Skip to main content
sharethis

บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์


Peaceway Foundation


 



จากสถานการณ์ในพื้นที่ต่างๆของประเทศพม่า ที่ประชาชนต้องเผชิญกับผลกระทบจากสงครามและการละเมิดสิทธิในรูปแบบต่างๆจากรัฐบาลทหารพม่า ส่งผลให้มีประชาชนจำนวนมากโดยเฉพาะจากรัฐชาติพันธุ์ เช่น รัฐกะเหรี่ยง คะเรนนี ฉาน มอญ ต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ(IDPs) ซึ่งก็คือกลุ่มคนที่ถูกรัฐบาลกดดันให้ต้องอพยพออกจากหมู่บ้านและหลบซ่อนตามผืนป่าของประเทศตนเอง จากการสำรวจของ Thailand Burma Border Consortium (TBBC) พบว่าเฉพาะในปี 2550 ตลอดแนวชายแดนประเทศพม่ากับประเทศไทยมี IDPs อย่างน้อย 503,000 คน อาศัยอยู่ในป่าทางด้านตะวันออกของประเทศพม่า 99,000 คน อยู่ในแปลงอพยพ (Relocation site) 109,000 คน และอยู่ในเขตเจรจาหยุดยิงของชนชาติพันธุ์กลุ่มต่างๆ 295,000 คน พวกเขาจะต้องเคลื่อนย้ายหลบหนีการคุกคามของทหารพม่าอย่างน้อยทุกหกเดือน บางครอบครัวปีหนึ่งต้องเคลื่อนย้ายสองถึงสามครั้ง เนื่องจากเกิดการสู้รบในพื้นที่บริเวณที่หลบซ่อนอยู่ หลายครอบครัวไม่สามารถกลับไปยังพื้นที่หลบซ่อนเดิมได้เนื่องจากเต็มไปด้วยกับระเบิด และอีกหลายครอบครัวที่ไม่สามารถเผชิญกับภาวะการณ์อันเสี่ยงต่อชีวิตในเรื่องต่างๆได้ พวกเขาจะหลบหนีเข้ามายังประเทศไทยเพื่ออาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยที่เขาเชื่อว่า"มีความปลอดภัย"แทน



 


ซอ ตะ เบย์ อดีตเจ้าหน้าที่สนามของ Burma Issues ให้ข้อมูลว่า "ชาวบ้านเหล่านั้นมักจะได้รับผลกระทบจากนโยบายตัด 4 (Four Cuts) คือ การตัดเงินทุน ตัดเสบียงอาหาร ตัดอาวุธ และตัดข้อมูลข่าวสาร ซึ่งรัฐบาลเผด็จการทหารพม่านำมาใช้เพื่อป้องกันไม่ให้ชาวบ้านแอบส่งเสบียงไปให้กองกำลังชนชาติพันธุ์เดียวกันที่เคลื่อนไหวอยู่ในป่า ทหารพม่าใช้กำลังขู่เข็ญบังคับชาวบ้านให้โยกย้ายหมู่บ้านออกไปอยู่ในพื้นที่ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของทหารพม่าแทน (Relocation site) การบังคับโยกย้ายถิ่นฐานที่เกิดขึ้นทำให้ชาวบ้านต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างอดอยากแร้นแค้น เนื่องจากไม่สามารถกลับไปทำมาหากินในไร่นาของตนเองได้ อีกทั้งยังถูกทหารพม่าบังคับใช้แรงงานในกิจกรรมต่างๆของกองทัพ เช่น หาบเสบียงและอาวุธ สร้างค่ายทหาร ทำถนน ฯลฯ"


 


 



 


ป้า นอ รี เซอ เล่าให้เจ้าหน้าที่สนามของ Burma Issues ที่ปฏิบัติงานอยู่ในรัฐกะเหรี่ยงปีที่แล้ว ฟังถึงชีวิตการเป็นผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ ว่า


 


