี้ การนิยามเขตอนุรักษ์พิเศษว่า เป็นเขตพื้นที่ในเขตอนุรักษ์ที่รัฐมนตรีประกาศโดยการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ประกอบด้วยพื้นที่ที่มีลักษณะคือ 1.พื้นที่ต้นน้ำลำธารที่มีสภาพป่าสมบูรณ์ 2.พื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง 3.พื้นที่ที่มีความเปราะบางทางกายภาพและชีวภาพ หรือแหล่งศึกษาธรรมชาติ 4.พื้นที่ที่มีลักษณะเด่นทางธรรมชาติ เช่น มีพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์หายากหรือใกล้สูญพันธุ์


 


ซึ่งหลายฝ่ายได้ตั้งข้อสังเกตว่า หากมีการเพิ่มเขตพื้นที่อนุรักษ์พิเศษ เข้าไปในร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน ด้วยนั้นย่อมส่งผลกระทบต่อประชาชนในหลายพื้นที่ทั่วประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจาก ปัจจุบันมีพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั่วประเทศอยู่ 81 ล้านไร่ เป็นป่าต้นน้ำ ซึ่งตรงตามตามนิยามเขตอนุรักษ์พิเศษถึง 72 ล้านไร่ และส่วนใหญ่ชาวบ้านก็ดูแลพื้นที่เหล่านี้ในฐานะป่าชุมชนกันมานาน


 


ล่าสุด เครือข่ายป่าชุมชนภาคเหนือประมาณ 1,000 คนได้มีการรวมตัวกัน ที่บริเวณลานกิจกรรมริมฝั่งแม่น้ำปิง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ร่วมเดินธรรมยาตรา เดินเท้าจากเชียงดาว เข้ากรุงเทพฯ เพื่อยันยันเจตนารมณ์ของ ร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน เดิม โดยมี ส.ศิวรักษ์ และกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมเดิน ไม่เห็นด้วยที่ กมธ.ร่วม 2 สภา เสนอ


 


นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ปราชญ์ปัญญาชนสยาม กล่าวว่า วันนี้ถือว่าเป็นวันสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ไม่ใช่เฉพาะพี่น้องที่อยู่


ณ ที่นี้ แต่มีความสำคัญกับพี่น้องทั้งประเทศ การที่จะเดินจากเชียงดาวไปถึงกรุงเทพฯนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญ


จริงอยู่อาจจะมีพี่น้องจำนวนน้อยที่เดินตลอด หรืออาจจะมีพี่น้องมาคอยให้กำลังใจ และร่วมเดินเป็นช่วงๆ


แต่ถึงกระนั้นก็ถือว่าสำคัญมากเช่นกัน


           


"การงานทุกอย่างจะสำเร็จได้ ประกอบไปด้วย องค์ 4 ประการ ต้องมี ฉันทะ รักในสิ่งที่จะทำสิ่งที่ถูกต้อท่านทั้งหลาย


ต้องถือว่าเป็นคนที่มีฉันทะที่มาร่วมกันในวันนี้ โดยเฉพาะการที่เดินไปกรุงเทพฯ เป็นฉันทะที่สำคัญที่สุด


นอกจากนี้ประกอบไปด้วย วิริยะ คือ ความเพียร เก่งกล้า ตั้งใจเต็มที่ ที่เรียกว่า จิตติ มีความรักที่จะทำ


มีความเพียรที่จะทำ มีจิตใจมุ่งมั่นที่จะทำ และวิมังสา หาเหตุที่จะทำให้ถูกต้องดีงามให้ได้ชัยชนะในที่สุดที่สำคัญ


อย่าลืมว่าบ้านเมืองเป็นของราษฎร เป็นของพวกเรา แต่ถูกแย่งชิงไป ถูกยื้อแย่งเอาไป ด้วยนายทุน ด้วยขุนศึก


ตอนนี้ขุนศึกนั้นมีอำนาจลดน้อยลงไปแล้ว" นายสุลักษณ์ กล่าว


 


นายสุลักษณ์ ยังกล่าวอีกว่า นายทุนในห้วงเวลานี้ ถือว่าเป็นสุนัขรับใช้บริษัทข้ามชาติ รับใช้จักวรรดินิยมอเมริกา


ดังนั้น โอกาสนี้เป็นโอกาสสุดท้ายของรัฐบาลชุดนี้แล้ว มันจะพังเร็วๆ นี้ เพราะมันไม่ฟังด้วยกระบวนการรัฐสภา


แม้กระทั่งไม่ยอมรับฟังองค์กรต่างๆ ไม่ว่าองค์กรสิทธิมนุษยชน ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง แต่มันจะแพ้


ภัยตัวเองอยู่ประเด็นเดียว คือเมื่อราษฎรตื่นตัวขึ้นมา โดยเอาธรรมะมาเป็นพื้นฐาน ต่อสู้โดยหลักอิทธิบาท 4


