Skip to main content
sharethis

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ผู้ดำเนินรายการ ‘บ้านเมืองไม่ใช่ของเรา’ ได้สัมภาษณ์ ศ.เควิน ฮิววิสัน จากศูนย์เอเชียศึกษา มหาวิทยาลัยนอร์ธแคโรไลนาแห่งแชพเพิลฮิลล์ และได้ออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ประชาไทไปแล้วในภาคภาษาอังกฤษ เพื่อให้บทสัมภาษณ์ครั้งนี้ได้เผยแพร่ในวงกว้าง กองบรรณธิการเว็บไซต์ประชาไท จึงได้ถอดบทสนทนาเผยแพร่อีกครั้ง ผู้สนใจรับชมคลิปการสัมภาษณ์โปรดเข้าชมได้ที่ (โปรดคลิก) Prem's Politics (การเมืองยุคพลเอกเปรม)
0 0 0
พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ – ผู้ร่วมรายการกับผมในวันนี้คือ ศ.เควิน ฮิววิสัน จากศูนย์เอเชียศึกษา มหาวิทยาลัยนอร์ธแคโรไลนาแห่งแชพเพิลฮิลล์ เรื่อง ที่เราจะพูดคุยกันคือ “การเมืองในยุคเปรม” และดูว่าการเมืองไทยในบริบทของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นเป็นอย่างไร แล้วมาคุยเรื่องทักษิณและยุคหลังทักษิณ หรือยุคหลังทักษิณมีจริงหรือเปล่า? (เควิน – หรือเราพ้นยุคทักษิณแล้วหรือยัง) เหตุผล หนึ่งที่เราเชิญอาจารย์เควินมาก็คือ ท่านเป็นหนึ่งในนักวิชาการไม่กี่รายที่ศึกษาเกี่ยวกับยุคสมัยของเปรม (พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์) เราอาจได้ยินได้ฟังกันมามากเรื่องเหตุการณ์เดือนตุลา หรือการปฏิวัติ 2475 แต่มีงานไม่กี่ชิ้นที่ศึกษายุคสมัยของเปรม เราจึงไม่ค่อยได้รู้อะไรมากนักเกี่ยวกับการเมืองเมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว มีประเด็นอะไรที่ควรมองเกี่ยวกับยุคเปรมครับ?
เควิน ฮิววิสัน – ก็มีหลายเรื่องเกี่ยวกับยุคเปรม เช่น นโยบายเศรษฐกิจ วิธีการที่ พล.อ.เปรม จัดการนโยบายเศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ระหว่าง พล.อ.เปรม กับพรรคการเมือง รัฐสภา...
พิชญ์ – ตอนที่ผมเรียนมหาวิทยาลัย ผมเข้ามหาวิทยาลัยปี 2531 ตอนนั้น พล.อ.เปรม ลงจากอำนาจพอดี เวลา เรามองย้อนกลับไป มันดูเหมือนเป็นวันชื่นคืนสุข เศรษฐกิจเติบโต การเมืองมีเสถียรภาพ ดูดีไปหมด ประชาชนดูแฮปปี้หลังมีคำสั่งนายกฯ 66/23 แต่จริงๆ แล้วมันเป็นอย่างไร นี่เรากำลังพูดเรื่องอดีต เราไม่ได้กำลังวิจารณ์ พล.อ.เปรมในขณะนี้ เรากำลังพูดถึงเปรมในยุคโน้น