"ฉันชื่อ นอ รี เซอ ตอนนี้อายุ 71 ปีแล้ว ฉันเคยอาศัยอยู่ที่หมู่บ้านกลอกีดอ เมืองบูโธ เขตมูตอว์ ฉันเป็นชาวบ้านที่ไม่เคยได้ยินเรื่องการศึกษา โรงเรียน เทคโนโลยี และสถานการณ์การเมืองแม้แต่น้อย เพราะไม่มีโรงเรียนตั้งอยู่ในละแวกนี้ ฉันรู้แค่วิธีดูแลเด็กๆ เพราะสามีของฉันตายเนื่องจากถูกทหารพม่าฆ่า ทิ้งลูกไว้ให้ฉันเลี้ยง 3 คน ซึ่งลำบากมากเพราะฉันเป็นแค่ชาวไร่ ต้องเลี้ยงดูลูกๆพร้อมกับทำไร่และต้องหาอาหารให้เพียงพอในแต่ละปี


 


ในชีวิตที่ผ่านมาลูกของฉันเหล่านั้นต้องพบกับความยากลำบากอย่างมาก ทั้งเรื่องสุขภาพ อาหาร และความต้องการพื้นฐาน แม้ว่าฉันจะมีลูกถึง 3 คน แต่ก็ไม่มีใครได้เรียนหนังสือเพราะฉันไม่มีเงินส่งเสีย จำได้ว่าครั้งหนึ่งฉันเคยป่วยหนักมากจนเกือบจะเสียชีวิต ในตอนนั้นไม่มีใครดูแลฉันเพราะลูกๆยังเล็กมาก ทำอะไรไม่ค่อยเป็น ตอนนั้นเราไม่มีอะไรเลย ไม่ว่าจะเป็นของใช้ในบ้าน ข้าวสารและเกลือก็ไม่มี มันเป็นประสบการณ์ที่ฉันไม่เคยลืม



 


ถ้าถามถึงสถานการณ์การเมืองที่ง่อนแง่นอยู่ตอนนี้ มันเป็นปัญหาที่สร้างความทุกข์ยากและความกังวลอย่างยิ่ง ตั้งแต่ฉันเป็นเด็กฉันไม่เคยมีอิสรภาพเลยเพราะสิ่งที่รัฐบาลทหารพม่ากระทำมันเลวร้ายสำหรับเรายิ่งนัก ฉันหวังเพียงว่าสถานการณ์การเมืองจะเปลี่ยนแปลง แต่ก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง กลับเลวร้ายลงทุกวัน ยิ่งกว่านั้นฉันต้องเผชิญกับการกดขี่ของรัฐบาลทหารพม่า ถูกบังคับใช้แรงงาน ปล้นเอาทุกอย่างที่ต้องการ เห็นคนอื่นๆถูกพวกนั้นฆ่า ฉันกับลูกๆต้องหนีเข้าป่าเพื่อซ่อนตัวจากทหารพม่า ฉันยังจำได้ว่าสามีของฉันถูกทหารพม่าบังคับให้หาบของที่หนักมากจนเขาแบกไม่ไหว ต่อมาเขาก็ถูกทหารพม่าฆ่าทิ้งในป่า นี่เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้ฉันเศร้าและปวดร้าวใจที่สุด



 


อีกเหตุการณ์หนึ่งเกี่ยวกับ SPDC ที่ฉันไม่ลืมเลย คือเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2545 พวกนั้นบุกเข้ามาในหมู่บ้านแล้วยิงใส่ชาวบ้าน ตอนนั้นฉันวิ่งหนีเข้าป่าไป ตกบ่ายพวกทหารพบยุ้งข้าวของฉันและเผาทำลายทิ้งทั้งหมด ฉันออกไปหาอาหารจากที่อื่นก็ไม่ได้เพราะไม่ปลอดภัย ทหารของ SPDC ลาดตระเวนอยู่หลายพื้นที่ อีกทั้งยังมีกับระเบิดที่วางไว้อีก ตั้งแต่นั้นฉันต้องหนีหลบซ่อนอยู่ในป่ามาตลอด ฉันต้องเจอกับปัญหาสุขภาพ อาหารขาดแคลน และไม่มีที่อยู่อาศัย จนถึงบัดนี้ฉันต้องทนทุกข์ทรมานกับความลำบากมากมายในชีวิตเพราะรัฐบาลทหารพม่าหรือ SPDC ข่มเหงเรา มีครั้งหนึ่งควายฉันเหยียบโดนกับระเบิดที่อยู่ด้านหลังที่ดินของฉันเอง ทำให้ฉันกลัวที่จะออกไปรอบๆที่ดินเพื่อหาพืชผักและอาหารมาประทังชีวิต



 