โดยสันติวิธี


           


ด้านนายสุรสีห์ โกศลนาวิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า ถือว่าการเดินธรรมยาตรานครั้งนี้


เป็นการรวมพลของภาคประชาชนครั้งใหญ่ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่ง ที่แสดงพลังประชาชนภายใต้รัฐธรรมนูญ


ปี 2540 เพราะที่ผ่านมา เราใช้รัฐธรรมนูญเพียงแค่ตัวหนังสือ ไม่ได้นำมาปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม


 


"ในนามของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ จึงขอเป็นกำลังใจให้กับพี่น้องชาวบ้านที่เดินธรรมยาตราในครั้งนี้


 รวมทั้งประชาชนที่ไม่ได้ร่วมเดินแต่มีส่วนร่วมในการผลักดัน พ.ร.บ.ป่าชุมชน ฉบับประชาชน ได้บรรลุตาม


เจตนารมณ์เดิม" นายสุรสีห์ กล่าว


 


ด้าน นายต่าแยะ ยอดฉัตรวิบูลย์ ตัวแทนชาวบ้าน จาก อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ธรรมชาติยาตราเป็นการ


ลงมนต์ในป่าชุมชนและให้ชุมชนรับรู้ว่าคนอยู่กับป่า เคยดูแลป่ามาหลายชั่วอายุคน ซึ่งบางคนนั้นยังไม่ยอมรับ


ในเรื่องของคนอยู่กับป่า เพราะคิดว่า การอยู่กับป่าของคนนั้นไม่ได้รักษาป่า และทำลายป่า แต่การเดิน


ธรรมชาติยาตราในครั้งนี้นั้น เพื่อต้องการให้คนรับรู้ว่า เราจะอยู่กับป่า และพร้อมที่จะดูแลรักษาป่า


 


"การเดินครั้งนี้ ตนมาด้วยความจริงใจและมาด้วยใจ และจะเดินไปให้ถึงกรุงเทพฯ ซึ่งตนคาดหวังว่า จะได้ป่าชุมชน


ฉบับประชาชน อีกอย่างหนึ่งอยากให้สังคมรับรู้ในเรื่องของป่าไม้ด้วยว่า สำคัญมากเพียงใด" นายต่าแยะ กล่าว


 


นายสำรวย เรืองใส ชาวบ้านจาก อ.เถิน จ.ลำปาง กล่าวว่า ต้องการยืนยันเจตนารมณ์ในการร่วมผลักดัน พ.ร.บ.ป่าชุมชน จึงได้มาร่วมเดินธรรมยาตราในครั้งนี้ และคิดว่าพร้อมจะเดินไปให้ถึงกรุงเทพฯ จนกว่าจะไม่ไหว ก็จะให้คนอื่นมาเปลี่ยนแทน


 


ในขณะที่ นายกลาง ศิริ ชาวบ้านจาก อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นเครือข่ายกลุ่มเกษตรกร อ.ดอยสะเก็ด กล่าวว่า การเดินธรรมยาตราครั้งนี้ ก็เพื่อต้องการสื่อให้สังคมรู้ว่า จริงๆ แล้ว คนอยู่ร่วมกับป่าชุมชนได้ ไม่ใช่ตัวปัญหา ต้องการยืนยันจะเอา พ.ร.บ.ป่าชุมชน ฉบับประชาชน อย่างไรก็ตาม หาก ร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน ไม่ผ่านสภา ชาวบ้านทุกคนก็ยังย้ำที่จะร่วมกันทำป่าชุมชนต่อไป


 


ทั้งนี้ ได้มีตัวแทนเครือข่ายป่าชุมชนภาคเหนือ จำนวน 99 คนประกาศยืนยันที่จะเดินเท้าตั้งแต่ อ.เชียงดาว ไปจนถึง


กรุงเทพฯ เป็นแกนนำหลัก นอกจากนั้น ยังมีประชาชนในเขตภาคเหนืออีกเกือบ 1,000 คนได้ทยอยกัน


เข้ามาร่วมเดินธรรมยาตรากันอย่างต่อเนื่อง โดยยึดการเดินทางในวันที่ 7 พ.ย.นี้ เพราะถือว่าเป็นวันที่สภาฯ


ได้เคยรับพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน ผ่านวาระ 3 ด้วยคะแนนเสียง 341 เสียง


 


รายงานแจ้งว่า ผู้เข้าร่วมเดินขบวน จะเป็นชาวบ้านพื้นราบและชาวไทยภูเขา อายุตั้งแต่ 15 - 85 ปี โดยเคลื่อน


ขบวนจากลานกิจกรรมริมฝั่งแม่น้ำปิง ไปตามถนนสายเชียงใหม่-ฝาง ผ่านไปตัว อ.เชียงดาว โดยมีเป้าหมาย


ในวันนี้ (7 ต.ค.2548) ที่จะพักค้างแรมกันบริเวณป่าสน ต.อินทขิล อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net