เควิน – มันเป็นช่วงเวลาที่น่าสนใจ เปรมขึ้นมามีอำนาจช่วงหลังเหตุการณ์ตุลา 19 หลังการสังหารนักศึกษาที่ธรรมศาสตร์และการรัฐประหาร แน่นอนว่าเขาไม่ได้ขึ้นสู่อำนาจหลังเหตุการณ์โดยทันที มีรัฐบาลของคณะรัฐประหารก่อน มีนายธานินทร์ (กรัยวิเชียร) เป็นนายกฯ สมัคร (สุนทรเวช) เป็นรัฐมนตรีมหาดไทย หลายคนจำได้ดี มันเป็นยุคที่ลำบากมาก
พิชญ์ – ธานินทร์เป็นผู้พิพากษาศาลฎีกา คณะรัฐประหารแต่งตั้งเป็นนายกฯ
เควิน – มีความใกล้ชิดกับราชสำนักด้วย ตอนนี้เป็นองคมนตรี ยุคนั้นเป็นยุคมืดทางการเมือง พล.อ.เกรียงศักดิ์(ชมะนันทน์) เป็นนายกฯ ต่อจากนั้น แต่รัฐบาลเกรียงศักดิ์ก็ประสบปัญหาทางการเมืองหลายอย่าง ปัญหาเศรษฐกิจด้วย เกิดวิกฤตการณ์น้ำมัน ต้องมีมาตรการปิดไฟ
พิชญ์ – ผมจำได้ มีคำขวัญ “น้ำมันแพง คุยกับแฟนต้องดับไฟ”
เควิน – เกรียงศักดิ์ได้รับการสนับสนุนมากพอสมควร แต่ไม่ถูกใจทหารบางกลุ่ม
พิชญ์ – เขาป็อปปูลาร์กับสื่อใช่มั้ย? ทำแกงเขียวหวานใส่บรั่นดี
เควิน – ใช่ ตอนนี้นายกฯ ทำกับข้าวไม่ได้แล้ว (ฮา) แล้วเปรมก็ขึ้นมา เป็นคนมีบุคลิกนุ่มนวล เป็นนายทหารประจำภาคอีสาน มีผลงานการปราบปรามคอมมิวนิสต์ แต่เขาก็ไม่ได้ถูกมองเป็นเผด็จการทหารเหมือนอย่างในอดีต เขาถูกมองว่าเป็นคนที่นักการเมืองอาจทำงานด้วยได้ เปรมอยู่ในอำนาจเป็นเวลานาน  จริงๆ แล้ว การเมืองยุคนั้นไม่ได้มีเสถียรภาพจริงๆ หรอก คุณ คงจำได้ว่ามีความพยายามทำรัฐประหารสองครั้งในช่วงนั้น (พิชญ์ – โดย จปร.7) นั่นหมายความว่าในกองทัพมีคนไม่แฮปปี้กับนโยบายของเปรมอยู่มาก
พิชญ์ – เพราะ พล.อ.เปรม ประนีประนอมมากไปหรือเปล่า? หรือว่าแข็งกร้าวเกินไป?
เควิน – ผมคิดว่ายุคนั้นมีความขัดแย้งทางอุดมการณ์สูงมาก ในกองทัพก็มีกลุ่มยังเติร์ก ทหารประชาธิปไตย อะไรเทือกนั้น ที่อยากเห็นแนวเศรษฐกิจและการเมืองแบบอื่น ยุคนี้เรียกว่าประชาธิปไตยครึ่งใบ รัฐมนตรีหลายคนมาจากคนนอก โดยเฉพาะกระทรวงเศรษฐกิจสำคัญๆ
พิชญ์ – ตอนนั้นมีการเลือกตั้งตามปกติ ทุกครั้งนักการเมืองก็จะเข้าหาเปรม ขอร้องให้รับตำแหน่งนายกฯ ตอนนั้นสื่อก็ชอบเรียกทหารว่า บิ๊กนู่น บิ๊กนี่ มียังเติร์ก พวกนี้มีบทบาททางการเมือง
เควิน – การเลือกตั้งในตอนนั้นไม่มีความสำคัญอะไรมาก เปรมเป็นนายกฯ ตลอด
พิชญ์ – นักการเมืองพอได้รับเลือกตั้ง ก็ต้องไปหาทหาร ให้ทหารเป็นนายกฯ
เควิน – ใช่ พวกเขาไม่มีทางเลือก ใช่มั้ย?
พิชญ์ – ทำไม? ทำไมตอนนั้นถึงคิดไม่ได้เลยที่จะให้นักการเมืองบริหารประเทศ? เรามีการเลือกตั้งทั่วประเทศ ตอนนั้นคนคิดกันยังไง?
