Skip to main content
sharethis

ระหว่างวันที่ 22-24 เม.ย. นี้ มีการประชุมนานาชาติ การประเมินผลกระทบทางสุขภาพภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก พ.ศ. 2551 (2008 Asia and Pacific Regional Health Impact Assessment Conference) หรือ HIA 2008 ที่ศูนย์การประชุมดิเอ็มเพรส ถ.ช้างคลาน จ.เชียงใหม่ ภายใต้ความร่วมมือของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ร่วมกับกรมอนามัย กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข มหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม มูลนิธินโยบายสุขภาวะ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมีองค์กรและเครือข่ายด้านสุขภาพจาก 20 ประเทศ เข้าร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ


 


โดยมีผู้แทนจากออสเตรเลีย บังคลาเทศ ภูฏาน บรูไน กัมพูชา แคนาดา จีน อินเดีย ลาว มาเลเซีย มัลดีฟ มองโกเลีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ ซามัว หมูเกาะไซโลมอน เกาหลีใต้ สวิสเซอร์แลนด์ เวียดนาม และไทย เข้าร่วมกว่า 300 คน


 


โดยวานนี้ (22 เม.ย.) เป็นวันแรกของการจัดงาน โดย นพ.วิพุธ พูลเจริญ ประธานกรรมการจัดการประชุม HIA 2008 กล่าวว่า การประเมินผลกระทบทางสุขภาพหรือ HIA (Health Impact Assessment) เป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนานโยบายสาธารณะสาขาต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมาประเทศแถบยุโรปและอเมริกามีความตระหนักถึงความสำคัญของ HIA มาก ขณะที่กลุ่มประเทศเอเชียกำลังเริ่มตื่นตัว ส่วนประเทศไทยได้บัญญัติการประเมินผลกระทบทางสุขภาพไว้ทั้งในรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ฉะนั้นการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในครั้งนี้จึงเป็นโอกาสสำคัญที่ประเทศในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการใช้ HIA เป็นเครื่องมือในการเสนอทางออกของการพัฒนาที่เป็นธรรมและไม่ละเลยต่อสุขภาวะของประชาชน


 


นพ.วิพุธ กล่าวด้วยว่า การประชุมครั้งนี้ ยังจะร่วมกันพิจารณาข้อตกลงร่วมที่จะจัดทำเป็น ปฏิญญาเชียงใหม่ (Chiang Mai Declaration) อันจะเป็นพันธะสัญญาร่วมกันที่จะผลักดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการทำงานด้านพัฒนาของแต่ละประเทศ และองค์กรสนับสนุนการพัฒนาระหว่างประเทศ ใช้ HIA เป็นเครื่องมือร่วมพิจารณานโยบายสาธารณะหรือโครงการพัฒนาต่างๆ ในอนาคตที่คำนึงถึงสุขภาพของประชาชนในภูมิภาคนี้ด้วย ที่คาดหวังว่าประชาชนจะมีความเข้าใจ ตระหนักถึงสิทธิที่จะใช้ HIA เข้าร่วมตรวจสอบและเสนอทางออกในการพัฒนา ดังวิสัยทัศน์ของการประชุมคือ Empowering People Ensuring Health หรือ "เสริมพลังประชาคมสร้างสังคมสุขภาวะ"


 


ดร.มัวรีน เบอร์มิงแฮม (Maureen Birmingham) ผู้แทนจากองค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทย กล่าวว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานั้นประเด็นเรื่องสุขภาพได้กลายเป็นวาระสำคัญในเวทีโลก ซึ่งในอดีตเรื่องแบบนี้แทบจะไม่ปรากฏแม้แต่ในการประชุมสูงสุดของประเทศมหาอำนาจ G8 และการประชุมเศรษฐกิจโลกประจำปี หรือ World Economic Forum ซึ่งเป็นองค์กรกำหนดนโยบายระดับโลกก็ยังได้หยิบยกเรื่องโรคภัยมาพูดถึงทั้งในด้านความมั่นคงของโลกและด้านสาธารณสุขในฐานะที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน


 


"ทุกวันนี้โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ แน่นอนที่ผู้นำต่างต้องให้ความสำคัญกับเรื่องการเงินและเศรษฐกิจเป็นพิเศษ แต่โลกควรหันกลับสนใจเรื่องต้นทุนที่จะให้พวกเราสามารถมีชีวิตอยู่อย่างมีสุขภาพที่ดีด้วย"


 


ดร.มัวรีน กล่าวด้วยว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ประเด็นเรื่องสุขภาพคือความท้าทายในหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณสนับสนุนต่องานบริการสาธารณสุข ขณะเดียวกันความเจ็บป่วยที่เกิดจากความยากจนก็สร้างความกดดันให้กับงานสาธารณสุขเช่นกัน สิ่งสำคัญคือเราจะทำอย่างไรให้เรื่องสุขภาพยังคงไว้ซึ่งความสำคัญในกระแสการพัฒนาเช่นนี้ได้ต่อไป โดยการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ (HIA) นั้นเป็นส่วนหนึ่งของกรอบระเบียบที่ใช้ในการวางแผนการพัฒนา เพื่อป้องกันผลกระทบทางลบที่อาจเกิดจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานนโยบายด้านสังคมใหม่ๆ หรือแม้กระทั่งนโยบายเศรษฐกิจระดับมหภาค โดย HIA นั้นจะเป็นสิ่งที่นำความเสมอภาค ประสิทธิภาพ และความยั่งยืนมาสู่การพัฒนาและการดำเนินโครงการ


 


"การพัฒนาและความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นย่อมส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นปัจจัยที่มีผลต่อสุขภาพ มาตรการป้องกันและลดปัญหาที่จะตามมาย่อมเป็นการลงทุนที่มีประสิทธิภาพกว่ามาตรการการรักษาพยาบาลหรือรองรับปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว การประเมินผลกระทบทางสุขภาพจึงช่วยหลีกเลี่ยงค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นภายหลังได้"


 


ทั้งนี้กิจกรรมระหว่างการประชุมในวันที่ 22-24 เมษายน 2552 จะมีทั้งการฝึกอบรม การปาฐกถาพิเศษจากผู้เชี่ยวชาญ การนำเสนอประสบการณ์ทำงาน และการลงพื้นที่เชียงใหม่และลำพูนเป็นกรณีศึกษา 5 พื้นที่ เพื่อให้ผู้ร่วมประชุมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกับคนในชุมชนด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net