Skip to main content
sharethis

ประชาไท—30 ก.ย. 2548 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยจัดเสวนา "ผ่าทางตัน สรรหาผู้ สตง." วันนี้ นักกฎหมายจากธรรมศาสตร์และจุฬาฯ เห็นพ้องกรณีนายแก้วสรร อติโพธิ และ ส.ว. 22 คนจะยื่นญัตติขออภิปรายเพื่อชี้ขาดในประเด็นสถานะของคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ว่ายังคงอยู่ในตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) หรือไม่ ย้ำปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเพราะศาลรัฐธรรมนูญก้าวล่วงอำนาจวุฒิสภา


 


โดยนายมานิต จุมปา อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอว่า วุฒิสภาควรโหวตยืนยันว่าคุณหญิงจารุวรรณ ยังคงอยู่ในตำแหน่งผู้ว่า สตง. ในขณะที่ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ก็ควรดำเนินการสรรหาผู้ว่า สตง. ไปตามกำหนดระยะเวลา 30 วันตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ


 


ทั้งนี้ นายมานิตอธิบายว่า ด้วยวิธีการดังกล่าวจะทำให้เกิดความขัดกันระหว่างองค์กรตามรัฐธรรมนูญ 2 องค์กรคือ วุฒิสภากับ คตง. และจะเปิดทางให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาวินิจฉัยให้เป็นข้อยุติได้


 


ด้านนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งข้อสังเกตต่อปัญหาการสรรหาผู้ว่า สตง. ไว้ 4 ประเด็นคือ ประเด็นแรก กระบวนการในการเสนอชื่อคุณหญิงจารุวรรณซึ่งศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุเอาไว้ในคำวินิจฉัยเลย คือว่า ถ้าวุฒิสภาเห็นว่ากระบวนการแต่งตั้งคุณหญิงจารุวรรณไม่เป็นไปตามระเบียบที่กฎหมายกำหนด ทำไมวุฒิสภาจึงรอเวลาถึง 1 ปี 5 เดือน ทำไมศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่พิจารณาว่าเหตุแห่งการกระทบสิทธินั้นล่วงพ้นไปแล้วหรือไม่ เพราะจากกรณีที่เกิดขึ้นนั้น เหตุที่จะร้องได้พ้นไปเป็นปีๆ แล้ว


 


ประเด็นต่อมาคือ รัฐธรรมนูญกำหนดให้การสรรหาผู้ว่า สตง. กระทำโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งต่อมารัฐสภาก็มาออกกฎหมายระบุคุณสมบัติผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน แต่ไม่บัญญัติกระบวนการ กลับมอบอำนาจไปให้ คตง. เป็นผู้ออกระเบียบ เพราะฉะนั้น ระเบียบของ คตง. ซึ่งไม่อยู่ทั้งในพระราชบัญญัติฯ และรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญพึงวินิจฉัยเสียก่อนว่ารัฐสภามีอำนาจที่จะมอบให้ คตง. กำหนดระเบียบดังกล่าวหรือไม่ ทั้งนี้ นายวรเจตน์ระบุว่าประเด็นนี้เป็นประเด็นที่สำคัญมาก และถ้าไม่แก้ไขก็จะเกิดปัญหาต่อไปในอนาคต


 


ประเด็นต่อมาคือศาลรัฐธรรมนูญถือว่าความบกพร่องของกระบวนการนั้นเป็นสาระสำคัญหรือไม่ โดยที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องเคารพในคำวินิจฉัยของวุฒิสภาด้วย และประเด็นสุดท้ายคือ ระเบียบของ คตง. เกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นระเบียบที่มีผลผูกพันองค์กรอื่น จึงไม่ใช่ระเบียบภายใน และต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา


 


นายวรเจตน์ระบุว่าศาลรัฐธรรมนูญได้ก้าวล่วงเข้ามาวินิจฉัยเกินขอบอำนาจ เพราะกรณีปัญหาการสรรหาผู้ว่า สตง. นั้นไม่ใช่การขัดกันระหว่างองค์กรตามรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเองก็ยังแสดงให้เห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญใช้ตัวระเบียบ คตง. เป็นหลัก และพิจารณารัฐธรรมนูญกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญเป็นตัวรอง


 


ทั้งนี้ นายวรเจตน์ได้กล่าวสนับสนุนกรณีที่นายแก้วสรร อติโพธิ และ ส.ว. จำนวนทั้งสิ้น 22 คนจะยื่นญัตติต่อประธานวุฒิสภา ในวันจันทร์หน้าเพื่อขอเปิดอภิปรายชี้ขาดสถานภาพของคุณหญิงจารุวรรณ โดยระบุว่า ควรต้องมีองค์กรใดองค์กรหนึ่งเข้ามารับผิดชอบต่อกรณีดังกล่าวบ้าง


 


"ผมสนับสนุนการกระทำของท่านวุฒิสมาชิกแก้วสรร อติโพธิ และท่านพนัส ทัศนียานนท์ เต็มที่ครับ แล้วผมคิดว่าเรื่องนี้ควรจะทำตั้งแต่แรกแล้วครับ เพราะศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยก้าวล่วงเข้ามาในกระบวนการที่มันจบสิ้นไปแล้ว" นายวรเจตน์กล่าว

เอกสารประกอบ

ผ่าทางตัน สรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net