เควิน – ผมคิดว่าเปรมได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากชนชั้นนำ เขามีสายสัมพันธ์เหนียวแน่นกับกลุ่มธุรกิจใหญ่ๆ เราก็รู้ว่าทุกวันนี้เขาก็ยังมีตำแหน่งอยู่ในธนาคารกรุงเทพฯ ซีพี นักการเมืองตอนนั้นโดยทั่วไปไม่มีความสำคัญเท่าไหร่ การเลือกตั้งมีได้ แต่ก็ไม่อยากให้การเลือกตั้งไปกำหนดว่าใครจะบริหารประเทศ
พิชญ์ – ดังนั้นการเลือกตั้งก็ไม่ก่อให้เกิดนโยบายสาธารณะ เลือกตั้งไปพอเป็นพิธี
เควิน – ใช่ เลือกตั้งพอเป็นพิธี และเป็นเหมือนสนามฝึก ตอน นั้นพูดกันเรื่องประชาธิปไตยครึ่งใบ ทำนองว่าเป็นการฝึกนักการเมืองในระยะผ่านของประเทศไทยจากเผด็จการทหารกับการ รัฐประหารไปสู่ประชาธิปไตย
พิชญ์ – พล.อ.เปรมมีเสียงในรัฐสภาครึ่งหนึ่งที่เขาเป็นคนแต่งตั้งเอง ใช่มั้ย? (เควิน – วุฒิสภา) แล้วอีกครึ่งหนึ่งก็เป็นนักการเมืองจากการเลือกตั้ง
เควิน – ใช่ วุฒิสภาล้วนแล้วแต่เป็นทหารกับข้าราชการ เปรมจึงมีสถานะที่มั่นคงมาก เปรมไม่เคยต้องเผชิญการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ทุกครั้งที่ทำท่าจะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็จะมีการปรับคณะรัฐมนตรี เวลามองย้อนกลับไป เรามักจะนึกว่ามันเป็นยุคที่มีเสถียรภาพ แต่จริงๆ แล้ว ไม่เลย มีเกมการเมืองเบื้องหลังการถ่ายทำตลอด (พิชญ์ – เพื่อให้ดูเหมือนว่ามีเสถียรภาพ) ...ใช่ และ แน่นอนว่านักการเมืองจำนวนมากก็รู้สึกว่าไม่ค่อยเข้าท่านะ ที่พวกเขาได้รับการเลือกตั้งมา แต่ไม่ค่อยได้รับบทบาทในการบริหารประเทศเท่าไหร่ พอ พล.อ.ชาติชาย (ชุณหะวัน) เป็นนายกฯ เขากับพรรคพวกก็จัดการเปลี่ยนวิธีการออกนโยบาย โดยเฉพาะนโยบายเศรฐกิจ สภาพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติก็ถูกลดบทบาทลงไปในทันที สภาพัฒน์ฯ นี้มีบทบาทสำคัญมากในยุคเปรม นโยบายเศรษฐกิจสำคัญๆ มาทางสภาพัฒน์ฯ
พิชญ์ – สภาพัฒน์ฯ เป็นเทคโนแครต ทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ผมไม่แน่ใจว่าแผนพัฒนาเศรษฐกิจต้องผ่านสภาหรือเปล่า (เควิน – เปล่า) ถ้างั้นมันก็เปลี่ยนไปมากหลังจากเปรมลงจากอำนาจ
เควิน – ผมไม่แน่ใจว่า เปรมกับรัฐบาลของเขาจริงๆ แล้วยึดตามแผนเคร่งครัดมากแค่ไหน มันเป็นเหมือนเครื่องมือที่ออกมาทุกห้าปีเพื่อบอกว่าประเทศไทยจะไปทางไหน และเพื่อให้เห็นว่านโยบายเศรษฐกิจมีเสถียรภาพ แต่ ในคณะรัฐมนตรี เวลามีนโยบายเศรษฐกิจใหญ่ๆ ก็มักจะโยนให้เทคโนแครตทำการตัดสินใจ ให้สภาพัฒน์ฯ ตัดสินใจว่าจะเอายังไง สภาพัฒน์ฯ จึงมีอิทธิพลต่อนโยบายเศรษฐกิจของประเทศไทยมาก
พิชญ์ – นั่นเป็นหัวข้อหลักในหนังสือ Bankers and Bureaucrats (นายธนาคารกับข้าราชการ) ที่อาจารย์เขียน ใช่มั้ย?
