Skip to main content
sharethis

หลังจากศาลจังหวัดชุมพร จังหวัดระนองและจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีคำสั่งปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัวเข้าร่วมโครงการฝึกอบรมอาชีพและปรับทัศนคติ 4 เดือนของกองทัพภาค 4 ในค่ายทหาร 3 จังหวัดข้างต้น จำนวน 85 คน และมาพักอาศัยอยู่เป็นการชั่วคราวที่มัสยิดกลางประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพราะเดินทางกลับเข้าพื้นที่ไม่ได้เนื่องจากติดเงื่อนไขประกาศห้ามบุคคล 384 คน เข้าพื้นที่ จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาสและ 4 อำเภอใน จ.สงขลา ตั้งแต่ วันที่ 30 ต.ค. 50 แล้วนั้น


 


ปรากฏว่า มีผู้ถูกควบคุมตัวเข้าร่วมโครงการดังกล่าว อีกจำนวน 95 คน จาก 3 จังหวัด ยื่นหนังสือถึงเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร ไม่ประสงค์ขอฝึกอาชีพและต้องการเดินทางกลับบ้าน เดินทางมาสมทบกับเพื่อนร่วมชะตากรรมที่มัสยิดกลางประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี ในวันที่ 2 ตุลาคม 2550 รวมทั้งหมดเป็นจำนวน 180 คน


 


ทั้งหมดเป็นชาย อายุระหว่าง 17-50 ปี โดยประมาณ จากการสอบถามกับผู้ถูกควบคุมตัวบางคน กล่าวว่า หลายคนบ่นคิดถึงบ้าน แม้จะได้ออกจากค่ายทหารมาแล้วแต่ยังไม่สามารถเดินทางกลับบ้านได้เนื่องจากติดเงื่อนไขของคำสั่ง กลัวว่าจะโดนจับหากมีการฝ่าฝืน ตอนนี้เหมือนกับยกภูเขาออกจากอกครึ่งหนึ่งโดยรวมมีสภาพจิตใจดีขึ้นหลังจากศาลสั่งให้ได้รับการปล่อยตัวหรือออกมาจากค่ายทหาร


 


สภาพโดยทั่วไปของมัสยิดกลางประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีความเป็นอยู่ที่ค่อนข้างสบาย โปร่งโล่ง เป็นอาคาร 3 ชั้น มีลานโล่งใต้อาคารใช้เป็นสถานที่พูดคุยและรับประทานอาหาร มีการแบ่งหน้าที่กันทำความสะอาดมัสยิด ทำกับข้าว หุงข้าว และดูแลความปลอดภัยเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย ส่วนชั้น2และชั้น3 เป็นห้องละหมาดและห้องนอน ตามลำดับ       ส่วนของอาหารได้รับการบริจาคจากหลายส่วน ทั้งส่วนราชการในจังหวัดสุราษฎร์ธานี องค์กรภาคเอกชนและได้รับการอำนวยความสะดวกจากมัสยิดเป็นอย่างดียิ่ง


 


อิมรอน สาและ ตัวแทนชาวบ้านจากหมู่บ้านนารูปุโละ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส หนึ่งในผู้ยื่นหนังสือถึงเจ้าหน้าที่ทหารในค่ายเขตอุดมศักดิ์ จ.ชุมพร กล่าวว่า "ไม่มีชาวบ้าน (ผู้ถูกควบคุมตัวฝึกอาชีพ) คนไหนรับรู้ว่ามีการออกประกาศไม่ให้กลับบ้าน จากกองทัพภาค 4 จนกระทั่ง วันที่มีการอ่านคำสั่งศาล" (30 ต.ค. 50)


 


"เจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวผมมาตั้งแต่วันที่ 8 ส.ค. 50 ทีแรกบอกว่า เพียงเชิญตัวไปสอบปากคำโดยไม่มีการแจ้งข้อหาแล้วจะปล่อยตัวกลับ จนกระทั่งวันนี้ 3 เดือนมาแล้วที่ผมยังไม่ได้กลับบ้านเจอหน้าลูกเมีย ผมไม่ต้องการฝึกอาชีพอีกต่อไปและต้องการเลือกทางเดินของตัวเอง จึงได้ยื่นหนังสือถึงเจ้าหน้าที่ทหาร หลังจากเดินทางมีที่นี่ (มัสยิดกลางประจำจังหวัดสุราษฎรานี) มีทหารจากกองทัพภาค 4 โทรศัพท์ถึงผมเสนอเงื่อนไขว่า หากกลับเข้าไปฝึกอบรมจนครบหลักสูตร 4 เดือน (24 พ.ย. 50) แล้วจะได้กลับบ้านพร้อมทั้งครูฝึกในค่ายที่พูดโน้มน้าวเชิงข่มขู่ว่า ทำไมไม่อยู่ฝึกอาชีพต่อไปใกล้จะครบกำหนดแล้วหากน้องยืนยันจะออกจากค่ายเป็นอันว่าเราขาดกัน"