ทุกวันนี้ฉันไม่มีที่ดินที่จะเพาะปลูกพืชไร่หรือเลี้ยงสัตว์เหมือนแต่ก่อน ฉันเลี้ยงสัตว์ไว้ขายหารายได้เล็กน้อยมาจุนเจือครอบครัว แม้ว่าจะเป็นเงินจำนวนไม่มาก แต่ก็สามารถนำมาใช้จ่ายข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นได้ อย่างเช่น ถ้าฉันขายหมูหรือไก่หนึ่งตัว ฉันจะได้เงินมาใช้จ่ายค่ายา ค่าเสื้อผ้า และสิ่งจำเป็นอื่นๆ ตลอดทั้งปี แต่ตอนนี้ฉันมีปัญหาจริงๆเพราะที่ดินถูกยึดไป ไม่มีสัตว์ให้เลี้ยงและต้องหนีเข้าไปอยู่ในป่า และถึงแม้ว่าฉันมีลูกถึง 3 คน ฉันก็ยังเป็นห่วงพวกเขาอยู่เสมอ เพราะว่าคนหนึ่งไปอยู่ในค่ายอพยพในฝั่งไทย (Refugee Camp) อีกคนหนึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของกองกำลังกะเหรี่ยงพุทธ (DKBA) และลูกสาวคนสุดท้ายซึ่งฉันอาศัยอยู่ได้แต่งงานมีครอบครัวแล้ว แต่สามีของหล่อนก็ไม่ค่อยมีเวลาดูแลหล่อนและลูก เพราะต้องไปทำงานกับกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) และต้องเดินทางไปที่ต่างๆอยู่ตลอดเวลา ในบางครั้งครอบครัวของเขาก็ไม่มีอาหารเพียงพอสำหรับทุกคนและยังมีปัญหาเจ็บไข้ได้ป่วยอีก สำหรับฉันถ้ามีอาหารหรือยาไม่พอก็ไม่เป็นไร เพราะแก่แล้ว แต่ฉันเป็นห่วงพวกเขามากกว่า



 


ในบางครั้งฉันก็คิดว่าฉันไม่ต้องการจะอยู่นานไปกว่านี้เพราะฉันมีประสบการณ์ที่เลวร้ายตั้งแต่เด็กฉันไม่เคยพบเห็นเสรีภาพเลยจนบัดนี้ ตลอดชีวิตที่ผ่านมาฉันเจอปัญหามามากมาย สถานการณ์อันตรายๆ จากการโจมตีของ SPDC มีทหารพม่าเพิ่มขึ้นในพื้นที่ และยึดเอาที่ดินไปจำนวนมาก เพราะเช่นนี้ฉันจึงไม่มีโอกาสไม่มีอิสรภาพใดๆ เดินทางไปไหนก็ไม่ได้ ไม่มีการศึกษา หรืออะไรก็ตามที่เราต้องการ รัฐบาลทหารพม่าครองอำนาจมานานมากและยังคงควบคุมประเทศนี้อยู่ การปกครองของรัฐบาลทหารนี้ไม่ช่วยประชาชนในการพัฒนา แต่กลับสร้างความทุกข์และความยากจนแก่ประชาชนรวมทั้งตัวฉันด้วย ฉันมั่นใจว่าถ้าพวกนั้นไม่ได้มีอำนาจและรุกรานชนกลุ่มน้อย ฉันก็ไม่ต้องยากจนและลำบากยากเข็ญเช่นนี้"



 


เมื่อชาวบ้านบางคนเลือกเดินทางมาอาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย ฝั่งประเทศไทยแล้ว ดูเหมือนว่าชะตากรรมที่ไม่ได้ก่อ เรื่องราวที่ไม่ได้ร้องขอก็สาดโถมเข้ามาในรูปแบบต่างๆ เมื่อพวกเขาอยู่ในประเทศพม่าเขาถูกกระทำจาก SPDC และ DKBA แต่พอเขามาอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยฝั่งไทย อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐไทยบางคนที่มีหน้าที่ดูแลค่ายผู้ลี้ภัยก็ยังกระทำเขาอยู่เช่นเดียวกัน



 


ทู เรย์ เป็นชายหนุ่มผู้ลี้ภัยจากรัฐคะเรนนี เคยอาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยแห่งหนึ่งในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ปัจจุบันเขาเดินทางไปประเทศที่สาม(resettlement)แล้ว เขาเล่าให้เราฟังว่า.......