เควิน – จริงๆ แล้ว Bankers and Bureaucrats พูดถึงก่อนเปรมมีอำนาจ ในหนังสือเล่มนั้น ผมพยายามบอกว่าตอนนั้นมีทั้งการแข่งขันและการร่วมมือกันระหว่างกลุ่มธุรกิจ กับราชการระดับสูง แต่ก็มาถึงช่วงปลายของยุคเปรมแล้วนั่นแหละถึงเริ่มปรากฏให้เห็น เศรษฐกิจมีการเติบโตเป็นช่วงยาว ไม่ใช่แต่ในช่วงเปรมเท่านั้น มีมาตั้งแต่ก่อนหน้านั้นแล้ว ผม หมายถึงประเทศไทยมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่กลางทศวรรษ 1950 (ราว 2500 เป็นต้นมา) มีกลุ่มธุรกิจใหญ่ๆ เติบโตขึ้นมา และมันก็เริ่มค่อยๆ เผยให้เห็นมาในยุคปลายของเปรม พอชาติชายเป็นนายกฯ เป็นนายกฯ จากการเลือกตั้งคนแรกนับจากปี 2519 พวกเขาก็ต้องการยึดอำนาจการออกนโยบายไป แน่นอนว่าเป็นเรื่องผลประโยชน์อยู่ด้วย
พิชญ์ – อีกอย่างหนึ่งเกี่ยวกับยุคเปรมก็คือ บางคนดูจะเชื่อว่านั่นเป็นแนวทางที่ดีสำหรับการทำนโยบายเศรษฐกิจ ในยุคประชาธิปัตย์ ก็มีความพยายามดึงเอา กรอ. (คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน) กลับมา ที่มีทั้งธนาคาร อุตสาหกรรม หอการค้า อะไรต่างๆ
เควิน – ในยุคเปรม ในช่วงทศวรรษนั้น (2523-32) มีความพยายามอย่างมาก มีนโยบายรัฐบาลที่จะพัฒนาหอการค้าท้องถิ่น หรือที่เรียกว่า ไตรภาคี แต่ จริงๆ แล้วไทยไม่เคยมีไตรภาคีเลย มีแต่ธุรกิจกับรัฐ แรงงานไม่เคยมีบทบาท มีแต่เทคโนแครตกับนักธุรกิจรวมตัวกัน ตัดสินใจเรื่องนโยบายเศรษฐกิจโดยอ้างเป็นผลประโยชน์ของประเทศ
พิชญ์ – แล้วมีการจัดการกับข้อเรียกร้องความต้องการของชาวบ้านและผู้ใช้แรงงาน อย่างไรในยุคเปรม เพราะเกษตรกรกับแรงงานไม่รวมอยู่ในโครงสร้างนี้เลย
เควิน – ในช่วง 2518-20 มีการทำลายขบวนการแรงงาน จำได้ไหม หลัง 14 ตุลา 16 มีการตั้งองค์กรแรงงานแล้วก็ถูกทำลายไป ขบวนการแรงงานถูกแยกสลายโดยรัฐไทยมาโดยตลอด และยังเป็นอย่างนั้นอยู่ แรงงานจึงไม่เคยมีปากเสียง ส่วนชาวไร่ชาวนาก็รวมกันไม่ติด องค์กรที่พวกเขาเคยมีในช่วงทศวรรษ 1970 (2513-22) ก็ถูกทำลายอย่างค่อนข้างรุนแรงโดยทหาร และในทศวรรษ 1980 ทหาร ราชการ โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่ชนบทยั้วเยี้ยไปหมด เพื่อกุมสภาพในพื้นที่ชนบท กรอ.ก็มีหน้าที่หนึ่งในการให้ต่างจังหวัดมีส่วนร่วม แต่เฉพาะธุรกิจ ไม่ใช่ชาวบ้าน
พิชญ์ – กลุ่มธุรกิจท้องถิ่น โรตารี ไลออนส์ โอเค นั่นเป็นเรื่องยุคเปรม อาจารย์ เขียนหนังสือมาหลายเล่มเกี่ยวกับการเมืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผมคิดว่าคนทั่วโลกเวลามองประเทศไทย พวกเขาไม่ได้มองแต่เฉพาะประเทศไทย พวกเขามองไทยเป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การเมืองไทยเป็นอย่างไรเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค เวลาอาจารย์ต้องสอนนักศึกษา
เควิน – ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา การสอนต้องเปลี่ยนไป เพราะไทยเคยเป็นตัวอย่างของความสำเร็จ
พิชญ์ – เคยเป็น?