 


อย่างไรก็ตาม อิมรอนกล่าวว่า ชาวบ้านทุกคนจะไม่ขอกลับเข้าไปรับการฝึกอบรมอีก และต้องการกลับภูมิลำเนาอย่างไม่มีเงื่อนไขใดใดและวิงวอนให้องค์กรภาคประชาชนหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยดูแลเรื่องนี้เพื่อหาหนทางแก้ไขร่วมกันเพราะชาวบ้าน 180 คน คงไม่สามารถพักอาศัยอยู่ที่มัสยิดกลางฯแห่งนี้ได้เป็นระยะเวลานาน


 


ทั้งนี้ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่ จ.สุราษฎร์ธานี ได้รับการประสานงานจากหน่วยงานทางทหารให้เข้าทำการจับกุมอดีตผู้รับการฝึกอบรมไปรวม 4 คน โดยในวันเสาร์ที่ 3 พ.ย. 50 มีการจับกุมตัวจากมัสยิดกลางฯ 1 คน และขณะนี้มีการขอจับกุมเพิ่มเติมอีก 2 คน ที่มัสยิดกลางฯ และ 1 คนจากศูนย์ฝึกอาชีพท่าแซะ จ.ชุมพร ในเช้าวันอาทิตย์ที่ 4 พ.ย. 50 ทั้งนี้มีการพูดต่อรองว่า หากบุคคลที่อยู่ในมัสยิดกลับไปฝึกอบรมอาชีพก็จะไม่มีการออกหมายจับตามอำนาจของพระราชบัญญัติในสถานการณ์ฉุกเฉิน


 


จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทางคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพและกลุ่มองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนออกแถลงการณ์ประณามการใช้กฎหมายแบบฉ้อฉล ส่อถึงเจตนาการใช้อำนาจรัฐทั้งโดยตำรวจและทหารกดดันและบังคับให้บุคคลทั้งหมด (180 คน ที่มัสยิดกลางฯ) ซึ่งกำลังทำการเรียกร้องสิทธิตามกระบวนการยุติธรรม ตามรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2550 ให้ต้องกลับเข้าไปโครงการฝึกอบรมอาชีพฯ


 


การกระทำดังกล่าวถือเป็นการกลั่นแกล้งและข่มขู่ประชาชน นักต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมโดยไม่คำนึงถึงหลักคุณธรรม หลักสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรม


 


สำหรับสถานการณ์ล่าสุด (วันนี้ 5 พ.ย. 50) มีการออกหมายจับตามอำนาจพระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉินเพิ่มเติมอีก 3 คน ที่มัสยิดกลางฯ สองคนในจำนวนนั้น ได้แก่ นายอิมรอน สาแหละ และ นายมูหาหมัด เจ๊ะแม ตัวแทนกลุ่มชาวบ้านซึ่งทั้งหมดถูกตั้งข้อหา "ผู้ต้องสงสัยว่าเป็นแนวร่วมผู้ก่อความไม่สงบ" ทางด้านคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนจะลงพื้นที่มัสยิดกลางประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี ในวันนี้


 


 


 


 


 


หน้ามัสยิดกลางประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี


 


 


 


 


บริเวณโถงในอาคารจะเป็นที่ประชุมและทานอาหาร


 


 


 


 



ประชาสงเคราะห์จังหวัดสุราษฎร์ธานีมาบริจาคข้าวสารอาหารแห้ง


 


 


 


 


 


กล่าวขอบคุณพระเจ้าก่อนทานอาหาร


 


 


 


 


 


 


 



ชั้น 3 เป็นที่นอนชั่วคราว


 


 


 


 


 


ชั้น 2 เป็นสถานที่ละหมาดชั่วคราว


 


 


 


 


 


 



เจ้าหน้าที่ทั้งฝ่ายทหารและตำรวจมาช่วยดูแลรักษาความปลอดภัย


 


 


 


 


 


ข่าวประกอบ:


ทนายยื่นค้าน รัฐรุกรานคนสามจังหวัดใต้ "ปล่อยตัวแล้วจับซ้ำ" อ้างพ.ร.ก.ฉุกเฉิน


 

 


อ่านประกอบ:


ยุติธรรมเพื่อสันติภาพ: ประณามการใช้กฎหมายแบบฉ้อฉล


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net