 


ผมรู้สึกไม่พอใจ ผิดหวัง และสูญเสียความเป็นมนุษย์อย่างยิ่ง เมื่อผมต้องมาใช้ชีวิตในค่ายผู้ลี้ภัยแห่งนี้ คนจำนวนมากเมื่อรู้ว่าเราเป็นผู้ลี้ภัย เขาจะคิดต่อว่าเราคือ คนที่ไม่มีข้าวกิน ไม่มีเสื้อผ้าที่จะสวมใส่ ไม่มีบ้านที่จะอาศัยอยู่ และไม่มีการศึกษา ทั้งๆที่ความเป็นจริงแล้ว สาเหตุของการเป็นผู้ลี้ภัยนั้นเกี่ยวข้องกับทั้งภัยจากธรรมชาติ จากสงคราม จากปัจจัยทางการเมือง และจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ



 


มีคนหลายคนที่เห็นใจชีวิตพวกเราและพยายามหาทางช่วยเหลือในวิถีทางต่างๆ บางคนจัดหาเสื้อผ้า อาหาร และยา อีกหลายคนก็พยายามหาทางให้เราได้ฝึกทักษะในด้านต่างๆ บางคนก็ช่วยเราให้สามารถสร้างการรวมกลุ่มของผู้ลี้ภัยขึ้นมา เพื่อให้พวกเราได้เรียนรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมือง การต่อสู้ของประชาชน และพยายามสอนให้เราได้เข้าใจ ได้เรียนรู้ ได้พัฒนาตนเอง แต่นั่นเองก็ยังมีคนอื่นๆอีกจำนวนมากที่ไม่ได้รู้สึกอะไรต่อชีวิตพวกเราและบางคนก็ไม่สนใจด้วยซ้ำ



 


คุณต้องเข้าใจว่าผู้ลี้ภัยที่ออกจากบ้านเกิดตนเองมานั้นมีหลายกลุ่ม สำหรับผู้ลี้ภัยที่ประสบภัยจากภัยธรรมชาตินั้น พวกเขาจะยังคงมีอาหาร มีเสื้อผ้า มียารักษาโรคเพียงพอสำหรับการดำรงชีวิตได้ต่อไป แต่ผู้ลี้ภัยที่หนีภัยสงครามหรือได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมืองนั้น การให้เพียงวัตถุสำหรับพวกเรานั้นมันไม่เพียงพอเลย เราจำเป็นที่จะต้องได้รับการฝึกทักษะ ได้รับการพัฒนา ได้รับการสนับสนุนในทางการต่อสู้ เพื่อทำให้พวกเราสามารถกลับไปสร้างสันติภาพที่บ้านเกิดได้ต่อไป



 


ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องยากเหมือนกันที่เราจะช่วยผู้ลี้ภัยให้ได้รับการพัฒนาศักยภาพ เพราะคุณต้องเข้าใจความคิดที่ไม่เหมือนคุณหลายประการ ทั้งสภาพการดำรงชีวิตทั่วไป ความคิดต่างๆนานา รวมถึงแนวทางในการต่อสู้ มันต้องอาศัยเวลาที่ยาวนานในการเปลี่ยนแปลง


 


เมื่อคุณเป็นคนผิดกฎหมาย ฉะนั้นเมื่อคุณลงมือทำอะไรเพื่อเปลี่ยนแปลงบางอย่าง ทุกสิ่งทุกอย่างเหล่านั้นก็จะเป็นเรื่องผิดกฎหมายตามไปด้วย



 