เควิน – ถ้าพูดถึงเรื่องประชาธิปไตย ตั้งแต่สิ้นสุดยุคเปรมมาจนถึงรัฐธรรมนูญ 2540 ไทยดูเหมือนจะพัฒนาประชาธิปไตยมาเรื่อยๆ การเลือกตั้งมีความสำคัญมากขึ้น รัฐสภามีบทบาทมากขึ้น เป็นการประสบความสำเร็จในแง่ หนึ่ง คนมองยุคเปรม ...ทหารกลับเข้ากรมกอง (พิชญ์ – มันคือระยะผ่าน ควรจะต้องผ่านไป แต่ตอนนี้มันดูเหมือนจะเป็นระยะผ่านถาวร) ผมเพิ่งเขียนบทความเมื่อเร็วๆ นี้เกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตย  ใน ปี 2541 นักวิเคราะห์หลายคนบอกว่า ไทยคงจะไม่ย้อนกลับไปหารัฐประหารหรืออะไรอีกแล้ว ไทยได้ผ่านพ้นระยะผ่านนั้นโดยสมบูรณ์แล้ว นักวิเคราะห์พูดเป็นเสียงเดียวกัน เวลา ผมสอนเรื่องการเมืองไทย ผมพยายามให้นักศึกษาคิดดูว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ดูเหมือนว่าประสบความสำเร็จนั้นถอยหลัง กลับไปได้อย่างไร พอมีรัฐประหาร 19 กันยา 2549 หลายคนประหลาดใจมาก เราพยายามมองเรื่องผลประโยชน์ต่างๆ ที่เกี่ยวพันกับรัฐประหาร แล้วบอกว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมถึงย้อนกลับไปสู่อำนาจนิยมอย่างนี้ได้ นักศึกษา และนักวิชาการตอนนี้ต้องพยายามอย่างยากลำบากที่จะทำความเข้าใจให้ได้ว่า ทำไมประชาชนบางกลุ่มในไทยที่เคยสนับสนุนการพัฒนาประชาธิปไตย แต่มาตอนนี้มาสนับสนุนการเมืองที่อนุรักษ์นิยมมากๆ เป็นเรื่องที่ทำความเข้าใจและวิเคราะห์ได้ลำบากจริงๆ
พิชญ์ – พวกเขาดูจะเชื่อว่าแนวของพวกเขาเป็นประชาธิปไตยมากกว่า
เควิน – ใช่ ประชาธิปไตยแบบไทยๆ นี่มีความเป็นมาที่ยาวนาน ย้อนไปถึงเผด็จการทหารรุ่นเก่าๆ คุณก็นิยามประชาธิปไตยในลักษณะที่สนองประโยชน์ทางการเมืองของคุณเอง ผมว่านี่คือสิ่งที่คนกำลังพูดถึงกันอยู่ในตอนนี้ อีกแนวหนึ่งก็คือ บางคนเถียงว่า บางทีเราก็จำเป็นต้องใช้ยาแรงเพื่อรักษาโรคที่เกิดจากทักษิณ
พิชญ์ – แล้วอาจารย์ว่ายังไงเรื่องทักษิณ?
เควิน – ผมเขียนวิจารณ์ทักษิณไว้มากตอนเขามีอำนาจ พอเกิดรัฐประหาร ผมตะลึงกับการถอยหลัง แม้ว่า ทักษิณจะไม่เคยเป็นนักประชาธิปไตย ซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่ใช่นักประชาธิปไตยเท่าไหร่ ผมก็ยังมองว่าเป็นการถอยหลังที่ใช้ทหาร ใช้การรัฐประหารมากำจัดทักษิณ
พิชญ์ – ทักษิณเป็นประเด็นใหญ่จริงๆ นะ เขาเป็นตัวที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมาก
เควิน – ทักษิณเป็นตัวสำคัญ ผมคิดว่าต่อไปใครที่เขียนและวิเคราะห์การเมืองไทยจะต้องเขียนถึงยุคที่มาถึงทักษิณและหลังทักษิณ พลังที่เขาปลดปล่อยในสังคมไทยมีความน่าสนใจมาก พลังที่เมื่อก่อนยากจะมีบทบาทได้ อย่างเช่น คนชนบทและผู้ใช้แรงงาน กลุ่มผู้สนับสนุนทักษิณ แนวคิดบางอย่างของเขา แนวนโยบายบางอย่างของเขา ทักษิณที่เป็นนักธุรกิจที่ร่ำรวยมหาศาล จะเป็นนักประชาธิปไตยหรือไม่ ไม่ค่อยเป็นประเด็นสำหรับผมในตอนนี้ ประเด็น คือพลังทางสังคมที่ปะทะขัดแย้งที่เขาปลดปล่อยออกมาในช่วงเขามีอำนาจ ไม่ว่าเขาจะตั้งใจปลดปล่อยหรือไม่ก็ตาม เป็นประเด็นที่น่าสนใจกว่าเกี่ยวกับการเมืองไทยในขณะนี้ แต่ขณะเดียวกันก็น่าอึดอัดคับข้องใจด้วยเช่นกัน
พิชญ์ – คำถามยอดนิยมอันหนึ่งตอนนี้คือ เราอยู่ในช่วงหลังทักษิณแล้วหรือยัง มีรัฐประหาร ประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล เพื่อไทยก็ยังมีพลังอยู่ อาจารย์คิดว่าเราพ้นยุคทักษิณหรือยัง หรือมีประเด็นสำคัญอะไรที่เราควรมองเกี่ยวกับการเมืองไทย?
เควิน – ผมคิดว่ามันขึ้นกับว่า เวลาเราพูดยุคหลังทักษิณ เราหมายถึงหลังทักษิณที่เป็นตัวบุคคล หรือว่าหลังสิ่งต่างๆ พลังต่างๆ ที่ผมบอกว่าทักษิณปลดปล่อยออกมา ผมคิดว่าเราคงไม่ได้พ้นทักษิณ ผม ไม่คิดว่าประเทศไทยจะพ้นไปจากทักษิณ เพราะเราก็เห็นรัฐบาลประชาธิปัตย์ตอนนี้ นโยบายเศรษฐกิจที่กำลังดำเนินการอยู่ไม่ใช่นโยบายที่พวกเขาจะดำเนินการใน สภาวะปกติ
พิชญ์ – อาจารย์หมายถึงนโยบายประชานิยมของประชาธิปัตย์? แจกเงิน 2,000 บาทให้ชนชั้นกลาง
เควิน – ใช่ ผมหมายถึง ทั่วโลกตอนนี้ก็มีนโยบายทำนองนี้ วิกฤตเศรษฐกิจปีนี้กำลังสร้างผลกระทบ ถ้าประชาธิปัตย์จะอยู่ในอำนาจ พวกเขาก็ต้องพยายามหาการสนับสนุนจากฐานเสียงของทักษิณ ไทยรักไทย กับพรรคต่อจากนั้น นี่คือเหตุผลว่า ทำไมเราจึงไม่ได้พ้นไปจากยุคทักษิณ เพราะทักษิณแสดงให้เห็นว่าคุณทำได้ แต่ผมไม่แน่ใจว่าการโยนเงินให้คนชนบทนั้นจำเป็นต้องทำอย่างนั้นหรือเปล่า เพราะทักษิณมีนโยบายที่พ่วงมากับเงินที่เขาแจกให้ชาวบ้าน นโยบายของประชาธิปัตย์ดูไม่ชัดเจนเท่าของทักษิณ ประกอบ กับวิกฤตเศรษฐกิจ ก็ยิ่งไม่ชัดเจนว่าจะไปสร้างผลอะไรได้ เพราะคุณอาจจะซื้อผู้สนับสนุนได้ด้วยนโยบายและเงิน แต่คนจำนวนมากกำลังตกงาน สูญเสียรายได้ สูญเสียความสามารถในการสร้างรายได้ เพราะวิกฤตเศรษฐกิจ สถานการณ์เศรษฐศาสตร์การเมืองช่วงนี้จึงมีความน่าสนใจมาก
พิชญ์ – คำถามปิดท้ายรายการตามประเพณี อนาคตของประเทศไทยจะเป็นอย่างไร? เรามีอนาคตหรือเปล่า?
เควิน – คุณมีอนาคตแน่นอน แต่ผมค่อนข้างมองในแง่ร้ายสำหรับการเมืองไทย ก่อนหน้ารายการ ผมพูดกับคุณแล้ว ผม ค่อนข้างเบื่อหน่ายกับการเมืองไทย ผมคิดว่าการประชันขันแข่งที่เราได้เห็นกันมา (ผมใช้คำนี้ในความหมายกว้าง) ในช่วงสองสามปีมานี้ตั้งแต่ 2548 มันยังไม่จบ และจนกว่ามันจะจบ จนกว่าจะมีการประนีประนอมทางการเมือง... ผมยังไม่เห็นทางที่การต่อสู้นี้จะจบลง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net