ผมจะเล่าเรื่องหนึ่งในคุณฟัง…วันหนึ่งมีรถบรรทุก 2 คันวิ่งเข้ามาจอดตรงบริเวณกลางแคมป์ คนขับรถบรรทุกจะมาเอาจักรยานของพวกเราออกไปจากแคมป์ สักพักก็มีเด็กๆจำนวนมากมาล้อมรอบรถบรรทุก 2 คันนั้น และต่างส่งเสียงต่างๆนานา บ้างบอกว่า นี่คือจักรยานของฉัน ส่วนคันสีแดงนั้นของพ่อฉัน เขาจะเอาจักรยานของเราไปไหน สักพักก็มีคนอื่นๆออกมาดู มีผู้ชายคนหนึ่งบอกคนขับรถบรรทุกว่า จักรยานเหล่านี้เราซื้อด้วยเงินของเราเอง ทำไมมาเอาจักรยานของเราไปโดยไม่จ่ายเงินให้พวกเรา สักพักก็มีผู้ชายไทยคนหนึ่งที่มาพร้อมกับรถบรรทุกนั้นบอกว่า "ที่นี่ไม่ใช่ประเทศของพวกคุณ คุณรู้ไหมว่าคุณเป็นคนผิดกฎหมาย เราอยากทำอะไร เราก็จะทำตามที่เราต้องการ" หลังจากเหตุการณ์วันนั้นจักรยานทุกๆคันก็ถูกนำออกไปจากแคมป์ รถบรรทุกก็บรรทุกจักรยานกลับไปในเมือง ผู้ลี้ภัยที่อยู่ในแคมป์ต่างรู้สึกเศร้าและสับสน ต่อมาเจ้าหน้าที่ไทยที่รับผิดชอบดูแลแคมป์ก็บอกว่าจักรยานที่ถูกนำไปนั้นเป็นเพราะพวกคุณไปขโมยมันมา!



 


โดยทั่วไปแล้วผู้ลี้ภัยก็ได้รับความทุกข์ทรมานจากผลของสงครามในประเทศพม่าหลายปีอยู่แล้ว ในแผ่นดินบ้านเกิดของเรา พวกเราสามารถก่อร่างสร้างตัวได้อย่างง่ายๆ เช่น ทำนา เลี้ยงวัวควาย ปลูกข้าวโพด พูดง่ายๆคือ เราสามารถหาเงินได้จากใต้ผืนดินด้วยซ้ำไป จากผืนดินหนึ่งไปยังอีกผืนหนึ่ง แต่พอวันหนึ่งมีทหารพม่าบุกรุกเข้ามาที่ผืนดินของเรา เราต้องสูญเสียทั้งที่ดิน วัวควาย และพืชผลที่เราเพาะปลูก แต่เรายังสามารถอยู่รอดได้จากผืนดินแห่งอื่นๆที่เราอพยพไปอยู่ แต่พอเราต้องหนีทหารพม่ามาอยู่ที่ในค่ายผู้ลี้ภัย ประเทศไทย สิ่งที่เปลี่ยนไปจากเดิมคือ ทุกๆอย่างที่เราหามาได้นั้นต้องถูกนำไปขายเพื่อเปลี่ยนเป็นเงินแทน



 


มีอีกเรื่องหนึ่งที่ผมอยากเล่าให้ฟัง วันหนึ่งในแคมป์ผู้ลี้ภัย ลูกพี่ลูกน้องของผมได้ถูกเจ้าหน้าไทยจับกุมหลังจากที่เจ้าหน้าที่เหล่านั้นได้พบเหล้าเถื่อนในบ้านของเขา จริงๆแล้วเหล้าเถื่อนขวดนั้นมันคือยาสมุนไพรชนิดหนึ่งที่พ่อเขาหมักไว้กินเพื่อใช้เป็นยารักษาโรคชนิดหนึ่ง พ่อของเขาต้องกินยาชนิดนี้ก่อนกินข้าวในทุกๆมื้อ แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่สนใจบอกเพียงว่า มันคือเหล้าเถื่อน ญาติของผมได้ถูกจับและคุมขังที่สถานีตำรวจแห่งหนึ่งในเมืองเป็นเวลา 3 วัน วันที่เขาได้รับการปล่อยตัวออกมา เขาต้องจ่ายเงินให้กับตำรวจอีก 5,000 บาท วันนั้นเขาไม่มีเงินทำให้ครอบครัวของเขาต้องขายสิ่งของทุกอย่างในบ้านเท่าที่จะขายได้ รวมทั้งยังต้องไปขอยืมเงินคนอื่นมาสมทบเพิ่มเติม เพื่อแลกตัวเขาออกมา หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ไทยได้มาที่แคมป์ทุกๆวันเพื่อตรวจดูเพิ่มเติมว่าบ้านหลังไหนมีเหล้าเถื่อนเหมือนบ้านญาติผมบ้าง ในที่สุดแล้วพวกเขาก็พบว่ามีหลายบ้านที่เป็นเหมือนบ้านญาติผม พวกเขาสามารถจับกุมชาวบ้านเหล่านั้นได้จำนวนมาก ทุกๆบ้านที่สมาชิกในบ้านโดนจับไปจะต้องจ่ายเงินให้เจ้าหน้าที่ไทยเหล่านั้น เพื่อแลกกับการปล่อยตัวสมาชิกในบ้านออกมา คนละ 3,000-5,000 บาทต่อคนเลยทีเดียว



 


มันเป็นการยากมากที่เราจะหาความถูกต้องหรือความยุติธรรมที่แน่นอนในแคมป์ เช่น คุณมีเงิน แต่คุณก็ไม่สามารถซื้อสิ่งของต่างๆได้ เพราะสิ่งของที่คุณซื้อมานั้น เจ้าหน้าที่บางคนสามารถนำเอาสิ่งของเหล่านั้นไปได้ตามที่ใจเขาต้องการจะเอา คุณจะต้องเผชิญกับความหวาดระแวง ความสงสัย ความคลางแคลงใจเหล่านี้อยู่เสมอ ถ้าคุณอยากมีความสุขในการใช้ชีวิตในแคมป์ คุณต้องทำตัวให้เหมือนคุณกำลังอยู่ในคุกเป็นนักโทษคนหนึ่ง เพราะชีวิตคุณแตกต่างจากโลกภายนอก


 


คุณจะมีโอกาสเพียงเล็กน้อยในการได้เรียนรู้เรื่องราวใหม่ๆหรือประสบการณ์ใหม่ๆ ทางหนึ่งที่คุณจะรู้จักโลกภายนอกได้คือ คุณต้องหาโอกาสในการพูดคุยกับคนจากข้างนอกที่เข้ามาช่วยเหลือพวกเราในแคมป์ กับอีกทางหนึ่ง คือ คุณต้องพูดคุยกับผู้อาวุโสกว่าคุณ อ่านหนังสือ และฟังวิทยุ



 


แน่นอนถ้าคุณเป็นคนผิดกฎหมาย ทุกๆสิ่งที่คุณทำก็จะผิดกฎหมายตามไปด้วย มันเหมือนกับว่าสิ่งที่คุณทำ คุณพูด คุณคิด มันเลวร้ายไปเสียทั้งหมด แม้ว่าจะเป็นเพียงเรื่องเล็กๆก็ตาม คุณก็จะถูกห้ามไม่ให้ทำ บางเวลาคุณจะรู้สึกได้เลยว่าคุณไม่อยากยิ้มให้ใครอีกต่อไปแล้ว ความเป็นมนุษย์ที่มีคุณค่าได้เดินทางไปจากชีวิตคุณเสียแล้ว มันมีการสร้างกำแพงที่แบ่งแยกระหว่างผู้ลี้ภัยกับคนที่ถูกกฎหมาย มันเป็นการยากมากๆที่เราจะเหมือนคนทั่วๆไป มันดูเหมือนกับว่าความประพฤติบุคลิกลักษณะท่าทางภายนอกของพวกเรานั้นแตกต่างจากคนอื่นๆ บางทีเรายังคิดเลยว่า เวลาเรายิ้ม ยิ้มเราคงไม่หวานเหมือนคนปกติทั่วไป



 


มีครั้งหนึ่งที่พวกเราไปในเมืองและถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับ เจ้าหน้าที่มองพวกเราด้วยสายตาที่เต็มไปด้วยไฟแห่งความโกรธ และถามคำถามที่ทำให้เราเจ็บปวดเหลือเกินว่า คุณจ่ายเงินให้ใครเหรอถึงกล้าหาญเข้ามาในเมืองได้ คุณต้องสำนึกไว้บ้างว่าต้องทำตัวสงบเสงี่ยมเจียมตนไม่สร้างปัญหาให้กับพวกเรา ทั้งๆที่คุณก็มีข้าวกิน มีแผ่นดินอยู่ฟรีๆแล้ว



 


ก่อนหน้านี้ผมเคยคิดว่า ทุกๆคนมีความเป็นคนที่เท่าเทียมกัน แต่มาบัดนี้ผมเข้าใจแล้วว่ามันเป็นการยากเหลือเกินที่เราจะทำให้คนทุกๆคนตระหนักในความเป็นคนของคนอื่นเช่นกัน



 


ในแคมป์จะมีพ่อค้าแม่ค้าบรรทุกผลไม้และพืชผักจากในเมืองเข้ามาขายในนี้ บางทีก็มีปลาหรือเนื้อที่เน่าๆแล้วที่คนในเมืองเขาไม่ซื้อกัน พ่อค้าแม่ค้าเหล่านั้นก็ยังนำมาขายในนี้ เพราะเขาเห็นว่าพวกเรานั้นไม่สามารถไปซื้อหาอาหารได้จากในเมืองและคงไม่มีเงินพอที่จะซื้อหาอาหารดีๆด้วยเช่นกัน มันเหมือนเป็นการบังคับให้เราต้องจำยอมซื้อของในสภาพนี้ บางครั้งถ้าไม่มีใครซื้อหรือเขาขายไม่หมด พ่อค้าแม่ค้าเหล่านั้นจะโยนเนื้อเน่าๆปลาเน่าๆทิ้งลงแม่น้ำไป เพราะเราเป็นผู้ลี้ภัยและมีเงินเพียงเล็กน้อย เราจึงไม่สามารถจ่ายเงินเยอะๆเพื่อซื้อของจากคุณได้ เราต้องยอมรับสภาพในการซื้อปลาเน่าๆเนื้อเน่าๆเช่นนั้นเสมอ



 


ชาวบ้านไทยบางคนที่เขาสามารถเอาเปรียบเราได้ เขาก็จะทำ เพราะเขาเห็นว่าเราเป็นผู้ลี้ภัย บางทีเราไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้ให้ครอบครัว เราไปรับจ้างทำงานในหมู่บ้านข้างนอกแคมป์ เราก็จะได้รับค่าแรงเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับคนไทยทั่วๆไป ทั้งๆที่เป็นงานชนิดเดียวกัน เช่น ถ้างานนี้คนไทยทำจะได้ 100 บาทต่อวัน แต่ถ้าผู้ลี้ภัยทำจะได้รับเงินเพียง 40-50 บาท เท่านั้น…ที่พูดมาทั้งหมดนั้นเป็นเพียงตัวอย่างที่เราต้องเผชิญในฐานะผู้ลี้ภัย


 


"ถ้าคุณเป็นคนผิดกฎหมาย ทุกๆอย่างที่คุณทำก็จะผิดกฎหมายตามไปด้วย"



 


ตัวเลขผู้ลี้ภัยในปัจจุบัน


 




































































































































































































Burmese border refugee sites with population figures - TBBC January 2008


 


 


 


Female


Male


Total


Chiang Mai Province


 


 


 


 


 


 


Wieng Haeng (Shan Refugees)


 


 


 


623


Mae Hong Son Province


 


 


 


 


 


 


Ban Mai Nai Soi


 


9,190


9,731


18,921


 


Ban Mae Surin


 


1,688


1,768


3,456


 


Mae La Oon


 


6,618


7,163


13,781


 


Mae Ra Ma Luang


 


5,714


5,986


11,700


 


 


Subtotal:


23,210


24,648


47,858


Tak Province


 


 


 


 


 


 


Mae La


 


19,297


19,638


38,935


 


Umpiem Mai


 


9,680


10,178


19,858


 


Nu Po


 


6,669


7,126


13,795


 


 


Subtotal:


35,646


36,942


72,588


Kanchanaburi Province


 


 


 


 


 


 


Ban Don Yang


 


1,853


1,806


3,659


Ratchaburi Province


 


 


 


 


 


 


Tham Hin


 


3,044


 


 


 


 


Total for sites in Thailand


63,753


66,365


130,118


State of Origin of Registered Population


 


62% Karen


13% Karenni


9% Tenasserim


5% Mon


5% Pegu


4% Unknown


2% Other (Chin, Kachin, Irrawaddy, Magwe, Mandalay, Rakhine, Rangoon, Sagaing, Shan)


 


 






MON - Resettlement Sites


 






 


Halochanee


 


 


 


3,730


 


Che-daik


 


 


 


560


 


Bee Ree


 


 


 


3,452


 


Tavoy


 


 


 


2,272


 


Subtotal Mon sites:


 


 


 


10,014


 



Grand total all sites:







151,894


 



 


000


 


"ถักทอประชาธิปไตย สายใยไทย-พม่า" ตอน 1 : ทำไมสังคมไทยต้องสนใจประเด็นพม่า?


 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net